Basic

How to Shoot Fashion Show

นอกจากภาพแฟชั่นที่มีการเซ็ตถ่ายลงในนิตยสารติดกันหลายๆ หน้าแล้ว ยังมีการถ่ายภาพแฟชั่นอีกลักษณะหนึ่งคือแฟชั่นโชว์ ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกับภาพแฟชั่นแบบแรกอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการถ่ายภาพในลักษณะที่คล้ายกับ Commercial Event มากกว่า แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพแฟชั่นโชว์ก็มีรูปแบบการถ่ายภาพที่แตกต่างจากการถ่าย Event รวมทั้งมีความท้าทายในการถ่ายภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งความท้าทายหนึ่งที่สำคัญคือช่วงเวลาที่จำกัดในการถ่ายภาพเครื่องแต่งกายแต่ละชุด และไม่มีโอกาสแก้ตัวครั้งที่สอง สำหรับผู้ไม่เคยถ่ายภาพแฟชั่นโชว์มีคำแนะนำที่ควรจะรู้ก่อนที่จะเข้าไปยืนอยู่ในจุดสำหรับนักถ่ายภาพในงานแฟชั่นโชว์

ลดอุปกรณ์เหลือเท่าที่จำเป็น
ที่จุดสำหรับนักถ่ายภาพในงานแฟชั่นโชว์จะไม่มีพื้นที่ให้นักถ่ายภาพสามารถเตรียมอุปกรณ์ไปด้วยจำนวนมากได้เหมือนการถ่ายภาพหลายๆ แบบ เนื่องจากมีพื้นที่ไม่มากและจะต้องแบ่งปันพื้นที่นั้นร่วมกับนักถ่ายภาพคนอื่นๆ รวมทั้งในกรณีที่มีนักถ่ายภาพยืนเบียดกันยังอาจไม่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้สะดวกด้วย ดังนั้นกล้องและเลนส์ซูมเทเลโฟโตอย่าง 70-200 มม. สำหรับกล้องฟูลเฟรมหรือเลนส์ซูมที่มีทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากันของเซ็นเซอร์ภาพขนาดอื่นจึงเป็นสิ่งนักถ่ายภาพควรเลือกติดกล้องสำหรับการถ่ายภาพแฟชั่นโชว์ แต่อย่างไรก็ตามนอกจากอุปกรณ์ถ่ายภาพแล้วในบางสถานการณ์นักถ่ายภาพอาจต้องมีเก้าอี้ขนาดเล็กหรือสิ่งที่จะช่วยให้ยืนถ่ายภาพสูงกว่าปกติได้หากต้องอยู่ด้านหลังนักถ่ายภาพคนอื่น ขณะที่สำหรับการถ่ายภาพด้านหลังเวทีหรือเบื้องหลังงานแฟชั่นโชว์ เลนส์ซูมมาตรฐานอย่าง 24-70 มม. รวมทั้งแฟลชสำหรับติดบนกล้องและอุปกรณ์ปรับแต่งแสงแฟลชเพื่อให้มีความนุ่มขึ้นจะเป็นสิ่งสำคัญ

ปรับความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงที่เหมาะสม
เนื่องจากการถ่ายภาพแฟชั่นโชว์คือการถ่ายภาพนายหรือนางแบบที่มีการเคลื่อนไหวดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่จะสามารถหยุดการเคลื่อนที่ของแบบได้โดยไม่เบลอ โดยความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ควรจะอยู่ที่ 1/125 วินาทีเป็นอย่างน้อย หรืออาจจะมากกว่านี้ และขณะเดียวกันก็ควรให้ภาพมีระยะชัดพอสมควรถึงแม้จะไม่ได้ต้องการระยะชัดลึกมากก็ตาม เพื่อให้ได้ทั้งความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงที่เหมาะสมนักถ่ายภาพจึงต้องอาจต้องใช้การปรับความไวแสงค่อนข้างสูง ถึงแม้เวทีแฟชั่นโชว์จะมีการจัดไฟเพื่อให้แสงแก่บรรดาผู้เดินแบบบนเวทีก็ตาม

เลือกโหมดบันทึกภาพแมนนวลหรือปรับรูรับแสงล่วงหน้า
เนื่องจากแสงสำหรับเวทีแฟชั่นโชว์มักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือหากมีการเปลี่ยนแสงก็จะไม่บ่อย ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงสามารถใช้โหมดบันทึกภาพแมนนวล เพื่อวัดแสงและปรับตั้งค่าบันทึกภาพไว้ล่วงหน้าได้ หรืออาจจะใช้โหมดปรับรูรับแสงล่วงหน้าสำหรับแฟชั่นโชว์ที่อาจมีการเปลี่ยนลักษณะแสงบนเวทีบ่อย แต่นักถ่ายภาพต้องคอยสังเกตความเร็วชัตเตอร์ที่ได้ไม่ให้ต่ำเกินไปจนทำให้ผู้เป็นแบบบนเวทีเบลอขณะเดิน

ไวต์บาลานช์
เมื่อนักถ่ายภาพไปถึงจุดสำหรับนักถ่ายภาพในงานแฟชั่นโชว์ควรตรวจสอบไวต์บาลานช์รวมไปถึงค่าบันทึกภาพด้วยการลองถ่ายภาพก่อน เพื่อจะสามารถปรับตั้งไวต์บาลานช์ที่เหมาะสมได้ โดยควรปรับเป็นเควินหากลักษณะของแสงมีความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากเป็นแสงผสมการใช้ไวต์บาลานช์อัตโนมัติอาจเป็นทางออกที่ แต่สำหรับสถานการณ์ที่มีทั้งการใช้แสงผสมและไฟสปอตไลต์สีที่เปลี่ยนตำแหน่งแสงไปเรื่อยๆ การถ่ายภาพแบบ RAW จะเป็นทางออกที่ดีเพื่อการปรับแก้ไวต์บาลานช์ภายหลัง

ถ่ายภาพแบบ RAW, JPEG หรือทั้งสองแบบ
แน่นอนว่าการถ่ายภาพแบบ RAW จะช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถปรับแก้ไขสิ่งต่างๆ ในภาพทั้งค่าแสงและไวต์บาลานช์ได้ง่ายขึ้น แต่หากต้องการความรวดเร็วในการนำไปใช้งานเช่นลงเวบไซต์หลังแฟชั่นโชว์จบด้วยก็อาจจะต้องเลือกถ่ายภาพแบบ RAW+JPEG ซึ่งนักถ่ายภาพอาจต้องเตรียมการ์ดบันทึกภาพที่มีความจุสูงหรือหลายใบเผื่อสำหรับการถ่ายภาพ เนื่องจากแม้จะมีช่วงเวลาในการถ่ายภาพไม่นาน แต่ก็ต้องถ่ายภาพจำนวนมาก โดยมีนักถ่ายภาพที่ถ่ายแฟชั่นโชว์จำนวนมากเลือกถ่ายภาพแบบ JPEG เพียงอย่างเดียวเพื่อที่จะสามารถส่งภาพให้ลูกค้าเพื่อโพสต์ภาพออนไลน์ได้ทันทีหลังเสร็จงาน

ระบบโฟกัส
กับกล้องที่ระบบออโตโฟกัสต่อเนื่องหรือติดตามวัตถุสามารถทำงานได้แม่นยำจะเป็นทางเลือกที่ดีและง่ายในการถ่ายภาพแบบที่เดินบนแคทวอร์ก ขณะที่ระบบออโตโฟกัสแบบที่ละภาพจะช่วยให้ควบคุมจังหวะการกดชัตเตอร์ได้แม่นยำกว่า นอกจากนี้การโฟกัสแมนนวลโดยปรับโฟกัสล่วงหน้าไปยังจุดที่ต้องการบนเวทีแล้วกดชัตเตอร์เมื่อวัตถุเข้ามาในจุดที่โฟกัสไว้ก็ยังเป็นอีกทางเลือกที่ดีและได้ผล โดยที่นักถ่ายภาพจะสามารถกดชัตเตอร์ซํ้าได้รวดเร็ว

ระบบวัดแสง
โดยทั่วไประบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลางหรือ Center-Weight จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกับการถ่ายภาพแฟชั่นโชว์ โดยเฉพาะหากฉากหลังมืด เนื่องจากระบบวัดแสงแบบหลายพื้นที่อาจถูกฉากหลังที่มืดหลอกได้ นอกจากนี้ในบางสถานการณ์นักถ่ายภาพยังอาจต้องปรับค่าแสงให้อันเอร์หรือปรับชดเชยแสงอันเดอร์เล็กน้อยหากใช้โหมดบันทึกภาพปรับรูรับแสงล่วงหน้าเพื่อให้ฉากหลังมืดและตัวแบบดูเด่นขึ้น

สามขนาดภาพที่ควรต้องถ่าย
สามขนาดภาพที่ควรมีถ่ายเมื่อภาพแฟชั่นโชว์คือภาพของแบบเต็มตัว, เห็นสามส่วนสี่ และครึ่งตัว ซึ่งการใช้เลนส์ซูมจะช่วยให้ถ่ายภาพที่มีความหลากหลายเหล่านี้ได้ โดยวิธีที่จะถ่ายภาพได้ครบในลักษณะนี้คือเริ่มตั้งแต่ถ่ายภาพเต็มตัวเมื่อแบบอยู่ในระยะไกล จากนั้นตามด้วยภาพที่เห็นสามส่วนสี่ของล่างกายเมื่อแบบเดินเข้ามาใกล้ขึ้น และภาพโคลสอัพหรือครึ่งตัวเมื่อแบบอยู่ในระยะใกล้ รวมไปถึงไม่ควรลืมที่จะถ่ายภาพขณะที่แบบกำลังเดินกลับเข้าไปด้วย

จังหวะในการถ่ายภาพ
เมื่อถ่ายภาพนักถ่ายภาพควรสังเกตจังหวะการเดินของแบบและควรกดชัตเตอร์ขณะที่เท้าหน้าอยู่บนพื้น ไม่ควรให้เห็นฝ่าเท้าในขณะที่กำลังก้าวเท้าหลังมาด้านหน้า นอกจากนี้มือของแบบยังควรอยู่ที่ด้านข้างลำตัว ลืมตา และมองตรงไปข้างหน้า นอกจากนี้เมื่อถ่ายภาพครึ่งตัวหรือภาพโคลสอัพควรเลือกจังหวะที่แบบอยู่ใกล้ที่สุดก่อนที่จะหันนหน้าเพื่อเดินกับเข้าหลังเวที

สนใจรายละเอียด
นอกจากสามภาพที่ควรถ่ายทั้งแบบเต็มตัว, สามส่วนสี่ และครึ่งตัวหรือโคลสอัพแล้ว ยังควรมีภาพที่ซูมเพื่อถ่ายภาพรายละเอียดของชุด เครื่องประดับ รองเท้า หรือสิ่งอื่นที่สำคัญบนตัวแบบด้วย

ไม่ลืมเหล่าเซเลบริตี้
สิ่งหนึ่งที่มักคู่กับงานแฟชั่นโชว์คือบรรดาเซเลบริตี้ ซึ่งนอกจากจะถ่ายภาพบรรดาคนที่นั่งอยู่แถวหน้าสุดของคนดูแล้ว นักถ่ายภาพยังควรถ่ายภาพคนอื่นในขณะก่อนเริ่มแฟชั่นโชว์แล้วด้วย เพราะมักเป็นภาพที่ลูกค้าต้องการ อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพคนที่ยั่งอยู่แถวหน้าของคนดูในขณะที่กำลังมีแฟชั่นโชว์จะต้องปรับความไวแสงให้สูงหรือใช้เลนส์ไวแสง เนื่องจากในงานแฟชั่นโชว์มักจะมีการจัดไฟเพื่อให้แสงบนเวทีมากกว่าในส่วนของคนดู

 

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic