Basic

Tilt-Shift Lens

เช่นเดียวกับการถ่ายภาพหลายประเภทประเภทที่มักมีเลนส์ที่เหมาะสมหรือมีคุณสมบัติพิเศษสำหรับการถ่ายภาพประเภทนั้น อย่างเลนส์มาโครที่มีอัตราขยายสูงสำหรับการถ่ายภาพมาโคร หรือเมื่อถ่ายภาพพอร์เทรตนักถ่ายภาพส่วนใหญ่ก็มักคิดถึงเลนส์เทเลโฟโตระยะสั้นอย่าง 85 มม. สำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเลนส์มุมกว้างจะเป็นเลนส์ทั่วไปสำหรับใช้ถ่ายภาพเนื่องจากมุมรับภาพที่กว้างจะช่วยให้สามารถเก็บภาพสิ่งก่อสร้างรวมไปถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมได้ง่ายขึ้น แต่เลนส์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่นักถ่ายภาพมักคิดถึงเมื่อพูดถึงการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมรวมทั้งยังมักเป็นอุปกรณ์ที่นักถ่ายภาพสถาปัตยกรรมในระดับโปรใช้กันก็คือเลนส์ Tilt-Shift เนื่องจากเป็นเลนส์ที่มีคุณสมบัติในเด่นในด้านการควบคุมเพอร์สเปกทีฟของภาพ ซึ่งจะทำให้เส้นตรงต่างๆ ยังคงสามารถปรากฏตรงอยู่ได้ในภาพ

คุณสมบัติของเลนส์ Tilt-Shift

คำอธิบายง่ายๆ ที่จะอธิบายลักษณะของเลนส์ Tilt-Shift คือเป็นเลนส์ที่สามารถปรับเอียงหรือเลื่อนออฟติคัลของเลนส์จากระนาบภาพหรือเซ็นเซอร์ภาพได้ นอกจากนี้อีกลักษณะหนึ่งของเลนส์ถ่ายภาพชนิดนี้คือมี Image Circle ที่ใหญ่กว่าเลนส์ทั่วไป เนื่องจากในขณะที่เลนส์ทั่วไปมี Image Circle ที่แค่ครอบคลุมขนาดของเซ็นเซอร์ภาพ แต่เลนส์ Tilt-Shift จะให้ Image Circle ที่ใหญ่กว่าเซ็นเซอร์ภาพมากเพื่อที่จะยังให้ภาพเต็มเซ็นเซอร์เมื่อมีการปรับทิลต์หรือชิฟต์เลนส์ ดังนั้นนอกจากผลในภาพจากการปรับทิลต์หรือชิฟต์เลนส์แล้ว ในขณะที่เลนส์ทั่วไปมักให้ภาพที่คุณภาพลดลงที่ขอบภาพ หากถ่ายภาพโดยใช้เลนส์ Tilt-Shift ตรงๆ จะให้ภาพคุณภาพสูงที่ขอบภาพจากขนาด Image Circle ที่ใหญ่กว่าปกติ แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะไปดูถึงคุณสมบัติของเลนส์ถ่ายภาพนี้อย่างละเอียดและคิดที่จะซื้อมาใช้ อีกสิ่งหน่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเลนส์ Tilt-Shift คือ เลนส์จะไม่มีระบบออโตโฟกัสมาให้ใช้ ซึ่งหมายถึงจะต้องโฟกัสแมนนวลเท่านั้น

การทิลต์เลนส์

คุณสมบัติในการทิลต์หรือเอียงของเลนส์ Tilt-Shift เป็นการใช้ประโยชน์จากหลักการที่เรียกว่า Scheimpflug Principle ซึ่งเป็นการอธิบายถึงการที่ระนาบเลนส์ไม่ขนานกับระนาบภาพหรือเซ็นเซอร์ภาพ ซึ่งอาจฟังดูซับซ้อน แต่หากพูดถึงประโยชน์ของการทิลต์หรือเอียงเลนส์ง่ายๆ ก็คือสามารถเปลี่ยนระนาบโฟกัสที่ชัดของภาพได้ เลนส์โดยทั่วไประนาบโฟกัสจะขนานกับเซ็นเซอร์ภาพ ซึ่งหมายความว่าเมื่อโฟกัสวัตถุที่อยู่ห่างออกไปสี่ฟุตด้วยเลนส์ปกติที่ไม่ใช้เลนส์ Tilt-Shift ทุกสิ่งทั้งด้านซ้ายและขวาที่อยู่ห่างจากกล้องในระยะสี่ฟุตจะถูกโฟกัสให้มีความชัดขณะที่พื้นที่ด้านหน้าและด้านหลังจุดโฟกัสจะค่อยๆ หลุดจากระยะโฟกัสหรือเบลอ แต่การปรับทิลต์เลนส์หรือเอียงเลนส์ไปด้านซ้ายหรือด้านขวานักถ่ายภาพจะสามารถเปลี่ยนระนาบโฟกัสจากแนวขนานกับเซ็นเซอร์ภาพเป็นตั้งฉากกับเซ็นเซอร์ภาพได้ซึ่งทำให้ระนาบโฟกัสเปลี่ยนเป็นแนวตั้งตลอดเฟรมภาพหรือหมายความว่าสามารถทำให้ตั้งแต่สิ่งที่อยู่ด้านหน้าจนถึงด้านหลังถูกโฟกัสให้ชัดได้แม้จะใช้รูรับแสงค่อนข้างกว้าง ขณะที่สิ่งซึ่งอยู่ด้านซ้ายหรือขวาหรือขนานกับเซ็นเซอร์จะค่อยๆ หลุดโฟกัสหรือเบลอ

โดยปกตินอกจากการปรับทิลต์เลนส์เพื่อเอียงเลนส์ด้านซ้ายหรือขวาแล้ว ยังสามารถปรับทิลต์หรือเอียงเลนส์ขึ้นหรือลงได้ด้วย รวมทั้งนอกจากการเพิ่มระยะชัดในภาพแล้ว ยังสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจำกัดระยะชัดให้น้อยกว่าที่ได้จากรูรับแสงที่ใช้ตามปกติ ซึ่งเอฟเฟกต์นี้ปกติมักใช้เพื่อทำให้สิ่งที่อยู่ในภาพเช่นทิวทัศน์เมืองดูเหมือนสเกลของเล่นหรือภาพ Miniature โดยการถ่ายภาพในมุมสูง

การชิฟต์เลนส์

การทำงานชิฟต์เลนส์ของเลนส์ Tilt-Shift เหมือนตามชื่อคือการที่ออฟติคัลของเลนส์สามารถเลื่อนจากเซ็นเซอร์ภาพได้ ซึ่งกุญแจสำคัญที่ส่งผลให้เลนส์ Tilt-Shift มีคุณสมบัติแตกต่างจากเลนส์ทั่วไปนี้คือเลน์ถูกออกแบบให้มี Image Circle ที่ใหญ่กว่าเลนส์ทั่วไปมาก อย่างเลนส์ Canon TS-E 24 มม. F3.5 Tilt-Shift จะมี Image Circle 67.2 มม.ซึ่งใหญ่กว่า Image Circle ของเลนส์ EF ทั่วไปที่มีขนาด 43.2 มม.โดยการชิฟต์เลนส์นักถ่ายภาพจะสามารถถ่ายภาพวัตถุได้เหมือนการเปลี่ยนตำแหน่งกล้อง ซึ่งประโยชน์ที่สำคัญและเด่นชัดจากการชิฟต์เลนส์คือสามารถทำให้ถ่ายภาพสถาปัตยกรรมได้โดยเส้นแนวตั้งไม่เอียง ซึ่งวิธีการคือจะต้องถ่ายภาพโดยที่ตั้งกล้องให้ได้ระดับที่ถูกต้อง โดยเล็งไปยังสิ่งก่อสร้างตรงๆ จากนั้นชิฟต์หรือเลื่อนเลนส์ขึ้นเพื่อให้ภาพครอบคลุมส่วนบนของสิ่งก่อสร้างหรืออาจรวมท้องฟ้าให้เข้ามาอยู่ในภาพ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตามมาจากสิ่งนี้คืออาจสูญเสียส่วนที่เป็นฉากหน้าไปบางส่วน เนื่องจากเลนส์อยู่ในระนาบปกติขนานกับสิ่งก่อสร้างจึงทำให้เส้นแนวตั้งไม่เอียง และเนื่องจากเลนส์ถูกชิฟต์หรือเลื่อนจึงสามารถให้ภาพในตำแหน่งที่สูงกว่าปกติได้

นอกจากการใช้เพื่อถ่ายภาพสถาปัตยกรรมโดยที่เส้นแนวตั้งไม่เอียงแล้ว ยังมีประโยชน์ด้านอื่นจากการชิฟต์เลนส์อีกคือสามารถช่วยให้สามารถถ่ายภาพจากมุมที่ปกติไม่สามารถทำได้เมื่อถ่ายภาพกระจก ซึ่งจะทำให้ได้ภาพเหมือนตั้งกล้องในตำแหน่งหน้ากระจกตรงๆหรืออยู่ในมุมสะท้อนของกระจก ทั้งที่จริงๆ แล้วกล้องอยู่ในตำแหน่งนอกมุมสะท้อนของกระจกแล้วชิฟต์เลนส์ด้านข้างเพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ รวมไปถึงการชิฟต์ยังมีประโยชน์เมื่อถ่ายภาพเป็นชุดเมื่อนำมาทำเป็นภาพพาโนรามา เพราะโดยที่ไม่ต้องมีการขยับกล้องนักถ่ายภาพจะสามารถจัดเฟรมภาพโดยที่เลื่อนเลนส์ไปด้านซ้าย ตรงกลาง และด้านขวาเพื่อเลี่ยงการที่ส่วนต่างๆ ในภาพไม่ขนานกันได้ ซึ่งจะทำให้สามารถนำภาพมาต่อกันภายหลังได้ง่ายขึ้น


Scheimpflug Principle

ทฤษฏี Scheimpflug คือจุดที่ระนาบวัตถุถูกโฟกัสชัดตั้งแต่ระยะใกล้สุดจนถึงไกลสุด และใช้อ้างอิงถึงสิ่งที่ดูเหมือนระยะชัดใกล้เคียงกับระยะอินฟินิตี้ เพื่อให้ได้ระยะชัดที่มากนักถ่ายภาพจะต้องทิลต์หรือเอียงระนาบโฟกัสให้อยู่ในทิศทางเดียวกับระนาบวัตถุซึ่งจะทำให้ภาพโฟกัสไปยังจุดต่างๆ ที่อยู่ในระนาบวัตถุ เช่นเมื่อถ่ายภาพทุ่งดอกไม้ที่กว้างและต้องการให้ดอกไมเทั้งหมดอยู่ในระยะโฟกัส โดยไม่ต้องการใช้รูรับแสงแคบเพื่อเลี่ยงการใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่า โดยการเปลี่ยนระนาบโฟกัสจากการใช้เลนส์ Tilt-Shift ก็จะช่วยให้ได้ภาพดอกไม้ทั้งหมดที่อยู่ในระยะโฟกัสได้แม้จะใช้รูรับแสงกว้าง

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic