Knowledge

INTERVIEW : เกรียงไกร ไวยกิจ

แนวภาพที่คุณชอบถ่ายเป็นประเภทใดครับ
เป็นประเด็นที่ถูกถามอยู่บ่อยๆ แม้แต่ตนเองก็ตั้งคำถามในใจว่าชอบถ่ายอะไรกันแน่…ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังตอบไม่ได้เพราะผมชอบไปหมด ผมรู้แต่เพียงว่า ทุกครั้งของการจับกล้องเพื่อจะถ่ายอะไรก็ตามที ผมจะตั้งใจและมีสมาธิกับเนื้อหาข้างหน้าอย่างที่สุด ไม่ว่าจะวิถีชีวิต ทิวทัศน์ หรือสถาปัตยกรรม ฯลฯ เรื่องราวดังกล่าวแม้เคลื่อนไหว สงบนิ่ง ล้วนมีวิธีปฏิบัติแตกต่าง แต่หลักการพื้นฐานเดียวกัน อาจมีคำถามว่าแล้วการถ่ายสิ่งเคลื่อนไหว ผมจะนิ่งสงบกับสภาวะข้างหน้าอย่างไรกัน ในความเคลื่อนไหวนั้นมีสิ่งให้เรียนรู้อยู่มากมาย เช่น จะวางแผนใช้เลนส์อะไร มุมกล้องแบบไหน ปรับตั้งค่า ISO ความเร็วชัตเตอร์ หรือแพนกล้องตาม ฯลฯ กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในสมองที่มีทุนดั้งเดิมจากประสบการณ์และแรงบันดาลใจ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าผมไม่ใช้ สติ สมาธิ แล้วไตร่ตรอง เพื่อจะให้ผลของงานภาพถ่ายตนเองออกมาเป็นที่พอใจ ผมจึงชอบถ่ายไปทุกอย่างตามแต่ละสภาวะที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้นๆ

หยดนํ้าฝนบนใบของปาล์มกะพ้อ ข้อมูลการถ่ายภาพ SONY A7R lll เลนส์ Sony FE 400mm f/2.8GM OSS + 2X Teleconverter 1/640 วินาที f/8 ISO200

เมื่อก่อนในยุคฟิล์มคุณใช้กล้องมีเดียมฟอร์แมตในการถ่ายภาพ เพราะเหตุนี้หรือไม่ที่พอเป็นยุคดิจิตอลคุณจึงใช้กล้องความละเอียดสูงมาตลอด ช่วยให้ความเห็นหน่อยครับ
เมื่อครั้งที่วาดภาพ เฟรมผ้าใบขนาดใหญ่ช่วยให้ผมใส่รายละเอียดของความคิดสร้างสรรค์ ผ่านพู่กันได้ตามต้องการ จนชีวิตหันเหมาจับกล้อง กล้องฟิล์มตัวแรกที่ครอบครองในชีวิตคือขนาด 135 มม. ห้วงเวลาผ่านไปตามการเรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์มากขึ้น ผมหันมาสนใจใช้กล้องถ่ายภาพมีเดียมฟอร์แมท เริ่มจากขนาด 6×4.5 ซ.ม. – 6×7 ซ.ม. – 6×12 ซ.ม. – 6×19 ซ.ม. และจบลงที่ขนาด 6×6 ซ.ม. กล้องดังกล่าวใช้ฟิล์มขนาด 120 และ 220 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าฟิล์มขนาด 135 ทำให้เพิ่มรายละเอียดและความคมชัด เพื่อนำภาพไปใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะปริ้นท์แสดงนิทรรศการ สื่อสิ่งพิมพ์ จนถึงบิลบอร์ดโฆษณา…เมื่อเลือกทางเดิน

บนเส้นทางถ่ายภาพด้วยฟิล์มสไลด์ไปพร้อมกับกล้องมีเดียมฟอร์แมทขนาด 6×6 ซ.ม. ผมประทับใจในรูปแบบสี่เหลี่ยนจัตุรัส ซึ่งสนองตอบจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งเลนส์คุณภาพสูงที่ให้สีสันตลอดจนภาพคมชัดดีเยี่ยม…ทำให้ผมสนุกกับการถ่ายภาพเป็นอย่างยิ่ง และไม่คิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบกล้องอีกต่อไป…การเกิดใหม่ของกระบวนการบันทึกภาพแบบดิจิตอล พร้อมเทคโนโลยี่ก้าวกระโดดพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สวนทางกับฟิล์มสไลด์ที่ผมชอบนับวันเริ่มหาซื้อยากขึ้น ร้านรับล้างฟิล์มที่ใส่ใจคุณภาพนํ้ายาต่างทยอยปิดตัว…และในที่สุดกล้องฟิล์มมีเดียมฟอร์แมทที่ผมรักก็ถูกเก็บในตู้ควบคุมอุณหภูมิอย่างถาวร… ความไม่มั่นใจในคุณภาพกล้องดิจิตอล ทำให้ผมลังเล ใช้ระยะเวลาเรียนรู้เทคโนโลยี่สมัยใหม่นี้ด้วย การ ไปเช่า ยืมพรรคพวก อีกทั้งพี่ที่นับถือในวงการ และเมื่อถึงเวลาต้องซื้อเป็นของตนเอง กล้องดิจิตอลตัวแรกไม่ใช่ full frame ซะด้วยซํ้า แต่เป็นกล้องแบบ APS-C ผมเริ่มการเรียนรู้จากปฐมบท เพื่อทำความเข้าใจไฟล์ภาพแบบดิจิตอล ด้วยกระบวนการทำให้เกิดภาพอันแตกต่างระหว่างฟิล์มกับไฟล์ดิจิตอล ณ ขณะนั้นยาก

ต่อการยอมรับเป็นอย่างยิ่ง…ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมากล้องได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยี่ใหม่ๆ ปรับปรุงคุณภาพไฟล์กล้องดิจิตอลจนเป็นที่ยอมรับ…จากAPS-C ปัจจุบันผมใช้กล้อง Full Frame Mirrorless ของโซนี่รุ่น A7R lll ความละเอียด 42.4 ล้านพิกเซล เมื่อมองภาพที่ถ่ายจากกล้องรุ่นนี้ผ่านจอคอมพิวเตอร์ ผมคิดถึงห้วงเวลาขณะจรดแปรงวาดภาพลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ และย้อนกลับไปถึงฟิล์มสไลด์ 120 ยามวางบนตู้ไฟแล้วเอา Lupe หรือแว่นขยายกำลังสูง ส่องพินิจพิจารณาดูเนื้อหาเรื่องราวอันงดงาม ตลอดจนความละเอียดคมชัด

ข้อมูลการถ่ายภาพ กล้อง SONY A7R III เลนส์ FE 70-200mm f/2.8 GM f/2.8 1/125 วินาที ISO 400

ช่างภาพหลายคนบอกว่าความละเอียดแค่ 24-30 ล้านพิกเซลก็พอแล้ว ขยายได้ใหญ่พอ ไฟล์ก็จัดการง่าย ไม่เปลืองเมมโมรี่ทั้งกล้องทั้งฮาร์ดดิสก์ Noise ก็ดีกว่า แล้วทำไมจึงต้องใช้กล้องความละเอียดสูงกับงานที่คุณถ่าย ความคมชัดมีผลกับงานของคุณอย่างไรครับ
ฟิล์ม 120 ขนาด 6×6 ซ.ม. เมื่อนำไปใช้งานมีทั้งเต็มขนาดฟิล์มและตัดส่วน โดยคุณภาพยังคงดีเยี่ยม สำหรับไฟล์ดิจิตอลความละเอียด 42.4 ล้านพิกเซล เปิดโอกาสให้ยืดหยุ่นเพื่อการใช้งาน ด้วยช่วง Dynamic Range กว้างหลาย stop เอื้อประโยชน์เมื่อต้องปรับแต่งเพิ่มเติม หลายครั้งที่จำเป็นต้องครอปบางส่วนเพื่อนำมาใช้งานขนาดใหญ่โดยคุณภาพแทบไม่ลดทอนเมื่อเทียบจากไฟล์เต็มต้นฉบับ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เทคโนโลยี่ได้รับการพัฒนาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ แต่เจตนาสำคัญคือตอบสนองเชิงบวกต่อผู้ใช้ในการปรับปรุงอีกทั้งแก้ไขข้อบกพร่อง และแน่นอนที่จะทำให้ผู้ใช้เกิดความเชื่อมั่น รู้สึกดีตลอดจนไว้วางใจในอุปกรณ์คู่กายที่เรากำลังสัมผัส เพื่อถ่ายทอดสู่ผลงานที่นำมาสู่ความภาคภูมิในที่สุด

ต้นฉบับไฟล์ภาพจาก SONY A7R lll ก่อนและหลังครอป เพื่อองค์ประกอบภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นสีสันและเรื่องราว ข้อมูลการถ่ายภาพ SONY A7R lll เลนส์ FE 24-70 mm f/2.8GM 1/800 วินาที f/9 ISO320

ไฟล์ภาพที่ครอปตัดส่วนเรียบร้อย

เมื่อขยายเป็นภาพใหญ่มีความแตกต่างชัดเจนหรือไม่เมื่อใช้กล้องความละเอียดสูง
รูปแบบการใช้งานกล้องถ่ายภาพดิจิตอลปัจจุบัน กับโลกของการสื่อสารเผยแพร่ผลงานทางระบบออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมกว้างขวาง ใช้ไฟล์งานแค่ไม่เกิน 1 เมกะไบต์ต่อรูป ถูกตั้งประเด็นสนทนาระหว่างกัน…รวมไปถึงวิธีนำเสนองานผ่านโปรเจคเตอร์ด้วยไฟล์ดิจิตอล แน่นอนว่าขั้นตอนประกวดภาพถ่ายจากหลายหน่วยงานยุคนี้ ก็ให้ส่งคัดเลือกผ่านทางอินเทอร์เน็ต ด้วยสกุล jpg ขนาดไม่กี่เมกะไบต์ แล้วคณะกรรมการตัดสินบนจอมอนิเตอร์หรือทีวีคุณภาพสูง ฯลฯ ขนาดไฟล์ข้างต้นมีตั้งแต่หลักกิโลไบต์ จนถึงไม่กี่เมกะไบต์ น้อยมากที่จะสูงไปถึงระดับกิกะไบต์ ซึ่งแท้จริงแล้วต้นฉบับไฟล์ล้วนมีพื้นฐานมาจากกล้องที่มีความละเอียดสูงเป็นส่วนใหญ่ หากแต่ได้รับการปรับแต่งย่อขนาดลงเพื่อเหมาะสมกับสื่อนั้นๆ อย่างไรก็ตามถ้านำไฟล์ที่กล่าวเบื้องต้น ปริ้นท์ลงบนกระดาษ ผลที่ได้ก็เพียงแค่ขนาดไม่เกิน A4 หรือ A3 เท่านั้นเอง… การเปรียบเทียบกล้องความละเอียดสูงกับงานพิมพ์ขนาดใหญ่ผ่านสกุลไฟล์ tiff ด้วยไฟล์ภาพสามขนาด อาทิ 12 , 24 และ 42.4 ล้านพิกเซล จากนั้นนำมาพิจารณาโดยถ่องแท้จะเห็นถึงความแตกต่างในเรื่องมิติ ความคมชัด รายละเอียดในที่มืด การไล่ระดับของเฉดสี เป็นต้น

คุณใช้กล้องรุ่นใดอยู่ครับ และชอบกล้องรุ่นนี้ที่เรื่องใดบ้าง
ปัจจุบันกล้องหลักที่ผมใช้คือ SONY A7R lll จะว่าไปแล้วอุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น แต่คือส่วนหนึ่งของร่างกายที่นำติดตัวไปเกือบตลอดเวลาของการเดินทาง ผมประทับใจในความกระทัดรัด ถนัดมือ ทนทาน ควบคุมการใช้งานง่าย แบตเตอรี่เมื่อชาร์จเต็ม ก้อนหนึ่งถ่ายได้ทั้งวัน และที่สำคัญความละเอียด 42.4 ล้านพิกเซล ถ้าจะสรุปภาพรวมของกล้องตัวนี้ก็คือ เป็นกล้องที่ถูกจริตผมมากที่สุดตัวหนึ่งในชีวิตการถ่ายภาพ หลังจากกล้องฟิล์มขนาดมีเดียมฟอร์แมทที่เคยใช้

แล้วเมื่อใช้กล้องความละเอียดสูง คุณให้ความสำคัญกับเรื่องเลนส์มากหรือไม่ในการรีดคุณภาพของกล้อง
การถ่ายภาพในระยะหลังมานี้ เมื่อมีเลนส์ใหม่ๆมาให้ทดลอง ผมไม่นิยมศึกษาข้อมูลทางกายภาพของเลนส์สักเท่าไร แต่จะอยู่กับเลนส์ดังกล่าวเป็นเวลาพอสมควร นั่นก็คือวางแผนการเดินทางและใช้เลนส์เพียงตัวเดียวเท่านั้น ประโยชน์ที่ได้ก็คือ มีสมาธิได้พิจารณามุมมองลึกซึ้งขึ้น พร้อมทั้งศึกษาทำความเข้าใจเลนส์นั้นๆว่ามีข้อดีข้อด้อยอย่างไร เหมาะสมกับรูปแบบถ่ายชนิดไหน เมื่อได้ทดลองปฏิบัติจริงให้ความสำคัญกับอุปกรณ์นั้นๆ ถึงเวลาต้องใช้ร่วมกับกล้องที่มีความละเอียด 42.4 ล้านพิกเซล ปัญหาอาจน้อยลงเพราะเรารู้จักเลนส์ดีขึ้นนั่นเอง จากนั้นถึงขั้นตอนผสานร่วมกันระหว่างกล้องและเลนส์คุณภาพสูง ก็จะเกิดผลงานถ่ายภาพอันเป็นที่พอใจตามมาด้วย

ต้นฉบับไฟล์ภาพจาก SONY A7R lll ก่อนและหลังครอป เพื่อให้เห็นขนาด สีสัน และรายละเอียดขนนกมากขึ้น ข้อมูลการถ่ายภาพ SONY A7R lll เลนส์ FE 400mm f/2.8GM OSS + 2X Teleconverter 1/400 วินาที f/5.6 ISO1000

ไฟล์ภาพที่ครอปตัดส่วนเรียบร้อย

เลนส์ที่คุณใช้อยู่ในปัจจุบันมีเลนส์อะไรบ้างครับ
ผมใช้เลนส์ในตระกูล GM หรือ G MASTER หลายตัวครับ เป็นเลนส์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในปัจจุบัน และวางแผนยาวเผื่อไปถึงอนาคต เลนส์ G MASTER รองรับความละเอียด 42.4 ล้านพิกเซล ได้ดีเยี่ยมไม่ว่าจะเป็น FE 16-35 mm f2.8 GM – FE 24-70 mm f2.8 GM – FE 85 mm f1.4 GM หรือเมื่อกล่าวถึงคุณภาพเลนส์ซูมอเนกประสงค์สองตัว คือFE 70-200 mm f2.8 GM ผมมีความรู้สึกภาพที่ได้มา ถ้าเปรียบเป็นหญิงสาวก็คือ สวย คม อ่อนหวาน ฉลาด ขณะที่เลนส์ FE 100-400 mm f4.5-5.6 GM คม มีเสน่ห์ ฉลาด คล่องแคล่ว สำหรับเลนส์ SUPER TELEPHOTO ตัวล่าสุดอย่าง FE 400 mm f2.8 GM ผมมีความรู้สึกเหมือนเอาบทสรุปด้านดีของเลนส์ทั้งสองตัวดังกล่าวข้างต้นมารวมกันครับ

เลนส์ตัวโปรดของคุณเป็นรุ่นใดครับ
FE 70-200 f2.8 GM ครับ ผมได้กล่าวถึงเลนส์ตัวนี้ไว้บ้างแล้วจากคำถามก่อนหน้า แต่อยากขยายความเพิ่มเติมว่าทำไมถึงชอบ บ่อยครับของการเดินทางถ่ายรูปที่ผมมักนำเลนส์รุ่นนี้ติดบอดี้ A7R lll ไปเพียงตัวเดียว เพราะเชื่อมั่นคุณภาพที่จะถ่ายทอดเรื่องราว สีสัน ความคมชัด ตลอดจนมิติที่รู้สึกว่าใกล้เคียงกับอารมณ์ของความเป็นฟิล์มที่ผมไว้วางใจ เลนส์ FE 70-200 f2.8 GM อันคุ้นเคยมิใช่เพื่อการถ่ายบันทึกวิถีชีวิตผู้คนซึ่งเป็นบุคลิกเด่นเท่านั้น แต่เลนส์ตัวนี้ยังแสดงถึงศักยภาพเมื่อถ่ายทอดเส้นสายสถาปัตยกรรม ทั้งมุมกว้างจากระยะไกลหรือมุมใกล้ครอปส่วน

และเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในแวดล้อมของธรรมชาติ ผมก็ยิ่งสนุกกับการบันทึกในการเปิดช่องรับแสงกว้างสุด ความเบลอตลอดจนโบเก้อันงดงามเพิ่มเสน่ห์ให้ชวนหลงใหล ในทางกลับกันผมปรับ f-stop ไปที่ f16 ความคมชัดตลอดช่วงเหมือนมีเลเยอร์ที่ไม่ดูคมจนเป็นพรืด ชวนให้ติดตามสาระซ่อนเร้นไม่รู้เบื่อ….เลนส์อีกตัวที่ทำให้ผมประหลาดใจไม่น้อยเมื่อมีโอกาสจับ ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เลนส์ FE 400 mm f2.8 GM ได้สร้างความรู้สึกประทับใจคุณสมบัติความเร็วในการโฟกัส มอเตอร์ทำงานเงียบมากๆ แทบจะไม่ได้ยินการขับเคลื่อน สีสันผลงานภาพที่ถ่ายมาก็งดงาม และนํ้าหนักเบาถือถ่ายได้สบายแม้ไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้องในแสงกลางวัน เมื่อพูดถึงเลนส์ SUPER TELEPHOTO ความยาวโฟกัสขนาดนี้ ก็มักคิดถึงการนำไปใช้ถ่ายกีฬา หรือสัตว์ป่า แต่แท้จริงแล้วด้วยระยะโฟกัสใกล้สุด 2.7 เมตร ยังสามารถถ่ายธรรมชาติกึ่ง macro ระยะไกลได้อย่างดีเยี่ยม

เลนส์ G Master ให้ความคมชัดได้สูงอย่างที่คุณต้องการหรือไม่
องค์ประกอบสำคัญของความคมชัด นอกเหนือจากเลนส์ประสิทธิภาพสูงก็คือ การเลือกใช้ช่องรับแสงให้เหมาะสม เลือกกำหนดโฟกัสจุดสำคัญของภาพ คำนึงถึงช่วงสเกลชัดลึก ตั้งแต่ฉากหน้าจนถึงไกลสุดของภาพ ที่ไม่ได้หมายความว่า การกำหนดค่า f stop ที่แคบสุดเช่น f/22 หรือ f/32 จะได้คุณภาพคมชัดที่ดีเสมอไป ดังนั้นเพียงแค่ f/11 แต่รู้ว่าควรเฉลี่ยโฟกัสไปตรงจุดไหนเพื่อให้ได้ระยะชัดครอบคลุมตามต้องการที่สุด…แน่นอนว่าเลนส์ G MASTER ไม่เคยทำให้ผิดหวัง

คุณใช้ขาตั้งกล้องเสมอหรือไม่เพื่อให้ได้ความคมชัดสูงสุด
ถ้าไม่มีข้อกำหนดการเดินทาง หรือสภาพแวดล้อม ผมจะพยายามใช้ขาตั้งกล้องให้บ่อยครั้งที่สุดแม้แต่สภาพแสงกลางวัน อุปกรณ์ชิ้นนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวกล้อง ผมมีขาตั้งกล้องไว้เลือกใช้หลายขนาดตามลักษณะเนื้องาน ไม่ว่าจะถ่ายงานมาโคร สถาปัตยกรรม ทิวทัศน์ โดยเฉพาะแสงโพล้เพล้จรดคํ่า ยิ่งต้องการความเที่ยงตรง คมชัด ประณีตพิถีพิถันเป็นอย่างยิ่ง ขาตั้งกล้องจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้

ถํ้าพระยานคร อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้อมูลการถ่ายภาพ SONY A7R lll เลนส์ FE 16-35mm f/2.8GM 6 วินาที f/11 ISO100 ใช้ฟังก์ชั่น Pixel Shift

คุณได้ใช้ฟังก์ชัน Pixel Shift บ้างหรือไม่ ระบบนี้ช่วยให้ได้รายละเอียดสูงขึ้นจริงหรือไม่
ผมยังถ่ายงานด้วยฟังก์ชั่นนี้ไม่บ่อยครั้งนัก แต่ก็ประทับใจคุณภาพความละเอียดไฟล์งานกับเทคนิคการถ่ายภาพประเภทนี้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาผ่านจอคอมพิวเตอร์ ผมคิดว่าหากในอนาคตมีโครงการที่ต้องนำไปปริ้นท์ภาพขนาดใหญ่มากๆ คงต้องใช้ประสิทธิภาพของฟังก์ชั่นนี้อย่างจริงจัง

ไฟล์ภาพจาก SONY A7R lll ที่นำไปปริ้นท์ขนาดใหญ่ติดบนฝาผนังอาคารคลับเฮ้าส์แห่งหนึ่งในมุมมองระยะประชิด ข้อมูลการถ่ายภาพ SONY A7R lll เลนส์ FE 12-24mm f/4G 8 วินาที f/8 ISO160

คุณแสดงนิทรรศการบ่อย ภาพที่ปริ้นท์มีขนาดใหญ่สุดแค่ไหนครับ แล้วภาพจาก A7R III ยังมีรายละเอียดดีพอหรือไม่
นอกเหนืองานนิทรรศการภาพถ่ายที่เคยปริ้นท์ภาพลงบนผ้าใบ ขนาด 1×3.5 เมตรซึ่งนับว่าใหญ่สุดสำหรับงานนิทรรศการภาพถ่าย ผมยังเคยปริ้นท์งานจากไฟล์ของกล้อง A7R lll ติดผนังประดับโถงอาคารในระยะมองประชิดขนาด 3.45×6.10 เมตรและงานบิลบอร์ดขนาดตั้งแต่ 2×3.5 เมตร 5×7 เมตร และ 4.50×9.5 เมตร ซึ่งยังได้คุณภาพที่ดีเป็นที่พอใจ

คุณถ่ายภาพด้วย RAW File ตลอดหรือไม่ แล้วมีปัญหากับการจัดเก็บภาพจากกล้องความละเอียดสูงหรือไม่
ผมถ่ายควบคู่กันไประหว่าง RAW+JPEG มีฮาร์ดดิสก์ External เก็บไฟล์ทั้งหมด 6 ตัว แบ่งเป็น ขนาด 8 TB 1 ตัว 6 TB จำนวน 2 ตัว 3 TB 1 ตัวและ 1 TB อีก 2 ตัว ผมไม่เคยใช้ cloud ไม่ได้ทำ back up สำรองข้อมูล แต่จะดูจากระยะอายุการใช้งานฮาร์ดดิสก์ ถ้านานเกิน 3 ปี จะโอนไฟล์ย้ายไปตัวใหม่อาจจะช้าและสิ้นเปลืองบ้างแต่ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ที่ใช้ก็แรงขึ้นมาก มีพอร์ตโอนถ่ายข้อมูลความเร็วสูง เช่น thunderbolt 3 นอกจากนี้ก็ผมยังเลือกผลงานภาพถ่ายที่ชอบ ทยอยปรินท์บนกระดาษขนาด A3 จากเครื่องปริ้นท์และวัสดุคุณภาพสูงเก็บไว้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามความเป็นดิจิตอล ก็ยังมีอัตราเสี่ยงต่อการสูญเสียผลงานไฟล์ภาพที่ถ่ายสะสมไว้มากมาย โลกของดิจิตอลมีคุณค่านานับประการ แต่ด้านหนึ่งก็ต้องทำใจและปล่อยวางอีกทั้งยึดติดให้น้อยลง ทำให้หวนคิดถึงฟิล์มเซลลูลอยด์ในครั้งอดีต…อย่างน้อยก็มีฟิล์มต้นฉบับเก็บไว้ได้เนิ่นนาน

ยิ่งสลุตในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บริเวณท้องสนามหลวง 4 พฤษภาคม 2562 ข้อมูลการถ่ายภาพ เลนส์ Sony FE 400mm F2.8 GM OSS + 2X Teleconverter 1/8000 วินาที f/2.8 ISO250

จะดูผลงานของคุณได้ที่ไหนบ้างครับ
ในชีวิตการทำงานศิลปะผมเคยแสดงนิทรรศการเดี่ยว 2 ครั้ง ครั้งแรกที่บ้านเกิดจังหวัดราชบุรี เป็นการแสดงที่รวบรวมภาพวาดตั้งแต่อายุ 12 จนถึงอายุ 20 ชื่อนิทรรศการ “๑๒ ศิลปะ ๒๐” ครั้งที่ 2 แสดงผลงานภาพถ่ายจากฟิล์ม ชื่อนิทรรศการ“โบราณสถานใต้เงาจันทร์” ปัจจุบันสื่อโซเชี่ยลมีเดียมีบทบาทสำคัญในสังคมกว้างขวางโดยเฉพาะ facebook ผมจึงมีความคิดว่าน่าจะส่งต่อประสบการณ์ และแรงบันดาลใจ การทำงานถ่ายภาพผ่านสื่อนี้ facebook ผมใช้ในนาม “เกรียงไกร ไวยกิจ” นอกจากนี้ยังมีเพจชื่อ “๑๒ ศิลปะ ๒๐ : เกรียงไกร ไวยกิจ” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทำบ้านให้เป็นแกลเลอรี่ส่วนตัว เพื่อรวบรวมผลงานภาพวาดและภาพถ่ายตั้งแต่ยุคฟิล์มจนถึงดิจิตอลให้เป็นที่เป็นทาง และเปิดให้ผู้สนใจเข้าชม อีกทั้งตั้งใจที่จะเปิดอบรมการถ่ายภาพสำหรับกลุ่มเล็กๆ ที่นี่ด้วย เพจสุดท้ายที่จะชมผลงานผมและเพื่อนชื่อ “SiamThaiBetweenTimes” เกิดจากการรวมกลุ่มช่างภาพ 7 คนในชื่อ “สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล” พวกเรามีความคิดตรงกันว่า หนังสือเล่มที่สัมผัสได้และพิมพ์บนกระดาษกำลังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เราไม่อยากให้งานลักษณะนี้ต้องล้มหายไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันเราจัดพิมพ์หนังสือภาพออกมาทั้งสิ้น 2 เล่ม คือ ปฐมบทแห่ง สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล และหนังสือ ถวายคารวาลัย เนื่องในวาระ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/