Knowledge

CONTROL LIGHT FOR YOUR IMAGINATION

สมัยที่ผมเริ่มถ่ายภาพใหม่ๆ ในยุคที่การใช้ฟิล์มยังรุ่งเรืองนั้น จำได้ว่าสิ่งที่ผมกลัวมากอย่างหนึ่งคือการถ่ายภาพโดยใช้แฟลช โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้แฟลชร่วมกับแสงธรรมชาติ เพราะมันเป็นเรื่องยากในสมัยนั้น ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องแฟลชพอควร คุณจะเห็นภาพได้ก็ต่อเมื่อล้างฟิล์มออกมาเท่านั้น ว่าแฟลชที่คุณตั้งมันเป็นอย่างที่คุณต้องการหรือเปล่า และมันจะยากขึ้นไปอีกถ้าคุณต้องแยกแฟลชออกมาเพื่อสร้างทิศทางแสงที่แตกต่างพร้อมกันหลายตัว ปวดหัวใช่เล่นกันเลยครับ เพราะสมัยนั้นการแยกแฟลชออกไปเพื่อถ่ายภาพต้องใช้สายพ่วงแฟลชเพื่อแยกแฟลชออกไปวางในจุดต่างๆ บางครั้งต้องลากสายกันยาวเป็นสิบๆ เมตรก็มี จากนั้นต้องมาคำนวนกันตามสูตรว่าแฟลชแต่ละตัวต้องตั้งกำลังไฟแค่ไหนเพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการ แล้วต้องมาลุ้นกันอีกทีตอนล้างฟิล์มเสร็จว่าแฟลชแต่ละตำแหน่งกำลังไฟ ทิศทาง รัศมีการทำงาน ครอบคลุมพื้นที่อย่างที่ต้องการหรือไม่ พูดง่ายๆ ว่าคุณต้องมีจินตนาการภาพๆ นั้นไว้ในหัวและต้องคอนโทรลแฟลชออกมาให้ได้อย่างภาพที่คิดไว้ กว่าจะได้มาแต่ละภาพไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนในสมัยนี้ที่ถ่ายปุ๊ป ก็เห็นภาพปั๊บ ถ่ายไปแก้ไป จึงต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องแฟลชและประสบการณ์มากพอควร

แต่มาในยุคดิจิตอลครองเมืองเช่นนี้่ การแยกแฟลชไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยีของแฟลชที่ก้าวหน้าไปไกล ระบบการทำงานที่ทันสมัยขึ้น การแยกแฟลชก็ไม่ต้องพ่วงสายให้ยุ่งยาก อีกทั้งสามารถปรับตั้งการทำงานได้สะดวก แยก Group แยกการสั่งกำลังไฟในแต่ละตัวได้ง่ายดาย และที่ต้องยกความดีให้ระบบดิจิตอลก็คือคุณสามารถถ่ายไปแก้ไปได้ทันทีถ้าไม่เป็นอย่างที่ต้องการ เพราะเห็นภาพได้เลยหลังถ่าย ทำให้การต้องมานั่งเสียเวลาคำนวนกำลังไฟแต่ละตัวเพื่อให้ได้แสงที่เป๊ะเหมือนสมัยฟิล์มนั้นลดลง

ภาพตัวอย่างที่เห็นเป็นการแยกแฟลชทั้งหมด 3 ตัว หลังจากผมวัดแสงฉากหลังได้แล้วผมแยกแฟลชตัวแรกจะอยู่ด้านหน้าตัวแบบในมุมสูงเพื่อเน้นแสงที่บริเวณหน้าของตัวแบบ โดยใช้ระบบแมนนวล และอาศัยการดูสเกลระยะการทำงานของแฟลชแทนการคำนวนด้วยสูตร เพราะคนที่ถ่ายภาพในช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกนี้จะรู้ดีว่าเวลาทุกนาทีมีค่าแค่ไหน แฟลชตัวที่สองเอาไว้ด้านหลังตัวแบบเพื่อไม่ให้ส่วนมืดของแบบกลืนไปกับฉากหลัง ที่สำคัญคือแฟลชต้องอยู่ห่างมากพอที่จะไปสร้างความสว่างให้กับเสาด้านหลัง เพื่อไม่ให้ฉากหลังมืดจนเกินไป แต่ต้องไม่แรงเกินไปจนขอบของตัวแบบและเวลล์ที่ติดบนผมเจ้าสาวสว่างจ้าไป ส่วนแฟลชตัวที่สามเอาไว้ด้านซ้ายมุมบนเพื่อเปิดรายละเอียดของปลายชุดเจ้าสาว หากสังเกตุจากภาพเล็กจะเห็นได้ว่าความสว่างของแสงตรงปลายกระโปรงต่างกัน ภาพแรกผมต้องการเน้นความอลังการของชุดจึงให้แสงแฟลชตกลงบนชุดแทบทั้งหมดให้สว่างใกล้เคียงกัน ทำให้ตัวแบบดูเด่นตลอดทั้งตัว แต่ภาพที่สองผมต้องการให้ส่วนปลายชุดสว่างแค่บางส่วน เพื่อเน้นแสงเงาบนลวดลายของกระโปรงให้เป็นเส้นนำสายตาจากมุมล่างซ้ายไปยังช่วงใบหน้าของตัวแบบ โดยให้คนถือแฟลชเอามือประกบเข้าหากันเพื่อบีบแสงแฟลชให้ผ่าน ช่องที่แคบลงเพื่อเน้นเฉพาะขอบๆ ของกระโปรง

จะเห็นได้ว่าเมื่อเราคอนโทรลแสงแฟลชตรงปลายกระโปรงให้แคบลง ก็สามารถเปลี่ยนอารมณ์ของภาพให้แตกต่างกันได้ โดยภาพแรกจะเน้นความอลังการของชุด ภาพที่สองจะเน้นใบหน้าตัวแบบมากกว่าเพื่อการนำไปซ้อนกับภาพพระจันทร์แล้วจะทำให้ช่วงใบหน้าของตัวแบบโดดเด่นอย่างที่จินตนาการไว้ (ภาพใหญ่)

จริงๆ การคิดภาพไว้ในหัว แล้วคอนโทรลแสงให้ได้อย่างที่คิดตั้งแต่ตอนถ่ายให้ใกล้เคียงที่สุด มีประโยชน์มากนะครับ เพราะนอกจากจะลดความยุ่งยากและเสียเวลาในการตกแต่งภาพให้ลดน้อยลงแล้ว ยังช่วยให้การทำงานในตอนถ่ายภาพง่ายขึ้นด้วย หากมีเวลาถ่ายภาพด้วยแฟลชครั้งหน้าอย่าลืม “ควบคุมแสงให้จินตนาการของคุณ” กันดูนะครับ

เรื่อง/ภาพ : พิษณุ พวงแก้ว