Camera Reviews

REVIEWS : Fujifilm X-T200

เมื่อเอ่ยถึงกล้อง Mirrorless รุ่นเล็ก เราก็มักจะคิดไปว่าคุณภาพและประสิทธิภาพจะลดลงตามระดับของกล้อง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพไฟล์ ระบบออโตโฟกัส ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง คุณภาพช่องมอง คุณภาพจอ LCD คุณภาพระบบวิดีโอ รวมทั้งการออกแบบที่ต้องประนีประนอม ทำให้การใช้งานยังไม่คล่องตัว รวดเร็วเหมือนกล้องระดับกลาง

แต่ความเชื่อนี้เปลี่ยนไป เมื่อผมได้ลองเล่นกล้อง Mirrorless รุ่นใหม่จากฟูจิฟิล์ม X-T200 ซึ่งจะว่าไปแล้วมันคือกล้องที่พัฒนาต่อยอดมาจาก X-A7 ด้วยการใส่ช่องมองภาพ EVF มาให้  ทำให้มันรองรับการใช้งานได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือนักถ่ายภาพระดับจริงจัง ดีเกินระดับชั้นของมัน

ทำไมผมจึงบอกว่า X-T200 มีดีเกินกว่าระดับชั้นของมัน ลองดูไฮไลท์ที่ผมสรุปมาให้ดูก่อนครับ

 

  • ใช้เซ็นเซอร์ CMOS ความละเอียด 24 ล้านพิกเซลรุ่นใหม่ที่ปรับปรุงการเดินสายวงจรด้วยทองแดงแทนอลูมิเนียม ทำให้การส่งข้อมูลเร็วขึ้น ให้ภาพที่มีสัญญาณรบกวนต่ำกว่าเดิม
  • ระบบโฟกัสแบบไฮบริด ทำงานร่วมกันระหว่าง เฟส ดีเทคชัน กับระบบตรวจจับคอนทราสต์  โฟกัสได้แม่นยำ รวดเร็ว โฟกัสในสภาพแสงน้อยได้ถึง -2.0EV
  • ระบบตรวจจับใบหน้าและดวงตาปรับปรุงอัลกอริธึมใหม่ แม่นยำกว่าเดิม
  • จอ LCD ขนาดใหญ่ถึง 3.5 นิ้ว อัตราส่วนภาพ 16:9 ให้ภาพวิดีโอใหญ่เต็มตา ดูภาพสะดวก ความละเอียดสูงถึง 2.76 ล้านจุด ให้ภาพคมกริบ  ปรับมุมอิสระ โดยพับจอออกด้านข้างแล้วบิดหมุนได้ 270 องศา รองรับการบันทึกวิดีโอได้ยอดเยี่ยมโดยเฉพาะการทำ VLOG
  • ระบบทัชสกรีนเต็มรูปแบบ และออกแบบอินเทอร์เฟสใหม่ให้ใช้งานสะดวกขึ้น
  • Advanced Filter ใหม่ (Clarity filter ) ให้ภาพที่มีสีสันสดใส
  • Advanced Filter ออกแบบให้ใช้งานสะดวก สามารถเปรียบเทียบดูผลก่อนบันทึกภาพได้อย่างชัดเจน
  • ระบบวิดีโอ 4K แบบไม่ครอป  ให้คุณภาพสูง สัญญาณรบกวนต่ำ
  • ระบบ HDR Movie เก็บรายละเอียดและสีสันได้เยี่ยมยอดแม้ค่าแสงจะแตกต่างกัน
  • ระบบ Digital Gimbal  ให้ภาพวิดีโอที่นุ่มนวลไม่สั่นไหวแม้ต้องเดินถือกล้องด้วยมือเปล่า
  • มีช่องต่อไมโครโฟนภายนอกและช่องต่อหูฟัง(USB-C) รองรับงาน YouTuber และงาน VLOG ได้ดี

ชุดเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ

การออกแบบใหม่ที่ใช้งานสะดวก คล่องตัว

กล้อง Fujifilm X-T200 ออกแบบจัดวางปุ่มปรับแตกต่างจากกล้องรุ่น X-T20 และ X-T30 อย่างมาก การวางปุ่มปรับออกแบบให้ใช้งานง่าย โดยเฉพาะกับมือใหม่ มือสมัครเล่น ที่อาจไม่คุ้นกับการเลือกโหมดถ่ายภาพจากแป้นปรับความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่แสดงโหมด P, A, S, M บนตัวแป้น  ในกล้องรุ่นนี้จึงออกแบบด้วยการใช้แป้นปรับโหมดที่วางโหมด P, A, S, M โหมดโปรแกรมสำเร็จรูป Night, Sport, Landscape ส่วนโหมดโปรแกรมสำเร็จรูปอื่นๆ อีก 13 โหมดวางไว้ในตำแหน่ง SP บนแป้น  นอกนั้นจะเป็นโหมด Panorama  และโหมด SR+ รวมทั้งโหมด Adv. (Advanced Filter) และโหมดบันทึกวิดีโอก็วางไว้บนแป้นเลย  การใช้งานก็นับว่าสะดวกคล่องตัวดี สามารถปรับหมุนแป้นปรับโหมดได้โดยไม่ต้องกดปุ่มปลดล็อก น้ำหนักในการปรับก็กำลังดี ไม่หนืดเกิน ไม่ลื่นเกิน ปรับไปที่โหมดไหนก็จะมีภาพตัวอย่างและคำอธิบายระบบสั้นๆ ให้มือใหม่เข้าใจในเบื้องต้นได้

แป้นควบคุมหน้า-หลัง ใช้งานสะดวกดีมาก

แป้นบนตัวกล้องสามารถเซ็ทฟังก์ชันที่ต้องการมาไว้ได้

ที่ผมชอบคือ Fujifilm X-T200 วางแป้นควบคุมสองอันไว้ด้านบน ใช้ปรับความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงได้สะดวกมาก ถ้าใช้โหมด A หรือ S ก็ใช้แป้นควบคุมด้านหน้าปรับเลือกค่า ส่วนแป้นควบคุมด้านหลังใช้ปรับชดเชยแสงได้เลย เร็วดีมาก  กล้องรุ่นนี้ไม่มีปุ่มสี่ทิศทางแล้วครับ เนื่องจากใช้จอ LCD ที่มีขนาดใหญ่ถึง 3.5 นิ้ว พื้นที่ด้านหลังตัวกล้องซีกขวาจึงไม่มีพื้นที่พอสำหรับวางปุ่มสี่ทิศทาง  Fujifilm X-T200 ก็เลยวางจอยสติ๊กเล็กๆ ลงไปแทน ซึ่งหลายคนเห็นตำแหน่งแล้วอาจสงสัยว่าอยู่ตรงนี้จะปรับถนัดมั๊ย  ก็ตอบได้เลยครับว่า ไม่เป็นปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด นิ้วโป้งจะไม่ไปโดนได้ง่ายๆ

ด้านข้างขวาพื้นที่เหลือน้อยจึงไม่มีปุ่มสี่ทิศทาง วางจอยสติ๊กแทน

การจับถือปกตินิ้วโป้งจะไม่รบกวนการทำงานของจอยสติ๊ก

เมื่อไม่มีปุ่มสี่ทิศทาง Fujifilm X-T200 จึงออกแบบใหม่โดยวางปุ่มกดคู่ที่ส่วนบนด้านหลังตัวกล้อง สามารถใช้ทำหน้าที่ควบคุมฟังก์ชันต่างๆ ได้ตามต้องการ นอกจากนั้นยังสามารถใช้แป้นหมุนบนตัวกล้องซีกซ้ายทำหน้าที่ปรับฟังก์ชันได้ ดังนั้นการไม่มีปุ่มสี่ทิศทางจึงไม่มีผลต่อความสะดวกในการใช้งานแต่อย่างใด 

