ไม่มีหมวดหมู่

Fashion PHOTOGRAPHY Interview # 01 : ธนัตถ์ สิงหสุวิช

แฟชั่นเป็นเรื่องของ “สมัยนิยม” มันมีชีวิต มีสีสัน และโลดเต้นไปตามบริบทของสังคม ทว่าไม่เคยหยุดนิ่ง! แม้ในยุคมหาสงครามที่โลกบอบช้ำที่สุด จังหวะของแฟชั่นก็ยังปรับตัวให้โยกไหวไปอย่างแช่มช้า กระเหม็ดกระแหม่ ไม่ฟุ้งเฟ้อ มันรอ.. รอแค่วันให้สังคมฟื้นตัวและผู้คนพร้อมที่จะกวักมือเรียก เมื่อนั้นสีสันแห่งแฟชั่นก็พร้อมที่จะกระโจนเข้ามาทำให้มนุษย์สังคมอย่างพวกเราก้าวกลับไปสนุกอยู่ในโลกแห่งสมัยนิยมอีกครั้ง

นักสังเกตการณ์และแฟชั่นนิสต์ (Fashionist) คิดคล้ายกันว่า “วงจรแฟชั่น” มีจังหวะขึ้น – ลง คล้ายกราฟคลื่นหัวใจของคนมีชีวิต กล่าวคือ..
มีจุดเริ่ม คือ ความนำสมัย (New – Fashioned)
มีจุดพีค (Peak) คือ ความทันสมัย (Fashionable)
และจุดร่วงโรย คือ ความล้าสมัย (Old – Fashioned)
ว่ายวน “เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป ณ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง” ซึ่งอาจเร็วบ้าง.. ช้าบ้าง.. กระทั่งเมื่อมีกราฟลูกใหม่โยกจังหวะเข้ามาแทนที่ และนี่อาจเป็นที่มาของคำว่า “แฟชั่นมีชีวิต”

Fashion Photographer คือ “ผู้สังเกตการณ์” พวกเขารู้จังหวะ – สัญญาณ และรอบคลื่นของแฟชั่นดี บางทีพวกเขาอาจคือ “เทหวัตถุ” เป็นส่วนหนึ่งสสาร หรือเป็นก้อนหินที่หลุดมาจากดวงดาวแห่งแฟชั่น
รู้ว่าจะแคปเจอร์ (Capture) อะไร
รู้ว่าจะเชื่อมสัญาณ (Communicate) เมื่อไหร่
รู้ว่าจะใช้กลยุทธ์ เทคนิค และวิธีการ (How to Shoot) อย่างไร

FOTOINFO PLUS ฉบับนี้ ชวนคุณไปนั่งฟัง “มืออาชีพ” ด้าน Fashion Photography สัญชาติไทย ในมุมที่แตกต่างและมิติที่หลากหลายตามสไตล์ของช่างภาพแต่ละท่าน เราเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าผลงานมากมายที่พวกเขาฝากฝีมือประดับไว้ จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดคลื่นลูกใหม่โลดแล่นเข้ามาสู่วงการ Fashion Photographer อย่างแน่นนอน


ทศวรรษแห่งการสั่งสมประสบการณ์จาก Leibovitz Studio
สู่ตัวตนอันมาดมั่นของ “โอ” ธนัตถ์ สิงหสุวิช

“การถ่ายภาพ คุณต้องมีอะไรอยู่ในใจว่าคุณอยากจะเล่าอะไร”

โอ สิงหสุวิช อาจก้าวสู่โลกแห่งการถ่ายภาพในฐานะลูกไม้ที่ไถลไม่ไกลต้น เมื่อคุณพ่อนักสถาปนิกของเขามักหอบหิ้วเด็กชายผู้นี้ไปไหนมาไหนพร้อมกับกล้อง 4×5 ด้วยเสมอ

