ไม่มีหมวดหมู่

STILL LIFE PHOTOGRAPHY Interview # 01 : จิตติมา เสงี่ยมสุนทร Still life Photographer

FOTOINFO Plus ฉบับ Still Life Photography มีโอกาสนั่งฟังทัศนะจากสองช่างภาพอาชีพ เป็นสองท่านที่มีประกอบอาชีพ “ช่างภาพ” เหมือนกัน และเป็นสองท่านที่เลือกเส้นทางให้กับตนเองอีกสายโดยสมัครใจใช้คำว่า “ครู” ตามที่ผู้เป็นลูกศิษย์พร้อมใจกันยกให้

ในความเหมือน อาจแผกต่างกันบ้างที่วัย
ในความคล้าย อาจไม่เหมือนกันที่จุดเริ่มและจุดเลือก (ยืน)

หากประโยค.. “โลกของศิลปะไม่มีถูก – ไม่มีผิด” ของใครสักคนเป็นจริง
ฉะนั้น “ประตู” ซึ่งนักถ่ายภาพผู้ปรารถนาจะเทใจไปบนเส้นทางสายศิลปะ ก็น่าจะพร้อมเปิดรับทุกคนทุกเมื่อ

 

 

 

จิตติมา เสงี่ยมสุนทร หรือ “ครูเก๋”
บุญสิทธิ์ รัตนจารีต หรือ “ครูไปร์ท”
สองครูนักถ่ายภาพต่างสไตล์ เปรียบดั่ง “กุญแจ” ให้นักถ่ายภาพรุ่นใหม่ได้เลือกไขและก้าวเดินตามไป
ท่านหนึ่ง พร้อมพาคุณดิ่งลึกลงไปในเส้นทางการถ่ายภาพสายศิลปะบริสุทธิ์
ท่านหนึ่ง พร้อมเดินลุยไปกับคุณบนถนนของการถ่ายภาพร่วมสมัย
โดยน่าจะมี Still Life Photography เป็นบทเรียนแรก ๆ ที่พวกเขาอยากเล่าให้คุณฟัง


จิตติมา เสงี่ยมสุนทร

Fine Art ทัศนะ และปัจจุบันขณะของ.. ครูเก๋ – จิตติมา เสงี่ยมสุนทร

“หากครูยังมีความโลภ กิเลส ตัญหา ให้ทำงานแล้วบอกว่านี่คือ Fine Art  มันยังไม่เป็นหรอก”

อาจเป็นครั้งแรกของ FOTOINFO Plus ที่ Interview Section ไม่ได้เป็นฝ่ายหยิบยื่นคำถามให้กับช่างภาพรับเชิญอย่างเป็นเรื่องเป็นราวดั่งทุกฉบับ ตรงกันข้าม ครั้งนี้เราทำตัวเหมือนลูกศิษย์กลับมาหาครู ไม่ใช่อยากให้ครูสอนแต่อยากให้ครูเล่า บางครั้งเรื่องและโลกของการถ่ายภาพนอกตำรา อาจหมายถึงคำตอบที่บางคนเพียรหา

หากใครเป็นเฟรนด์ของ Jittima Sa-ngeamsunthron บนโลกโซเชี่ยล นอกจากผลงานภาพถ่ายไฟน์อาร์ตที่ผู้ เป็นเจ้าของมักแชร์จากเพจ Jittima Fine-art photography มาให้พวกเราได้ซึมซับกระบวนคิดและความ งดงามอยู่อย่างเสมอแล้ว ยังมีบทเพลง Classical Music ที่เธอนำมาฝากเป็นประจำ ขณะที่บางโอกาสเป็น คำสอนของเหล่าบรรดาครูศิลป์ บางโพสต์เป็นปรัชญาสั้นๆ ทว่าอาจสำคัญกับจังหวะชีวิตของใครบางคน แต่ที่ดู เหมือนจะโชว์อยู่บนหน้าฟีดของครูอยู่บ่อยๆ คือ ธรรมะ และประโยคกระตุกสติสั้นๆ จาก “พระอาจารย์ชยสาโร” (ชยสาโร ภิกขุ – สถานพำนักสงฆ์ จังหวัดนครราชสีมา)

สำหรับบางคน ภาพถ่าย ธรรมะ ปรัชญา และบทเพลงคลาสสิค อาจเป็นโพสต์ทั่วไปที่แชร์ตามความสนใจโดย เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก แต่สำหรับเรา มันเป็นความสงสัยเล็กๆ ต่อวัตรปฏิบัติซํ้าแล้วซํ้าเล่าของสตรีผู้เป็นครูสอนนักถ่ายภาพ
เป็นส่วนหนึ่งในการขัดเกลาจิตใจ ธรรมะช่วยให้สติ เวลาทำงานศิลปะจะมีสมาธิให้จิตใจเราสงบ แต่สติช่วยให้ไม่อคติ มองเห็นอะไรมากขึ้นทั้งจากภายในและภายนอก มีสติจะเกิดปัญญา ช่วยให้เราได้คิดงานใหม่ๆ ได้ เปรียบเหมือนถ้าจิตใจไม่สงบเอาเรื่องภายนอกเข้ามากวนในใจ มันก็คิดงานไม่ออก ความคิดไม่ตกตะกอนก็ไม่เกิดปัญญา

การทำงานเกี่ยวกับศิลปะบริสุทธิ์ (Fine Art) ถามว่าหากจิตใจไม่นิ่งหรือฟุ้งซ่านทำงานได้ไหม.. ทำงานได้แต่ ก็ได้ในระดับหนึ่ง และอะไรที่ต้องทำต่อล่ะ.. พัฒนาฝีมือ พอมีฝีมือก็พัฒนาจิตใจ ความคิดก็ต้องพัฒนาตามไปด้วย ครูจะพูดเสมอว่าถ้าความคิดไม่เปลี่ยน งานมันก็ไม่เปลี่ยน ทีนี้เราจะคิดงานอย่างไรดี คิดอย่างมีปัญญา หรือว่าคิดไปอย่างนั้น

เวลาสอนหนังสือครูมักจะถาม คอนเซ็ปชวล อาร์ต (Conceptual Art) คืออะไร.. เขาก็จะนึกกันไปว่าคอนเซ็ปชวล อาร์ต คือการคิดอะไรก็ได้แล้วก็ทำงานตามสิ่งที่เราคิด เริ่มที่อย่าคิดงานง่ายๆ คิดให้ยากขึ้นหน่อยนะ งานประเภทนี้ที่ติดใจครูมักเป็นงานที่เริ่มจากความคิดของตัวเอง แต่ไม่ได้จบลงแค่ตัวเอง งานบอกถึงสิ่งที่เขาคิด มีความสัมพันธ์กับสังคม จุดประกายทางความคิดให้คนอื่นได้คิด บางคนอาจสงสัย หากจิตใจไม่ดีแล้วมาทำงานไฟน์อาร์ต มันจะเป็นไฟน์อาร์ตได้ไหม.. ตรงนี้สำหรับครูสำคัญ หากในจิตใจเรายังมีความโลภ มีกิเลส ตัญหา ต่อให้ทำงานแล้วบอกว่านี่คือไฟน์อาร์ต มันก็ยังไม่เป็นหรอก  คนทำงานก็ต้องฝึกตัวเองให้บริสุทธิ์ด้วย เป็นความคิดส่วนตัวในการทำงานของตัวเอง

คนทำเขาจะรู้ได้ด้วยตัวเองไหมหากเขาเป็นคนอย่างนั้น หรือต้องอาศัยคนบอก
รู้ได้ ก็ต้องมีสติ ตัวเองเตือนตัวเองได้ แต่ถ้าไม่มีสติก็หลง เพราะฉะนั้นครูถึงต้องพึ่งธรรมะคอยเตือนสติตัวเอง อย่างเวลาเราทำงานศิลปะ คนที่เป็นอาร์ติส (Artist) จะอยู่กับตัวเองเยอะ อยู่กับความรู้สึก ความนึกคิดแต่ของตัวเอง ไม่ค่อยให้ใครมายุ่ง หรือมากำหนดงานที่ตัวเองทำ มันก็เลยอยู่แต่ในโลกของตัวเองมาก หลงได้ง่าย สิ่งที่ทำให้เราหลง คือ ขาดสติ ศิลปินใครเตือนก็ไม่ได้หรอก เป็นธรรมดาปกติ ต้องพยายามฝึกที่จะคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอ มันยากแต่ก็ต้องทำนะ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เอาชนะตัวเองเวลาทำงาน

เมื่อเกิดภาวะอย่างเช่นการหลง.. คิดไปว่า.. คิดว่ามี.. จำเป็นต้องการคนช่วยชี้แนะไหม
ก็ถ้ามีครูบาอาจารย์ มีเพื่อนที่ดี ช่วยได้ค่ะ เราต้องมีกัลยาณมิตรที่ดี คบคนพาล – พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต – บัณฑิตพาไปหาผล เขาจะช่วยเตือนเราได้ เหมือนตัวเรา ถ้าโกรธ คุณจะรู้สึกตัวไหมว่าคุณโกรธ แล้วถ้าคุณหลง คุณจะรู้สึกตัวไหมว่าคุณหลง คุณไม่รู้หรอก ความหลงมันจึงน่ากลัว มันไม่รู้สึก ถ้ามีครูอาจารย์ เขาก็มีหน้าที่ต้องเตือนศิษย์ จะมีคำพูดที่รู้ว่าจะเตือนนักเรียนแต่ละคนด้วยคำพูดใด มันก็จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดสติได้บ้าง มีเพื่อนที่ดีที่เข้าใจเรามาตลอดมาเตือน ก็ทำให้ฉุกคิดได้บ้างเพราะไม่อยากเสียเพื่อนที่ดีที่เข้าใจเราไป

คอร์สประสบการณ์สุนทรียะ (Aesthetic) เกิดขึ้นจากแนวคิดหรือวัตถุประสงค์อะไร
เกิดจากแนวคิดที่ว่าความงามเป็นพื้นฐานของการทำงานศิลปะ แต่ว่าคนมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมัน แล้วก็พยายามจะสร้างเนื้อหาสาระความเป็นประโยขน์ให้มากในงานศิลปะ ครูคิดว่าความงามไม่ต้องการคำอธิบายว่ามีสาระหรือประโยชน์อย่างไร มันมีคุณค่าในตัวของมันเองอยู่แล้ว ในการสร้างงานศิลปะ เราไม่ต้องบอกเล่าว่างานเรามีดีมีประโยชน์มีสาระ ปล่อยให้งานเล่าเองค่ะ ถ้ายังเล่าไม่ได้หมายถึงเราต้องพยายามทำงานให้มากขึ้น

สุนทรียะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ รับรู้ความงามด้วยความรู้สึก ครูถึงต้องฝึกนักเรียนให้เริ่มตรงนี้ให้ได้ อาทิเช่น ควรจะรับสิ่งไหนที่เรียกว่างาม อะไรบ้าง สุนทรียะจะมี Level 1 กับ Level 2 คลาสแรกคือประสบการณ์การรับรู้สึกทางการได้ยิน

ครูเลือกดนตรีคลาสสิคให้นักเรียนฟังเพราะเป็นดนตรีที่สวยงาม มีความซับซ้อน ลุ่มลึกและไม่เล่าเรื่อง แต่แน่นอน.. ฟังยากค่ะสำหรับคนที่ไม่ชอบ ไม่เคยฟัง ไม่รับด้วย ซึ่งต้องฝึก ฝึกให้รับให้ได้ เป็นธรรมดาสิ่งที่พิเศษก็มักจะรับได้ยาก แต่เราควรมีประสบการณ์ในการรับ แล้วเขาจะแยกแยะความสวยงามง่าย ๆ ว่าแตกต่างอย่างไรกับความสวยงามที่ลุ่มลึกและซับซ้อน และความสวยงามในความเรียบง่ายเป็นอย่างไร เราต้องถูกฝึก อบรม และหัดให้เรียนรู้การรับรู้สึกทางความงามด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่ไปถามคนโน้นคนนี้ว่า สวยหรือยัง.. งามพอหรือยัง.. เขาต้องฝึกให้รู้จักการสังเคราะห์ด้วยตัวเอง เวลาเรียนเขาจะมีเราซึ่งเป็นครูคอยให้คำแนะนำแต่ไม่ใช่การชี้นำ แค่แนะนำ ที่เหลือต้องให้เขาหาเอง หลังจากจบคลาสก็ยังต้องให้ทำการบ้านต่อเนื่อง ให้เขาไปค้นหาเองต่อแล้วก็เปิดห้องไว้ให้เราได้เข้าไปแนะนำได้บ้าง

แล้วมันจะมีอิทธิพลอย่างไรต่อวิธีคิดหรือการถ่ายภาพของพวกเขาในอนาคต
การทำงานศิลปะภาพถ่าย เริ่มจากตัวเรา ไม่ใช่เริ่มจากคนอื่น  เพราะฉะนั้นครูจะเริ่มจากการทำให้เขารู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเองก่อนที่จะเข้าใจโลก ซึมซับสิ่งพิเศษที่สลับซับซ้อน ไม่เอาง่ายเข้าว่า สิ่งที่พิเศษหลาย ๆ อย่างจะเป็นประโยชน์เกี่ยวพันกับการทำงาน ทั้งวิธีคิด ความรู้สึก และการส่งสารออกไปด้วยการทำงาน เหมือนกับว่าถ้าเราจะเอาอะไรออกไปจากตัวเรา ก็ต้องรู้จักรับในสิ่งที่ดีก่อนแล้วถึงจะเอาออกไปได้ดี ถ้ารู้จักตัวเองดี รู้จักงานของตัวเองดี เขาจะไม่ต้องกังวลเรื่องความคิดเห็นของคนอื่นเลยว่าใครจะไม่ชมงานหรือใครจะมาว่าผลงานของเขาว่าเป็นแบบไหน เวลาใครติก็จะได้รู้ว่าคำพูดที่คนอื่นติน่าที่จะนำมาใส่ใจนำมาคิดเพื่อพัฒนาต่อไหม ส่วนคำที่ชมเรา มันเป็นคำชอบของคนที่ชม เขาให้กำลังใจไม่เกี่ยวกับเรา เราต้องทำงานต่อ เราก็จะรู้ว่าเออเรายังทำไม่ดีนะ ยังพัฒนาต่อได้อีกก็พัฒนาไป ตรงนี้ครูว่าสำคัญ ในอนาคตเราไม่ทำงานเพื่อให้คนมาดูว่าชอบหรือไม่ชอบ หรือทำงานเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ตอบแทน และความสวยงามไม่ได้วัดกันที่ชอบหรือไม่ชอบ แต่มีอะไรที่ละเอียดลึกซึ้งและมีบรรทัดฐานของมัน

มีข้อมูลบ้างไหมว่าคนที่มาลงคลาสนี้ เขามาเรียนกันทำไม
เขาเชื่อในตัวเราว่าครูจะให้อะไรที่ดีหลังจากที่ลงเรียนกันมาหลายคลาสแล้วมั้งคะ (หัวเราะ) คลาสนี้จะรับแต่ นักเรียนเก่า ต้องผ่านไฟน์อาร์ต Level 1 ขณะที่บางคนผ่าน Level 2 เซล์ฟพอร์เทรต (Self Portrait) หรือคลาส อื่น ๆ ที่เปิดสอนมาก่อนหน้านี้ ต้องรู้จักกันก่อนเพื่อที่ครูจะได้สัมผัสว่านักเรียนคนไหนเป็นอย่างไร คือหลายคน อ่อนมากในการเรียนดนตรีคลาสสิค บางคนไม่ชอบฟัง บางคนไม่ได้ฟังบ่อย และถึงขั้นเกลียดเลยก็มี ปัญหาหนักก็คือจะทำอย่างไรที่จะให้เขาเหล่านี้เปิดรับได้บ้าง เพราะครูเห็นว่ามันมีความสำคัญ สิ่งหนึ่งก็คือหากเขาศรัทธาในตัวครู ถึงไม่อยากฟังแต่เขาต้องฟังเพราะมั่นใจว่าครูจะให้สิ่งที่ดีและที่สำคัญคือการบ้าน การให้การบ้านที่เหมาะสมจะทำให้การสอนประสบผลสำเร็จ ครูก็จะมีวิธีพูดประมาณว่าเราเรียนกันแค่สัปดาห์นี้นะ การบ้านสำคัญ ไม่ได้ยากเลย การฟังดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรานั่นแหละ แต่ขอเปลี่ยนแค่ช่วงสามสัปดาห์ที่มาเรียนเป็นดนตรีคลาสสิคอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งครูมั่นใจว่าเธอจะเปลี่ยนแน่นอน หากทำตามที่ครูพูด

หนึ่ง – ที่เขาทำการบ้านอย่างตั้งใจกันเพราะเขาศรัทธาและเชื่อในสิ่งที่ครูพูด สอง – พอได้เริ่มปฏิบัติจริง ตั้งใจจริง สิ่งที่ได้กลับมาเขาบอกว่าคลาสนี้มหัศจรรย์มาก ไม่คิดว่าตัวเองจะฟังได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะครูเลือกเพลงที่ไม่ได้ยาก พยายามอธิบายและมอบการบ้านให้แต่ละคนไปทำเพิ่มเติมต่อว่ามันดีอย่างไร เหมือนมาเรียน มหาวิทยาลัย เธอต้องทำการบ้าน ถ้าไม่ทำเธอไม่ผ่านนะ เพราะมันยังมีคลาสสุนทรียะ 2 อีก อันนั้นคือการรับรู้ ด้วยการมอง ซึ่งต้องไปดูงานศิลปะ แล้วเขาจะเอาบรรทัดฐานไหนในการเลือกงานล่ะ.. มันจึงต้องเรียนอันนี้ก่อนไง ซึมซับอันนี้ให้ได้ให้ผ่านก่อนแล้วถึงจะไปต่อในคลาสที่ 2

อยากทราบนิยามของไฟน์อาร์ต โฟโตกราฟฟี (Fine Art Photography) ในทัศนะของครู
ภาพถ่ายที่เป็นศิลปะบริสุทธิ์ สร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ ความดีงาม และความคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดจากสติปัญญา ผลงานนั้นเพื่อยกระดับจิตใจมนุษย์ให้สูงขึ้น

จำเป็นต้องมีข้อสุดท้ายนี้ด้วยหรือเปล่า
ใช่คะ ทำงานไปเพื่อตอบสนองตัวเองแต่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น มันก็ไม่ได้ช่วยให้คนที่เขาเดินเข้ามาดูงาน ศิลปะแล้วเขารู้สึกว่ามีโลกใหม่ที่ดีขึ้นหรือมีความรู้สึกดี ๆ เกิดขึ้นในจิตใจในคลาสสุดท้ายของการเรียนสุนทรียะ พอฟังคลาสสิคจบครูมักจะถาม เธอคิดว่าดนตรีคลาสสิคสวยงามไหม.. เขาตอบว่าสวยงาม ก็เลยถามต่อว่าแล้วความสวยงามมันคืออะไร.. ก็มีนักเรียนตอบกลับมาว่าความสวยงามคือสิ่งที่เป็นบวก รับ – รู้สึกแล้วมันมีความรู้สึกที่ดีเกิดขึ้น ไม่ว่ารูปภาพนั้นจะเศร้าแค่ไหน อาทิเช่น เราเห็นภาพนี้มันโหดร้ายมาก เราก็จะไม่ทำแบบนี้ หรืออะไรที่ช่วยได้เราก็จะช่วย อันนี้คือด้านบวกสำหรับคนดูงาน ความรู้สึกที่ดีที่เกิดขึ้นนี้มีผลทางตรงในการยกระดับจิตใจทั้งคนทำงานและคนชมงานให้ละเอียดอ่อนสูงขึ้นค่ะ

แสดงว่าภาพนั้นได้รับใช้สังคม?
ได้ตอบโจทย์ หรือจะพูดในเชิงว่าได้รับใช้สังคมบ้างก็ได้ งานศิลปะเป็นของดีมีประโยชน์ดังที่พ่อเราเคยบอก(การถ่ายรูปเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าให้ถ่ายรูปกันเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าต่อสังคม ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้ เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง – พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)

Still Life Photography จัดอยู่ในแขนงของการถ่ายภาพ Fine Art ด้วยหรือไม่
ใช่ค่ะ ในคลาส Fine Art Photography I จะอยู่ในบทเรียนแรกที่แยกประเภทของงาน Fine Art of Photography ว่ามีอะไรบ้าง Still Life ก็ถือเป็นงานประเภทหนึ่ง คล้ายนู้ด (Nude) คล้ายแลนด์สเคป (Landscape) หรือคอนเซ็ปชวล (Conceptual)

ภาพถ่ายแนว Still Life ในปัจจุบัน ทั้งที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อประเภทอื่น ๆ มีลักษณะหรือแนว โน้มเป็นอย่างไรในมุมมองของครู
ก็เป็นอย่างที่เขาคิด เช่น เอาแบบมาจัด บางคนอ่านหนังสือมาหน่อยก็จะบอกว่า Still Life แปลว่าหุ่นนิ่ง หรือ อะไรก็ได้ที่เป็นหุ่นนิ่ง ๆ ก็เป็น Still Life แต่ในความเป็นจริงมันลึกซึ้งและลํ้าลึกกว่านั้น หากเราคิด พยายาม ตีความแล้วถ่ายทอดชิ้นงานนั้นออกมา งานของเราก็จะพิเศษไม่เหมือนคนอื่น สมมุติเราถ่ายดอกไม้ที่ปักอยู่ในแจกัน มีคนถ่ายดอกไม้ในแจกันหลายคน บางคนลึกซึ้งกว่า ละมุนกว่า เข้าใจมากกว่า อันนี้มันเป็นเรื่องของระบบความคิด และการมองเห็นที่จะสื่อออกมาในการทำงาน ซึ่งต้องเรียน แต่ถ้าคนไหนไม่ได้เรียน คิดว่าที่เขาถ่ายแบบนี้ มันน่าจะเรียก Still Life ก็ถ่ายแบบเขา จำแค่รูปธรรม เอามาจัดวาง ถ่าย แล้วก็เรียกว่า Still Life ทั่วไปส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจเป็นแบบนี้ มาจากการที่ไม่ได้ผ่านระบบการเรียนรู้แล้วก็ทำงานโดยอาศัยประสบการณ์ตรงของตัวเองว่าน่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ เคยมีคนถามอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ว่าเราจะดูงานศิลปะเป็นได้อย่างไร อาจารย์ถวัลย์ตอบว่า.. เธอไม่เรียนแล้วเธอจะรู้ได้อย่างไร คุณพอเข้าใจคำนี้ไหม?

ถ้าอย่างนั้นคนไม่เรียนศิลปะจะทำงานศิลปะได้ไหม
ก็ได้นะคะ.. แต่การทำโดยไม่เรียนที่จะรู้เป็นพื้นฐานเป็นได้ดีได้ยาก เปอร์เซ็นต์น้อยมาก มันเหมือนคนมีพรสวรรค์กับคนที่อาศัยการฝึกฝน หากเปรียบก็อาจจะเหมือนโมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่เป็นนักดนตรี มีพรสวรรค์เป็นอัจฉริยะทางดนตรีมาตั้งแต่เด็ก และถึงมีพรสวรรค์ก็ไม่เคยทิ้งความอุตสาหะทางดนตรีจนสิ้นลมหายใจ ส่วนบีโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) พ่ออยากให้เป็นเหมือนโมสาร์ท คือดันกันมาตั้งแต่เด็กเลย โดยเอาโมสาร์ทเป็นไอดอล บีโธเฟนนั้นขยัน มุ่งมั่น ตั้งใจจริง จนในที่สุดก็กลายเป็นอัจฉริยะ แม้จะหูหนวกไม่ได้ยินเสียงก็ยังประพันธ์เพลงที่ยิ่งใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน ความมุ่งมั่นตั้งใจพากเพียรอย่างไม่เคยย่อท้อ มีความรักความเข้าใจ มีพัฒนาการมากขึ้นต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำจนกลายเป็นความพิเศษที่เหนือธรรมดา ใครก็เป็นได้ คนไม่ได้เรียนศิลปะแล้วมาทำงานศิลปะได้ไหม.. ได้ – หากเขาฝึกฝนจนได้ แล้วก็มองเห็นได้ด้วยตนเอง ต้องเป็นคนที่ละเอียดลึกซึ้งพอสมควร ซึ่งหายากค่ะ ต่อให้เขาละเอียดลึกซึ้ง เขาก็อาจคิดขึ้นมาได้ว่าการเรียนไม่ได้ยาก แต่ทำให้ได้ให้ดียากกว่า

ชีวิตในปัจจุบันขณะของจิตติมา เสงี่ยมสุนทร คืออะไร..
คือ ลมหายใจ หมายถึงทุกวันนี้เรายังโชคดีที่ยังมีลมหายใจ (หัวเราะ) คิดเอาเองว่าสมมุติถ้าครูตายไปแล้วเมื่อวาน วันนี้คือกำไร ยังมีลมหายใจอยู่ คิดว่าเราอยากทำอะไรเพื่อตัวเอง เพื่อคนรอบข้าง หรือวันนี้เกิดบังเอิญเจออะไรที่จะสามารถทำเพื่อคนอื่นได้มากขึ้น หรืออาชีพการงานหน้าที่ที่เราทำอยู่มันเกื้อหนุนอะไรเพื่อคนอื่นด้วยได้ไหม ก็ทำเถอะ ทำให้เต็มที่ ครูคิดอย่างนี้ อย่างการเลือกทำงานด้านศิลปะ มันก็ไม่ได้ง่ายนะในการตัดสินใจ คนทั่วไปชอบศิลปะ แต่คิดว่าศิลปะเข้าใจยาก ไม่อยากเข้าใจ อย่างดนตรีคลาสิคฟังยากก็ไม่อยากฟังมัน คล้าย ๆ แบบนั้น แต่ว่าเราเกิดมาพบแล้ว พบเจอสิ่งนี้แล้ว เจอสิ่งอื่นมันก็ลำบากที่จะให้ทำใจไปชอบ เลยคิดว่าเราต้องทำอย่างนี้ล่ะมั้ง คนอื่นเขาก็ทำในสิ่งที่เขาชอบไป เราก็ดันมารู้จักมาชอบสิ่งที่ยาก เรารัก เราชอบ ชีวิตที่ยังมีลม หายใจอยู่ก็ทำในสิ่งที่มีความสุขและเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ในแง่คล้าย ๆ ปิดทองหลังพระ คือคนดูงาน เราแล้วรู้สึกสุขใจสบายใจ ต่อยอดการทำงานคนรุ่นหลังได้

ภายใต้ร่มครึ้มของแมกไม้ที่ปกคลุมบ้านอันหมายถึงสถานของโรงเรียนสอนศิลปะภาพถ่าย Home School for Photography of Fine Art ด้วยนั้น ไม่ได้ต่างอารมณ์รู้สึกอะไรไปจากการได้กลับไปเยือนห้องเรียนเก่า ได้เท้า คางนั่งฟังครูคนที่เรานับถืออธิบายในสิ่งที่เคยติดค้างสงสัย จนเมื่อก้าวออกจากโรงเรียนมาอีกครั้ง เราอาจ เผลอตัวส่งคำตอบลอยไป.. “ขอบคุณครับครู บางครั้งเรื่องและโลกของการถ่ายภาพนอกตำรา อาจหมายถึงคำตอบที่หลายคนเพียรหาจริง ๆ”

 

โดย ชวลิต แสงอินทร์


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/