Basic

How to Use “Monopod”

สำหรับการถ่ายภาพกีฬา ภาพสัตว์ป่า หรือภาพอื่นๆ ที่ต้องการความมั่งคงมากกว่าการใช้มือถือกล้องถ่ายภาพหรือเมื่อต้องใช้เลน์ที่มีนํ้าหนักมากเป็นเวลานานแต่ต้องการความคล่องตัวกว่าขาตั้งกล้องแบบสามขาแล้ว โมโนพอดคือทางเลือกที่ดีในการเพิ่มความนิ่งให้แก่กล้องรวมทั้งยังช่วยลดความเมื่อยล้าจากการถือกล้องพร้อมเลนส์ขนาดใหญ่เป็นเวลานานได้

ความนิ่งหรือมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญในการถ่ายภาพ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยหลีกเลี่ยงการเบลอของภาพได้โดยเฉพาะถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย ซึ่งโดยปกติแล้วทางเลือกหลักของนักถ่ายภาพในการสร้างความมั่นคงและนิ่งให้แก่กล้องคือขาตั้งกล้องที่มีสามขา แต่อย่างไรก็ตามแม้ขาตั้งกล้องจะสามารถทำงานได้ดีในการสร้างความนิ่งแก่กล้อง แต่อาจไม่ใช่ทุกสถานการณ์ที่จะเหมาะสำหรับการใช้ขาตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักถ่ายภาพต้องการความรวดเร็วในการเคลื่อนที่อย่างนักถ่ายภาพกีฬาหรือสัตว์ป่า รวมไปถึงเมื่อถ่ายภาพท่ามกลางฝูงคนที่แออัด ซึ่งขาตั้งกล้องแบบสามขาจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ขาดความคล่องแคล่ว ทำให้โมโนพอดเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในสถานการณ์ลักษณะนี้ เพราะสามารถให้ความมั่นคงได้ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่มีความเร็วกว่าและง่ายกว่าในการปรับตั้งและเคลื่อนย้าย

อย่างไรก็ตามโมโนพอดก็เช่นเดียวกับขาตั้งกล้องที่ต้องมีการใช้อย่างถูกต้องเพื่อให้เกิดความมั่นคงแก่กล้องในขณะถ่ายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโมโนพอดที่มีขาเดียวแล้วยิ่งต้องการความระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษ

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำในการใช้โมโนพอดตั้งแต่ขั้นตอนเบื้องต้นเพื่อให้มีความมั่นคงสูงสุดในขณะถ่ายภาพ


ติดกับกล้อง

การติดกล้องเข้ากับโมโนพอดมีสองวิธี วิธีแรกคือหมุนช่องต่อขาตั้งกล้องด้านล่างตัวกล้องเข้ากับเกลียวบนโมโนพอดโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีหากเลนส์ที่ใช้ร่วมด้วยมีขนาดไม่ใหญ่และนํ้าหนักเบา แต่หากใช้เลนส์เทเลโฟโตขนาดใหญ่ นํ้าหนักมากอย่างที่นักถ่ายภาพกีฬาใช้ในสนามแข่งขัน การติดโมโนพอดเข้ากับวงแหวนติดขาตั้งกล้องของเลนส์จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าติดโมโนพอดที่ตัวกล้อง เพราะจะให้ความสมดุลย์ที่ดีกว่าและช่วยไม่ให้โมโนพอดไม่หมุนในมือขณะที่ปักปลายโมโนพอดลงที่พื้น มีหัวสำหรับโมโนพอดให้เลือกใช้มากมายเช่นเดียวกับหัวขาตั้งกล้อง โดยหัวบอลล์เป็นทางเลือกที่มีความยืดหยุ่นที่สุดในการใช้งาน เพราะช่วยให้ถ่ายภาพได้สะดวกไม่ว่ากล้องจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อถ่ายภาพแนวนอนหรือพลิกกล้องเพื่ออถ่ายภาพแนวตั้ง รวมทั้งยังปรับมุมของกล้องได้ง่ายเมื่อเอียงโมโนพอด

การถือโมโนพอด

การใช้โมโนพอดมีความแตกต่างจากขาตั้งกล้องที่นักถ่ายภาพสามารถกางขาตั้งกล้องลงที่พื้นได้เลย และไม่ควรสัมผัสหรือสัมผัสขาตั้งกล้องให้น้อยที่สุดในขณะถ่ายภาพ แต่กับโมโนพอดนักถ่ายภาพจะต้องถือไว้ตลอดเวลาที่ถ่ายภาพ เมื่อใช้โมโนพอดถ่ายภาพ ตามปกติจะใช้มือซ้ายจับส่วนบนของโมโนพอด โดยควรจับในบริเวณใต้จุดที่ติดโมโนพอดกับกล้อง แล้วจับกล้องด้วยมือขวาตามปกติ ซึ่งจะทำให้นักถ่ายภาพควบคุมปุ่มชัตเตอร์และการปรับตั้งต่างๆ บนตัวกล้องได้ง่าย ในขณะถ่ายภาพนักถ่ายภาพควรใช้มือซ้ายที่จับโมโนพอดกดลงไปที่ด้านล่างเบาๆ เพื่อช่วยในการยึดโมโนพอดกับพื้น เพิ่มความมั่นคง และลดการสั่นของกล้องลง นอกจากนี้ควรวางข้อศอกติดกับตัวเพื่อลดการขยับทางด้านข้างและทำให้มีตำแหน่งหรือท่าทางโดยรวมที่นิ่งในการถ่ายภาพมากขึ้น

ตำแหน่งของโมโนพอด

มีหลายตำแหน่งในการปักโมโนพอดเพื่อให้มีความมั่นคง ซึ่งวิธีที่เลือกใช้อาจจะขึ้นอยู่กับความชอบหรือความถนัดของนักถ่ายภาพ สำหรับนักถ่ายภาพที่ไม่เคยใช้โมโนพอดมาก่อน ต่อไปนี้คือคำแนะนำในการปักโมโนพอดในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเหมาะกับพื้นผิวที่มีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งนักถ่ายภาพอาจลองนำไปใช้ดูว่าท่าใดมีความสบายและเหมาะสมที่สุดในการถ่ายภาพ อย่างไรก็ตามระยะที่แนะนำอาจต้องมีการปรับเพื่อความเหมาะสมในแต่ละคน

รูปแบบของขาตั้งกล้อง 3 ขา

ยืนโดยที่เท้าทั้งสองข้างอยู่ในระยห่างที่มีความสบายในการยืน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะตรงกับไหล่ หันหน้าเข้าหาวัตถุ จากนั้นปักโมโนพอดในตำแหน่งด้านหน้าอยู่ตรงกลางระหว่างขาซ้ายและขาขวาโดยเท้าทั้งสองข้างและโมโนพอดทำมุมเป็นสามเหลี่ยม ปรับโมโนพอดจนช่องมองภาพของกล้องอยู่ในระดับสายตา การใช้ทั้งโมโนพอดและขาทั้ง สองข้างของนักถ่ายภาพร่วมกันจะทำให้มีลักษณะเหมือนขาตั้งกล้องแบบ 3 ขา ซึ่งนี่เป็นการตำแหน่งการปักปลายโมนโนพอดตามปกติที่มักใช้กันโดยทั่วไปและเป็นธรรมชาติ หากพื้นที่มีความนุ่มเช่นหญ้า อาจยืดให้โมโนพอดสูงกว่าระดับสายตา 2-3 นิ้วแล้วปักปลายโมโนพอดให้อยู่ด้านหน้ามากขึ้นแล้วเอียงโมโนพอดเข้าหาตัวจนช่องมองภาพของกล้องอยู่ในระดับสายตา

ยืนแบบนักยิงธนู

ยืนหันหน้าเข้าหาวัตถุโดยขยับเท้าซ้ายมาด้านหน้าหนึ่งหรือสองฟุต เบี่ยงเท้าขวาเฉียงออกด้านนอกเล็กน้อยให้มีความสบายในการยืนแต่ยืนได้อย่างมั่นคง จากนั้นปักปลายโมโนพอดที่บริเวณส่วนหลังของเท้าขวาโดยให้ปลายโมโนพอดแตะรองเท้าเพื่อป้องกันปลายโมโนพอดขยับ ดันกล้องมาด้านหน้าเล็กน้อยจนก้านโมโนพอดแนบมั่นคงอยู่ที่ต้นขาซ้าย นอกจากนี้นักถ่ายภาพอาจเอียงมาด้านหลังเล็กน้อยหรือขยับเท้าเข้าใกล้กันมากขึ้นเพื่อให้สัมผัสกับก้านโมโนพอดในแนวตั้งมากขึ้นการปักโมโนพอดในลักษณะนี้เหมาะสำหรับพื้นที่มีลักษณะแข็งหรือพื้นที่ลื่น ซึ่งมีปัญหาในการทำให้ปลายโมโนพอดนิ่งอยู่กับพื้น

สอดไว้ที่ด้านหลังขา

เช่นเดียวกับการใช้โมโนพอดท่าอื่นที่หันหน้าเข้าหาวัตถุ จากนั้นแยกเท้าทั้งสองข้างให้ห่างกันโดยตรงกับตำแหน่งของไหล่ สอดโมโนพอดไปที่ระหว่างขาทั้งสองโดยให้ปลายโมโนพอดอยู่หลังส้นเท้าซ้ายประมาณ 3-6 นิ้ว เมื่อถ่ายภาพดันโนโนพอดมาด้านซ้ายจนแนบอย่างมั่นคงกับด้านในของต้นขาซ้าย วิธีวางตำแหน่งโมโนพอดลักษณะนี้สามารถให้ความมั่นคงได้ทั้งกับพื้นที่อ่อนและแข็ง แต่จะรู้สึกไม่สบายเล็กน้อย และทำให้ร่างกายสมดุลย์ยากกว่าท่าอื่น

การใช้โมโนพอดในลักษณะอื่น

นักถ่ายภาพสามารถใช้โมโนพอดในลักษณะอื่นๆ นอกจากข้างต้นได้ ตราบเท่าที่ยังคงให้ความมั่นคงและช่วยหลีกเลี่ยงการเบลอภาพได้

  • เพิ่มความสูงให้มากขึ้น : นักถ่ายภาพสามารถหามุมถ่ายภาพที่แตกต่างหรือหลีกเลี่ยงจากผู้คนที่อยู่ด้านหน้าได้ด้วยการให้กล้องอยู่ในตำแหน่งสูงเหนือหัว โดยถือที่ปลายโมโนพอด แล้วใช้การทำงานหน่วงเวลาถ่ายภาพ หรือรีโมตเพื่อสั่งให้ชัตเตอร์ทำงานถ่ายภาพ
  • ใช้ในลักษณะขาตั้งกล้อง : แทนการใช้มือถือโมโนพอดให้มั่นคง นักถ่ายภาพอาจลองเอียงโมโนพอดเข้ากับบางสิ่งที่มั่นคงอย่างรั้วหรือโต๊ะ เพื่อช่วยเพิ่มความนิ่งให้แก่โมโนพอดมากขึ้น และสามารถใช้โมโนพอดในลักษณะขาตั้งกล้องแบบ 3 ขาได้
  • รองรับสิ่งที่มีนํ้าหนักมาก : กล้องและเลนส์บางรุ่นเมื่อรวมกันแล้วอาจมีนํ้าหนักมากหลายกิโลกรัม ซึ่งการถืออุปกรณ์เหล่านี้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้า การใช้โมโนพอดรองรับอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีนํ้าหนักมากเหล่านี้จึงเป็นที่นิยมของนักถ่ายภาพกีฬา ซึ่งมักใช้เวลาถ่ายภาพเป็นชั่วโมงในจุดใดจุดหนึ่งด้วยเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงนํ้าหนักมาก

How to Select Monopod

แม้จะมีเพียงขาเดียวและมีรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกับขาตั้งกล้องแบบ 3 ขา แต่วิธีที่ใช้ในการเลือกขาตั้งกล้องก็ยังสามารถนำมาใช้กับโมโนพอดได้ โดยมี 3 สิ่งหลักๆ ที่ควรพิจารณาเมื่อจะซื้อโมโนพอด

วัสดุและนํ้าหนัก : เช่นเดียวกับขาตั้งกล้องที่วัสดุคือปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อนํ้าหนักของโมโนพอด ซึ่งนํ้าหนักที่มากจะส่งผลเมื่อต้องถือหรือเปลี่ยนสถานที่ถ่ายภาพที่อยู่ไกล ดังนั้นเมื่อคิดจะซื้อโมโนพอดจึงควรคิดถึงวัสดุที่ใช้ในการผลิตที่เป็นไปได้ภายในงบประมาณที่มี โดยวัสดุหลักๆ ที่ใช้ในการผลิตโมโนพอดมีต่อไปนี้

  • อลูมิเนียมอัลลอย : เป็นวัดุที่มีความแข็งแรงและมีราคาไม่แพง จึงมักถูกใช้ในการผลิตโมโนพอดหลากหลายรุ่นมากที่สุด
  • คาร์บอนไฟเบอร์ : มีนํ้าหนักเบากว่าอลูมิเนียมโดยที่มีความแข็งแรงไม่แตกต่างกัน แต่จะมีราคาแพงกว่า

ความสูง : เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อความสบายในขณะถ่ายภาพ ความสูงของโมโนพอดอย่างน้อยที่สุดเมื่อยืดจนสุดเมื่อติดกับกล้องแล้วช่องมองภาพของกล้องควรมีความสูงในระดับสายตาเมื่อนักถ่ายภาพยืนในลักษณะปกติหรือเตี้ยกว่าเล็กน้อย เพราะหากเตี้ยกว่าทำให้นักถ่ายภาพยืนไม่สบายโดยต้องโน้มตัวลงมามองช่องมองภาพมาก

การรับนํ้าหนัก : นี่คืออีกสิ่งที่นักถ่ายภาพควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกับเมื่อซื้อขาตั้งกล้อง เพราะจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่ติดบนโมโนพอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับเลนส์ทางยาวโฟกัสสูงนํ้าหนักมาก

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic