ไม่มีหมวดหมู่

SPORT PHOTOGRAPHY Interview # 02 : หมู – จิรวัฒน์ ศรีคง Sports Photographer

หมู – จิรวัฒน์ ศรีคง
Sports Photographer ฝีมือจัด ลีลาเจ็บ

“เมื่อก้าวขึ้นไปถึงเป้าหมาย การรักษามาตรฐานและความรับผิดชอบคือสิ่งสำคัญที่สุด”

“หมู – จิรวัฒน์  ศรีคง ครับ ปัจจุบันรับหน้าที่ช่างภาพประจำ ‘สโมสรฟุตบอลเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด’

การศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยครูพระนคร (มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร) เอกด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา นอกจากนี้ยังเปิดบริษัทรับงานด้านการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ และการจัดอีเวนต์ในนาม V-Do Management”

ชายร่างเล็กผิวสีเข้มเอ่ยแนะนำตัวด้วยท่วงท่าฉะฉานคล่องปากแทบไม่ต้องผ่านการเรียงประโยค
“ความสนใจด้านการถ่ายภาพของผมน่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนเป็นนักกีฬา เด็กๆ ผมเป็นคนชอบดูกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอล สมัยนั้นไปที่สนามศุภัชลาศัยบ่อยมาก ก็ถึงขนาดหนีเรียนไปดู”

เขาทิ้งประโยคก่อนหันมาหัวเราะชอบใจวีรกรรมในวัยเยาว์
“จริง ๆ ความใฝ่ฝันตอนนั้นของผมคืออยากเป็นนักกีฬา ซึ่งพอไปสนามบ่อยๆ ก็มีโอกาสได้เห็นพวกพี่ๆ ช่างภาพเดินแบกเลนส์ผ่านหน้าเราไปอยู่กันที่หลังประตู ผมก็มองไว้ว่าถ้าหากไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพหรือติดทีมชาติ ก็อยากเป็นช่างภาพกีฬานี่แหละ อย่างน้อยขอให้ได้อยู่ใกล้ๆ พวกนักกีฬาทีมชาติก็ยังดี เพราะเราได้เห็นความเท่ของช่างภาพที่อยู่ในสนาม สมัยนั้นมีอยู่ไม่กี่คนหรอกที่มีโอกาสได้เป็นช่างภาพแบบนี้”

คุณมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายภาพจริงๆ ช่วงไหน
“ประมาณช่วงปี 2 – ปี 3 ตอนเรียนอยู่ที่วิทยาลัยครูพระนครครับ เป็นคอร์สเกี่ยวกับวิชาถ่ายภาพขาวดำ วิชาสไลด์ อย่างละเทอม ซึ่งก็ไม่ได้ลงลึกอะไรสักเท่าไหร่ แต่ตอนนั้นผมตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองชัดเจนแล้วล่ะว่าอยากเป็นช่างภาพกีฬา พอเรียนจบปุ๊บ ผมดิ่งไปสมัครงานเลยที่สยามกีฬา ที่วัฏจักร และที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ”

หนุ่มไฟแรง ดีกรีนักกีฬา ดาวรุ่งนักถ่ายภาพ อวดประสบการณ์สมัครงานครั้งแรกในชีวิตของเขา
“แต่ไม่ได้งานสักแห่ง (หัวเราะ) สมัยนั้นเขานิยมรับคนที่จบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อ แต่เราจบจากวิทยาลัยครูและก็ไม่ได้มีพอร์ตฯ (Portfolio) อะไรที่จะไปนำเสนอเขาเลย เรื่องจะเข้าไปถ่ายการแข่งขันในสนามกีฬาแทบเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งช่วงที่เรียนผมก็ไม่มีกล้องของตัวเอง อาศัยออกแรงถ่ายให้เพื่อนแล้วยืมอุปกรณ์เขามาใช้งานบ้าง”

หลังตระเวนสมัครงานอยู่หนึ่งปีเต็ม โอกาสแรกสำหรับชีวิตการเป็นช่างภาพอาชีพสายกีฬาก็เปิดอ้าต้อนรับ หมู – จิรวัฒน์ เมื่อเพื่อนคนหนึ่งได้เข้าไปเป็นช่างภาพวิดีโอในบริษัทมอเตอร์วีค ของ “ปรีดา จุลละมณฑล” อดีตนักแข่งจักรยานทีมชาติชื่อดัง ที่ซึ่งขณะนั้นกำลังทำรายการทีวีแนวมอเตอร์สปอร์ตรายการแรกของเมืองไทย
“ผมเข้าไปเป็นผู้ช่วยช่างภาพวิดีโอ ทำไปได้สัก 3-4 เดือน คุณปรีดาก็มีความคิดอยากจะทำนิตยสารเกี่ยวกับมอเตอร์สปอร์ตด้วย แกก็หาว่าใครถ่ายภาพนิ่งได้บ้าง.. ผมก็ออกตัวอาสาเป็นช่างภาพให้ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่มีกล้องถ่ายภาพเป็นของตัวเองหรอก อาศัยยืม Nikon FM2 กับเลนส์ 35-135mm ของเพื่อน เพราะฉะนั้นกีฬามอเตอร์สปอร์ตจึงนับเป็นงานถ่ายภาพอาชีพอย่างแรกของผม”

ไม่นานหลังจากนั้น หมู – จิรวัฒน์ ก็ก้าวขึ้นมารับหน้าที่ใหม่ในแผนกส่งเสริมการขายของนิตยสารฟอร์มูลา (สื่อสากล) ซึ่งที่นั่นทางบริษัทมีกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพให้ใช้ครบครัน
“สมัยนั้นบริษัทต่างๆ จะผลิตจุลสาร – วารสารเพื่อแจกให้กับลูกค้ากัน อาทิ HONDA Fan Club,​ Bridgestone หรือ Castrol News ซึ่งข้อดีของการได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนั้นนอกจากจะได้ถ่ายภาพแล้ว ยังได้ทำหน้าที่เขียนและดูแลกระบวนการผลิตอีกด้วย ผมมีโอกาสออกไปถ่ายกิจกรรมและงานแข่งในสนามต่างๆ แทบทุกอาทิตย์”

แม้นั่นจะยังไม่ถือเป็นยุคที่ หมู – จิรวัฒน์ ก้าวขึ้นมาเป็นช่างภาพอย่างเต็มตัว แต่ก็เรียกว่าเขาได้ผ่านการเคี่ยวกรำงานด้านการถ่ายภาพในสายมอเตอร์สปอร์ตมาแทบจะทุกมิติ ทั้งการแข่งขันรถยนต์ เรือ โกคาร์ท มอเตอร์ไซค์ทั้งทางเรียบและทางฝุ่น ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบทศวรรษ การแข่งขันกีฬาชนิดไหนที่คุณรู้สึกชอบหรือสนุกกับมันเป็นพิเศษ
“สำหรับผมมันสนุกทุกอย่างนะครับ กีฬาคือการนำเสนอความจริงที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน ทุกอย่างมันจบตรงนั้น สำหรับคนทั่วไปช่างภาพอาจถูกแบ่งเป็นช่างภาพแลนด์สเคป ช่างภาพพอร์เทรต หรือช่างภาพกีฬา ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดในการทำงานต่างกันไป ภาพวิวทิวทัศน์ในความรู้สึกของผมมันคือความอึมครึมและมีช่วงเวลาในการถ่ายค่อนข้างสั้นอย่างภาพดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตก ในขณะที่ใช้เวลาในการดั้นด้นไปแทบจะทั้งวัน ส่วนการถ่ายภาพพอร์เทรต เวดดิ้ง หรือเชิงแฟชั่น กระบวนการมันค่อนข้างเยอะและไม่สามารถจบในการถ่ายได้เลย มีกระบวนการอื่นที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างการรีทัช การแต่งหน้า – ทำผม คิวสถานที่ ดูวุ่นวายไปหมด ขณะที่การถ่ายกีฬามันนำเสนอความจริงที่เรากำลังเห็นอยู่ตรงหน้า ช่างภาพต้องโฟกัสสิ่งที่มองเห็นด้วยสมาธิ ที่สำคัญทุกอย่างมันจบภายในเกมนั้น อย่างฟุตบอล 90 นาทีก็จบแล้ว ภาพกีฬาหลังจากจบเกมและถูกนำไปใช้ มันก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่อาจจะเป็นภาพประวัติศาสตร์ไปก็ได้ (History) หากเกิดเหตุการณ์สำคัญ อาทิ นักกีฬาคนนั้นเสียชีวิต และเรามีภาพการแข่งขันแมตช์สุดท้ายของเขา ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไป”

ความแตกต่างของการถ่ายภาพกีฬาในยุคฟิล์มกับยุคปัจจุบัน
“ยุคฟิล์มผมว่าคอนเซนเทรต (Concentrate) ของช่างภาพจะเยอะกว่า หมายถึงเราจะมีสมาธิ มีความตั้งใจที่จะให้ได้ภาพในช่วงเวลานั้น ให้ความสำคัญกับคอมโพสิชั่น (Composition) ให้ความสำคัญกับการวัดแสง ปริมาณแสงที่โอเวอร์หรืออันเดอร์นิดหน่อยก็อาจส่งผลให้ภาพผิดเพี้ยนได้ สมัยก่อนผมถ่ายฟุตบอลแมตช์หนึ่ง 90 นาที เจ้านายให้ฟิล์มมา 1 ม้วน 36 ภาพ แต่บอกให้เราถ่ายแค่ครึ่งม้วน บอลนัดหนึ่งให้เราถ่ายแค่ 15 ภาพ!?! (หัวเราะ) ไปนั่งหลังประตูจะได้ภาพไหม.. อาจจะไม่ได้ นั่งข้างสนามง่ายกว่า อาศัยตอนลูกทุ่มเพราะมันต้องมีสองคนปะทะกันอยู่แล้ว แต่ต้องจับจังหวะให้ดี มีคนหลับตาก็ใช้ไม่ได้อีก เรื่องพวกนี้มันติดตัวมาจนปัจุบันว่าทำไมผมถ่ายภาพแล้วเฟรมมันถึงแน่นเปรี๊ยะ วัดแสงพอดี หรืออาจติดอันเดอร์นิดๆ ด้วยซํ้า ซึ่งโชคดีที่กล้อง Nikon ที่ผมใช้ หากติดอันเดอร์นิดๆ ภาพมันจะสวยกว่า”

การถ่ายภาพกีฬาแมตช์ไหน สนามไหน ที่คุณรู้สึกประทับใจหรืออยู่ในความทรงจำเป็นพิเศษ
“สำหรับผมมันอยู่ในความทรงจำเกือบทั้งหมด ไม่ได้คิดว่าแมตช์ไหนสำคัญมากหรือน้อย ทุกวันที่ไปถ่ายผมให้ความสำคัญเหมือนกันหมด ใส่ใจกับการถ่ายภาพทุกครั้ง บางทีดูเหมือนเราเล่นๆ เหมือนทำงานตามคำสั่งก็จริง แต่ทุกครั้งก่อนไปสนามผมจะมีโจทย์อยู่ในหัวตลอด อย่างฟุตบอลปีหนึ่งผมถ่ายเมืองทองฯ ทีมเดียว 30-40 แมตช์ ซึ่งนักแข่งก็คนเดิม โค้ชก็คนเดิม สนามแข่งก็ที่เดิม ถ้าทำงานซํ้าๆ รูปแบบเดิม ๆ อย่างนั้นมันไม่ทำให้เรารู้สึกว่าได้อะไรขึ้นมา การเปลี่ยนแปลงหรือการคิดรูปแบบการถ่ายภาพขึ้นมาในแต่ละครั้งมันจะตอบโจทย์ให้เราเอง สิ่งสำคัญก็คือการโฟกัสของตัวช่างภาพ ต้องมีสมาธิอยู่กับเกมการแข่งขันในแต่ละครั้ง ผมก็เลยคิดว่ามันไม่มีแมตช์ไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษ เพราะทุกครั้งที่เราไปถ่ายมันประทับใจทั้งหมด”

เมื่อถามว่าอะไรคือตัวกระตุ้นที่ทำให้ชายนักถ่ายภาพผู้นี้ไม่รู้สึกเบื่อกับเส้นทางอันยาวไกลสายนี้ ทั้งดูเหมือนเขาจะมีความสนุกกับการได้ทำงานอยู่ตลอดเวลาเสียอีก หมู – จิรวัฒน์ ส่งคำตอบสั้นห้วนกลับมาที่เรา..
“ผมเป็นคนชอบดูกีฬา ชอบเสน่ห์ของกีฬา กีฬาคือการนำเสนอภาพแห่งความจริง มีแพ้มีชนะให้เห็นทุกแมตช์”

กำลังจะบอกใช่ไหมว่าขณะที่ถ่ายภาพ คุณก็ดูความเป็นไปของเกมนั้น ๆ ตามไปด้วย
“ใช่ เราต้องดูเกมและต้องตามเกมไปด้วย หากเป็นช่างภาพกีฬาแล้วไม่มีความรู้ในเรื่องเกมการแข่งขัน เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าวันนี้ไฮไลท์ของเกมมันอยู่ตรงไหน โอเคทุกคนอาจจะรู้ว่าฟุตบอลไปถ่ายกันอยู่หลังโกล ไฮไลท์คือการปะทะกัน แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์จริงๆ บางทีมันมีมากกว่านั้น! อย่างแมตช์ที่ ‘เอริค คันโตนา’ ตำนานกองหน้าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดวิ่งไปกระโดดถีบแฟนบอลคริสตัล พาเลซ (ค.ศ. 1995) ถ้าช่างภาพไม่คอนเซนเทรตหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเกม เขาจะไม่รู้หรือเห็นว่าเอริควิ่งไปทางไหน ช็อตนั้นน่ะ.. เกมทั้งเกมไม่ต้องพูดถึง”

คุณก้าวเข้ามาสู่โลกของการถ่ายภาพระบบดิจิทัลตั้งแต่ช่วงไหน
“ผมมีโอกาสได้ใช้กล้อง DSLR มาตั้งแต่ยุคแรกๆ เลย ไล่มาตั้งแต่ Nikon D1, D2H, D2X ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างกล้องฟิล์มกับกล้องดิจิทัลในขณะนั้น คือ ความประหยัด ถ่ายมาแล้วสามารถดูได้เลย ในเชิงการใช้งานเมื่อเปลี่ยนถ่ายมาสู่ยุคดิจิทัลแล้ว ผมว่ามันเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ทั้งตัวอุปกรณ์ ราคา ที่สำคัญบุคลิกของช่างภาพก็เปลี่ยนไป เมื่อทุกอย่างง่ายและเร็วขึ้น การใส่ใจในรายละเอียดก็อาจลดน้อยลงไป ถ้าเป็นเมื่อก่อนหากเราจะถ่ายสนามฟุตบอลที่มีสภาพแสงคอนทราสต์จัด ๆ ก็ต้องรอให้แสงมันดีก่อนถูกไหม.. เพราะแสงอย่างนี้มันถ่ายไม่ได้ แต่เมื่อเป็นดิจิทัลแล้วไม่เป็นไรเดี๋ยวเปลี่ยนท้องฟ้าได้ มีการรีทัช มีการตกแต่งภาพ มีทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์เข้ามาช่วยการทำงานให้ง่ายขึ้น

อีกตัวอย่างชัดๆ ของการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล คือด้วยความที่ภาพกีฬาส่วนใหญ่มักต้องนำเสนอภายในวันนั้น อย่างที่สโมสรเมืองทองฯ ก็จะมีแผนกพีอาร์ (Public Relations) ถ่ายภาพเสร็จหนังสือพิมพ์ก็รอแล้ว หัวใหญ่ๆ อย่างไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน เขาก็จะมีช่วงเวลาในการปิดเล่ม ภาพการแข่งขันจะต้องถูกส่งถึงแต่ละฉบับในเวลาเท่าไหร่ สมมุติฟุตบอลเตะหกโมงเย็น ภาพส่งได้ไม่เกินหกโมงครึ่งหรือหนึ่งทุ่ม นั่นหมายความว่าภายในหกโมงครึ่งผมต้องได้ภาพที่จะใช้แล้วและมีเวลาโปรเซส (Process) ภายใน 1 – 2 นาที ซึ่งเดี๋ยวนี้ผมใช้สมาร์ทโฟนจัดการ จากกล้องเสียบเข้าสมาร์ทโฟนแล้วโปรเซสภาพด้วยแอพพลิเคชั่น Lightroom ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่เกมกำลังแข่งขัน เนื่องจากฟุตบอลเวลาแข่งจะแข่งพร้อมกันหลายๆ ทีม บางวันแข่ง 8-9 แมตช์ เราในฐานะพีอาร์ของสโมสร หากส่งภาพให้สื่อต่างๆ ได้เร็วกว่าก็ได้ลงข่าวก่อน คนก็มีโอกาสเห็นภาพของทีมเราก่อน นี่ถือเป็นคือข้อดีอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล”

ปัจจุบันคุณใช้กล้องถ่ายภาพรุ่นไหนในการทำงาน
ปัจจุบันใช้ Nikon D5 สองบอดี้ครับ ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ใช้กล้องในระดับโปรมาเกือบทุกรุ่น ถ้าถามผม.. โฟกัสเร็วที่สุดในอดีตที่ผมชอบคือ D2H เร็วมาก ขนาดจับกล้องขึ้นมาจ่อแค่แตะปุ่มโฟกัสนี่ภาพชัดเลย สำหรับ D5 ผมว่ามันน่าจะตอบโจทย์ในทุกความต้องการของช่างภาพกีฬาได้เกือบจะทั้งหมดแล้วนะครับ ตั้งแต่ใช้มา และที่ลองเช็คข่าวสารจากช่างภาพอาชีพที่ใช้งานจริงทั่วโลก แทบจะหาข้อเสียจากมันไม่ได้เลย น้อยมาก.. ถ้ามีข้อเสียที่อาจจะสู้กล้องตัวอื่นไม่ได้ นั่นเป็นข้อเสียที่เกินความจำเป็นสำหรับการถ่ายภาพกีฬาอยู่แล้ว

จุดที่ผมคิดว่า D5 ทำออกมาได้ดีมากแล้วคือการพัฒนาซอฟท์แวร์ภายในตัวกล้อง อาทิ การประมวลค่าสีที่ดีขึ้น มีความแม่นยำในการวัดแสง ความเที่ยงตรงของฟังก์ชั่นต่างๆ ค่อนข้างสูง โฟกัสเยี่ยม ไวท์บาลานซ์แบบสแตนดาร์ดก็สามารถใช้งานได้ค่อนข้างชัวร์แล้ว อย่างในสนามฟุตบอลซึ่งมีแหล่งกำเนิดแสงหลายประเภทเยอะแยะไปหมด แต่ D5 สามารถถ่ายทอดสีสันออกมาดูสมจริงเหมือนกล้องมันทำการแก้สีมาให้เราได้อย่างดี ที่สำคัญคือระบบการประมวลผลที่รวดเร็ว คอนตินิว (Continue) กดได้ 12 ภาพ / วินาที ซึ่งสำหรับการถ่ายภาพกีฬาถือว่าเหลือเฟือมาก เสียอยู่อย่างเดียวตอนนี้.. มันเปลืองฮาร์ดดิสก์ของผมมากไปหน่อยเท่านั้นเอง” (หัวเราะ)

เลนส์ที่คุณเลือกใช้สำหรับการถ่ายภาพกีฬา
“ทุกครั้งที่ไปสนามผมพกเลนส์ไปตั้งแต่ช่วงฟิชอายไปจนถึง 600mm จริงๆ แล้วผมคิดว่าช่างภาพกีฬาควรมีเลนส์ทุกช่วงนะครับ เพราะมันมีเหตุการณ์ให้เราถ่ายได้ตลอดเวลา แต่ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ผมจะใช้เลนส์ 600mm คู่กับ 300mm สมัยก่อนใช้ 70-200mm คู่กับ 600mm ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพสนามที่จะถ่ายด้วย การเปลี่ยนช่วงทางยาวโฟกัสก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการตัดสินใจของช่างภาพ เลนส์ตัวที่ผมชอบมากที่สุด คือ AF Fisheye-NIKKOR 16mm F/2.8D กับ AF-S NIKKOR 600mm f/4E FL ED VR คือเลนส์ฟิชอายมันเป็นเลนส์ที่มีข้อจำกัดอยู่ในตัว แต่ถ้าหากเราใช้ด้วยความสนุก ภาพที่ออกมาก็จะมีความสนุก มันถ่ายคนสวยๆ ให้เป็นคนน่าเกลียดได้ และก็ถ่ายคนน่าเกลียดให้กลายเป็นคนสวยได้เช่นกัน ถ่ายในที่ที่มีข้อจำกัดอย่างเช่นสถานที่แคบๆ ได้ดี ถ่ายในสถานที่ที่มีความสวยงามอยู่แล้วให้สวยขึ้นไปอีก อย่างในสนามกีฬาซึ่งส่วนมากจะเป็นทรงโค้งหรือโดมอัฒจันทร์จะยิ่งสวยมาก ส่วนตัว 600mm เป็นเลนส์ที่ตอบโจทย์สำหรับการใช้งานของผมอยู่แล้ว อย่างการถ่ายแอ็คชั่นหรืองานที่ต้องมีระยะอย่างการถ่ายกีฬากอล์ฟ ซึ่งเราต้องอยู่ในจุดที่ไม่รบกวนนักกีฬาเนื่องจากพวกเขาต้องการสมาธิ เพราะฉะนั้นเลนส์ในช่วงทางยาวโฟกัสสูงๆ จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี ขณะที่ความคมชัดยังได้และคุณภาพไฟล์ยังดีอยู่”

ดูเหมือนว่าการใช้แสงแฟลชในภาพถ่ายกีฬาจะกลายเป็นซิกเนเจอร์ (Signature) ของคุณไปแล้ว
“สมัยก่อนผมชอบไปที่ร้าน Tokyodo Books ที่นั่นจะมีหนังสือญี่ปุ่น หนังสือ โมโตครอสของต่างประเทศ เราก็จะเห็นว่าภาพกีฬาของเมืองนอกเขามีการฟิลแฟลช (Fill Flash) ด้วย แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าใช้อย่างไร แต่เรามีแฟลช Metz ติดหัวกล้องก็ทดลองฟิลไปเรื่อยๆ ระยะหลังพอไม่ค่อยได้ถ่ายแนวมอเตอร์สปอร์ตก็ล้างลาไป จนมีโอกาสได้มาถ่ายการแข่งขันวิ่งมาราธอนเยอะขึ้นในช่วง 3-4 ปีหลัง ทีนี้การแข่งวิ่งส่วนใหญ่มันเริ่มตั้งแต่ตีสี่ตีห้า เลยต้องเอาแฟลชเข้ามาช่วย แต่การใช้แฟลชติดหัวกล้องมันก็ให้ความสวยงามในระดับหนึ่ง มิติของภาพมันจะแบนๆ เผอิญมีน้องช่างภาพคนหนึ่งที่ทำงานร่วมกันเขาถนัดถ่ายแนวเวดดิ้งใช้แฟลชทีละหลายๆ ดวง เห็นเรามีอุปกรณ์อยู่เขาก็เลยถามว่าพี่มีแฟลชอยู่ตั้งหลายตัวทำไมไม่เอามาใช้ ผมก็บอก..​ใช้ไม่เป็น (หัวเราะ) น้องเขาก็เลยมาแนะนำวิธีการใช้แฟลชพร้อมกันหลายๆ ดวงให้ หลังจากวันนั้นก็เริ่มศึกษา เริ่มหาอุปกรณ์ที่จะมาช่วยเกี่ยวกับการซิงค์ จนเมื่อ Nikon สามารถพัฒนาอุปกรณ์ระบบเรดิโอของตัวเองในรุ่น SB-5000 ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ควบคุมระยะไกลแบบไร้สาย WR-R10 ซึ่งตั้งแต่ใช้งานคู่นี้มามันแทบจะปลดล็อคเลย ผมใช้งานครั้งละเป็นพันภาพก็ยังสามารถซิงค์ได้อย่างเสถียร ในการถ่ายแข่งวิ่งผมสามารถจัดแสงถ่ายได้เหมือนสตูดิโอเลย”

สิ่งสำคัญของการถ่ายภาพกีฬาคืออะไร
“คนชนะเลิศต้องมีภาพ ต้องมีแอ็คชั่น บางคนถ่ายภาพมาสวยเลยแต่คนนี้เป็นใครก็ไม่รู้.. ได้ที่โหล่ยังโอเคนะ แต่ถ้าได้ที่หนึ่งเลยมันคือความเพอร์เฟค ได้คนแก่ที่สุดในการแข่งขัน หรือคนนี้วิ่งมาราธอนมาเป็นพันครั้ง มันคือกิมมิคของการแข่งขัน ฉะนั้นช่างภาพจะต้องมีความรู้ในรายละเอียดของกีฬาแต่ละประเภท แข่งรถก็อย่างหนึ่ง กอล์ฟก็อย่างหนึ่ง ฟุตบอลก็อย่างหนึ่ง เขาถึงบอกว่าใน 365 วัน ถ้าเราเรียนรู้เรื่องละหนึ่งวัน ในปีหนึ่งเราจะรู้ 365 เรื่อง แต่มันไม่จำเป็นต้องเอามาใช้ทุกเรื่องในเวลาเดียวกัน”

ฟังดูเหมือนทุกเรื่องที่คุณพูดมาเป็นเรื่องของประสบการณ์ อย่างนี้ช่างภาพรุ่นใหม่มีโอกาสแจ้งเกิดบ้างไหม
“ความรู้สึกส่วนตัวนะครับ ผมรู้สึกว่าช่างภาพรุ่นใหม่มักใช้ความง่ายในการทำงาน เขาขาดทักษะที่ถูกต้อง ไม่ค่อยอดทนต่อการเรียนรู้ ส่วนใหญ่จะเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาอยากเรียนรู้ ไม่ค่อยเปิดรับ ถ้ารับก็รับเพื่อให้ได้งาน หรือรับเพื่อให้เขาได้ในสิ่งที่เขาอยากจะเข้าไปทำมากกว่า แต่ช่างภาพรุ่นเก่าๆ จะใช้ทั้งประสบการณ์และทักษะ จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้บอกว่าใครเก่งกว่าใคร ในความคิดผมคนที่รู้จักการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือคนที่รับมือกับปัญหาได้ดีที่สุด การออกไปถ่ายภาพมันก็มักจะพบกับปัญหาหน้างาน จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ มันก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะรับมือสถานการณ์ที่กำลังจะเผชิญได้มากน้อยขนาดไหน อันนี้สำคัญมาก ทักษะจึงเป็นส่วนสำคัญ”

วางเป้าหมายในชีวิตของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง
“จริงๆ แล้วสำหรับผม ชีวิตทุกวันนี้มันเลยเป้าหมายของตัวเองมาเยอะมากแล้วครับ เมื่อก่อนแค่คิดว่าอยากจะมีเลนส์ 300mm สักตัวหนึ่ง ได้ถ่ายฟุตบอลทีมชาติ ได้ถ่ายงานให้กับสโมสรฟุตบอลสักสโมสรเท่านั้นก็พอแล้ว แต่ทุกวันนี้มันเกินมาเยอะ ไม่ใช่แค่ 300mm แล้ว ตอนนี้มีเลนส์ 600mm ได้ร่วมงานกับสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในอันดับแนวหน้าของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นคือการได้รับความไว้วางใจจากบริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้โอกาสในการทำงาน

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการทำงานของผมในตอนนี้ คือ การรักษามาตรฐาน ผมว่าคนเราพอขึ้นไปถึงระดับเป้าหมายแล้ว มาตรฐานและความรับผิดชอบคือสิ่งสำคัญที่สุด บางคนพออายุเยอะกลับละเลย ขาดความรับผิดชอบ ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ใช้ความสำเร็จเก่าๆ มาย้อนอดีตของตัวเอง ผมใช้ความรู้สึกในการทำงานทุกวันนี้เพื่อรักษามาตรฐานของตัวเอง แสดงความสามารถให้น้องๆ ในทีมเห็นว่าเรามีมาตรฐานสูง มีความรับผิดชอบ มีเป้าหมายที่ชัดเจน เรียนรู้อย่างสมํ่าเสมอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถทำงานต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

สำหรับช่างภาพที่มีความสนใจการถ่ายภาพสายกีฬา คุณพอจะมีคำแนะนำอะไรสำหรับพวกเขาบ้าง
“ถ้าเกิดอยากจะถ่ายภาพกีฬาผมแนะนำอย่างนี้ หนึ่ง – เข้าให้ถูกช่องทาง สอง – เรียนรู้อย่างมีระบบ สาม – ต้องมีความรู้ในเรื่องกีฬานั้นๆ ทั้งกฎ – กติกา มารยาท ขนาดสนาม รวมไปถึงสถานที่ตั้ง แต่ส่วนใหญ่ช่างภาพสมัยนี้ชอบใช้วิธี ‘ขอ’ ขอเข้าไปถ่ายภาพหน่อย.. การถ่ายภาพกีฬามีความแตกต่างจากการถ่ายภาพแขนงอื่นตรงที่ต้องมี ID Card หากไม่มีบัตรก็ไม่สามารถเดินเข้าไปในสนามแข่งได้ สนามแข่งขันกีฬาไม่สามารถเปิดกว้างให้ทุกคนลงไปเดินเล่นได้ ไม่ว่าจะระดับ Olympic Games, Asian Games, Sea Games หรือการแข่งขันในระดับอื่นๆ หากเข้าไม่ถูกช่องทางต่อให้รวยล้นฟ้าก็แทบจะหาบัตรไม่ได้ ฉะนั้นสำหรับคนที่มีทักษะในการถ่ายภาพอยู่แล้ว อันดับแรกต้องเข้าให้ถูกช่องทาง สมัครงานให้ถูกช่องทาง มีการรับรองที่ถูกต้อง อย่าขอเลยครับ.. ถึงขอได้ ก็ได้แค่ครั้งเดียวซึ่งมันไม่ใช่ การถ่ายภาพกีฬามันวัดผลความสำเร็จจากแค่ครั้งเดียวไม่ได้ อย่าลืมว่ากีฬามันคือการนำเสนอความจริง ต่อให้เป็นการถ่ายภาพการแข่งขันที่ซํ้าๆ กัน แต่ความจริงหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันไม่เคยซํ้ากัน ฉะนั้นถ้าเกิดคุณขอเข้าไปถ่าย ไปขอยืมอุปกรณ์เขามาใช้ โอเค วันนี้ถ่ายดี แต่พอไปทำงานจริงคุณไม่มีอุปกรณ์และคุณเข้าไปในส่วนนั้นไม่ได้ มันแทบไม่มีประโยชน์ อีกเรื่องคือการฝึกทักษะอย่างถูกต้องอย่างมีขั้นตอน เรียนรู้การวัดแสงที่ถูกต้อง การใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับตัวเองได้ดี เวลาทำงานก็จะสมูท รู้วิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเองว่าจะแก้ไขเมื่อไหร่ อย่างไร”

 

โดย ชวลิต แสงอินทร์


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/