Photo Techniques

Seascape Shooting

อากาศร้อนเสียขนาดนี้บ้านเรายังโชคดีที่มีทะเลให้เดินทางไปท่องเที่ยว เรือเล็กเรือใหญ่ต่างก็พากันออกจากฝั่งไปโกยรายได้กันเป็นกอบเป็นกำ คนหลังกล้องผู้มีโอกาสก็มักจะท่องโลกกว้างไปสู่ผืนน้ำสีครามเพื่อเก็บภาพประดามี ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่องานอดิเรกระหว่างการท่องเที่ยวหรือเป็นงานเป็นการแบบเอาจริงเอาจัง…แล้วจะแค่ผืนทะเลกับฟ้าใสเท่านั้นล่ะหรือที่เราควรจะกดเก็บเอาไว้ในหน่วยความจำ?

ผมมักจะบอกกับผู้คนที่กำลังศึกษาเรื่องของการถ่ายภาพเสมอครับว่า เมื่อเราไปถึงที่ใดก็ตาม ก่อนที่จะหยิบกล้องออกมาเที่ยวเดินส่องไปทั่วขอให้ใช้เวลาเพื่อคิดพิจารณาเสียก่อนว่าที่นี่คืออะไร? ควรจะถ่ายภาพแบบไหน? แสงเป็นยังไง? เรื่องราวเป็นยังไง? และอะไรคือสิ่งที่น่าสนใจ อะไรคือสิ่งที่เป็นปัญหา ฯลฯ เพราะถ้าคุณไปถึงปุ๊บหยิบกล้องออกมายิงๆๆๆ จนตัวแบบตายคากล้องกันเป็นเบือแบบที่หลายๆ ท่านชอบทำนั้น บางทีคุณอาจจะพลาดสิ่งที่น่าสนใจที่สุดไปเลยก็ได้

ทะเลก็เช่นกันครับ เมื่อไปถึงแล้วคุณควรจะหยุดพินิจพิจารณาสักหน่อยว่าโดยรวมแล้วมันเป็นยังไง ตรงไหนมีอะไรน่าสนใจบ้าง ผมเชื่อว่าคุณคงจะมีประสบการณ์ประเภทว่าไปถึงแล้วก็ไม่รู้จะถ่ายอะไร เพราะมันกว้างขวางใหญ่โตและก็เวิ้งว้างไปเสียหมด ซึ่งบางครั้งมันทำให้เราสตาร์ทเครื่องไม่ติดกันเลยเชียวแหละเพราะไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนดี

เมื่อไปทะเล ชีวิตนี้ต้องฝากเอาไว้กับมุมกว้างๆ ของเลนส์ Ultra-wide เท่านั้นล่ะหรือ? เปล่าเลยครับ ทะเลมีอะไรให้ถ่ายภาพมากมาย เลนส์ทุกระยะทุกประเภทสามารถหยิบออกมาใช้งานได้หมดตั้งแต่มุมกว้างไปยันเทเลโฟโต้ มาโครไปยันตาปลา ซึ่งมันก็จะทำให้ชุดภาพถ่ายของคุณในทริปนั้นมีภาพจากมุมมองที่หลากหลายไม่น่าเบื่อแถมยังดูน่าตื่นตาอีกต่างหาก

แต่ถ้าคุณมัวแต่ตกตะลึงอยู่กับความอลังการแห่งสีสันของท้องฟ้าเสียจนถอนตัวจากมุมกว้างไม่ขึ้น และก็ไม่ได้ใช้เวลาเพื่อวิเคราะห์สถานที่เสียก่อนละก็ รับรองว่าจะได้เพลิดเพลินตอนถ่ายภาพ แต่จะน่าเบื่อตอนกลับมาไล่ดูภาพแน่นอน เพราะดูไปดูมามันก็จะคล้ายๆ กันไปหมดจนเริ่มจะไม่น่าสนใจไปเอง ลองดูไอเดียในการถ่ายภาพทะเลเหล่านี้ครับ เผื่อว่ามันจะทำให้คุณเห็นมุมมองใหม่ๆ จากการถ่ายภาพทะเลในทริปต่อไปดูบ้าง


ระยะมุมกว้าง

ภาพกว้างพิเศษแบบ “พานอรามา” ก็เหมาะที่จะใช้เลนส์ระยะมุมกว้างหรือระยะมาตรฐานถ่ายภาพในแนวตั้งหลายใบมาต่อกันด้วยซอฟต์แวร์สำหรับต่อภาพแบบนี้โดยเฉพาะ คุณอาจจะคิดว่าใช้เลนส์มุมกว้างถ่ายแล้วค่อยมาครอปเอาก็ได้ แต่มันจะไม่เหมือนกันตรงความบิดเบี้ยวของขอบภาพและขนาดของมันครับ

นี่เกือบจะเป็นมุมพื้นฐานสำหรับการถ่ายภาพทะเล มุมกว้างๆ ดูจะให้ความตื่นตาตื่นใจได้มากที่สุด ซึ่งคุณก็ควรระวังเรื่องความน่าตื่นตานี้เอาไว้ให้ดี เพราะเมื่อมาอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมแล้วมันดูเหมือนจะต้องการอะไรที่มากกว่าความกว้างจนดูเวิ้งว้าง ควรจะหาจุดสนใจในภาพให้สายตาได้มีที่ยึดเกาะ มันควรจะเป็นจุดเด่นอะไรสักอย่างที่ดูน่าสนใจแล้วปล่อยให้ความว่างทำหน้าที่เป็นฉากหลังเติมเต็มให้กับกรอบสี่เหลี่ยมไปตามเรื่องตามราว

 ขาดไม่ได้เลยเชียวครับสำหรับฟิลเตอร์ C-PL เพราะผิวน้ำทะเลมีแสงสะท้อนจนอาจจะทำให้กล้องไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำได้ ภาพก็เลยจะออกมาดูทึบๆ ตันๆ และน้ำทะเลดูไม่ใสอย่างที่สายตาเห็น : Nikon D5200, Lens Tamron SP AF10-24mm f/3.5-4.5 Di II, 1/160 sec., f/8, ISO-100

คุณควรจะต้องมองหาฉากหน้าที่ดูน่าสนใจ อย่างเช่นพวกหินตะปุ่มตะป่ำ, เงาของต้นมะพร้าวที่ทอดยาวไปบนพื้นทราย หรือแม้กระทั่งผิวทะเล ฯลฯ ซึ่งอาจจะต้องมีการย่อตัวลงบ้างเพื่อให้ฉากหน้าได้ทำหน้าที่ของมัน ที่สำคัญและขาดไม่ได้ก็คือ “ฟิลเตอร์ C-PL” เพราะนอกจากมันจะช่วยให้สีสันดูอิ่มตัวสดใสมากยิ่งขึ้นแล้วยังช่วยตัดแสงสะท้อนออกจากผิวน้ำทะเล เปิดให้เห็นสิ่งที่อยู่ข้างใต้ลงไปได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ช่วยทำให้น้ำทะเลในภาพถ่ายของคุณดูใสมากยิ่งขึ้นด้วย และมันจะช่วยได้มากถ้าคุณถ่ายภาพในทิศทางที่ไม่ย้อนแสงอาทิตย์ ถ้าวันนั้นท้องฟ้าดูดี คุณก็จะได้ภาพอันมีท้องฟ้าน่าตื่นตาประกอบอยู่ในภาพแน่ๆ..


ระยะมุมมาตรฐาน

อย่าได้เยาะเย้ยในใจครับถ้าคุณเห็นคนถ่ายภาพทิวทัศน์ด้วยเลนส์ระยะ 35mm, 50mm, 85mm แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ใช่เลนส์ที่มีมุมมองเหมาะสมกับภาพทิวทัศน์หรือ Landscape ในความคิดของคุณสักเท่าไหร่นัก แต่อย่าลืมว่าเลนส์เหล่านี้เป็นเลนส์ที่เน้น “ตัวแบบหลััก” เป็นสำคัญ เขาอาจจะกำลังถ่ายภาพอะไรสักอย่างที่คุณอาจจะนึกไม่ถึงก็เป็นได้

ถ้าถ่ายภาพบุคคลในบรรยากาศทะเล มุมกว้างมากๆ อาจจะทำให้ตัวแบบหลักของคุณเล็กจิ๋วดูไม่น่าสนใจ หรือไม่ก็บิดเบี้ยวยังไงพิกล ส่วนระยะเทเลโฟโต้ก็อาจจะลำบากสักหน่อยเพราะต้องถอยไกลและต้องตะโกนแข่งกับคลื่นลม เลนส์ระยะ 35mm หรือ 50mm นี่แหละครับกำลังดี เพราะว่ามันเป็นเลนส์ “เล่าเรื่อง” ที่สามารถเน้นตัวแบบและผนวกเรื่องราวรอบข้างเข้ามาไว้ด้วยกันได้ อาจจะไม่ใช่มุมที่กว้างขวางมากมาย แต่ก็เหมาะกับวัตถุประสงค์เลยทีเดียวแหละครับ..


ระยะเทเลโฟโต้

 พระอาทิตยดวงใหญ่ขนาดนี้เลนส์มุมกว้างไม่สามารถทำได้แน่ๆ ครับ ต้องเป็นเลนส์เทเลโฟโต้เพียงอย่างเดียวเหมือนกัน วิธีการก็มีอยู่ในฉบับที่ผ่านมานั่นแหละ : Canon EOS 6D, Lens Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD (600mm)., 1/180, f/8, ISO-100

ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องตลกที่เอาเลนส์เทเลโฟโต้ไปทะเล แต่เชื่อไหมล่ะครับว่ามีตัวแบบมากมายหลากหลายในนั้นที่ต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้จัดการ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างพระอาทิตย์ตกทะเลแบบดวงโตๆ จะเป็นเลนส์อะไรไปได้ล่ะครับถ้าไม่ใช่เทเลโฟโต้? ภาพสิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็อาจจะต้องพึ่งเลนส์ระยะไกลพวกนี้เหมือนกัน บางอย่างเราเข้าใกล้ไม่ได้ก็ต้องอาศัยมันนี่แหละจัดการ หรือเหตุการณ์บางอย่างจากระยะไกลมากๆ เช่น ชาวประมงบนเรือหาปลากำลังย้อนแสงพระอาทิตย์ตกอย่างสวยงามอยู่กลางทะเล เลนส์มุมกว้างอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยก็เป็นได้นะ และเชื่อไหมล่ะครับ ภาพหาดูยากส่วนมากก็จะมาจากเลนส์ชนิดนี้นี่แหละ..


มาโคร

สรรพชีวิตหลากหลายรูปแบบไม่ยอมให้เราเข้าใกล้ครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องสอยด้วยเทเลโฟโต้สถานเดียว ข้อดีอีกอย่างก็คือฉากหลังที่ละลายเมื่ออยู่ในระยะเหมาะสม ถึงแม้จะเห็นไม่ชัดว่าเป็นทะเลแต่ก็รู้ว่าเป็นภาพจากทะเลอยู่ดี: Nikon D7000, Lens Tamron SP 70-300mm f/3.5-4.5 Di II (300mm), 1/320 sec., f/5.6, ISO-100

ภาพมาโครเป็นภาพอีกแบบที่ถ่ายกันได้เพลิดเพลินเพราะแถวนั้นจะมีตัวแบบให้ถ่ายอยู่เยอะแยะไปหมด ซึ่งก็ต้องอาศัยการฝึกฝนแหละครับถึงจะได้ภาพแบบที่โดนๆ โดยเฉพาะเรื่องของแสงและการโฟกัสซึ่งถือเป็นหัวใจของภาพแนวนี้เลย : Ricoh WG-4 GPS, Auto Program, Macro Mode

อันนี้เราก็น่าจะพอรู้อยู่แล้วว่าถ้าเป็นเลนส์มาโครล่ะก็ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ไหนๆ ก็มีให้เล็งกันจนตาเหล่ทั้งนั้น ทะเลก็เช่นเดียวกัน สัตว์เล็กสัตว์น้อย กุ้งหอยปูปลา ซอกหลืบตามโขดหินและหาดทราย เยอะแยะเต็มไปหมด ขยันเดินหาและก็ตาไวสักหน่อยเท่านั้น..


แตกต่างอย่างสร้างสรรค์

สปีดชัตเตอร์ระดับกลาง ไม่เร็วไม่ช้าเกินไป (ขึ้นอยู่กับความเร็วของวัตถุด้วย) ทำให้คลื่นกลายเป็นแรงระเบิดที่ดูน่าตื่นตา หากเร็วกว่านี้ก็จะหยุดนิ่งเป็นเม็ด แต่ถ้าช้ากว่านี้ก็จะพลิ้วจนขาดความรุนแรง : Nikon D7000, Lens Tamron SP AF 10-24mm f/3.5-4.5 Di II, 1/100 sec., f/6.3, ISO-200

ถ้าหากว่าคุณถ่ายภาพโดยรู้กฎพื้นฐานทั่วไปในการถ่ายภาพทะเลอย่าง กฎสามส่วน เส้นขอบฟ้าไม่เอียง มุมโพลาไรซ์ ฯลฯ อะไรพวกนั้นแล้ว ทีนี้ก็ควรจะต้องมาลองถ่ายภาพแบบใหม่ๆ กันดูบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคนิคหรือมุมมองก็ตาม แค่ถามตัวเองว่าทำยังไงให้ภาพของเราแตกต่างจากชาวบ้านได้? ไม่งั้นภาพของคุณก็เหมือนภาพทะเลทั่วไปที่ขอให้ท้องฟ้าดีๆ หน่อยก็ใช้ได้แล้ว

ลองคิดเส้นทางใหม่ๆ ดูบ้างครับ คุณสมบัติของสปีดชัตเตอร์และรูรับแสง เพียงแค่สองอย่างนี้ก็สร้างสรรค์ภาพแบบแปลกๆ ได้มากมายไม่รู้จบ ดูลักษณะการเคลื่อนที่ของทะเลให้ดี นั่งลงจิบเครื่องดื่มเย็นๆ แล้วเรียกจินตนาการขึ้นมาทำงาน เราจะใช้ประโยชน์อะไรจากเจ้าสองปัจจัยนี้ได้บ้าง?

 ภาพมุมกว้างแต่ใช้สปีดชัตเตอร์แบบเปิดรับแสงนานมาก ทำให้ทะเลของภาพนี้กลายเป็นแผ่นเรียบสนิท และด้วยความที่สถานที่ก็มีเพียงแสงสลัวๆ ไม่ได้สว่างเหมือนในภาพ เมื่อเปิดรับแสงนานทำให้แสงบนวัตถุในภาพกำลังพอดี ไม่สว่างจนเกินไป : Nikon D7000, Lens Tamron SP AF10-24mm f/3.5-4.5 Di II.,426 sec., f/4.5, ISO-100

 สายหมอกฟุ้งกระจายรายรอบโขดหินแบบนี้ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากสปีดชัตเตอร์ช้าพิเศษอีกเหมือนกัน การถ่ายภาพแบบนี้ในช่วงกลางวันต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยลดแสงอย่างฟิลเตอร์ “ND” ไม่อย่างนั้นแล้วภาพก็คงจะโอเวอร์แน่ๆ: Nikon D7000, Lens Tamron SP AF10-24mm f/3.5-4.5 Di II, 15 sec., f/25, ISO-100

อย่างภาพประเภทเปิดรับแสงนานเพื่อสร้างละอองหมอกรอบๆ โขดหินนั่นก็ใช้ประโยชน์จากเรื่องสปีดชัตเตอร์ช้า หรือการใช้สปีดชัตเตอร์ช้ากว่าปกติก็อาจจะให้อะไรที่ดูแปลกตาน่าตื่นเต้นตามลักษณะการเคลื่อนไหวได้อีก หรือจะเป็นสปีดชัตเตอร์เร็วแบบหยุดทุกอย่างเอาไว้ในภาพถ้าใช้ดีๆ ก็ดูน่าพิศวงได้เนื่องจากสายตาเราไม่เคยหยุดภาพเอาไว้กับที่นิ่งๆ ได้เลย

หากยังคงอยู่กับการถ่ายภาพแบบธรรมดาทั่วไปเราก็จะคิดอะไรพวกนี้ไม่ค่อยออกหรอกครับ โอเค คุณควรจะต้องถ่ายภาพทิวทัศน์ปกติทั่วไปเอาไว้เป็นส่วนใหญ่ เดินหามุมเจ๋งๆ แสงสวยๆ แล้วเก็บมันเอาไว้ซะ แถมด้วยมีภาพถ่ายประเภทโชว์เทคนิคที่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปไม่สามารถทำได้ติดเอาไว้ในสักชุดนึง ผมว่ามันจะดูเข้าท่ามากเลยทีเดียวเชียวแหละ

ถ้าคิดได้แล้วก็ต้องลองทำดูครับ มันอาจจะยังไม่สำเร็จไปซะทุกครั้งหรอก แต่มันก็จะทำให้คุณเข้าใจอะไรได้มากขึ้น อย่างคำคมที่บอกว่า “เรียนรู้จากความผิดพลาด” นั่นแหละครับ ผมว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างดีเลยนะ..


 

 ถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างในช่วงทไวไล้ท์ตามปกติ แล้วเล่นกับค่า White balance อุณหภูมิสูงๆ สักหน่อยเพื่อให้สีสันดูตระการตา : Nikon D7000, Lens Tamron SP AF10-24mm f/3.5-4.5 Di II, 1/40 sec., f/13, ISO-100

อยากจะบอกว่า ขอให้คุณดูภาพถ่ายแนวทะเลเอาไว้ให้มากๆ และทุกครั้งที่ดูก็ขอให้คิดไปด้วยว่าแต่ละภาพมันเป็นยังไง เขาทำยังไง ควรสงสัยเข้าไว้ครับเพื่อที่เราจะได้พยายามองหาวิธีการเพื่อมาตอบคำถามเหล่านั้นแล้วไอเดียมันจะตามออกมาเอง ในรอบนี้ผมไม่ได้แนะนำเทคนิควิธีการถ่ายภาพแบบตรงๆ แต่จะชี้เป้าเป็นแนวทางเอาไว้ให้คิดขยายความออกไป แล้วก็มีภาพตัวอย่างมาให้ดูเพื่อขยายความคิดเหล่านั้น รับรองว่าคุณต้องสงสัยแหละครับว่าบางภาพทำยังไง วิธีการเป็นแบบไหน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคุณในลำดับต่อไปในการค้นคว้าเพื่อหาคำตอบในวิธีการถ่ายภาพแนวๆ นี้ (ซึ่งผมเชื่อว่าหาไม่ยาก) เพื่อเอาไปลองของดูบ้างในรอบต่อไปที่คุณได้ไปทะเล ดูซิว่าเราจะทำได้บ้างหรือเปล่า? มันจะเป็นเหมือนที่เราคิดมั๊ยนะ?

…ซึ่งนั่นแหละครับ ตรงตามวัตถุประสงค์ของผมในรอบนี้เป๊ะเลย!..

เรื่อง/ภาพ : ปิยะฉัตร แกหลง

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจเทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques