Photo Techniques

Zoo Photography Tips เคล็ดลับการถ่ายภาพสัตว์ในสวนสัตว์

การใช้เลนส์เทเลโฟโต้ บวกกับเคล็ดลับการถ่ายภาพ และการโพรเซสภาพ ช่วยให้ได้ภาพที่ดีจากการถ่ายภาพสัตว์ในสวนสัตว์ได้

การถ่ายภาพสัตว์ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย แม้ว่าสัตว์เหล่านั้นจะถูกขังอยู่ในกรง หรือในบริเวณที่จำกัดก็ตาม สวนสัตว์ หรือ zafari park เป็นแหล่งฝึกฝนการถ่ายภาพสัตว์ที่ดีมาก ที่จะช่วยให้ผู้ถ่ายภาพได้เริ่มต้นและพัฒนาทักษะการถ่ายภาพให้ดีขึ้นได้ง่ายๆ เราสามารถเข้าใกล้สัตว์พวกนั้นได้มากกว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่า และยังเลือกถ่ายภาพได้หลากหลายมุมตามที่ต้องการได้โดยไม่ต้องเสียเวลา

อุปกรณ์สำคัญสิ่งแรกที่ต้องเตรียมไปคู่กับกล้องถ่ายภาพด้วยคือ เลนส์เทเลโฟโต้ หรือเลนส์เทเลโฟโต้ซูม ที่มีระยะไกลพอสมควร เช่น เลนส์เทเลระยะ 85 มม. 105 มม. หรือ 200 มม. ขึ้นไป หรือเลนส์ซูม 70-200 มม., 70-300 มม. ซึ่งหากกล้องที่ใช้เป็นเซ็นเซอร์ APS-C ก็จะได้ระยะเพิ่มขึ้นมาอีก 1.5-1.6 X โดยประมาณ เช่น เลนส์ 300 มม. จะมีระยะเทียบเท่ากับระยะที่ 450 มม. ซึ่งจะมีประโยชน์มากเพราะเราไม่ต้องขยับตัวให้เข้าใกล้สัตว์มากเกินไป เมื่อปราศจากการรบกวน สัตว์เหล่านั้นก็จะไม่มีท่าทีตื่นตกใจ โอกาสที่เราจะได้ภาพที่เป็นธรรมชาติก็มากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เลนส์เทเลหรือเทเลซูมที่มีระยะทางยาวโฟกัสสูงๆ ก็มีข้อจำกัดคือ มีโอกาสเกิดการสั่นไหวได้ง่ายและมากกว่าเลนส์ทางยาวโฟกัสที่ตํ่ากว่า ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมากพอ หรือใช้กฎ 1/ทางยาวโฟกัส เพื่อเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่มีความคมชัดที่สุดนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น หากใช้เลนส์ที่ทางยาวโฟกัส 250 มม. ตามทฤษฎีของกฎ 1/ทางยาวโฟกัส จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/250 วินาที ขึ้นไป จึงจะได้ภาพที่มีความคมชัด อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปัจจุบันกล้องหลายรุ่นจะมีระบบกันสั่นมาให้ใช้งาน และเลนส์ส่วนใหญ่จะมีระบบกันสั่นในตัวเลนส์ อย่าลืมว่าระบบกันสั่นทั้งในกล้องและเลนส์สามารถป้องกันได้แค่การสั่นไหวที่เกิดกับอุปกรณ์ของเราเท่านั้น แต่การถ่ายภาพสัตว์ที่มีการเคลื่อนไหวแทบจะตลอดเวลา จึงควรเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมากพอจะหยุดความเคลื่อนไหวของสัตว์ให้เป็นภาพนิ่งที่มีความคมชัดมากที่สุด ยกเว้นว่าต้องการภาพในลักษณะที่มีการเคลื่อนไหว หรือผู้ใช้งานกล้องมีความชำนาญมากพอ คุ้นเคยกับการใช้อุปกรณ์มากพอ และมือนิ่งพอที่จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าลงมาได้

และสุดท้ายคือ การบันทึกภาพ แนะนำให้เลือกบันทึกเป็นไฟล์ RAW มากกว่าที่จะใช้ไฟล์ JPGs ซึ่งไฟล์ RAW จะเก็บรายละเอียดของภาพได้มากกว่าและสามารถนำไปโพรเซส หรือแต่งภาพด้วยซอฟต์แวร์ต่างๆ ภายหลังได้ดีกว่า JPGs หรือจะเลือกบันทึกเป็นไฟล์ RAW + JPGs โดยอย่าลืมตั้งค่าไฟล์ RAW แบบไม่บีบอัด และ JPGs ที่ความละเอียดสูงสุดเสมอ

เรียบร้อยแล้ว ไปที่เคล็ดลับทั้ง 8 ข้อกันเลยครับ

• ใช้โหมดถ่ายภาพ Aperture Priority (A, AV)​
หลายคนอาจจะแย้งในใจว่า ถ้าต้องให้ความสำคัญกับความเร็วชัตเตอร์ทำไมไม่เลือกใช้โหมด Shutter Priority (S, TV)​ เพราะเป็นการเลือกค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการได้โดยตรง แต่จากประสบการณ์ (ของผู้เขียน)​ พบว่า การใช้โหมด Aperture Priority (A, AV)​ เป็นโหมดที่ดีที่สุด เช่น หากใช้เลนส์ 300มม. F/5.6 เมื่อปรับค่ารูรับแสงไปที่สว่างสุด คุณจะได้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดกับรูรับแสงที่เลือกในสถานการณ์จริงขณะกำลังถ่ายภาพนั้น

• ปรับค่าความไวแสง (iso)​ ให้สูงขึ้นหากจำเป็น
ในการถ่ายภาพจากสถานการณ์จริง การใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/250 วินาที เป็นความเร็วชัตเตอร์ที่สูงพอที่จะใช้ถ่ายภาพได้ แต่หากเลือกได้ การใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงกว่านั้นขึ้นมา เช่น 1/500 วินาที, 1/1000 วินาที จะเป็นค่าความเร็วชัตเตอร์ที่มั่นใจได้มากกว่า โดยเฉพาะกับการถ่ายภาพสัตว์ที่กำลังเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวไปมาตลอดเวลา การปรับค่า iso ให้สูงขึ้นจะสามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้นตามไปด้วยได้ โดยปกติการถ่ายภาพในวันที่อากาศดี แสงดี ใช้ค่าความไวแสงที่ iso 200 หรือ iso 400 กับรูรับแสง F/5.6 ก็ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่เพียงพอกับการถ่ายภาพแล้วครับ

• เลือกใช้ Autofocus ให้ถูกต้อง
โดยเฉพาะเรื่องของระบบการเลือกพื้นที่โฟกัสอัตโนมัติ ไม่เหมาะกับการนำมาถ่ายภาพสัตว์ ต้องเลือกใช้พื้นที่โฟกัสที่มั่นใจได้ว่ากล้องจะโฟกัสไปยังตำแหน่งหรือวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ กับการถ่ายภาพสัตว์แนะนำให้ใช้แบบ Single-point AF ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกตำแหน่งจุดโฟกัสได้เอง และเลือกระบบโฟกัสต่อเนื่อง AF-C (continuous) ซึ่งกล้องจะโฟกัสใหม่ตลอดเวลาตามการเคลื่อนที่ของสัตว์ จะช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าจะได้ภาพถ่ายที่คมชัด
ปัจจุบันกล้องรุ่นใหม่ๆ มีระบบติดตามความเคลื่อนไหว หรือติดตามวัตถุ (tracking)​ ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือบางรุ่นมีระบบโฟกัสตามดวงตาสัตว์ อย่าง​ไรก็ตามหากเลือกใช้ระบบต่างๆ เหล่านี้ควรมีการทดลองใช้ หรือศึกษาการทำงานให้ละเอียดก่อนการนำไปใช้​งานจริง

• ใช้ monopod
แม้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงพอที่จะหยุดความเคลื่อนไหวของสัตว์ก็ตาม การถือกล้องให้นิ่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้ภาพมีคุณภาพดี การใช้ monopod จึงมีความจำเป็นเพราะให้ความคล่องตัวมากกว่าโดยเฉพาะกับการถ่ายภาพที่วัตถุ
เคลื่อนไหวไปมา หรือการใช้เลนส์เทเลโฟโต้ตัวใหญ่ๆ นํ้าหนักมาก เช่น เลนส์ 300mm f/2.8 การใช้เลนส์ระดับนี้กับ monopod จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะครับ

• อย่าถ่ายให้เห็นรั้ว/กรงขัง
อุปสรรคหนึ่งของการถ่ายภาพสัตว์ใน​กรงคือ การถ่ายภาพแล้วติดรั้วหรือกรงที่ขังสัตว์นั้นเข้ามาในภาพด้วย ทำให้ภาพหมดความน่าสนใจไป สามารถแก้ไขได้ด้วยการขยับกล้อง/เลนส์ให้เข้าใกล้กับแนวของกรงมากที่สุด และเมื่อโฟกัสภาพไปที่ตัวสัตว์ รั้วหรือกรงจะหลุดออกไปอยู่นอกระยะโฟกัส และจะไม่ปรากฏอยู่ในภาพ จะเห็นเป็นภาพถ่ายสัตว์โดยไม่มีกรงเข้ามาอยู่ในเฟรมภาพ

ข้อควรระวังของการเคลื่อนหน้าเลนส์เข้าไป​ใกล้กรงคือ รั้วหรือกรงที่เป็นโลหะอาจจะขูดหน้าเลนส์หรือฟิลเตอร์, ระวังเรื่องการโฟกัสที่อาจจะทำได้ยากขึ้น และเรื่องคอนทราสต์ของภาพที่อาจจะลดลงไปบ้าง แต่สามารถแก้ไขได้ในขั้นตอนการแต่งภาพ


• การถ่ายแบบ indoors
ในการถ่ายสวนสัตว์ทุกที่ จะมีการถ่ายภาพในส่วนการจัดแสดงซึ่งจะมีการจัดภายในอาคาร มีการจัดแสงที่ไม่ใช่​แสงธรรมชาติ เช่นในส่วนของสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งแสงเหล่านี้จะไม่มีความสว่างมากพอ ดังนั้นเพื่อให้ได้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สูงพอ จึงต้องใช้การปรับความไวแสงให้สูงขึ้น อาจจะถึง iso 1600 อาจจะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/30 วินาที ซึ่งเพียงพอกับสัตว์เลื้อยคลานที่เคลื่อนไหวช้า ควรถือกล้องให้นิ่ง หรือตั้งกล้องบนขาตั้ง หรือเปิดระบบกันสั่น และอย่าลืมถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW เพื่อนำไปปรับแต่งภายหลัง

• ตรวจสอบค่าการรับแสงของภาพ
การตรวจดูว่าภาพถ่ายนั้นอันเดอร์ หรือโอเวอร์ ในการถ่ายภาพ indoor โดยเช็คจากจอแสดงผลของกล้องเป็นเรื่องค่อนข้างยาก จอ LCD มีความสว่างมาก กับการดูในที่ค่อนข้างมืดอาจทำให้เข้าใจว่าภาพที่อันเดอร์เป็นภาพที่ดีแล้ว วิธีการตรวจสอบที่ดีที่สุดคือการตรวจจาก histogram จะแสดงค่าของภาพๆ นั้นออกมาให้เห็นได้ชัดเจนที่สุด

• เปิดดูภาพทีละภาพ
หลังจากถ่ายภาพเสร็จแล้ว ให้เปิดดูภาพถ่ายทีละภาพ โดยดูภาพรวมของภาพที่ถ่ายมาทั้งหมด, ดูการตั้งค่าของแต่ละภาพ การตั้งค่าแบบ indoor, out door ว่าถูกต้องหรือไม่ ในขั้นตอนนี้ยังสามารถเห็นข้อผิดพลาดต่างๆ และอาจมีเวลาพอ
ที่จะไปถ่ายรูปซํ้าก่อนจบทริปได้อีกด้วย..

 

เรื่อง : สมศักดิ์ ทัศนเศรษฐ

แปลจาก : Zoo photography tips: how to get great pictures of animals
By Rod Lawton (https://www.digitalcameraworld.com/tutorials/zoo-photography-tips-how-to-get-great-pictures-of-animals)​


 

ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques/