Photography Planner

Timisoara Plan C

ทิมิโซอารา (Timisoara) เป็นชื่อเมืองแห่งหนึ่งครับ แต่เชื่อว่าน้อยคนคงจะเคยได้ยิน และทราบว่ามันตั้งอยู่บนส่วนใดของโลกกลมๆ ใบนี้ ผมเองก็เพิ่งจะเคยได้ยินครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้เอง ตอนเดินทางไปเที่ยวประเทศ “โรมาเนีย” อย่าว่าโง้นงี้งั้นเลยครับ สารภาพตามตรงเลยก็ได้ว่า ผมรู้จักแค่ชื่อ “บูคาเรส” (Bucharest) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของโรมาเนียเท่านั้นเองจริงๆ เมืองอื่นๆ แม้กระทั่งชื่อสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันมีอะไรยังไงให้ถ่ายภาพได้บ้าง

มีเพื่อนคนหนึ่งที่ขยันทำการบ้านไปเยอะมากๆ ครับ จนผมกับเพื่อนคู่หูแทบไม่ต้องทำอะไรเลยสักนิด ก็เลยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศในยุโรปตะวันออกแห่งนี้จริงๆ แม้กระทั่งเมื่อสองเท้าก้าวย่างเหยียบลงแผ่นดินโรมาเนียแล้วก็ตาม!!! ประมาณว่าเขาพาไปไหนก็ไป เจออะไรก็ถ่ายไปตามที่เห็นอย่างนั้นเลยจริงๆ

ทิมิโซอารา เป็นเมืองใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันตกของโรมาเนีย มีเขตเมืองเก่าซึ่งมีจุดเด่นอยู่ตรงสถาปัตยกรรมแบบบารอค (Baroque) ที่มีการผสมผสานสไตล์ฮังกาเรียนเข้าไปด้วย (เพราะอยู่ใกล้ฮังการีนิดเดียว) มีความสวยงามในระดับที่ถูกขนานนามว่า “ลิตเติ้ลเวียนนา” เชียวนะครับ ทว่ามันจะเหมือนหรือใกล้เคียงอย่างไร ผมก็ไม่สามารถยืนยันได้ เพราะยังไม่เคยไปเที่ยว “ออริจินั่ลเวียนนา” เลยสักครั้งครา…ฮา

เราเลือกที่พักอยู่ห่างจากเมืองเก่าด้วยเวลาเดินเท้าประมาณ 10 นาที เพราะดูแล้วว่ามันจะช่วยประหยัดค่าที่พักได้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเวลา 10 นาทีนี้ สำหรับผมกับเพื่อนไม่มีปัญหาอะไรแม้แต่น้อย เรียกว่าใกล้ก็ยังได้เลยครับ ยิ่งมีเวลาถึง 4 วัน 3 คืน (หรือจริงๆ คือกลางวัน 2 วันเต็มๆ เพราะวันแรกไปถึงเย็น ส่วนวันสุดท้ายก็ออกเดินทางไปเมืองอื่นแต่เช้า) ถือว่าเหลือเฟือสำหรับการเดินเที่ยวและถ่ายภาพในเมืองเพียงเมืองเดียว

“ Metropolitan Cathedral” โบสถ์หลังนี้ถือเป็นแลนด์มาร์คของเมืองทิมิโซอาราก็ว่าได้ครับ จุดเด่นคือการใช้กระเบื้องสีตกแต่งให้เป็นลวดลายบนหลังคา เป็นโบสถ์ที่มีความสูงใหญ่มองเห็นได้แต่ไกล และในความเป็นจริงบริเวณรายรอบโบสถ์นี้ไม่มีการขุดลอกหรือก่อสร้างใดๆเหมือนกับจัตุรัสยูนิริ ด้านหน้าเป็นถนนกว้าง ถัดไปคือสวนสาธารณะ สามารถหามุมถ่ายจากด้านหน้าตรงให้เห็นโบสถ์ทั้งหลังได้สบาย มีแปลงดอกไม้เป็นฉากหน้าอีกต่างหาก ส่วนภาพนี้ผมถ่ายจากสวนสาธารณะที่อยู่ด้านข้างโบสถ์ นั่นก็เพราะในมุมนี้จะเห็นหลังคาอันเป็นจุดเด่นได้ชัดเจนกว่า และสวยงามกว่าเมื่อมองจากด้านหน้าตรงๆ มุมด้านหน้านั้นยอดหลังคาจะบังกันเองเยอะ อีกทั้งตัวโบสถ์ดูสูงชะลูดเกินไป ไม่ได้สัดส่วนที่สวยงามอีกด้วย และไหนๆ ผมก็เปลี่ยนแผนตั้งใจมาเน้นส่วนยอดของอาคารอยู่แล้ว ผมจึงเลือกถ่ายภาพในมุมนี้โดยไม่ลังเล

โดยผมเดินหามุมนี้ไว้ตั้งแต่บ่ายสาม ถ่ายภาพเก็บไว้ชุดนึง แล้วก็เดินไปถ่ายอาคารอื่นๆ พอใกล้เวลาพระอาทิตย์ตกจึงเดินย้อนกลับมา ตั้งกล้องบนขารอท่าไว้เพื่อหวังจะได้แสงสีทองของยามเย็นมาอาบไล้เพิ่มความเมลืองมลังให้หลังคาโบสถ์ได้มากยิ่งขึ้น
เป็นภาพที่เกือบๆ จะไม่ได้กดชัตเตอร์อยู่แล้วครับ เพราะเมฆเยอะมากๆ รอแกร่วๆ อยู่ครึ่งชั่วโมงจนถึงจังหวะที่ดวงอาทิตย์แตะขอบฟ้าเมฆจึงเปิดช่องออกมาให้ราวๆ 2-3 นาทีเท่านั้น จากนั้นก็ลับไปเลย เป็นสองสามนาทีที่ผมวิ่งวุ่นเพื่อเปลี่ยนมุมถ่ายภาพให้ได้อีก 2-3 จุดตามที่เล็งๆ ไว้  EOS 5D MK II, LENS EF 50 MM. F/1.2L, 1/20 Sec. F/5.6, ISO 50

เมื่อจุดเด่นของเมืองคือสถาปัตยกรรมแบบบารอค แน่นอนว่าแผนการถ่ายภาพก็ต้องเน้นๆ ไปยังสิ่งก่อสร้างทั้งตึกรามบ้านช่อง และโบสถ์หลายแห่งโดยตรง อาจมีแนวสตรีทหรือวิถีชีวิตผู้คนแทรกสลับบ้างตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า ทว่าเอาเข้าจริงสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิด มันก็เกิดขึ้นจนได้!

นั่นคือการ “ซ่อม” ครับ การ “ซ่อม” กับสถานที่ท่องเที่ยวประเภท “โบราณสถาน” นั้นเป็นของคู่กันก็แทบจะว่าได้ ผู้อ่านท่านที่ชอบเที่ยวชมโบราณสถานเป็นชีวิตจิตใจ น่าจะพบเจอกับการ “ซ่อม” จนสามารถเข้าใจได้ว่ามันเป็นเรื่อง “ปกติธรรมดา”

แต่สำหรับ ทิมิโซอารา ในวันเวลาที่ผมไปเยี่ยมเยือนนั้น มีการ “ซ่อม” ในระดับ “ไม่ปกติธรรมดา” เลยทีเดียว ตึกทุกหลัง อาคารทุกแห่งเป็นปกติดีครับ แถมบางตึกยังทาสีใหม่ไฉไลยิ่งกว่าเดิม ทว่าสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือ “พื้น” ครับ ส่วนที่เป็นพื้นราวๆ 60-70% ภายในเขตเมืองเก่า ทั้งถนน ทางเดินเท้า กระทั่งสนามหญ้า ถูกขุดลอกเพื่อวางท่อระบายน้ำ ปรับพื้นผิวใหม่ รวมไปถึงถูกขุดค้นซากเมืองเก่าที่จมอยู่ใต้ผืนดิน (คือเมืองซึ่งเก่ายิ่งกว่าเมืองเก่าที่อยู่บนผิวดินในปัจจุบัน – เท่าที่เห็นและถามข้อมูลมาได้บ้าง พบว่ามันมีทั้งกำแพงเมือง ทั้งอาคารที่เข้าใจว่าเป็นมัสยิดในศาสนาอิสลาม รวมไปถึงโครงกระดูกมนุษย์อีกหลายชิ้น)

