Photo Techniques Photography

Graduate Filter …HDR หน้าเลนส์

“มีใครยังใช้ฟิลเตอร์อยู่บ้างไหม ?   หรือหากเราเห็นนักถ่ายภาพท่านใดนั่งหมุนฟิลเตอร์ หรือใส่ฟิลเตอร์แผ่นอยู่ คงเชยชะมัด เพราะนอกจากฟิลเตอร์ C-PL จักรพรรดิแห่งฟิลเตอร์แล้ว ฟิลเตอร์ไหนๆ Digital Filter สามารถทดแทนได้หมดแล้ว”  ผิดถนัด !!!!! ผมปฏิเสธในใจ

ระบบการทำงานแบบดิจิตอลสร้างนิสัยการถ่ายภาพผิดๆ ให้กับนักถ่ายภาพจำนวนไม่น้อย ยังมีฟิลเตอร์ดีๆ และจำเป็นต้องใช้อีกหลายอย่าง นอกเหนือไปจากฟิลเตอร์ C-PL แล้ว ฟิลเตอร์ที่ควรมีสำหรับนักถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ก็คือ Graduated Neutral Density Filter (GND) หรือทีเราเรียกกันว่าฟิลเตอร์เทาครึ่งซีก และฟิลเตอร์ Neutral- Density Filter (ND) ที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการถ่ายภาพวีดิโอในสภาพแสงกลางแจ้งที่ต้องการเน้นความชัดตื้นและการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลไม่แข็งกระด้างจากค่าความไวชัตเตอร์สูงๆ หรือใช้ในการสร้างสรรค์ภาพด้วยความไวชัตเตอร์ต่ำๆ

ฟิลเตอร์เทาครึ่งซีก ออกแบบมาเพื่อใช้ในการลดแสงส่วนหนึ่งของพื้นที่ภาพ ใช้ในกรณีที่ถ่ายภาพกว้างที่ไม่สามารถเขาไปจัดการกับสภาพแสงได้ เช่น การถ่ายภาพวิวด้วยแสงธรรมชาติ เมื่อถ่ายภาพโดยมีพื้นที่สองส่วนที่มีความเข้มแสงแตกต่างกันมากๆ เช่น ส่วนของท้องฟ้ากับส่วนของพื้นดิน ฟิลเตอร์เทาครึ่งซีกมีความสำคัญมากไม่น้อยไปกว่าฟิลเตอร์ C-PL ใช้งานบ่อยมากในการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ แต่ปัจจุบันนักถ่ายภาพหลงใหลได้ปลื้มกับการใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ และฟังก์ชั่นในกล้องที่ช่วยเพิ่มไดนามิคส์เรจของกล้องให้กว้างขึ้น จนน้อยคนที่จะพกฟิลเตอร์เทาครึ่งซีก เริ่มต้นที่ระบบการทำงานในกล้องที่ใช้การเก็บรายละเอียดในโทนสว่างหรือยกความสว่างในโทนเข้มของภาพให้สว่างขึ้น ได้ผลที่น่าพอใจระดับหนึ่ง เลือกระดับค่าแสงได้แต่มักให้ผลที่หลอกตาพอควร และมีสัญญาณรบกวนปรากฏขึ้นด้วย  ฟังก์ชั่นต่อมาคือการซ้อนภาพแบบ HDR ซึ่งทำได้ทั้งในกล้อง (บางรุ่น) และโปรแกรมตกแต่งภาพ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมถ่ายภาพด้วยค่าแสงที่แตกต่างกัน 2 ภาพขึ้นไปแล้วนำมาซ้อนกันในโปรแกรม ส่วนที่ไม่ได้ถ่ายภาพคร่อมค่าแสงมาแล้วมาปรับให้โทนสว่างในภาพลดลงเพื่อดึงเอารายละเอียดกลับมานั้นค่อนข้างยาก อย่างมากก็จะได้เป็นแถบสีโดยที่ไม่มีรายละเอียดและดูหลอกๆ หลอนๆ

ภาพบน : ไม่ใช้ฟิลเตอร์ GND สังเกตสีของท้องฟ้าที่ไม่เป็นสีน้ำเงินเข้ม และรายละเอียดที่เมฆสีขาวหายไป

ภาพล่าง : ใช้ฟิลเตอร์ GND แบบแผ่น โดยใช้มือถือฟิลเตอร์บังไว้ที่หน้าเลนส์ ใช้งานลำบากและมักจะหลุดขอบเมื่อใช้งานร่วมกับเลนส์ที่มีขนาดใหญ่

หากคุณเน้นเรื่องคุณภาพตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการทำงาน สิ่งที่จะช่วยให้คุณสมดุลความสว่างของแสงได้คือฟิลเตอร์เทาครึ่งซีก เพื่อให้ได้รายละเอียดของภาพทั้งในส่วนที่มีความเข้มแสงสูง (ท้องฟ้า) กับส่วนที่มีความเข้มแสงน้อยกว่า (พื้น) ฟิลเตอร์เทาครึ่งซีกมีสองแบบให้เลือกใช้เหมือนกันฟิลเตอร์ทั่วไปคือแบบเกลียวหมุนเข้ากับหน้าเลนส์และแบบแผ่นที่ต้องใช้ตัวยึดหรือใช้มือถือบังหน้าเลนส์ ควรเลือกใช้แบบใดสั้นและตรงประเด็นคือ ควรเลือกใช้แบบฟิลเตอร์แผ่น ด้วยเหตุผลในการใช้งานคือ สะดวกสามารถใช้กับเลนส์ที่มีขนาดฟิลเตอร์ที่แตกต่างกันได้ และที่สำคัญคือสามารถเลื่อนระดับขึ้นลงตามสัดส่วนของพื้นที่ภาพได้ ไม่ถูกติดตายตัวแบบฟิลเตอร์แบบเกลียว ด้วยเหตุผลเรื่องการใช้งานฟิลเตอร์ประเภทไล่โทน (Graduated) ไม่เฉพาะสีเทาเท่านั้นจึงนิยมใช้ฟิลเตอร์แบบแผ่น

ขนาดของฟิลเตอร์ก็ควรซื้อให้มีขนาดใหญ่พอกับเลนส์ที่มี โดยเผื่อไว้ให้เลื่อนขึ้นลงโดยไม่ตกขอบด้วย (แนะนำขนาด 4×4 หรือ 4×6 นิ้ว สำหรับกล้อง medium format เผื่อไว้สำหรับเลนส์มุมกว้างมากๆ หากจริงจัง) แต่ยี่ห้อที่มีขายตามท้องตลาดมักมีขนาดให้เลือกไม่มากนัก เลือกที่ครอบคลุมหน้าเลนส์ 82mm ก็พอ ส่วนตัวยึด (Holder) ออกแบบมาให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ใส่ฟิลเตอร์ซ้อนกันได้มากขึ้น แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้จะใช้มือถือเอาก็ได้ แต่เวลาถ่ายต้องเอียงให้ได้ระนาบเพราะไม่เช่นนั้นฟิลเตอร์อาจจะสะท้อนแสงเข้าไปในเลนส์ได้ และใช้งานไม่สะดวกนัก

ควรใช้ฟิลเตอร์ครึ่งซีกเมื่อไร คำตอบก็คือใช้เมื่อถ่ายภาพที่มีส่วนของภาพมีความเข้มแสงแตกต่างกัน เราสามารถตรวจสอบค่าแสงของทั้งสองส่วนโดยเลือกวัดแสงส่วนที่มีค่าแสงน้อย มักจะเป็นส่วนล่าง พื้นดินซึ่งเราจะใช้เป็นค่าแสงในการถ่ายภาพ และส่วนสว่างนำค่าแสงที่ได้มาเปรียบเทียบกันว่าแตกต่างกันอยู่กี่สต็อป เพื่อเลือกใช้ความเข้มของฟิลเตอร์ให้เหมาะสม เช่น ค่าแสงแตกต่างกันอยู่ 4 สต็อป ก็ควรใช้ฟิลเตอร์ที่มีค่า -2 หรือ -3 เพื่อให้ได้ค่าแสงที่แตกต่างกันไม่เกิน 2 สต็อป ค่าที่ดีคือประมาณ 1 สต็อป  ถ่ายภาพด้วยค่าแสงของส่วนล่าง ตรวจสอบว่าแนวของฟิลเตอร์อยู่ในแนวที่ต้องการหรือไม่

ฟิลเตอร์แผ่นที่เป็นที่รู้จักราคาไม่แพงและเป็นที่นิยมสำหรับนักถ่ายภาพทั่วไปนั้นได้แก่ยี่ห้อ Cokin คุณภาพดี หาได้ไม่ยากนัก ส่วนยี่ห้อ Tain Ya นั้นราคาถูกมากคุณภาพตามราคาพอใช้ถึงแย่ ให้สีเพี้ยนพอควร หากจริงจังก็ควรซื้อของคุณภาพดียี่ห้อ Lee หรือ Singh Ray มีให้เลือกหลายขนาดและหลายค่าแสง คุณภาพดีเยี่ยม ราคาสูงมากและหาซื้อยากต้องสั่งซื้อ อีกยี่ห้อหนึ่งที่คุณภาพดีมากเช่นกันคือ Hitech (ผลิตโดย Format) ราคาถูกกว่ายี่ห้อ Lee โดยปกติแล้วฟิลเตอร์ Graduated จะมีให้เลือกสองแบบคือ soft edge และ hard edge แตกต่างกันในการไล่ระดับของรอยต่อ hard edge รอยต่อจะมีพื้นที่น้อยเหมาะกับการถ่ายภาพที่มีรอยต่อระหว่างความสว่างที่ต่างกันชัดเจน เช่น ชายทะเล ชายหาด ที่มีแนวเส้นตรงตัดกับขอบฟ้าชัดเจน ส่วน soft edge เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่รอยต่อของส่วนเข้มกับสว่างไม่ชัดเจน เช่น ภูเขาที่เป็นแนวโค้งขึ้นลง ที่สำคัญขึ้นอยู่กับความยาวเลนส์ที่ใช้ด้วยถ้าใช้เทเลให้เลือกใช้ hard edge เพราะเลนส์เทเลใช้พื้นที่จากฟิลเตอร์น้อยมากหากใช้ soft edge จะเห็นผลได้น้อย แต่โดยปกติเราก็มักจะใช้กับเลนส์มุมกว้างเสียเป็นส่วนใหญ่ หากให้เลือกซื้อก็แนะนำให้ซื้อแบบ soft edge ที่มีความเข้มลดแลสงลง 2-3 สต็อป มากกว่านั้นได้ใช้ไม่มากนัก และเมื่อใช้ก็ค่อนข้างหลอกตาไม่เป็นธรรมชาติ ที่สำคัญยิ่งเข้มยิ่งสีเพี้ยน

สารพันคำถาม ข้อโต้แย้ง ข้อถกเถียง ก็แล้วแต่ว่าจะเลือกถ่ายภาพให้สวยหลังกล้อง หรือเอามาแต่งสวยหล่อหน้าจอคอมพิวเตอร์ล้วนนานาจิตตัง มีเทคนิคสำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามาฝากก่อนจบ ลองใช้ค่าขนาดช่องรับแสงแคบๆ เอามือบังด้านบนที่หน้า ก็ให้ผลที่น่าพอใจเชียวแหละครับ