Lenses Reviews

Reviews : Tamron 17-35mm f/2.8-4 Di OSD & 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD

นี่คือเลนส์ที่ผู้ผลิตตั้งใจออกแบบมาให้ใช้คู่กันด้วยทางยาวโฟกัสที่รับช่วง ด้วยการออกแบบ การใช้วัสดุโครงสร้างเหมือนๆ กัน มีขนาดรูรับแสงกว้างสุดเท่ากันคือ f/2.8-4 มีขนาดฟิลเตอร์เท่ากันคือ 77 มม. มีราคาขายค่อนข้างตํ่า เพราะไม่ไม่ใช่เลนส์เกรดโปรรหัส SP

ผมบอกคุณตั้งไว้แต่บรรทัดนี้เลยครับว่า อย่าเพิ่งมองผ่านเลนส์ 2 รุ่นนี้ เพียงเพราะช่วงซูมที่ดูแปลกๆ เพียงเพราะมันเป็นเลนส์เกรดธรรมดา ราคาประหยัด หรือเพียงเพราะเอฟที่ไหลจาก 2.8 ไป 4

นี่คือเลนส์เกรดธรรมดาที่คุณภาพไม่ธรรมดา จากประสบการณ์ในการลองใช้เลนส์มานาน ผมมั่นใจที่จะบอกว่า เลนส์คู่นี้ให้คุณภาพที่ดีมาก ดีอย่างที่หาแทบไม่ได้ในเลนส์ซูมระดับราคานี้ และดีพอที่จะชนกับเลนส์ซูมระดับโปรที่มีราคาค่าตัวสูงกว่ามัน 3-4 เท่าตัว ..มาทำความรู้จักกับเลนส์คู้นี้กันหน่อยครับ

Tamron 17-35mm f/2.8-4 Di OSD


เลนส์ซูมมุมกว้างที่ออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด นํ้าหนักเบา แต่ยังเน้นเรื่องคุณภาพสูง และยังคงให้ความสว่างสูงที่ช่วง 17มม. กับ f/2.8 ซึ่งเป็นทางยาวโฟกัสที่ช่างภาพใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ ภาพทางช้างเผือก ทำให้รองรับการใช้งานระดับจริงจังได้ดี เพราะสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกโดยเปิด f/2.8 ไม่ต้องดัน ISO สูงเกิน และยังออกแบบให้ได้ความคมชัดสูงมากที่ f/2.8 มันจึงเป็นเลนส์ที่ทำงานระดับอาชีพได้

โครงสร้างภายนอกเป็นโพลีคาร์บอเนต งานการผลิตทำได้ดี แน่นหนา แข็งแรง โดยมีนํ้าหนักเพียง 460 กรัม และใช้ฟิลเตอร์ขนาด 77 มม. ปรับโฟกัสใกล้สุด 0.28 เมตร

ระบบออพติค ใช้โครงสร้างชิ้นเลนส์ 15 ชิ้น 10 กลุ่ม ใช้ชิ้นเลนส์แอสเฟอริคัล 2 ชิ้น ชิ้นเลนส์ LD 4 ชิ้น เคลือบผิวแบบ BBAR ใช้มอเตอร์ที่แทมรอนพัฒนาใหม่ OSD (Optimized Silent Drive) ที่โฟกัสได้เงียบและเร็ว

ความน่าสนใจของเลนส์รุ่นนี้ ต้องดูจาก MTF Chart ครับ ที่ช่วงซูม 17 มม. เมื่อเปิด f/2.8 มันให้ความคมชัดกลางภาพเกือบถึง 1.0 (100%) ขอบภาพของ APS-C ยังทำได้ยอดเยี่ยมระดับ 0.9 ส่วนขอบสุดๆ ของฟูลเฟรมทำได้ 0.5 ซึ่งนับว่าดีกว่าเลนส์มุมกว้างช่วงนี้ส่วนใหญ่