โอ ได้กล้องตัวแรกในราวเก้าขวบ นั่นอาจทำให้เขาเรียนรู้เรื่องราวการถ่ายภาพได้สนุกและไวกว่าคนอื่น
“ผมหัดถ่ายชัดลึก-ชัดตื้น ถ่ายอะไรที่เป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นหน่อยก็เริ่มส่งภาพเข้าประกวด มันเป็นความสนุกประสาเด็กๆ ที่อยากจะได้สตางค์ รางวัลที่เคยได้รับคือภาพถ่ายเชิงวัฒนธรรมจากกระทรวงวัฒนธรรม และรางวัลที่หนึ่งในงานประกวดภาพถ่ายของ Timberland”

โอมารู้สึกว่าตัวเองอยากเรียนถ่ายภาพจริงๆ ในระหว่างเรียนปี 3 ที่คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่ครั้งนั้นคุณพ่อเห็นว่าควรเรียนให้สำเร็จการศึกษาเสียก่อน
“พอจบ ผมก็ยังมุ่งมั่นที่จะไปเรียนต่อ มีแต่คนสงสัยว่าจะไปเรียนทำไม ถ่ายภาพมันเป็นอาชีพได้เหรอ แต่เราก็ยืนยันที่จะไป แถมย้อนกลับไปเรียนในระดับปริญญาตรีใหม่ด้วยซํ้า แต่เรียนได้ไม่นานก็เกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่ ค่าเงินดอลลาร์ขึ้นพรวดจาก 25 บาท เป็น 61 บาท ทำให้ไม่ได้เรียนต่อ”

ทำไมตอนนั้นคุณถึงเลือกศึกษาที่ Brooks Institute of Photography
“ผมมีตัวเลือกอยู่สองสามแห่ง หลักๆ คือ Brooks และ RIT (Rochester Institute of Technology) แต่ที่ Brooks มีรุ่นพี่ที่เป็นเพื่อนกันเข้าไปเรียนก่อน บรรยากาศน่าเรียน ที่สำคัญค่าใช้จ่ายประหยัดกว่าครับ”

ได้ยินว่าคุณมีโอกาสได้ไปฝึกงานในสตูดิโอถ่ายภาพพอร์เทรตชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่งของนิวยอร์ก
“ทุกปีทางสถาบันจะให้นักศึกษาไปฝึกงานกับช่างภาพดังๆ งานของผมได้ติดที่ Hall of Frame อยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นภาพหลายๆ แนว แต่ที่เกี่ยวข้องกับคนอาจจะเยอะกว่าเพราะมันได้อินเตอร์แอคทีฟ (Interactive) ได้มองความคิดผู้คน ผมรู้สึกชอบที่จะถ่ายภาพประเภทนี้ การมีโอกาสได้ไปฝึกงานกับ “แอนนี่” (Annie Leibovitz) ก็อาจจะเป็นผลมาจากตรงนั้นส่วนหนึ่ง”

ปกตินักศึกษาใช้เวลาฝึกงานกันประมาณสองเดือน แต่โอว่าเขาก็งงอยู่ เกือบสี่เดือนแล้วยังไม่ได้กลับเสียที
“ผมมานั่งสรุปกับตัวเองว่าอาจเป็นเพราะความที่เราเป็นคนไทยนี่แหละ คือ อีโก้ (Ego) เราไม่ค่อยมีไงครับ เขาสั่งอะไรก็ทำหมด ปัดกวาดเช็ดถู ชงกาแฟ จัดของโน่นนี่นั่น แล้วเราไม่บ่น ไม่เคยแสดงอารมณ์ ผมว่าความมานะอดทนมันก็คงเป็นบทพิสูจน์ที่เขาเห็นว่าควรลองให้โอกาสเราได้ทำงานกับเขา”

โอเปลี่ยนสถานะตัวเองขึ้นมาเป็นทีมงานคนหนึ่งของ Leibovitz Studio ได้อย่างน่าภูมิใจเมื่อวันสุดท้ายของการฝึกงานเดินทางมาถึง.. “ยูจะทำงานกับไอไหม?” แอนนี่เอ่ยประโยคที่โอไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้ยิน
“ทำครับ! ผมรีบตอบ (หัวเราะ) พอดีช่วงนั้นมีตำแหน่งผู้ช่วยว่างอยู่หนึ่งตำแหน่ง แต่ก็มีผู้ช่วยช่างภาพที่เข้าคิวคอยให้แอนนี่เลือกอยู่ก่อนแล้วทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน สวีเดน และอเมริกัน จริงๆ หน้าที่ผมตอนนั้นก็คือคอยช่วยงานคนพวกนี้ทั้งหมด ประมาณผู้ช่วยของผู้ช่วยอีกที แต่ผมคิดว่าเพราะความที่เราไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร บวกกับความตั้งใจจริงและความซื่อสัตย์ อันนี้ผมว่าแอนนี่เขาคงจะมองเห็น”

นอกเหนือจากฐานะความเป็นเจ้านาย-ลูกน้อง โอบอกว่าแอนนี่ยังถือเป็นผู้ที่มีพระคุณสำหรับเขาและครอบครัวของเขาเป็นอย่างยิ่ง เธอยื่นมือช่วยทั้งเรื่องเวิร์คเพอร์มิต (Work Permit) กรีนการ์ด (Green Card) และแม้กระทั่งเมื่อลูกของเขาจะคลอด ช่างภาพหญิงชื่อดังผู้นี้ยังเป็นธุระคอยช่วยเหลือดูแลอย่างดี
“นอกเหนือไปจากความเมตตากรุณา ก็คือประสบการณ์การทำงานที่ได้เรียนรู้จากแอนนี่ ที่ต้องเรียนรู้หนัก ๆ เลยคือเรื่องระเบียบวินัยในการทำงาน การตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบ ผมถือว่าเป็นความสุดยอด”

พอจะอธิบายเป็นรูปธรรมได้ไหมว่าประสบการณ์ลํ้าค่าจากช่างภาพผู้นี้เป็นอย่างไร
“ผมได้เห็นในสิ่งที่คนอื่นอาจไม่ได้เห็น ได้ฝึกคิด ถ้าเป็นศัพท์ทางการถ่ายภาพจะใช้คำว่า “อิมเมจ ไดเวอซิตี้” (Image Diversity) คือการใช้ภาพในการไดรฟ์ (Drive) เรื่องราว หลักการทำงานของแอนนี่คือเขาจะบรีฟ (Brief) เราเป็นคำๆ อย่างสมมุติจะถ่ายงานโซปราโน (Soprano) เขาจะบรีฟมาว่าเป็นแก๊งสเตอร์ (Gangster) หน้าที่ของผมก็ต้องไปทำรีเสิร์ช (Research) หารูปของช่างภาพประมาณปี 1950 แต่ด้วยความที่สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ร้านหนังสือเก่าจึงเป็นที่พึ่งของเรา ทีนี้พอไปบ่อยเลยทำให้เรามีโอกาสได้เห็นงานเยอะ จากนั้นก็กลับมาทำเรเฟอเรนซ์ (Reference) ว่าในยุค 1950 ลักษณะภาพเป็นแบบนี้ ๆ พอถึงเวลาแอนนี่ก็จะมาตัดสินใจว่าภาพที่จะทำการถ่ายจะเป็นไปในทิศทางไหน นั่นทำให้เรามีโอกาสซึมซับวิธีคิดวิธีทำงานจากเขา ซึ่งส่งผลถึงวิธีคิดและกระบวนการทำงานของผมมาจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งซึ่งประเมินค่าไม่ได้”

อะไรเป็นจุดหักเหที่ทำให้ โอ สิงหสุวิช ตัดสินใจกลับเมืองไทยทั้งที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย
“เพราะมีลูกไงครับ.. (ยิ้มเกลื่อนใบหน้า) มีอยู่วันหนึ่งตอนนั้นกำลังถ่าย แอนเจลีนา โจลี (Angelina Jolie) อยู่ที่ฝรั่งเศส มีโทรศัพท์เข้ามาบอกว่าลูกไม่สบาย ผมรู้สึกตกใจมากว่าลูกเป็นอะไร!?! ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้เป็นอะไรมากแค่สำลักนม แต่ตอนนั้นเรารู้สึกกังวลมาก นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจ ทั้งที่ตอนนั้นก็ส่งพอร์ต (Portfolio) ไปที่ Vogue กับ Condé Nast และเขาก็เลือกเราแล้วด้วย แต่ผมดันกลับเมืองไทยเสียก่อน”

แม้โอกาสก้าวหน้าจะมลายหายไป แต่ทว่านั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของวันนี้ โอกลับมาเริ่มต้นชีวิตช่างภาพที่บ้านเกิดโดยการแนะนำของ “โต” วิทยา มารยาท อดีตช่างภาพระดับแนวหน้าของเมืองไทยที่ให้เขาเข้าไปหา “โอลีฟ” สุวรรณี สุวรรณแสงโรจน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Chamni’s Eye กับ “น้าชำ” ชำนิ ทิพย์มณี
“พอเห็นพอร์ต เขาก็บอก.. (ทำเสียงถอนหายใจ) งานอย่างนี้เหรอ หางานไม่ได้ (หัวเราะ) คือเพราะว่างานเรามันเป็นคน แล้วก็แนวเดียวไงครับ งานในพอร์ตนั้นเป็นงานที่ผมถ่ายให้กับนิตยสาร LIPS, ELLE, CPS ตอนยังอยู่นิวยอร์ก แต่คิดว่าจุดที่ทำให้ได้งานมันก็น่าจะเป็นความชัดเจนในแนวทางของเรานี่แหละ ถึงจะมีคนถ่ายแนวคล้ายๆ กันอยู่บ้าง แต่เอาเข้าจริงรายละเอียดและสไตล์งานยังไงมันก็ไม่เหมือนกัน”

ในเมื่อคล้ายกัน ทำไมลูกค้าถึงเลือกคุณ
“การเคยเป็นผู้ช่วยของ Annie Leibovitz เสมือนเป็นการที่เราเดินเข้าไปเคาะประตูแล้วเขาเปิดประตูให้โอกาสเราทำงาน แต่ถ้าเกิดทำงานออกมาแล้วห่วยก็คงไม่มีใครเขาอยากจะจ้างเราอีกแน่ๆ”

งานแฟชั่นโฆษณาชิ้นไหนที่คุณรู้สึกสนุกหรือชื่นชอบเป็นพิเศษ
“โฆษณาที่ภูมิใจมากคืองาน Jack Purcell ได้ทำอยู่สามปี สนุกมาก ร่วมงานกับ JWT (J. Walter Thompson) คอนเซ็ปแรกเป็น Pure Spirit ซึ่งหากลองสังเกตจะเห็นทุกอย่างในภาพเป็นโทนสีขาวทั้งหมด แต่รองเท้าจะเป็นสี ๆ อันนี้คือสิ่งที่เราคิด ตอนแรกไม่มีใครคิดแบบนี้หรอก เพราะมันเป็น Pure Spirit ไง”

ตรงนี้เป็นหน้าที่ของช่างภาพด้วยหรือเปล่า.. เพราะเห็นบางงานก็จะมีรายละเอียดมาให้เกือบทั้งหมด
“ไม่ ๆ อันนี้สำคัญเลยนะครับ ครีเอทีฟนี่คิดมาในระดับหนึ่ง แต่เราต้องมาเอ็กซ์คิวชั่น (Execution) มาดีเวลลอปไอเดียต่อ จากนั้นผมก็มาทำการบล็อกช็อต (Block Shot) งานชิ้นนี้พยายามสร้างสถานการณ์ให้รองเท้ามันไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรจะอยู่ นี่คือสิ่งที่เราคิดและทำงานร่วมกันกับครีเอทีฟไดเรคเตอร์”

สำหรับเรื่องอุปกรณ์ โอบอกว่าตัวเขาให้ความสำคัญกับการเลือกใช้อุปกรณ์ตามลักษณะของงานเป็นหลัก
“อุปกรณ์มีส่วนช่วยในการทำงานเยอะ แต่หากเลือกอุปกรณ์ผิดก็จะเหนื่อยหน่อย บางครั้งอาจถึงขั้นงานไม่สำเร็จและสิ่งที่จะตามมาก็คือคอสต์ (Cost) ต่าง ๆ อีกมากมาย สำหรับผมในการทำงานนี่ถือว่าเตรียมตัวเยอะนะครับ จะถ่ายที่ไหนต้องไปดูสถานที่ก่อน คือพอได้ไปเล็งแล้ว ด้วยประสบการณ์เราจะรู้เลยว่าช่วงเวลาไหนที่ถ่ายแล้วจะสวยที่สุด ผมทำงานกับแสงธรรมชาติเยอะ แล้วก็เติมเต็มด้วยแสงไม่ธรรมชาติ”

ฟอร์แมตของกล้องที่คุณใช้งานในปัจจุบัน
“งานโฆษณาส่วนใหญ่ก็ยังใช้มีเดียมฟอร์แมต (Medium Format) ครับ แต่ก็เริ่มนำกล้องที่มีขนาดฟอร์แมตเล็กลงแต่ประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่าง Mirrorless เข้ามาใช้บ้างแล้ว โดยผมได้นำ Sony A7R III มาใช้ในงานตั้งแต่ช่วงกล้องรุ่นนี้เปิดตัว คุณภาพไฟล์มันดีมาก สกินโทน (Skin Tone) ดี ความคมชัดได้ ไดนามิกเรนจ์ (Dynamic Range) กว้าง ISO สูงหน่อยภาพก็ยังดีมาก ทำให้ผมไม่ต้องใช้ไฟช่วยมากเหมือนตอนใช้กล้องมีเดียม ที่ต้องใช้ ISO 100 ถ่าย แต่ที่ผมชอบเป็นพิเศษคือระบบ Eye Focus ที่เข้ามาช่วยในเรื่องความเร็วและความแม่นยำในการทำงาน ด้วยความที่โฟกัสมันมี Depth of Field ที่ไม่แชลโลว์ (Shallow) มาก Eye Focus มันโฟกัสเข้าที่ตาแม่นยำมากแม้ตัวแบบเคลื่อนที่ เวลาโฟกัสถ้าเข้าแล้วนี่มันจะเข้าแบบกริ๊บเลย ถ่ายมาร้อยรูปอาจจะหลุดสักสองสามรูป”

A7R III เมื่อเอาไปใช้งานร่วมกับโปรแกรมสำหรับมืออาชีพอย่าง Capture One Pro คุณว่าเป็นอย่างไรบ้าง
“ที่ผมใช้อยู่เป็น Capture One Pro ก็ใช้งานได้ปกตินะครับ ไม่มีติดขัดอะไร สามารถใช้ในการทำงานได้จริง”

ช่วงระยะเลนส์ที่ใช้เป็นประจำสำหรับงานของคุณ
“ผมมี Sony FE 16-35mm F2.8 GM, FE 24-70 มม. F2.8 GM แต่ตัวที่ใช้เป็นหลักเลยคือ FE 85 mm. F1.4 GM ผมชอบตัวนี้มากที่สุด ด้วยนํ้าหนัก ด้วยมุมมองของภาพ คุณภาพ และปุ่มล็อกโฟกัสที่อยู่บนกระบอกเลนส์ มันช่วยในการถ่ายภาพได้เยอะ ผมใช้ปุ่มนี้บ่อยมาก กดแทบเกือบตลอดเวลาที่ทำงาน”

ทราบว่าปัจจุบันคุณโอได้เริ่มขยับเข้ามาสู่แวดวงการภาพยนตร์ประเภทหนังสั้นด้วย
“ใช่ครับ.. ​ ชีวิตนี้ทำอะไรตามแต่ความฝันมาตลอด (หัวเราะ) ฝันอยากเป็นช่างภาพก็พยายามทำมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ด้วยภาระหน้าที่ทำให้เราอาจลืมความฝันบางอย่างไป จนปีที่ผ่านมานึกขึ้นได้ว่าเรามีความฝันอย่างหนึ่งที่ยังไม่ได้ทำ ก็เลยตัดสินใจว่าจะลงมือทำหนังสั้นเรื่องแรก โดยไปขอคุณ “ป๊อด โมเดิร์นด็อก” ทำเรื่อง “This Is My That Day” ซึ่งเป็นแง่มุมเกี่ยวกับชีวิตของคุณป๊อดว่าทำไมเขาถึงชอบทำงานด้านศิลปะ”

แม้จะเป็นหนังสั้นเรื่องแรก แต่โอและทีมงานต่างก็ทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่ เขาได้เรียนรู้ความยากง่ายและปัญหาจากการทำงานจริง แต่นั่นก็เป็นความพยายามที่สุดแสนจะคุ้มค่า เพราะสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในสาขา Short online จากเทศกาล FirstGlance Film Festival Los Angeles มาครองได้อย่างน่าชื่นชม
“การเป็นช่างภาพนิ่งกับช่างภาพภาพยนตร์ผมว่าใกล้กันนะ การถ่ายภาพคือการหยุดเวลาและเราทำให้คนจดจำช่วงเวลานั้น ๆ ได้ การถ่ายภาพยนตร์คือการดีเลย์ (Delay) เวลา แล้วเอาเวลาเป็นช่วง ๆ มาเรียงต่อกันเป็นซีเควนซ์ (Sequence) เพื่อจูงอารมณ์คนดู มันคือการนำเอาความทรงจำกลับมาเล่าใหม่”

คุณใช้กล้องอะไรในการถ่ายหนังสั้นของคุณ
ผมใช้ Sony A6500 มันเป็นกล้องที่เล็ก คล่องตัว คุณภาพดี

ถึงวันนี้คุณวางเป้าหมายในอนาคตสำหรับตัวเองไว้อย่างไรบ้าง
“ผมมีโครงการที่เริ่มทำคือการแบ่งปันประสบการณ์ ไม่ได้ไปบอกว่าเราเก่งอะไรยังไงนะ แต่เอาสิ่งที่เคยทำมาเล่าให้คนที่สนใจได้เรียนรู้ เป็นลักษณะของการทำเวิร์คช็อปสอนถ่ายภาพที่บ้าน โดยจะเล่าว่าที่มาที่ไปมันคืออะไร เหตุและผลของสิ่งต่าง ๆ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บอกว่าอะไรที่มันตอบโจทย์ตามคอนเซ็ปบ้าง เพราะคอนเซ็ปของงานนี่แหละที่จะเป็นตัวควบคุมไม่ให้เราเดินออกไปนอกแนวทางที่วางไว้”

อยากให้คุณโอช่วยแนะแนวทางสำหรับผู้ที่มีความสนใจในแขนงการถ่ายภาพเช่นเดียวกับคุณ
“ครั้งหนึ่ง ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ หรือ ‘พี่เชน’ ช่างภาพสัตว์ป่า เคยให้คำแนะนำผมว่า.. ‘โอต้องมีอะไรอยู่ในใจที่อยากจะเล่าและเอาสิ่งนั้นออกมา’ เหมือนกันครับ.. การถ่ายภาพก็ต้องมีอะไรอยู่ในใจว่าคุณอยากจะเล่าอะไร อย่างจะถ่ายอาหาร จะเล่าเรื่องอาหาร คุณอยากจะเล่ามันอย่างไรล่ะ.. ถ้าอยากจะเล่าเรื่องส่วนโค้งของกุ้งที่อยู่บนจาน คุณก็ต้องพยายามถ่ายทอดสิ่งที่คุณอยากเล่าให้มันออกมาอย่างนั้น ไม่งั้นมันก็จะถ่ายแบบสะเปะสะปะ การถ่ายภาพสวยเป็นผลกำไรซึ่งมาทีหลังจากการเล่าเรื่อง แม้กระทั่งการถ่ายภาพแฟชั่น ถ่ายพอร์เทรตก็อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน คือคุณจะคอมมูนิเคท (Communicate) อะไร เพราะเราทำงานอยู่ในสายของ Communication Art นั่นแหละคือหัวใจ”

สามารถติดตามผลงานและกิจกรรมต่าง ๆ ของ “โอ” ธนัตถ์ สิงหสุวิช ได้
ที่ www.ohstudio.net และ https://www.facebook.com/OhSinghasuvich


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/