Camera Reviews

Review : Pentax K1

FULL FRAME Excellence Redefined

pentaxk1_01

ตั้งแต่เข้าสู่ตลาดกล้องดิจิตอลอย่างเต็มตัว Pentax ส่งกล้องดิจิตอลเข้าสู่ตลาดกล้องหลายๆ รุ่น ทั้งกล้อง D-SLR และกล้อง Mirrorless แต่เกือบจะทั้งหมดนั้น เป็นกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C จากนั้นก็กระโดดขึ้นไปเป็น Medium Format อย่างตระกูล 645 ไปเลยครับ แต่ก็มีข่าวลือมาตลอดว่า Pentax จะทำกล้องฟูลเฟรมออกมาวางจำหน่าย แต่ข่าวลือก็ค่อยๆ ซาลง และเลือนหายไปกับกาลเวลา เพราะกล้องที่ส่งออกสู่ตลาดนั้น ก็ยังคงเป็นกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C อยู่เช่นเดิม

จนกระทั่งช่วงต้นปี 2016 Pentax ก็ได้เปิดตัวกล้องระดับแถวหน้าของตระกูล K ซึ่งเป็นกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาดฟูลเฟรม หรือ ขนาดเท่าฟิล์มนั่นเอง มาพร้อมความละเอียดสูงถึง 36 ล้านพิกเซล และอัดแน่นไปด้วยกับฟังก์ชั่นการทำงานที่ก้าวหน้า รวมทั้งได้รับการออกแบบรูปร่างรูปทรงตัวกล้องที่สวยงามมากทีเดียว นั่นคือ Pentax K-1 ที่นิตยสารโฟโต้อินโฟได้รับมาทดลองใช้งานในฉบับนี้ครับ

pentaxk1_02

จุดเด่นของ Pentax K-1

  •   เซ็นเซอร์ฟูลเฟรมแบบ CMOS
  • ความละเอียด 36.4 ล้านพิกเซล
  • หน่วยประมวลผล Prime IV 14-bit
  • AA Filter Simulator
  • ระบบป้องกันการสั่นไหว SR (Shake Reduction) แบบ 5 แกน
  • ปุ่ม RAW เลือกบันทึกไฟล์ RAW ได้ทันที
  • ฟังก์ชั่น Pixel Shift Resolution
  • Weather Resistant ซีลรอยต่อป้องกันนํ้าและฝุ่นละออง
  • เชื่อมต่อแอพลิเคชั่น Image Sync ผ่าน Wi-Fi และ NFC
  • จอมอนิเตอร์ 3.2 นิ้ว แบบ Cross Tilt ปรับได้หลายมุมมอง

ประสิทธิภาพและการออกแบบ

pentaxk1_16

Pentax K-1 มาพร้อมเซ็นเซอร์ภาพแบบ CMOS แบบไม่มี AA Filter ขนาดฟูลเฟรม ความละเอียด 36.4 ล้านพิกเซล ซึ่งข้อดีของการไม่มี AA Filter ก็คือ ช่วยให้สามารถเก็บรายละเอียดในพื้นที่ที่ซับเจคต์มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างลายผ้า, เส้นผม, เปลือกไม้ หรือพื้นผิวต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งดีสำหรับการเก็บรายละเอียด แต่สำหรับการมองภาพ บางครั้งอาจจะเกิดรอยหยักเหลื่อมๆ ที่ภาพ หรือที่เรียกว่า More’ ซึ่งอาจจะทำให้ดูภาพได้ไม่สบายตามากนัก แต่ Pentax K1 ก็แก้ไขปัญหาโดยเพิ่มฟังก์ชั่น AA Filter Simulator โดยการสร้างแบบจำลองภาพเหมือนกับการใช้งานเซ็นเซอร์ที่มี AA Filter ปกติ ช่วยให้ดูภาพได้สบายตามากขึ้น

Pentax K-1 ใช้หน่วยประมวลผล Prime IV 14-bit ช่วยให้กล้องตอบสนองการใช้งานที่รวดเร็วฉับไว รวมทั้งให้ไฟล์ภาพที่มีสีสันสดใสและอิ่มตัว ถึงแม้ว่าจะบันทึกภาพด้วยความละเอียดสูงสุดก็ตาม รวมทั้งยังช่วยให้สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยฟอร์แมท RAW ด้วยความเร็วถึง 4.5 ภาพต่อวินาที มีระบบจัดการ Noise ที่ดีเยี่ยม ถึงแม้จะถ่ายภาพด้วยความไวแสงสูงๆ นอกจากนี้ ยังช่วยให้การทำงานของ ฟังก์ชั่นพิเศษต่างๆ อาทิ Pixel Shift Resolution หรือ Astro Tracer ตอบสนองการใช้งานได้อย่างลื่นไหลไม่ติดขัดแต่อย่างใด

Pentax K-1 ใช้เซ็นเซอร์โฟกัสแบบ SAFOX 12 AF System พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้สูงมากขึ้น ตอบสนองการโฟกัสได้ฉับไวและแม่นยำ มีจุดโฟกัสทั้งหมด 33 จุด และเป็นแบบ Cross-type 25 จุด และสามารถเลือกโหมดโฟกัสได้ทั้งแบบอัตโนมัติ 33 จุด, แบบโซนอัตโนมัติ 9 จุด, เลือกจุดโฟกัสตรงกลาง 1 จุด และเลือกจุดโฟกัสด้วยตนเองทุกจุด โดยสามารถโฟกัสอัตโนมัติในสภาพแสงน้อยถึง -3EV การเลือกจุดโฟกัสทำได้โดยใช้แป้นควบคุมแบบ 4 ทิศทางในการปรับเลือกตามที่ต้องการ ทั้งแบบเลือกเองจุดเดียว หรือเลือกแบบกลุ่ม 9 จุด และสลับกลับมาใช้การทำงานของปุ่มควบคุมด้านหลังแบบ 4 ทิศทางได้จากปุ่มที่อยู่เหนือแป้นควบคุมแบบ 4 ทิศทางนั่นเอง

จุดเด่นหนึ่งของ Pentax K-1 คือ มีระบบป้องกันการสั่นไหวในตัวกล้อง แบบ 5 แกน ที่ช่วยลดการสั่นไหวได้ทั้งการถือกล้องในแนวระนาบ การหมุนกล้อง การเอียงตัวกล้อง และการก้มหรือเงยกล้อง ซึ่งช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือ ทีความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติถึง 5 สตอป ช่วยให้ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ เพื่อเก็บบันทึกแสงธรรมชาติในขณะนั้น โดยไม่ใช้แฟลชหรือขาตั้งกล้องได้อย่างสะดวกมากขึ้น

ฟังก์ชั่นที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ Pixel Shift Resolutipn ที่เป็นการเก็บข้อมูลของแสงสีให้ครบถ้วนในแต่ละพิกเซล โดยการรับแสงถึงสี่ครั้งในการถ่ายภาพแต่ละช็อตของแต่ละพิกเซล โดยเป็นการบันทึกแสงสีเหลือง, สีแดง และสีเขียวสองครั้ง ซึ่งช่วยให้ได้สีสัน ของภาพที่สดใสอิ่มตัว, มี Noise ตํ่า, มีความคมชัด และเพิ่มความละเอียดเป็น 42 ล้านพิกเซล

pentaxk1_17

ตัวบอดี้ของ Pentax K-1 ออกแบบได้สวยงามมากทีเดียว ดูเผินๆ อาจจะนึกว่าเป็นกล้อง Medium Format อย่างตระกูล 645 จากตัวกล้องที่ดูค่อนข้างอวบอ้วน บวกกับหัวกระโหลกที่ไม่ได้สูงเกินไปนัก โครงสร้างตัวกล้องทำมาจากแมกนีเซี่ยมอัลลอยด์ ให้ความแข็งแรงคงทน แต่มีนํ้าหนักเบา รวมทั้งยังซีลตามรอยต่อต่างๆ กว่า 87 จุด ช่วยให้ใช้งานในสภาพอากาศที่เลวร้ายได้เป็นอย่างดีทีเดียว โดยสามารถใช้งานได้ปกติที่อุณหภูมิตํ่าถึง -10 องศาเซลเซียสเลยทีเดยว นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานร่วมกับแบตเตอรี่กริปที่ได้รับการซีลรอยต่อกว่า 47 จุดอีกด้วย

