ไม่มีหมวดหมู่

SPORT PHOTOGRAPHY Interview # 01 : ชฎาธาร ฉายปุริยนนท์ Motorsport Photographer

 

หากจะถามผู้คนบนโลกนี้ว่าสนิทชิดใกล้กับภาพถ่ายแขนงใดมากที่สุด
“ภาพถ่ายกีฬา” น่าจะติดโผอยู่ในอันดับหัวแถว หากจะเป็นรองก็อาจรั้งตำแหน่งให้แค่ภาพถ่ายเชิงข่าว

ทว่า ถ้ายกเอาปัจจัย ชมแล้ว.. พิศแล้ว.. เพลินใจ สนุกอารมณ์ ภาพถ่ายกีฬาก็น่าจะเดินขึ้นไปเหยียบยืนอยู่บนเทินแท่นได้อย่างสบาย เพราะสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายเทียบเคียงความหมายของกีฬาไว้ทำนองว่า..

“กิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุก เพื่อเป็นการบำรุงแรง เพลิดเพลิน ผ่อนคลายความเครียดทางจิตใจ เช่น การเล่นฟุตบอล รักบี้ บาสเกตบอล บิลเลียด เทนนิส กอล์ฟ หมากรุก ว่ายน้ำ ปีนเขา มอญซ่อนผ้า ตีคลี กรีฑา ฯลฯ แต่ละอย่างนับเป็นกีฬา”

ฉะนั้น ภาพถ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับกีฬาจึงนับเป็นการบันทึกบรรยากาศ กิจกรรม การเล่นต่าง ๆ โดยมุ่งหวังให้ผู้ชม (ภาพ) เกิดความสนุก เพลิดเพลิน ผ่อนคลายความเครียด ทั้งยังอาจเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้สัมผัส โดยมิต้องตีความใด ๆ เพิ่ม

ใกล้ตัวเหมือนห่างใจ
ในความใกล้ชิดที่ต่างเสพภาพ – เสพข่าวสารด้านกีฬากันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งหนังสือพิมพ์ เวบไซต์ข่าว และโซเชียลมีเดียนับร้อยพัน กลับมีคนรุ่นใหม่ที่สนใจฝ่าดงเดินเข้าไปหยัดยืนอยู่ในแวดวงการถ่ายภาพกีฬาอย่างมาดมั่นและจริงจัง น้อยเหลือใจ!?!

อะไรคือเหตุ.. เราไม่รู้ชัด
อะไรคือข้อจำกัด.. เราไม่รู้แน่
แต่ FOTOINFO PLUS ฉบับนี้ เชิญสอง Sports Photographer จอมเก๋าแห่งวงการ มาช่วยส่องไฟฉายประสบการณ์อันยาวไกล (และท่าจะยังแบกเลนส์กันไปอีกยาวนาน) มาบอกเล่าเรื่องราวโลดโผน เทคนิคมันส์ ๆ กลางแดดจ้า !


ชฎาธาร ฉายปุริยนนท์
Motorsport Photographer

บทพิสูจน์ชีวิตบนเส้นทางสายความเร็ว
และชัยชนะเหนือคำว่าพยายาม

“ผมเลือกที่จะสนุกกับการถ่าย อะไรที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพผมชอบหมด”

ชายหนุ่มผิวกร้านแดดเปิดฉากแนะนำตัวกับ FOTOINFO PLUS ด้วยสไตล์นุ่มเนิบ

หลังจากจบระดับมัธยม เขาเลือกศึกษาต่อด้านศิลปะที่วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรีอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่โชคชะตาจะนำพาให้ไปทำความรู้จักกับโลกแห่งศิลปะอีกแขนงที่เรียกว่า “การถ่ายภาพ”
“ผมเรียนศิลปะอยู่หลายปี ลงคอร์สเรียนแบบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ หลายวิชา มีอยู่วันหนึ่งเรารู้สึกต้องการที่จะวาดภาพอยู่กับบ้านบ้าง ก็เลยมีความคิดอยากจะถ่ายภาพให้เป็น เพื่อที่จะบันทึกภาพสถานที่ต่างๆ ที่ไป แล้วนำกลับมาอัดเป็นแบบเอาไว้สำหรับใช้นั่งวาดหรือสร้างสรรค์งานศิลปะ พอดีช่วงนั้นที่วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยาเปิดคอร์สสอนถ่ายภาพเลยไปลองสมัครเรียน โดยที่ยังไม่รู้เลยว่ากล้องถ่ายภาพใช้งานอย่างไร”

แม้เปี๊ยก-ชฎาธารจะรํ่าเรียนและคลุกคลีในแวดวงศิลปะอยู่หลายปี ทว่าเรื่องราวของการถ่ายภาพกลับแทบไม่เคยอยู่ในหัวสมองของเขามาก่อน
“เรียกว่ามีความสนใจนิดๆ ดีกว่า เห็นเขาถ่ายภาพก็ชอบดูนะครับ แต่ไม่รู้ว่าเขาถ่ายกันยังไงหรอก พอเข้าไปเรียนแรกๆ ได้เห็นภาพที่เขาอัดขยายออกมาเป็นไซส์ใหญ่ๆ ขนาดประมาณ 20” x 24” แขวนโชว์อยู่ที่ผนังโรงเรียนแล้วมันเป็นรูปที่สวยด้วย ก็มองว่าเฮ้ยมันสามารถทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ.. ทีนี้พอเรียนไปเรียนมาก็ได้ซึมซับวิธีคิด เทคนิคและองค์ประกอบต่างๆ ของการถ่ายภาพมาเรื่อยจนกลายเป็นความชอบโดยเราไม่รู้ตัว”

ตอนนั้นคุณใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพจากไหนมาใช้ในการเรียน
“ทางโรงเรียนมีอุปกรณ์ให้ใช้แต่มันมีอยู่แค่ไม่กี่ตัว พอจำนวนนักเรียนเยอะขึ้นก็ต้องแบ่งกันใช้ซึ่งมันไม่ค่อยสะดวก พอดีช่วงนั้นผมเริ่มทำงานแล้วก็เลยพยายามเก็บเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ไว้ใช้ส่วนตัว คือมันมีความรู้สึกอยากที่จะออกไปถ่ายภาพแล้วน่ะครับ ต้องบอกว่าพอมาเรียนถ่ายภาพ พู่กันนี่ผมวางไปเลย.. (หัวเราะ) กลายเป็นว่ามาชอบกล้องถ่ายภาพแทน”

แม้ที่วิทยาลัยสารพัดช่างฯ จะมีการเรียนการสอนแตกต่างจากระบบอุดมศึกษาที่เรียนต่อเนื่องกันเป็นขั้นเป็นตอน แต่ด้วยความที่รู้สึกว่าตัวเองหลงใหลในเสน่ห์ของศิลปะแขนงนี้อย่างจริงจัง เปี๊ยก-ชฎาธาร จึงไล่เก็บความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งคอร์สเบื้องต้น คอร์สขาว-ดำ คอร์สฟิล์มสี คอร์สฟิล์มสไลด์ หรือแม้กระทั่งคอร์สจัดถ่ายในสตูดิโอ และแน่นอนเมื่อเครื่องร้อน เหล็กเริ่มแดงไฟ ความต้องการที่จะขยับปีกไปสู่โลกแห่งการถ่ายภาพสายอาชีพก็ส่งสัญญาณลั่นไปถึงขั้วหัวใจของชายผู้นี้
“ช่วงที่เรียนไปได้สักสองปีมันมีความรู้สึกว่าผมต้องถ่ายภาพแล้ว อยากถ่ายภาพ อยากจะเป็นช่างภาพนิตยสารอะไรก็ได้ กาไว้ในหัวเลยว่าถ้าออกจากงานที่ทำอยู่ตอนนั้นเมื่อไหร่ ผมจะต้องไปเป็นช่างภาพนิตยสารให้ได้!”

นี่อาจเป็นอีกตัวอย่างของคนที่มีไฟฝันและความมุ่งมั่น เมื่อธงภายในใจถูกปักอย่างแน่นหนัก ไม่นานนักโอกาสก็ค่อยๆ แง้มรับช่างภาพหน้าใหม่
“วันหนึ่งเพื่อนที่เป็นช่างภาพประจำอยู่นิตยสารฟอร์มูลา เขารู้ว่าผมชอบถ่ายภาพและเห็นผลงานของเรามาบ้าง โทรมาถามว่าสนใจไหม พอดีช่างภาพที่นั่นจะขาด เข้าทางเลย.. (ยิ้มเกลื่อนใบหน้า) แต่ช่วงแรกผมเข้าไปทำงานในฝ่ายศิลป์ก่อน คุยกับเพื่อนแล้วว่าให้เข้าไปทำฝ่ายนี้ก่อนสักระยะแล้วค่อยหาจังหวะย้ายมาอยู่ที่ฝ่ายภาพซึ่งดูแล้วมันมีลู่ทาง ผมก็โอเคไปทำฝ่ายศิลป์อยู่ไม่นานก็ได้ย้ายมาเป็นช่างภาพสมใจ”

หน้าที่ที่คุณต้องรับผิดชอบตอนนั้นมีอะไรบ้าง
“ในนิตยสารหนึ่งฉบับมันมีหลายคอลัมน์ ผมก็จะถ่ายคอลัมน์สัมภาษณ์บุคคล ถ่ายเกี่ยวกับกีฬาแข่งขันรถยนต์ ทำข่าวการจัดแข่งขันและงานที่เกี่ยวกับการทดสอบรถต่างๆ”

ตอนนั้นมีแอบฝันในใจบ้างไหมว่าจริงๆ แล้วตัวเองอยากเป็นช่างภาพแนวไหน
“ไม่มีครับ ไม่มีสไตล์อะไรเลย ขอแค่ได้เป็นช่างภาพก่อน (หัวเราะ) แต่พอได้เข้าไปทำงานจริงๆ ได้ไปถ่ายการแข่งขัน งานเทสต์รถ ถ่ายงานสัมภาษณ์นักแข่งบ่อยเข้า มันก็กลายเป็นความชอบขึ้นมา รู้สึกว่าตัวเองชอบถ่ายอะไรที่มันเคลื่อนไหว ไม่ค่อยชอบถ่ายอะไรนิ่งๆ”

คุณกำลังจะบอกว่าตัวเองอยู่ในสายงานมอเตอร์สปอร์ตนับตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งวันนี้
“ใช่ครับ.. มันคงเป็นความชอบส่วนตัวด้วย สมัยเด็กๆ ผมก็ชอบแข่งรถจักรยาน แข่ง BMX มันอาจเป็นความชอบกีฬาทางด้านความเร็วที่ฝังลึกอยู่ในตัวเรา พอมาเจอกีฬาแข่งรถและได้ถ่ายมันมากๆ เข้า เลยยิ่งชอบ คืออย่างรถยนต์มันจะมีแอคชั่นของมันว่าถ้าเข้าโค้งอย่างนี้ประเดี๋ยวล้อมันจะต้องลอยขึ้นข้างหนึ่ง ซึ่งเราก็ต้องพยายามเก็บช็อตนั้นมาให้ได้ พอทำได้เลยกลายเป็นว่าสนุกเลยทีนี้”

ความยากของการถ่ายภาพแนวมอเตอร์สปอร์ตในยุคนั้นคืออะไร
“ยุคเริ่มต้นความยากอยู่ที่ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจเรื่องการควบคุมกล้องและการตั้งค่าต่างๆ สำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้อย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกชัตเตอร์สปีดหรือการตั้งรูรับแสงที่เหมาะสม ตอนนั้นก็ต้องลองผิดลองถูกไป มีผิดมีเสียเยอะเหมือนกัน ฟิล์มม้วนหนึ่ง 36 เฟรม ใช้งานได้จริง 5-10 ภาพเท่านั้น จนเมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้ระยะหนึ่งถึงรู้ด้วยตัวเองว่าถ้าความเร็วของรถพุ่งมาประมาณนี้ควรใช้สปีดเท่าไหร่ถึงจะเอาอยู่ หรือแสงแดดขนาดนี้ทิศทางอย่างนี้ควรเปิดรูรับแสงเท่าไหร่จึงจะพอดี ซึ่งตรงนี้ผมว่าทุกคนก็ทำได้หากฝึกฝนบ่อยๆ จนมีทักษะ ยิ่งหากใครมีพื้นฐานด้านศิลปะอยู่บ้างแล้วจะยิ่งทำให้ไปได้ค่อนข้างไว”

เปี๊ยก-ชฎาธาร ถือเป็นช่างภาพมือเก๋าคนหนึ่งของวงการ ผ่านงานนิตยสารแนวมอเตอร์สปอร์ตมาหลายฉบับ อาทิ นิตยสารฟอร์มูลา นิตยสาร 4WHEELS นิตยสาร CAR STEREO รวมถึงงานภาพถ่ายโฆษณาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมากมาย ก่อนจะกระโจนข้ามห้วยมาจับงานนิตยสารแนวจักรยานยนต์ต่ออีกร่วมทศวรรษ นั่นทำให้เราอดยิงคำถามแทนผู้อ่านไม่ได้ว่า.. ไม่เบื่อบ้างหรือไง?
“เบื่อครับ.. (หัวเราะ) เมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว ผมรู้สึกเบื่อๆ เลยออกมา อันที่จริงมันอาจจะไม่ใช่ความเบื่อก็ได้นะ อาจเป็นความรู้สึกอิ่มตัวกับสิ่งที่ทำมาอย่างยาวนาน วนเวียนอยู่กับสิ่งเดิมๆ พอถึงช่วงวันหยุดก็มักไม่ได้หยุดกับเขา เพราะก็จะมีการจัดงานแข่งขันตามสนามต่างๆ ตลอด อาทิ วันที่ 5 ธันวา วันสงกรานต์หรือช่วงเทศกาลต่างๆ ที่คนอื่นเขาได้หยุดไปไหนกัน แต่เราแทบไม่ค่อยมีโอกาสเลย”

คุณทำอะไรในช่วงที่เฟดตัวเองออกมาจากงานประจำในแวดวงนิตยสาร
“ก็ยังอยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์นี่แหละครับ เพียงแต่ไม่ใช่หนังสือหรือนิตยสารที่เป็นเล่ม ๆ ผมเปิดบริษัทรับผลิตงานประเภทโบรชัวร์ – สิ่งพิมพ์ แต่ก็ยังรับงานถ่ายภาพในแบบที่เราถนัดและสนุกที่จะทำอยู่เหมือนเดิม”

จากคนยุคฟิล์ม คุณเริ่มต้นกับการทำงานถ่ายภาพในยุคดิจิทัลได้อย่างไร
“ช่วงนั้นผมกับพี่ๆ น้องๆ กำลังทำนิตยสาร TWO WHELLS ACTION ช่วงแรกเราก็ยังทำงานกันด้วยระบบฟิล์ม ต่อมา “พี่หมี” (สาคร อยู่เย็น) เจ้าของนิตยสาร วันหนึ่งเขาไปเจอกล้องถ่ายภาพดิจิตอลตัวเล็กๆ แกเลยเอามาให้ผมทดลองใช้งานเผื่อว่ามันจะเวิร์ก นั่นเป็นกล้องดิจิทัลตัวแรกที่ผมสัมผัส”

อะไรคือความแตกต่างระหว่างระบบฟิล์มที่เราคุ้นเคยกับระบบการถ่ายภาพใหม่ในยุคดิจิทัล
“แตกต่างกันค่อนข้างเยอะครับ อย่างถ้าเรากำลังถ่ายรถด้วยสปีดสักประมาณ 1/125 วินาที เอฟสต็อปเท่าไหร่ช่างมัน จังหวะที่รถแล่นมาด้วยความเร็ว เมื่อเราแพนกล้องตามรถแล้วกดชัตเตอร์ ภาพที่ได้รถนิ่ง.. ล้อหมุน.. แต่ถ้าเป็นดิจิทัลผมรู้สึกว่าการอ่านค่าของกล้องมันไม่เหมือนกัน ซึ่งหากผมต้องการภาพในลักษณะเดียวกันกับกล้องในระบบฟิล์ม อาจต้องขยับขึ้นไปใช้สปีดที่ 1/250 หรือ 1/500 วินาที ผมรู้สึกว่ามันมีความแตกต่างกันอยู่ ซึ่งเราต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบของมัน นั่นเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ในฐานะคนใช้งาน”

ต้องมีเลนส์ระดับซูเปอร์เทเลโฟโต้ไหมสำหรับการถ่ายภาพแนวมอเตอร์สปอร์ต
“ขึ้นอยู่กับประเภทของกีฬามากกว่าว่าจำเป็นจะต้องใช้ f/2.8 ไหม หรือต้องการใช้คุณลักษณะพิเศษของเลนส์ระดับนั้นหรือเปล่า สำหรับผมกีฬาที่ถ่ายส่วนใหญ่มักอยู่กลางแจ้ง แสงเยอะ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ถึง f/2.8 หรือทางยาวโฟกัสสูงมาก ๆ และเนื่องจากจำเป็นต้องย้ายจุดบันทึกภาพบ่อย ระยะเลนส์ก็มักจะเปลี่ยนไปเรื่อยตามมุมภาพที่เราต้องการ ส่วนใหญ่ผมมักใช้เลนส์ซูมช่วงประมาณ 100 – 400 mm หรือ 70-300 mm”

ขณะอยู่ในสนาม ช่างภาพมอเตอร์สปอร์ตมีวิธีเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังจุดที่ต้องการถ่ายอย่างไร
“ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของแต่ละสนามครับ สนามแข่งบางแห่งในบ้านเราที่ไม่ใช่ในระดับสากลมาก ผมใช้วิธีเดินเป็นส่วนใหญ่ แต่ต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนว่าวันนี้จะไปถ่ายตรงไหนบ้าง กำหนดตำแหน่งไว้ล่วงหน้าเลย แต่หากเป็นสนามที่อินเตอร์หน่อยอย่าง “สนามช้าง” (Chang International Circuit) หรือ “สนามเซปัง” (Sepang International Circuit) ผมจะมีมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมันจะมีเลนพิเศษอยู่ในตัวสนามสำหรับสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง”

ที่บอกว่าวางแผน แสดงว่าคุณต้องไปถึงสนามก่อนใช่ไหม
“ถ้าเป็นสนามที่ยังไม่เคยไป ผมก็มักจะไปถึงก่อน สมมติจะมีการแข่งขันในวันอาทิตย์ วันเสาร์ควอลิฟาย (Qualify) ผมมักเดินทางไปถึงตั้งแต่วันพฤหัสหรือศุกร์ จะไปขี่รถมอเตอร์ไซต์ดูสภาพสนาม ดูการซ้อม ตรงไหนคือจุดที่เหมาะสำหรับการถ่ายมากที่สุด ก็จะเซอร์เวย์แล้วนำมารวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อวางแผนการทำงานว่าวันศุกร์จะถ่ายตรงไหน วันเสาร์ต้องถ่ายตรงไหน ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะมันได้สองอย่าง หนึ่ง ได้จุดที่จะต้องถ่ายแน่นอน สอง ได้ภาพก่อนวันแข่ง สมมุติว่าวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันแข่งขันจริงอาจเกิดฝนตกทำให้ถ่ายภาพไม่ได้ เราก็ยังมีภาพจากการถ่ายล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว เพราะชุดแข่งขัน ป้ายสปอนเซอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในสนามมักเป็นชุดเดียวกันกับวันแข่งขันจริง”

สไตล์ในการถ่ายภาพของคุณเป็นอย่างไร
“ถ้าเป็นการแข่งขันรถยนต์มักจะไม่ค่อยเห็นอะไรนอกจากอาการของรถ แต่ถ้าเป็นมอเตอร์ไซด์ผมจะเน้นอารมณ์ของนักแข่ง บางทีผมจะเจาะเข้าไปใกล้ๆ เลย เพราะนักแข่งบางคนสวมหมวกกันน็อคชนิดใสที่สามารถเห็นภายในหรือมองเข้าไปถึงดวงตา เราสามารถโคลสเจาะเข้าไปได้ถึงสีหน้าท่าทางของนักแข่งที่กำลังมุ่งมั่นหรือกำลังใส่อารมณ์กับการแข่งขัน”

ปัจจุบันคุณใช้กล้องตัวไหนในการทำงานเป็นหลัก
“ถ้าเป็นงานที่ต้องการความชัวร์ผมเลือก SONY A9 อีกตัวที่ใช้บ่อยในช่วงหลัง ๆ คือ Sony A7 III สำหรับ A9 ผมประทับใจกรอบโฟกัสแบบ Phase Detection ที่มีจุดโฟกัสภาพถึง 693 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 93% ของกรอบภาพ มันช่วยให้จับภาพได้แม่นยำแม้วัตถุจะอยู่บริเวณขอบของภาพ และระบบ Blackout-free ยังช่วยให้ไม่มีอาการมืดในช่องมองขณะที่เรากำลังถ่ายอยู่ด้วย อีกเรื่องคือการย้ายตำแหน่งโฟกัสด้วยจุดๆ เดียว ไม่ต้องไปกดปุ่มอะไรซํ้าให้ยุ่งยาก สามารถย้ายจุดโฟกัสได้จากกลุ่มจอยสติ๊กที่อยู่ด้านหลัง ผมสามารถย้ายจุดโฟกัสได้โดยที่ไม่ต้องละสายตาออกจากช่องมองภาพ”

ทำไมคุณเลือกที่จะใช้การย้ายจุดโฟกัสแทนที่จะเลือกใช้โหมดอื่นหรือเทคนิคอื่น
“ผมมักจะใช้โหมดล็อคโฟกัสไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง ที่มันจะมีให้เลือก S M L ซึ่งปกติผมจะเลือกไว้ที่ M แล้วก็จะใช้วิธีย้ายจุดโฟกัสเอา เนื่องจากการถ่ายภาพของผมบางครั้งรถที่แข่งออกตัวกันมาเป็นกลุ่ม แต่ในการถ่ายงานนั้นเรามักมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่รถคันใดคันหนึ่งว่าสนามนี้จะถ่ายใคร ผมก็ย้ายจุดแล้วล็อกโฟกัสไว้ที่คนนั้นเลย ถ้าเกิดเราใช้ระบบโฟกัสแบบอื่น บางทีจุดโฟกัสมันอาจวิ่งไปหานักแข่งคันอื่น เราต้องมาร์คจุดเอาไว้เลยว่าจะเอาคันไหน เพราะงานของผมไม่ได้ถ่ายทุกคัน เราได้รับมอบหมายมาแล้วว่าต้องถ่ายคันนี้ หมายเลขอะไรบ้าง”

ความเร็วในการโฟกัสต่อเนื่องของกล้องรุ่นนี้ ดีพอกับการทำงานของคุณหรือไม่
กล้อง Sony A9 ที่ผมใช้ผมรู้สึกพอใจในการโฟกัสมากครับ ทำให้การทำงานของผมสะดวก และมั่นใจมากขึ้น..

ในการถ่ายภาพกีฬา คุณใช้เลนส์อะไรบ้างในการทำงาน
“ส่วนใหญ่ในการทำงานของผมจะอยู่กลางแจ้งเป็นส่วนมาก เลนส์ที่ผมใช้หลักๆจะเป็น FE 70-300mm F4.5-5.6 G OSS , FE 100-400mm F4.5-5.6 GM OSS  ส่วนอีกบอดี้คือ Sony A6300 ตัวนั้นผมเอาไว้ติดเลนส์ E 16mm F2.8 ตัวเล็กๆ บางๆ แล้วต่อด้วยคอนเวอร์เตอร์ที่เป็นฟิชอายส์ (VCL-ECF2 Fisheye Converter) ซึ่งถ้าผมไม่ต้องการใช้มุมฟิชอายส์ก็สามารถบิดออกได้เลยง่ายๆ บอดี้นี้มักเอาไว้ใช้ถ่ายในพิทเลน (Pit Lane) ของนักแข่งก่อนที่จะออกสตาร์ท เก็บบรรยากาศขณะที่ช่างกำลังปรับแต่งรถหรือขณะที่นักแข่งกำลังเตรียมตัว ซึ่งกล้องและเลนส์ตัวนี้สามารถทำงานได้ค่อนข้างคล่องตัวเนื่องจากมีขนาดเล็ก เวลาเข้าไปทำงานไม่ค่อยเกะกะอะไรใครมาก อีกทีหนึ่งก็คือจังหวะที่รถกำลังจะออกสตาร์ท บางครั้งก็เอาฟิชอายส์เข้าไปจ่อเพื่อให้ได้มุมที่แปลกๆ บ้าง”

เลนส์ตัวโปรดของคุณคือรุ่นใด เพราะอะไร
ถ้าเป็นตัวโปรดน่าจะเป็น FE 100-400mm F4.5-5.6 GM OSS เพราะการทำงานของผมต้องย้ายจุดทำงานตลอดเวลา ซึ่งแต่ละจุดนั้นมีระยะการใช้เลนส์ที่แตกต่างกัน ระยะของเลนส์จึงมีส่วนสำคัญในการถ่ายภาพของผม อีกทั้งในเรื่องความคมชัดที่เลนส์สามารถให้ความคมชัดได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายถึงแม้จะใช้ที่ความยาวสูงสุดของเลนส์ ดังนั้นเลนส์ตัวนี้ผมจึงหยิบมาใช้บ่อยที่สุดในการทำงานของผม..

เปี๊ยก-ชฎาธาร โลดแล่นอยู่ในแวดวงมอเตอร์สปอร์ตและนิตยสารมาเกือบ 30 ปี เขามักพูดอย่างถ่อมตัวว่าทุกวันนี้ยังไม่ได้รู้สึกภูมิใจอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกับงานที่ตีพิมพ์ออกไปมากมาย เขาแค่รู้สึกว่าวันพรุ่งนี้เดี๋ยวก็ต้องได้ภาพใหม่ที่ซึ่งอาจดีกว่าภาพเก่า และวันมะรืนก็เป็นไปได้ว่าอาจจะได้ภาพใหม่ๆ ที่ดีกว่าภาพของวันพรุ่งนี้
“ผมรู้สึกว่าตัวเองสนุกกับการทำงาน ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาทุกวัน ได้ค้นคว้าเทคนิคใหม่ออกมาเรื่อยๆ”

ช่างภาพรุ่นใหม่ที่สนใจการถ่ายภาพสายนี้สามารถแจ้งเกิดได้ง่ายหรือยากกว่ายุคของคุณ
“ง่ายกว่าเยอะครับ สังเกตได้จากช่างภาพและนักถ่ายภาพใหม่ๆ ในสนามเกิดขึ้นเยอะเลย อีกทั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพดีๆ ก็มีให้เลือกใช้มากมาย หากเป็นในยุคฟิล์มกว่าที่คุณจะถ่ายภาพได้ขนาดนี้มันต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ขนาดไหน ที่สำคัญเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ผมเริ่มทำงาน ปัจจุบันมีทีมที่ลงแข่งขันกันมากขึ้นและทุกทีมก็ต้องการภาพดีๆ เพื่อนำไปใช้งาน มันก็ต้องมีช่างภาพใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อซัพพอร์ตทีมต่างๆ เหล่านั้น”

ช่างภาพรุ่นเก่าอย่างคุณโดนเบียดหรือได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของช่างภาพรุ่นใหม่ๆ บ้างไหม
“ธรรมดาครับ มันก็เหมือนคลื่นลูกใหม่ที่ซัดมากระทบคลื่นลูกเก่า แต่ที่เรายังมีงานมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะลูกค้าเขาเห็นว่าเราถ่ายงานเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวผมอยู่กับสไตล์การถ่ายภาพของตัวเองมากกว่า คือภาพแนวแอ็คชั่น ผมเลือกที่จะถ่ายทอดมันออกมาจากใจ เรารู้ว่านักแข่งคนนี้มีลีลาการขับขี่อย่างไร ก็เลยรู้ว่าควรที่จะถ่ายทอดมันออกมาจากตรงไหน จังหวะไหน ซึ่งตรงนี้อาจได้เปรียบในเรื่องประสบการณ์กว่าช่างภาพรุ่นใหม่นิดหนึ่ง ซึ่งผมก็จะพยายามพาตัวเองไปอยู่ในจุดเหล่านั้นและถ่ายทอดงานให้ออกมาในสไตล์ของเรา”

สำหรับผู้ที่สนใจการถ่ายภาพแนวมอเตอร์สปอร์ต คุณพอจะมีคำแนะนำอะไรสำหรับพวกเขาบ้าง
“ต้องฝึก แล้วก็ฝึกครับ.. พยายามฝึกฝนตัวเองให้มากๆ มันอาจจะค่อนข้างยากเพราะการจะพาตัวเองเข้าไปถ่ายในสนามแข่งจริงๆ จะต้องมีอะไรที่เกี่ยวพันกับงานแข่ง อาทิ เป็นสื่อมวลชนหรือเป็นช่างภาพประจำทีม ซึ่งคนทั่วไปอาจจะเข้าไปถ่ายภายในสนามแข่งไม่ได้ แต่มันจะมีบริเวณสำหรับคนที่เข้ามาชมการแข่งขัน เราฝึกถ่ายจากจุดเหล่านั้นก็ได้ ลองหาประสบการณ์จากตรงนั้นก่อนแล้วค่อยหาวิธีการว่าจะเข้าไปอยู่ตรงจุดที่อยากเข้าไปได้อย่างไร มันมีหลายช่องทางที่พร้อมจะต้อนรับแต่ต้องลองศึกษาดู มันสามารถทำได้ครับ”

วางแผนสำหรับตัวเองในอนาคตไว้อย่างไร
“เป้าหมายสำหรับตัวเองไม่ได้คิดอะไรมาก ผมเลือกที่จะสนุกกับการถ่าย แล้วผมเป็นคนที่ไม่ได้ถ่ายภาพแนวแอ็คชั่นอย่างเดียว อย่างในช่วงหลังที่ออกมาเปิดบริษัท ผมก็ถ่ายภาพอย่างอื่นด้วย ถ่ายสินค้า ถ่ายอะไหล่ในสตูดิโอ ถ่ายรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่งานแฟชั่นที่เกี่ยวเนื่องผมก็ถ่าย ยังมีงานถ่ายภาพอีกหลายประเภทที่เราทำได้ ผมไม่ได้มุ่งมั่นที่จะเป็นช่างภาพแนวมอเตอร์สปอร์ตเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าถามว่าแล้วทำไมถึงมีงานแนวนี้ออกมาเยอะ นั่นก็เพราะเราชอบ ผมมักจะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เลยยังสนุกที่จะถ่ายทอดมันออกมาอยู่เสมอ อะไรที่เป็นงานเกี่ยวกับการถ่ายภาพผมชอบหมด (หัวเราะ)”

 

โดย ชวลิต แสงอินทร์


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/