สองปุ่มที่ออกแบบมาเพื่อทดแทนปุ่มสี่ทิศทาง กดใช้งานสะดวกดี

และที่ผมชอบอีกเรื่องคือการใช้จอแบบทัชสกรีนที่สามารถควบคุมการทำงานของกล้องได้ดีมาก และใช้งานสะดวกโดยแตะที่มาร์คลูกศรมุมขวาล่างของจอ LCD กล้องจะแสดงฟังก์ชันที่ปรับตั้งไว้ โดยสามารถเลือกฟังก์ชันมาใส่ได้ 2 ระบบตามที่คุณต้องการ และจะมีฟังก์ชันที่กำหนดไว้ตายตัวอีก 4 ระบบ คือ การเลือกโหมดโฟกัส การเลือกระบบ Touch AF  การเลือกโหมด Portrait Enhancer และการเลือกอัตราส่วนภาพ  นอกจากนั้นยังสามารถเข้าเมนู Q ได้จากการแตะหน้าจอ เป็นการออกแบบที่เป็นมิตรกับมือใหม่มาก เข้าใจง่าย ใช้สะดวก

แตะสัญญลักษณ์ลูกศรบนแป้นตรงนี้ กล้องจะแสดงเมนูของฟังก์ชันต่างๆ ให้ปรับแบบทัชสกรีนจากหน้าจอ

 

ในการใช้งานผมค่อนข้างชอบการออกแบบจัดวางฟังก์ชันบนจอทัชสกรีนของ Fujifilm X-T200 เพราะใช้สะดวก ดีกว่าการปัดหน้าจอ ซ้าย-ขวา บน-ล่าง เพราะควบคุมค่อนข้างยาก แต่การแตะหน้าจอที่ลูกศรแเพื่อเข้าไปเลือกเมนู แล้วเข้าไปปรับตั้งการทำงานของฟังก์ชันต่างในกล้องรุ่นนี้ดูเข้าใจง่าย ใช้งานสะดวกและเร็ว ตัดสิ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาดของมือใหม่ได้หลายอย่าง เช่น สวิทช์ S, C, MF แบบกลไกที่หลายคนไปปรับเลื่อนโดยไม่ตั้งใจ(หรือบางคนก็ไม่เข้าใจ) ทำให้ระบบโฟกัสเปลี่ยน เกิดปัญหาในการใช้งานได้

ระบบออโตโฟกัสที่ดีขึ้น

กล้องรุ่นเล็กในระดับ Entry Level มักจะคาดหวังประสิทธิภาพของระบบออโตโฟกัสไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะการโฟกัสติดตามวัตถุ (Tracking AF) เพราะเซ็นเซอร์บางรุ่นไม่ได้ติดระบบ เฟส ดีเทคชัน มาให้  บางรุ่นติดมาแต่จุดโฟกัสน้อยหรืออัลกอริธึมของระบบโฟกัสยังไม่ดีพอ กล้องมิเรอร์เลสระดับ Entry Level หลายตัวจึงมักจะตายตอนเอาไปถ่ายภาพแอคชัน ภาพกีฬา  แต่นั่นไม่ใช่กับกล้องรุ่นนี้  Fujifilm X-T200 ยังสามารถใช้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่รวดเร็วได้ รองรับการถ่ายภาพกีฬาได้ แม้จะยังไม่สามารถเทียบกับ Fujifilm X-T30  แต่ก็ไม่ได้ห่างอะไรนัก การโฟกัสติดตามวัตถุทำได้น่าพอใจ ผมลองถ่ายภาพแอคชันของตัวแบบที่เล่นสเก็ตซ์พบว่าระบบโฟกัสสามารถติดตามการเคลื่อนที่ได้ต่อเนื่อง เร็วในระดับที่ยังรักษาจุดชัดได้ตลอด การตอบสนองในการออกตัวและการหยุดของระบบโฟกัสนับว่าดีพอควร มันจึงเป้นกล้องระดับสมัครเล่นที่นำไปใช้งานด้านนี้ได้ดี

โฟกัสเข้าที่ตาอย่างแม่นยำและเร็ว  กล้อง Fujifilm X-T200  เลนส์ XC 35mm f/2 ; 1/500 วินาที f/2 , WB : Auto, ISO200

กล้อง Fujifilm X-T200  เลนส์ XC 35mm f/2 ; 1/400 วินาที f/2.8 , WB : Auto, ISO200

กล้อง Fujifilm X-T200  เลนส์ XF 100-400mm f/4.5-5.6 R LM OIS WR ; 1/1250 วินาที f/5.6 , WB : Auto, ISO400

การโฟกัสในโหมด AF-S ทำได้ดี เร็วและแม่นยำ กับเลนส์ XC15-45mm f/3.5-5.6 การโฟกัสแน่นอนดีมาก เร็วน่าพอใจ และแม่นยำมาก ส่วนการโฟกัสในสภาพแสงน้อย ความเร็วจะลดลงอย่างสังเกตได้ แต่ความแม่นยำยังโอเค  หากใช้กับเลนส์ไวแสงการโฟกัสยังดีมาก เช่น ผมลองถ่ายภาพบุคคลในสภาพแสงน้อยด้วยเลนส์ XF 56mm f/1.2R พบว่าแม้เปิด f/1.2 หรือ f/1.4 การโฟกัสก็ยังแม่นยำ  เมื่อลองเปิดใช้ระบบโฟกัสดวงตา ผลที่ได้คือกล้องโฟกัสเข้าที่ตาอย่างแม่นยำ ในการถ่ายภาพบุคคลผมแนะนำให้เปิดระบบนี้ไว้ครับเพราะจะมั่นใจได้ว่ากล้องจะโฟกัสเข้าที่ตาอย่างแน่นอน ประสิทธิภาพในการทำงานดีกว่า Fujifilm X-T100 ค่อนข้างชัดเจน

คุณภาพไฟล์

Fujifilm X-T200 ให้คุณภาพไฟล์ดีน่าพอใจครับ  แม้จะไม่ได้ใช้เซ็นเซอร์ X-Tran CMOS 4 แต่คุณภาพที่ได้ก็นับว่าใกล้เคียงมาก แยกเป็นเรื่องๆ ตามนี้ครับ

ความคมชัด 

Fujifilm X-T200 ให้รายละเอียดดีมากเมื่อใช้ความไวแสง ISO100-400 ภาพที่ได้มีความคมชัดสูง  กับเลนส์ชั้นดีอย่าง XF 56mm F1.2R และ XF 90mm F2R LM WR ภาพที่ได้คมกริบ รายละเอียดจากเซ็นเซอร์ 24 ล้านพิกเซลดีน่าพอใจมาก  เมื่อลองตรวจสอบผลที่ได้บนจอมอนิเตอร์ที่ 100% รายละเอีบดยังดีครับ  ที่ ISO800-1600 รายละเอียดลดลงเล็กน้อย แต่ยังเป็นความไวแสงที่คุณสามารถใช้งานจริงจังแบบหวังผลได้ รองรับงานระดับอาชีพได้  ที่ ISO 3200 รายละเอียดลดลงจากการทำงานของระบบลดสัญญาณรบกวน ความคมชัดลดไปพอควรแต่ก็ยังดีเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป

 

ไฟล์คมชัด รายละเอียดดีมาก กล้อง Fujifilm X-T200  เลนส์ XC 15-45mm f/3.5-5.6 OIS PZ ; 1/160 วินาที f/10 , WB : Auto, ISO200 RAW File

กล้อง Fujifilm X-T200 เลนส์ XC 15-45mm f/3.5-5.6 OIS PZ ; 1/250 วินาที f/6.4 , WB : Auto, ISO200 เปิดแฟลชป๊อปอัพ

การถ่ายทอดสี

สียังเป็นจุดเด่นของกล้อง Fujifilm เสมอมา และ Fujifilm X-T200 ก็นับเป็นกล้องที่ให้ไฟล์ JPEG ที่สีสวยมาก ความอิ่มสีดีโดยไม่ได้บูสท์สีจนจัดเกินไปเมื่อใช้ Film Simulation แบบ Provia/Standard สีผิวสวยอย่างที่คนชอบฟูจิฟิล์มชื่นชอบ ความอิ่มสีของสีเขียว น้ำเงินและแดงอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอดี ความใสของภาพน่าพอใจ คอนทราสต์ของภาพค่อนข้างสูง

ภาพนี้บันทึกด้วย CLARITY FILTER ใหม่ ให้โทนสดใส คอนทราสต์สูง

เปรียบเทียบกับภาพที่บันทึกด้วย Film Simulation / Provia เห็นความแตกต่างชัดเจน

 

จุดเด่นของกล้องฟูจิฟิล์มอยู่ที่ระบบ Film Simulation เพราะเราสามารถเลือกโทนสี เลือกคาแรกเตอร์ภาพได้หลากหลายรูปแบบอย่างที่เราต้องการ โดยส่วนตัวแล้วผมจะใช้ Film Simulation แบบ PROVIA เป็นหลัก แต่เมื่อถ่ายภาพบุคคลจะใช้ ASTIA เนื่องจากได้ความนุ่มของสี ของโทนมากขึ้น แต่ถ้าเป็นการถ่ายภาพชีวิตผู้คนในแบบ Street ก็มักจะใช้ CLASSIC CHROME  ไฟล์ที่ได้จะมีคาแรกเตอร์อย่างที่เราต้องการโดยไม่ต้องปรับแต่ง

เมื่อใช้ความไวแสงสูง เช่น ISO 1600 หรือ ISO 3200 ความอิ่มสีจะลดลงเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วสีสันใกล้เคียงกันมาก

 

รายละเอียดในสีขาวดีมาก กล้อง Fujifilm X-T200 เลนส์ XC 15-45mm f/3.5-5.6 OIS PZ ; 1/50 วินาที f/4.4 , WB : Auto, ISO400

สัญญาณรบกวน (Noise)

Fujifilm X-T200 เป็นกล้องที่ให้รายละเอียดของภาพดี ที่ ISO 100-200 ภาพใสเคลียร์มาก ไม่ปรากฏสัญญาณรบกวน  ที่ ISO 400-800 ภาพมีสัญญาณรบกวนน้อย รายละเอียดจึงยังดีมาก ที่ ISO 1600 ซึ่งเป็นความไวแสงที่ช่างภาพจะใช้วัดผล วัดคุณภาพของกล้องกัน สำหรับ Fujifilm X-T200 นั้น ผมเห็นว่าเป็นกล้องที่จัดการกับเรื่อง Noise ได้ค่อนข้างดี ไฟล์ JPEG ภาพยังมีรายละเอียดดี สามารถใช้งานแบบหวังผลได้  ส่วนไฟล์ RAW (เปิดด้วย Photoshop CC) สัญญาณรบกวนจะมากกว่าไฟล์ JPEG แต่รายละเอียดก็มากกว่าเล็กน้อย  เทียบกับ Fujifilm X-T30 แล้วความแตกต่างเรื่อง Noise มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสำหรับผมแล้วไม่ได้ซีเรียสเลยครับ เท่าที่มันทำได้ก็โอเคแล้ว  ที่ ISO 3200 สัญญาณรบกวนจะมากขึ้น กับไฟล์ JPEG สิ่งที่จะลดลงคือ รายละเอียด เพราะระบบลดสัญญาณรบกวนทำงาน แต่กับไฟล์ RAW จะเห็น Noise ชัดเจน แต่ก็จะได้รายละเอียดที่ดีกว่า  ที่ ISO 3200 ผมยังยอมรับคุณภาพเรื่อง Noise ของกล้องรุ่นนี้ได้  สรุปโดยรวมของการจัดการ Noise ใน Fujifilm X-T200 คือ น่าพอใจเมื่อเทียบกับมาตรฐานของกล้องขนาด APS-C

 

แสงน้อยก็ยังโฟกัสเข้าตาแม่นยำ และไฟล์ก็ยังมีรายละเอียดดี  กล้อง Fujifilm X-T200  เลนส์ XF 56mm f/1.2R ; 1/100 วินาที f/1.4 , WB : Auto, ISO2000

 

กล้อง Fujifilm X-T200  เลนส์ XF 100-400mm f/4.5-5.6 R LM OIS WR ; 1/500 วินาที f/5.6 , WB : Auto, ISO800

 

ให้ภาพใสเคลียร์ รายละเอียดดีมาก กล้อง Fujifilm X-T200  เลนส์ XF 90mm f/2 R LM WR ; 1/200 วินาที f/2 , WB : Auto, ISO200

ความเร็วในการทำงาน

ความเร็วในการทำงานของ Fujifilm X-T200 อยู่ในระดับค่อนข้างดี แน่นอนครับว่ามันยังเป็นรอง X-T30 บ้างในเรื่องความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่อง ความเร็วในการโฟกัส ความเร็วในการตอบสนองของระบบต่างๆ ความเร็วในการแสดงภาพเมื่อบันทึกต่อเนื่อง แต่หากเรานำไปเทียบกับกล้องระดับ  Entry Level ด้วยกันก็จะพบว่าสิ่งที่ Fujifilm X-T200 ทำได้นั้นก็เกินระดับชั้นของกล้องแล้วล่ะครับ บัฟเฟอร์อาจจะค่อนข้างเล็ก แต่ก็พอใช้งานได้

Movie ดีเกินตัว

Fujifilm X-T200 เป็นกล้องที่ไม่ประนีประนอมกับการออกแบบระบบวิดีโอ ให้ฟังก์ชันต่างๆมาเกินระดับชั้นของกล้องอย่างมาก ทำให้มันเป็นกล้องที่โดดเด่นอย่างมากสำหรับ YouTuber และ Vlogger ทั้งหลาย รวมทั้งการทำ Live ด้วย  จุดเด่นของระบบวิดีโอใน Fujifilm X-T200 คือ มันให้คุณภาพระดับ 4K 30p ที่ไม่มีการครอป บันทึกเต็มเซ็นเซอร์ที่ 6K แล้วนำมาลดขนาดลงเป็น 4K ภาพที่ได้จึงมีความคมชัดสูง สัญญาณรบกวนต่ำ มีสีเหลื่อมน้อย สามารถบันทึกลงการ์ดหรืออุปกรณ์บันทึกภายนอกได้ และยังสามารถบันทึกด้วยความละเอียด Full HD 60p ได้  บันทึกวิดีโอ Slow Motion ระดับ 5X ได้ 

ระบบ Slow Motion เลือกเฟรมเรทได้ 2X, 4X และ 5X

ตัวอย่างการใช้งาน Slow แบบ 5X

นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชัน Movie HDR บันทึกแสงที่แตกต่างกันมากๆ ได้ทั้งรายละเอียดและสีสัน  มีระบบ Digital Image Stabilizer ลดการสั่นไหวแบบอิเล็กทรอนิกส์เมื่อถ่ายวิดีโอ โดยสามารถบันทึกระดับ 4K ได้  และยังมีระบบ Digital Gimbal ให้ภาพที่นิ่งยิ่งกว่าแม้จะเดินถือกล้องตามซับเจกต์ด้วยมือเปล่า แต่ระบบนี้จะไม่สามารถใช้ระบบ 4K ได้ กล้องจะบันทึกที่ Full HD และไม่สามารถปรับซูมได้ เช่น หากใช้กับเลนส์คิท XC 15-45mm f/3.5-5.6 กล้องจะปรับซูมไปที่ 15 mm โดยอัตโนมัติ โดยภาพจะไม่กว้างเท่าการบันทึกปกติ แต่จะครอปภาพค่อนข้างมาก ระบบจะตรวจจับการสั่นไหวแล้วปรับแก้ขณะบันทึกให้เลย  เป็นระบบที่ออกแบบให้สามารถเดินถือกล้องได้โดยภาพยังดูนิ่ง

เมนูระบบวิดีโอให้มาเยอะกว่ากล้องระดับเดียวกัน

หากเปิดใช้ระบบ Digital Gimbal กล้องจะเปลี่ยนความละเอียดในการบันทึกเป็น Full HD

นอกจากนั้น Fujifilm X-T200 ยังมีช่องต่อไมโครโฟนภายนอก สำหรับรองรับงานที่ต้องการเสียงคุณภาพสูงและยังสามารถต่อหูฟังได้(ผ่านอแดปเตอร์ USB-C) จึงสามารถเช็คเสียงระหว่างบันทึกได้  และ Fujifilm X-T200 ยังมีฟังก์ชันในภาควิดีโอที่มากกว่ากล้องระดับเดียวกัน

พอร์ต USB-C สามารถใช้เป็นช่องต่อหูฟังได้ผ่านอแดปเตอร์

ช่องต่อไมโครโฟนภายนอก รองรับไมโครโฟนคุณภาพสูงได้หลากรูปแบบ

ผมลองถ่ายวิดีโอทั้ง 4K และ Full HD เพื่อทดสอบคุณภาพ ไฟล์ 4K นำมาเปิดในโปรแกรมแล้วดึงเป็นภาพนิ่งมาตรวจสอบความคมชัด รายละเอียด พบว่ามันให้ความคมชัดดีมาก สามารถนำมาใช้งานเป็นภาพนิ่งที่มีคุณภาพดีระดับ 8 ล้านพิกเซลได้เลย ดังนั้นเมื่อรับชมเป็นภาพเคลื่อนไหว ความคมชัดบนจอทีวี 4 K จึงหายห่วง  นอกจากนั้นผมยังลองบันทึกวิดีโอ Slow Motion 5X พบว่าภาพมีรายละเอียดดี สีสันสวยงาม น่าพอใจ  ส่วนระบบ Digital Gimbal นั้นก็ใช้งานได้ค่อนข้างดี แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องความละเอียดและการซูม แต่ผลที่ได้ก็นับว่าค่อนข้างดี ภาพดูนิ่ง สามารถเดินถือกล้องถ่ายได้ เพียงแต่ต้องใช้ทักษะในการเดินให้กล้องไม่โยกแรงเกินไป

การเปรียบเทียบระหว่างการเปิดใช้งาน Digital Gimbal กับไม่ได้เปิดใช้งาน

จอ LCD ปรับมุมได้อิสระขนาด 3.5 นิ้วคือจุดเด่นที่คุณหาไม่ได้จากกล้องระดับเดียวกัน มันให้รายละเอียดสูงมาก ใช้งานสะดวก เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการทำ Vlog เพราะกล้องเบาแต่จอใหญ่ อัตราส่วนจอ 16:9 จึงเห็นภาพเต็มตา ในการใช้งานผมชอบจอ LCD ของกล้องรุ่นนี้มากครับ และไฟล์ที่ได้สามารถตัดส่วนที่ไม่ต้องการออกไปได้เลยจากตัวกล้อง

ความเห็น

จากการใช้งานสองสัปดาห์ กับ Fujifilm X-T200 กล้องระดับ Entry Level ที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับ ผมยอมรับว่าเป็นกล้องดิจิตอลที่ผมชอบรุ่นหนึ่ง  นี่คือกล้องระดับเริ่มต้นที่จะพาคุณเข้าสู่โลกของการถ่ายภาพและวิดีโอได้อย่างสนุกสนาน มันเป็นกล้องที่ใช้งานง่ายแม้กับมือใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในการใช้กล้องดิจิตอล ให้คุณภาพไฟล์ดี ดีพอที่จะใช้งานระดับจริงจังได้ ส่วนไฟล์วิดีโอดีระดับเกินราคาค่าตัว และใช้งานเวิร์คมากๆ ทั้งจอปรับมุมอิสระและระบบทัชสกรีน เป็นกล้องที่แม้คุณจะจริงจังกับการถ่ายภาพมากขึ้น มันก็ยังรองรับการใช้งานระดับนั้นได้  หาโอกาสไปลองเล่นดูครับแล้วอาจจะหลงรักกล้องรุ่นนี้ได้ แนะนำครับ..

**หมายเหตุ : ราคาขายของ Fujifilm X-T200 พร้อมเลนส์คิท XC 15-45mm f/3.5-5.6 OIS PZ อยู่ที่ 27,990 บาท ชุดเลนส์คู่ Body+ XC 15-45mm f/3.5-5.6 OIS PZ + XC 35mm f/2 ราคา 31,990 บาท (เลนส์ XC 35mm f/2 ใช้ออพติคเดียวกับรุ่น XF 35mm f/2 แต่เปลี่ยนวัสดุภายนอก และไม่มีวงแหวนปรับรูรับแสง เงินที่เพิ่มมาจากชุดคิทเลนส์เดียวอีก 4,000 บาทจึงคุ้มค่ามาก) อีกชุดจะเป็นบอดี้ + XF 16mm f/2.8R ราคา 31,990 บาท (ชุดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีเลนส์คิทอยู่แล้วและอยากได้เลนส์ไวด์ทางยาวโฟกัสเดียวที่ไวแสงและคุณภาพสูง)

 

ขอบคุณ : บริษัท ฟูจิฟิล์ม ประเทศไทย จำกัด สำหรับกล้องและเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.fujifilm.co.th

เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์