Tamron 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD


เลนส์ซูมมาตรฐานที่มีช่วงซูมแปลกๆ สักหน่อย ผมเชื่อว่าทุกคนที่เห็นซูมช่วงนี้คงจะสงสัยกันว่า มันเอาไว้ใช้งานแบบไหน เพราะที่ช่วง 35 มม. ก็ยังไม่กว้างพอสำหรับภาพหลายๆ อย่าง ช่วงเทเลโฟโต้ก็ไปได้ไม่ถึง 200 มม. ทำได้ที่ 150 มม. กับ f/4

ผมจึงบอกว่านี่คือเลนส์คู่หูของ Tamron 17-35mm f/2.8-4 Di OSD เพราะเมื่อใช้คู่กัน มันจะจบได้ใน 2 ตัว กับการใช้งานทั่วไป งานพิธี งานอีเวนต์ เป็นเลนส์ที่โดยส่วนตัวแล้วตรงกับความต้องการของผม เพราะถ้าเป็นเลนส์ที่มืออาชีพส่วนใหญ่ใช้จะเป็นช่วง 24-70 มม. f/2.8 ซึ่งสำหรับผมแล้วช่วง 70 มม. ไม่พอครับ ช่วงเทเลมันสั้นเกินไป ในการทำงานจึงต้องเปลี่ยนเลนส์เป็น 70-200 มม. เพื่อถ่ายช็อตระยะไกล ผมจึงชอบเลนส์คู่นี้เพราะได้ภาพตั้งแต่ช่วงอัลตร้าไวด์ จนถึงเทเลโฟโต้ระยะกลางด้วยเลนส์ 2 ตัว และกับคำถามที่ว่า f/2.8-4 นั้นสว่างพอหรือไม่ แน่นอนครับว่า ผู้ที่ถ่ายภาพจริงจังก็ล้วนอยากได้ f/2.8 ตลอดช่วงซูมมากกว่า แต่มันก็จะมาพร้อมช่วงซูมที่ไม่กว้าง ขนาดใหญ่ นํ้าหนักมากและราคาสูง การประนีประนอมด้วยการลดความสว่างของช่วงซูมท้ายเป็น f/4 จึงเป็นทางออกที่ดีในเรื่องขนาด ความคล่องตัว และราคา

โครงสร้างระบบออพติคของเลนส์ 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 19 ชิ้น 14 กลุ่ม มีการใช้ชิ้นเลนส์ไฮบริดแอสเฟอริคัล 3 ชิ้น และชิ้นเลนส์ LD 3 ชิ้น เลนส์ออกแบบให้ปรับโฟกัสได้ใกล้สุดถึง 0.45 เมตร ตลอดช่วงซูม ให้อัตราขยายสูงถึง 1:3.7 (ที่ช่วงซูม 150 มม.) ใช้ไดอะแฟรมทรงกลม 9 ใบ ออกแบบให้ได้โบเก้สวยงาม นํ้าหนัก 790 กรัม เลนส์รุ่นนี้มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัว ลดการสั่นไหวได้ 5 สตอป ตามมาตรฐาน CIPA

จากชาร์ด MTF จะเห็นความไม่ธรรมดาของเลนส์รุ่นนี้ ที่ช่วงซูม 35 มม. เพื่อเปิดรูรับแสง f/2.8 ความคมชัดกลางภาพทำได้ถึง 0.9 (90%) และลดลงเป็น 0.8 (80%) ที่ขอบภาพของ APS-C ส่วนขอบสุดๆ ของฟูลเฟรมทำได้ 0.5 ที่ช่วง 150 มม. เมื่อเปิดรูรับแสง f/4 กลางภาพได้ความคมชัดถึง 0.95 ที่ขอบ APS-C ทำได้ถึง 0.86 และขอบสุดๆ ของฟูลเฟรมทำได้ถึง 0.8 แต่คุณภาพของเลนส์รุ่นนี้จะสูงสุดที่ช่วง 85 มม. โดยจะให้ความคมชัดได้สูงถึง 0.97 ที่กลางภาพ และ 0.8 ที่ขอบภาพ ที่สำคัญคือ แนวเส้นทึบ (Sagittal) และเส้นประ (Meridioal) อยู่ชิดกัน ทำให้การเกิด Coma Flare มีน้อยมาก

เลนส์คู่นี้เป็นเลนส์ที่ผลิตออกมาสำหรับกล้อง DSLR ของ Nikon และ Canon เท่านั้น การนำไปใช้กับกล้อง Mirrorless ผ่านอแดปเตอร์นั้น แนะนำให้ใช้เมาท์แคนนอน โดยถ้าใช้กับกล้อง EOS R หรือ EOS RP ผ่านอแดปเตอร์ของแคนนอนจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ส่วนกับกล้องตระกูล A7 ของโซนี่ แนะนำให้ใช้กับ Metabone V หรือ Sigma MC 11 ส่วนเลนส์เมาท์นิคอนไม่แนะนำให้ใช้ผ่านอแดปเตอร์เพื่อใช้กับกล้อง Nikon Z หรือตระกูล Sony A7, A9


ผลการใช้งาน

ผมใช้เลนส์ 2 รุ่นนี้กับกล้องนิคอน D800 และ D850 โดยบันทึกด้วยไฟล์ Raw+Jpeg ได้ลองในหลากหลายสถานการณ์ ผลที่ได้เป็นดังนี้

ในส่วนของการจับถือ การควบคุมนั้น เลนส์ Tamron 17-35mm f/2.8-4 Di OSD ทำได้ดี ขนาดเล็ก แต่จับถนัดมือ ลงตัวกับบอดี้ Nikon D850 และ D800 ปรับซูมได้ราบเรียบ นุ่มนวล วงแหวนโฟกัสปรับแบบแมนนวลได้ราบเรียบ แต่ค่อนข้างลื่น การปรับโฟกัสแมนนวลจะต้องปรับสวิทช์บนกระบอกเลนส์ (AF/M) ไปที่ M ก่อนจึงจะปรับโฟกัสแมนนวลได้ ส่วนระบบออโตโฟกัส ความเร็วในการทำงานอยู่ในระดับพอใช้ ไม่เร็วมาก แต่ก็ไม่ช้า

คุณภาพน่าประทับใจในแทบทุกด้าน SONY 7R III เลนส์ Tamron 17-35mm f/2.8-4 Di OSD (ผ่านอแดปเตอร์) ; 1/8 Sec f/2.8 Mode : M, ISO 125

ส่วนเลนส์ Tamron 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD ขนาดไม่เล็กเท่าใดนัก กระบอกเลนส์อวบอ้วน แต่ลงตัวกับบอดี้ D800 และ D850 บาลานซ์ดีมาก การปรับซูมทำได้ราบเรียบ ความหนืดกำลังดี ซูมแล้วกระบอกยืดออกมาประมาณ 4 ซม. การปรับโฟกัสแมนนวลเหมือนๆ กับ 17-35 มม.ครับ คือ ราบเรียบแต่ค่อนข้างลื่น การปรับโฟกัสแบบแมนนวล จะต้องเลื่อนสวิตช์ AF/M บนกระบอกเลนส์ไปที่ M ก่อน ไม่สามารถปรับโฟกัสแมนนวลได้ตลอดเวลาเหมือนเลนส์ Ultrasonic หรือ Silent Wave

Nikon D800 เลนส์ Tamron 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD ; 1/200 Sec f/4.5(@65mm) Mode : M, ISO 500

ส่วนระบบออโตโฟกัสนั้น ใช้มอเตอร์ OSD เช่นเดียวกัน โดยใช้ชุดควบคุมโฟกัส Dual MPU ที่เคลมว่าทำงานได้รวดเร็ว ซึ่งจากการทดสอบพบว่าทำงานได้รวดเร็วพอควร และค่อนข้างเงียบ ประสิทธิภาพในการโฟกัสต่อเนื่อง (AF-C) เพื่อแทรคกิ้งทำได้ค่อนข้างดี

คุณภาพ
Tamron 17-35mm f/2.8-4 Di OSD เป็นเลนส์ซูมมุมกว้างที่ให้คุณภาพดีมาก ดีเกินราคาค่าตัวไปไกล จุดเด่นที่สุดคือ ความคมชัดที่ช่วง 17 มม.นั้น ทำได้ดีเยี่ยมตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด f/2.8 มันจึงเป็นเลนส์ถ่ายภาพดาว ภาพทางช้างเผือกที่ดีมากรุ่นหนึ่ง ประกอบกับอาการ Coma Flare ที่น้อยมากๆ ทำให้จุดของดวงดาวคมชัด ไร้แถบเป็นปีกนกของจุดดาวที่อยู่ใกล้ขอบภาพ ซึ่งหาได้ยากมากในเลนส์ราคานี้ มันให้ภาพคมกริบ รายละเอียดเยี่ยม ทั้งกลางภาพและขอบภาพ ที่ f/5.6 จะได้คุณภาพสูงสุด ด้วยความคมชัดที่ชนกับเลนส์โปรได้สบายๆ อีกจุดที่โดดเด่นจริงๆ คือ อาการสีเหลื่อมน้อยมาก โดยเฉพาะ LoCA ที่ทำให้เกิดสีเหลื่อมของส่วนที่อยู่นอกระยะชัดบนฉากหน้าและฉากหลังนั้น เลนส์รุ่นนี้มีน้อยมากๆ มันจึงให้โบเก้ที่เนียน สะอาดตา การควบคุมแฟลร์ก็ทำได้ดีอย่างยิ่ง เป็นเลนส์ที่ไม่หวั่นต่อการถ่ายย้อนแสงแรงๆ

ความคมชัดสูง รายละเอียดดีเยี่ยมแม้เปิดรูรับแสงกว้างสุด SONY 7R III เลนส์ Tamron 17-35mm f/2.8-4 Di OSD (ผ่านอแดปเตอร์) ; 1/125 Sec f/2.8 Mode : M, ISO 400

จุดที่พอจะติได้ ก็คือเรื่องดิสทอร์ชันที่ปรากฏให้เห็นพอควร โดยจะเกิดดิสทอร์ชันแบบโค้งออก (Barrel) ที่ช่วง 17 มม. และโค้งเข้า (Pincushion) ที่ช่วง 24 มม. และ 35 มม. และเป็นเลนส์ที่มีอาการ Focus Breathing พอควร คือเมื่อปรับโฟกัสระยะใกล้ มุมรับภาพจะเปลี่ยน ภาพจะกว้างขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีผลเสียต่อการถ่ายภาพนิ่งแต่อย่างใด เพราะเป็นเลนส์ช่วงมุมกว้าง การโฟกัสใกล้แล้วได้ภาพกว้างขึ้นก็เป็นผลดี แต่กับการถ่ายวิดีโอมันจะทำให้ภาพดูวูบวาบเมื่อโฟกัส เพราะขนาดภาพเปลี่ยน

สรุปโดยรวมสำหรับ Tamron 17-35mm f/2.8-4 Di OSD คือคุณภาพดีมากในระดับเลนส์โปร

Nikon D800 เลนส์ Tamron 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD ; 1/320 Sec f/4(@122mm) AF-C : 3D, Mode : M, ISO 1600

ส่วน Tamron 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD นั้น ต้องบอกว่าเป็นเลนส์ที่ใช้แล้วผมประทับใจมาก มันให้ภาพคมกริบ ไม่ใช่คมแค่ระดับเลนส์ซูม แต่คมพอๆ กับเลนส์เดี่ยวเลยทีเดียว คมตั้งแต่ 35 มม. ยัน 150 มม. และคมกริบตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด ภาพที่บันทึกมาแสดงรายละเอียดของผิวหน้าได้ลงไปถึงรูขุมขน เส้นเลือดฝอยในดวงตา และที่สำคัญคือ มันเป็นเลนส์ที่มี LoCA น้อยมาก จุดที่อยู่นอกระยะโฟกัสจึงมีสีเหลื่อมน้อย กับภาพบุคคลหากเปิดเอฟกว้าง ส่วนของเส้นผมที่เอาท์โฟกัส จะเบลออย่างนุ่มนวล ไม่มีสีเขียวเหลื่อมที่ขอบเส้นผม มันจึงส่งผลไปถึงโบเก้ที่ทำให้ขอบโบเก้ดูเนียนกว่า ไม่เป็นขอบเขียว

คมสุดๆ จริงๆ แม้จะใช้งานที่ช่วงเทเลสุด 150mm Nikon D800 เลนส์ Tamron 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD ; 1/250 Sec f/4 Mode : M, ISO 200 , Raw File

คมที่สุดที่ช่วงซูมประมาณ 85-100 mm ขุดรายละเอียดทุกขุมขนจริงๆ Nikon D800 เลนส์ Tamron 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD ; 1/250 Sec f/3.8(@98mm) Mode : M, ISO 200

การควบคุมแฟลร์ทำได้ดี ถ่ายย้อนแสงแล้วภาพยังใสเคลียร์ โดยเฉพาะการถ่ายย้อนแสงนุ่มๆ จากแสงในอาคารออกไปนอกอาคารที่มีค่าแสงแตกต่างกัน 4-5 สตอป จะมีแสงฟุ้งเข้าในตัวแบบค่อนข้างน้อย การถ่ายทอดสีทำได้ดี ให้ภาพใสเคลียร์ ความอิ่มสีดี แต่อาจจะยังไม่เทียบเท่าเลนส์โปรบางรุ่น ทว่ากับเลนส์ในระดับเดียวกัน แทมรอนรุ่นนี้นับว่าดีมากแล้วครับ

Nikon D800 เลนส์ Tamron 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD ; 1/60 Sec f/4(@145mm) Mode : M, ISO 500

จุดที่พอจะติได้ มีเพียงเรื่อง Focus Breathing เมื่อปรับโฟกัสระยะใกล้ จะมีการเสียทางยาวโฟกัสพอควร จุดนี้เลนส์ซูมมาตรฐานช่วงซูมกว้างเป็นกันหมดครับ อยู่ที่ว่ารุ่นไหนมาก รุ่นไหนน้อย สำหรับ 35-150 มม. ตัวนี้อยู่ในระดับค่อนข้างมาก แต่ถ้าถามผมว่าซีเรียสมั๊ย ก็ตอบได้ว่าไม่ เพราะมันเป็นเลนส์ซูมอเนกประสงค์ที่มีช่วงซูมเกือบ 5X ถ้าเป็นเลนส์ซูมระดับโปร 2.5-3X ละก็ ต้องซีเรียสที่จุดนี้หน่อย


ความเห็น

ในขณะที่ตลาดกล้อง DSLR ซบเซาลงเรื่อยๆ เลนส์คู่นี้ดูเหมือนจะออกมาผิดที่ ผิดเวลา และทางยาวโฟกัสยังแปลกๆ อีก แต่ขอบอกเลยครับว่า มันดีจนผมต้องซื้อมาใช้ทั้งคู่แทนเลนส์ซูมตัวเดิมที่ใช้อยู่ หากคุณยังใช้กล้องฟูลเฟรม DSLR อยู่ และมีงบจำกัด ทว่าอยากได้เลนส์ดีๆ ที่ให้ภาพระดับโปรในราคามือสมัครเล่น Tamrom 17-35mm f/2.8-4 Di OSD และ Tamron 35-150mm f/2.8-4 Di VC OSD คือเลนส์ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด

เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์

ขอบคุณ : บริษัท อิสท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์เลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.eastenterprise.net


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews