Photo Techniques

“GOBO” Lighting

พูดกันไปเยอะแยะนั่นแหละครับว่า ถ่ายภาพมันจะยากตรงไหน ? ก็แค่ใช้นิ้วกดเท่านั้นเอง อันนี้คงต้องยกให้เป็นความดีความชอบของกล้องถ่ายภาพที่ประดิษฐ์กันมาเสียเลิศเลอ ใช้ง่ายเพียงแค่ยกขึ้นมากดเบาๆ เก๋ๆ แค่นี้ก็ได้ภาพถ่ายเป็นของตัวเองแล้ว แต่จะสวยหรือไม่สวยนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าเพียงแค่ 1 ใน 10 ภาพเท่านั้นแหละครับที่เราจะยิ้มได้ นอกนั้นก็ส่ายหน้าคอแทบเคล็ด หากเราคิดกันอยู่แค่นี้จริงๆ

เรื่องของการถ่ายภาพนี้พูดกันจนตายก็ไม่จบเพราะมันเต็มไปด้วยแนวทางมากมาย แถมยังแตกแขนงออกไปได้เรื่อยๆ อีกต่างหาก สิ่งที่เราเคยคิดเอาไว้เมื่อสมัยก่อนอาจจะกลายเป็นคนละเรื่องสำหรับสมัยนี้ไปแล้วก็ได้ ในขณะที่สิ่งใดที่ยังคงเป็นอมตะมันก็จะเป็นอย่างนั้นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหนึ่งในเรื่องอมตะสำหรับการถ่ายภาพก็คือ “แสง” นั่นแหละครับ

ถ้าคุณคิดจะถ่ายภาพให้สวย คุณก็ต้องมองแสงสวยๆ ให้ออก ชาวบ้านทั่วไปเขาไม่ได้มานั่งคิดมากหรอก ขอแค่มันสว่างพอที่จะถ่ายภาพได้ก็พอแล้ว แต่ผมเชื่อนะว่าถ้าคุณถึงกับหยิบ FOTOINFO เล่มนี้ขึ้นมาอ่านแล้วละก็ คุณคงไม่คิดจะถ่ายภาพเหมือนชาวบ้านทั่วไปที่ขอแค่ให้แสงมันสว่างเท่านั้นแหละ…จริงไหมละครับ ?

เรื่องของการดูแสงมองแสงนี้ก็ต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์อยู่เหมือนกัน ซึ่งก็มีแสงหลากหลายลักษณะอยู่มากมายที่เราสามารถจะหยิบเอามาใช้สำหรับการถ่ายภาพสวยๆ ซึ่ง “มิติของแสง” ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณจำเป็นต้องเข้าใจและถ่ายทอดมันออกมาให้ได้ เรื่องนี้มีเทคนิคอยู่มากมายก่ายกอง และต่อจากนี้ก็คืออีกหนึ่งลูกเล่นในลักษณะของมิติทางแสงอันน่าสนใจ และสามารถให้อารมณ์ประมาณว่า “อาร์ต” ในภาพถ่ายของคุณได้ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

3

นี่แหละครับ แสงลอดลงมาที่ส่วนหัวเต็มๆ เจอแบบนี้แล้วก็ไม่ควรพลาดเด็ดขาด มองด้วยสายตาอาจจะไม่ค่อยอะไรเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเป็นภาพถ่ายแล้วมันจะช่วยได้เยอะเลยทีเดียว : Canon EOS 70D, Lens Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/45 sec., f/5.6, ISO-100

มันคือลักษณะของแสงแบบวับๆ แวมๆ (ช่างเป็นคำเรียกที่น่าหวาดเสียวชวนให้ต้องเชิญผู้ใหญ่มาให้คำแนะนำในขณะรับชมจริงๆ) คืออย่างนี้ครับ มันคือลักษณะแสงที่ไม่ได้กระจ่างไปเสียทั้งภาพ สว่างเป็นหย่อมๆ กระจ่างเป็นจุดๆ ทำให้ภาพออกแนวลึกลับดูน่าค้นหามากกว่าภาพแบบแสงเคลียร์ ซึ่งผมคิดว่าอันที่จริงแล้วคุณจะได้เห็นภาพในลักษณะแสงแบบนี้ผ่านตาอยู่บ่อยๆ ซึ่งมันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ภาพดูมีมิติมากขึ้น น่าสนใจมากกว่าภาพสว่างไสวปกติ

ยกตัวอย่างเช่น ในหนังประเภทสืบสวนสอบสวน คุณจะเห็นลักษณะแสงแบบนี้แทบจะตลอดทั้งเรื่อง คนดูก็ค้นหากันเข้าไปสิว่าในที่มืดๆ นั่นมันจะมีอะไรอยู่มั่ง? จะมีอะไรโผล่ออกมาตุ้งแช่ให้สะดุ้งกันทั้งโรงตอนไหน ยิ่งหนังประเภทย่องมาเสียบจากข้างหลังนั่นยิ่งแล้วใหญ่ แสงลึกลับกันทั้งเรื่องไปเลย ดูดีๆ จะเห็นว่าภาพมันจะมีมิติอยู่ไม่น้อยเชียวล่ะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับอารมณ์ของภาพด้วย ไม่ใช่ว่าคุณจะเล่นแสงลึกลับแบบนี้ได้ตลอด บางทีเจ้าของงานก็อาจจะไม่ปลื้มจนใช้เป็นเหตุผลในการไม่จ่ายค่าแรงคุณก็ได้ คิดดูสิครับว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวกำลังสวมแหวนหมั้นในพิธีท่ามกลางผู้หลักผู้ใหญ่ คุณเล่นแนวแสงลึกลับน่าค้นหาวาบเป็นหย่อมๆ เข้าให้ ใครที่ไหนจะชอบละครับถ้าไม่ใช่งานแต่งของอดัมส์แฟมิลี่น่ะ ?

2

คุณอาจจะชอบแสงเคลียร์ๆ เต็มทั้งตัว แต่แสงที่มีเงาของใบไม้ลงกระทบบนตัวสิงโตในภาพนี้ นอกจากจะทำให้มันดูมีมิติมากขึ้นแล้วยังทำให้ดูเป็นธรรมชาติได้ด้วย ลองดูที่ตัวเมียซึ่งไม่มีเงาช่วยสร้างมิติสิครับ แต่ผมไม่ได้ให้คุณไปทำ GOBO ใกล้ๆ สิงโตนะ รอจังหวะและตำแน่งที่เหมาะสมต่างหากละ : Canon EOS 70D, Lens Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/500 sec., f/5.6, ISO-125

เทคนิคแสงชนิดนี้ใกล้เคียงกับที่เรียกกันแบบอินเตอร์ว่า “โกโบ้” หรือ GOBO ซึ่งย่อมาจาก “Go Before Optics” ซึ่งก็คือวิธีที่เราใช้อะไรสักอย่างมาบังหน้าแหล่งแสงเพื่อให้มันทะลุลอดช่อง (คือลอดออกมาตามช่อง ไม่ใช่ทะลุขนมลอดช่อง ฮา) ออกมาเป็นหย่อมๆ ตกกระทบแบบเว้าแหว่งลงบนวัตถุ จะพิสดารพันลึกแสงสีขนาดไหนก็ว่ากันไป ซึ่งเรามักจะเห็นแสงสีโดยเทคนิคแบบนี้ตามพวกดิสโก้เธคต่างๆ ..ขออภัยที่อาจจะใช้คำเรียกไม่ตรงตามสมัย เอาเป็นว่างานคอนเสิร์ตก็แล้วกันที่เราจะได้เห็นแสงสีแบบ GOBO นี้เต็มไปหมด ศิลปินนี่แบบว่าลายพร้อยเว้าแหว่งกันเป็นแถวๆ

8

บ่อยครั้งอยู่เหมือนกันครับสำหรับการถ่ายภาพแมลง ซึ่งพวกมันจะชอบมาอาบแดดในแสงหย่อมๆ แบบนี้เพราะอุณหภูมิกำลังเหมาะ ร้อนไปมันก็ไม่ไหวเหมือนกัน ซึ่งนั่นแปลว่ามันกำลังขึ้นเวทีให้เรายิงนั่นเอง : Pentax K-50, Lens SMC Pentax-DA 18-135mm f/3.5-5.6 ED AL [IF] DC WR, 1/250 sec., f/5.6, ISO-100

ทีนี้เราก็หยิบเอาเทคนิคแบบนี้มาประยุกต์ใช้ในการถ่ายภาพของเรากันบ้าง ซึ่งก็มีทั้งแบบที่ใช้แสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์ ทำให้อารมณ์ของภาพเป็นไปได้ทั้งลึกลับและอบอุ่น แต่ที่แน่ๆ ก็คือดูมีมิติน่าสนใจขึ้นอีกเยอะ

แสงธรรมชาติ

1

ถ้าเป็นสภาพแสงเคลียร์ อาคารสีขาวหลังนี้ก็จะดูจืดๆ ไม่มีมิติถึงแม้ว่าสีจะสวยก็ตาม ลองนึกภาพว่ามันไม่มีเงาส่วนอื่นมาพาดลงไปดูสิ : Pentax K-S1, Lens SMC-DAL 18-55mm f/3.5-5.6 AL, 1/400 sec., f/8, ISO-100

พูดกันตรงๆ ก็คือแสงอาทิตย์แห่งระบบสุริยะจักวาลนั่นแหละครับ โดยทั่วไปแล้วเราก็ไม่ค่อยจะเสี่ยงกับการที่มีเงาลงมาพาดบนตัวแบบสักเท่าไหร่นักหรอก แต่ผมขอแนะนำว่าให้ลองเปลี่ยนวิธีคิดดูใหม่ ให้คุณลองมองหาจุดที่แสงลงมากระทบแบบวับๆ แวมๆ เป็นหย่อมๆ อย่างที่ว่า แล้วให้ตัวแบบไปยืน นั่ง นอน อยู่ตรงนั้น จัดตำแหน่งให้จุดที่แสงลงมาโดนตำแหน่งอันน่าสนใจ เช่นถ้าเป็นคนก็ให้แสงลงตรงเฉพาะส่วนใบหน้าหรือศรีษะ หรือให้ลงเฉพาะดวงตา อันนี้เป็นกรณีที่คุณสามารถสั่งตัวแบบซ้ายหันขวาหันได้

ในขณะที่ถ้าเป็นตัวแบบซึ่งคุณไม่สามารถจะอะไรได้เลย ผมก็แนะนำให้คุณมองหาตำแหน่งที่มีลักษณะแสงแบบนั้นเข้าไว้แล้วกำหนดให้เป็น “พื้นที่สังหาร” (ฟังดูน่ากลัวพิลึก) เมื่อตัวแบบโคจรเข้ามาถึงก็จัดการกดเก็บภาพมาเสียให้สิ้น

9

ตัวอย่าง “พื้นที่สังหาร” ครับ ดูว่ามันกำลังเคลื่อนที่ไปยังจุดที่มีแสงลักษณะนี้อยู่หรือไม่ ถ้ามันกำลังมุ่งหน้าไปก็รอยิงได้เลยครับ : Canon EOS 6D, Lens Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/1000 sec., f/5.6, ISO-400

เท่าที่ผมสังเกตเห็นมันกลับกลายเป็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะคือ สายๆ เที่ยงๆ บ่ายๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแสงแข็งที่เราพากันรังเกียจรังงอนสำหรับการถ่ายภาพโดยทั่วไปนั่นแหละครับ แต่คุณต้องพยายามอยู่ใต้ต้นไม้ที่มีแสงลอดทะลุใบไม้ลงมาเป็นหย่อมๆ มันก็จะได้ผลค่อนข้างดี หรืออาจจะเป็นสิ่งอื่นซึ่งมีเงาตกกระทบบนตัวแบบทำให้โทนสีหรือระดับความสว่างของมันดูหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่อย่างนั้นแล้วภาพของคุณก็จะ “แบน” อันเนื่องมาจากไม่มีส่วนเงาที่ลดระดับความสว่างเข้ามาช่วยบ้างเลยนั่นเอง

7

แสงมาเป็นหย่อมๆ แบบนี้เจอที่ไหนกดที่นั่นเลยครับ ที่สำคัญก็คืออย่าไปเปิดรับแสงเสียสว่างจนมันหายไปหมดล่ะ แล้วคุณจะชอบภาพถ่ายใบนี้ไม่น้อยเลยเชียว : Nikon D7000, Lens Tamron SP AF10-24mm f/3.5-4.5, 1/200 sec., f/7.1, ISO-100

4

พอช่วงบ่ายแดดร้อนๆ นกก็จะเข้าเกาะคอนหลบร้อนในร่มไม้ใบบัง แต่ก็จะมีบางช่วงที่มันขยับไปโดนตรงนั้นเข้าจนได้ คุณอาจจะต้องรอต้องลุ้นสักนิดนึง โชคดีก็ได้ไป แต่ถ้าโชคร้ายมันก็ไม่ยอมไปโดนแดดเหมือนกัน ซึ่งก็คือแห้วนั่นแหละครับ : Canon EOS 70D, Lens Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/250 sec., f/5.6, ISO-200

ลองค้นหาดูเถอะครับ ใช้ได้ทั้งตัวแบบที่เป็นคน สัตว์ สิ่งของ ตลอดจนกระทั่งภาพทิวทัศน์นั่นเลยทีเดียว

แสงประดิษฐ์

6

ไม่บอกก็คงจะไม่รู้หรอกครับว่าภาพนี้ใช้แฟลชปลอมตัวเป็นแสงแดด ผมยัดมันเข้าไปในกลุ่มใบไม้ด้านข้างในมุมกดนิดๆ ให้เหมือนแดดช่วงเริ่มสาย ทำให้มันดูเป็นธรรมชาติขึ้นได้อีก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วแดดมาจากอีกทางหนึ่งซึ่งมันทำรังอยู่ในมุมอับแสงน่ะครับ : Canon EOS 6D, Lens EF 50mm f/2.5 Macro, 1/90 sec., f/8, ISO-200

ก็อย่างที่บอกครับว่ามันคือการที่มีอะไรสักอย่างมาบังหน้าแหล่งแสง ในเมื่อเป็นแสงประดิษฐ์ที่เราสามารถควบคุมได้สารพัด อย่างเช่น แฟลช ไฟฉาย ฯลฯ เราก็แค่เอาอะไรสักอย่างนั่นแหละมาบังให้มันลอดออกมาเป็นหย่อมๆ อืม…ผมชักจะเกลียดคำนี้ยังไงพิกลแฮะ

นอกจากเราจะหาอะไรมาบังหน้าแหล่งแสงแล้ว เราก็อาจจะย้ายแหล่งแสงของเรานั่นแหละไปอยู่ด้านหลังอะไรสักอย่างนั้นแทนก็ได้ ตัวอย่างเช่น ยิงแฟลชมาจากหลังกิ่งไม้ใบไม้เพื่อเลียนแบบลักษณะแสงธรรมชาติ ซึ่งแสงก็จะออกมาดูสมจริงมากยิ่งขึ้น จนบางครั้งมันก็แทบจะดูไม่ออกเลยทีเดียวว่านั่นเป็นแหล่งแสงประดิษฐ์อย่างแฟลชที่เราเกลียดกลัวกันนักหนา

มีหลายสถานการณ์ของผมอยู่เหมือนกันครับที่สภาพแสงธรรมชาติไม่เป็นใจเอาเสียเลย ฟ้ามืดมัวหม่นตลอดทั้งวัน หรือไม่ก็ทิศทางไม่เป็นไปอย่างที่ใจนึก ผมก็จะใช้วิธีการย้ายแฟลชไปไว้ด้านหลังใบไม้ให้มันยิงลอดออกมาหาตัวแบบ ซึ่งผลที่ได้ก็ออกมาค่อนข้างดี สามารถช่วยจำลองสภาพแสงให้ดูราวกับว่ามีแสงแดดส่องลงมาตรงนั้นจริงๆ ตามธรรมชาติ ปรับอุณหภูมิของค่า White Balance ไปทางโทนอุ่นอีกนิดหน่อยมันก็ดูไม่ออกแล้วว่านี่คือแสงจากแฟลชต่างหากเล่า …รอดตัวไปอีกครา

5

ในสภาพแสงจริงขณะนั้นตรงนี้ขาดมิติอย่างสิ้นเชิง เพราะนอกจากฝนกำลังจะตกแล้วมันยังอยู่ในป่าทึบอีกต่างหาก แต่เมื่อใช้แฟลชยิงผ่านกิ่งอันเต็มไปด้วยใบไม้จากทางด้านข้าง มันก็กลายเป็นกลุ่มเห็ดอาบแดดอันแสนจะโรแมนติกไปเลย : Pentax 645Z, Lens Pentax 90mm f/2.8 D FA 645 Macro ED AW SR, 1/4 sec., f/13, ISO-100

โปรเซสภาพซะเลย

มีอยู่เยอะแยะมากมายครับที่ใส่ GOBO ลงไปเพื่อหวังมิติทางแสงในขั้นตอนการโปรเซสภาพ ซึ่งอันนี้ก็คงจะต้องอาศัยความรู้ความชำนาญในตัวโปรแกรมสักนิดนึงเพื่อความเนียน ไม่อย่างนั้นแล้วแทนที่จะดูดีมันก็อาจจะดูแย่ไปเลยก็ได้

ที่ทำๆ กันก็จะมีทั้งใส่เงาของกิ่งไม้ใบไม้ลงไปแบบจางๆ เหลือเน้นเอาไว้ที่จุดสำคัญตามต้องการ ซึ่งหากทำได้เนียบจริงๆ มันก็แยกไม่ออกเลยเชียวล่ะว่านั่นเป็น GOBO คอมพิวเตอร์ต่างหากเล่า …แหม โดนหลอกแล้วหลอกอีกจริงเลยแฮะ

ขั้นตอนในคอมพิวเตอร์นี้ก็ตามแต่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมและวัตถุประสงค์ บางภาพไม่สามารถทำได้ในขั้นตอนการบันทึกภาพก็ต้องมาอาศัยขั้นตอนในการตกแต่งภาพนี่แหละ ทำให้ดีก็แล้วกัน อันนี้ฝากไว้เผื่อเป็นอีกไอเดียสำหรับการตกแต่งภาพถ่ายครับ

อย่างที่ผมได้บอกคุณๆ เอาไว้แล้วว่าต้องขึ้นอยู่กับอารมณ์และบรรยากาศของภาพถ่ายด้วย บางภาพดูวับๆ แวมๆ มันก็เข้าที แต่บางภาพถ้าไม่มียังจะดีเสียกว่า นั่นก็หมายความว่ามันไม่ใช่เทคนิคอันประเสริฐเลิศหล้าสำหรับทุกภาพถ่ายหรอก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมองข้ามไปได้เหมือนกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วโทนโดยรวมของภาพนั่นแหละที่จะเข้ามาตัดสินโดยไม่ต้องการคำอธิบายว่ามันสวยหรือไม่สวย เพราะนี่คือเรื่องของอารมณ์ความชอบล้วนๆ เลย ลองเล่นดูสิ ผมว่าคุณคงจะชอบแน่ๆ

เผลอๆ คุณอาจจะกลายเป็นเจ้าพ่อ GOBO แห่งวงการขึ้นมาก็ได้นะครับ ทำเป็นเล่นไป..

เรื่อง/ภาพ : ปิยะฉัตร แกหลง