Photo Techniques

“Wildlife in Bound” แสงสีแห่งสัตว์ป่า

ถึงแม้ว่าจะเป็นสถานที่ซึ่งเน้นไปยังการเรียนรู้ของเด็กๆ และครอบครัวในวันพักผ่อน แต่วิถีชีวิตของสัตว์ป่าในสถานที่จำกัดอันเรียกว่า “สวนสัตว์” นั้นก็เป็นแหล่งเรียนรู้ในการถ่ายภาพมาอย่างช้านาน และหนึ่งในนั้นก็มีตัวผมเองด้วยที่ใช้สิงสาราสัตว์เหล่านี้เป็น “ครู” อยู่เสมอเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย สัตว์ป่าใหญ่น้อยในสวนสัตว์นั้นโดยมากแล้วก็มักจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเด็กๆ ในขณะที่ภาพถ่ายจากสวนสัตว์ก็จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ใหญ่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอยู่ที่ลักษณะการถ่ายภาพด้วยว่าจะทำให้มันดูน่าสนใจและน่าตื่นเต้นขนาดไหน ?

ถ้าเพียงแค่การเป็นภาพถ่ายเฉยๆ พอให้นึกภาพออกก็กดกันไปตามที่เห็นสมควรเถอะครับ แต่ถ้าความน่าตื่นตาตื่นใจและน่าทึ่งคือโจทย์ที่วางเอาไว้เป็นเป้าหมายคุณก็ควรต้องคำนึงถึงแง่ต่างๆ ของการถ่ายภาพให้มาก ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคพิสดารพันลึกหรือความอัศจรรย์แห่งแสงเงา แม้กระทั่งจังหวะวินาทีอันตื่นเต้นเร้าใจทางเรื่องราว ..นี่คือสิ่งที่คุณจะต้องคิดเอาไว้ให้มากทั้งก่อนและหลังการถ่ายภาพ

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ดูแลสวนสัตว์ในหลากหลายสถานที่ ทำให้สรุปโดยรวมได้ว่าช่วงเวลา “ฤดูหนาว” นี่แหละครับที่บรรดาเหล่าสิงสาราสัตว์เหล่านี้จะสดชื่นกระปรี้กระเปร่ากันมากเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงมีผลมาจากผู้เข้าชมซึ่งจะมีมากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน ดังนั้น การดูแลจัดกิจกรรมอันหลากหลายก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้บรรดาเพื่อนร่วมโลกของเราตื่นตัวมากกว่าปกติด้วยเช่นกัน ..ดังนั้น เราก็พอจะรู้คำตอบแล้วใช่ไหมว่าช่วงเวลาใดของปีที่น่าจะเที่ยวถ่ายภาพในสวนสัตว์มากเป็นพิเศษ ?

เป็นอันรับรู้เข้าใจกันอยู่แล้วละครับว่าถ้าจะถ่ายภาพสัตว์เราต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้เพื่อดึงภาพระยะไกลเข้ามาไว้ในกล้องถ่ายภาพ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องที่แน่นอนเสมอไปหรอกครับ โอเคแหละถ้าเป็นการถ่ายภาพสัตว์ป่าจากในสภาพป่าธรรมชาติจริงๆ ซึ่งเราไม่สามารถจะเข้าใกล้พวกเค้าเหล่านั้นได้มากนัก แต่สำหรับในสวนสัตว์แล้วเราจะเข้าใกล้ได้มากกว่า ซึ่งก็แปลว่าเลนส์ระยะไม่ไกลมากก็ยังมีโอกาสได้ภาพดีๆ ด้วยเช่นกัน ในขณะที่สัตว์บางชนิดก็ไม่สามารถใช้เลนส์เทเลโฟโต้ระยะยาวพิเศษมาเก็บภาพเพราะมันอยู่ใกล้เกินไป ..ดังนั้น ผู้ปราศจากเลนส์ยาวก็อย่าได้นึกดูแคลนความสามารถของตนเองเป็นอันขาด !

ในบางมุมมองการถ่ายภาพโดยให้มีใบไม้บังหน้าเลนส์อยู่ก็จะทำให้อารมณ์ภาพออกมาเหมือนกับเรากำลังซุ่มส่องสัตว์ตามธรรมชาติอยู่เช่นกัน ซึ่งก็จะช่วยให้ภาพของเราดูเหมือนไปถ่ายมาจากในป่าได้มากขึ้นด้วย : Nikon D7000, Tamron SP 70-300mm f/4-5.6 Di VC USD, 1/1600 sec., f/5.6, ISO-200

ในสวนสัตว์หรือในป่า ?
เวลาที่ผมจะออกไปฝึกถ่ายภาพในสวนสัตว์ ผมมักจะตั้งโจทย์หลักให้กับตัวเองเอาไว้เสมอก่อนที่จะลั่นไก นั่นก็คือ ถ่ายภาพให้เป็นสวนสัตว์ และถ่ายภาพไม่ให้เป็นสวนสัตว์ ..ยังไง ? ก็คือการใช้มุมภาพเป็นโจทย์สำคัญระหว่างถ่ายภาพโดยนำเสนอให้รู้ว่านี่คือภาพถ่ายจากสวนสัตว์แน่ๆ และอีกแบบก็คือ ถึงแม้ว่าจะถ่ายมาจากสวนสัตว์แต่ก็ให้เหมือนว่าได้มันมาจากในป่าจริงๆ ดังนั้น โจทย์บังคับของผมก็จะทำการจำกัดมุมมองบางอย่างออกไปโดยอัตโนมัติ เช่น หากตั้งใจเอาไว้ว่าจะถ่ายภาพให้เหมือนได้มาจากป่า บรรดาซี่กรง อุปกรณ์ สภาพแวดล้อม หรืออะไรก็ตามที่มันไม่ใช่ป่าก็จะต้องไม่ปรากฏอยู่ในภาพ ซึ่งก็ต้องอาศัยทั้งความสามารถของอุปกรณ์และการแสวงหามุมภาพที่เหมาะสม หากว่าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ผมก็จะไม่ถ่ายมันเพราะฝืนกฎที่ผมตั้งเอาไว้ หรือถ้าจะให้รู้ว่าได้มาจากสวนสัตว์ก็ต้องให้ติดสภาพแวดล้อมเหล่านั้นเข้ามาช่วยเล่าเรื่องในส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพด้วย เช่นเดียวกับที่นักถ่ายภาพส่วนใหญ่ก็มักจะพยายามสื่อถึงสัตว์ป่าและซี่กรงขังในลักษณะต่างๆ ซึ่งผมเชื่อว่าอย่างน้อยๆ คุณเองก็น่าจะเคยถ่ายภาพลักษณะนี้มาบ้างแล้วแหละ ..ลองเอาไปฝึกใช้เป็นโจทย์ท้าทายตัวเองดูก็ได้ครับ

มีเคล็ดลับหนึ่งที่ส่งทอดต่อเนื่องกันมายาวนาน นั่นก็คือจัดจำนวนสัตว์เป็นเลขคี่ในภาพ เช่น 1, 3, 5 ฯลฯ ซึ่งจะทำให้องค์ประกอบทางด้านจำนวนดูลงตัวมาก : Nikon D7000, Tamron SP 70-300mm f/4-5.6 Di VC USD, 1/640 sec., f/5.6, ISO-100

จังหวะในการกินอาหารของสัตว์จะยิ่งทำให้ภาพดูมีเรื่องราวน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และบางครั้งก็จะมากยิ่งกว่าตัวสัตว์เองเสียด้วยซํ้าไป : Canon EOS 6D, Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/500 sec., f/5.6, ISO-200

กิริยาและพฤติกรรมอันน่าตื่นเต้นของสัตว์ในหลากหลายรูปแบบคืออีกสิ่งที่แนะนำให้คุณมองหาครับ ยิ่งถ้ามันมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ “นํ้า” ละก็ขอให้สังเกตดูดีๆ เพราะการกระจายตัวของนํ้าจะยิ่งทำให้ภาพดูน่าตื่นเต้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด : Nikon D7000, Tamron SP 70-300mm f/4-5.6 Di VC USD, 1/1600 sec., f/5.6, ISO-200

ปัจจัยแห่งภาพสวนสัตว์อันน่าทึ่ง
อะไรล่ะที่จะทำให้ภาพถ่ายสัตว์ป่าของเราดูน่าสนใจและไม่เป็นที่ตลกขบขัน ? โดยประสบการณ์ของผมแล้วบอกได้เลยครับว่า “เรื่องราว” และ “ลักษณะของแสง” คือสิ่งที่จะช่วยคุณได้มากครับ และมันก็จะส่งผลให้ภาพถ่ายของคุณดูต่างออกไปจากอีกหลายล้านภาพถ่ายในโลก

Canon EOS 6D, Lens Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/125 sec., f/5.6, ISO-400, Mode M, Metering Mode : Pattern, WB : Auto

เรื่องราว
จริงๆ แล้วสำหรับในสวนสัตว์มันจะขาดพฤติกรรมบางอย่างตามธรรมชาติไป เช่น การล่า แววตา อิสระ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งอันน่าสนใจทั้งสิ้น ดังนั้น แล้วอย่าได้คาดหวังกับมันมากนักเพราะยังไงก็ไม่เหมือนกับภาพสัตว์จากในป่าแท้ๆ อย่างแน่นอน

โอเค.. ถึงในสวนสัตว์จะไม่มีการล่าแต่ยังไงก็ยังมีการ “กิน” ซึ่งก็ยังเป็นจังหวะที่ดูน่าตื่นเต้นสำหรับภาพถ่ายอยู่ดีถึงแม้ว่ามันจะเป็นแค่การกินนํ้าก็เถอะ สัตว์บางชนิดนั้นดูน่าตื่นเต้นมากครับเวลาที่มันกำลังกิน โดยเฉพาะพวกสัตว์กินเนื้อทั้งหลายมันจะทำให้ภาพถ่ายของคุณเป็นที่กล่าวขวัญไปอีกนาน ดังนั้น คุณต้องหาข้อมูลสักหน่อยครับ อาจจะสอบถามจากเจ้าหน้าที่ก็ได้ว่าสัตว์ชนิดที่คุณหมายตานั้นจะมีการให้อาหารในเวลาใด คุณอาจจะเล็งๆ เสือหรือสิงโตเอาไว้ ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิดก็น่าจะเป็นช่วงเวลาเช้าเพียงครั้งเดียวต่อวันเท่านั้น อันนี้คุณต้องลองเลียบเคียงสอบถามจากเจ้าหน้าที่ดูในช่วงของการได้รับอาหาร โดยเฉพาะถ้าเป็นอะไรที่ต้องแย่งชิงกันนั่นจะเป็นอะไรที่ดูน่าตื่นตามาก สัตว์เองก็จะมีทั้งท่าทางและแววตาอันต่างออกไปจากยามปกติ และโดยมากก็มักจะทำให้ผู้ดูภาพรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้องเสมอ คุณอาจจะใช้ทั้งสปีดชัตเตอร์ความเร็วสูงเพื่อหยุดภาพเอาไว้ หรือใช้สปีดชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติเพื่อแสดงการเคลื่อนไหวอันน่าตื่นเต้น ซึ่งมันเป็นอะไรที่ท้าทายมากเลยทีเดียว

หรือแม้กระทั่งอารมณ์อันซาบซึ้งน่าประทับใจ การเกี้ยวพาราสี หรืออะไรก็ตามที่ดูขัดกับความเป็นธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ภาพได้รับการชื่นชมมากเช่นกันครับ เช่นภาพในจังหวะกิริยาอันอ่อนโยนจากเสือซึ่งเป็นสัตว์นักล่าดุร้าย หรือพฤติกรรมอันก้าวร้าวจากนกแสนสวยผู้อ่อนโยน เป็นต้น ก็เพราะเป็นสิ่งที่ดูน่าประหลาดใจและไม่ค่อยจะได้เห็นกันบ่อยๆ ยังไงละครับ ..นั่นคือตัวอย่างบางประการที่เราควรจะสังเกตให้ดีในฐานะของคนถ่ายภาพครับ

แสง-เงา

ภาพในอารมณ์และเรื่องราวที่ขัดกับภาพลักษณ์ของตัวแบบก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ผู้คนสนใจเป็นอย่างมาก หากเจอโอกาสเช่นนี้แล้วก็อย่าได้ละเลยเชียวนะครับ : Canon EOS 6D, Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/250 sec., f/5.6, ISO-400

จริงๆ แล้วนี่คือสิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพในทุกแขนงอยู่แล้ว แต่เมื่อคุณจะถ่ายภาพจากในสวนสัตว์ สิ่งนี้นั่นแหละจะช่วยให้คุณถูกถามว่า ถ่ายได้ยังไง ? คนส่วนใหญ่มักจะประทับใจกับลักษณะแสงอันงดงาม แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าความงดงามนั้นมีที่มาจากลักษณะแสงในภาพถ่าย นั่นแหละครับที่ทำให้ศิลปะการถ่ายภาพยังคงอยู่ในวงจำกัด (แต่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ) ซึ่งก็ต้องอาศัยทั้งการฝึกปรือและการสังเกต ผมเข้าไปถ่ายภาพในสวนสัตว์มาจนนับครั้งไม่ถ้วน สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะได้เห็นอยู่บ่อยครั้งก็คือ คนหลังกล้องจำนวนมากจะให้ความสำคัญกับลักษณะของสัตว์หรือความสะดวกสบายมากกว่าลักษณะของแสง ลองสำรวจตัวเองดูครับว่าเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? เมื่อไปถึงแล้วเจอตัวอะไรที่น่าสนใจก็รีบเข้าไปกดรัวกันถี่ยิบเอาไว้ก่อนเลย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่าเรายังไม่ต่างจากชาวบ้านทั่วไปที่ถือกล้องเข้าไปเที่ยวเล่นในสวนสัตว์สักเท่าไหร่

ลักษณะเส้นขนของสัตว์ยามเมื่อโดนแสงริมไลท์คืออีกหนึ่งเสน่ห์ที่ชัดเจนของภาพถ่ายแบบนี้ครับ แต่ที่สำคัญก็คือคุณต้องหามุมแสงแบบนี้ให้เจอ ซึ่งโดยมากแล้วก็ต้องเป็นมุมที่เกือบจะย้อนแสงนั่นเอง : Nikon D7000, Tamron SP 70-300mm f/4-5.6 Di VC USD, 1/400 sec., f/5.6, ISO-100

แน่ละครับว่าเราคงไม่สามารถไปบังคับบัญชาหรือจัดแสงอะไรในสวนสัตว์อย่างที่ใจต้องการได้ แต่ก็เพราะอย่างนั้นอีกละครับที่จะทำให้ภาพของคุณดูต่างออกไป คุณสามารถเดินเปลี่ยนมุมภาพได้โดยดูลักษณะของแสงเป็นสำคัญไม่ใช่หรือ ? ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาของวันนั้นแสงอาทิตย์ก็จะมีที่มาและองศาอันต่างกันออกไป และมันก็จะทำให้อารมณ์ภาพถ่ายของคุณต่างกันด้วย และขอบอกว่ามันมีหลายอารมณ์ให้คุณได้เลือกใช้เหลือเกินถ้าใช้มันเป็น !

ในช่วงเช้าหรือเย็นที่แสงอาทิตย์ทำมุมเฉียงนั้นจะทำให้คุณมีโอกาสได้ภาพอันมีมิติและอารมณ์ที่ดูดีกว่าภาพตอนช่วงกลางวันเป็นอย่างมาก หากคุณอยู่ในทิศทางเกือบๆ จะย้อนแสงก็จะทำให้มีโอกาสได้แสง “ริมไลท์” ในส่วนต่างๆ ของสัตว์เหล่านั้นด้วย ซึ่งก็จะทำให้ภาพดูน่าสนใจเป็นอย่างมากเช่นกัน แต่ก็นั่นแหละครับ ต้องรู้จักการเดินเปลี่ยนมุมเพื่อให้สอดรับกับลักษณะของแสงเช่นนั้นด้วย ไม่ใช่รู้แค่ว่าแสงช่วงเช้าและเย็นนั้นดีที่สุด แต่ถ้าคุณไม่รู้จักการหาตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้มันก็แทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรสักเท่าไหร่

พยายามนำเสนอมุมมองที่ต่างออกไปจากสายตาปกติด้วยครับ นี่คืออีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ภาพของเราแตกต่างออกไปได้ คงมีอยู่ไม่กี่คนนักหรอกที่จะถ่ายภาพในแนวราบเช่นเดียวกับจระเข้เช่นนี้ซึ่งมันก็จะทำให้ภาพของคุณดูน่าตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น (แต่ผมไม่แนะนำให้คุณลงไปถ่ายในบ่อจระเข้นะ) ลองหามุมที่ต่างออกไปจากจุดชมปกติดูครับ : Canon EOS 70D, Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/250 sec., f/6.3, ISO-100

หากในบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ซึ่งคุณสามารถเดินเปลี่ยนทิศทางไปได้รอบด้าน ผมอยากแนะนำให้คุณลองเดินดูมุมแสงด้วยสายตาไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะลงมือถ่ายภาพ เมื่อคุณเจอมุมที่แสงดูสวยงามที่สุดแล้วก็ขอให้รอจังหวะอยู่ตรงนั้น วัดแสงดูมุมปรับเซตกล้องให้เรียบร้อย เมื่อโอกาสอันงดงามมาถึง ทีนี้โลกก็จะเป็นของคุณแล้วล่ะ หรือถ้าเป็นจุดที่เป็นมุมบังคับซึ่งคุณไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งอะไรได้ก็ลองพิจารณาดูทิศทางของแสงเข้าไว้ให้ดีครับ ในจังหวะเวลาที่คุณมาถึงนั้นอาจจะไม่ใช่ช่วงที่แสงสวยงามที่สุด แต่ถ้ารอเป็นช่วงบ่ายหรือเย็นละก็ตรงนี้มันจะสวยมากแน่เพราะแสงแดดส่องเข้ามาโดนตัวแบบของเรา..อะไรอย่างนี้เป็นต้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไปหาถ่ายภาพในมุมอื่นหรือตำแหน่งอื่นก่อน เมื่อได้เวลาแล้วก็ค่อยย้อนกลับมาอีกครั้ง นี่คือตัวอย่างของการวางแผนบริหารเวลาซึ่งผมเองก็จะใช้วิธีการนี้อยู่เสมอ ซึ่งมันก็จะทำให้ภายในวันเดียวเราจะมีโอกาสได้ภาพแจ่มๆ เยอะแยะมากมายเลยทีเดียว

ไม่จำเป็นว่าต้องเก็บภาพสัตว์ให้ครบทั้งตัวเสมอไปนะครับ การตัดมาเฉพาะบางส่วนก็จะยิ่งทำให้ภาพดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และถ้าเป็นช่วงแสดงพฤติกรรมของสัตว์ก็อย่าลืมระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสในการได้ภาพแปลกๆ มากขึ้นด้วย : Canon EOS 100D, Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/2000 sec., f/6.3, ISO-400

อารมณ์ภาพประมาณนี้จะมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ตลอดทั้งวันในช่วงฤดูหนาว แต่ถ้าจะให้เป็นอารมณ์แสงเช่นนี้ก็ต้องช่วงเช้าหรือบ่ายเท่านั้น : Canon EOS 6D, Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/250 sec.,f/5.6, ISO-200

ตัวแบบอย่าง “นก” นั้นมีให้เห็นอยู่ทุกสวนสัตว์ และที่พิเศษต่างจากในธรรมชาติก็คือเรามีโอกาสที่จะเข้าใกล้มันได้มากกว่าปกติ ซึ่งโดยมากแล้วมุมภาพก็จะเหมือนกับที่เราได้มาจากในธรรมชาติจริงๆ ซ Canon EOS 6D, Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/350 sec.,f/5.6, ISO-400

ในบ้านเรานี้มีสวนสัตว์อยู่ทั่วไปหลายแห่งมากครับ และบางแห่งนั้นก็เป็นแบบสวนสัตว์เปิดที่การเดินทางค่อนข้างสะดวกสบาย สามารถขับรถเข้าไปด้านในได้เลย ซึ่งก็จะช่วยให้เราประหยัดเวลาไปได้มาก สถานที่ซึ่งผมจะเดินทางไปบ่อยๆ ก็คือ “สวนสัตว์เปิดเขาเขียว” ซึ่งก็จะมีสัตว์ป่าหลากหลายประเภทให้ถ่ายภาพ ตัวสถานที่เองก็ตั้งอยู่บนภูเขาแท้ๆ ท่ามกลางธรรมชาติทำให้สุขภาพจิตของสัตว์ที่นี่ดูดีเป็นพิเศษ ในฤดูหนาวนั้นผมมักจะไปเก็บภาพจากสวนสัตว์อย่างน้อยหนึ่งครั้งเพื่อถ่ายภาพสัตว์ป่าเหล่านี้ ซึ่งก็มักจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนสัตว์ใหม่ๆ มาประจำการเสมอ ดังนั้น เมื่อปีที่แล้วเคยไปแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าปีนี้ก็จะเหมือนเดิมเสมอไป อีกทั้งการถ่ายภาพสถานที่เดียวกันในช่วงเวลาที่ต่างกันก็จะช่วยวัดฝีมือและเพิ่มมุมมองทางประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับเราได้ด้วย และก็สวนสัตว์อีกนั่นแหละที่จะมีอุปสรรคอันน่าท้าทายให้เราได้แก้ไขต่อการถ่ายภาพอีกเยอะแยะน่าสนุก หรือถึงแม้ว่าจะเป็นการพาครอบครัวไปเที่ยวเล่นพักผ่อนซึ่งไม่สะดวกต่อการถ่ายภาพอะไรสักเท่าไหร่ ก็ขอแนะนำว่าให้ใช้โอกาสนั้นสังเกตดูมุมดูแสงเอาไว้ก่อน มีโอกาสเมื่อไหร่ก็ย้อนกลับมาเพื่อถ่ายภาพโดยตรงอีกครั้ง ซึ่งก็จะช่วยได้เยอะเลยทีเดียว หนาวนี้ลองเพิ่ม “สัตว์ป่าแห่งสวนสัตว์” เข้าไปในแผนดูสักรอบเป็นอย่างไร ? ผมว่ามันอาจจะเปลี่ยนโลกหลังกล้องของคุณไปอีกแบบเลยก็เป็นได้นะ..

 

เรื่อง/ภาพ : ปิยะฉัตร แกหลง


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^

(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)


หรือสนใจเทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques