Basic

From Basic to Breathtaking Cityscape Photo Tips

หนึ่งในภาพที่นักท่องเที่ยวมักถ่ายภาพเมื่อเดินทางไปเที่ยวตามเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันดี เมืองที่อาจไม่เป็นที่รู้จักนักก็คือภาพ Cityscape หรือภาพทิวทัศน์ของเมืองนั้น ซึ่งบางครั้งแม้ไม่ได้เดินทางไปต่างแดน แต่มองเห็นเมืองที่ตนเองอยู่อาศัยอยู่ในมุมที่สวยงามแปลกตาหลายคนก็ยังหยิบกล้องหรือสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายภาพ ทำให้หากใครชื่นชอบการถ่ายภาพ Cityscape จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ไหนไกลๆ

ลองหามุมมองของเมืองที่อยู่ก็สามารถถ่ายภาพได้ รวมทั้งการถ่ายภาพ Cityscape ให้สวยงามก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปแม้สำหรับผู้เริ่มถ่ายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสามารถหามุมที่เหมาะสมหรือสามารถให้มุมมองที่สวยงามของเมืองได้ และต่อไปนี้คือคำแนะนำสำหรับการถือกล้องไปถ่ายภาพทิวทัศน์ของเมือง

หาจุดที่เหมาะสม
สิ่งแรกที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ของตัวเมืองคือสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งสถานที่ที่เหมาะสมจริงๆ ควรจะไม่มีสิ่งใดที่บดบังเส้นขอบฟ้าของเมืองซึ่งโดยปกติแล้วสถานที่ที่เหมาะสมมักเป็นบริเวณริมนํ้าหรือบนสะพาน เพราะนอกจากจะทำให้นักถ่ายภาพได้มุมมองที่ดีแล้ว เงาสะท้อนของตัวเมืองบนผิวนํ้ายังสามารถเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ภาพได้ นอกจากนี้จุดอื่นที่เหมาะคือพื้นที่หรือสถานที่ที่สามารถให้มุมมองที่สูงได้อย่างบนอาคารสูงซึ่งโดยทั่วไปแล้วเมืองใหญ่ๆ ทุกเมืองทั่วโลกจะมีสถานที่ลักษณะนี้ให้ถ่ายภาพ แต่หากไม่มีหรือไม่ใช่สถานที่สำหรับให้บุคคลภายนอกเข้า การลองมองร้านอาหารในลักษณะ Rooftop หรือบนดาดฟ้าหรือชั้นสูงๆ ของอาคารก็จะเป็นทางออกที่ดีเมื่อต้องการถ่ายภาพในมุมสูงแม้ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายบ้าง อย่างไรก็ตามสถานที่ที่สามารถถ่ายภาพตัวเมืองมุมสูงได้ซึ่งเป็นอาคารหรือร้านอาหารส่วนใหญ่มักจะไม่อนุญาติให้ใช้ขาตั้งกล้อง ซึ่งหมายความว่าอาจจะต้องวางกล้องบนขอบของอาคารหรือสิ่งที่มีความมั่นคงรวมไปถึงอาจปรับเพิ่มความไวแสงหากถ่ายภาพในช่วงที่แสงน้อย อีกสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการหาสถานที่คือการหาข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางแสงในสถานที่นั้นเพื่อที่จะเลือกช่วงเวลาในการถ่ายภาพที่เหมาะสม

ตรวจสอบสภาพอากาศ
การถ่ายภาพทิวทัศน์ของเมืองก็เช่นเดียวกับการถ่ายภาพกลางแจ้งหลายๆ อย่างที่ต้องพึ่งพาแสงจากธรรมชาติหรือแสงที่มีอยู่ในขณะนั้น ดังนั้นภาพ Cityscape ที่สวยจึงต้องการสภาพแสงที่เหมาะสมด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นวันที่มีสภาพแสงที่ดีจากดวงอาทิตย์พร้อมท้องฟ้าปลอดโปร่งเท่านั้น แต่ท้องฟ้าที่กำลังเกิดพายุฝนหรือเต็มไปด้วยหมอกสามารถเพิ่มความน่าสนใจและมิติให้แก่ภาพทิวทัศน์ของเมืองได้เช่นเดียวกับภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ แต่หากพยาการณ์อากาศระบุออกมาว่าท้องฟ้าจะเต็มไปด้วยเมฆสีเทาจากเมฆฝนบางทีนักถ่ายภาพอาจต้องเปลี่ยนแผนใหม่โดยการหาสิ่งอื่นที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพในสภาพอากาศลักษณะนั้น

เวลาที่ควรถ่ายภาพ
เป็นที่รู้กันว่าผู้ที่มีประสบการณ์ถ่ายภาพมักจะวางแผนเพื่อถ่ายภาพในช่วงเวลาตอน Golden Hour ซึ่งหมายถึงช่วงหลังดวงอาทิตย์ขึ้นและก่อนดวงอาทิตย์ตกซึ่งแสงสีทองอ่อนๆ จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่ภาพ ดังนั้นนอกจากการรู้ถึงสภาพอากาศแล้วการรู้ถึงช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิจย์ตก และช่วง Blue Hour ซึ่งเป็นเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและหลังดวงอาทิตย์ตกจึงเป็นอีกข้อมูลที่ควรรู้ เพราะทิวทัศน์ของเมืองในช่วงที่ดวงอาทิตย์ตกหรือตอนช่วงกลางคืนมักจะให้ผลลัพธ์ที่น่าตื่นตาได้เสมอ

อุปกรณ์ที่จำเป็น
แม้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์เมืองอาจจะดูเหมือนว่านักถ่ายภาพไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์มาก แต่อย่างไรก็ตามมีอุปกรณ์ถ่ายภาพหลายอย่างที่นักถ่ายภาพควรจะต้องมี

  • เลนส์มุมกว้างเพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ของเมือง
  • นอกจากการถ่ายภาพทิวทัศน์บางครั้งนักถ่ายภาพอาจต้องการซูมเพื่อบันถึงภาพหรือเน้นบางส่วนของเมืองซึ่งจะทำให้เลนส์เทเลโฟโตเป็นสิ่งจำเป็น
  • ขาตั้งกล้องเป็นสิ่งที่ช่วยรับประกันว่าจะไม่ต้องกังวลกับปัญหาเรื่องการสั่นของกล้องเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่า
  • ฟิลเตอร์โดยนอกจากฟิลเตอร์โพลาไรซ์แล้ว ฟิลเตอร์ ND หรือ Graduated ND จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในหลายๆ สถานการณ์

นอกจากอุปกรณ์เหล่านี้แล้วอีกสิ่งที่นักถ่ายภาพจะพบว่ามีประโยชน์อย่างมากแม้จะสามารถใช้บางการทำงานของกล้องทดแทนได้คือรีโมตคอนโทรลหรือสายลั่นชัตเตอร์ เพราะด้วยการใช้สิ่งนี้จะช่วยให้ไม่ต้องสัมผัสกล้องเมื่อต้องการกดชัตเตรอ์และสั่งงานให้กล้องบันทึกภาพได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเหมือนการใช้ระบบหน่วงเวลาถ่ายภาพ นอกจากนี้นักถ่ายภาพควรมั่นใจว่ามีแบตเตอรี่เพียงพอหากวางแผนที่จะถ่ายภาพโดยใช้เวลาบันทึกภาพนานในสภาพแสงน้อย เพราะจะสิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าปกติ

ใช้ฟิลเตอร์ Graduated ND
เช่นเดียวกับการถ่ายภาพหลายประเภทที่ความท้าทายใหญ่ของภาพทิวทัศน์เมืองคือการควบคุมแสงในภาพ ซึ่งโดยปกติมักจะเป็นช่วงที่นักถ่ายภาพเผชิญสถานการณ์ที่ดวงอาทิตย์อยู่ด้านหน้าหรือด้านข้าง เพราะในสถานการณ์นี้มักจะพบว่าภาพที่ออกมาท้องฟ้าจะสว่างเกินไปหรือฉากหน้ามืดเกินไป โดยหากวัดแสงเพื่อส่วนท้องฟ้าก็จะทำให้มีเงาดำเป็นฉากหน้า แต่หากวัดแสงสำหรับส่วนฉากหน้า ท้องฟ้าก็จะสว่างมาก นี่คือสถานการณ์ที่ฟิลเตอร์ Graduated ND สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพราะจะสามารถใช้ประโยชน์จากครึ่งฟิลเตอร์ที่เข้มกว่าและครึ่งซีกที่ใสให้เป็นประโยชน์ต่อภาพได้ ทำให้สามารถบันทึกภาพโดยที่ส่วนไฮไลต์หรือท้องฟ้าและส่วนที่มืดหรือฉากหน้ามีความสมดุลย์ในการรับแสงมากขึ้น

ถ่ายภาพจากระยะไกลเพื่อเลี่ยงการล้มของเส้น
หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่นักถ่ายภาพมักเผชิญเมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ของเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารต่างๆ คือเส้นที่ล้ม หรือการที่อาคารในภาพดูเหมือนเอียงไปด้านหลัง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อถ่ายภาพโดยการแหงนกล้องขึ้นเพื่อถ่ายภาพ ซึ่งนักถ่ายภาพจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยซอฟต์แวร์ในขั้นตอนหลังการถ่ายภาพด้วยการปรับจนกระทั่งเส้นของอาคารตรงตามปกติ แต่อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหานี้ต้องแลกมาด้วยการครอปบางส่วนของภาพออกไป เพราะเมื่อเปรีบเอียงภาพให้กลับมาตรงจะทำให้เกิดพื้นที่ว่างที่ขอบด้านล่างของภาพ ซึ่งบางครั้งหลังจากปรับแก้ไขภาพด้วยซอฟต์แวร์แล้วอาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจนัก เนื่องจากภาพถูกครอปมากเกินไปจนตัดบางส่วนที่สำคัญของภาพออกไป ซึ่งนี่คือเหตุผลที่นักถ่ายภาพควรพยายามถ่ายภาพทิวทัศน์ของเมืองจากระยะไกล เพื่อที่จะไม่ทำให้เกิดการล้มของเส้นในภาพมาก รวมทั้งยังทำให้มีพื้นที่รอบๆ สิ่งสำคัญในภาพซึ่งจะทำให้เมื่อปรับแก้ไขภาพแล้วไม่ครอปจนสิ่งนั้นหายไป

ไปถึงล่วงหน้า
แม้จะมีช่วงเวลาที่ต้องการเพื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ของเมือง แต่ยังคงมีเหตุผลที่ดีในการไปถึงสถานที่นั้นล่วงหน้า เพราะจะช่วยให้นักถ่ายภาพสามารถสำรวจสถานที่เพื่อมองหามุมที่ดีสำหรับถ่ายภาพ รวมไปถึงสามารถลองถ่ายภาพเพื่อความมั่นใจว่าองค์ประกอบภาพนั้นดี อย่างไรก็ตามแม้จะมีการวางแผนถึงสถานที่ถ่ายภาพและช่วงเวลาแล้ว สิ่งหนึ่งที่นักถ่ายภาพควรทำคือไม่ควรใช้เวลากับจุดนั้นมากเกินไป หรือถ่ายภาพอยู่เพียงจุดเดียว แต่ควรลองหามุมอื่นเพื่อถ่ายภาพด้วยซึ่งอาจจะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

การปรับตั้งกล้อง
แม้จะไม่มีกฏตายตัวเกี่ยวกับการปรับตั้งกล้องที่สามารถครอบคลุมทุกการถ่ายภาพได้ แต่อย่างไรก็ตามในการถ่ายภาพทิวทัศน์เมืองมีการปรับตั้งบางอย่างต่อไปนี้ที่นักถ่ายภาพควรจะปรับในสถานการณ์ทั่วไปนักถ่ายภาพจะต้องการภาพที่มีความคมชัดมากเท่าที่จะเป็นไปได้ดังนั้นจึงต้องการระยะชัดที่มาก แต่อย่างไรก็ตามควรระวังว่าการปรับตั้งรูรับแสงแคบมากเกินไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์นี้ก็สามารถส่งผลให้ความคมชัดของภาพลดลงได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้นักถ่ายภาพควรพยายามใช้ความไวแสงไม่สูง เพราะยิ่งมีความไวแสงสูงขึ้นจะยิ่งทำให้มีสัญญาณรบกวนมากขึ้นและเห็นชัดเจนขึ้นในภาพซึ่งหมายถึงความคมชัดที่ลดลงไปด้วย ทำให้เมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยจึงทำให้ควรจะใช้ขาตั้งกล้องเพื่อช่วยให้กล้องมีความมั่นคงและนิ่งเพียงพอ แต่หากไม่มีขาตั้งกล้องและจำเป็นต้องเพิ่มความไวแสงก็ควรปรับเพิ่มเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ขณะที่หากใช้ขาตั้งจะไม่ต้องกังวลกับเรื่องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าและรูรับแสงที่แคบเพื่อควบคุมระยะชัดเพราะวัตถุหลักในภาพทิวทัศน์เมืองหลักๆ คือสิ่งก่อสร้างซึ่งมีความนิ่งอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามหากใช้มือถือกล้องถ่ายภาพสิ่งที่ควรคิดไว้เสมอคือหากไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากว่า 1/60 วินาที เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาเรื่องการเลี่ยงต่อการสั่นของกล้องซึ่งส่งผลต่อภาพยกเว้นแต่ว่าจะมีการทำงานลดการสั่นไหวของภาพช่วย

ใช้องค์ประกอบภาพเพื่อสร้างความน่าสนใจ
บางครั้งภาพทิวทัศน์เมืองอาจมีองค์ประกอบภาพไม่ดีนัก ซึ่งสาเหตุหลักมักมาจากความเร่งรีบทำให้ถ่ายภาพเพียงไม่กี่ภาพแล้วต้องรีบไปต่อ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ก็คือการให้เวลากับการถ่ายภาพ โดยก่อนที่จะกดชัตเตอร์นักถ่ายภาพควรใช้เวลาสักนิดเพื่อวิเคราะห์ภาพ แล้วคิดถึงภาพที่ออกมาว่าจะดีหรือไม่ จุดเริ่มต้นที่ดีในด้านองค์ประกอบภาพคือการใช้กฏสามส่วน เช่นหากมีอาคารที่มีความโดดเด่นกว่าอาคารอื่นควรวางไว้ในตำแหน่งที่เป็นจุดตัดของเส้นแนวตั้งและแนวนอนของกฏสามส่วน และหากภาพแรกๆ ที่ถ่ายยังดูไม่ดีก็ควรลองเปลี่ยนจุดถ่ายภาพ ครอปภาพ หรือลองถ่ายภาพด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไปอย่างมุมสูงหรือตํ่ากว่าปกติ นอกจากนี้อีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการจัดองค์ประกอบภาพก็คือความสมดุลย์

ลองซูม
โดยปกติแล้วเมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ของเมืองก็ไม่ต่างกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ในธรรมชาติที่เลนส์มุมกว้างมักเป็นสิ่งที่ถูกคิดถึงและใช้งานเป็นอันดับแรก แต่บางครั้งหากนักถ่ายภาพลองซูมเข้าไปในภาพสักเล็กน้อยจะพบว่าสามารถทำให้วัตถุสำคัญในภาพโดดเด่นขึ้น อย่างไรก็ตามการจะซูมมากหรือน้อนแค่ไหนขึ้นอยู่กับภาพและสิ่งที่นักถ่ายภาพต้องการให้ออกมาในภาพนอกจากนี้ควรลองที่จะซูมเข้าไปใกล้มากๆ ในบางส่วนของภาพด้วยการใช้ช่วงเทเลโฟโตของเลนส์ซูมหรือเลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต เพราะจะช่วยสร้างภาพแอบแสต็กที่แปลกตาได้

ปรับภาพหลังการถ่าย
แม้นักถ่ายภาพบางคนอาจจะคิดว่าการปรับภาพหลังการถ่ายไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่นี่คือขั้นตอนหนึ่งของการถ่ายภาพที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอย่างน้อยที่สุดก็สามารถใช้เพื่อปรับไวต์บาลานช์ของภาพให้ถูกต้องได้ ยังไม่นับที่สามารถทำให้อาคารในภาพไม่ล้มไปด้านหลัง ปราศจากฝุ่น และแก้ไขดิสทอร์ชั่น โดยการปรับภาพมากขนาดไหนขึ้นอยู่กับว่านักถ่ายภาพต้องการให้ภาพออกมาอย่างไร นอกจากนี้การเพิ่มความอิ่มของสี ปรับความสว่างหรือคอนทราสต์ขึ้นเล็กน้อย และการครอปภาพยังส่งผลต่อภาพที่ออกมา โดยกุญแจสำคัญในการปรับภาพก็คือ ภาพที่ออกมาควรดูเป็นธรรมชาติ ดังนั้นการปรับเพียงเล็กน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญ

พยายามสร้างสรรค์ภาพด้วยการปรับตั้งกล้อง
ในหนึ่งประโยชน์ของการถ่ายภาพในสภาพแสงที่น้อยอย่างช่วงเวลา Blue Hour คือการมีโอกาสสร้างสรรค์ภาพโดยความเร็วชัตเตอร์หรือระยะชัดเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและความหลากหลายในภาพ เช่นการใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่ากับการจราจรที่เคลื่อนที่อยู่หน้าวัตถุหลักในภาพซึ่งจะทำให้ได้เส้นของแสงในภาพ หรือการใช้รูรับแสงแคบซึ่งจะทำให้แหล่งของแสงไฟในภาพอย่างไฟถนนปรากฏเป็นแฉกเหมือนดาวที่เรียกว่า Starburst เพราะด้วยเอฟเฟกต์เหล่านี้จะช่วยให้นักถ่ายภาพเพิ่มมิติและความน่าสนใจในภาพมากยิ่งขึ้นได้ รวมทั้งยังทำให้ภาพทิวทัศน์ของเมืองในจุดเดียวกันนั้นมีความหลากหลายขึ้นด้วย

อย่าลืมฉากหน้า
ฉากหน้าเป็นสิ่งสำคัญต่อองค์ประกอบภาพเมื่อถ่ายภาพทิวทัศน์ของเมืองเช่นเดียวกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ในธรรมชาติ ดังนั้นจึงควรคิดและสร้างภาพโดยการใช้ความน่าสนใจของฉากหน้า เช่น เเมื่อยืนอยู่ที่ริมฝั่งของแม่น้ำการมองหาเรือเป็นฉากหน้าอาจเป็นทางเลือกที่ดี นอกจากนี้อีกวิธีเบื้องต้นที่ดีในการใช้ฉากหน้าคือการถ่ายภาพในมุมต่พมากๆ ใกล้กับพื้นแล้วแหงนกล้องขึ้นเล็กน้อย เพราะการถ่ายภาพใกล้กับพื้นมากๆ จะสามารถช่วยให้มีฉากหน้าที่น่าสนใจได้

ถ่ายภาพในช่วง Blue Hour
มีการถ่ายภาพไม่กี่ประเภทที่การถ่ายภาพในช่วงเวลา Blue Hour จะดูดีกว่าช่วงเวลาอื่น ซึ่งการถ่ายภาพ Cityscape เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเมื่อดวงอาทิตย์ตกและแสงไฟในเมืองเริ่มเปิด ภาพทิวทัศน์ของเมืองจะดูมีชีวิตชีวาโดยที่มีฉากหลังเป็นสีฟ้าเข้มของท้องฟ้า

Blue Hour เป็นช่วงเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและหลังจากดวงอาทิตย์ตกในแต่ละวัน ซึ่งเวลาที่เกิดขึ้นจริงๆ และระยะเวลาที่เกิดขึ้นของช่วงเวลานี้จะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของโลก รวมไปถึงฤดูกาลและสภาพอากาศก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตามช่วงเวลา Blue Hour ไม่ใช่แค่จังหวะเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกหรือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น แต่อาจสามารถเกิดขึ้นได้นานถึงหลายสิบนาทีในบางพื้นที่หรือเพียงไม่กี่นาทีในบางพื้นที่ โดยวิธีที่ดีในการเตรียมตัวสำหรับถ่ายภาพช่วงเวลานี้คือการหาข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตก

ถ่ายภาพต่อไปเรื่อยๆ
นักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์จะบอกได้ว่าภาพที่ดีส่วนใหญ่มาจากความอดทน โดยอาจมีหลายครั้งที่สิ่งต่างๆ ไม่ส่งผลให้ภาพที่ออกมาน่าพอใจ เช่นสภาพอากาศ หรือมีบางสิ่งบดบังมุมถ่ายภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แต่สิ่งที่นักถ่ายภาพควรทำคือย้อนกลับไปแล้วถ่ายภาพใหม่จนกว่าจะได้ภาพที่ต้องการ หากเป็นสถานที่ที่สามารถทำได้

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic