Knowledge

IMAGES & IMAGINATION

ศิลปะการปรับแต่งตัดต่อภาพถ่ายนั้น แทบจะมีอายุเก่าแก่ยาวนานพอๆ กับศิลปะการถ่ายภาพเลยทีเดียว  ย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยเริ่มต้นมีศาสตร์การถ่ายภาพ เหล่าบรรดาช่างภาพทั้งหลายได้พยายามอย่างหนักเพื่อที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาภาพถ่ายของตนให้มีความสวยงามและมีความหลากหลายทางศิลปะ ด้วยวิธีการต่างๆ ในห้องมืด ไม่ว่าจะเป็นการย้อมสี การลดหรือเพิ่มแสงด้วยวิธีก่ายภาพและเคมี การตัดครอปภาพ การปรับแต่งตัดต่อฟิล์ม จนไปถึงกระบวนการซ้อนภาพ

ในยุคของการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม กระบวนการปรับแต่งตัดต่อภาพถ่ายนั้นมักจะถูกจำกัดอยู่ในวงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ช่างภาพมืออาชีพหรือนักถ่ายภาพที่จริงจังพอที่จะลงทุนอุปกรณ์สำหรับห้องมืดได้ อีกทั้งยังต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นอย่างสูงในการปรับแต่งงานแต่ละชิ้น การปรับแต่งภาพถ่ายในอดีตนั้นจึงค่อนข้างเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับนักถ่ายภาพในระดับทั่วๆ ไป ง่ายที่สุดก็คงจะเป็นการเลือกใช้ฟิล์มต่างๆ ชนิด หรือยี่ห้อ เพื่อที่จะให้ได้ภาพถ่ายที่มีสีสันแตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันนี้การพัฒนาของโลกถ่ายภาพดิจิตอลทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้ห้องมืดในการตัดต่อปรับภาพอีกต่อไป ซอฟท์แวร์ต่างๆ ทั้งในกล้องถ่ายภาพและในคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันอยู่แล้วได้ช่วยขยายขอบเขตให้นักถ่ายภาพทุกระดับสามารถปรับแต่งภาพถ่ายได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Fujifilm X-T1 , Fujinon EBC XF18f/2R , ISO200 1/125Sec f/2

การถ่ายภาพนั้นถือเป็นการผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ นักถ่ายภาพที่ดีนั้นควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกของกล้องและเลนส์ชนิดต่างๆ ควบคู่ไปกับเทคนิคการถ่ายภาพและปรับแต่งภาพอีกด้วย  หากท่านผู้อ่านเป็นนักถ่ายภาพที่เริ่มจริงจังกับการถ่ายภาพและต้องการพัฒนาผลงานของท่านให้มีรสชาติมากขึ้น  นอกจากท่านจะพัฒนาวิธีการใช้งานกล้องถ่ายภาพและเรียนรู้เทคนิคทฤษฎีถ่ายภาพต่างๆ แล้ว วิชาการปรับแต่งภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งวิชาบังคับของนักถ่ายภาพยุคใหม่ที่ท่านจำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

ในปัจจุบันนักถ่ายภาพมากมายหลายท่านถือว่าโปรแกรมปรับแต่งภาพเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานชิ้นหนึ่ง เทียบได้กับห้องมืดของนักถ่ายภาพในยุคฟิล์ม  หลายๆ ท่านที่ศึกษาฝึกฝนจนเชี่ยวชาญก็สามารถนำเทคนิคความรู้มาใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ หลายท่านที่ผลงานเป็นที่นิยมก็ผลิตพรีเซตปรับแต่งภาพสูตรต่างๆ ออกมาให้เราได้ซื้อได้หามาใช้ตามความชื่นชอบ คล้ายๆ กับซื้อนํ้ายาล้างฟิล์มสูตรพิเศษในสมัยอดีต

Fujifilm X-T1 , Fujinon EBC XF18mm f/2R , ISO200 1/60Sec f/2 ภาพต้นฉบับเต็มไปด้วยฉากหลังที่รกตาครับ

ซ้อนภาพสุสานที่โหลดจาก free source เข้าไปในฉากหลังเพื่อสร้างเรื่องราววังเวงเข้าไป เติมหมอกโดย ใช้ Filter>Render>Diffence Clouds จากนั้นทำ Motion Blur ใส่หมอกเพื่อให้หมอกมี movement จากนั้นลด Saturation ลง 70%   Background Texture จาก donmalo.deviantart.com

โปรแกรมปรับแต่งภาพก็มีให้เลือกซื้อเลือกใช้มากมายในท้องตลาดครับ มีตั้งแต่แบบใช้ง่ายๆ สำหรับมือใหม่ไปจนถึงแบบซับซ้อนสุดๆ สำหรับมืออาชีพ ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปโหลดมาลองใช้ฟรีก่อนได้ ถนัดแบบไหนถูกใจแบบไหนก็ค่อยลองเสียเงินซื้อมาใช้งานกันครับ ส่วนตัวผู้เขียนเองใช้งานแพคเกจรายปีสำหรับช่างภาพของค่าย Adobe ครับ  แพคนี้จะมีโปรแกรมมาให้ใช้งาน 2 โปรแกรมด้วยกันคือ Adobe Lightroom และ Adobe Photoshop ครับ ค่าใช้งานตกวันละสิบบาท ใช้ดีและสบายใจมากครับ

การเรียนรู้และเทคนิคการใช้งานต่างๆของโปรแกรมในยุคนี้ถือว่าสะดวกมากๆ ครับ มีอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญมากมายหลายท่านออกมาเปิดสอนวิธีการใช้งานและเทคนิดต่างๆ ทั้งแบบกลุ่ม แบบส่วนตัวไปจนถึงดีวีดีสอนแบบออนไลน์ นั่งเรียนอยู่ที่บ้านก็ยังได้ มีตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับซับซ้อน ดังนั้นหากท่านต้องการพัฒนาเทคนิคและวิธีการปรับแต่งภาพท่านก็สามารถหาแหล่งความรู้เหล่านี้ได้ไม่ยาก

Fujifilm X-T1 , Zeiss Touit 32mm f/1.8 , ISO320 1/2000Sec f/1.8 ภาพต้นฉบับฉากหลังเป็นกรงนกเงือกครับ

ซ้อนภาพสุสานในฉากหลังเพื่อสร้างเรื่องราววังเวงเข้าไป เติมหมอกโดยใช้ Filter>Render>Diffence Clouds ใส่ Black/White Filter  Background Texture จาก estruda.deviantart.com

ส่วนตัวผมเองนั้นถือได้ว่าเสพติดและใช้งานสองโปรแกรมนี้จนกลายเป็นปัจจัยหนึ่งของการผลิตงานไปแล้วก็ว่าได้ครับ  เพราะหากขาดเครื่องมือชิ้นนี้ไป ผมคงไม่สามารถตัดส่วนเกิน แก้ไขส่วนขาด และเติมเต็มจินตนาการของผมลงในภาพที่ผมถ่ายมาจากในกล้องได้

ผมต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญของโปรแกรมปรับแต่งภาพเหล่านี้ เป็นเพียงนักถ่ายภาพผู้ใช้งานโปรแกรมในการผลิตงานจนเกิดเป็นทักษะ หลายๆ กระบวนการก็เกิดจากการจินตนาการภาพขึ้นมาก่อนแล้วไปหาศึกษาเรียนรู้วิธีการปรับแต่งจากในแหล่งความรู้ต่างๆ ครับ

Fujifilm X-Pro1, Fujinon EBC XF18 f/2R, ISO200 1/1000Sec f/2 ภาพต้นฉบับถ่ายทำที่ปราสาทดรีมเวิร์ลครับ

ซ้อนปราสาทเยอรมันเข้าไปในฉากหลังเพื่อเพิ่มเรื่องราวให้ภาพ ทำ LensBlur เพื่อสร้างระยะให้ฉากหลังใส่ Warm Filter เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ภาพ  Background Texture from paulgraphic.deviantart.com

เครื่องมือที่ผมมักใช้งานเป็นประจำคือพวก Clone Tool, Stamp Tool, Healing Brush ไว้รบริ้วรอยต่างๆ  พวกCurveและ Level ไว้สำหรับเพิ่มลดความสว่างของภาพ  Blending Mode และฟิลเตอร์สีต่างๆ ไว้สำหรับปรับแต่งโทนภาพ  ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ซับซ้อนอะไร เป็นที่นิยมใช้กันโดยนักถ่ายภาพทั่วโลกอยู่แล้วครับ  ที่ผมพยายามฝึกฝนเพิ่มเติมอยู่ในทุกวันนี้คือการพัฒนาจินตนาการในการปรับแต่งภาพ  พยายามมองให้เห็นตั้งแต่ก่อนถ่ายว่าจะปรับแต่งภาพไปในทิศทางไหน มีอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง แล้วถ่ายภาพมาให้สอดคล้องกับที่จินตนาการไว้ให้มากที่สุดครับ

Fujifilm X-T1 , Zeiss Touit 32mm f/1.8 , ISO320 1/2000Sec f/1.8 ภาพต้นฉบับฉากหลังเป็นกรงนกเงือกครับ

ซ้อนภาพสุสานในฉากหลังเพื่อสร้างเรื่องราววังเวงเข้าไป เติมหมอกโดยใช้ Filter>Render>Diffence Clouds ใส่ Black/White Filter Background Texture จาก estruda.deviantart.com

 

เรื่อง/ภาพ : วศิน ทรงกัลยาณวัตร


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจเทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/shoot-and-edit/