“Timisoara under construction” ก็อย่างที่เห็นนั่นล่ะครับ ว่าพื้นที่ส่วนที่เคยเป็นลานโล่งกว้าง เป็นจัตตุรัส เป็นสนามหญ้า ได้แปรสภาพไปเป็นกองวัสดุก่อสร้างจนกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการถ่ายภาพอาคารต่างๆ ให้สวยงาม ตามที่ควรจะเป็น ผมจึงต้องเปลี่ยนแผนในการถ่ายภาพอย่างปัจจุบันทันด่วน หันไปเน้นถ่ายรายละเอียดในบริเวณส่วนต่างๆ ของอาคารเป็นการทดแทน และเน้นเป็นพิเศษกับการเก็บยอดอาคารรูปทรงแปลกหูแปลกตา EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/500 Sec. F/8, ISO 200

ตามปกติที่ผมเจอ มักจะมีการซ่อมแซมอาคารเพียงบางส่วนหรือบางหลังเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็ยังมีอะไรให้ถ่ายได้เยอะ แต่นี่ดันไปมีปัญหากับบริเวณพื้น ที่บางจุดก็กลายเป็นบ่อดินโคลนกว้าง บางมุมกองพะเนินไปด้วยวัสดุก่อสร้าง ทั้งท่อเหล็ก อิฐ หิน ดิน ทราย ฯลฯ บางแห่งเต็มไปด้วยรถขนดินและเครื่องจักรกลนานาชนิด ริมทางเดินยังขึงราวกั้นสีส้มสีแดงเห็นเด่นชัดมาแต่ไกล และทั้งหมดนั้นมันวางอยู่หน้าอาคารสวยๆ ที่ต้องการจะถ่ายภาพนั่นล่ะครับคุณ!!!

ถึงแม้จะยังมีพื้นที่อีก 30% ยังรอดปลอดภัยและพร้อมให้ถ่ายภาพได้ แต่ 70% นี่มันก็มากเกินไปหน่อย จนอดไม่ได้ที่จะเกิดความเซ็งในอารมณ์อยู่ดีนั่นเองครับ แถมกลุ่มอาคารส่วนที่ถือเป็นไฮไลท์นั้นโดนไปเต็มๆ ในบริเวณที่เรียกว่าจัตตุรัสยูนิริ (Piata Unirii) ซึ่งมีพื้นที่กว้างราวๆ สนามฟุตบอล รายล้อมไปด้วยโบสถ์เก่าและอาคารสวยๆ หลายหลัง แต่ทั้งลานถูกแปรสภาพเป็นสนามก่อสร้างเต็มพื้นที่ มีทั้งส่วนที่ขุดลอกท่อ ขุดสำรวจซากเมืองเก่า มีทั้งกองวัสดุ ทั้งรถขนดินและเครื่องจักรกล เห็นแล้วถึงกับหน้ามืดตาลายกันเลยทีเดียวเชียวครับ

แว่บแรกที่เห็นผมถึงกับอยากจะย้ายเมืองหนีในทันทีทันใด แต่เมื่อเดินสำรวจไปโดยรอบ(ด้วยความเซ็ง) มันก็ยังพอมองเห็นสิ่งละอันพันละน้อยให้พอเก็บภาพได้มากพอสมควร เพียงอาจต้องรอเวลาเพื่อให้ได้ทิศทางแสงที่เหมาะสมมาช่วยอีกหน่อย ซึ่งผมมีเวลามากพอสำหรับการรอคอยแน่นอน

โดยปกติแล้ว นอกเหนือจากการถ่ายอาคารแบบภาพรวม ทั้งในระยะใกล้ และจากระยะไกล(เท่าที่พอจะมีมุมให้ถอยได้) เพื่อให้เห็นสิ่งก่อสร้างหรือตัวอาคารนั้นเต็มๆ ทั้งหลัง ผมก็ยังมักจะมองแบบเฉพาะจุด เลือกถ่ายมุมเล็กๆ เป็นส่วนๆ มาด้วย ซึ่งบางทีก็เป็นบานประตู-หน้าต่าง บางครั้งเป็นมุขระเบียงที่ยื่นออกมา หรือบางทีก็เป็นลวดลายเหล็กดัดที่สวยงาม และบางครั้งมุมนั้นอาจเป็นเพียงผนังสีที่ลอกร่อนกร่อนซีดก็เป็นไปได้ครับ

