Knowledge

INTERVIEW : ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์

ตอนนี้คุณทำงานอะไรบ้างครับ
หลังจากเดินถ่ายรูปไปหาเสียงไป ตามตรอกซอกซอยมาตลอด 5 ปี ผมว่าถึงเวลาแล้วครับที่ผมจะตั้งพรรคการเมือง ขอเป็นตัวแทนประชาชนเพื่อมาแก้ไขปัญหาของประเทศครับ … ล้อเล่นฮะ 55 ตอนนี้ก็มีธุรกิจที่บ้านและตัวโปรดักส์ชันเฮาส์เล็กๆ ของตัวเองอยู่ครับ แต่ตัวเนื้องานเปลี่ยนไปจากเดิมมากเลย เมื่อก่อนผมจะรับงานภาคองค์กรต่างๆ หรือตัวสินค้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของเราเลย เราเป็นผู้รับจ้างทำงานเท่านั้น แต่หลังๆ ลูกค้าที่เข้ามา ส่วนมากจะกลายเป็นสินค้าที่อิงไปกับงานภาพถ่ายของผมเป็นส่วนใหญ่

เราจะเห็นผลงานของคุณกับภาพแนวสตรีทแทบทั้งสิ้น คุณถ่ายภาพแนวอื่นบ้างหรือไม่
ช่วงหลังๆ พยายามถ่ายสตรีครับ แต่คุณภรรยาไม่ค่อยแฮปปี้เลยได้ถ่ายแต่ลูกสาว เอาจริงๆ ช่วงหลังๆ พยายามลองทำอะไรใหม่หลายๆ แนวดู แต่ยังไม่ได้เผยแพร่ครับ อยู่ในช่วงเรียนรู้ ทดลองอยู่ คือผมเป็นพวกแฮปปี้กับงานตัวเองยากน่ะครับ โดยเฉพาะเวลาทดลองหรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ มันจะเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากคนอื่นเยอะ ต้องใช้เวลาสักพักเหมือนกันตัวงานถึงจะมีเอกลักษณ์หรือลายเซ็นต์ที่เป็นของเรา

คำจำกัดความของภาพแนวสตรีทในความเห็นของคุณคืออะไร
ยังยืนยันคำตอบเดิมที่ตอบเหมือนเดิมมาตลอด 5 ปีครับ คำจำกัดความของภาพแนวสตรีทคือ

  1. เป็นภาพถ่ายที่ไม่จัดฉาก
  2. เป็นภาพที่ถ่ายในที่สาธารณะ
  3. เป็นภาพที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถตีความได้ หรืออย่างน้อยต้องผ่านกระบวนการจัดองค์ประกอบภาพที่น่าสนใจ

ซึ่งข้อ 3 นี่สำคัญมากๆ นะครับ เพราะถ้าไม่มีข้อ 3 นี้แล้ว ทุกคนที่อยากเป็นช่างภาพสตรีทก็คงแค่หยิบกล้องออกไปที่ถนน ยกกล้องขึ้นมายิงกราดผู้คนที่เดินไปมาแบบมั่วๆ ก็ถือว่าได้ภาพสตรีทแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ สำหรับผมมันไม่จำเป็นต้องมีมุกหรือแก๊กอะไรเลย ขอแค่เป็นมุมมองที่ผ่านการวางเฟรมที่ปราณีต มีความตั้งใจก็โอเคแล้ว ส่วนว่ามันจะเป็นภาพสตรีทที่ดีไหมนั่นก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่เอาเข้าจริงงานประเภทนี้มันถูกสร้างและต่อยอดทุกวัน หลังๆ ผมไม่ค่อยสนใจแล้วว่าแค่ไหนอย่างไรถึงจะสตรีท ขอให้ตัวช่างภาพเองชัดเจนว่างานนี้ UN POSED นะ คือแยกแยะให้ชัด ถ้าแยกแยะตรงนี้ได้ แม้แต่ถ่ายภาพคนในครอบครัว ผมมองว่าก็เป็นภาพสตรีทได้

อะไรคือหัวใจของการถ่ายภาพแนวสตรีท ช่างภาพแนวนี้ควรมีคุณสมบัติอย่างไร
ผมว่าหัวใจของการถ่ายภาพแนวนี้คือ การที่ช่างภาพต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างจากสิ่งรอบๆ ตัวโดยใช้การสังเกตครับ ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องของความสนใจของช่างภาพแต่ละคนเลยว่า สนใจอะไร ผมขอยืนยันว่ามันไม่มีกฎเกนฑ์อะไรตายตัวเลย บางคนที่สนใจความเป็นมนุษย์ก็อาจจะแบบว่าเห้ยในภาพฉันต้องมีคนนะ ไม่งั้นฉันรู้สึกมันไม่สตรีทเลย แต่บางคนอาจจะไม่สนใจคนหรืออาจจะกลัวการถ่ายคนเลยก็ได้ แต่เค้าสนใจสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเค้ารู้สึกว่าเค้าโอเคกับสถานที่นี้ สีกำแพงแบบนี้ แสงแบบนี้ ซึ่งหากเลือกวางเฟรมดีๆ แล้วมันสามารถที่จะแปลงออกมาเป็นภาพหรือสื่อความหมาย สื่ออารมณ์บางอย่างที่เค้ารู้สึกหรือความนัยบางอย่างที่ต้องการจะสื่อได้ สำหรับผมมันก็ยังอยู่ในแนวสตรีทอยู่ ขอเพียงคุณอย่าไปขยับหรือจัดอะไรในเฟรม แต่ใช้วิธีการจัดองค์ประกอบภาพ หมุนเปลี่ยนมุมมองในการถ่ายของคุณเอา ส่วนคำถามว่าช่างภาพแนวนี้ควรมีคุณบัติอย่างไร นอกจากควรเป็นคนช่างสังเกตแล้วก็น่าจะเป็นคนชอบเดินเล่นมั้งฮะ 55

ภาพสตรีทที่ดีในความเห็นของคุณเป็นอย่างไร
ภาพสตรีทที่ดีของแต่ละคนมันก็ต่างกันออกไป แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลนะ สำหรับผม มองว่ามันควรเป็นภาพที่องค์ประกอบสวยงาม มีความลงตัวในแง่ทัศนศิลป์ สามารถสื่อสารกับผู้คนได้ คือ คนดูรูปเราแล้วเข้าใจความนัยบางอย่างที่เราจะสื่อ แต่ในขณะเดียวกันก็ทิ้งสเปซให้คนได้จินตนาการเรื่องราวต่อเองได้

อีกอย่างที่สำคัญคือ มันควรเป็นภาพที่ สด-ใหม่ ไม่ซํ้ากับภาพอื่นๆ ที่เคยถูกถ่ายมาแล้ว และในขณะเดียวกันคนอื่นก็ไม่สามารถไปซํ้าในโมเม้นท์นั้นของคุณได้ จริงๆ แล้วภาพแนวนี้มันเอื้อให้เราสร้างอะไรใหม่ๆ จากสิ่งรอบๆ ตัวเรา ซึ่งมันก็ไม่ง่ายนะครับที่จะสร้างสรรค์ภาพให้สด-ใหม่ ตลอดเวลา แต่ถ้าทุ่มเทรวมถึงให้เวลากับมัน ผลลัพธ์ที่ออกมาผมว่ามันคุ้มค่านะครับ

คุณคิดว่าสไตล์การถ่ายภาพสตรีทของคุณเปลี่ยนไปหรือไม่จากปีแรกๆ อะไรคือลายเซ็นต์ของคุณ
ผมคิดว่าเรื่องสไตล์ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมาก ตอนถ่ายรูปก็ยังถ่ายตามใจตัวเองเหมือนเดิม แต่ที่จะเปลี่ยนไปบ้างคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องความจุ้จี้จุกจิกในงานของตัวเอง คือชอบรูปตัวเองยากขึ้น จากเมื่อก่อนถ่ายภาพอะไรมาก็ลงโซเชียลหมด ตอนนี้กลายเป็นว่าเก็บงานมากขึ้น ส่วนเรื่องลายเซ็นต์ผมไม่เคยกำหนดว่าตัวเองต้องเป็นแนวไหนชัดเจน แต่ดูเหมือนหลายๆ คนจะบอกว่างานผมมักจะมีส่วนผสมของความลึกลับและอารมณ์ขันบางอย่าง

ภาพแนวนี้จะเป็นการถ่ายภาพจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงโดยไม่มีการจัดฉาก จัดถ่าย ใช่หรือไม่ แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าภาพนั้นไม่ได้จัดถ่าย
ใช่ครับ ทางฝรั่งเค้าจะเรียกว่า UN POSED คือไม่จัดฉาก ไม่มีการบอกให้โพสท่าทางอะไร เป็นการถ่ายทอดความเป็นไปในพื่นที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมา แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้กลวิธีบางอย่างในการถ่ายภาพ เช่น การจัดองค์ประกอบภาพ การเล่นกับแสง ความไวชัตเตอร์ เพื่อบิดเบือนความจริงที่อยู่ตรงหน้าให้ออกมาเหนือจริง หรืออาจจะไม่ต้องเหนือจริงก็ได้ แต่ควรมีชั้นเชิงทางศิลปะ

ส่วนเรื่องที่ว่าจะทราบได้อย่างไรว่าภาพนั้นมีการจัดฉากหรือไม่ เป็นจรรยาบรรณของตัวช่างภาพเองโดยแท้ครับ จริงๆ เราสามารถดูคอนแท็คชีทเหตุการณ์ก่อนหลังที่ช่างภาพจะได้ภาพนั้นๆ ก็จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นการยืนยันทั้งหมดว่าช่างภาพเองจัดฉากแม้กระทั่งคอนแท็คชีทหรือไม่ ถ้าอยากทราบจริงๆ อาจจะต้องไปถามคนในภาพว่าตัวช่างภาพจัดถ่ายหรือปล่าว

Art of seeing ของช่างภาพสตรีทเก่งๆ นั้นมาจากไหน พรสวรรค์หรือการฝึกฝน ถ้าเป็นการฝึกฝนคุณมีวิธีการฝึกอย่างไร
ผมเองเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องพรสวรรค์เลยครับ ผมเชื่อในพรแสวงหรือการฝึกฝนมากกว่า วิธีการฝึกก็ไม่มีอะไรมากเลยครับ ดูรูปเยอะๆ หาแนวที่ตัวเองชอบให้เจอ ช่วงแรกๆ อาจจะลองก๊อปปี้แบบแนวทางที่ตัวเองชอบก่อนก็ได้ มันเหมือนคัดลายมือน่ะครับ คงไม่มีเด็กคนไทยเกิดมาเขียนตัวหนังสือได้เลยโดยไม่ได้ลากเส้นตามจุดประก่อน แต่ที่สำคัญคือเมื่อเจอแนวทางที่ตัวเองชอบแล้วต้องออกไปถ่ายรูปบ่อยๆ ยิ่งออกไปถ่ายรูปบ่อยเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสได้ภาพดีๆ มากขึ้นเท่านั้น พอออกไปถ่ายรูปมาได้แล้วก็อย่าชื่นชมรูปภาพของตัวเองเร็วเกินไปนัก ลองส่งผลงานไปตามคอมมูนิตี้ของช่างภาพสตรีทดู จะเป็นกลุ่มของ StreetPhotoThailand ก็ได้ หรือถ้าอยากได้รับความคิดเห็นที่กว้างมากขึ้น จะลองส่งไปในกลุ่ม Street ต่างๆใน Flickr ก็ได้ ตัวผมเองค่อนข้างโชคดีที่มีโอกาสไปจอยกับกลุ่มต่างๆ ในช่วงเวลาที่ช่างภาพสตรีทยังเกาะกลุ่มกันใน Flickr ช่วง 4-5 ปีที่แล้วสังคมช่างภาพสตรีทใน Flickr คึกคักมากๆ มีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน ถกเถียงกันมากกว่าตอนนี้ ที่หลายๆ คนย้ายมาอยู่ในโลกส่วนตัวบน IG

อะไรคือประโยชน์ที่คุณได้จากการออกไปถ่ายภาพสตรีทนอกเหนือจากภาพถ่าย
ผมว่าประโยชน์ที่ได้หลักๆ นอกเหนือจากภาพถ่ายคือ การที่เราได้อยู่กับตัวเองฮะ ผมมองว่ามันคือการทำสมาธิอย่างนึง แค่ปลี่ยนจากการกำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นการมีสมาธิและความคิด จดจ่ออยู่กับเหตุการณ์ตรงหน้า ในขณะเดียวกันก็ได้ออกไปเห็นผู้คน ได้เห็นความงามที่ซ่อนอยู่รอบๆ ตัวเรา ที่สำคัญถือว่าเป็นการออกกำลังกายลดหุ่นที่ดีเลยนะครับ ถ้าไม่แวะกินขนมข้างทางมากเกินไปนัก 555

เคยรู้สึกตันบ้างมั๊ย แล้วคุณหาไอเดียในการถ่ายภาพใหม่ๆ จากที่ไหน
ก็มีบางช่วงที่ตันๆ บ้างเหมือนกันนะครับ ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากเลยสำหรับคนที่ถ่ายภาพหรือทำงานศิลปะ ไม่ว่าประเภทไหนก็ตาม ผมมองว่ามันเป็นหนึ่งในกระบวนการ ของการสร้างงานใหม่ๆ นะครับ ถ้าเราทำงานไปเรื่อยจนรู้สึกว่าตันแสดงว่าเรากำลังต้องการอะไรที่ไม่ใช่สิ่งเดิมๆ ที่เราเคยทำมาแล้ว เวลาเกิดความรู้สึกนี้ผมเองก็ไม่ได้ไปเร่งหาไอเดียอะไรใหม่ๆ นะครับ ใช้ชีวิตตามปกติเลยครับ ไม่มีอะไรพิศดาร ดูหนัง ฟังเพลง อาจจะมีไปดูงานศิลปะประเภทอื่นๆ ตามนิทรรศการต่างๆ หรือดูหนังสือภาพของช่างภาพที่ตัวเองชื่นชอบบ้างก่อนนอน แต่ไม่ว่าจะทำอะไร สุดท้ายสิ่งที่ควรจะทำก็คือออกไปถ่ายรูป ไอเดียหรือแรงบันดาลใจจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าไม่ออกไปสร้างสรรค์งาน

กับภาพแนวอื่นๆ จะสามารถใช้เป็นอาชีพหลักได้ หรืออาจนำภาพไปขายออนไลน์ได้ ภาพแนวสตรีทใช้ทำเงินได้หรือไม่
ยังไม่เห็นมีใครทำเป็นอาชีพหลักเพียงอย่างเดียวนะครับ หลายๆ คนเอนจอยกับการที่ให้มันเป็นงานอดิเรกมากกว่า แต่ถามว่าภาพแนวสตรีททำเงินได้ไหมอันนี้ทำได้แน่นอนครับ อาจจะไม่ใช่การนำภาพไปขายเป็นภาพในแนว Stock Photo เพราะตัวภาพสตรีทเองยากที่จะ Model Release จากคนในภาพ แต่ตัวภาพเองถ้าเป็นภาพจากช่างภาพที่ได้รับการยอมรับมากๆ ในระดับสากล ผมเห็นบางคนขายภาพแบบจำกัดเป็นอิดิชั่น ภาพละเป็นแสนบาทต่อใบก็มี หรือจะทำเป็นหนังสือ Photobook รวมถึงซีนเล่มเล็กๆ ขายแบบจำนวนจำกัดก็เห็นหลายคนขายได้อยู่นะครับ แต่ไม่อยากให้มองว่ามาถ่ายรูปแนวนี้เพื่อที่จะทำเงิน เพราะอาจจะทำให้ไม่มีความสุขในการถ่ายภาพมากนัก แนะนำว่าให้ถ่ายภาพอย่างมีความสุข ค่อยๆ เก็บงานของตัวเองไป ถ้างานดีจริง ถึงเวลาเงินจะมาหาเองครับ

ถ้าคุณมีเวลาว่างคุณชอบไปถ่ายภาพที่ไหน แนะนำสถานที่ที่ฝึกถ่ายภาพแนวสตรีทได้ดีในบ้านเราให้ด้วยครับ
ถ้ามีเวลาว่างมากๆ ผมชอบเข้าเมืองไปเดินรอบๆ วัดพระแก้วครับ เมื่อก่อนนี่มีบางช่วงขับรถออกมาจากบ้าน จู่ๆ มาจอดรถที่ราชนาวีสโมสรแบบไม่รู้ตัวเลย เหมือนรถตั้งระบบ AUTO PILOT เอาไว้ 55 ที่ชอบบริเวณนี้เพราะสามารถเดินไปต่อจุดอื่นๆ ได้ง่าย เดินไป ปากคลองตลาด ทะลุพาหุรัด ต่อเยาวราชเลยก็ได้ แต่จริงๆ แล้ว สถานที่ที่ฝึกถ่ายภาพสตรีทที่ดีที่สุดผมมองว่าคือรอบๆ บ้านที่อยู่อาศัยของเรานี่ละครับ ดีที่สุด เพราะไม่ต้องไปผจญรถติดในตัวเมือง โดยเฉพาะน้องๆ ที่เริ่มฝึกถ่ายในแนวนี้ ถ้าลองเปิดใจหามุมมองใหม่ๆ รอบๆ บ้านดูจะพบว่าทุกอย่างสามารถถ่ายได้หมดเลย (แต่จะสวยหรือไม่สวยนี่อีกเรื่องนะ55) การฝึกฝนที่ดีที่สุดคือการมองสภาพแวดล้อมธรรมดาๆ ที่ทุกคนมองข้าม ช่วงแรกๆ ที่ผมฝึกถ่ายก็ฝึกเดินรอบๆ หมู่บ้านนี่ล่ะ ที่ซอยนวลจันทร์ เดินจนหลายๆ คนแซวว่าซอยนวลจันทร์เป็นซอยสตรีทโลก แต่เอาจริงๆ ซอยของบ้านทุกคนก็เป็นซอยสตรีทโลกได้นะ ถ้าเดินบ่อยๆ

กล้องสำคัญเพียงใดในการถ่ายภาพสตรีท กล้องที่ดีสำหรับคุณต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ผมมองว่าแต่ละคนเลือกกล้องแตกต่างกันออกไปนะครับ มันไม่มีสูตรสำเร็จหรือคุณสมบัติที่ FIX ว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่สำหรับผม ผมโอเคกับกล้องที่

1.ควรเป็นกล้องที่มีขนาดเล็ก เพราะคนที่ถูกถ่ายในที่สาธารณะ คงตกใจมากๆถ้าเราเอากล้องที่มีขนาดใหญ่โต ดูโปรมากๆ เข้าไปถ่ายเค้าใกล้ๆ ส่วนตัวเชียร์ระบบ MRL เพราะนอกจากจะมีขนาดเล็กแล้วยังเห็นภาพผลลัพธ์ที่จะได้เลยก่อนที่จะกดขัตเตอร์เสียอีก โดยเฉพาะเรื่องระยะชัดหรือ DOF ที่พอเห็นระยะชัดที่ครอบคลุมแล้ว เราก็สามารถจัดองค์ประกอบภาพเพื่อที่จะเล่าเรื่องหรือแสดงความเชื่อมโยงของวัตถุในภาพได้ง่ายกว่า

2.ควรมีจอที่ Flipได้ เพราะคุณสามารถเปลี่ยนมุมมอง ก้ม เสย โดยที่ยังสามารถจัดองค์ประกอบภาพได้สะดวกอยู่ ลองคิดง่ายๆ ฮะ ถ้าอยากถ่ายมุมที่ต้องวางกล้องไว้ที่พื้นแล้วไม่มีจอ Flip อาจจะต้องนอนลงไปเพื่อเล็ง หรือใช้วิธีกะๆ เอา ซึ่งก็จะทำงานลำบาก รวมถึงได้เฟรมที่ไม่ปราณีตนัก จอ Flip ยังมีประโยชน์อีกอย่าง คือหลายๆ ครั้งเวลาเราถ่ายภาพคนแปลกหน้าในที่สาธารณะ ถ้าเราดูเฟรมจากจอ Flip คนที่ถูกถ่ายจะไม่รู้สึกถูกคุกคามเท่ากับการโดนจ่อยิงโดยช่างภาพเล็งจากช่องมองภาพ ถ้าจังหวะเข้าทำดีๆ มันจะเหมือนเราถ่ายภาพวิวทิวทัศน์มากกว่า

3.ควรเป็นกล้องที่ มีโหมด silent shutter เพราะหลายๆครั้งเราอยู่ในสถานการณ์ในซีนที่เงียบมากๆ ถ้าเราใช้กล้องที่มีเสียงชัตเตอร์หรือชัตเตอร์เสียงดัง เมื่อเรากดชัตเตอร์ครั้งแรกไปแล้ว อาจจะไปทำลายความเป็นธรรมชาติของคนที่เราถ่ายภาพได้ จะดีกว่ามากถ้าเราสามารถถ่ายภาพโมเม้นท์นั้นเรื่อยๆ โดยที่คนในภาพไม่รู้ตัว เพื่อที่จะได้มีตัวเลือกสำหรับภาพที่ดีที่สุด

4.ถ้าเป็นกล้องที่มีความเร็วของเฟรมเรตที่ไวมากๆ ก็จะมีโอกาสได้โมเม้นท์สำคัญได้ง่าย และมีความหลากหลายมากขึ้น เทียบง่ายๆ กล้องที่สามารถถ่ายภาพ 20 ภาพต่อวินาทีกับกล้องที่ถ่ายได้เพียง

5 ภาพต่อวินาที ถ่ายเหตุการณ์เดียวกันกดชัตเตอร์พร้อมกัน ตัวที่ถ่ายได้ 20 ภาพต่อวินาทีก็มีภาพให้เลือกมากกว่าถึง 15 ใบ

คุณใช้กล้องรุ่นใดในการทำงาน ชอบมันเพราะอะไรครับ
ผมสลับๆ ใช้หลายรุ่นของ SONY ครับ  แต่รุ่นที่ชอบที่สุดก็คงเป็น SONY A9 เหตุผลคือมันมีทุกข้อครบตามที่ผมตั้งไว้ โดยเฉพาะเรื่องเฟรมเรตที่ไวที่สุดถึง 20 FPS เป็นอะไรที่มหัศจรรย์นะครับที่เราสามารถถ่ายภาพนิ่งแบบ FullFrame ที่ความละเอียดถึง 24 ล้านด้วยความเร็วระดับนี้ คือ ขอให้เดินเจอโมเม้นท์ที่ใช่เถอะครับ มีสติจัดองค์ประกอบภาพดีๆ เซ็ตติ้งค่าของกล้องให้เหมาะสม โอกาสได้รูปดีๆมีสูงมาก อีกอย่างที่สำคัญคือเรามีทางเลือกในการเลือกคัดรูป จากแอ็คชั่นที่หลากหลายมากขึ้นจากรูป 20 ใบในหนึ่งวินาทีนั้น

ฟังก์ชันใดของกล้องที่คุณใช้ในการถ่ายภาพสตรีทเสมอ
ปกติผมจะตั้งโหมดการถ่ายภาพเป็นโหมดแมนนวลนะครับ ผมรู้สึกถนัดกว่าที่ได้ตั้งค่าเองทั้งหมด ซึ่งหลายๆ คนอาจจะดูว่าปรับเองทุกอย่างจะถ่ายรูปพวกนี้ทันเหรอ เอาจริงๆ แล้วมันมี 3 ค่าเองนะฮะ(นอกจากเรื่องโฟกัส) ที่เราจะปรับ คือสปีดชัตเตอร์ที่ผมมักจะตั้งไว้สูงมากๆ อยู่แล้วเท่าที่แสงอำนวย ประมาณ 1/500 ขึ้นไป (ถ้ามีแสง) / รูรับแสง ผมก็มักจะตั้ง F ที่ครอบคลุมระยะชัดมากๆ อยู่แล้ว ประมาณ f/8-11 ทีนี้ก็เหลือแค่ ISO ที่ผมคัสตอมให้สามารถหมุนแป้นวงแหวนด้านหลังเผื่อเปลี่ยน ISO ได้อย่างรวดเร็ว คราวนี้เวลาเดินเราก็คอยเช็คสภาพแสงและหมั่นตั้งค่ากล้องไปตลอดทางเวลา เจอโมเม้นที่ใช้ก็ไม่ต้องมาเสียเวลาตั้งค่าน่ะครับ

ในการถ่ายภาพคุณถ่ายแบบทีละเฟรมหรือถ่ายรัวต่อเนื่องเป็นชุด
มีทั้งทีละเฟรมและ Burst mode แบบรัวเป็นชุดครับ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าถ่ายอะไรนิ่งๆ ก็คงไม่รู้จะรัวต่อเนื่องไปทำไมใช่ไหมฮะ 55 แต่ถ้าในซีนที่มีความซับซ้อน มีแอคชั่นที่รวดเร็ว หลายๆ คนอาจจะเคยถูกสอนว่า เห้ยคุณต้องกดชัตเตอร์แค่ครั้งเดียว โช๊ะเดียวเลยในโมเม้นที่ใช่ แต่เชื่อผมเถอะฮะกล้องสมัยนี้กดชัตเตอร์ครั้งเดียวได้ 10-20 ใบ แล้วมันมีเหตุผลอะไรที่คุณจะเลือกให้มันเป็นโหมด Single Frame นอกเสียจากความอีโก้ของคุณเอง ซึ่งหลักการจริงๆ มันก็ไม่ต่างกับการเลือกจังหวะที่ดีที่สุดที่จะบันทึกภาพนะครับ เพียงแต่ถ้าคุณไม่ปล่อยชัตเตอร์เร็วไปนัก คุณอาจจะมีโอกาสได้จังหวะที่ดีกว่าที่คุณคิด

เลนส์ที่คุณใช้ในการถ่ายภาพสตรีทมีเลนส์อะไรบ้าง
ปกติผมจะถนัดเลนส์แมนนวลที่มีขนาดเล็กนะครับ แต่ช่วงหลังๆ ก็มีทดลองใช้เลนส์ AUTO ตระกูล G MASTER ของโซนี่บ้างเพราะอยากลองเฟิร์มแวร์ใหม่ ของ SONY A9 ที่ปรับปรุงความเร็วเรื่องการแทร็คกิ้งได้มหัศรรย์มากๆ

คุณใช้เลนส์ G Master รุ่นใด และพอใจกับคุณภาพและการใช้งานเพียงใด
เลนส์ที่ผมใช้ก็จะมีช่วง 24-70mm f/2.8 GM ครับ เพราะเป็นช่วงที่ถนัดที่สุด เวลาไปทริปต่างประเทศก็มีติด 16-35mm f/2.8 GM ไปบ้าง ส่วนถ้าถ่ายลูกสาวก็จะใช้เป็น 85mm f/1.4 GM ครับ ทุกตัวที่ว่ามาพอใจมากๆ ครับ ในเรื่องคุณภาพของไฟล์ และความทนทาน อ้อตัวนึงที่ผมโอเคมากๆ หลังจากได้ทดลองใช้ก็คือ 24mm f/1.4 GM ครับ เป็นเลนส์ Fix คุณภาพสูงที่ที่นํ้าหนักเบามากๆ หวังว่าทางโซนี่จะออกเลนส์ Fix ตระกูล G Master ที่นํ้าหนักเบาออกมาอีกให้ช่างภาพได้เลือกใช้งานกันนะครับ

ช่วยฝากคำแนะนำสำหรับนักถ่ายภาพที่สนใจถ่ายภาพแนวนี้หน่อยครับว่าควรทำอย่างไรในการพัฒนาฝีมือ
ถ้าว่างก็อย่าอยู่บ้านครับ 55 มีเวลาก็หมั่นพาตัวเองออกไปเดินเล่นถ่ายรูปบ่อยๆ ผมแนะนำให้ออกไปเดินคนเดียวนะ ถ้าไปเดินหลายคนจะชอบคุยกันมากกว่าถ่ายรูป แถมเวลาเจอซีนดีๆ ก็มานั่งเกรงใจหรือไม่ก็แย่งมุมกันถ่ายจนมีมุมเหมือนกันอีก อาจจะเหงาๆ หน่อย แต่ก็ถือเสียว่าเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง ดูรูปเยอะๆ หาแนวทางที่ตัวเองชอบ ที่ให้ดูเยอะๆ ไม่ใช่ดูเพื่อไป COPY เค้า แต่ให้ดูเยอะๆ เพื่อที่จะรู้ว่าภาพแบบนี้มันมีคนถ่ายแล้วนะ เราจะถ่ายให้ไม่ซํ้าได้อย่างไร อย่าพอใจในงานของตัวเองง่ายๆ หมั่นติงานของตัวเองว่าชอบไม่ชอบตรงไหน ถ้าแก้ไขได้เราจะปรับปรุงมันอย่างไร พาตัวเองไปอยู่ในคอมมูนิตี้ของช่างภาพแนวนี้ มีเงินเหลือก็ซื้อหนังสือภาพเอาไว้ดูสร้างแรงบันดาลใจบ้าง อย่าไปลงอุปกรณ์จนหมด 55


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

📢 ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ 💻
📌Line@ : @fotoinfo
📌YouTube : Fotoinfo Channel
📌Website : fotoinfomag.com
📌e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine

ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/