Camera Reviews

Review : SONY A9 II

SONY A9 ผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2017 เป็นกล้องระดับเรือธง โดยชูจุดขายด้วยเรื่องความเร็วและประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อชนกับกล้อง DSLR ระดับโปรในขณะนั้น ด้วยขนาดตัวกล้องที่เล็กกว่า เบากว่าเกินเท่าตัว  แต่มาพร้อมประสิทธิภาพสูงในทุกด้าน

บอดี้ทำจากแมกนีเซียมอัลลอยทั้งตัว แข็งแกร่ง แต่เบา ซีลป้องกันละอองนํ้าและฝุ่น รองรับการใช้งานในทุกสภาพอากาศ ใช้เซ็นเซอร์ Stacked CMOS ความละเอียด 24.2 ล้านพิกเซล ที่มีความไวแสงสูง สัญญาณรบกวนตํ่า ให้คุณภาพสูง แม้ใช้ความไวแสงระดับ ISO 3200-12800 มีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงถึง 20 ภาพ/วินาที พร้อมระบบโฟกัสต่อเนื่องและวัดแสงต่อเนื่อง ไม่มี Blackout จึงสามารถถ่ายภาพกีฬา ภาพแอคชั่นได้อย่างที่มืออาชีพต้องการ มันมีระบบแทรคกิ้งที่เยี่ยมยอดทั้ง Real time tracking และ  Real time eye AF ใช้ช่องมองคุณภาพสูง ใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่รุ่น FZ100 ที่สามารถถ่ายภาพได้มากกว่า 1,000 ภาพ (อาจใช้ได้ถึง 5000-6000 ภาพ เมื่อถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง) ด้วยเหตุนี้ A9 จึงเป็นกล้องระดับโปรอย่างแท้จริง และเป็นกล้องมิเรอร์เลสฟูลเฟรม รุ่นแรกที่เทียบชั้นกับกล้อง DSLR ระดับโปรได้ในทุกด้าน เป็นกล้องที่มืออาชีพยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูง และให้ภาพที่มีคุณภาพสูงด้วย ในปีนี้โซนี่ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของ A9 โดยมีการปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ หลายต่อหลายอย่าง และใช้รหัสว่า A9 II หลายคนคิดว่าการปรับปรุงครั้งนี้โซนี่จะให้เซ็นเซอร์ภาพใหม่แต่ A9 II ยังคงใช้เซ็นเซอร์ Stacked CMOS 24.2 ล้านพิกเซลรุ่นเดิม หลายคนจึงมีความรู้สึกว่า A9 II

แตกต่างจาก 9 ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าลงลึกเข้าไปในรายละเอียดจะพบว่า A9 II มีการพัฒนาไปจากเดิมหลายอย่าง เพื่อให้ได้กล้องที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รองรับการทำงานของมืออาชีพได้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น

ทำไม A9 II จึงยังใช้เซ็นเซอร์ภาพรุ่นเดิม คำตอบคือ เพราะเซ็นเซอร์ภาพ Exmor RS Stacked CMOS รุ่นนี้เป็นเซ็นเซอร์ภาพที่มีเทคโนโลยีลํ้าหน้ามาก ข้อมูลจากโซนี่ระบุว่าด้วยความลํ้าของเซ็นเซอร์ภาพรุ่นนี้ ใน A9 เดิมยังดึงประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ออกมาใช้ไม่ถึง 50% ด้วยซํ้า ทั้งความเร็ว คุณภาพ ประสิทธิภาพ ดังนั้นใน

A9 II โซนี่จึงพัฒนาหน่วยประมวลผล BIONZ X ใหม่และ LSI ใหม่ เพื่อดึงประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ภาพรุ่นนี้ให้มากยิ่งขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องเปลี่ยนเซ็นเซอร์ภาพ  …แล้ว A9 II ปรับปรุงอะไรบ้าง ตามนี้เลยครับ

ออกแบบมาสำหรับก“รเชื่อมต่อระดับมืออาชีพ สำหรับช่างภาพข่าว ช่างภาพกีฬา การส่งภาพด้วยไฟล์ขนาดใหญ่จำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยใส่พอร์ต Ethernet แบบ 1000 BASE-T ที่เข้ารหัส SSLและ TLS (FTPS) เพื่อความปลอดภัย และพัฒนาการส่งข้อมูลให้มีความเร็วสูงขึ้นรองรับระบบ Wi-Fi  802.11ac 5GHZ (จากเดิม 2.4 GHZ) ทำให้อัพโหลดภาพได้รวดเร็วกว่าเดิมมาก และพอร์ต USB-C อัพเกรดขึ้นเป็น 3.2 Gen1 นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชั่น Voice Memo เพื่อบันทึกเสียงลงไปในไฟล์ภาพ และข้อมูลเสียงสามารถแปลงเป็นข้อความและรวมอยู่ใน metadata ของภาพ เมื่อถ่ายโอนภาพไปยังอุปกรณ์อื่นๆ รองรับการทำงานของช่างภาพกีฬาได้อย่างที่มืออาชีพต้องการ

ปรับโครงสร้างใหม่ A9 II ออกแบบกริปใหม่ในสไตล์เดียวกับ A7R IV กริปหนาขึ้น จับได้เต็มมือมากขึ้น ช่างภาพที่มือใหญ่ๆ จะจับถือได้กระชับ รับกับนิ้วมือมากขึ้น ปุ่มต่างๆ ออกแบบให้นูนขึ้นกดได้ถนัดกว่าเดิม แป้นควบคุมด้านหลังวางไว้ด้านบนตัวกล้อง ปรับได้สะดวกขึ้น แป้นชดเชยแสงมีปุ่มกดเพื่อล็อคและปลดล็อค จอยสติ๊กออกแบบให้นูนกว่าเดิม เซาะร่องบนจอยสติ๊กทำให้ปรับได้ง่ายกว่าเดิม ปุ่ม วิดีโอกดได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้นยังปรับปรุงระบบซีลป้องกันละอองนํ้าและฝุ่นได้ดีกว่าเดิม รองรับการใช้งานในสภาพอากาศเลวร้ายได้ดีขึ้น

ระบบโฟกัสต่อเนื่องทำงานแบบไว้ใจได้ในทุกรูปแบบการเคลื่อนที่  กล้อง A9 II  เลนส์ Sony FE 200-600mm f/5.6-6.3G OSS ; 1/3200 Sec f/6.3 , WB ; Auto, Mode : M, Wide AF, ISO320 

ถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยชัตเตอร์กลไกได้ 10 ภาพ/วินาที  ใน A9 เมื่อใช้ชัตเตอร์กลไก จะถ่ายต่อเนื่องได้ 5 ภาพ /วินาที แต่ A9  II พัฒนาให้มีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องเมื่อใช้ชัตเตอร์กลไกถึง 10 ภาพ/วินาที ข้อดีคือเมื่อใช้ร่วมกับแฟลชสตูดิโอหรือแฟลชเฉพาะกิจรุ่นใหม่ๆ จะสามารถรัวต่อเนื่องด้วยความเร็วสูง รองรับการถ่ายภาพแฟชั่น ภาพกีฬา และภาพข่าวด้วยแฟลชได้ดีกว่ารุ่นเดิมมาก นอกจากนั้น  A9 II ยังออกแบบระบบลดความสั่นสะเทือนใหม่ การทำงานของชัตเตอร์กลไกจึงเงียบกว่า สั่นสะเทือนน้อยกว่า และใช้งานได้ทนทานถึง 500,000 ครั้ง เหนือกว่าชัตเตอร์ของกล้องระดับโปรส่วนใหญ่

ปรับปรุงระบบกันสั่นใหม่  A9 II ปรับปรุงระบบลดการสั่นไหวในตัวกล้องแบบ 5 แกน ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากที่เคยทำได้ 5 สตอปใน A9 ปรับปรุงขึ้นมาเป็น 5.5 สตอป ใน A9 II ทำให้ A9 II สามารถทำงานในสภาพแสงน้อยได้ดีขึ้น และระบบลดการสั่นไหวในตัวกล้องรุ่นนี้สามารถทำงานได้ดีมากเมื่อบันทึกวิดีโอ

ความคมชัดและรายละเอียดดีมาก ให้ภาพใสเคลียร์น่าพอใจ  กล้อง A9 II เลนส์ Sony FE 100-400mm f/4.5-5.6GM OSS ; 1/2500 Sec f/5.6 , Mode : M, Zone AF, ISO500

ช็อตนกบินต่อเนื่องแบบนี้เป็นเรื่องง่ายสำหรับกล้องรุ่นนี้ เพียงแค่ตั้งระบบโฟกัสแบบ AF-C พื้นที่โฟกัสแบบกว้าง จากนั้นกล้องจะจัดการกับเรื่องการโฟกัสติดตามนกให้ตลอด  กล้อง A9 II เลนส์ Sony FE 200-600mm f/5.6-6.3G OSS (@600mm) ; 1/1250 Sec f/6.3 , WB : Auto, Mode : M, Wide AF, ISO200

ระบบ Real Time Eye AF กับระบบวิดีโอ  นี่คือกล้องฟูลเฟรมรุ่นที่ 2 ที่มีฟังก์ชั่นนี้ โดยเมื่อบันทึกวิดีโอและระบบเปิด Eye AF ไว้ กล้องจะตรวจจับดวงตา (และใบหน้า) ของตัวแบบ และสั่งการให้ระบบออโตโฟกัสติดตามดวงตาของตัวแบบได้อย่างต่อเนื่อง แม่นยำ แม้ตัวแบบจะอยู่ส่วนใดของภาพ ตัวแบบจะเอียงหน้า หันหน้าชั่วขณะ กล้องก็ยังแทรคกิ้งตามได้อย่างแม่นยำ ราบเรียบ นุ่มนวล ทำให้การถ่ายวิดีโอที่มีบุคคลในภาพเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญในการทำงานแต่อย่างใด

รองรับไมโครโฟนดิจิตอลใหม่   A9 II สามารถใช้ร่วมกับไมโครโฟนดิจิตอล ECM-B1M ผ่านช่องเสียบ Multi-Interface บนกะโหลกกล้อง สามารถบันทึกเสียงคุณภาพสูงที่ปรับรูปแบบการบันทึกเสียงได้หลายแบบ

รองรับการ์ด UHS-II ได้ 2 ช่อง   A9 II ออกแบบให้มีช่องใส่ SD Card 2 ช่อง และทั้ง 2 ช่องรองรับการ์ดความเร็วสูง USH-II ทั้ง 2 ช่อง ซึ่งเป็นอีกจุดที่มืออาชีพต้องการ โดยเฉพาะกับ 9 II ที่มีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูงมาก

ANTI-FLICKER MODE   A9 II มีระบบตรวจจับ Flicker ของแสงฟลูเรสเซนต์และปรับการบันทึกให้เหมาะสมกับการกระพริบ เพื่อลดปัญหาการเกิดแถบดำบนภาพ โดยฟังก์ชั่นนี้จะทำงานกับชัตเตอร์แบบกลไก ซึ่งได้พัฒนาให้มีความเร็วสูงถึง 10 ภาพ/วินาที จึงรองรับการถ่ายภาพกีฬาในร่มได้ดีขึ้นมาก

ความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/32000 วินาที กับชัตเตอร์แบบ AntiDistortion    A9 II  ใช้เทคโนโลยีการถ่ายโอนข้อมูลความเร็วสูงมาก ที่มีอยู่ในเซ็นเซอร์ภาพ Stacked CMOS ทำให้สามารถออกแบบให้ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่ากล้องดิจิตอลทั่วไปมาก  แทบปราศจากปัญหาเรื่องภาพล้มจาก Rolling Shutter ที่พบได้จากชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ของกล้องแทบทุกรุ่น  ทำให้ A9 II ทลายข้อจำกัดของชัตเตอร์แบบกลไกที่มีความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/8000 วินาที ไปสู่ความเร็วชัตเตอร์ระดับ 1/32000 วินาที ที่สามารถใช้ถ่ายภาพกีฬา ภาพแอคชั่นที่รวดเร็วได้อย่างที่มืออาชีพต้องการ และด้วยการทำงานของชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์แบบทำให้ A9 II เป็นกล้องที่บันทึกภาพได้เงียบปราศจากเสียง ปราศจากความสั่นสะเทือน ได้ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องสูง และใช้พลังงานน้อยลงอย่างมาก

ระบบโฟกัสต่อเนื่องติดตามการเคลื่อนที่ของนกได้แบบเร็วและแม่นยำ  กล้อง A9 II  เลนส์ Sony FE 200-600mm f/5.6-6.3G OSS ; 1/1000 Sec f/7.1 , WB ; Auto, Mode : M, Wide AF, ISO250   

Real Time Tracking with Ai   A9 II ในการทำงานของระบบออโต้โฟกัส เพื่อให้การโฟกัสติดตามวัตถุมีความแม่นยำ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องสี แพทเทิร์น ความสว่าง ระยะทาง ใบหน้าและดวงตาของตัวแบบ การตรวจจับจะทำในทันทีต่อเนื่องตลอดเวลา ด้วย Ai จึงทำให้การโฟกัสมีความแม่นยำ เที่ยงตรงและรวดเร็ว เมื่อถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนไหว และด้วยพื้นที่การโฟกัส 93% กับจุดโฟกัสแบบ เฟสดีเทคชั่น 693 จุดทำให้ การถ่ายภาพกีฬา ภาพแอคชั่น ทำได้เหนือชั้นกว่ากล้องระดับโปรส่วนใหญ่ ที่มีพื้นที่โฟกัสแคบ และด้วยระบบ Real Time Animals Eye AF ทำให้ A9 II สามารถถ่ายภาพสัตว์เคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำ เพิ่มโอกาสได้ภาพที่ดีมากกว่าเดิม (ที่ระบบโฟกัสอาจไปจับที่จมูก หรือปากของสัตว์บ่อยครั้ง)

โฟกัสแม่นยำแม้แสงน้อยถึง -3EV   A9 II  ออกแบบให้สามารถทำงานได้ในทุกสภาพแสง  ระบบออโต้โฟกัสยังทำงานได้อย่างแม่นยำแม้ในสภาพแสงน้อยถึง EV-3 (ISO 100) ซึ่งจะใช้ประโยชน์ได้อย่างมากเมื่อต้องทำงานในสภาพแสงน้อย และช่างภาพไม่ได้เปิดรูรับแสงกว้างสุด แม้จะหรี่รูรับแสงทำให้ไดอะแฟรมหรี่แคบลง การโฟกัสก็ยังแม่นยำ

คุณภาพที่ไร้การประนีประนอม   ด้วยการใช้เซ็นเซอร์ภาพ Stacked CMOS 24.2 ล้านพิกเซล ซึ่งมีหน่วยความจำในตัว ทำงานร่วมกับชิปประมวลผล BIONZ X  ล่าสุด ทำให้ A9 II ให้คุณภาพสูงอย่างที่มืออาชีพต้องการ ให้สัญญาณรบกวนตํ่าแม้ใช้ความไวแสงสูง ให้ไดนามิคเรนจ์กว้าง รองรับการบันทึกไฟล์ RAW 14 บิต ที่ประมวลผลระดับ 16 บิต ถ่ายทอดโทนสีได้นุ่มนวล ละเอียดเนียนและให้สีผิวสวยงาม

กล้อง A9 II  เลนส์ Sony FE 200-600mm f/5.6-6.3G OSS ; 1/2000 Sec f/6.3 , WB ; Auto, Mode : M, Wide AF, ISO250   

รองรับระบบแทรคกิ้งแม้ใช้เลนส์ A Mount   ระบบโฟกัสแบบเฟสดีเทคชั่น 633 จุด พื้นที่กว้าง นอกจากจะใช้งานกับเลนส์ E mount ได้เยี่ยมยอดแล้ว ยังสามารถใช้ร่วมกับเลนส์ A mount ผ่านอะแด็ปเตอร์ LA–EA3 ได้อย่างดีมากเช่นกัน รองรับการทำงานเต็มรูปแบบ กับเลนส์ A mount ที่มีมอเตอร์ในตัว เลนส์ทั้งแบบ SAM และ SSM โดยสามารถแทรคกิ้งตามวัตถุด้วยระบบออโต้โฟกัส แม้ใช้ความเร็ว 10 ภาพ/วินาที

ระบบบันทึกวิดีโอคุณภาพเยี่ยมยอด    A9 II บันทึกวิดีโอคุณภาพสูงระดับ 4K แบบอ่านข้อมูลทุกพิกเซล บันทึกที่ความละเอียด 6K (2.4 เท่าของไฟล์ 4K) แล้วประมวลผลย่อขนาดเหลือ 4K ทำให้ได้ความคมชัดสูงมาก อาการ moire และสีเหลื่อมจะลดน้อยลง ให้ภาพที่มีรายละเอียดเยี่ยมยอด ถ่ายทอดสีสันได้สดใส สมจริง รองรับฟอร์แมต XAVC-S ด้วยบิตเรตสูงถึง 100 Mbps และมาพร้อมฟีเจอร์ระบบวิดีโอครบครัน เช่น มีฟังก์ชั่น Zebra , REC Control , การบันทึกวิดีโอ Proxy พร้อมกัน  มี Maker Display , มีช่องต่อไมโครโฟน รองรับไมโครโฟน Shotgun ECM B1M ระบบดิจิตอล ระบบออโต้โฟกัสทำงานกับการบันทึกวิดีโอได้เยี่ยมยอด ด้วยระบบ Real time Eye AF Tracking ที่ตรวจจับดวงตาได้อย่างต่อเนื่องแม่นยำ เมื่อบันทึกวิดีโอ 4K การโฟกัสทำได้ราบเรียบ รองรับการทำงานของมืออาชีพได้อย่างดีเยี่ยม

ฟังก์ชั่นที่เพียบพร้อม    A9 II มีการปรับปรุง ระบบการทำงานหลายอย่าง ให้ช่างภาพมืออาชีพทำงานได้สะดวกขึ้น เช่น ปรับปรุงฟังก์ชั่นการบันทึกค่ากล้อง สามารถจัดเก็บค่าการปรับตั้งไว้ในเมมโมรี่การ์ด และถ่ายโอนค่าการปรับตั้งไปยังกล้องรุ่นเดียวกันตัวอื่นๆ ได้ โดยสามารถ save การปรับตั้งได้ 10 ช่อง  A9 II มีฟังก์ชั่นการให้ Rating และตั้งค่าการข้ามรูปภาพเพื่อการค้นหาที่รวดเร็ว และมีฟังก์ชั่นการกำหนดฟังก์ชั่นต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้คล่องตัวสูงสุด สามารถ custom ปุ่มต่างๆ ให้ทำหน้าที่ที่คุณต้องการได้มากมาย มีแอพลิเคชั่น Remote Camera Tool เมื่อเชื่อมต่อกล้องกับแอพนี้แล้วจะสามารถถ่ายภาพจากระยะไกล ด้วยกล้องตัวเดียวหรือหลายตัว ด้วยการเชื่อมต่อ LAN  มีฟังก์ชั่นสลับและการกำหนดพื้นที่โฟกัสให้ผู้ใช้เลือกได้  A9 II ทำงานร่วมกับแอพเดสก์ท็อป Imaging Edge Remote , Viewer และ Edit ได้สะดวก ง่ายดาย และยังใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ Capture One ที่มืออาชีพใช้กันได้

กล้อง A9 II Sony FE 200-600mm f/5.6-6.3G OSS ; 1/400 Sec f/6.3  Mode : M, Flexible Spot AF, ISO2500   

ผลการใช้งาน

ความคิดแรกของผมเมื่อเห็นกล้องรุ่นนี้เปิดตัว คือ มันดูเหมือนจะไม่แตกต่างจากเดิมเท่าใดนัก แต่เมื่อได้เข้าไปดูรายละเอียดของ A9 II และพูดคุยกับเทคนิเชียลของโซนี่ก็พบว่ามันมีการปรับปรุงในรายละเอียดหลายอย่างเป็นการปรับแบบทำสิ่งที่ดีมากอยู่แล้วให้ดีเลิศ สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น A9 II จึงเป็นกล้องที่ถูกออกแบบมาเพื่อการทำงานของมืออาชีพอย่างแท้จริง สำหรับช่างภาพที่ต้องการเครื่องมือสร้างภาพชั้นยอด ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการได้ภาพที่ยอดเยี่ยมมา ซึ่งความแตกต่างตรงจุดนี้มีความหมายกับมืออาชีพอย่างมาก โดยเฉพาะช่างภาพกีฬา ช่างภาพข่าว ช่างภาพ wildlife เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เขาต้องไม่พลาด และต้องได้โมเม้นต์ที่ดีที่สุดด้วย มันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้

ในส่วนของการจับถือ A9 II ทำได้ในระดับดี กริปที่ออกแบบใหม่ให้หนาขึ้น จับได้เต็มมือมากขึ้น ร่องนิ้วชี้ลึกกว่าเดิม แต่เส้นขอบด้านหลังส่วนล่างของตัวเองกล้องจะยันฝ่ามือบ้างเมื่อหิ้วกล้อง ที่ผมชอบคือ ปุ่มปรับต่างๆ ออกแบบให้นูนกว่าเดิม กดได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะจอยสติ๊กและปุ่มบันทึกวิดีโอ นั้นดีกว่าเดิมมาก แป้นควบคุมด้านหลังที่วางไว้ด้านบนตัวกล้องก็ปรับได้ง่ายขึ้น รวมทั้งแป้นชดเชยแสงที่สามารถล็อคได้ ปลดล็อคได้ ก็ช่วยให้ทำงานได้คล่องตัวขึ้น

จุดเด่นของ A9 II ที่ชัดเจนที่สุดคือ ระบบออโต้โฟกัส ในการทำงานร่วมกับเลนส์เทเลซูมและซุปเปอร์เทเลโฟโต้อย่างเช่น FE70-200mm. f/2.8 GM OSS , FE100-400mm. f/4.5-5.6  GM OSS , FE200-600mm. f/5.6-6.3 G OSS และ FE600mm. f/4 GM OSS ประสิทธิภาพในการโฟกัสแทรคกิ้งนั้น ทำได้เยี่ยมยอด ดีอย่างไร้ข้อกังขา ดีที่สุดในบรรดากล้องมิเรอร์เลสทั้งหมด ดีพอที่จะชนกับกล้องโปร DSLR ทุกรุ่น แต่เหนือกว่าด้วยพื้นที่โฟกัสที่กว้างกว่า มีระบบ Real time tracking , Real time Eye AF และ Real time Animal Eye AF ที่ช่วยให้การบันทึกภาพแอคชั่นทุกรูปแบบกลายเป็นเรื่องง่าย ที่ไม่ต้องอาศัยทักษะในการถ่ายภาพด้านนี้มากนัก ก็สามารถได้ภาพที่คมชัด

จากการลองถ่ายภาพแอคชั่นที่มีคนในภาพ แม้เป็นภาพกีฬา กล้องก็สามารถตรวจจับดวงตา ใบหน้าและโฟกัสติดตามได้ตลอด ขอเพียงเคลื่อนกล้องตามตัวแบบให้ทัน กล้องจะจัดการกับเรื่องโฟกัสให้อย่างแม่นยำ และง่ายเกินคาดคิด กับวัตถุที่ไม่ใช่คน ระบบ Real time tracking ก็ทำงานได้อย่างน่าประทับใจ โฟกัสตามวัตถุได้เร็ว แม่นยำ และทำงานได้เกือบทั่วเฟรมภาพ ไม่ต้องพะวงว่าวัตถุจะหลุดออกนอกพื้นที่โฟกัส ผมลองถ่ายภาพนกกำลังบินโดยเปิดระบบโฟกัสแบบ Wide ใช้ระบบ AF-C จากนั้นก็เล็งแล้วถ่ายต่อเนื่องไปเรื่อยๆ พบว่าภาพที่ได้แทบไม่มีหลุดโฟกัส มันทำได้ยอดเยี่ยมจริงๆ  สำหรับมืออาชีพที่ใช้พื้นที่โฟกัสเฉพาะจุด เช่น Flexible spot หรือ Expand Flexible spot การโฟกัสติดตามวัตถุยังคงยอดเยี่ยม โดยเฉพาะเมื่อใช้งานร่วมกับเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ อย่าง FE 400mm. f/2.8 GM OSS หรือ FE 600mm. f/4GM OSS มันโฟกัสได้เร็วมาก ใช้งานถ่ายภาพกีฬาได้ทุกรูปแบบ กับเลนส์ FE 100-400mm. f/4.5-5.6GM OSS การโฟกัสยังทำได้เยี่ยมยอด

กล้อง A9 II Sony FE 200-600mm f/5.6-6.3G OSS ; 1/1000 Sec f/8  Mode : M, Flexible Spot AF, ISO200   

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จะใช้กับเลนส์ FE 200-600mm. f/5.6-6.3G OSS บวกกับเทเลคอนเวอร์เตอร์ 2X ซึ่งรูรับแสงกว้างสุดที่ช่วงซูม 1200มม. จะเปลี่ยนเป็น f/13 การโฟกัสก็ยังทำได้ดี ประสิทธิภาพในการแทรคกิ้งยังน่าพอใจ ซึ่งในจุดนี้หาไม่ได้ในกล้องแทบทุกรุ่น และสิ่งที่ไม่ต้องหาจากกล้องมิเรอร์เลสทุกรุ่นในตลาดขณะนี้คือ การมองภาพและเคลื่อนกล้องติดตามภาพได้แบบไร้ Blackout นี่คือจุดอ่อนของกล้องมิเรอร์เลสเมื่อนำมาถ่ายภาพกีฬา ภาพแอคชั่น Blackout ทำให้การเคลื่อนที่รวดเร็วนั้นทำได้ยากมาก แต่ 9 II ให้ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง การไม่มี Blackout ทำให้ภาพไม่ขาดหายไปจากช่องมอง ไม่มีอาการหน่วงของการแสดงภาพ ช่างภาพจึงเคลื่อนกล้องติดตามวัตถุได้ต่อเนื่อง  นี่เป็นเรื่องสำคัญมากของการถ่ายภาพกีฬาและภาพแอคชั่น และมันเป็นสิ่งที่แสดงความแตกต่างของ A9 II กับกล้องมิเรอร์เลสทุกรุ่น เพราะสำหรับการทำงานของมืออาชีพ ข้อจำกัดจะต้องมีน้อยที่สุด ความผิดพลาดต้องมีน้อยที่สุด  ประสิทธิภาพการโฟกัสในสภาพแสงน้อย 9 II อาจไม่โดดเด่นที่สุด แต่ดีเพียงพอกับทุกสถานการณ์ถ่ายภาพ มันยังโฟกัสได้แม่นยำ

ในส่วนของคุณภาพไฟล์นั้น ผมตรวจสอบผลจากไฟล์ RAW และ JPEG โดยไฟล์ RAW โพรเซสด้วย Photoshop  CC ที่อับเดต Camera RAW 12.1 เพื่อดูผลเรื่องความคมชัด ไดนามิคเรนจ์ การไล่โทนสี สัญญาณรบกวน และความยืดหยุ่นของไฟล์ ส่วนไฟล์ JPEG ซึ่งเป็นจุดเด่นของ 9 ตั้งแต่รุ่นเดิมใช้ในการเปรียบเทียบกับไฟล์ RAW และดูคาร์แรคเตอร์การถ่ายทอดสีจากกล้องรุ่นนี้  ในส่วนของรายละเอียดนั้น ต้องบอกว่าทำได้ดีมาก ให้ความคมชัดสูงกับเลนส์ FE 24-70mm.f/2.8 GM และ FE 70-200mm.f/2.8 GM OSS ภาพคมชัดมากแม้กับไฟล์ JPEG รายละเอียดของภาพทำได้ดีเลิศที่ ISO 50 ถึง ISO 400 ที่ ISO 800 ความคมชัดและรายละเอียดของภาพอยู่ในระดับดีเยี่ยม ที่ ISO 1600 มีสัญญาณรบกวนเล็กน้อย รายละเอียดยังอยู่ในระดับดีมากที่ ISO 3200 ซึ่งเป็นจุดเริ่มฟ้องคุณภาพของกล้องมิเรอร์เลสส่วนใหญ่ แต่ 9 II ก็ยังทำได้ดี รายละเอียดลดลงบ้าง แต่ยังให้ภาพที่มีคุณภาพ รองรับการขยายภาพขนาดใหญ่ระดับ A2 ถึง A1  ไฟล์ JPEG ให้สัญญาณรบกวนตํ่ากว่าไฟล์ RAW พอควร แต่รายละเอียดไฟล์ RAW สูงกว่า ที่ ISO 6400 ภาพยังมีคุณภาพดี รองรับการใช้งานระดับอาชีพได้ ที่ ISO 12800 ไฟล์มีรายละเอียดพอใช้ ยังสามารถนำไปใช้กับงานระดับอาชีพได้

เรื่องการถ่ายทอดสีนั้นหายห่วงครับ โซนี่ทำได้ดีมากตั้งแต่ A9 ตัวเดิมแล้ว กับ A9 II ยังคงทำได้น่าประทับใจเช่นเดิม ให้สีสดใส ความใสของภาพดีมาก ความอิ่มสีดี สีผิวสวย ไฟล์ JPEG นั้นแทบไม่ต้องปรับ พร้อมใช้งานได้เลย  ไดนามิคเรนจ์ไม่ใช่จุดเด่นของ A9 II แต่ก็นับว่าทำได้ดี จากการลองแล้วโพรเซสด้วย Photoshop CC พบว่าภาพที่บันทึกมาอันเดอร์ 4 สตอป ยังดึงรายละเอียดขึ้นมาได้อย่างน่าพอใจ รายละเอียดดี สีสันยังใช้ได้ และไม่ปรากฏ Banding แต่เมื่ออันเดอร์ 5 สตอป จะปรากฏ Banding บ้างในส่วนมืด แต่รายละเอียดยังใช้ได้ ปรับลด Luminance Noise หน่อยก็โอเคแล้วครับ  ความเร็วในการบันทึกภาพยังเป็นจุดเด่นของ A9 II ที่ 20 ภาพ/วินาที ทำให้เก็บได้ทุกอิริยาบทของนักกีฬาหรือทุกแอคชั่นของวัตถุต่างๆ เป็นกล้องที่บันทึกเร็ว บัฟเฟอร์ใหญ่ และระบบการทำงานต่างๆ รวดเร็วขึ้น เพียงแต่ต้องใช้การ์ดที่มีความเร็วสูงมากๆ จากการใช้งานพบว่า พอใจมากเมื่อใช้กับการ์ด Tough ของโซนี่

ความสนุกในการใช้งานคือ สิ่งที่ได้จากกล้องรุ่นนี้ A9 II เป็นกล้องที่ใช้สนุกมาก ใช้แล้วจะหลงรักอย่างแน่นอน ควบคุมง่าย ช่องมองภาพดี บันทึกเร็ว โฟกัสเยี่ยมยอด ส่วนระบบวิดีโอนั้น ทำได้ยอดเยี่ยมเช่นกัน แม้จะไม่ใช่จุดขายของกล้องรุ่นนี้ แต่มันให้คุณภาพวิดีโอดีเยี่ยม ไฟล์ คมชัด รายละเอียดสูง สีสันสวย เจิดจ้า และทำงานได้คล่องตัว

ความเห็น 

หากคุณเป็นช่างภาพทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เน้นความเร็วและประสิทธิภาพของระบบโฟกัสมากนัก A9 II อาจไม่ใช่คำตอบ แต่ถ้าคุณคือช่างภาพมืออาชีพ ที่ถ่ายภาพกีฬา ภาพข่าว ภาพ Wildlife ภาพแนวสตรีท และต้องการกล้องที่สมบูรณ์แบบซึ่งจะเพิ่มโอกาสการได้ภาพที่ยอดเยี่ยมได้มากขึ้น  A9 II คือคำตอบของคุณ  และถ้าคุณไม่ใช่ช่างภาพกีฬา ช่างภาพ Wildlife ช่างภาพนก มืออาชีพ แต่อยากได้ภาพอย่างมืออาชีพ 9 II ก็คือคำตอบเช่นกันครับ แนะนำเป็นพิเศษเลยครับ

เรื่อง / ภาพ : อิสระ เสมือนโพธิ์

ขอบคุณ : บริษัท โซนี่ไทย จำกัด สำหรับความอนุเคราะห์กล้องและเลนส์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.sony.co.th


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus


หรือสนใจดูรีวิวรุ่นอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/reviews-previews/reviews-reviews