“Curved Steel” แน่นอนว่าผมไม่ใช่สถาปนิก หรือทำอาชีพอะไรเกี่ยวกับอาคารบ้านเรือนเลยสักนิด ซึ่งนับเป็นข้อดีสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมได้ในแง่มุมที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนดูแปลกใหม่และน่าสนใจที่จะถ่ายภาพได้เสมอๆ อย่างพวกลวดลายลูกกรง หรือเหล็กดัดต่างๆพวกนี้ สำหรับคนในแวดวงมันคงไม่มีอะไรพิเศษกว่าเหล็กดัดที่อื่นๆ ในโลกสักกี่มากน้อย ทว่าสำหรับผมรูปทรงหรือลวดลายพวกนี้ไม่ใช่ของคุ้นตานัก จึงมักจะให้ความสนใจและใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการถ่ายภาพอยู่เนืองๆ และบางทีผมก็ไม่ได้สนใจมันในแง่ของชิ้นส่วนหรือความมีคุณค่าในทางสถาปัตยกรรมด้วยซ้ำ ผมมองเห็นในเรื่องของ เส้น สี พื้นผิว ประกอบไปกับแสงเงาที่สาดจับทาบทับลงมาบนสิ่งนั้นๆ ถ้าทุกอย่างมันสวยงามลงตัว ผมก็ไม่ละเลยที่จะเก็บภาพไว้ มันกึ่งๆ จะเป็นภาพแนวไฟน์อาร์ตด้วยซ้ำไปครับ ถ้าผมจะหาคำอธิบายให้ตัวเองได้ลึกซึ้งและชัดเจนกว่านี้ ว่าทำไมถึงถ่ายมันมา (แต่ชั่วโมงนี้มันยังไม่ใช่แน่ๆ ครับ) EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/320 Sec. F/4.5, ISO 200

“ The Old Door” ประตูหน้าต่าง หรือผนังเก่าๆ ที่สีมันผุกร่อนลอกร่อน เป็นวัตถุดิบอันโปรดปรานอย่างหนึ่งของผมก็ว่าได้ครับ เห็นเมื่อไรเป็นต้องเดินเข้าไปพินิจพิจารณาทุกทีว่ามันจะให้ภาพที่สวยงามได้หรือไม่ ผมชอบการกัดกร่อนจากธรรมชาติแบบนี้ล่ะครับ มันบ่งบอกถึงอายุอานามของสิ่งนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้พื้นผิวและสีสันมันยังมีความน่าสนใจในตัวเองอีกด้วย ยิ่งได้แสงเฉียงๆ หรือมีเงาอะไรทาบทับด้วยอีกหน่อยก็ยิ่งดีครับ ผมว่ามันทำให้ภาพดูลึกลับชวนมองขึ้นมาอีก EOS 5D MK II, LENS EF 50 MM. F/1.2L, 1/640 Sec. F/5.6, ISO 200

การเลือกถ่ายแบบครอปเฉพาะส่วนบนตัวอาคารอย่างนี้ ผมล่ะชอบจริงๆ ครับ บางอาคารมีอะไรให้ถ่ายภาพได้มากมายยิ่งกว่าภาพรวมของตัวอาคารเองเสียอีก เพราะมันสามารถนำเรื่องทฤษฎีสีมาเล่นได้ ใช้เรื่องแสงเงาก็ได้ เรื่องการวางเส้นสายต่างๆ ในภาพก็ได้ บางทีเล่นกับเงาสะท้อนบนส่วนที่เป็นกระจกกับท้องฟ้า หรืออาคารอื่นๆ ก็ได้อีก

ในกรณีฉุกเฉินอย่างที่เจอในเมืองทิมิโซอารานี้ ผมจึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการเอาไม้นี้ออกมาใช้อย่างเต็มที่ เลือกการถ่ายภาพแบบเจาะเฉพาะส่วนด้วยเลนส์ 70-200 mm. เป็นหลัก ทิ้งเลนส์ TS-E 24 mm. F/3.5L II ตัวเก่ง ให้รับบทเพียงพระรองเท่านั้น

นอกจากการเก็บส่วนปลีกย่อยต่างๆ บนตัวอาคารเพื่อหลีกเลี่ยงบริเวณพื้นเป็นหลักแล้ว จากการเดินสำรวจไปรอบๆ เมืองเก่า (ซึ่งมีพื้นที่ไม่ได้กว้างใหญ่อะไรนัก รวมๆ ไม่เกินตารางกิโลเมตร) ผมสังเกตได้ว่า อาคารที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นแต่ละแห่ง มักจะมีจุดร่วมคล้ายๆ กันอย่างหนึ่งคือ จุดสูงสุดของอาคารมักจะสร้างเป็นหลังคายอดแหลม ซึ่งมีทั้งที่เป็นทรงกรวย ทรงโดม ทรงกระบอก ทรงน้ำเต้า ฯลฯ ซึ่งมันดูแปลกตาและน่าสนใจสำหรับผมมากๆ

ผมจึงเพิ่มเติมและเน้นการเก็บภาพในส่วนของยอดอาคารเหล่านี้เข้ามาเป็นกรณีพิเศษ เดินตามเก็บครบทุกยอดทุกอาคารก็ว่าได้ครับ และเนื่องจากมันเป็นส่วนสูงสุดของอาคารหลังนั้นๆ และบางแห่งก็ยังสูงล้ำเหนืออาคารอื่นๆ รายรอบ มันจึงสามารถเดินเก็บภาพได้จากหลายทิศทาง เช้าก็ได้ บ่ายก็ดี เย็นๆ ค่ำๆ บางที่ก็มีไฟส่องสว่างเพิ่มอีกต่างหาก

ผมพยายามถ่ายยอดอาคารเหล่านี้จากในระยะไกลที่สุดเท่าที่จะหามุมได้ และทางยาวโฟกัสเอื้ออำนวย เพื่อที่จะไม่ให้มันเป็นมุมแหงนจนเกินไป บางยอดก็ถ่ายแน่นๆ เน้นๆ แต่บางยอดก็ถ่ายหลวมๆ เผื่อพื้นที่ให้กับหลังคาส่วนอื่นๆ ที่เส้นสายรูปทรงมันสอดรับกันแล้วดูสวยงามลงตัว

ปัญหาที่พบเจอสำหรับการเก็บยอดอาคารเหล่านี้ หลักๆ คือ เรื่องของสายไฟที่รก เรื้อระเกะระกะพอสมควร เพราะนอกจากจะมีสายไฟบ้านคล้ายๆ ริมถนนบ้านเรา มันยังมีสายไฟฟ้าที่ใช้กับรถราง สายที่ใช้กับรถเมล์ไฟฟ้า เพิ่มเติมเข้ามาด้วย บางมุมนี่เห็นสายพวกนี้เป็นอย่างกับม่านกั้นเลยครับ แต่ด้วยความสูงของยอดอาคารเอง ปัญหานี้จึงแก้ได้ไม่ยาก เพราะสามารถเดินหามุมถ่ายภาพที่หลบเลียงจากสายไฟเหล่านี้ได้เสมอ ไม่ใกล้ก็ไกล

กับอีกหนึ่งปัญหาถาวรของการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม มันคือเรื่องของท้องฟ้าครับ การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมนั้น นอกจากแสงเฉียงๆ ของช่วงเช้าและบ่ายแก่ๆ แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือสีของท้องฟ้า ที่จะปรากฏอยู่เหนือตัวอาคารนั้นๆ ถ้ามันเป็นสีฟ้าได้ตลอดมันก็ง่ายล่ะครับ หรือการมีเมฆรูปทรงสวยๆ แทรกเข้ามาบ้าง ก็อาจเพิ่มความสวยงามให้กับภาพสถาปัตยกรรมแห่งนั้นๆ ได้อีก แต่ถ้าหากท้องฟ้ากลายเป็นสีขาวซีดๆ หรือสีเทาหม่นๆ ภาพสถาปัตยกรรมแห่งนั้นๆ ก็จะดูจืดจ๋อยด้อยค่าลงไปได้ง่ายๆ เหมือนกัน ซึ่งมันก็มีความเป็นไปได้สูงเมื่อออกไปถ่ายภาพในช่วงฤดูฝน!

ใช่แล้วครับ ช่วงที่ผมไปเที่ยวโรมาเนียนี่เป็นช่วงที่ฝนตกชุกเอาเรื่อง โดยเฉลี่ยก็วันเว้นวันท่าจะได้ ที่โชคดีคือมันไม่ค่อยตกยืดเยื้อครับ ตูมๆ พรำๆ ลงมาสักพักก็หยุด แล้วก็จะมีช่วงฟ้าใสปลอดโปร่งให้ถ่ายภาพได้เป็นระยะๆ

“Serbian Orthodox Church” ด้านหน้าของโบสถ์นี้ ความจริงก็พอมีพื้นที่ตามความกว้างของถนนให้ยืนถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างแบบเฉียงๆ     โดยยังเห็นโบสถ์ได้เต็มหลัง ทว่าส่วนยอดหอคอยคู่อันโดดเด่นก็จะถูกอาคารด้านหน้าบังจนมิด ดังนั้นจุดถ่ายภาพจึงต้องถอยให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในขณะเวลานั้นมันก็จะเต็มไปด้วย หลุมขุด และกองวัสดุกระจัดกระจายเต็มบริเวณ ผมจึงแก้ปัญหาด้วยการเลือกถ่ายเฉพาะครึ่งบนของอาคารมาเท่านั้น เน้นไปที่ทรงหลังคาอันสวยงามแปลกตาไว้ก่อน ซึ่งถ้าเก็บมาภาพเดียวโดดๆ มันก็อาจจะดูทะแม่งๆ อยู่ แต่ภาพแบบนี้ถ้าเก็บมาเป็นชุดๆ จนมีจำนวนมากพอ มันก็จะส่งเสริมกันและสามารถนำมาใช้งานได้ครับ EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/500 Sec. F/8, ISO 200

ดังนั้นผมจึงต้องเสียเวลาในการรอท้องฟ้า ซึ่งบางทีก็ใช้การเดินเปลี่ยนมุมช่วยได้     แต่ที่เสียเวลามากมายจริงๆ คือการรอดวงอาทิตย์เล็ดลอดหมู่เมฆออกมาให้แสงเงากับอาคารนั้นๆ ที่กำลังจะถ่ายภาพ บางภาพนั่งรอถึงครึ่งชั่วโมงก็มี เพื่อกดชัตเตอร์เพียงภาพเดียวนี่ล่ะครับ เพราะมันต่างกันเยอะมากนะครับระหว่างภาพที่มีแสงส่องโดยตรง กับภาพที่ถ่ายโดยดวงอาทิตย์หลบอยู่หลังก้อนเมฆ ทั้งคอนทราส สีสัน และแสงเงา นี่มันคนละเรื่องเลย

แล้วพวกโฟโต้ช้อประดับอนุบาล 2  อย่างผมนี่ ไม่ต้องคิดจะไปทำไฟล์ให้เสียเวลานั่งหน้าจอคอมพ์ไปเปล่าๆ เพราะทำอะไรกับใครเขาไม่เป็นจริงๆ ผมจึงต้องใช้วิธีโบร่ำโบราณด้วยการ รอ รอ รอ  และรอ อย่างเดียวเท่านั้น  และจริงๆ แล้ว ต่อให้ทำไฟล์ได้เก่งแต่งภาพขั้นเทพ ทว่าภาพที่มันมีแสงเงาดีอยู่แล้ว ยังไงมันก็ให้คุณภาพของภาพ และไฟล์ที่ดีกว่าภาพที่ต้องมาขุดรายละเอียด หรือมาทำเพิ่มในภายหลังอย่างแน่นอนครับ

แม้ในวันแรก ผมอาจจะยังเก็บได้ไม่ครบทุกยอดอาคาร แต่ผมก็ยังมีวันที่สองเป็นสำรองเผื่อเอาไว้ ผมเลือกการเสียเวลาที่หน้างานเพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุด โดยไม่ต้องมาเสียเวลาบนหน้าจอคอมพ์ในภายหลัง ซึ่งยากจะทำให้ได้ภาพที่ดีถ้าไม่มีแสงมีฟ้าดีๆ มาตั้งแต่ต้น

“…..” อาคารนี้ตั้งอยู่เยื้องๆ กับโบสถ์ Metropolitan พอดีครับ หลังจากถ่ายหลังคาโบสถ์ตามมุมที่เล็งไว้ล่วงหน้าเรียบร้อย ผมก็รวบขาตั้ง วิ่งออกมาจากสวนสาธารณะ เพื่อจะเก็บยอดอาคารนี้เพิ่มเติมก่อนที่แสงจะหายลับไป อันที่จริงยอดอาคารนี้ผมถ่ายภาพเก็บไว้แล้วทั้งเช้าทั้งบ่าย แสงก็ได้ ฟ้าก็ดี แต่ในเมื่อมันยังมีโอกาสได้ภาพที่ดีกว่าด้วยแสงสีทองของยามเย็น ในฐานะของนักถ่ายภาพผมก็ต้องพยายามเลือกใช้แสงที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นล่ะครับ EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/15 Sec. F/5.6, ISO 50

ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว แม้จะเก็บภาพรวมของอาคารจำนวนมากไม่ได้ตาม Plan A แต่กับ Plan C ที่เปลี่ยนมาเน้นส่วนยอดแหลมของอาคารเป็นการเฉพาะกิจ ผมก็ยังทำสำเร็จได้ตามเป้าหมาย และทำให้ผมยังคงสนุกสนานกับการถ่ายภาพอาคารได้อยู่แม้จะไม่เต็มร้อยก็ตามที เหมือนที่คุณ “ตูน Bodyslam” ร้องไว้ในเพลงยอดฮิตประจำปี “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” นั่นล่ะครับ

“ฟ้าครามไม่สร้างใคร ทะเลจะสร้างคน ด้วยอันตราย”
“จะออกไปแตะขอบฟ้า สุดท้ายแม้โชคชะตาไม่เข้าใจ”
“มองไปไม่มีหนทาง แต่รู้ว่าฉันต้องไปต่อไป”

หากเจอฟ้าใสสีครามตลอดเวลา การถ่ายภาพมันก็เป็นเรื่องง่าย แต่มันก็อาจทำให้เราขาดการฝึกฝน ไม่รู้จักพลิกแพลง ปัญหาและอุปสรรคต่างหากล่ะครับ ที่จะทำให้ฝีมือการถ่ายภาพของเราก้าวหน้าขึ้นได้ ขอเพียงในใจไม่ยอมแพ้คิดท้อแท้ไปเสียก่อน ขอบฟ้าก็พร้อมจะให้เราเอามือเอื้อมไปแตะได้เสมอครับ

ปล. หากอ่านออกเสียงชื่อเมืองผิดไปก็ต้องขออภัยไว้ ณ.ที่นี้ด้วยนะครับ


การเดินทางเข้าประเทศโรมาเนียสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย สามารถขอวีซ่าได้ที่สถานทูตโรมาเนีย ชั้น 12 อาคารศิรินรัตน์ ใกล้ๆ โลตัสและบิ๊กซีพระราม 4 ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ในการออกวีซ่า เสียค่าใช้จ่ายคนละ 2,400 บาท สำหรับวีซ่าท่องเที่ยว

ขั้นตอนการขอวีซ่าไม่ยุ่งยาก แต่ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม แบบเดียวกับการขอวีซ่าไปประเทศต่างๆ ทางยุโรป (วีซ่าโรมาเนียไม่เกี่ยวกับเชงเก้น แต่ถ้าใครมีวีซ่าเชงเก้นแบบเข้าออกหลายครั้งและยังไม่หมดอายุวีซ่า สามารถใช้เดินทางเข้าโรมาเนียได้เลย) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-6171551

ที่สำคัญสถานทูตเปิดทำการเกี่ยวกับการขอวีซ่าแค่สัปดาห์ละ 2 วันเท่านั้น!!!
วันอังคารเวลา 14.00-16.00 น. และวันศุกร์เวลา 9.00-12.00 น.

เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง


  • บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
    Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
    Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
    Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/photography-planner