pentaxk1_04

กริปด้านหน้านูนยาวจับได้ถนัดมือดีทีเดียว ช่องมองภาพมี ขนาดใหญ่พอสมควร ครอบคลุมการมองภาพได้เต็ม 100% ช่วยให้ จัดองค์ประกอบภาพได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดอีกด้วย นอกจากนี้จอมอนิเตอร์ขนาด 3.2 นิ้ว ยังออกแบบพิเศษโดย เรียกว่า Cross-Tilt ปรับระดับและปรับเอียงได้หลายรูปแบบ ช่วยให้ถ่ายภาพในมุมมองที่แตกต่างจากปกติได้สะดวกมากขึ้น ทั้งในแนวตั้ง และแนวนอน โดยสามารถปรับเงยได้ 90 องศา ปรับก้ม 44 องศา และปรับเอียงได้ 35 องศาทั้งด้านซ้ายและขวา

pentaxk1_07

Pentax K-1 ออกแบบการควบคุมการทำงานของตัวกล้องได้อย่างสะดวก จากการออกแบบแป้นควบคุมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้การปรับเปลี่ยนการปรับตั้งค่าต่างๆ ทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีแป้น Multi-Function Dial บนตัวกล้องด้านขวา ช่วยควบคุมการปรับเปลี่ยนเมนูการทำงานต่างๆ ที่เลือกได้จากแป้นบนตัวกล้อง อาทิ ความไวแสง, เลือกถ่ายภาพคร่อม, เลือกใช้งาน HDR หรือเลือกเข้าสูงฟังก์ชั่น Wi-Fi โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่เมนูให้เสียเวลาอีกด้วย

pentaxk1_05cโหมดถ่ายภาพของ Pentax K-1 มีให้ใช้งานได้อย่างครบถ้วน เลือกได้จากแป้นปรับโหมดถ่ายภาพบนตัวกล้อง ซึ่งวางตำแหน่งไว้ที่ด้านซ้าย โดยโหมดอัตโนมัติมีให้ใช้เพียงโหมดเพียง Full Auto โหมดเดียว ส่วนที่เหลือเป็นโหมดถ่ายภาพในกลุ่ม Advance อย่าง โหมด P, SV, TV, AV, TAV และโหมด M รวมทั้งสามารถปรับใช้งานชัตเตอร์ B ได้จากแป้นปรับโหมดถ่ายภาพด้วย นอกจากนี้สำหรับโหมดที่ถูกใช้งานอย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้ปรับเปลี่ยนแปลงค่าการปรับตั้งต่างๆ มากนัก ก็สามารถตั้งเป็นค่า User Custom หรือการปรับตั้งการทำงานเฉพาะตัวผู้ใช้ ซึ่งเลือกปรับตั้งค่าได้ถึง 5 โหมดด้วยกันตั้งแต่โหมด U1-U5 และเลือกมาใช้งานได้สะดวกมากขึ้นด้วย

pentaxk1_10

ซ้าย : Pentax K1 เลนส์ HD PENTAX-D FA MACRO 100mm F2.8 WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/250 วินาที f/2.8, ISO100, WB: Auto (ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว)
ขวา : Pentax K1 เลนส์ HD Pentax D FA 24-70mm F2.8 ED SDM WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/60 วินาที f/5.6, ISO400, WB: Auto

และไม่เพียงเฉพาะโหมดถ่ายภาพต่างๆ เหล่านั้นเท่านั้น แต่ Pentax K-1 ยังมีฟังก์ชั่นในการสร้างสรรค์รูปแบบภาพที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวหรือปรับพารามิเตอร์ของกล้องได้หลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการปรับรูปลักษณ์ หรือโทนของภาพตามที่ต้องการ เช่น Bright ให้ภาพที่มีสีสันสว่างสดใส, Portrait สำหรับถ่ายภาพบุคคล กล้องจะปรับโทนสีผิวให้สว่างใสขึ้น ลดคอนทราสต์ให้ภาพนุ่มลงเล็กน้อย, Natural ให้ภาพที่มีสีสันที่ดูเป็นธรรมชาติโดยไม่มีการปรับแต่งใดๆ หรือสำหรับผู้ใช้นำไปปรับแต่งเพิ่มเติมในภายหลัง และ Landscape สำหรับถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ กล้องจะปรับโทนสีของภาพ โดยเฉพาะสีเขียว และสีฟ้าให้อิ่มตัวมากขึ้น รวมทั้งปรับคอนทราสต์เพิ่มขึ้นด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ ทุกรูปแบบสามารถปรับชิฟท์โทนภาพเพิ่มหรือลดจากค่ามาตรฐานได้อีกด้วย

และนอกจากภาพนิ่งแล้ว Pentax K-1 รองรับการบันทึกวิดีโอด้วยคุณภาพสูงระดับ Full HD 1080p เฟรมเรท 30 เฟรมต่อวินาที มาตรฐาน H.264 ปรับลดตามรูปแบบการใช้งานได้จนถึงขนาดเล็กสุด HD 720p เฟรมเรท 60 และ 50 เฟรมต่อวินาทีเช่นกัน พร้อมทั้งมี Port สำหรับต่อเชื่อมกับไมโครโฟนและหูฟัง สำหรับการใช้งานในระดับจริงจังมากขึ้นด้วย

ฟังก์ชั่นที่โดดเด่นอื่นๆ เช่น มี GPS ในตัว ช่วยให้บันทึกพิกัดของภาพ สำหรับนำมาอ้างอิงในภายหลังได้ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่น AstroTracer ที่ทำงานผสานกันกับ GPS ในการระบุตำแหน่งและทิศทางของกล้อง รวมทั้งระบบป้องกันการสั่นไหว ซึ่งจะปรับให้เซ็นเซอร์ มีการขยับให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของดวงดาว ช่วยให้บันทึกภาพเส้นสายของดวงดาวในการถ่ายภาพแบบ Long Exposure ได้ดีขึ้น นั่นเอง

pentaxk1_09

นอกจากนี้ Pentax K-1 ยังมี Wi-Fi ในตัว ทำให้สามารถโอนถ่ายไฟล์ภาพไปยังสมาร์ทโฟนผ่านแอพลิเคชั่น Image Sync ซึ่ง สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจาก App Stroe และ Play Stroe และอัพโหลดไฟล์ภาพนั้นไปยังโซเชี่ยลเน็ทเวิร์คต่างๆ ได้เลยทันที


การใช้งาน

pentaxk1_11

Pentax K1 เลนส์ HD Pentax D PENTAX-D FA MACRO 100mm F2.8 WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/125 วินาที f/2.8, ISO100, WB: Auto (ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว)

ผมได้เจอกับตัวเป็นๆ ของ Pentax K-1 เมื่อครั้งที่มีโอกาสเดินทางไปชมงาน CP+ ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้นไม่มีโอกาสได้สัมผัสตัวจริง เพราะมีคิวรอค่อนข้างยาว ก็ได้แต่เดินวนๆ ถ่ายภาพรอบๆ ตู้โชว์ ที่มีตัวจริงและตัวที่ ตัดผ่าให้เห็นโครงสร้างข้างในตัวกล้อง จนผ่านมาถึงเดือนนี้ จึงได้สัมผัสกับตัวเป็นๆ อีกครั้ง

ผมชอบการออกแบบตัวกล้องตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นจากข่าวคราว ซึ่งการมาของตัวจริงค่อนข้างทิ้งช่วงห่างจากข่าวลือเรื่อง การผลิตกล้องดิจิตอลฟูลเฟรมของ Pentax อยู่นานทีเดียว และก็สมใจอยากครับถึงแม้ว่าช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันจะน้อยไปหน่อย ที่ผ่านๆ มา ผมเองได้ลองใช้งานกล้อง Pentax  รุ่นอื่นๆ อย่าง K-S1, K-S2 หรือ K-5II มาบ้างแล้ว ซึ่งก็ยอมรับว่ามีการตอบสนองการใช้งานได้ดีทีเดียว ถึงแม้ว่าจะเป็นกล้องในระดับ Semi-Pro และ Entry Level ก็ตาม แต่ก็อัดแน่นมาด้วยฟังก์ชั่นการทำงานในระดับมืออาชีพ ที่เรียกว่าให้มาไม่มีกั๊กล่ะครับ

ในครั้งนี้ ผมได้สัมผัสกับ Pentax K-1 ที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาดฟูลเฟรม ซึ่งเป็นกล้องดิจิตอลฟูลเฟรมตัวแรกของค่าย หลายๆ คนอาจจะคิดว่า เอ..แล้วมีเลนส์อะไรให้ใช้บ้าง เพราะที่ผ่านมานั้น ทำกล้องและเลนส์ในระบบตัวคูณมาตลอด ซึ่งจริงๆ แล้ว Pentax ก็เปิดตัวเลนส์แบบฟูลเฟรมรหัส D FA มาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว อย่าง HD Pentax D FA 24-70mm F2.8 ED SDM WR, Pentax D FA* 70-200mm F2.8ED DC AW และ Pentax D FA 150-450mm F4.5-5.6 ED DC AW ส่วนเลนส์มาโคร Pentax smc D FA 100mm F2.8 Macro WR ออกมาก่อนหน้านี้นานพอสมควรแล้วครับ

pentaxk1_12

Pentax K1 เลนส์ Pentax D FA 150-450mm F4.5-5.6 ED DC AW โหมด M ชัตเตอร์ 1/250 วินาที f/5.6, ISO400, WB: Auto

pentaxk1_03

Pentax K1 เลนส์ HD Pentax D FA 24-70mm F2.8 ED SDM WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/800 วินาที f/2.8, ISO100, WB: Auto

และพร้อมๆ กับการเปิดตัวกล้อง Pentax ยังได้เปิดตัวเลนส์อีกสองรุ่น นั่นคือ HD PENTAX-D FA 15-30mm F2.8 ED SDM WR และ HD PENTAX-D FA 28-105mm F3.5-5.6 ED DC WR โดยตัวหลังนั้นเป็นเลนส์ราคาประหยัดสำหรับใช้งานทั่วๆ ไป นั่นหมายถึงว่า Pentax K-1 มีเลนส์ค่ายให้ใช้งานได้ครบทุกช่วงนั่นเองครับ และที่สำคัญเลนส์ทุกตัวยังออกแบบให้ใช้งานในสภาพอากาศที่เลวร้ายได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับตัวกล้องด้วยครับ นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกที่เป็นเลนส์จากผู้ผลิตอิสระอีกด้วยเช่นกัน

การจับถือตัวกล้องค่อนข้างกระชับมือดีทีเดียว ซึ่งโดยรวมแล้ว อาจจะเหมาะสำหรับคนที่มีมือค่อนข้างใหญ่มากกว่า กริปด้านหน้าออกแบบให้นูนยาวออกมากระชับกับนิ้วมือ แป้นปรับควบคุมบนกริป ออกแบบให้เอียงเล็กน้อย ทำให้การปรับหมุนใช้งานเป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนกริปด้านหลังออกแบบให้เป็นสันนูนออกมารองรับกับนิ้วโป้งได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้การจับถือตัวกล้องมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งการวางปุ่มและแป้นควบคุมต่างๆ ก็อยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้สะดวกครับ

การควบคุมตัวกล้องในขณะถ่ายภาพนั้น ถือว่าตอบสนองการใช้งานได้ไม่ยากนัก สำหรับผู้ที่เริ่มใช้งาน หรือยังไม่คุ้นเคยกับตัวกล้อง อาจจะติดๆ ขัดๆ อยุ่บ้างในช่วงแรกๆ แต่พอใช้ไปสักพัก ก็สามารถปรับควบคุมได้สะดวกมากขึ้น ผมชอบปุ่มเขียว หรือ Green Botton ที่อยู่ข้างๆ กับจอมอนิเตอร์ ซึ่งช่วยให้ผม reset ค่าการปรับตั้งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่น การปรับชดเชยแสง หรือการปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์ ให้กลับมาที่ค่าปกติ หรือที่ 0 ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกดไล่ไปทีละขั้น

แป้นควบคุม Function Dial เป็นเสมือนช็อตคัทให้เข้าสู่การปรับตั้งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมากทีเดียว ผมสามารถบิดเลือกการปรับตั้งที่ต้องการ แล้วหมุนแป้นควบคุม เพื่อตั้งค่าที่ต้องการ อาทิ Wi-Fi สามารถหมุนเปิด หรือปิดการทำงานได้ทันที หรือการชดเชยแสง หรือความไวแสงก็สามารถบิดหมุนไปยังค่าที่ต้องการได้เลยเช่นเดียวกัน สะดวกจริงๆ ครับ

pentaxk1_08

ปุ่มปรับควบคุมแบบ 4 ทิศทางด้านหลังตัวกล้องออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลาย โดยปุ่มด้านบนใช้สำหรับเลือกปรับการตั้งการถ่ายภาพต่อเนื่อง และตั้งเวลาถ่ายภาพ, ปุ่มด้านขวา ใช้สำหรับปรับเลือกพารามิเตอร์ หรือสไคล์รูปแบบภาพ, ปุ่มด้านล่าง สำหรับเลือกเปิดหรือปิดระบบ ป้องกันภาพสั่นไหว และปุ่มด้านซ้าย ใช้สำหรับปรับตั้งไวท์บาลานซ์ โดยสำหรับไวท์บาลานซ์เอง ยังมีรูปแบบที่โดดเด่นอย่างหนึ่งคือ ไวท์บาลานซ์แบบเคลวิน (K) ที่สามารถเลือกค่าย่อยได้ 3 ค่า ค่อ K1, K2 และ K3 ซึ่งประโยชน์คือ ไม่จำเป็นที่จะต้องหมุนแป้นควบคุมเพื่อปรับตั้งค่าให้มากมาย เวลาต้องเปลี่ยนโลเคชั่นในการถ่ายภาพ หรือเปลี่ยนสภาพแสงไปในแต่ละสภาพแสง

ยกตัวอย่าง ถ่ายภาพในสตูดิโอที่ใช้ไฟทังสเตน ตั้งใช้ค่า K1 และปรับอุณหภูมิสีไปที่ 2500K พอออกมาถ่ายภาพกลางแจ้งด้วยแสงแดดธรรมชาติ ก็เลือกใช้ K2 ปรับตั้งอุณหภูมิสีไปที่ 5500K เวลาที่เปลี่ยนสลับระหว่างสองที่ ก็เพียงแค่หมุนแป้นไปที่ K1 หรือ K2 เท่านั้นเอง ไม่ต้องหมุนปรับตัวเลของศาเคลวินจาก 2500 มาที่ 5500 ให้ยุ่งยาก และเสียเวลา รวมทั้งยังสามารถใช้แป้นควบคุมด้านหน้า เพื่อเปลี่ยนค่าอุณหภูมิสีในหลักร้อยได้อีกด้วยเช่นกันครับ นอกจากนี้ ปุ่มปรับควบคุมแบบ 4 ทิศทางบังใช้สำหรับปรับเลือกจุดโฟกัสด้วย โดยสลับการทำงานได้ด้วยปุ่มเลือกระบบโฟกัสที่อยู่เหนือปุ่มปรับควบคุมแบบ 4 ทิศทางขึ้นไปเล็กน้อยนั่นเองครับ

Pentax K-1 ให้ไฟล์ภาพความละเอียดสูงถึง 36.4 ล้านพิกเซล ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานในระดับมืออาชีพ ทั้งช่างภาพแนวภาพบุคคล หรือ Portrait, ช่างภาพแนว Landscape ไปจนถึงช่างภาพถ่ายสินค้าและช่างภาพ Still Life ในสตูดิโอ คุณภาพของไฟล์ ภาพที่ได้ก็ถือว่ายอดเยี่ยมครับ ให้ไดนามิกเรนจ์ที่ดี ถ่ายทอดรายละเอียดในส่วน highlight และ Shadow ได้อย่างครบถ้วน

pentaxk1_13

การจัดการ Noise ทำได้ดีเยี่ยม ภาพยังคงคมชัด และมีสีสันอิ่มตัว แม้จะใช้ความไวแสงสูง Pentax K1 เลนส์ Pentax smc D FA 100mm F2.8 Macro WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/40 วินาที f/11, ISO1600, WB: Auto

ด้านการจัดการ Noise นั้น ถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมเช่นกัน โดยผมลองถ่ายภาพที่ความไวแสง 6400, 12500 และ 25600 สองค่าแรกภาพยังคงมีความคมชัด และสีสันอิ่มตัว แต่ที่ความไวแสง 25600 ความคมชัดลดลงไปพอสมควร ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในระดับที่ซีเรียสในเรื่องคุณภาพไฟล์มากๆ แต่ถ้าหากว่าเป็นการบันทึกภาพทั่วไป บันทึกภาพท่องเที่ยว หรือบันทึกภาพในชีวิตประจำวัน สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม แต่สำหรับผู้ที่ต้องการเน้นคุณภาพของไฟล์ระดับที่ไม่เกิน 6400 จะเหมาะสมที่สุด และการบันทึกด้วย RAW จะสามารถปรับแก้ไขคุณภาพ ได้ตามที่ต้องการมากกว่าครับ

อีกหนึ่งในจุดเด่นที่ผมชื่นชอบคือ ระบบป้องกันการสั่นไหวที่มีบรรจุมาในกล้อง Pentax ทุกรุ่น ช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพได้ด้วย ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่าปกติ ซึ่งสำหรับ Pentax K1 ใช้ระบบป้องกันการสั่นไหวแบบ 5 แกน ช่วยชดเชยการจับถือกล้องได้ทุกรูปแบบ ทั้งแนวตั้ง แนวนอน ก้มหรือเงย รวมทั้งการหมุนหรือแพนกล้องด้วย โดยช่วยให้ถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือด้วยความเร็วที่ตํ่ากว่าปกติถึง 5 สตอป ซึ่งช่วยให้ผมถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น เพราะหลายๆ ครั้งที่พกกล้องถ่ายภาพติดตัวไปเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ติดขาตั้งกล้องไปด้วย ผมถ่ายภาพเรือดินเนอร์ครุยส์ในตอนกลางคืน ด้วยเลนส์ 24-70มม. ที่ระยะซูมประมาณ 35 มม. ด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/4 วินาที หรือ ประมาณ 3 สตอป ก็ยังคงได้ภาพที่คมชัดตามที่ต้องการครับ ซึ่งถ้าหากว่าเป็นกล้องที่ไม่มีระบบป้องกันการสั่นไหวในตัว มีโอกาสที่จะได้ภาพเบลอๆ มาแทนมากทีเดียวครับ

pentaxk1_14

ระบบป้องกันการสั่นไหว ช่วยให้ถือกล้องได้นิ่ง แม้ความเร็วชัตเตอร์จะต่ำกว่าปกติก็ตาม Pentax K1 เลนส์ HD Pentax D FA 24-70mm F2.8 ED SDM WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/4 วินาที f/4, ISO800, WB: Auto

โดยปกติแล้ว ในการใช้งานทั่วๆ ไปผมมักจะถ่ายภาพเป็นไฟล์ JPEG เพียงอย่างเดียว แต่ก็มีบ้างบางโอกาสที่เปลี่ยนเป็นไฟล์ RAW+JPEG เพื่อเอาไว้ใช้ในการปรับแต่งในภายหลัง และหลายๆ ครั้งที่เวลาถ่ายภาพเพลินๆ ก็ลืมปรับกลับคืน ทำให้เสียพื้นที่ใน เมมโมรี่การ์ด แต่สำหรับ Pentax K-1 มีฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ผมไม่ลืม เพราะสามารถเปลี่ยนไปใช้ RAW+JPEG โดยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว นั่นคือปุ่ม RAW/FX ที่ข้างๆ เมาท์เลนส์ ซึ่งเลือกบันทึกไฟล์ RAW ได้เลย แต่เป็นแบบภาพต่อภาพแล้ว ถ้าหากว่าต้องการถ่ายเพิ่ม ก็กดปุ่มใหม่อีกครั้งครับ

หนึ่งในฟังก์ชั่นที่ถือเป็นมาตรฐานของกล้องดิจิตอลรุ่นใหม่ๆ รวมทั้ง Pentax K-1 ด้วยนั่นคือ สามารถโอนถ่ายไฟล์ภาพไปยัง สมาร์ทโฟนด้วยการเชื่อมต่อ Wi-Fi ผ่านแอพลิเคชั่น Image Sync ซึ่งรองรับการใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS โดย เลือกเปิด-ปิดฟังก์ชั่น Wi-Fi ได้อย่างสะดวกจากแป้น Function Dial บนตัวกล้อง โดยในครั้งแรกนั้น จะต้องเชื่อมต่อฟังก์ชั่น Wi-Fi กับ ตัวกล้องโดยใช้พาสเวิร์ด แต่ครั้งถัดไปสามารถเปิด Wi-Fi และเปิดแอพลิเคชั่นเข้าใช้งานได้เลย นอกจากการโอนถ่ายไฟล์ภาพแล้ว ยังสามารถควบคุมการถ่ายภาพจากสมาร์ทโฟนผ่านแอพลิเคชั่นได้อีกด้วย ซึ่งมีความพิเศษที่สามารถเปลี่ยนไวท์บาลานซ์, เปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์, เปลี่ยนขนาดรูรับแสง, ปรับชดเชยแสง และเปลี่ยนรูปแบบโฟกัสภาพ และเลือกจุดโฟกัส ซึ่งก็ถือว่าเป็นฟังก์ชั่นที่ครอบคลุมการถ่ายภาพได้ทั้งหมดทีเดียวครับ


สรุปผลการใช้งาน

pentaxk1_15

Pentax K1 เลนส์ HD Pentax D PENTAX-D FA MACRO 100mm F2.8 WR โหมด M ชัตเตอร์ 1/80 วินาที f/2.8, ISO400, WB: Auto (ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว)

ผมเองใช้กล้อง Mirrorless ในการทำงานมาหลายปี และสนุกกับการถ่ายภาพจากหลายๆ ฟังก์ชั่นที่กล้องมีให้ ซึ่งผมเองยอมรับว่าสะดวกกับการใช้งานมากทีเดียว ส่วนกล้อง D-SLR ซึ่งแน่นอนว่ามีนํ้าหนักที่มากกว่าอยู่พอสมควร และเป็นเพียงตัวเลือกในการใช้งานของผมไปแล้วครับ แต่จริงๆ แล้วเรื่องนํ้าหนัก ผมเองไม่เป็นห่วงมากนัก เพราะแบกกระเป๋ากล้องหนักๆ อยู่บ่อยๆ แต่การได้เจอกับกล้อง ที่มีสเปคการทำงานที่ “เข้าตา” ย่อมทำให้ผมต้องหันกลับมามอง D-SLR อีกครั้ง ดังนั้นการได้สัมผัสกับกล้อง Pentax K1 ที่มีนํ้าหนักมากพอสมควร ยิ่งต่อกับเลนส์ 24-70 ม.ม. f/2.8 ด้วยแล้ว ก็หนักเอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ ซึ่งหลายๆ คนอาจจะบอกผ่าน แต่สำหรับผม “ไม่ครับ”

กับสเปคการทำงานต่างๆ บวกกับฟังก์ชั่นเด่นๆ ที่กล้องให้มา ทำให้ผมมองข้ามนํ้าหนักของกล้องและอุปกรณ์เสริมต่างๆ ไปเลย การออกแบบตัวกล้องที่สวยงาม การซีลรอยต่อป้องกันฝุ่นละอองและนํ้า ทั้งตัวกล้อง, เลนส์ และอุปกรณ์เสริม ทำให้ผมข้ามขีดจำกัด ในการใช้งานกล้องไปอย่างสบายๆ GPS และ AstroTracer ช่วยให้การถ่ายภาพดาวหมุนสะดวกมากขึ้น Pixel Shift Resolution ช่วยให้ได้ภาพที่มีคุณภาพมากขึ้น ให้ความคมชัด มีสีสันอิ่มตัว และขนาดไฟล์ที่ใหญ่ขึ้น จอมอนิเตอร์ที่ออกแบบพิเศษ ปรับเงย ปรับก้มและปรับเอียง เพื่อให้มองจอมอนิเตอร์ได้อย่างสะดวก เมื่อต้องถ่ายภาพในมุมมองที่ยากต่อการมองแบบปกติ และระบบป้องกันการสั่นไหวที่ช่วยให้ผมเป็นอิสระในการพกกล้องถ่ายภาพไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไวท์บาลานซ์ที่ผมแทบจะไม่ได้ขยับจากตำแหน่ง Auto รวมทั้งช่องเมมโมรี่การ์ดที่มีให้ถึงสองช่อง ทำให้ผมสามารถบันทึกไฟล์ RAW+JPEG ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเมมโมรี่การ์ดจะเต็มง่ายๆ

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในฟังก์ชั่นที่โดดเด่นต่างๆ ของกล้อง ที่ตอบสนองการใช้งานได้ทุกรูปแบบตามการใช้งานของผม แต่จะจริงหรือไม่นั้น ต้องลองไปสัมผัสกับกล้องตัวจริงด้วยตัวคุณเองครับ แล้วคุณจะหลงเสน่ห์ของ Pentax K1 ..เหมือนกับผม

ขอบคุณ :  บริษัท อีส เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด   สำหรับความอนุเคราะห์อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.eastenterprise.net

เรื่อง : พีร วงษ์ปัญญา / ภาพ : กองบรรณาธิการ