Photography Planner

Istanbul Plan A

การเดินทางไปอิสตันบูลคราวนี้ นับเป็นครั้งที่สองของผม การวางแผนเพื่อถ่ายภาพจึงค่อนข้างง่ายเพราะผมรู้จักสถานที่ค่อนข้างดีพอสมควร รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ไกล-ใกล้แค่ไหน ดังนั้นแผนของผมจึงเริ่มต้นได้ตั้งแต่อยู่ที่ประเทศไทย โดยการจองห้องพักไว้ล่วงหน้าในทำเลที่สะดวกกับการตระเวณถ่ายภาพในย่านเมืองเก่า

อิสตันบูลนับเป็นเมืองใหญ่มากๆ เมืองหนึ่งของโลก มีประชากรนับสิบล้านคน แออัดยัดทะนานอยู่ในพื้นที่อันเป็นรอยต่อระหว่างยุโรปกับเอเซียพอดิบพอดี ทว่าบริเวณน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว สามารถจำกัดวงลงไปในอาณาบริเวณแคบๆ เพียง 4-5 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งก็คือในส่วนของเมืองเก่า ที่อยู่บริเวณปลายแหลม “โกลเดนฮอร์น” นั่นเอง

ดังนั้นหากเลือกทำเลที่พักดีๆ โดยพยายามให้อยู่ในจุดศูนย์กลางของจุดท่องเที่ยวต่างๆ เราก็สามารถประหยัดเรี่ยวแรงในการเดินตระเวณถ่ายภาพไปได้เยอะ สำหรับในย่านเมืองเก่าของอิสตันบูลนี้ ผมสามารถฟันธงลงไปได้เลยครับ ว่าควรพักอยู่ทางด้านทิศเหนือของมัสยิดบูลมอส์กตัดกับทิศตะวันตกของอญาโซเฟีย (ดูแผนที่ประกอบ – จุดน้ำเงินที่วงปากกาไว้ใกล้กับร้านแม๊กโดแนล นั่นคือสถานีรถรางสุลต่านอาเหม็ด ชื่อจริงของบลูมอส์ก หาที่พักใกล้ๆ แถวนั้นล่ะครับ) ซึ่งตรงนี้อาจมีตัวแปรเรื่องราคาที่พักเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างผมเองก็ไม่ได้พักตรงจุดที่บอกหรอกครับ ไปได้ทางทิศใต้ของบลูมอส์กแทนแต่ก็ไม่ไกลมาก ยังพอเดินไหวครับ

จุดเด่นของอิสตันบูลสำหรับนักถ่ายภาพอย่างเราๆ หลักๆ ก็คือสถาปัตยกรรมเก่าแก่อายุนับพันปีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ทั้งมหาวิหารอญาโซเฟีย(ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์) มัสยิดบลูมอส์ก และพระราชวังท๊อปกาปึ ซึ่งตัวพระราชวังอาจจะไม่โดดเด่นสักเท่าไร แต่ที่จะพลาดไม่ได้ก็คือส่วนที่เรียกว่า “ฮาเร็ม” ซึ่งมีการประดับประดาด้วยกระเบื้องที่มีลวดลายวิจิตรงดงามตระการตา รวมไปถึงเสาโอเบลิสก์ขนาดใหญ่ในลานฮิปโปโดรม ด้านทิศใต้ของบูลมอส์ก


ภานบนสุด : “Blue Mosque” นี่คือหนึ่งในมุมถ่ายภาพบลูมอส์กดีที่สุดในอิสตันบูลครับ เนื่องจากบลูมอส์กเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่มาก หากถ่ายภาพในระยะใกล้ก็จะต้องใช้เลนส์มุมกว้างมากและยังเป็นมุมแหงนจนเกินไป ทำให้สัดส่วนบิดเพี้ยนไปเยอะ และแม้ว่าจะมีลานกว้างให้ถอยออกมาในระยะไกลได้ ทว่าในส่วนล่างของอาคารก็จะถูกรั้วและต้นไม้ใบบังเยอะแยะไปหมดจริงๆ มันก็มีมุมสวยๆ ที่ถ่ายจากด้านหน้าหรือด้านข้างได้บ้างเช่นกัน แต่เมื่อหาที่สูงในระยะและองศาที่พอเหมาะอย่างมุมนี้ได้ทุกอย่างก็จบข่าว เหลือเพียงรอจังหวะเวลาอันเหมาะสมสำหรับการบันทึกภาพเพียงอย่างเดียว เท่านั้น
ผมมองหาจุดถ่ายภาพนี้ตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ ขอเขาขึ้นไปดูสถานที่ก่อน ว่ามันใช่อย่างที่คิดไว้หรือเปล่า เมื่อเห็นว่าใช่แต่เวลายังไม่ได้ ก็บอกเขาไว้ล่วงหน้าว่าเย็นๆ จะกลับมาอีกที เพื่อ(หวังว่า)จะได้ถ่ายภาพใต้แสงสีทองของยามเย็นต่อไปจนถึงช่วงหัวค่ำที่จะ มีการเปิดไฟส่องไปยังมัสยิดด้วย เป็นมุมถ่ายภาพที่ต้องแลกมาด้วยราคาค่อนข้างแพงครับ เพราะจุดที่ว่านี้คือร้านอาหารหรูหราบนดาดฟ้าโรงแรม ขอเขาถ่ายภาพแล้วก็เลยต้องดินเนอร์บนนั้นไปด้วยตามมารยาท แต่ก็นับว่าคุ้มเกินคุ้มล่ะครับ เพราะนอกจากจะถ่ายภาพบลูมอส์กได้สวยงามแล้ว ยังถ่ายภาพอญาโซเฟียได้อีกด้วย (แต่เนื้อที่มีจำกัดลงทุกภาพคงไม่ได้ เอามาให้ชมเป็นตัวอย่างพอให้ได้ไอเดียครับ)
EOS 5D MK II, LENS EF 50 MM. F/1.2L, 1/100 Sec. F/8, ISO 200

plan105_02

A : “ Hagia Sophia” เย็นวันแรกผมเลือกขึ้นไปถ่ายภาพจากมุมสูงในระยะไกลมาแล้ว และก็ได้ภาพเป็นที่น่าพอใจ เย็นวันที่สองจึงเปลี่ยนสถานที่ มาปักหลักตั้งขาถ่ายภาพจากระยะใกล้บริเวณสวนสาธารณะที่คั่นกลางระหว่างอญาโซเฟียกับมัสยิดบลูมอส์กแทน เพื่อให้ได้ภาพที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น มุมประมาณนี้ถือเป็นมุมมาตรฐานของอญาโซเฟียก็ว่าได้ครับ หามุมได้แล้วก็รอจังหวะเวลาที่น้ำพุพุ่งเป็นทรงสวยๆ เพราะน้ำพุจะปรับเปลี่ยนทรงไปเรื่อยๆ สูงบ้าง เตี้ยบ้าง กว้างบ้าง แคบบ้าง สลับกันไป พร้อมด้วยการสลับสีของไฟเป็นระยะๆ ด้วย ทีแรกผมคิดว่าจำนวนคนมากมายหน้าน้ำพุไม่น่าจะเป็นปัญหา ถ้าหากว่าใช้ความไวชัตเตอร์ต่ำๆ เดี๋ยวคนที่เคลื่อนไหวก็จะเบลอไปเอง แต่เอาเข้าจริง ด้วยตัวน้ำพุที่เปลี่ยนรูปไปเรื่อย แถมด้วยไฟที่สลับสีไปอีก จึงทำให้ไม่สามารถใช้เวลานานอย่างที่คิดได้  สุดท้ายก็ต้องยอมถ่ายภาพแบบติดคนมาด้วยอยู่ดี รอจังหวะให้มีคนน้อยที่สุดแล้วก็กดชัตเตอร์มา จะรอจนกว่าคนหมดก็ยากอีก เพราะท้องฟ้าจะค่อยๆ มืดดำลงไปอย่างรวดเร็ว รอไปก็ไม่ได้ฟ้าสีนี้แน่ๆ ครับ ทางแก้เพียงทางเดียวก็คือตั้งขาให้มั่น ถ่ายท้องฟ้าเก็บไว้ก่อนแล้วค่อยถ่ายส่วนน้ำพุโล่งๆ มาซ้อนในภายหลัง ซึ่งผมก็คิดได้ แต่ไม่ได้ทำ เพราะผมไม่ชอบทำอะไรแบบนั้นเท่านั้นเอง ส่วนคุณจะทำก็ได้ไม่ว่ากันครับ
EOS 5D MK II, LENS EF 50 MM. F/1.2L, 1 Sec. F/8, ISO 200
B : “ Harem” ฮาเร็ม คือส่วนที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดภายในพระราชวังท๊อปกาปึครับ ซึ่งมันก็สวยงามสมราคา ทว่าปัญหาสำหรับการถ่ายภาพคือ มันเป็นห้องหับที่มีแสงน้อยถึงน้อยมาก ไม่มีการเปิดไฟประดับประดา ขาตั้งกล้องก็ไม่ให้ใช้ เรียกว่า ISO ตั้งได้เท่าไรก็แทบจะต้องเอามาใช้จนหมดหน้าตักกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับท่านที่ไม่ได้มีเลนส์ช่องรับแสงกว้างๆ เป็นตัวช่วย ก็จำต้องใช้ ISO สูงอย่างเลี่ยงไม่ได้จะมีน้งมีน้อยซ์อะไรต้องยอมปล่อยๆ มันไปก่อนครับ ค่อยไปหาทางกำจัดทิ้งภายหลัง (หรือจะเปิดระบบลดน้อยซ์ในตัวกล้องไปเลยก็ได้ ถ้าขี้เกียจทำ) เทคโนโลยีลดความสั่นไหวในกล้องในเลนส์จะได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าก็นาทีนี้ล่ะครับ เปิดใช้มันให้เต็มระบบ และหลังจากถ่ายภาพแล้วเพื่อความชัวร์ ให้พรีวิวขยายภาพตรวจสอบความคมชัดทันที อย่าได้นิ่งนอนใจกับการดูภาพขนาดเล็กโดยไม่ขยายนะครับ ตกม้าตายกันมานักต่อนักแล้ว สถานที่แบบนี้ใช่ว่าจะกลับมาถ่ายซ้ำได้ง่ายๆ บ่อยๆ ซะที่ไหน ฉะนั้นอย่าประมาทเป็นดีที่สุดครับ อ้อ! ที่สำคัญมากๆ อีกอย่างคือ ฮาเร็มเป็นส่วนที่ต้องจ่ายค่าเข้าเพิ่มเป็นพิเศษ แถมยังปิดก่อนประตูทางเข้าหลักด้วย ฉะนั้นอย่าเข้ามาใกล้เวลาปิดนะครับ ไม่เช่นนั้นจะเข้าไปในส่วนฮาเร็มไม่ได้ และถ้าจะเข้ามาอีกในวันรุ่งขึ้น ก็ต้องจ่ายค่าตั๋วเข้าพระราชวังก่อนอีกครั้งหนึ่ง เท่ากับต้องเสียเงินซ้ำซ้อนไปโดยใช่เหตุ
EOS 5D MK II, LENS TS-E 24  MM. F/3.5L II, 1/60 Sec. F/4, ISO 1600
C : “ Spice Bazaar” ผมใช้เวลาช่วงค่ำมืดในการเข้าไปถ่ายภาพตลาดเครื่องเทศ เพราะยังไงมันก็เป็นอาคารปิด ที่อาศัยความสว่างจากแสงไฟเป็นหลักอยู่แล้ว หลังถ่ายภาพช่วงโพล้เพล้เรียบร้อย ผมเอาอุปกรณ์ชุดใหญ่ไปเก็บไว้ที่ห้องพัก แล้วเดินตัวปลิวออกมาพร้อมกล้อง Fuji X100 เพียงตัวเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ ทำตัวให้เบาสบายเดินถ่ายภาพได้คล่องแคล่วที่สุดนั่นล่ะครับ ลองคิดดูว่าถ้าเราแบกเป้ใบใหญ่ พร้อมขาตั้งกล้องเข้าไปด้วย มันคงขลุกขลักอีหลักอีเหลื่อน่าดูเวลาจะถ่ายภาพแต่ละที เดี๋ยวคนโน้นเดินชน คนนี้เดินเตะ ไหนจะต้องพะวงกับพวกลักเล็กโขมยน้อยที่อาจจะหยิบฉวยอะไรจากเราไปได้ ในสถานที่อย่างนี้ อุปกรณ์ที่มากเกินไปจะกลายเป็นอุปสรรคมากกว่าตัวช่วยครับ ถ้าหากคุณไม่ได้มีกล้องแบบเดียวกับผมหรือกล้องคอมแพค ก็ควรเลือกเอาเลนส์ตัวใดตัวหนึ่งติดกล้องห้อยคอไปตัวเดียวพอครับ ซึ่งแนะนำว่าควรเป็นเลนส์ช่วงมุมกว้างไว้ก่อน เพราะมันจะเป็นการถ่ายภาพในระยะประชิดไม่มีที่ทางให้ถอยอะไรได้มากนัก
Fuji FinePix X100, LENS 35  MM. F/2, 1/125 Sec. F/4, ISO 400

นอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว ในยานเมืองเก่ายังมีตลาดที่น่าสนใจอีกสองแห่ง แห่งหนึ่งเรียกว่า “แกรนด์บาร์ซาร์” คือตลาดขายสินค้าขนาดใหญ่คล้ายๆ จตุจักร ที่มันเด็ดก็เพราะเป็นตลาดปิดที่มีหลังคาคลุมทั่วบริเวณ จริงๆ มันเหมาะกับนักช้อปมากกว่าครับ เพราะเป็นแหล่งรวมสินค้าที่ระลึกจากทั่วประเทศตุรกี ทว่ากับนักถ่ายภาพ(กึ่งท่องเที่ยว) ก็น่าเดินไปเก็บบรรยากาศการค้าขายอันคึกคักไว้บ้าง เช่นเดียวกับตลาดอีกแห่งหนึ่งที่เรียกว่า “สไปซ์บาร์ซาร์” หรือก็คือตลาดเครื่องเทศ ที่นอกเหนือไปจากเครื่องเทศนานาชนิดแล้ว ยังมีขนมพื้นเมืองชื่อดังอย่าง “เตอร์กิชดีไลท์” มีทั้งชา กาแฟ ผลไม้อบแห้งสารพัดสารพัน ช้อปไป ชิมไป ถ่ายภาพไป สนุกอย่าบอกใครเชียว

ใกล้ๆ กับตลาดเครื่องเทศมีสะพาน “กาลาตา” ใช้ข้ามช่องแคบบอสฟอรัส มีทั้งส่วนที่ให้รถยนต์ข้าม คนเดินข้าม และส่วนให้รถรางข้ามได้ เป็นอีกจุดที่แนะนำสำหรับนักถ่ายภาพ เพราะบริเวณนี้ยังเป็นท่าเรือข้ามฟากขนาดใหญ่อีกด้วย ทั้งริมฝั่งหรือบนสะพานเป็นจุดถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ของเมืองใหม่อิสตันบูลที่ยอดเยี่ยม รวมไปถึงภาพแนวสตรีทและแนววิถีชีวิต เพราะผู้คนคึกคักขวักไขว่มากๆ ตามราวสะพานเต็มไปด้วยนักตกปลานับร้อยๆ คน ตั้งแต่เช้ายันค่ำเลยทีเดียว

สรุปแล้วแนวทางการถ่ายภาพในเมืองเก่าอิสตันบูลสำหรับผม ยึดเอาการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเป็นหลัก โดยมีภาพวิถีชีวิตและสตรีทเป็นแนวทางเสริม (ในส่วนนี้แล้วแต่ชอบนะครับ เพราะบางท่านอาจเอาแนวสตรีทและวิถีชีวิตเป็นหลัก โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นส่วนเสริมก็ได้) กับเวลา 3 วัน 2 คืน ที่มีให้อิสตันบูล ผมวางแผนถ่ายภาพคร่าวๆ ไว้ดังนี้ครับ

บ่ายวันแรกหลังเช็คอินเข้าที่พัก ออกมาเดินเตร่แถวๆ หน้าอญาโซเฟีย เพราะอยู่ในทิศทางตามแสงพอดี และแว่บเข้าไปถ่ายภาพภายในมัสยิดบูลมอส์กไว้ก่อน เพราะไม่มีเรื่องของทิศทางแสงเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด (แต่ควรเป็นสาย เที่ยง หรือบ่ายต้นๆ เพื่อให้ภายในมีแสงธรรมชาติจากหน้าต่างเข้ามาให้ความสว่างมากหน่อย) ออกจากบูลมอส์ก แวะเก็บเสาโอเบลิส์กไว้ด้วยเลยเพราะอยู่ติดๆ กันพอดี

ช่วงเย็นหาร้านอาหารบนดาดฟ้าที่อยู่ทางทิศตะวันตกของบลูมอส์ก เพื่อถ่ายบลูมอส์กจากมุมสูงโดยหวังจะได้แสงสีทองอาบไล้ไปบนตัวมัสยิด และมีฉากหลังเป็นช่องแคบบอสฟอรัสเป็นของแถม ถ้ามุมดีก็อยู่เลยเถิดจนถึงช่วงหัวค่ำไปเลย

เช้าวันที่สอง ตื่นแต่เช้าไปลุ้นแสงแรกของวันแถวๆ หน้าอญาโซเฟียและบลูมอส์ก สายๆ เดินเข้าไปในพระราชวังท๊อปกาปึ เก็บภาพสถาปัตยกรรมตามมุมที่ถูกใจ แล้วเข้าไปเก็บภาพลายกระเบื้องสวยๆ ในฮาเร็ม

ช่วงบ่ายเดินไปสะพานกาลาตา แล้ววกกลับมาถ่ายภาพอญาโซเฟียและบลูมอส์กให้ทันช่วงโพล้เพล้จากด้านหน้าไว้อีกมุมหนึ่ง(เมื่อเย็นวานได้มุมสูงจากที่ไกลๆ ไปแล้ว) จากนั้นเข้าที่พัก เก็บอุปกรณ์ชุดใหญ่ไว้ เอากล้องตัวเล็กเข้าไปเดินเล่นในตลาด

เช้าวันสุดท้าย เลือกเอาระหว่างไปถ่ายหน้าอญาโซเฟียกับบลูมอส์กซ้ำ หรือจะเดินไปเก็บบรรยากาศแถวๆ สะพานกาลาตา สายๆ กลับมาเก็บทางระบายน้ำใต้ดินที่อยู่ใกล้ๆ กับอญาโซเฟียเป็นการปิดท้าย เพราะจุดนี้ถ่ายภาพตอนไหนก็ได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นชั้นใต้ดินที่อาศัยความสว่างจากแสงไฟล้วนๆ

จากแผนการนี้จะเห็นได้ว่า ผมไม่ได้ไปไหนไกลเลยครับ วนเวียนกลับมาถ่ายภาพซ้ำๆ อยู่แถวๆ บลูมอส์กกับอญาโซเฟียเป็นหลัก นั่นเป็นเพราะสถาปัตยกรรมทั้งสองแห่งนี้นับได้ว่าเป็น “แลนด์มาร์ค” ของอิสตันบูลอย่างแท้จริง ไปถึงแล้วต้องเอาให้อยู่ จึงให้ความสำคัญและให้เวลากับทั้งสองแห่งนี้มากเป็นพิเศษ ประกอบกับมันเป็นอาคารขนาดใหญ่โตมากๆ สามารถหามุมถ่ายภาพได้หลายจุดพอสมควร เช้าก็ได้ บ่ายก็ดี แถมยังมีการเปิดไฟประดับอาคารในยามค่ำคืนอีกด้วย ดังนั้นช่วงโพล้เพล้ท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงิน จึงควรไปเฝ้าเก็บภาพไว้อย่างพลาดไม่ได้อีกเช่นกัน

plan105_03

“ The Basilica Cistern” ทางระบายน้ำใต้ดินนี้ เข้ามาถ่ายภาพตอนไหนก็ได้ครับ เพราะใช้แสงไฟล้วนๆ โดยไม่มีแสงธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง หลักๆ ที่พลาดไม่ได้คือภาพรวมๆ ภายใน ที่เป็นเสาค้ำหลังคาโดยมีด้านล่างเป็นพื้นน้ำ กับโคนเสาสองอันที่มีการแกะสลักหินเป็นรูปหัวเมดูซ่า ปัญหาของการถ่ายภาพในนี้คือ แสงสว่างที่น้อยมาก และห้ามใช้ขาตั้งกล้อง ทางแก้คือใช้เทคโนโลยีช่วยเหมือนเดิมครับ ตั้ง ISO สูงๆ ร่วมกับการใช้ระบบป้องกันภาพสั่นไหว กับการเปิดช่องรับแสงกว้างๆ ก็พอจะทำให้ได้ภาพที่คมชัดได้บ้างสำหรับหัวเมดูซ่า
แต่กับภาพรวมของอาคาร มันควรต้องใช้ช่องรับแสงแคบเพื่อให้ได้ช่วงความชัดมากพอ ดังนั้นผมจึงต้องลงไปนอนหมอบกับพื้น วางกล้องลงไปแล้วใช้ ISO ต่ำๆ ช่องรับแสงแคบๆ เพื่อให้ได้ทุกอย่างที่ต้องการ จากนั้นใช้ระบบไลฟ์วิวเพื่อทำการเล็งมุมภาพคร่าวๆ ต่อด้วยการขยายภาพขึ้นมาแล้วโฟกัสให้เข้าจุดที่ต้องการ เพราะใช้เลนส์ TS-E ซึ่งมันเป็นแมนนวลโฟกัสอยู่แล้ว และสำหรับคนที่ใช้ระบบออโตโฟกัส ก็ควรจะเปลี่ยนมาใช้แมนนวลเช่นกันครับ เพราะแสงน้อยมาก เลนส์จะโฟกัสไม่ได้(กระบอกเลนส์หมุนกลับไปกลับมาไม่หยุด) หรือได้ก็อาจจะผิดจุดอยู่ดี สถานการณ์นี้เหมาะกับการใช้แมนนวลโฟกัสมากกว่าครับ
พยายามถ่ายภาพให้กว้างๆ เข้าไว้ ใช้เลนส์มุมกว้างสุดเท่าที่มี มันจะเอียงบ้างอะไรบ้างช่างมันครับ เรามาหมุนภาพมาปรับแก้ความเอียงแล้วครอปภาพจากซอฟท์แวร์ในภายหลังอีกที เพราะการเล็งกล้องและวางกล้องให้ตรงในสถานที่นั้นมันทำได้ยากมาก ทั้งคับแคบและนักท่องเที่ยวเยอะมาก มืดก็มืด ดีไม่ดีจะมีคนเดินมาเตะกล้องตกน้ำไปแบบไม่รู้ตัวเอาได้
ในกรณีแบบนี้ถึงผมจะไม่ชอบใจนัก ที่ต้องมาทำภาพต่อในภายหลัง แต่มันเป็นสถานการณ์ที่เลือกและเลี่ยงอะไรไม่ได้เลยจริงๆ ครับ อย่างภาพตัวอย่างนี้ผมพยายามแล้วพยายามอีกตั้งแต่ก่อนถ่าย เพื่อจะวางกล้องให้มันตรงที่สุด เพราะขี้เกียจมาทำภายหลังอย่างว่า แต่ยังไงมันก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องมาหมุนอีกนิดแล้วครอปภาพมาใช้อยู่ดี ยังดีที่มันไม่เอียงมากก็เลยไม่ต้องครอปมาก องค์ประกอบภาพจึงได้ใกล้เคียงกับที่ตั้งใจไว้

EOS 5D MK II, LENS TS-E 24  MM. F/3.5L II, 1/13 Sec. F/8, ISO 400

บางท่านอาจคิดว่าการไปซ้ำครั้งที่สองยังต้องเอาจริงเอาจังขนาดนี้เลยหรือ เรื่องนี้มีเหตุผล 2 ข้อครับ ประการแรก ครั้งก่อนที่ผมเดินทางไปนั้น ยังใช้ฟิล์มสไลด์อยู่เลยครับ มันไม่สะดวกกับการใช้งานกับระบบพิมพ์ในปัจจุบันเอาซะเลย ครั้งนี้ก็เลยต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกที

ประการต่อมาก็คือ ด้วยความเป็นนักถ่ายภาพเข้าเส้น ถ้าตั้งใจจะถ่ายแล้วไม่ว่ามันจะเป็นครั้งที่เท่าไร ยังไงผมเต็มที่เสมอครับ และที่แน่ๆ ผมมีโอกาสนำภาพมาให้เช่าในภายหลังได้ด้วย ซึ่งภาพลักษณะนี้ต้องการคุณภาพสูงสุดในทุกๆ ด้านเสมอ

ในส่วนของอุปกรณ์ แน่นอนว่าเลนส์มุมกว้างมากๆ เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการถ่ายภาพอาคารขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากในสถานที่จริงนั้นมีลานกว้าง ให้ถ่ายภาพจากระยะไกลได้พอสมควร เลนส์นอร์มอล กระทั่งช่วงเทเลโฟโต้ก็สามารถนำออกมาใช้ได้เช่นกัน และยังทำให้อาคารไม่บิดเบี้ยวผิดสัดส่วนอีกด้วย
ส่วนการถ่ายภาพภายในตลาด ในพระราชวังท๊อปกาปึ รวมไปถึงทางระบายน้ำใต้ดิน ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ขาตั้งกล้องได้ เลนส์ที่มีช่องรับแสงกว้างๆ เป็นสิ่งจำเป็นและต้องใช้ร่วมกับการตั้ง ISO สูง ร่วมกับระบบลดความสั่นไหว เพื่อความคมชัดของภาพ

แต่นอกเหนือไปจากนั้น จุดไหนที่ใช้ขาตั้งกล้องได้ก็ควรใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายภาพในช่วงโพล้เพล้ อันนี้ต้องใช้แน่ๆ ขาตั้งกล้องจึงเป็นอุปกรณ์ที่ต้องนำติดตัวไปด้วยเสมอ (แต่ถ้าได้ที่พักทำเลดี ก็ทิ้งไว้ในห้องได้บ้าง ไม่ต้องแบกทั้งวัน โดยเฉพาะถ้าเข้าไปถ่ายภาพในตลาดอันนั้นไม่น่าแบกไปให้เกะกะ ค่อยแวะกลับมาเอาไปใช้ในช่วงเย็นๆ ก็ได้ ส่วนในพระราชวังกับทางระบายน้ำใต้ดิน สามารถฝากไว้ที่หน้าทางเข้าแล้วค่อยมารับคืนเมื่อกลับออกมาได้)

plan105_04
“ Galata Bridge” บริเวณนี้อาจไม่ใช่จุดท่องเที่ยวสำคัญของอิสตันบูล แต่สำหรับนักถ่ายภาพแล้วผมแนะนำว่าไม่ควรพลาด เพราะมันเป็นจุดที่ถ่ายวิวทิวทัศน์ของเมืองได้ดีทีเดียว และเป็นจุดที่ถ่ายภาพวิถีชีวิต ถ่ายแคนดิทผู้คน ถ่ายภาพแนวสตรีท ได้สนุกมากๆ  ยามเช้าอาจจะเงียบสงบหน่อย แต่สายๆ ไปจนถึงหัวค่ำรับรองว่าคึกคักมีอะไรให้ถ่ายภาพได้ทั้งวัน เป้าหมายอันดับหนึ่งคือนักตกปลานับร้อย ที่เราสามารถเลือกได้เลยว่าจะถ่ายภาพคนไหน เพราะเท่าที่เดินถ่ายภาพมาประชาชนคนตุรกี โดยเฉพาะเพศชายไม่กลัวเกรงการถูกถ่ายภาพเลย เรียกปุ๊ปยิ้มปั๊ป หรือเก๊กหล่อให้ถ่ายก็มี เผลอๆ ได้จิบชาร้อนเป็นของแถมอีกต่างหาก นอกนั้นก็เป็นร้านค้ารถเข็นนานาชนิด ทั้งของกิน เครื่องดื่ม รับรองว่าแปลกหูแปลกตาน่าถ่ายภาพไปหมด บรรยากาศของคนที่ขึ้น-ลงเรือข้ามฟากก็เป็นอีกอย่างที่น่าเก็บภาพไว้
ตัวสะพานกาลาตานั้นด้านบนริมสะพานทั้งสอกฟาก เป็นทางเดินกว้างใหญ่ ที่แม้จะมีนักตกปลานับร้อยยืนเรียงแถวยืดพื้นที่ไว้ แต่ก็ยังมีที่ว่างเหลือเฟือสำหรับคนเดินผ่านไปมา และที่พิเศษคือใต้สะพานก็เดินได้ด้วย! เพราะทำเป็นร้านอาหารสำหรับนั่งกินลมชมวิว ซึ่งจะคึกคักคึกครื้นมากในช่วงเย็นต่อเนื่องไปจนถึงหัวค่ำ หรือจะรอจังหวะถ่ายเรือข้ามฟาก เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ที่ลอยลำผ่านไปผ่านมา เป็นฉากหน้าของภาพเมืองใหญ่ก็ได้อีกเหมือนกัน คือถ้าไม่ได้เที่ยวแบบเน้นอะไรที่มันเป็นแลนด์มาร์คล่ะก็ ตรงนี้เป็นจุดถ่ายภาพที่เพลินได้ทั้งวันจริงๆ ครับ
ข้อระวังเพียงอย่างเดียวคือพวกลักเล็กโขมยน้อย นั่นล่ะครับ กระเป๋าสตางค์ พาสปอร์ทควรเก็บให้มิดชิดปลอดภัย อย่าได้เผลอวางกระเป๋าโดยไม่ได้จับ เพราะหันกลับมาอีกที มันอาจไม่อยู่ให้ได้เห็นหน้าอีกก็เป็นได้ เมืองใหญ่ๆ ปัญหาอย่างนี้เป็นเรื่องปกติครับ ถ้ามันหายไปอย่าหวังว่าจะได้คืน ทำได้อย่างเดียวคือ “ทำใจ”
EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/400 Sec. F/8, ISO 200

เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง


  • บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
    Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
    Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
    Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