Basic

MTF อ่านค่าให้เป็น ช่วยคุณเลือกเลนส์ดีๆ ได้

ข้อมูลของเลนส์แต่ละรุ่นที่แสดงไว้ในแคตตาล็อกหรือไลน์อัพของเลนส์บนเว็บไซต์ นอกจากจะมีข้อมูลทั่วๆ ไปอย่างเช่น โครงสร้างชิ้นเลนส์ มุมรับภาพ รูรับแสงกว้างสุด แคบสุด ระยะโฟกัสใกล้สุด ขนาดฟิลเตอร์ ขนาดเลนส์ น้ำหนัก และอื่นๆ แล้ว ยังมีข้อมูลที่สำคัญอีกอย่างซึ่งมักจะแสดงไว้เสมอเพียงแต่ผู้ดูอาจไม่ทราบว่ามันคืออะไร ใช้ดูผลอะไร มีประโยชน์อย่างไร และอ่านค่าอย่างไร นั่นคือ MTF Chart

หลายท่านไม่ทราบวิธีการอ่านค่า MTF Chart แม้จะดูคำอธิบายที่แนบมาแล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ทำให้ไม่ทราบการวัดผล รู้แต่เพียงว่าขอให้เส้นกราฟสูงไว้ก่อน ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากจะอธิบายเรื่องนี้ให้ทุกท่านได้พอเข้าใจเพราะข้อมูล MTF นั้นมีประโยชน์ในการเลือกใช้เลนส์ และมันเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถทดสอบวัดผลได้ ดังนั้นการจะลงค่า MTF Chart แบบมั่วๆ เพื่อให้เลนส์ตัวนั้นดูดีเกินจริง(มีบ้างในความเป็นจริง แต่น้อย) จึงสามารถถูกตรวจสอบได้เพราะมันเป็นมาตรฐานเดียวกันที่ใช้ทั่วโลก

MTF คืออะไร
MTF (Modulation Transfer Function) เป็นการวัดค่าคอนทราสต์ของชาร์ตทดสอบเพื่อตรวจวัดผลการถ่ายทอดคอนทราสต์บนชาร์ตทดสอบว่าเลนส์รุ่นนั้นๆ สามารถแยกระดับคอนทราสต์(เส้นดำบนพื้นขาว) ได้ชัดเจนเพียงใด เลนส์ที่มีคุณภาพสูงจะสามารถแยกความแตกต่างของสีดำกับขาวได้ชัดเจน ซึ่งมันก็คือกำลังการแยกเส้น(Resolution) ของเลนส์นั่นเอง ส่วนเลนส์คุณภาพตํ่าจะไม่สามารถแยกเส้นสีดำออกจากพื้นสีขาวได้ มันจะไม่เป็นเส้นคมแต่ส่วนของเส้นสีดำจะเบลอที่ขอบเส้นแล้วค่อยๆ ไล่โทนเป็นสีเทาเข้ม เทาอ่อนจนถึงขาว นั่นแสดงว่ากำลังการแยกเส้นตํ่า (ความคมชัดจึงตํ่า)

ชาร์ตที่ใช้ทดสอบจะเป็นเส้นดำบนพื้นขาว เพราะสามารถตรวจสอบผลได้ชัดเจนกว่า และหากมีอาการสีเหลื่อมก็จะเห็นได้ชัด เส้นจะมีสองขนาด(หรืออาจมากกว่า) เส้นใหญ่หนาใช้วัดค่าที่ 10 lines/mm ไม่ได้ใช้วัดกำลังแยกเส้นแต่ใช้วัดคอนทราสต์ของภาพจากพื้นที่กลางภาพจนถึงขอบภาพ จากรูรับแสงกว้างและที่ F8 ส่วนเส้นเล็กจะจะใช้วัดค่าที่ 30 lines/mm ใช้ในการตรวจสอบกำลังแยกเส้น วัดความคมชัด

การจัดวางเส้นจะเป็นสองแกน คือเส้นที่วางขนานกับเส้นผ่าศูนย์กลางของภาพเรียงต่อๆ กัน เราเรียกกันว่า Meridional (บางแห่งเรียกว่า Tangential) ซึ่งจะแสดงผลบนชาร์ต ด้วยเส้นประ ส่วนเส้นที่วางแนวตั้งฉากกับเส้นผ่าศูนย์กลางเราเรียกว่า Sagittal (Radial)แสดงผลบนชาร์ตด้วยเส้นทึบ ที่ต้องมีเส้นทั้งสองแกนก็เพราะกำลังการแยกเส้นของเลนส์ในพื้นที่เดียวกัน อาจจะแยกเส้นแนวนอนกับเส้นแนวตั้งได้ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความบกพร่องของเลนส์บางอย่างที่นอกเหนือไปจากเรื่องความคมชัด

MTF สามารถใช้ตรวจสอบอะไรได้บ้าง
1. กำลังการแยกเส้นของเลนส์ (ตั้งแต่กลางภาพจนถึงขอบสุดของภาพ ที่รูรับแสงกว้างสุด และที่ F8)
2. คอนทราสต์หรือความเปรียบต่างของเลนส์ (ตั้งแต่กลางภาพจนถึงขอบสุดของภาพ ที่รูรับแสงกว้างสุด และที่ F8)
3. Astigmatism และ ความคลาดสี
4. Field Curvature(ภาพระนาบโค้ง)
5. Focus Shift

แต่หลักๆ แล้วเราจะใช้ตรวจสอบกำลังการแยกเส้นของเลนส์มากกว่าอย่างอื่น โดยสามารถอ่านค่าได้ดังนี้
จากชาร์ตจะแบ่งแนวตั้งเป็น 10 ส่วน บางยี่ห้อจะแสดงตั้งแต่ค่าสูงสุด 100% ลงมาที่ 90%, 80%, 70% จนถึงตํ่าสุดที่ 0 แต่บางยี่ห้อค่าสูงสุดจะเป็น 1.0 แล้วลงมาเป็น 0.9, 0,8, 0.7 จนถึงตํ่าสุดที่ 0 เส้นกราฟยิ่งสูงแสดงว่าคุณภาพยิ่งดี ความคมชัดสูง แยกเส้นได้ชัดเจน ถ้าจะเป็นคำพูดก็ประมาณนี้ครับ ที่ 100% คือสุดยอด ภาพคมที่สุด 90% คือ ยอดเยี่ยม คมกริบ 80% คือดีมาก 70% คือดี 60% คือค่อนข้างดี 50% คือพอใช้ 40% คือพอยอมรับได้ 30% คือค่อนข้างแย่ 20% คือแย่ 10% คือแย่มาก

ส่วนแนวนอนจะเป็นระยะทางจากกลางภาพ(0) ที่ตำแหน่ง 5 คือ 5 มม.จากกลางภาพ(ในทุกแกน) 10 คือ 10 มม. จากกลางภาพ (ที่ 13.5 มม.จะเป็นขอบภาพของเซ็นเซอร์ขนาด APS-C ผู้ผลิตเลนส์บางยี่ห้อเช่น Tamron จะแสดงไว้ให้ผู้ใช้ทราบว่าถ้าเอาเลนส์ตัวนี้ไปใช้กับกล้อง APS-C จะได้คุณภาพที่ขอบภาพตามที่แสดงไว้บนมาร์ค) ที่ 18 มม.จะเป็นขอบภาพด้านซ้ายและขวาของเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม ส่วนที่ 22 มม.จะเป็นขอบสุดของภาพบนเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม การดูผลด้านคุณภาพจึงต้องดูทั้งส่วนกลางภาพ ขอบภาพแนวนอน และขอบสุดของแนวทแยงมุม ส่วนเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่าฟูลเฟรม เช่น APS-C หรือ Micro Four Thirds ระยะจะออกมาน้อยกว่าฟูลเฟรม

MTF Chart มักจะมี 2 ชาร์ตคือ วัดจากรูรับแสงกว้างสุด และจากการหรี่รูรับแสง (ซึ่งมักจะวัดที่ F8) ดังนั้นจึงควรดูผลทั้งสองชาร์ตว่าเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุดผลเป็นอย่างไร ที่ F8 ผลเป็นอย่างไร ได้คุณภาพเต็มที่แค่ไหน

