Photo Techniques

Like Life Light พลังของแสงบนภาพถ่าย

ถ้าปราศจากซึ่งแสงเสียแล้วเราก็คงจะถ่ายภาพไม่ได้ไม่ว่าจะใช้กล้องแพงเลนส์หรูขนาดไหนก็ตามที แต่ถ้าจะให้ดีต้องรู้จักลีลาของแสงเสียด้วยถ้าหากว่าคุณคิดจะถ่ายภาพที่มากกว่าแค่เป็นภาพที่มองเห็น และถ้าทำมันได้ดีภาพถ่ายก็จะดูมีชีวิตขึ้นมาเพื่อเรียกร้อง Like ไปทั่วปฐพีได้เลย ไม่ว่าใครก็คงจะประมาณกันไม่ถูกหรอกครับว่าในขณะนี้โลกมนุษย์ของเรามีภาพถ่ายอยู่เป็นจำนวนเท่าไหร่? เพียงแค่ช่วงเวลาอาทิตย์เดียวของปัจจุบันก็น่าจะมีจำนวนภาพถ่ายมากกว่าในยุคฟิล์มรวมกันเสียอีก ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะอิทธิพลของกล้องดิจิตอลที่แพร่หลายไปในทุกพื้นที่ไม่เว้นแม้แต่ในป่าดงอันห่างไกลความเจริญ ขอให้สัญญาณ 3G 4G ไปถึงเถอะเป็นต้องได้เห็นภาพจากแถวๆ นั้นแน่

ถ้าจะเปรียบเป็นตลาดสักแห่งหนึ่ง ขณะนี้เราก็คงจะมีสินค้าอยู่ล้นตลาดชนิดที่หาซื้อกันไม่เจอ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะมีสินค้าคุณภาพดีที่โดดเด่นกว่าชาวบ้านออกมาสะดุดตาจนเกิดความได้เปรียบทางด้านยอดขายกันไปอย่างเด่นชัด ไม่อย่างนั้นก็ต้องนั่งตบยุงเฝ้าร้านเพราะสินค้าของเราไม่ได้ต่างจากคนอื่นตรงไหน อย่างดีก็อาศัยโชคดวงและลูกฟลุ๊คส่งลูกค้าเข้ามาหาบ้างประปราย

ภาพถ่ายจำนวนมากก็อยู่ภายใต้สภาวะเช่นนั้นแหละครับ การกดปุ่ม Like บนโซเชียลมีเดียทั้งหลายแหล่ก็คล้ายกับการตัดสินใจซื้อของลูกค้า แต่ถ้าเป็นการทำงานจริงภาพถ่ายของเราก็ต้องมีทั้งคุณภาพและความสวยงามตรงใจถึงจะขายได้ ซึ่งการที่จะเป็นภาพถ่ายที่สวยงามนั้นมีปัจจัยประกอบอยู่หลายอย่างหลากประการ แต่ที่โดดเด่นเห็นๆ เลยก็คือเรื่องของ “แสง” นี่แหละครับที่มันจะแปรเปลี่ยนภาพของคุณไปได้ในหลายอารมณ์

pt111_01

แสงที่เน้นเฉพาะจุดในตัวแบบจะยิ่งทำให้มันดูโดดเด่นน่าสนใจมากยิ่งขึ้นโดย ปล่อยให้ส่วนอื่นๆ เป็นสีดำสนิทซึ่งเราเรียกภาพลักษณะนี้ว่า “ภาพฉากหลังดำ” ลองสังเกตทิศทางของแสงแฟลชในภาพนี้ให้ดีว่ามันมาจากทิศทางใด Canon EOS 100D, EF 40mm F/2.8, Macro Extension Tube , f/16, 1/160 sec., ISO 100

แรกๆ ของประสบการณ์ถ่ายภาพผมเองก็ไม่ได้เข้าใจหรอกว่าอารมณ์แสงหรือความสำคัญของแสงมันคืออะไร จนถ่ายภาพไปเรื่อยๆ เห็นภาพไปเรื่อยๆ ก็เริ่มจะเข้าใจมันมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกหรอกครับที่คุณในฐานะมือใหม่ผู้ฝักใฝ่ภาพถ่ายสวยๆ จะยังไม่ค่อยเข้าใจเวลาที่ได้ยินใครพูดถึงเรื่องนี้ แต่มันเป็นเรื่องแปลกเลยเชียวแหละถ้าคุณไม่คิดจะทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ถ้าอยากจะเป็นเจ้าของภาพถ่ายสวยๆ

เรื่องนี้ถ้าไม่สำคัญจริงๆ ละก็คงจะไม่ต้องมีการประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อการให้แสงสำหรับการถ่ายภาพออกมาเยอะแยะมากมาย ขอแค่มีโคมไฟสว่างดวงใหญ่ๆ ก็คงจะพอแล้วจริงไหมล่ะ? แต่ลองดูเถอะครับว่าคุณจะได้เห็นบรรดามืออาชีพทั้งหลายจะให้ความสำคัญกับอุปกรณ์เสริมทางด้านแสงกันอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ในสตูดิโอถ่ายภาพเล็กใหญ่ไปจนถึงมือโปรที่ถ่ายภาพตามป่าตามเขาก็ยังต้องให้ความสำคัญ หรือในรายที่ไม่ชอบใช้แสงประดิษฐ์เหล่านี้ก็ยังต้องเลือกทั้งช่วงเวลาและทิศทางของแสงธรรมชาติอยู่ดี ไม่อย่างนั้นแล้วก็ยากนักที่ภาพถ่ายจะโดดเด่นสะดุดตาด้วยเรื่องของแสง เพราะฉะนั้นแล้วหากคุณเป็นมือใหม่ก็โปรดสังเกตเรื่องนี้ให้ดีครับ หรือถึงจะเป็นมือเก่าก็ต้องสังเกตให้ดีเพราะเทคนิควิธีพวกนี้มีการพัฒนาออกมาอยู่เรื่อยๆ และเทรนด์การถ่ายภาพก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน ไม่อย่างนั้นละก็ “ตกยุค” และไม่โดนกดไลค์ให้กับภาพถ่ายแน่ๆ


มิติของแสง

คำว่า “มิติของแสง” นี่ทำให้ผมสับสนมานักต่อนักว่ามันคืออะไรกันแน่? พอถ่ายภาพมากๆ เข้าก็จะเข้าใจว่ามันคือการส่งเสริมความหนาของวัตถุและความลึกของภาพได้ด้วยแสงสว่างและเงามืด ซึ่งบนระนาบแบบสองมิติอย่างภาพถ่ายนั้นความลึกของวัตถุจะแสดงออกได้ไม่ชัดเจนเท่าการมองเห็นด้วยสายตาทั้งสองข้างของเรา ดังนั้นเมื่อจะถ่ายภาพก็ต้องชดเชยข้อด้อยตรงนี้ด้วยลักษณะทางแสงกลับเข้าไป

ลองสังเกตสิ่งของรอบตัวเราดูครับ เมื่อมองด้วยสายตาแล้วเราจะไม่ค่อยได้สนใจเรื่องนี้สักเท่าไหร่นักเพราะสายตาสามารถถ่ายทอดความลึกไปเล่าให้สมองฟังได้อยู่แล้ว บางทีเราเห็นอะไรสักอย่างที่มันสวยๆ แล้วก็ยกกล้องขึ้นมาถ่ายแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่สวยอย่างที่ตาเห็น บางทีมันก็อาจจะเป็นเพราะเรื่องนี้ก็เป็นได้

เมื่อคุณเริ่มสังเกตเรื่องนี้คุณก็จะดูภาพถ่ายที่ผ่านเข้ามาด้วยความแยบคายมากยิ่งขึ้น และคุณจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ด้วยว่ามืออาชีพเขาใช้เรื่องนี้อย่างไรในภาพถ่ายของเขา ซึ่งน้อยนักครับที่จะใช้แค่แสงตรงๆ ทื่อๆ พุ่งออกไปจากหน้ากล้องเพียงอย่างเดียว บางรายก็ต้องมีการสะท้อนแสงทางนู้นทางนี้กันให้วุ่นวายไปหมด ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องยากเกินจะเรียนรู้หรอกครับถ้าคิดจะฝึกกันจริงๆ ขอแค่รู้จักสังเกตซะหน่อยก็พอ
ลองมองดูสิครับ เรื่องนี้สำคัญจริงๆ

pt111_02

ลวดลายจะยิ่งดูชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อโดนแสงที่ช่วยสร้างมิติ นอกจากนี้แสงที่สว่างเป็นจุดเฉพาะบางพื้นที่ก็ยิ่งทำให้อารมณ์ของแสงในภาพดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้นด้วย Canon EOS 6D, EF 17-40mm F/4L USM, @40mm, f/8, 1/45 sec.,  ISO 100

pt111_03

แม้กระทั่งกับกล้องถ่ายภาพทั่วไปการให้ความสำคัญกับลักษณะทางมิติและอารมณ์ของแสงก็ยังทำผลงานออกมาให้โดดเด่นได้เช่นกัน ซึ่งคนถ่ายภาพที่เข้าใจเรื่องนี้จะสามารถเล่นกับกล้องอะไรก็ได้ผลดีต่อภาพถ่าย ที่เหลือก็เป็นเรื่องคุณภาพของภาพที่ได้จากกล้องเท่านั้น

pt111_04

ตัวแบบที่มีรูปทรงจะยิ่งมีมิติมากขึ้นเมื่อเป็นแสงจากด้านข้าง แสงลักษณะนี้มีผลต่อเรื่องของมิติอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งภายนอกหรือภายในอาคาร แสงง่ายๆ อย่างแสงหน้าต่างก็มักจะใช้ได้ผลดีเสมอ Nikon D7000, Tamron 18-270mm F/3.5-6.3 Di II VC PZD, @65mm, f/5.3, 1/15 sec., ISO 200

pt111_05

แสงยามเช้าและเย็นจะมีลักษณะของสีไปทางโทนอุ่นซึ่งจะยิ่งขับให้ตัวแบบดูสะดุดตามากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเมื่อฉากหลังเป็นสีโทนเย็น หากเราพยายามสังเกตให้ดีจะเห็นความแตกต่างในเรื่องของแสงและช่วงเวลาที่มีผลต่อตัวแบบได้อย่างชัดเจน Canon EOS 5D Mark II, EF 17-40mm F/4L USM, @17mm, f/4.5, 1/80 sec., ISO 50


อารมณ์ของแสง

แค่ความสว่างนี่มันมีอารมณ์ได้ด้วยเหรอ? มีสิครับ ถ้าเราดูกันง่ายๆ ตามหนังตามละครเนี่ยมันไม่ใช่สำคัญอยู่แค่สีหน้าและลีลาในการแสดงของดาราดังนะครับ แสงแบบต่างๆ จะต้องถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนอารมณ์เหล่านั้นด้วย โดยเฉพาะฉากดราม่าที่น้ำตาจะเป็นสายเลือดนั้นยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คุณลองนึกภาพนางเอกที่กำลังร้องไห้แต่มีแสงส่องคางแบบหนังผีดูสิครับ คุณคิดว่ายังไง? อารมณ์มันจะได้ไหม? คนดูสับสนกันแย่เลยว่านี่ควรจะเศร้าหรือจะขนลุกดี

แม้กระทั่งในภาพทิวทัศน์ สถานที่อันแสนสวยก็อาจจะมอดม้วยหมดราคาไปได้หากเจอแสงอาทิตย์แรงๆ ของช่วงเที่ยงวันเข้าไป เงาดำแข็งทื่อใต้ต้นไม้นั่นคงจะมีใครอยากเดินทางเข้าไปนั่งอยู่หรอกนะ (เพราะแถวบ้านก็มี) แต่ถ้าเป็นแสงอุ่นๆ ช่วงเช้าหรือช่วงเย็นละก็ แหม มันน่าไปเดินเล่นรับลมเสียจริงเชียว…ถึงแม้ว่าตอนกลางวันตรงนั้นจะร้อนตับแลบก็ตาม อันนี้ผมว่าหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ตรงนะ จริงไหมล่ะครับ?

เหมือนเดิมครับ นี่คือปริศนาลึกลับที่คนทั่วไปแปลไม่ออกบอกไม่ถูก มันมักจะแนบเนียนอยู่ในภาพถ่ายสวยๆ ที่เราได้เห็นเสมอ ซึ่งคุณควรจะรู้จักมองรู้จักเรียนรู้จากภาพถ่ายเหล่านั้นด้วย

pt111_06

แสงจากสองแหล่งที่มีปริมาณและอุณหภูมิไม่เท่ากันก็จะช่วยสร้างทั้งมิติและสีสันให้กับตัวแบบได้ในมุมมองอันน่าสนใจ คุณควรต้องเดินหามุมกล้องที่มีลักษณะแสงแตกต่างกันให้ดีเสียก่อน Pentax K-30, SMC DA 18-135mm F/3.5-5.6 ED AL (IF) DC WR, @18mm, f/10, 2 sec., ISO 100

pt111_07

อาคารและสิ่งปลูกสร้างเป็นตัวแบบอีกชนิดหนึ่งที่ต้องการแสงเฉียงด้านข้างเป็นอย่างมากเพื่อช่วยขับเน้นให้มันมีมิติทางรูปทรงอย่างชัดเจน ซึ่งหากเป็นแสงในช่วงเที่ยงวันจะทำให้มันดูไม่น่าสนใจเท่าที่ควร Canon EOS 6D, EF 24-105mm F/4L IS USM, @30mm, f/8, 1/500mm, ISO 200


แสงธรรมชาติในภาพทิวทัศน์

ภาพทิวทัศน์ถ่ายเวลาไหนก็ได้อยู่แล้วจริงไหมล่ะ? แต่ถ้าจะถ่ายให้สวยละก็โดยทั่วไปแล้วเราจะเลือกช่วงเช้าหรือเย็น นั่นก็เป็นเพราะแสงยังไม่แรงมากนัก สีสันต่างๆ จะทำให้ภาพออกไปทางโทนอุ่นและมักจะสวยงามกว่าช่วงกลางวันซึ่งพระอาทิตย์จะร้อนแรงอยู่ด้านบนแล้วกดเงาแข็งๆ ให้ตกลงมาด้านล่าง โดยเฉพาะเมื่อมีบุคคลปรากฏอยู่ในภาพด้วยแล้วละก็มันจะยิ่งดูแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนั้นมิติของแสงก็ยังแตกต่างกันเสียอีก เพราะในช่วงเช้าหรือเย็นนั้นแสงอาทิตย์จะทำมุมต่ำเฉียงกับพื้นโลก เงาทั้งหลายก็จะทอดยาวออกไป วัตถุก็จะถูกแสงส่องทางด้านข้างและเกิดเงาในด้านตรงข้ามซึ่งนั่นมันจะช่วยส่งเสริมในเรื่องมิติของวัตถุมากเข้าไปกันใหญ่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณก็ต้องรู้จักเรื่องของทิศทางหน้ากล้องด้วย เพราะถ้าคุณหันหน้าไปยังทิศทางที่สวนแสงพระอาทิตย์มันก็ย่อมจะเกิดการย้อนแสงแน่ๆ ดังนั้น “มุมกล้อง” จึงไม่ใช่แค่คำเรียกเท่ๆ ที่เราใช้กันหรอกนะ

นี่แหละครับคือเหตุผลที่ว่าทำไมคนถ่ายภาพทิวทัศน์ถึงต้องตื่นก่อนและกลับทีหลังชาวบ้าน นั่นก็เพราะต้องรอแสงในลักษณะที่ว่านี้นั่นเอง

pt111_08

แม้แต่ตัวแบบที่ดูธรรมดาหากได้รับแสงที่มีมิติในภาพถ่ายก็จะทำให้มันดูโดดเด่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากตัวแบบของคุณไม่ได้มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษก็จงมองหาลักษณะของแสงที่ดีเข้าไว้ Canon EOS 6D , Tamron SP150-600mm F/5-6.3 Di VC USD, @400mm, f/5.6, 1/1000sec., ISO 400

pt111_09

อารมณ์แสงยามเย็น มุมย้อนแสงอาจจะทำให้ไม่เกิดมิติบนตัววัตถุมากนักแต่ปริมาณแสงก็อ่อนพอที่จะสร้างอารมณ์สบายๆ ให้กับภาพได้ง่าย อีกทั้งแสงสีก็ยังนุ่มนวลสวยงามสามารถปรับแต่งสีสันได้หลากหลายไม่ยุ่งยาก Canon EOS 6D, Tamron SP AF24-70mm F/2.8, @70mm • f/8, 1/125 sec., ISO 50


แสงประดิษฐ์

ก็จำพวกแสงไฟฟ้าทั้งหลาย ไฟฉาย หรือแม้กระทั่งแสงจากโทรศัพท์มือถือก็ยังไหว แต่ที่เรารู้จักกันดีก็คือ “แฟลช” ซึ่งหลายคนมักจะร้องยี้นั่นแหละครับ แต่อันที่จริงแล้วถ้าคุณรู้จักใช้งานมันได้ดีพอก็แทบจะขาดมันไม่ได้เลยทีเดียว

หลายครั้งที่แสงจากอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกใช้เป็นแสงหลักในการถ่ายภาพ แต่ก็มีไม่น้อยครับที่จะถูกใช้เป็น “แสงเสริม” เพื่อทำให้ภาพดูดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มืออาชีพทั้งหลายใช้กัน โดยเฉพาะพวกถ่ายภาพสินค้า ถ่ายภาพแฟชั่น ฯลฯ อะไรทั้งหลายเหล่านี้จะยิ่งใช้กันมากเลยทีเดียว

หรือแม้กระทั่งภาพทิวทัศน์ก็ยังมีใช้งานกัน ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเสริมแสงก็คือเพื่อช่วยเปิดเงามืด สร้างมิติ หรือให้อารมณ์ของแสงประเภทต่างๆ เข้าไปในภาพ และถ้าคุณสังเกตดีๆ ภาพถ่ายสวยๆ จำนวนมากจะมีแหล่งแสงเสริมมากกว่าหนึ่งแหล่งด้วยซ้ำไป

แม้กระทั่งแฟลชป๊อบอัพที่หลายคนเบือนหน้าหนีนั่นก็ยังกลายเป็นอาวุธชั้นยอดได้เหมือนกัน เพราะมันสามารถช่วยเปิดเงาให้กับตัวแบบได้ในยามถ่ายภาพย้อนแสง หรือแม้ในทิศทางแสงที่สวยงามก็ยังช่วยเสริมความสว่างกระจ่างใสได้อีกด้วย

อันนี้เป็นเรื่องที่คุณจะต้องเรียนรู้เพื่อทำการควบคุมครับ จริงๆ แล้วมันก็ง่ายๆ เพียงแค่คิดที่จะเริ่มและก็เริ่มลงมือจริงๆ เท่านั้นเอง

ที่อ่านมาทั้งหมดนั่นคือภาพรวมที่จะใช้ในการกระตุ้นความสนใจของคุณๆ มือใหม่ทั้งหลายให้ใส่ใจในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นในทุกครั้งที่ถ่ายภาพแบบเอาจริงเอาจัง คุณต้องรู้จักสังเกตและศึกษาวิธีการรวมทั้งตัวอย่างให้ดี (ซึ่งคุณจะพบได้ทั่วไปในหนังสือเล่มนี้) อย่ารีบคิดทึกทักเอาเองว่าภาพที่คุณเล่นแสงแบบนั้นแบบนี้เป็นของระดับชั้นสุดยอดโดยตัดสินใจเอาเองคนเดียว ก็เหมือนกับทำกับข้าวที่เราคิดว่าอร่อยสุดยอดแต่กินได้คนเดียวนั่นแหละครับ สงสัยจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเท่าไหร่หรอกนะ

ต่อให้คุณจะมีวาสนาในการครอบครองกล้องหรูเลนส์เทพขนาดไหนก็ยากที่ภาพจะสวยงามมีชีวิตมาเรียก Like ได้ครับถ้าไม่เคยได้ใส่ใจในเรื่องของแสงอย่างที่ว่ามานี้เลย เพราะนี่ถือเป็น “หัวใจ” อีกหนึ่งห้องของการถ่ายภาพเลยเชียวแหละ

ลองศึกษาดูนะครับ Like Life Light สามารถสำเร็จได้ในทุกภาพที่คุณนำเสนอออกสู่สายตาชาวโลกเลยจริงๆ

pt111_10

แสงในลักษณะที่เรียกว่า “ริมไลท์” (Rim-light) จะช่วยเน้นขอบร่างของวัตถุให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตัวแบบที่มีเส้นขนอยู่โดยรอบจะยิ่งโดดเด่นเรียกร้องความสนใจได้มากเมื่อโดนแสงลักษณะนี้ Canon EOS 70D, Tamron SP150-600mm F/5-6.3 Di VC USD, @480mm, f/6.3, 1/80sec., ISO 400

pt111_11

ในบางครั้งแสงก็ไม่เป็นใจมากนัก ในภาพนี้ท้องฟ้ามืดครึ้มและฝนกำลังจะตกแสงจากแฟลชจึงต้องทำหน้าที่ช่วยสร้างมิติให้กับตัวแบบโดยยิงมาจากทางด้านซ้ายของภาพ การจะทำเช่นนี้คุณต้องมีอุปกรณ์ที่ช่วยแยกแฟลชออกจากกล้องและสั่งการระยะไกลได้ Pentax K-30, SMC DA 18-135mm F/3.5-5.6 ED AL (IF) DC WR, @18mm, f/10, 2 sec., ISO 100

เรื่อง/ภาพ : ปิยะฉัตร แกหลง