Knowledge

INTERVIEW : ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์

ช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ
ผม “ภูมินันท์ ปิยทัศน์นันท์” เกิดและเติบโตจาก จ.ศรีสะเกษ มีโอกาสมาเรียนที่คณะ วารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จากนั้นเรียนต่อด้านบริหารการตลาด จนจบ ป.เอก จาก University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ควบคู่กับเป็นช่างภาพอิสระสาย Landscape & Travel ครับ

เริ่มต้นถ่ายภาพตั้งแต่เมื่อไรครับ และอะไรคือแรงจูงใจให้สนใจถ่ายภาพ
ผมรักและชื่นชอบงานศิลปะตั้งแต่เด็ก ชอบขีดๆ เขียนๆ แต่ลายเส้นไม่สวย จนโตขึ้นมาพบว่าเราวาดภาพด้วยแสงผ่านกล้องถ่ายภาพได้ ก็เริ่มต้นถ่ายภาพมาตั้งแต่ ม. ปลาย มีกล้องฟิล์มตัวแรกคือ Nikon FM2n กับเลนส์ 50 mm ถ่ายภาพคน ภาพสัตว์เลี้ยง ภาพวิวแถวๆ บ้านเกิดที่ศรีสะเกษ มีความสุขนะ เมื่อล้างฟิล์มออกมาแล้วเห็นภาพในมุมมองของเราเองปรากฏบนนั้น แม้จะเปลืองค่าฟิล์มค่าล้างอยู่บ้าง ต้องเก็บเงินค่าขนมมาเจียดเป็นค่าใช้จ่ายตรงนี้ แต่มีความสุข และถ่ายภาพมาเรื่อยๆ

ในช่วงแรกคุณชอบถ่ายภาพแนวใดบ้าง
แรกๆ ผมชอบถ่ายภาพผู้คน ถ่ายภาพพี่สาว เพื่อน ครอบครัว คนรอบข้าง เหมือนเรามีกล้องถ่ายภาพเพื่อนๆ ก็อยากให้เราถ่ายภาพให้ จึงเริ่มฝึกถ่ายภาพจาก Portrait ก่อน จากนั้นว่างเว้นไปหลายปี จนกระทั่งเริ่มเรียนในคณะวารสารศาสตร์ พอขึ้นชั้นปี 2 ก็เลือกวิชาเสรีเป็น การถ่ายภาพเบื้องต้น เริ่มเรียนรู้เทคนิคถ่ายภาพมากขึ้น ทั้งการลากชัตเตอร์ มุมมององค์ประกอบภาพ รวมถึงการใช้แฟลชเบื้องต้น รู้สึกว่า จักรวาลแห่งการถ่ายภาพมันกว้างใหญ่มาก มีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้ตลอด ตอนนั้นแค่เรื่องเทคนิคการถ่ายภาพ การใช้กล้องถ่ายภาพก็มีหนังสือให้อ่านเต็มไปหมด ถ้าเทียบกับยุคนี้แล้ว ต้องบอกว่า ปัจจุบันเรามีโอกาสเรียนรู้การถ่ายภาพง่ายกว่าหลายเท่าเลย แต่ก่อน จะเข้า Workshop ก็ไม่ค่อยมี ความรู้จะอยู่ในนิตยสาร และตำราการถ่ายภาพมากกว่า ก็อ่านและศึกษามาเรื่อยๆ เมื่อมีเวลาว่างครับ

แล้วเริ่มสนใจการถ่ายภาพแลนด์สเคปอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไร ตอนนั้นใช้กล้องอะไรอยู่
ไม่เคยมองการถ่ายภาพ Landscape มาก่อนเลย ตอนใช้กล้องถ่ายภาพดิจิตอลในช่วงแรก คือ ตอนนั้นเรียน ป.ตรีจบแล้ว และเริ่มทำงานในสายการตลาด/โฆษณา ทำงานอยู่ 2-3 ปี พอมีเงินซื้อกล้องดิจิตอล ก็ยังชอบถ่ายภาพ Portrait อยู่เลย ตอนนั้นห้อง “กล้อง” ใน Pantip.com คึกคักมากนะ นัดถ่ายภาพนางแบบกันแทบทุกสัปดาห์ กลุ่มนี้จัด กลุ่มโน้นจัด สนุกมาก ไปสวนรถไฟบ่อยกว่าเดินเที่ยวสยาม … ผมถ่าย Portrait และเริ่มรับงานถ่ายรูปรับปริญญา ลุยกันอยู่ปีกว่าๆ ก็ต้องไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย แต่พอไปถึงนั่นเรียกได้ว่า เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ชีวิตพลิกไปเลย ที่โน่นเรียนหนักมาก ไกลบ้าน ไม่มีเพื่อนฝูง ไม่มีนางแบบ เรียกว่าวันๆ อยู่แต่กับกองเอกสาร แม้กลับมาถึงบ้านดึกๆ ก็ต้องนั่งอ่านหนังสือ ชีวิตเครียด ไม่มีความสุข จนกระทั่งมีโอกาสรู้จักกับเพื่อนผ่าน Social media ในยุคนั้น (ที่เรียกกันว่า Hi5) เค้านัดกันถ่ายภาพ “Seascape” ไม่มีประสบการณ์เลย กะแค่ออกไปเจอเพื่อนๆ ให้หายเบื่อหายเครียด ปรากฏว่าเป็นจุดเปลี่ยนไปเลย กลายเป็นชอบถ่ายภาพ Landscape อย่างจริงจัง ตอนนั้นใช้กล้อง Nikon D700 พร้อมเลนส์ Nikon 16-35 mm ครับ

ในช่วงที่เรียนปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย คุณมีเวลาออกไปถ่ายภาพมากน้อยเพียงใดเพราะเห็นว่าเรียนหนักมาก
555+ หนักจริง หนักที่สุดในชีวิต ตอนสอบ Ent. หรือตอนอ่านหนังสือสอบตอน ป.ตรี ป.โท ยังไม่อ่านหนังสือและเครียดเท่านี้ครับ ต้องไปมหาลัยทุกวันเพื่อนั่งโต๊ะอ่านหนังสือ เข้าเรียน กลับถึงบ้านเย็นๆ ก็ยังต้องอ่านหนังสือจนหลับ ตื่นแต่มืดไปอ่านหนังสือต่อ ชีวิตวนเวียนแบบนี้ไปครึ่งปี ทุกเช้าและทุกเย็นต้องโทรหาที่บ้านบอกว่าไม่ไหวแล้ว คิดถึงบ้าน อยากกลับ จนกระทั่งผ่านไปเกือบปี ได้เริ่มออกไปถ่ายภาพ Seascape กับเพื่อนคนไทยที่นั่น ก็เริ่มมีความสุข ผ่อนคลาย ยังคงเรียนหนักเหมือนเดิม แต่เหมือนชีวิตมีเป้าหมาย อยากให้ถึงวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ไวๆ เพื่อจะได้ออกไปเจอเพื่อนและได้ไปถ่ายภาพ ผมจึงมองการถ่ายภาพมากกว่าการบันทึกความทรงจำ แต่มันคือกิจกรรมแห่งความสุขที่เราสามารถใช้ชีวิตกับคนรอบข้างได้ และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัวในทุกๆ วัน

แล้วเริ่มขายภาพ สร้างรายได้จากภาพแลนด์สเคปได้อย่างไร
คราวแรกได้รับการติดต่อจากนิตยสารที่อังกฤษ ชื่อ “N-Photo Magazine” เพื่อนำภาพ Seascape ใบนึงไปลงหน้าปก คุยกันสักพักส่งภาพไปตีพิมพ์ก็ได้เงิน US$500 แรกมา ถือเป็นเงินขวัญถุงก้อนแรกที่ได้รับจากการขายภาพ จากนั้นก็มีนิตยสารในเครือ N-Photo และนิตยสารถ่ายภาพอื่นๆ เช่น Digital Camera World ติดต่อเข้ามาซื้อภาพไปลงอย่างต่อเนื่อง จากนั้นผมเริ่ม Upload ภาพขายเพิ่มเติมใน Getty Images โดยขายภาพ Landscape เรื่อยมา แม้ยอดขายจะไม่มากนัก แต่ถือเป็นกำลังใจและรายได้ให้เราได้ซื้ออุปกรณ์ถ่ายภาพที่ต้องการเพื่อมาต่อ ยอดงานถ่ายภาพต่อไป

ทำอย่างไรจึงมีผลงานตีพิมพ์เป็นภาพปกและภาพภายในเล่มของนิตยสารถ่ายภาพชั้นนำของโลกหลายฉบับ
ตอนแรกคงเพราะโชคช่วยครับ ผมลงภาพใน 500px.com แล้วมีบรรณาธิการนิตยสาร N-Photo Magazine มาเจอแล้วติดต่อขอซื้อภาพไปลง แต่หลังจากนั้นต้องเรียกว่า “จังหวะ” และ “การสร้างโอกาส” ให้ตนเอง ผมเริ่มติดต่อสำนักพิมพ์เป็นประจำ พูดคุยเรื่องทั่วไป ทักทาย สร้าง Connections และเริ่มนำเสนองานของเราให้เป็นทางเลือก เผื่อว่าภาพจากทริปล่าสุด อาจไปตรงกับ Theme นิตยสารที่เค้ากำลังดูแลอยู่ บางครั้งก็ขายได้ภาพเพิ่มเติม หรืออย่างน้อยไม่ได้งาน แต่เราได้พยายามสร้างโอกาสตนเองให้เต็มที่แล้วครับ จากฉบับแรก ก็มีฉบับอื่นๆ ตามมา ผ่านไป 5 ปีนับตั้งแต่ลงฉบับแรก ผมนับรวมภาพหน้าปกที่ตีพิมพ์ได้ประมาณ 15 ครั้ง ยังไม่รวมภาพด้านในนิตยสารต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่ง ถือเป็นความภูมิใจที่สำคัญในฐานะช่างภาพที่ได้เห็นผลงานตนเองเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติครับ

ในช่วงนั้น การโพรเซสภาพทำมากน้อยแค่ไหน
ช่วงนั้นทำภาพบ่อยมากครับ ผมยังทำภาพไม่เก่ง ฝึกทำภาพแทบทุกวันที่มีเวลา โดยเฉพาะเมื่อกลับมาจากถ่ายภาพในช่วงเช้าวันเสาร์ อาทิตย์ โดยโปรแกรมที่ใช้บ่อยที่สุดคือ Adobe Photoshop แต่งภาพแต่ละครั้งใช้เวลามากเลย อย่างน้อยต้องมีภาพละชั่วโมง ทั้งอ่านนิตยสารถ่ายภาพ ดูคู่มือการใช้โปรแกรมแต่งภาพ ฝึกวนเวียนไปมาจนเริ่มเข้าที่ครับ

คุณต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนออกเดินทางในแต่ละทริป
ผมกลัวความผิดพลาดมากๆ คือ พลาดมาเยอะ คือลืมของประจำ เคยไปครั้งนึง ไปถึงหน้างานผมลืมเอาแบตเตอรรี่ไปแล้วหาตรงนั้นไม่ได้ด้วยนะ เท่ากับขับรถฟรีเลย ดังนั้นผมจึงมักใช้เวลามากพอควรในการจัดอุปกรณ์การถ่ายภาพให้พร้อม โดยเฉพาะเมื่อต้องออกทริปถ่ายภาพต่างประเทศ ผมเตรียมทั้งกล้อง เลนส์ ขาตั้งกล้อง แบตฯ เมมโมรี่ และอุปกรณ์เสริมต่างๆ วางไว้ในกระเป๋าไว้เลย หากเป็นทริปที่ต้องเดินขึ้นเขา ก็ต้องออกกำลังกาย เดิน วิ่ง เพื่อเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม และต้องเตรียมแผนการเดินทาง ซื้อประกันภัยการเดินทาง ฯลฯ มีเรื่องให้เตรียมเยอะไปหมดเลยครับ

ใช้อุปกรณ์อะไรบ้างครับในการเดินทางแต่ละทริป
แต่ก่อนอุปกรณ์เยอะ + หนักกว่านี้มากครับ แต่ปัจจุบันพอเริ่มรู้ว่าสภาพร่างกายไม่ไหว คือ ผมเพิ่งผ่าหมอนรองกระดูกหัวเข่ามาเมื่อปลายปี 2561 ทำให้ผมเลือกอุปกรณ์เบาขึ้น โดยเปลี่ยนจาก Nikon D850 และเลนส์ F-mount มาเป็นชุด Nikon Z7 + Nikkor 14-30mm + Nikkor 24-70mm S line ด้วยชุดนี้ทำให้นํ้าหนักอุปกรณ์ถ่ายภาพ (เช่น กล้อง เลนส์ และ Nisi Filters) หายไปทีเดียวเกือบ 2 กก. ผมใช้กระเป๋ากล้อง F-stop Tilopa ข้างในยังเตรียมโดรนรุ่น Mavic Pro 2 ไปออกทริปด้วยครับ นอกจากนี้ขาตั้งกล้อง ก็เลือกรุ่นเล็กๆ เบาๆ เช่น ขาตั้งกล้อง Carbon เป็นต้น

สำหรับจุดถ่ายภาพหลายแห่งที่หลายคนชอบพูดว่าวิวมันสวยอยู่แล้ว ถ่ายอย่างไรก็สวย คุณมีความเห็นอย่างไร
เป็นความจริงครับ เราถ่ายคนสวย เบื้องต้นภาพก็จะสวยอยู่แล้วครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไปถึงสถานที่ที่สวย ช่างภาพแต่ละคนจะสามารถถ่ายทอดความงามได้เหมือนๆ กัน เพราะต้องใช้ทักษะ ความชำนาญ และประสบกาณณ์เพื่อการเก็บภาพให้สวยอย่างสร้างสรรค์ โดยเราสามารถใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างให้ “ภาพ” ในสถานที่เดียวกันแตกต่างกันอย่างสร้างสรรค์ นั่นก็คือ 1) มุมมอง; 2) การวางองค์ประกอบภาพ; 3) การใส่เรื่องราวในภาพ; 4) เทคนิคในการถ่ายภาพที่ใช้ เช่น Focus stack การลาก Shutter speed; 5) การเลือกใช้อุปกรณ์เพื่อบันทึกภาพ เช่น เลนส์ต่างระยะก็ให้ภาพออกมาต่างกัน; 6) สภาพดินฟ้าอากาศในขณะนั้น; และ 7) การแต่งภาพ

อะไรคือภาพแลนด์สเคปที่ดีในความเห็นของคุณ
ทุกวันนี้เราเห็นภาพ Landscape สวยๆ มากมายเต็มไปหมดทั้งในนิตยสาร วิดีโอ และใน Social media แต่การจะมองว่าเป็นภาพ Landscape ที่ดีหรือไม่นั้น ความสวยเป็นแค่หนึ่งในองค์ประกอบของภาพที่ดี เพราะหลายภาพที่มีคนมองว่าสวย อาจจะไม่ใช่ภาพที่ดีก็ได้นะ เพราะความสวยเป็นเรื่องของบุคคล คนแต่ละคนมองความสวยต่างกัน อย่างภาพ Landscape ใน Social media ที่เราเห็นท้องฟ้าอมฟ้าอมเขียว กดแสงรอบๆ ให้มืดๆ แสงสีผิดเปลี่ยนจากสภาพจริง คนส่วนนึงก็มองภาพนั้นสวยและนิยมทำภาพตามๆ กันไป แต่สำหรับผม ภาพ Landscape ที่ดี นอกจากมีความสวยแล้ว ต้องมีความเป็นจริงในการถ่ายทอด ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนมุมเดิมๆ ให้ต่างออกไป ไม่ซํ้าใคร นั่นคือภาพที่ดี ดังนั้นภาพจำนวนมากมายที่เราเห็นซํ้าๆ ตามลอกมุมกันไปมาโดยไม่มีการรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ภาพอาจสวยแต่ไม่ใช่ภาพ Landscape ที่ดีแน่นอนครับ

การมองเห็นผลลัพธ์ที่ต้องการตั้งแต่ตอนถ่ายภาพมีความสำคัญเพียงใด บางคนบอกว่าถ่ายมาอย่าให้แสงล้นก็พอ เดี๋ยวมาจัดการด้วย Photoshop ในภายหลังได้หมด
แต่งภาพก็เหมือนทำอาหาร วัตถุดิบดีทำให้อาหารอร่อยไปแล้วครึ่งทาง ที่เหลือขึ้นกับฝีมือปรุงรสของพ่อครัว ดังนั้นการจะได้ภาพ Landscape สวยๆ ในปลายทาง เราก็ต้องเก็บภาพมาให้ดีที่สุดตั้งแต่หน้างาน การถ่ายภาพคร่อมแสงเพื่อเก็บแสงให้ครบ การถ่ายภาพคร่อมความชัดเพื่อเก็บระยะชัดลึกมาตามต้องการ รวมถึงการใช้เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อสร้างผลพิเศษ เช่น การถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ การระเบิดซูม การแพนกวาด การใช้แฟลชหรือ Light painting เพื่อเปิดแสงเงา ฯลฯ สิ่งต่างๆ คือการเตรียมวัตถุดิบของการทำภาพให้ดีที่สุดที่จะทำได้ เพื่อให้กระบวนการหลังจากนั้นทำงานได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง และลำบากน้อยลงนั่นเองครับ

ทุกวันนี้แนวทางการโพรเซสภาพแลนด์สเคปของคุณเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนหรือไม่
เปลี่ยนไปมากพอสมควรครับผม ช่วงแรก คือช่วงการฝึกแต่งภาพ 1 ปีแรกของผมที่เริ่มถ่ายภาพ Seascape ที่ออสเตรเลีย ได้ลองใช้เครื่องมือแต่งภาพใน Photoshop ใหม่ๆ มากมาย เหมือนเรายังไม่คล่องก็ทำถูกบ้างผิดบ้าง แรกๆ ภาพดำๆ ด่างๆ ไม่เข้าที่นัก ถัดมาอีก 5 ปี ถือเป็นช่วงที่เรามีพื้นฐานดีแล้วและกำลังไต่ระดับสู่การแต่งภาพระดับกลาง เมื่อ 7-8 ปีก่อนถือเป็นยุคทองของการแต่งภาพแนว HDR และ Photo Composite พวกซ้อนภาพ ซ้อนฟ้า ผมก็ผ่านจุดนั้นมานะ แต่งภาพสีสันสดๆ รายละเอียดเจ็บๆ เรียกว่า “ลองของ” หาแนวทางที่ตัวเองชอบ ถึงขั้นเปลี่ยนภาพกลางวันเป็นกลางคืน ใส่คนเข้าไป เติมแสงเข้าไป จนได้ภาพที่ต้องการ ตอนนั้นสนุกกับการได้พัฒนาตัวเองผ่านเครื่องมือที่เราเริ่มคุ้นเคย และเป็นช่วงที่ผมเริ่มเรียนรู้การใช้งาน Selection และเครื่องมือขั้นสูงตัวอื่นๆ แต่ในระยะหลัง 3 ปีที่ผ่านมา ผมเริ่มไม่ต้องการความพิสดารในภาพเหมือนเก่า โทนภาพ HDR และการดัดแปลงภาพเริ่มหายไปจากความคิด ผมใช้เวลาในการแต่งภาพน้อยลง แต่จะใช้เวลาในหน้างาน … ตอนถ่ายภาพมากกว่าเดิม ผมคิดว่าความดีงามของภาพ Landscape คือ Moment ที่เราบันทึกภาพ เรื่องราวหลังจากนั้นคือการถ่ายทอดความงามของวิวทิวทัศน์ให้คนอื่นได้เสพ “ความงาม” และรับรู้ถึง “ความสุข” ของการถ่ายภาพ ผ่านรสนิยมด้าน “แสง-สี+การปรับแต่งภาพ” ของช่างภาพ ผมพยายามรักษาความจริงในภาพให้มากขึ้น โดยไม่ลืมที่จะปรับแต่งภาพตามแนวทางที่ตนเองถนัดครับ การแต่งภาพหลังๆ ผมใช้ Adobe Camera Raw มากกว่าครึ่ง ยกเว้นภาพที่ต้องการปั้นจริงๆ (เช่น การรวมแสง การซ้อนภาพ) ก็จะไปแต่งภาพต่อใน Photoshop

ในการทำภาพนอกจากคอมพิวเตอร์แล้ว คุณให้ความสำคัญกับจอมอนิเตอร์มากน้อยเพียงใด
อุปกรณ์ทุกชิ้น ผมจะเลือกสิ่งที่จะเอื้อประโยชน์กับผมมากที่สุด กล้อง + เลนส์ที่ดีที่สุดที่ราคาเอื้อมถึง ขาตั้งกล้อง + หัวบอลที่เบาแต่แข็งแรงที่ลุยไปกับผมได้ทุกที่ กระเป๋ากล้องที่สมบุกสมบันแต่ต้อง Support การแบกเพื่อเดินเท้าเข้าไปในจุดถ่ายภาพ คือ อุปกรณ์ทุกอย่างต้องให้ความมั่นใจกับเรา ซึ่งเมื่อพูดถึงจอมอนิเตอร์ มันคือ สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดในการแต่งภาพก็ว่าได้ ในเมื่อต้นทางเรามีวัตถุดิบที่ดีจากการถ่ายภาพ เราก็ควรมีอุปกรณ์แสดงผลที่เชื่อถือได้มากที่สุด ในเรื่องการให้สีที่ตรงไม่ผิดเพี้ยน แสดงสีครอบคลุม 100% sRGB + 99% Adobe RGB รวมถึงต้องมีความสว่างที่พอเหมาะ พื้นที่การแสดงผลขนาดใหญ่เพื่อแสดงผลภาพจากกล้องที่มีความละเอียดสูงๆ และนำเสนอความคมชัดที่ไว้ใจได้ … ผมจึงบอกเพื่อนๆ รอบตัวเสมอ อย่าประหยัดกับจอมอนิเตอร์ ช่างภาพทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่มืออาชีพใช้เวลาอยู่หลังกล้องเต็มที่เฉลี่ยอาทิตย์ละ 3 ชั่วโมง แต่เราใช้เวลาอยู่หลังจอมอนิเตอร์มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นเราควรจริงจังกับจอแสดงผลพอๆ กับการจริงจังในการถ่ายภาพ

ปัจจุบันใช้จอแต่งภาพรุ่นไหนอยู่ครับ และจอแต่งภาพที่ดีมีผลกับการทำไฟล์ภาพอย่างไร
ปัจจุบันผมใช้จอมอนิเตอร์ของ BenQ รุ่น SW Series ที่ออกแบบมาสำหรับช่างภาพโดยเฉพาะครับ เป็นจอขนาด 31.5 นิ้วแบบ 4K Ultra HD ที่แสดงผลได้ละเอียดมากกกกก (ประมาณ 3840 x 2160 px) ที่เลือกรุ่นนี้เพราะการแสดงผลของจอครับที่ให้สีตรง ด้วยมี Hardware Calibration แสดงสีตรงครอบคลุมสีถึง 99% AdobeRGB แบบ 10 Color bit คือมีความกว้างในการแสดงโทนสีมากยิ่งขึ้น ทำให้การแต่งภาพมีความมั่นใจว่าเราไล่โทนดีไหม เพราะด้วยเทคโนโลยีการแสดงผลแบบ HDR ทำให้การแสดงสีระหว่างสีดำและขาวชัดเจนขึ้น เห็น Contrast บางๆ ในภาพได้ดีขึ้น ทำให้เราเช็คภาพ มองเห็นปัญหาในจุดใดๆ ของภาพ ที่อาจไม่เนียน เกิดชั้นสีไม่สวย ทำให้แก้ไขได้ตามต้องการ … อีกจุดหนึ่งที่ชอบมากๆ สำหรับจอรุ่นนี้ คือ มันเป็นจอ LED แบบด้าน (Anti-Glare) แสดงความคมชัดของภาพแบบที่มั่นใจได้ เรากล้าปรับคม (ใส่ Sharpen) ให้กับภาพถ่าย แต่ก่อนผมใช้จอแบบมันเงา (Glossy) ผลก็คืออัดคมให้กับภาพถ่ายแต่มองไม่เห็นความคมบนจอเรา … แต่ไปแตกยับบนจออื่นครับ

ช่วยฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจในการถ่ายภาพแลนด์สเคปว่าถ้าอยากจะถ่ายภาพแนวนี้ให้เก่งต้องทำอย่างไร
ออกถ่ายภาพ Landscape บ่อยๆ นะครับ แม้จะไม่มีโอกาสออกไปไหนได้ไกลๆ ก็ใช้พื้นที่รอบๆ ชุมชน จังหวัดของเรานี่หล่ะฝึกถ่ายภาพ เรียนรู้อุปกรณ์ของเรา และฝึกแต่งภาพในทุกๆ ครั้งที่มีโอกาส การถ่ายภาพสายอื่นๆ เช่น Street, Portrait, Sport ก็น่าสนใจ สามารถนำเทคนิค ทักษะ ประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ในสายนั้น หรือกลับมาใช้ในสาย Landscape ได้เช่นกัน อย่าลืมฝึกมุมมอง การจัดองค์ประกอบภาพ นอกจากต้องถ่ายภาพให้เยอะ เราต้องฝึกมองให้เยอะ มองให้เห็นจุดดีของภาพคนอื่น มองจุดอ่อน ข้อผิดพลาดของภาพตัวเองอยู่เสมอ อย่าลืมหาหนังสือ “องค์ประกอบศิลป์” มาอ่านเพิ่มความรู้ในด้านการวางองค์ประกอบภาพ จุด เส้น รูปทรง แสง สีสัน และมิติ การถ่ายภาพเป็นการผสมระหว่างศาสตร์ และศิลป์ … สุดท้ายอย่าหยุดนิ่ง เราหยุด คนอื่นไม่หยุด อย่าทิ้งโอกาสรอบตัว และอย่าลืมสร้างโอกาสให้ตนเอง + ติดตามงานกันได้ใน Page: AtomicZen นะครับ ขอบพระคุณที่ติดตาม ไว้พบกันครับ

รู้จักกับจอเแต่งภาพ BenQ SW Series เพิ่มเติมได้ที่ :

BenQ Website : http://bit.ly/2LqveBf

BenQ Official Store : http://bit.ly/2Q7Fe0Z


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ ?
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/