Basic

Something to Know About Architectural Photography

นักถ่ายภาพหลายคนอาจคิดว่าการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่ค่อนข้างไกลตัว โดยคิดว่าเป็นงานถ่ายภาพของนักถ่ายภาพเฉพาะด้านเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วแม้นักถ่ายภาพทั่วไปก็ยังมีโอกาสถ่ายภาพสถาปัตยกรรมได้แม้จะไม่ได้เป็นนักถ่ายภาพที่รับงานถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เพราะหากคิดดูให้ดีจะพบว่าเมื่อเดินทางท่องเที่ยว สิ่งหนึ่งที่นักถ่ายภาพมักถ่ายภาพกันมากนอกจากทิวทัศน์ในธรรมชาติหรือผู้คนแล้วก็คือสิ่งก่อสร้างโดยอาจมีการถ่ายภาพทั้งในลักษณะรวมๆ หลายสิ่งก่อสร้างในลักษณะทิวทัศน์ของเมือง หรืออาจถ่ายภาพในลักษณะอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่เด่นหรือสวยงามเดี่ยว อย่างไรก็ตามเมื่อจะเริ่มถ่ายภาพสถาปัตยกรรม หรืออาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ต่อไปนี้คือสิ่งที่นักถ่ายภาพควรรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพลักษณะนี้

ใส่ใจและไวต่อทิศทางของแสง

สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มคอนทราสต์ เงา รายละเอียดของพื้นผิว และแสงสะท้อนในภาพได้ แต่อย่างไรก็ตามควรมีความระมัดระวังเพราะคอนทราสต์ที่เพิ่มขึ้นในภาพอาจอาจทำให้กล้องรับแสงผิดพลาดได้ แต่นักถ่ายภาพก็สามารถแก้ไขสิ่งนี้ได้ง่ายๆ ด้วยการชดเชยแสง หรือใช้วิธีถ่ายคร่อมด้วยค่าแสงที่มีความแตกต่างกัน

เลนส์มุมกว้างเหมาะสำหรับการถ่ายภาพลักษณะนี้

เนื่องจากเลนส์ทางทางยาวโฟกัสนี้ช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถจัดองค์ประกอบภาพโดยรวมทั้งอาคารทั้งหลังรวมทั้งสภาพแวดล้อมในภาพได้ อย่างไรก็ตามบางครั้งเลนส์ที่ใช้อาจไม่สามารถรวมสิ่งที่ต้องการทั้งหมดไว้ในภาพได้ ซึ่งการถ่ายภาพเพื่อนำมาทำภาพพาโนราม่าภายหลังจะช่วยได้

การถ่ายภาพภายในอาคารเป็นอีกความท้าทาย

หากเป็นไปได้นักถ่ายภาพมักจะไม่หยุดการถ่ายภาพเพียงด้านนอกของอาคารเท่านั้น เพราะหลายๆ อาคารก็มีภายในที่น่าสนใจไม่แพ้กัน แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพในอาคารมีสิ่งหนึ่งค่อนข้างท้าทายนักถ่ายภาพคือการปรับไวต์บาลานช์ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อมีแสงจากหลายแหล่งแสง ซึ่งทางออกหนึ่งที่ดีคือการถ่ายคร่อมไวต์บาลานช์หรือลองใช้ปรับใช้บาลานช์หลายแบบหากถ่ายภาพแบบ JPEG นอกจากนี้เมื่อถ่ายภาพอาคารที่มีความเก่าแก่อาจต้องประสบปัญหามากขึ้นเพราะหลายแห่งมีมักหน้าต่างขนาดเล็ก ทำให้มีแสงธรรมชาติให้ใช้น้อยรวมไปถึงภายในของบางอาคารอาจมีแสงน้อยซึ่งทำให้ต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยเพื่อให้ใช้ระยะเวลาถ่ายภาพนานขึ้น อย่างไรก็ตามในบางครั้งนักถ่ายภาพอาจใช้แฟลชเพื่อให้แสงเสริมเข้าไปในภาพได้ แต่ควรระวังที่จะไม่ให้แสงแฟลชทำลายบรรยากาศและรายละเอียดของอาคาร แต่อย่างไรก็ตามบางอาคารอาจไม่อนุญาติให้ใช้แฟลช

สร้างสรรค์ภาพจากมุมของดวงอาทิตย์ที่ตํ่า

เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ในมุมตํ่า วิธีหนึ่งที่สามารถใช้เพื่อสร้างสรรค์ภาพสถาปัตยกรรมได้คือ ภาพ Silhouette หรือภาพเงาดำหากอาคารที่ถ่ายภาพมีรูปทรงที่เป็นเอกลัษณ์อย่างชัดเจนโดยจัดตำแหน่งให้สิ่งที่ต้องการถ่ายภาพอยู่ระหว่างนักถ่ายภาพและดวงอาทิตย์ ซึ่งหากยังมีแสงที่ฉากหน้ามากจนทำให้เห็นรายละเอียดที่สถาปัตยกรรมอาจต้องใช้การปรับกล้องให้รับแสงอันเดอร์เพื่อช่วย นอกจากนี้ช่วงเย็นจนถึงมืดยังเป็นระยะเวลาที่เหมาะสำหรับถ่ายภาพสถาปัตยกรรมให้ดูน่าสนใจ แต่ควรจำไว้ว่าควรถ่ายภาพเมื่อท้องฟ้ายังคงมีแสงและสีเหลืออยู่เพื่อช่วยเพิ่มรายละเอียดให้ฉากหลัง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพช่วงเวลานี้คือการไปถึงสถานที่ต้องการถ่ายภาพล่วงหน้าเพื่อรอช่วงเวลาที่ท้องฟ้าใกล้มืดรวมทั้งเริ่มมีแสงไฟบนหน้าต่าง ไฟถนน รวมทั้งไฟจากรถที่ผ่านไปมา ซึ่งการใช้ขาตั้งกล้องคือทางเลือกที่ดีที่สุดในการลดสัญญาณรบกวนในภาพ

สามารถถ่ายภาพได้ในทุกสภาพอากาศ

การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมแตกต่างจากการถ่ายภาพหลายประเภท เพราะภาพสถาปัตยกรรมที่ดีสามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสภาพอากาศ เพราะภาพสิ่งก่อสร้างในวันที่ท้องฟ้าสดใสจะให้ความรู้สึกสบายตาแม้จะขาดความน่าสนใจไปบ้าง แต่หากกลับไปถ่ายภาพใหม่ในวันที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆฝน หรือมีหมอกปกคลุมก็จะเพิ่มความน่าสนใจในภาพให้มากขึ้น

ใช้เงาสะท้อนให้เป็นประโยชน์
เงาสะท้อนในภาพถ่ายจะช่วยเพิ่มมิติให้แก่ภาพสถาปัตยกรรมได้ รวมไปถึงสามารถใช้เพื่อสร้างสรรค์ภาพที่ดูแปลกตาจากเงาสะท้อนที่ดูบิดเบี้ยวนั้น อย่างไรก็ตามเมื่อคิดถึงเงาสะท้อนไม่ได้หมายถึงเฉพาะเงาสะท้อนจากแม่นํ้า หรือบ่อนํ้าขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเงาสะท้อนบนพื้นผิวต่างๆ ซึ่งแม้แต่ในเมืองก็สามารถพบได้ไม่ยากนักด้วยไม่ว่าจะกระจกหรือถนนที่เปียกนํ้า

สร้างพลังและการเคลื่อนไหวในภาพ

ภาพสถาปัตยกรรมไม่ควรเป็นแค่ภาพที่มีความงามหรือภาพที่ออกมาลักษณะกราฟฟิกเท่านั้น แต่ควรมีพลังและการเคลื่อนไหวด้วย ดังนั้นจึงควรใช้เส้น แสง และเงาเพื่อสร้างความน่าสนใจ รวมไปถึงควรคิดถึงระดับหรือชั้นต่างๆ ในพื้นที่นั้นด้วย สิ่งก่อสร้างมักจะถูกสร้างบนหลักการของความสมมาตร ดังนั้นการบันทึกภาพที่มีความสมมาตรจึงเป็นการแสดงลักษณะของสถานที่และสามารถเป็นจุดเด่นขององค์ประกอบภาพได้ ซึ่งวิธีคือหาจุดกลางของความสมมาตร ยกมือขึ้นมาให้สันมืออยู่ระหว่างตาทั้งสองแล้วลองสร้างเฟรมภาพจากตรงกลางนี้ นอกจากนี้นักถ่ายภาพยังสามารถเบรกภาพที่ดูแข็งเต็มไปด้วยเส้นตรงด้วยการลองหาเงาหรือแสงสะท้อนที่มีรูปแบบเป็นเส้นโค้งและวงกลมเพื่อช่วยลดความแข็งของสิ่งก่อสร้างนั้นได้

ควรหาข้อมูลถึงความสำคัญของสถานที่
กับหลายๆ สิ่งก่อสร้างที่มีความเก่าแก่หรือมีเรื่องราว หากนักถ่ายภาพรู้ถึงข้อมูลเหล่านั้นอาจจะช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้นักถ่ายภาพควรลองหามุมที่น่าสนใจของสถานที่นั้นแม้จะไม่ได้เป็นจุดที่มีชื่อเสียงหรือได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวคนอื่นเมื่อไปเยือนบางสถานที่ที่มีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม รวมไปถึงสามารถสร้างสรรค์ภาพไดจากการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงเพื่อครอปบางส่วนที่น่าสนใจหรือรูปแบบที่มีความซับซ้อนในภาพ

รับมือกับดิสทอร์ชั่น

เนื่องจากสถานที่ต่างๆ ที่ถ่ายภาพสถาปัตยกรรมล้วนแต่มีความสูง ซึ่งสามารถทำให้เกิดดิสทอร์ชั่นเมื่อถ่ายภาพได้ ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงสามารถใช้สิ่งนี้เพื่อสร้างความแปลกตาในภาพได้อย่างการยืนถ่ายภาพในระยะใกล้กับสิ่งก่อสร้างนั้นแล้วถ่ายภาพโดยแหงนกล้องขึ้น แต่หากไม่ต้องการใช้ดิสทอร์ชั่นเพื่อสร้างสรรค์ภาพ สิ่งที่ควรทำคือถอยออกห่างจากสิ่งก่อสร้างนั้นแล้วถ่ายภาพโดยรวมเอาสภาพแวดล้อมต่างๆ ไว้ในภาพด้วยไม่ว่าจะเป็นผู้คน ต้นไม้ ม้านั่ง หรือรถยนต์ แล้วเลือกใช้รูรับแสงแคบอย่าง F11 หรือ F16 เพื่อให้มีความชัดทั้งฉากหน้าและฉากหลัง

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic