Activities

Special Scoop : Canon Press Tour 2018

เมื่อวันที่ 11-14 กันยายน ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมทริป Canon Press Tour 2018 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นทริปที่พาสื่อมวลชนจากอาเซียน 7 ประเทศ เพื่อแนะนำกล้อง mirrorless ขนาดฟูลเฟรมรุ่นใหม่ Canon EOS R และเลนส์ใหม่อีก 4 รุ่น โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับโพรดักซ์ของแคนนอนและการตลาดของแคนนอน และยังได้เยี่ยมชมโรงงานผลิตเลนส์ของแคนนอนที่เมือง Utsunomiya ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ผลิตเลนส์ระดับโปรของแคนนอนแทบทุกรุ่น ซี่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากเพราะแคนนอนแทบไม่เคยเปิดให้สื่อมวลชนเข้าชม

อย่างที่ทุกท่านทราบว่า Canon EOS R เป็นกล้อง mirrorless ขนาดฟูลเฟรมรุ่นแรกจากแคนนอนและก็เป็นกล้องที่ได้เสียงตอบรับจากนักถ่ายภาพค่อนข้างมาก ด้วยเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน คือ หนึ่ง เป็นกล้องที่ชาวแคนนอนรอคอยมานาน สอง เป็นกล้องที่ออกแบบภายนอกได้ดี โดยเฉพาะกริปขนาดใหญ่ที่ลึก ซึ่งจะช่วยให้การจับถือทำได้ดีใกล้เคียงกับกริปของกล้อง DSLR สาม ชุดเลนส์ 4 รุ่นที่เปิดตัวพร้อม EOS R นั้นมีความน่าสนใจอย่างมาก คือ RF 24-105mm f/4L IS USM ,RF 50mm f/1.2L USM , RF 28-70mm f/2L USM และ RF 35mm f/1.8L IS USM Macro

ผมได้รับกล้อง Canon EOS R มาพร้อมเลนส์ RF 24-105mm f/4L IS USM ตั้งแต่สองวันก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น ได้ลองเล่นและรู้สึกประทับใจในหลายๆ อย่างของกล้องรุ่นนี้ แม้จะเป็นกล้องขนาดฟูลเฟรมรุ่นแรกจากแคนนอน แต่การออกแบบก็ทำได้น่าพอใจในแทบทุกจุดจัดวางปุ่มปรับต่างๆ มาดีมาก และสามารถปรับเปลี่ยนหน้าที่การทำงานของปุ่มต่างๆ ได้ตามที่เราต้องการหลายจุด ช่องมองภาพ EVF ก็ให้ภาพที่คมชัดมองภาพสบายตา ให้สีสันเป็นธรรมชาติใกล้เคียงไฟล์ที่ได้

วันที่สองของการเดินทางในทริปนี้ เราได้ เดินทางไปที่สำนักงานใหญ่ของแคนนอนในโตเกียว ในช่วงเช้าจะเป็นการแนะนำ ให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ แนวคิด แนวทางการออกแบบ โดยผู้บริหารหลายท่านได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจในช่วงเช้าหลังจากแนะนำส่วนโพรดักซ์และรายละเอียดกิจกรรมในวันนี้ ทางแคนนอนก็แบ่งสื่อมวลชนเป็น 3 กลุ่มแล้วให้เยี่ยมชม Canon Gallery ในแต่ละส่วน ทั้งส่วนของการแพทย์ อวกาศ เครื่องใช้สำนักงาน กล้องวงจรปิดและระบบรักษาความปลอดภัย ระบบวิดีโอและงานบรอดแคส โปรเจคเตอร์ 4K ที่น่าแปลกใจคือ แคนนอนผลิตทีวีคุณภาพสูงระดับ 8K ออกมาด้วยโดยมีความชัดสูงขนาดที่ต้องใช้แว่นขยายส่องดูบนหน้าจอเลยทีเดียว และยังมีการผลิต Drone อีกด้วย ในส่วนของกล้องมีการแสดงไลน์อัพของกล้อง เลนส์ รวมทั้งกล้องรุ่นเก่าๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดูกันเพลินเลยครับ

ช่วงบ่ายเป็นการสัมมนาให้ห้องประชุมโดยผู้บริหารของแคนนอนเข้าร่วมหลายท่าน ปรัชญาในการสร้างกล้อง EOS ของแคนนอนมีอยู่ 3 เรื่อง หลักๆ คือ 1. High Speed 2.Ease of Use และ 3.High image Quality แคนนอนให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องนี้เป็นอย่างมาก กล้องจะต้องทำงานได้รวดเร็ว ตอบสนองการใช้งานได้ดี กล้องจะต้องใช้งานคล่องตัว ควบคุมง่ายและกล้องแคนนอนจะต้องให้ภาพที่มีคุณภาพสูง โดยกล้องแคนนอน EOS ได้ขายไปแล้วกว่า 90 ล้านตัวและเลนส์จำหน่ายแล้วกว่า 130 ล้านตัว

Canon EOS R เป็นกล้องมิลเลอร์เลสที่ออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดแต่ยังคงมีคุณภาพสูง โดยแคนนอน ได้ออกแบบเมาท์เลนส์ใหม่ RF Mount ที่มีความกว้างของเมาท์ (ด้านใน) ถึง 54 มม. รองรับเลนส์ไวแสงได้เต็มที่และเพิ่มขั้วสัมผัสไฟฟ้าเป็น 12 จุด เพื่อรองรับการส่งผ่านข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และรองรับฟีเจอร์ใหม่ๆ ในอนาคตได้ เซ็นเซอร์ภาพที่ใช้ใน EOS R ออกแบบใหม่ โดยมีความละเอียด 30.3 ล้านพิกเซล ใช้เทคโนโลยี Dual Pixel โดยมีจุดโฟกัสมากถึง 5,655 จุด ครอบคลุมพื้นที่กว้าง 100% แนวตั้งและ 88% ในแนวนอน ระบบโฟกัสสามารถทำงานได้ในสภาพแสงน้อยถึง -6EV ทำให้ EOS R มีประสิทธิภาพในการโฟกัสที่โดดเด่น

 

 

แคนนอนจะยังคงเน้นการทำตลาดควบคู่กันทั้ง DSLR และ Mirrorless โดยสิ่งที่แคนนอนคาดว่าจะทำให้ EOS R เติบโตได้เร็วมากการที่สามารถใช้ร่วมกับเลนส์ EF เดิมได้เต็มประสิทธิภาพ โดยเมื่อใช้ร่วมกับอแดปเตอร์ EF TO RF ความเร็วในการโฟกัสยังคงดีเยี่ยม ใช้งานได้ครบทุกฟังก์ชั่น ระบบกันสั่นทำงานสมบูรณ์ และด้วยการออกแบบอแดปเตอร์มาถึง 3 รุ่น จึงรองรับการใช้งานร่วมกับเลนส์ EF ได้มากยิ่งขึ้น

หลังจากแนะนำกล้อง EOS R แล้ว ทางแคนนอนก็เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าสัมภาษณ์ Q & A กรุ๊ปย่อย ในส่วนของการตลาดและในส่วนของเทคนิคการผลิต การออกแบบ โดยเปิดโอกาสให้ถามกันอย่างเต็มที่และยังให้ได้ลองกล้อง ลองเลนส์ใหม่กันเต็มที่ กว่าจะจบเซสชั่นนี้ก็เป็นเวลาห้าโมงเย็น

วันรุ่งขึ้นเราดินทางไปโรงงานผลิตเลนส์ของแคนนอนที่ Utsunomiya โดยรถบัส ระยะทางไกลใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง แต่ก็คุ้มค่ามาก เพราะที่ Utsunomiya Plant เป็นโรงงานผลิตเลนส์โปร รหัส L มากมาย มีคนงานกว่า 700 คน โดยแคนนอนให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม 3 ส่วนด้วยกัน คือ การเจียรและขัดผิวเลนส์ การโค้ทผิวเลนส์ SWC (Sub Wavelength Coating) และการประกอบเลนส์ โดยในส่วนของการเจียรและขัดผิวเลนส์ Mr. Toshio Saito ผู้เชี่ยวชาญการขัดผิวเลนส์ที่มีประสบการณ์ด้านนี้มากว่าสามสิบปี ได้มาให้ความรู้และสาธิตให้ชม ในแผนกนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีป้ายติดไว้ว่า เราจะพยายามเต็มกำลังความสามารถที่จะถ่ายทอดการออกแบบของวิศวกรให้ออกมาเป็นชิ้นเลนส์ที่สมบูรณ์ที่สุด และบอกว่านี่เป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่ง

ในการผลิตเลนส์ โดยในการผลิตเลนส์มีขั้นตอนสำคัญอยู่ 6 ขั้นตอน คือ

1. Grinding (การฝนขัดเลนส์เพื่อขึ้นรูปชิ้นเลนส์)
2.Smoothing (การขัดผิวให้เรียบ)
3.Polishing (การขัดมัน)
4.Centering (การทดสอบเซ็นเตอร์ของชิ้นเลนส์ด้วยเครื่องมือวัด)
5.Washing (การล้างผิวเลนส์ให้สะอาด)
6.Check & Coating (การตรวจสอบชิ้นเลนส์และการเคลือบผิวเลนส์)

แต่ละขั้นตอนในแผนกนี้ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ ในแผนกนี้จะมีแต่ช่างที่เป็นผู้ชายวัยกลางคน ซึ่งน่าจะทำงานด้านนี้กันมาไม่ตํ่ากว่า 10-20ปี

แผนกที่สองที่เราได้เยี่ยมชมคือ การเคลือบผิวแบบ SWC เป็นแผนกที่ไม่เคยเปิดให้ใครได้เข้าชม เพราะเป็นเทคโนโลยีการเคลือบผิวเลนส์ที่ลํ้าหน้าของแคนนอน โดยการเคลือบจะแตกต่างจากโค้ทแบบทั่วๆไป SWC จะใช้วิธีหยดสารเคลือบลงไปบนชิ้นเลนส์เว้า จากนั้นจะเขย่าชิ้นเลนส์ให้สารเคลือบฉาบบนผิวเลนส์ทั่ว จุดเด่นคือ ผิวของชั้นเคลือบผิวจะไม่เรียบแต่จะมี Texture ทำให้แสงสะท้อนไปหลายทิศทาง กระเจิงออกไป จึงช่วยลดแสงสะท้อนกลับได้ดีเยี่ยม โดยแสงจะสะท้อนเพียง 0.1-0.3 % (โค้ททั่วไปสะท้อน 1.0%) เมื่อทดสอบด้วยการฉายแสงเป็นมุม 45 องศา ชั้นเคลือบคือ Alumina microcrystalline film เลนส์ของแคนนอนที่เคลือบผิวด้วยระบบ SWC มีทั้งหมด 15 รุ่น รวมทั้งเลนส์ RF 28-70mm f/2L ด้วย

 

อีกจุดที่ได้ชมคือการประกอบเลนส์ ส่วนนี้จะเห็นได้ชัดว่าพนักงานเป็นผู้หญิง 80-90% คงเพราะความละเอียดใจเย็น รอบคอบ สามารถทำอะไรซํ้าๆ ได้นานกว่า ทุกคนทำงานกันคล่องแคล่วมาก ไลน์ที่ขึ้นผลิตในวันนี้เป็นเลนส์ EF 16-35mm f/2.8L III USM ครับ

จบการเยี่ยมชมผมก็กลับมาที่ห้องสัมมนา เพื่อเข้าสู่ช่วงถามตอบ โดยผู้บริหารและวิศวกรก็ได้มาให้คำตอบกับสื่อมวลชนได้อย่างชัดเจนในทุกคำถาม

ประสบการณ์กับ Canon Press Tour 2018 ในครั้งนี้ ทำให้ผมได้เห็นความมุ่งมั่น เอาใจใส่ต่อการผลิตกล้องและเลนส์ออกมาให้นักถ่ายภาพได้ใช้กัน สิ่งเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานในการผลิตของแคนนอนมานาน จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อแคนนอน EOS R ลงสู่ตลาด กระแสการตอบรับจากนักถ่ายภาพจึงดีมาก

ขอบคุณ บริษัทแคนนอน มาร์เก็ตติ้ง ไทยแลนด์ สำหรับการสนับสนุนการเดินทางในทริปนี้

เรื่อง : อิสระ เสมือนโพธิ์


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online