Knowledge

Interviews : วรรณชนก สุวรรณกร

วรรณชนก สุวรรณกร

แรงบันดาลใจจากความรัก ความหลงใหลในธรรมชาติและสัตว์ป่า กับงานดูแลและพิทักษ์สัตว์ป่านานนับทศวรรษของเขา ได้สร้างสรรค์ภาพถ่ายนกอันงดงามจากมุมมองที่มีเอกลักษณ์

แนะนำตัวหน่อยครับ
ปัจจุบันผมรับราชการ ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ทำหน้าที่หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บนํ้าสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ สังกัด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ครับ

แรงจูงใจให้หันมาถ่ายภาพ
แรงจูงใจในการถ่ายภาพน่าจะเริ่มมาจากการที่ได้เห็นภาพถ่ายสัตว์ป่าและธรรมชาติสวยๆ ทั้งจากหนังสือของไทยและต่างประเทศรวมทั้งหนังสารคดีสัตว์ป่าต่างๆ ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ทำให้เริ่มมีความฝันว่าอยากจะถ่ายภาพให้ได้อย่างที่เห็นในหนังสือบ้าง จนในช่วงปี 2533 ผมได้ย้ายจากงานด้านการอนุรักษ์ต้นนํ้ามาปฎิบัติงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ในช่วงนั้นผมได้เริ่มหัดดูนกด้วย เลยทำให้เห็นความสวยงามของนกชนิดต่างๆ รวมทั้งสัตว์ป่าอื่นๆ ในธรรมชาติจนเกิดความประทับใจ เลยตัดสินใจซื้อกล้องถ่ายภาพตัวแรกหลังจากย้ายมาทำงานที่ป่าภูเขียวได้ 1 ปี และก็ได้เริ่มต้นหัดถ่ายภาพตั้งแต่ตอนนั้น

คุณถ่ายภาพสัตว์ป่าเมื่อไร ใช้ภาพกับงานที่ทำด้วยหรือไม่
ตั้งแต่ได้กล้องตัวแรกพร้อมเลนส์ 50 มม. มาแล้ว ก็เริ่มหัดถ่ายภาพทุกอย่างทั้ง คน ต้นไม้ ใบไม้ วิว ทิวทัศน์ ห้วย หนอง คลอง บึง ภูเขา นํ้าตก ส่วนสัตว์ป่าก็จะถ่ายสัตว์ทุกชนิดที่พบเห็น ทั้ง เก้ง กวาง กบ เขียด นก แมลง ซึ่งในช่วงแรกๆ ภาพที่ถ่ายมาก็ดูได้บ้างไม่ได้บ้าง จนปี 2535 ถึงจะมีเลนส์เทเลฯตัวแรกใช้ เป็นเลนส์ 70-210 มม. F5.6 ทำให้ภาพถ่ายสัตว์ป่าพอดูรู้เรื่องขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะภาพนกที่พอจะเห็นเป็นนกกับเค้าขึ้นมาหน่อย และในช่วงนั้นก็เริ่มได้ใช้ภาพที่ถ่ายมาฉายขึ้นจอสไลด์บรรยายให้ความรู้กับผู้ที่เข้ามาศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ รวมทั้งอัดขยายจัดทำนิทรรศการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานร่วมกับภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ จากนั้นก็พัฒนาการถ่ายมาเรื่อยๆ แล้วก็ได้ใช้ภาพถ่ายมาเป็นสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ผมได้มีโอกาสไปปฎิบัติงานครับ

แล้วเริ่มถ่ายภาพนกอย่างจริงจังนานหรือยังครับ
ผมเริ่มมาถ่ายภาพนกจริงจังขึ้นก็น่าจะอยู่ในช่วงปี 2537 ซึ่งตอนนั้นมีเลนส์ Reflex 500 มม. F8 ใช้แล้ว ทำให้การถ่ายนกหรือสัตว์ป่าอื่นๆ สนุกขึ้น แต่ภาพที่ได้ก็ยังถือว่าถ่ายออกมาเสียมากกว่าดี จนมาถึงยุคดิจิตอลถึงได้ถ่ายภาพนกมากขึ้นเพราะไม่ต้องติดปัญหาเรื่องค่าฟิล์มหรือเรื่องฟิล์มหมดในป่า ซึ่งกว่าจะได้เข้ากรุงเทพฯไปซื้อฟิล์มใหม่ทีก็อาจต้องรอเดือนละครั้งหรือนานกว่านั้น จนมาถึงช่วงปี 2557 ที่ผมได้ย้ายไปปฎิบัติงานที่หน่วยควบคุมพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นการทำงานในพื้นที่ชุ่มนํ้าเป็นครั้งแรกของผม ถือว่าเป็นการถ่ายภาพนกในพื้นที่ชุ่มนํ้าอย่างจริงจัง แล้วก็ติดตามถ่ายต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันที่ได้ย้ายมาปฎิบัติงานที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บนํ้าสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์

การถ่ายภาพนกมีความแตกต่างจากการถ่ายภาพสัตว์ป่าอื่นๆ อย่างไรหรือไม่
ในด้านของกฎกติกาคงไม่แตกต่างกัน คือ ต้องเป็นการรบกวนสัตว์ให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการรบกวนที่ส่งผลถึงโอกาสในการหากิน การสืบพันธุ์ หรือความปลอดภัยในตัวสัตว์ รวมถึงการใช้บังไพรเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ระแวงจนไม่ยอมปรากฎตัวให้เห็นหรือหนีไป แต่การถ่ายภาพนกอาจมีความผ่อนคลายมากกว่าการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนํ้านม เนื่องจากนกไม่ค่อยมีปัญหาต่อกลิ่นแปลกปลอมของมนุษย์ ต่างจากสัตว์ป่าอื่นๆ ที่มีประสาทสัมผัสหรือสัญชาตญานในการระวังไพรสูงกว่า เช่น ช้าง กระทิง กวาง เก้ง หมาใน เพียงแค่ได้กลิ่นคน หรือเสียงที่เกิดจากมนุษย์ซึ่งสัตว์ป่าสามารถแยกแยะออกได้จากระยะไกล ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สัตว์หลบหนีไม่ยอมปรากฎตัวให้เห็น นอกจากนี้นกยังเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายของชนิดมากกว่าสัตว์หลายๆ ประเภท นกหลายชนิดมีสีสันสวยงาม บางชนิดถึงไม่มีสีสันฉูดฉาดแต่ก็มีพฤติกรรมน่ารัก และนกยังสามารถพบเห็นได้แทบทุกที่ในแต่ละสภาพแวดล้อม เช่นในสวน ไร่ นา ในป่า ตามแหล่งนํ้า รวมทั้งในเมือง ในหลายๆพื้นที่ที่นกมีความคุ้นเคยกับคน ก็อาจยอมให้คนเข้าใกล้ได้โดยไม่ต้องใช้บังไพร เพียงแต่ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อมที่นกอาศัยหากินอยู่ ก็สามารถที่จะถ่ายภาพนกได้ในระยะที่ต้องการโดยไม่เป็นการรบกวนพวกเค้ามากจนเกินไป ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีและน่าจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้มีคนนิยมถ่ายภาพนกมากกว่าการถ่ายภาพสัตว์ป่าอื่นๆ ซึ่งมีโอกาสพบเห็นตัวได้ยากกว่า

สิ่งสำคัญในการถ่ายภาพนกคืออะไร
น่าจะเหมือนกับการถ่ายภาพสัตว์ป่าทั่วๆ ไป คือต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนกและสถานที่ที่เราจะไปถ่าย จะทำให้โอกาสในการถ่ายภาพประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้มากขึ้น

ชนิดของนกสำคัญมากแค่ไหนกับช่างภาพนก นกหายากภาพจะมีคุณค่ามากกว่าเสมอไปหรือไม่
ไม่ว่าภาพนกที่หายากหรือภาพนกทั่วๆ ไปต่างก็มีคุณค่าในตัวเอง คงจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละคนว่าต้องการถ่ายภาพไปเพื่ออะไร สำหรับตัวผมเองการถ่ายภาพนกเป็นทั้งเรื่องความสุขส่วนตัวและถ่ายเพื่อนำไปใช้งานในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายภาพในพื้นที่ที่เราปฎิบัติงานอยู่เป็นหลัก ส่วนใหญ่ก็จะมีนกทั่วๆ ไปและอาจพบนกหายากบ้างในบางครั้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่เรามีโอกาสพบเห็นหรือได้ถ่ายภาพนกที่หายากโดยเฉพาะเป็นการพบเค้าเป็นครั้งแรกก็ถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เหมือนกับตอนที่เราเคยดูนกมาก่อนก็อยากจะพบเห็นนกชนิดใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นการได้พบได้รู้จักเพื่อนใหม่ไปในตัว ส่วนที่ว่าจะมีคุณค่ามากน้อยอย่างไรก็อยู่ที่ผู้ถ่ายจะนำภาพไปใช้ประโยชน์อะไร ที่แน่ๆ คือการสร้างความสุขส่วนตัวให้กับผู้ถ่ายเป็นลำดับแรกแล้ว แต่ถ้ามีการนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะชนหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ ก็เป็นการเพิ่มคุณค่าของภาพถ่ายต่อการอนุรักษ์ แต่ถ้าจะนำมาเปรียบเทียบกันผมว่าไม่ว่านกหายากหรือนกทั่วๆ ไปต่างก็มีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต่างกัน เพียงแต่นกหายากส่วนใหญ่หรือหลายชนิดอาจจะเผชิญอยู่กับภาวะใกล้หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็จะมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบให้กับนกจนลดจำนวนลง จึงถือเป็นการรับผิดชอบร่วมกันที่จะช่วยในการอนุรักษ์ และภาพถ่ายนกที่หายากก็ถือว่าเป็นสื่อที่สำคัญในการช่วยอนุรักษ์นกเหล่านี้

แต่ปัจจุบันผมชอบที่จะติดตามถ่ายภาพนกทั่วๆ ไปที่หาตัวง่ายหรือยังมีจำนวนค่อนข้างเยอะแต่ค่อนข้างจะคุ้นคน ทำให้สามารถเข้าใกล้ได้ง่ายและสร้างโอกาสในการได้ภาพดีๆ เพื่อนำไปเป็นสื่อจัดนิทรรศการของหน่วยงานสำหรับเผยแพร่ให้กับนักเรียน และคนทั่วๆ ไปในพื้นที่ให้เห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของนก เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่อาจจะเคยเห็นหรือคุ้นเคยกับนกแถวบ้านเค้ามานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเค้ามีประโยชน์หรือมีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง การใช้ภาพถ่ายนกไม่ว่าจะในแง่ของความสวยงามหรือพฤติกรรมที่สร้างความน่าประทับใจ น่าจะช่วยให้ผู้ที่เข้ามาชมภาพถ่ายในนิทรรศการได้รับความรู้หรือมีความสนใจเกี่ยวกับนกมากขึ้น โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นชนิดนกที่หายาก และยังอาจมีส่วนช่วยให้นกที่ยังพบเห็นได้ทั่วๆ ไปในวันนี้ไม่กลายนกที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ในอนาคต

ความอดทนเป็นสิ่งแรกของการถ่ายภาพนกเลยหรือไม่
ผมว่าการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนกและสถานที่ที่เราจะไปถ่ายภาพน่าจะมาก่อน ถ้าศึกษาข้อมูลหรือทำการบ้านมาดีจะมีส่วนช่วยให้เราเตรียมตัวหรือสร้างโอกาสในการถ่ายภาพนกได้มากขึ้น ส่วนเรื่องความอดทนในการเฝ้ารอคอยเพื่อที่จะได้ถ่ายภาพนกนั้น ผมเชื่อว่านักถ่ายภาพส่วนใหญ่จะพกเป็นคุณสมบัติประจำตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะเวลาในการรอคอยให้สัตว์ปรากฏตัวหรือเข้ามาอยู่ในระยะ มุมมองที่ต้องการ การถ่ายนกบางชนิดอาจต้องทนอยู่กลางแดดร้อนๆ ทั้งวัน การเดินทางไปถ่ายภาพนกบางชนิดอาจต้องใช้ระยะเวลาหลายเที่ยวหรือข้ามปีกว่าจะสมหวัง แต่ก็คงต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนด้วย บางคนเพียงแค่ต้องการออกไปสัมผัสธรรมชาติ ได้สูดอากาศบริสุทธิ ชมวิวทิวทัศน์ เป็นการพักผ่อน ถ้าได้พบตัวหรือได้ถ่ายภาพก็ถือเป็นโบนัสของแถมอีกชิ้นหนึ่งก็มี

ปัญหาในการถ่ายภาพนกที่พบเจอบ่อยคืออะไร แล้วคุณแก้ปัญหาอย่างไร
สำหรับผมก็คือระยะห่างระหว่างคนกับนกที่อยู่ค่อนข้างไกล โดยเฉพาะการถ่ายภาพนกตามแหล่งนํ้าต่างๆ จะค่อยๆ ขยับเดินเข้าหานกก็ไม่สามารถทำได้ เลยแก้ปัญหาด้วยการทำบังไพรที่สามารถลอยเคลื่อนที่ไปในนํ้าได้แล้วก็ออกแบบให้เป็นขาตั้งกล้องในตัว ซึ่งให้ผลที่ดีมากสามารถขยับเข้าใกล้นกหลายๆ ชนิดได้และยังสามารถเลือกมุมถ่ายหรือติดตามตัวนกขณะที่เค้ากำลังเคลื่อนที่หากินหรือทำกิจกรรมต่างๆ โดยนกไม่มีปฎิกริยาต่อบังไพร แต่ก็มีข้อจำกัดคือสามารถใช้ได้ในระดับนํ้าที่ลึกไม่เกินกว่าที่ยืนถึง แล้วก็เรื่องการประคองบังไพรให้นิ่งขณะถ่ายภาพ โดยเฉพาะเวลาที่มีลมพัดหรือคลื่นแรงๆ ครับ

ภาพนกที่ดีในความเห็นของคุณเป็นอย่างไร
ส่วนตัวผมชอบภาพนกที่แสดงพฤติกรรมออกมาตามธรรมชาติของเค้า ไม่แสดงถึงความหวาดระแวงต่อตัวคนถ่าย

คุณมีการเตรียมตัวอย่างไรเมื่อจะออกไปถ่ายภาพนก
ก็คงต้องย้อนไปที่การศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับนกและสถานที่ที่เราจะไปถ่ายภาพ โดยเฉพาะสถานที่ที่เราจะไปเป็นครั้งแรก บางครั้งอาจไม่ได้ลงมือถ่ายภาพในการไปเป็นครั้งแรก แต่ไปเพื่อศึกษาข้อมูลและพฤติกรรมของนกในพื้นที่ บ่อยครั้งที่พบว่านกชนิดเดียวกันในพื้นที่หนึ่งมีความคุ้นเคยกับคนสามารถถ่ายภาพได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้บังไพร แต่กับนกชนิดเดียวกันแต่ต่างสถานที่และสภาพแวดล้อม อาจถูกรบกวนจากมนุษย์หรือศัตรูในธรรมชาติสูง ทำให้นกมีความหวาดระแวงสูงตามไปด้วย การถ่ายภาพนกในสภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้บังไพรในการถ่ายภาพ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องปลีกย่อยต่างๆ เช่น ทิศทางที่ตะวันขึ้นหรือตกอยู่ด้านไหน มุมมองหรือความสวยงามในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ระดับนํ้าในช่วงไหนที่สามารถจะนำบังไพรลงไปถ่ายได้ พื้นที่บางแห่งในช่วงกลางวันอาจดูปกติสงบดี แต่พอถึงช่วงเย็นกลับเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านจะต้องต้อนควายฝูงใหญ่ลงเล่นนํ้าก่อนกลับเข้าคอก จนต้องรีบเข็นบังไพรหนีกันแทบไม่ทัน อย่างนี้ก็เจอบ่อยเหมือนกันครับ

คุณเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้างเมื่อออกไปถ่ายภาพนก
นอกจากกล้อง เลนส์ แบตเตอรี และเมมโมรี่การ์ดแล้ว ก็ยังมีบังไพรลอยนํ้า ชุดสำหรับลงนํ้าแบบที่นักดำนํ้าใช้ทั้งเสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว เพื่อป้องกันปลิงและการสัมผัสกับพืชนํ้าต่างๆ โดยตรงที่เราอาจจะแพ้ทำให้เกิดอาการคันได้ รองเท้าสำหรับนักดำนํ้าที่สามารถเดินลุยตามโคลนเลนได้ เอาไว้กันการเหยียบเปลือกหอยและสามารถเดินลุยโคลนเลนได้ง่ายสะดวก สนับเข่ากับสนับศอก สำหรับช่วยในการเดินเข่าหรือคลานศอกไปในกรณีที่ต้องเคลื่อนที่ไปในนํ้าที่ตื้นมากๆ ชุดกันฝนสำหรับกล้องและเลนส์ในกรณีที่อาจมีฝนตกกะทันหันขณะยังอยู่ในนํ้าหรือต้องการถ่ายภาพนกในสายฝน ไฟฉายสำหรับส่องทางขากลับเข้าฝั่งในช่วงหัวคํ่า แล้วก็ยังมีสบู่กับนํ้าอีกแกลลอนใหญ่สำหรับอาบหลังขึ้นจากนํ้าเพราะนํ้าในแหล่งนํ้าที่เป็นหนอง บึง ส่วนใหญ่อาจไม่สะอาดเพียงพอเหมือนกับนํ้าตามลำธารในป่า

กล้องมีส่วนสำคัญเพียงใดในการถ่ายภาพนก ระบบออโตโฟกัสสำคัญมากหรือไม่ในการถ่ายภาพนก
คุณภาพของไฟล์กล้องนับว่ามีส่วนสำคัญสำหรับการถ่ายภาพนกของผม เนื่องจากการใช้บังไพรลอยนํ้าจะไม่มีตัวยึดกล้องให้อยู่นิ่งกับพื้นเหมือนกับการใช้ขาตั้งกล้องบนพื้นดิน กล้องจึงมีการขยับเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาตามตัวบังไพร โดยเฉพาะเวลาที่มีลมพัดหรือมีคลื่น การใช้ค่า ISO สูงๆ เพื่อให้ได้ค่าชัตเตอร์สูงๆ จึงมีความจำเป็น อีกทั้งช่วงเย็นที่มีแสงน้อยๆ มักจะเป็นช่วงที่ดีอีกช่วงหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพ ทั้งในแง่ของสภาพแสงที่สวยงาม สีต่างๆ ที่มีความอิ่มตัวมากขึ้นกว่าในช่วงกลางวัน นกหลายชนิดที่กระจายกันออกหากินตามแหล่งต่างๆ ในช่วงกลางวันมักจะบินมารวมฝูงและแวะพักตามแหล่งนํ้าก่อนบินสู่แหล่งหลับนอน ส่วนนกที่หากินในช่วงกลางคืนก็จะตื่นจากการพักผ่อนและเริ่มมีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ก่อนบินออกไปยังแหล่งอาหาร ส่วนระบบออโตโฟกัสก็นับว่ามีส่วนสำคัญต่อการถ่ายภาพนกสำหรับผมเช่นกัน บ่อยครั้งที่นกแสดงพฤติกรรมที่เราต้องการถ่ายออกมากระทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ในกรณีนี้ระบบออโตโฟกัสที่มีความฉับไวจึงช่วยให้เราไม่พลาดในจังหวะที่สำคัญได้มากครับ

คุณใช้กล้องรุ่นใดในการทำงาน
ปัจจุบันผมใช้กล้อง Sony A9 ครับ

จุดเด่นเรื่องไหนของกล้องรุ่นนี้ที่คุณชอบเมื่อใช้ถ่ายภาพนก
ระบบออโตโฟกัสที่ฉับไว กับความสามารถในการถ่ายภาพต่อเนื่องในอัตราสูงมากที่ 20 ภาพ/วินาที และถ่ายภาพต่อเนื่องติดต่อกันได้มากถึง 241 ภาพ ในไฟล์ RAW หรือ 362 ภาพ ในไฟล์ JPEG ซึ่งเหมาะสำหรับการถ่ายภาพนกขณะเคลื่อนไหวและแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

คุณใช้เลนส์อะไรในการถ่ายภาพนกบ้าง เลนส์ตัวโปรดคุณคือรุ่นใด
สำหรับ Sony A9 ตอนนี้ผมใช้เลนส์สำหรับถ่ายนกอยู่ คือ เลนส์ Sony FE 100-400mm F4.5-5.6 GM OSS ครับ

เห็นเลนส์ที่คุณใช้เป็น 100-400 มม. ทางยาวโฟกัสเพียงพอในการถ่ายภาพนกหรือครับ คุณมีวิธีเข้าใกล้นกอย่างไร
ถือว่าเพียงพอครับ ยกเว้นนกขนาดเล็กที่อยู่ในระยะไกลมากๆ ส่วนวิธีเข้าใกล้นกก็ขึ้นอยู่กับนกแต่ละชนิดและสถานที่ ส่วนใหญ่ก็จะใช้บังไพรทั้งแบบใช้บนพื้นแล้วก็แบบที่ใช้ในนํ้า

ในฐานะที่คุณเป็นทั้งช่างภาพและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามานาน อะไรคือสิ่งที่ช่างภาพควรทำและไม่ควรทำในการถ่ายภาพนก
ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าความสุขของนกหรือสัตว์ป่าที่เราจะเข้าไปถ่ายภาพต้องมาก่อนความสุขของคนถ่ายเสมอ การปฎิบัติตามกฎระเบียบในการเข้าไปถ่ายภาพของแต่ละพื้นที่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นจะต้องปฎิบัติและเคารพกฎระเบียบนั้นๆ ครับ

ช่วยแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจถ่ายภาพนกว่าควรเริ่มต้นอย่างไร
สำหรับคนที่สนใจอยากจะเริ่มต้นถ่ายภาพนก ก็อยากแนะนำให้เริ่มต้นจากการถ่ายภาพง่ายๆ ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การถ่ายภาพที่ยากขึ้น อาจเริ่มต้นถ่ายภาพนกจากสถานที่ที่สามารถพบเห็นนกได้ง่ายๆ ทั่วไป อย่างเช่น นกที่อยู่ใกล้บ้านของเราเอง ตามสวนสาธารณะ ไร่ นา แถวชานเมือง หรือสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเช่นสะพานบางปูที่มีนกนางนวลอพยพมาหากินเป็นจำนวนมากในแต่ละปีและคุ้นคนจนสามารถใช้เลนส์ได้ทุกระยะสำหรับการถ่ายภาพ ทั้งเลนส์มุมกว้าง จนถึงเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาไปถ่ายนกในสถานที่ที่แตกต่างกันมากขึ้น อย่างเช่นพวกนกนํ้าตามแหล่งนํ้าต่างๆ ที่เราสะดวกในการเดินทางก่อนที่จะพัฒนาไปถ่ายนกในป่า เพราะนกตามแหล่งนํ้าส่วนใหญ่จะค่อนข้างคุ้นเคยกับผู้คน สามารถพบเห็นตัวได้ง่าย หลายชนิดมีขนาดใหญ่ ทำให้การเฝ้ารอติดตามถ่ายภาพนกเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อเกินไป ต่างจากการถ่ายภาพนกในป่าที่ส่วนใหญ่มักจะอาศัยหากินในพื้นที่รกทึบและถ่ายภาพได้ยากกว่า นอกจากนี้การสอบถามข้อมูลจากผู้ที่มีประสบการณ์ในการถ่ายภาพนกมาก่อน

การกำหนดเรื่องราวที่เราจะถ่ายไว้ล่วงหน้าก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและช่วยกำหนดแนวทางในการถ่ายภาพของเรา ซึ่งจะทำให้การถ่ายภาพมีจุดมุ่งหมายและสนุกขึ้น สามารถนำภาพไปใช้ประโยชน์ได้ครอบคลุมและกว้างขึ้นหลังจากที่ถ่ายไปแล้ว อย่างเช่น ในการไปถ่ายภาพนกที่แหล่งนํ้าแห่งหนึ่งในระยะเวลา 1 วัน เราอาจวางกรอบในการถ่ายรูปไว้ว่า ต้องมีเรื่องราวของนกในแหล่งนํ้านั้นๆ ครอบคลุมตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ขณะที่นกเริ่มตื่นจากแหล่งพักผ่อนและออกไปหากิน พฤติกรรมต่างๆ ที่นกใช้ในการหากินในช่วงกลางวัน จนถึงช่วงเย็นขณะที่นกได้หวนกลับสู่แหล่งพักผ่อนอีกครั้ง หรืออาจวางเรื่องราวของนกที่เราติดตามถ่ายภาพให้ครบทุกฤดูกาลในรอบปี การสร้างจินตนาการในการถ่ายภาพก็มีส่วนสำคัญสำหรับการถ่ายภาพ อย่างเช่น เราอาจวางเป้าหมายในการบันทึกภาพนกเป็ดแดงขณะเล่นนํ้า ก็จะต้องมีการเฝ้าสังเกตุศึกษาว่านกเป็ดแดงที่เราจะถ่ายภาพจะมีพฤติกรรมเล่นนํ้าในช่วงเวลาใด มุมมองจากทิศทางไหนที่จะทำให้ภาพนกดูโดดเด่นที่สุดในช่วงเวลานั้น เป็นต้น สุดท้ายแล้วการที่เราได้มีโอกาสได้ดูได้ศึกษาภาพของนักถ่ายภาพท่านอื่นที่ถ่ายภาพมาก่อนเรา รวมทั้งการสอบถามขอความรู้ข้อแนะนำต่างๆในการถ่ายภาพจากนักถ่ายภาพคนอื่นที่มีประสบการณ์มาก่อนก็จะช่วยให้เราได้เพิ่มพูนความรู้และเทคนิควิธีการต่างๆ ได้มากขึ้น สำหรับผมเองยินดีที่จะให้คำแนะนำแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ในการถ่ายภาพนกกับทุกๆ คน ถ้าสะดวกจะมาพบปะพูดคุยกันโดยตรงที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บนํ้าสนามบินก็ได้ เพราะมีนกหลายชนิดที่มีความคุ้นเคยกับผู้คนสามารถถ่ายภาพได้ไม่ยากจนเกินไป ถือว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกในพื้นที่ชุ่มนํ้าที่เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นในการถ่ายภาพนกที่ดีอีกแห่งหนึ่งของบ้านเรา และสุดท้ายก็ขอให้ผู้ที่สนใจในการถ่ายภาพนกและสัตว์ป่าอื่นๆ มีความสุขกับการถ่ายภาพตลอดไปครับ

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/