เส้น 10 lines/mm ใช้ในการตรวจสอบคอนทราสต์ อย่างเช่น ถ้าเส้นอยู่สูงเช่น 90% ที่บริเวณกลางภาพแล้วค่อยๆ ลาดลงไปเป็น 80% ที่ขอบภาพเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุด แสดงว่าเลนส์รุ่นนี้คอนทราสต์กลางภาพสูงแต่คอนทราสต์จะลดลงบ้างที่ขอบภาพ ส่วนเลนส์อีกรุ่นเส้น 10 lines/mm อยู่ที่ 70% ทั้งกลางและขอบแสดงว่าเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างภาพจะมีคอนทราสต์ตํ่า (แต่สำหรับความคมชัดต้องดูที่เส้น 30 lines/mm ถ้าตํ่ากว่าเส้น 10 lines/mm ลงมาอีกแสดงว่านอกจากจะคอนทราสต์ตํ่าแล้ว ความคมชัดยังตํ่าด้วย)

เลนส์ที่ดีจะต้องมีเส้น 10 lines/mm ที่สูงเกิน 90% ที่กลางภาพและควรเกิน 80% ที่ขอบภาพเพื่อให้คอนทราสต์ของภาพที่รูรับแสงกว้างสุดสูงพอที่เลนส์จะถ่ายทอดความอิ่มสีได้เต็มที่ ส่วนเส้น 30 lines/mm สำหรับเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด F1.2, F1.4, F2 ควรสูงกว่า 60% ที่กลางภาพและเกิน 40% ที่ขอบภาพ ส่วนเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุด F2.8 หรือ F4 ควรสูงกว่า 70% ที่กลางภาพและเกิน 50% ที่ขอบภาพ

ภาพด้านบนมาจากเลนส์ Tamron 17-35mm F/2.8-4 Di OSD ซึ่ง MTF Chart แสดงไว้ที่ภาพซ้ายมือ จะเห็นได้ว่าแม้เปิดรูรับแสงกว้างสุด ความคมชัดยังสูงมาก และเส้นทึบอยู่ชิดกับเส้นประมากทั้งกลางภาพและขอบภาพ ทำให้มันเป็นเลนส์ถ่ายภาพดาว ภาพทางช้างเผือกชั้นยอด ปราศจากปัญหาเรื่อง Coma Flare ดาวจะเป็นจุดชัดเจน ไม่เกิดเป็นหางแลบออก

ภาพด้านบนแสดงให้เห็นอาการ Coma Flare ของเลนส์ที่มีเส้นทึบและเส้นประแยกห่างกัน โดยเฉพาะที่ขอบภาพจะเห็นความบกพร่องได้ชัดเจน

ส่วนเส้นทึบ (Segittal) และเส้นประ (Meridional) ที่ชิดกันหรือห่างกันมีผลอย่างไรกับภาพนั้น คำตอบคือ หากห่างกันจะเกิดปัญหาเรื่อง Astigmatism ซึ่งจะทำให้เกิดความคลาดสี และ Coma Flare (จุดสว่างบนภาพเช่น หลอดไฟ ดวงดาว ไม่เป็นจุดกลม แต่จะเกิดเป็นหางแลบออกคล้ายปีกนก) ดังนั้นเลนส์ที่ดีจึงควรมีเส้นทึบกับเส้นประที่ชิดๆ กัน โดยเฉพาะเลนส์มุมกว้างที่เน้นเอาไว้ถ่ายภาพดาว ภาพทางช้างเผือก ซึ่งต้องเปิดรูรับแสงกว้าง เช่น F2.8 หากต้องการภาพดวงดาวที่คมชัดเป็นจุดสว่างทรงกลม จึงต้องเลือกเลนส์ที่เส้นทึบและเส้นประของ 30 lines/mm ชิดกันทั้งกลางภาพและขอบภาพ โดยขอบภาพถ้าอยากได้ภาพคมชัดด้วย เส้นทึบและประจะต้องไม่ตํ่ากว่า 50%

ดังนั้นก่อนจะเลือกใช้เลนส์รุ่นใดอย่าลืมดู MTF Chart ด้วยเพื่อจะได้เลือกเลนส์ที่มีคุณภาพสูงอย่างที่คุณต้องการ

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic