Knowledge

COMMERCIAL PHOTOGRAPHY Interview # เมษ์ – ศุภวัชร์ เด่นอัมพร

ในขณะที่นักถ่ายภาพส่วนใหญ่มีสไตล์ของการถ่ายภาพที่ตนเองให้ความสนใจเป็นพิเศษผุดพรายอยู่ ที่ซึ่งอาจมากกว่าหนึ่งสาย
บางรายสนใจ Documentary
บางรายชอบใน Fashion
บางรายหลงใหล Landscape
ขณะที่อีกมากมายเทใจให้กับ Street หรือสไตล์งานประเภทอื่น ๆ
แขนงสายของการถ่ายภาพเหล่านั้นมักผูกติด – ยึดโยงอยู่กับรสนิยมที่ซึ่งตอบสนองอารมณ์อันเป็นปัจเจกของนักถ่ายภาพอย่างเป็นด้านหลัก

ทว่า โลกนับตั้งแต่ยุค Analog ถึง Digital ยังมีการถ่ายภาพอยู่อีกประเภทที่ผู้คนทั่วไปกล่าวขวัญถึงน้อย แต่มันก็ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมของเรา แถมนับวันเติบโตคืบคลานเข้ามาอยู่ในห้วงความคิด ทัศนคติและจิตใจของผู้คน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะถ่ายภาพหรือไม่ถ่ายภาพ ทั้งกลางวัน – กลางคืน ไม่ว่ายามหลับหรือตื่น

เรากำลังพูดถึง Commercial Photography หรือ “การถ่ายภาพเชิงพาณิชย์” แขนงการถ่ายภาพที่สามารถสร้างคุณลักษณะพิเศษได้ประหลาดกว่าโลกของภาพถ่ายทั่ว ๆ ไป อิทธิพลของมันไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อทัศนคติและอารมณ์ของผู้ชม (หรือไม่อยากชม) เท่านั้น แต่ยังมุ่งเป้าต่อ “พฤติกรรม” ของคนในฐานะ “ผู้บริโภค” โดยตรง

หากคำว่า Commercial สะท้อนความหมาย “ในเชิงพาณิชย์” และการพาณิชย์เข้าใจโดยง่ายว่าคือการค้าการขายที่เน้นผลกำไร ดังนั้นการถ่ายภาพเชิงพาณิชย์จึงย่อมมุ่งผลเอาจาก “ภาพถ่าย” ต่อพฤติกรรมทางธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไรทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม จึงกลายเป็นคุณสมบัติโดยพื้นฐานว่า “นักถ่ายภาพเชิงพาณิชย์” หรือ Commercial Photographer จำเป็นต้องมีความเข้าใจในแง่ง่ามของความเป็น “พาณิชยศิลป์” (Commercial Art) อย่างลุ่มลึก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดผลงานให้สัมฤทธิ์ผล

FOTOINFO Plus ฉบับ Commercial Photography พร้อมนำคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับบุคคล ผลงาน ตลอดจนองคาพยพของการถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ในมิติต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องเล่าจากเส้นทางในรอบทศวรรษของ “เมย์ – ศุภวัชร์ เด่นอัมพร” ช่างภาพรุ่นใหม่ผู้มีสไตล์เฉพาะตัวทั้งด้าน Commercial และ Wedding Photography

“เพราะแตกต่าง เราจึงโดดเด่น”
“ถ้าเกิดทุกคนถ่ายภาพเหมือนกันหมดโดยที่ไม่มีใครแยกออก แล้วชื่อของคุณจะอยู่ตรงไหน?”

มันไม่ง่ายที่จะเชื่อว่า.. เด็กเนิร์ด (Nerd) คนหนึ่ง ปฏิเสธที่จะเข้าเรียนแพทย์หลังรู้ว่าตัวเองเอ็นทรานซ์ติด
และยากที่จะเชื่อไปกว่า.. ว่าที่วิศกรสาขาแมคคาทรอนิกส์ ลาดกระบัง ที่โรงงานอุตสาหกรรมไหนๆ ต่างก็อยากคว้าตัวไว้ร่วมงาน กลับปฏิเสธอาชีพที่ผู้ชายค่อนประเทศใฝ่ฝัน
แต่เหลือเชื่อยิ่งไปกว่านั้น.. ในวันที่หันหลังปฏิเสธ เขากลับบ่ายหน้ามุ่งสู่เส้นทางที่คนรอบข้างมองแทบไม่เห็นสิ่งที่จะเรียกได้ว่าเป็นอนาคตของเด็กหนุ่มผู้นี้
ทว่า สิบปีต่อมา ผู้คนจำนวนไม่น้อยกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เมษ์ – ศุภวัชร์ คือช่างภาพรุ่นใหม่ที่มาเร็ว มาแรง และมาได้ไกลคนหนึ่งของวงการ
นับจากบรรทัดนี้ คือเรื่องราวและช่วงชีวิตบางห้วงบางตอนของเขา ที่ซึ่งเราเชื่อว่าอาจเสมือน “เชื้อไฟ” ที่จะ Inspire นักถ่ายภาพหน้าใหม่หรือใครก็ตามที่กำลังมองหาจังหวะกระโจนสู่แวดวงการถ่ายภาพเช่นเดียวกับเขา

“ผมเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะเข้ามาเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ หรือที่หลายคนอาจรู้จักในชื่อวิศวะหุ่นยนต์”

เมษ์ – ศุภวัชร์ ฉายภาพชีวิตช่วงมัธยมปลายของเขาว่าคล้ายกับวัยรุ่นทั่ว ๆ ไปในยุคนั้น ที่โลกของการเรียนรู้ยังไม่ได้เปิดกว้าง อาชีพยอดนิยมมักไม่พ้นแพทย์ วิศวกร และสถาปนิก
“ผมอยู่ในยุคของการสอบเอ็นทรานซ์รุ่นสุดท้าย ตอนนั้นคะแนนสอบของผมได้แพทย์ แต่ไม่อยากเรียนแพทย์ (หัวเราะ) ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนต่อด้านวิศวะ ประกอบกับรู้สึกว่าตัวเองอยู่เชียงใหม่มานาน อยากลองเปลี่ยนสังคมใหม่บ้างก็เลยเลือกลงมาเรียนต่อที่ลาดกระบัง”

จุดเปลี่ยนที่อาจก่อตัวอยู่อย่างเงียบเชียบมานาน ปรากฏเค้าลางชัดเจนขึ้นภายในใจของเด็กหนุ่มระหว่างที่เขากำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ช่วงที่ต้องฝึกงาน
“โดยสายงานผมต้องอยู่กับเครื่องจักร หุ่นยนต์ แขนกลที่เป็นระบบอัตโนมัติ พอได้เข้าไปอยู่หน้างานจริงมันต้องเจอทั้งเสียง ความร้อน กลิ่นนํ้ามัน ที่อาจเรียกได้ว่าสิ่งเหล่านั้นคือเพื่อนร่วมงาน ต้องนั่งทำงานที่โต๊ะเดิม ๆ จนเมื่อฝึกงานไปสักพักผมก็รู้สึกว่าตัวเองอึดอัดจนถึงขั้นต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า.. เฮ้ย นี่มันไม่ใช่หรือเปล่า?”

ทราบว่าจุดเริ่มต้นจริงๆ สำหรับชีวิตการเป็นช่างภาพของคุณเกิดขึ้นหลังจากได้ไป Work and Travel
“ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยถ่ายภาพเลย ไม่มีกล้อง ซื้อกล้องถ่ายภาพครั้งแรกตอนไป Work and Travel ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังจากช่วงที่ทำงานพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ผมก็เลือกที่จะซื้อกล้องดิจิทัล ซึ่งตัวแรกก็ Born in Nikon เลย เป็นรุ่น D40X ตามงบประมาณที่มีอยู่ ตอนนั้นก็ยังเป็นเด็กน้อยคนหนึ่งครับ พอได้กล้องก็คว้าจักรยานออกไปขี่ถ่ายภาพเล่นรอบๆ นิวยอร์ก แถวๆ เทพีเสรีภาพ ช่วงนั้นอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทบ้างแล้ว Tutorial เกี่ยวกับการถ่ายภาพใน Youtube ก็เริ่มมี ซึ่งแต่เดิมผมเป็นคนชอบอ่านนิตยสารเกี่ยวกับสารคดีอย่าง National Geographic ชีวิตสัตว์ หนังสือภาพแนวท่องเที่ยวสวยๆ แล้วก็พวกนิตยสารถ่ายภาพหัวนอกที่ช่วงนั้นตามอ่านอยู่เกือบทุกเดือน ผมชอบที่ภาพมันสวยและอยากจะเป็นคนที่บันทึกภาพอย่างนั้นเองบ้าง”

คุณเรียนรู้ถูก-ผิดในเรื่องของการถ่ายภาพด้วยตัวเองอย่างไร
“เป็นเรื่องปรกติเลยครับ ช่วงแรกๆ ถ่ายเป็นร้อย สวยแค่รูปสองรูป (หัวเราะ) ทั้งโอเวอร์ – อันเดอร์ ภาพออกมาไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปรกตินะ อยากฝากถึงนักถ่ายภาพที่เพิ่งเริ่มต้นว่าการที่จะถ่ายภาพให้สวยนั้นมันไม่ได้สวยกันมาตั้งแต่แรกหรอก ทุกอย่างที่จะสวยหรือก่อนที่ภาพมันจะดูลงตัว ล้วนเกิดจากการเรียนรู้และฝึกฝนซํ้าๆ จากการถ่ายภาพมาเกือบสิบปีสุดท้ายแล้วสิ่งที่ผมคิดว่ากินขาดกันจริงๆ คือ ‘Composition’ และ ‘Idea’ เอาเข้าจริงช่างภาพอาชีพทุกคนมีอุปกรณ์พอกัน ต่างกันที่ตัวตนและ Composition ที่ใส่เข้าไป”

หลังจบระดับปริญญาตรี เมษ์ – ศุภวัชร์ เริ่มต้นสมัครงานตามสายเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ ในคณะ แน่นอนว่าดีกรีระดับนี้ย่อมได้รับโอกาสทั้งจากบริษัทชั้นนำและกิจการอันเป็นธุรกิจของทางบ้าน หากแต่อนาคตที่มั่นคงกลับพ่ายให้กับเสียงเพรียกภายในใจที่ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง
“รู้สึกว่าชีวิตในออฟฟิศมันไม่ใช่ตัวเรา เลยเริ่มจริงจังกับการเป็นช่างภาพในสายอาชีพ แน่นอนว่าตอนนั้นทางบ้านก็คัดค้านกับการที่ลูกชายคนโตจะออกมาทำอาชีพอิสระ ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว สังคมบ้านเราตอนนั้นยังไม่ค่อยจะรู้เลยว่าอาชีพ Freelance คืออะไร เขาก็กลัวว่าเราจะอยู่ไม่ได้ เพราะในความรู้สึกช่างภาพสมัยก่อนมันเป็นอาชีพที่รายได้ไม่เยอะถูกไหม.. แต่พอเราได้ศึกษาสิ่งต่างๆ ที่เป็น Inspiration เอ๊ะทำไมช่างภาพต่างประเทศเขาถึงได้เงินจากการทำงานเยอะจัง จากจุดนั้นผมจึงเริ่มคิดที่จะพัฒนาฝีมือตัวเอง ถ้าหากอยากขายงานได้เราต้องทำอะไร ต้องใส่อะไรลงไปในงานของเราบ้าง”

เคยรู้สึกเสียดายบ้างไหมที่ไม่ได้ทำงานตามสายที่เรียนมา
“ไม่เลย.. ไม่เคยเสียดายเลยครับ จริงๆ (หัวเราะ) ต้องบอกว่าโดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ทำอะไรแล้วทำจริงจัง อย่างตอนเรียนผมก็เรียนจริงจัง เรียกว่าเด็กเนิร์ดเลยก็ได้ พอมาเล่นกล้องปุ๊บ ผมก็หลงใหลไปกับมัน อยู่กับมัน ถ้าเป็นคนที่สนิทกันจะรู้ว่าผมเป็นพวกที่ลงทุนขั้นสุดเพื่อที่จะให้ได้อะไรบางอย่างที่ดีในขั้นที่จะทำให้เราพึงพอใจ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ผมถึงไม่เสียดายว่าทำไมตัวเองไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับวิศวะ แต่กลับนึกขอบคุณตัวเองเสียอีกว่าเรากล้าที่จะก้าวออกมา ถ้าเกิดวันนี้ผมยังอยู่ตรงนั้น ตอนนี้จะเป็นอย่างไรก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน”

อะไรคือ “จุดเชื่อม” ที่ทำให้คนจบจากสายวิศวะมาทำงานด้านศิลปะได้อย่างลงตัว
“เดิมผมเป็นคนชอบศิลปะอยู่แล้ว พอเริ่มถ่ายภาพและได้เห็นพัฒนาการของตัวเอง มันก็รู้สึกสนุกไปกับสิ่งที่ทำ แต่เอาเข้าจริงวิศวะผมก็ไม่ได้ทิ้งนะครับ ความรู้ที่ได้เรียนมาสามารถนำมาประยุกต์กับการถ่ายภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างความเข้าใจในเรื่องแสง ปรากฏการณ์ของแสงที่เกิดขึ้น มันทำให้เราคาดเดาได้ว่าถ้าสภาพอากาศแบบนี้แสงควรจะเป็นอย่างไร หรือระบบการทำงานของกล้อง การทำงานของมอเตอร์ต่างๆ หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในตัวกล้อง เราสามารถนำหลักวิศกรรมมาจับเพื่อแก้ไขได้ อย่างปัญหาง่ายๆ เรื่อง Flicker หากใครเรียนวิศวะหรือระบบไฟฟ้ามาก็จะรู้ว่าบ้านเราไฟกระพริบกี่ Hertz ซึ่งสามารถนำมาช่วยแก้ไขได้ในการถ่ายภาพ เรียกว่าเป็นข้อได้เปรียบของการเข้าใจในระบบกล้องที่เราใช้งาน ผมคิดว่านี่คือข้อได้เปรียบที่เข้าใจอุปกรณ์ได้เร็วและเข้าใจมันโดยแท้จริง ทำให้เชื่อมกับกล้องได้เร็วขึ้นจนบางครั้งสามารถปรับตั้งค่าต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องคิดเลย งานก็มีความลื่นไหลมากขึ้น ความได้เปรียบในการจับจังหวะก็มีมากขึ้นด้วย”

เมษ์ – ศุภวัชร์ ให้คำจำกัดความงานสไตล์ของเขาในแบบที่ Follower เคยได้สัมผัสว่า เป็นงานกึ่ง Commercial ที่มีการจัดแสง มีการใช้ Location และการ Set up บางอย่าง พร้อมกับใส่รสนิยมส่วนตัวเข้าไปเพื่อทำให้ภาพดูมีความน่าสนใจในแบบที่เขาต้องการ ซึ่งงานลักษณะนี้มักปรากฏอยู่ในรูปของงานภาพแนว Pre-wedding
“ผมไม่ได้เรียกตัวเองว่าช่างภาพ Wedding นะครับ แล้วก็ไม่ได้บอกว่าเป็นช่างภาพ Commercial หรือช่างภาพ Architecture ผมรับงานทุกอย่างที่ลูกค้า Request มา แล้วเชื่อว่าตัวเองทำได้ ผมถึงจะรับปากทำ การถ่ายภาพของผมเริ่มจาก Landscape ซึ่งแน่นอนว่ามันก็มักจะมี Cityscape Architecture และ Portrait เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยที่ผมเลือกเอาข้อดีของแต่ละอย่างมารวมกัน อย่าง Landscape เรารู้อยู่แล้วว่าช่วงเวลาไหนแสงสวย ดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก ควรใช้สภาพแสงแบบไหนในการเล่าเรื่อง หรือการถ่าย Architecture เราอ่านเส้น ถ่ายตึก ถ่ายในอาคาร บางครั้งภาพแนว Pre-wedding หรืองาน Commercial ก็ถ่ายในสถานที่ที่เป็นอาคาร เราก็จะรู้ได้ว่าถ้าตั้งกล้องตรงนี้ มุมควรประมาณนี้ เส้นในภาพควรเป็นแบบนี้ถึงจะลงตัวและนำไปสู่ตัวแบบให้มีความน่าสนใจ สุดท้ายก็กลายเป็นว่าเรานำทุกอย่างมารวมกันอยู่ในงานหมดเลยทั้ง Landscape, Architecture, Lighting และ Portrait ซึ่งก็เรียกได้ว่านี่เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของภาพที่ผมถ่าย”

กระบวนการเหล่านี้ผ่านการพูดคุยกับลูกค้าก่อนบ้างหรือเปล่า
“ก็ต้องมีการคุยกันระดับหนึ่ง เราเลือกโลเคชั่น จากนั้นก็แจ้งลูกค้าว่าถ่ายกี่โมง แต่ละเซ็ตจะถ่ายตรงไหน เบรกกี่โมง จบกี่โมง โดยที่บางครั้งผมก็ไม่ได้แจ้งละเอียดถึงขนาดว่าภาพจะออกมาอย่างไร แค่แจ้งแผนการทำงานคร่าว ๆ อย่างกรณีไปถ่ายต่างประเทศผมจะแจ้งลูกค้าเลยว่าต้องเริ่มเช้าเป็นพิเศษนะครับ เพราะเราจะหลบทัวร์และเอาแสงเช้า พอสายๆ ผมจะให้ลูกค้าไปพักผ่อนเลย เนื่องจากหลายแห่งที่เคยไปถ่ายมาอย่างที่ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ มันจะสวยเฉพาะช่วงเช้า เย็น กลางคืน เรื่องพวกนี้มันขึ้นอยู่กับการวางแผน”

ต้องมีทีมงานหรือผู้ช่วยบ้างไหม
“เวลาทำงานผมจะถือแค่กล้องกับเลนส์ตัวที่ใช้เท่านั้น ที่เหลือทั้งเลนส์และไฟจะอยู่กับผู้ช่วยทั้งหมด แฟลชผมก็ไม่ได้ใช้แบบที่ต้องประกอบอยู่บนขาตั้ง ผมจะให้ผู้ช่วยถือไฟที่ประกอบบนโมโนพอด เหตุผลก็คือ หนึ่ง Move ได้เร็ว สอง สามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลา อุปกรณ์ไม่ค่อยเสียหาย ที่สำคัญเมื่อผมแบกของไว้กับตัวเองน้อยลง ก็มีแรงเหลือที่จะไปเดินดูมุมนั้นมุมนี้ มีเวลาที่จะจินตนาการต่อว่าช็อตหน้าภาพจะเป็นอย่างไร”

เคยมีปัญหากับเจ้าหน้าที่หรือสถานที่ที่ไปถ่ายทำบ้างไหม คุณแก้ไขอย่างไร
“เจอเหมือนกันครับ แต่ส่วนใหญ่เจอในบ้านเรา ซึ่งก็เข้าใจว่าเขาทำตามหน้าที่ เราก็ควรจะตอบเขาดีๆ ไม่ใช่ไปเบ่งใส่ว่าเราเป็นช่างภาพ ติดต่อมาแล้ว! อย่างนั้นดูไม่น่ารักเลย การแสดงท่าทีอย่างนั้นออกไปมันจะเดือดร้อนกันโดยส่วนรวม ควรพยายามชี้แจงให้เขาเข้าใจว่าเราเดินเรื่องมาแล้วแต่หากยังไม่ถูกต้องโดยที่ไม่รู้จริงๆ คำว่า ‘ขอโทษครับ ต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง’ ช่วยคุณได้เสมอ เพราะทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง ใจเขาใจเราครับ”

ผู้ที่ติดตามผลงานภาพถ่ายของเมษ์ – ศุภวัชร์ ในสาย Commercial โดยเฉพาะแขนง Pre-wedding อยู่อย่างเสมอ มักมีทัศนะไปในทำนองเดียวกันว่าสไตล์งานของนักถ่ายผู้นี้ค่อนไปในทาง Landscape ที่นำเอาคนซึ่งเป็นตัวแบบหรือลูกค้าเข้ามาโลดแล่นในภาพได้อย่างโดดเด่นและกลมกลืน
“หลายคนอาจจะเรียกว่าเป็นงานแนว Landscape แปะคน (หัวเราะ) คือ มีการเซ็ตแสงไฟผสมกับแสง Ambient ซึ่งคนมักคิดว่าการที่ผมชอบใช้แสงแฟลช นั่นหมายถึงผมไม่แคร์เรื่องแสงธรรมชาติ ไม่ใช่เลยครับ.. ยิ่งใช้แสงแฟลชมากเท่าไหร่ ผมยิ่งต้องแคร์แสงแวดล้อมจากธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากภาพของผมเป็นแสงผสม ถ้าแสงธรรมชาติสวยเวลาเราเติมอะไรลงไปนิดหน่อยมันก็จะยิ่งสวย จริงๆ แล้วแนวคิดในภาพถ่ายของผมง่ายมาก ดู Ambient ก่อนเลย หากสภาพแสงตามธรรมชาติสมบูรณ์อยู่แล้วผมไม่จำเป็นต้องเติมอะไรลงไป แต่ถ้าเกิดมันมีอะไรยังไม่ Perfect อย่างที่จินตนาการไว้จึงจะเติมแสงลงไปเพื่อให้ภาพมันสมบูรณ์ ผมเป็นคนชอบถ่ายภาพย้อนแสง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงต้องใช้แฟลช เวลาใช้เลนส์มุมกว้างถ่ายย้อนแสง แน่นอนตัวแบบมืด ถ้าจะเก็บ Backgroud ก็ต้องเติมแฟลชเข้าไปเพื่อช่วยตัวแบบ”

ปัจจุบันคุณเลือกใช้กล้องถ่ายภาพตัวไหนในการสร้างสรรค์งาน
“ที่ On Field อยู่ในปัจจุบันคือ Nikon D5, Df, D850 และล่าสุด Z7 โดยปรกติผมเป็นคนที่เลือกซื้อกล้องตามลักษณะการใช้งาน มีตัวที่ไฟล์ใหญ่ควอลิตี้สูงไว้สำหรับการนำไปอัดภาพขนาดใหญ่ให้ลูกค้า ตัวที่เร็วๆ อย่าง D5 ไว้ใช้ในงาน Event หรืองาน Wedding หากใครติดตามจะสังเกตได้ว่าผมเป็นคนที่เปลี่ยนกล้องในไลน์ที่ตัวเองเลือกใช้อยู่เสมอ มีรุ่นใหม่ออกมาผมจะปล่อยรุ่นเก่าเพื่อนำตัวใหม่เข้ามาทดแทน ถือเป็นการอัพเดตงานของเรา เมื่ออุปกรณ์ดีขึ้น ขีดจำกัดในการทำงานน้อยลง เราก็สามารถใส่ไอเดียในการทำงานลงไปได้มากขึ้น

สำหรับ Z7 ผมมีโอกาสได้นำมาใช้ในการทำงานจริงตั้งแต่เริ่มเปิดตัว ต้องบอกว่าคุณภาพไม่แพ้กล้องเกรดโปรที่ใช้งานมาก่อนหน้านี้เลย เผลอๆ จะดีกว่าด้วยซํ้า น่าพอใจทั้งในเรื่องรายละเอียด การคอนโทรลที่ง่ายมากขึ้น ทุกอย่างอยู่ในทัชสกรีนหมด การพลิกแพลงใช้งานทำได้สะดวกมากทั้งการกดมุมตํ่าหรือยกสูง เนื่องจากตัวกล้องเล็กมีนํ้าหนักเบา ช็อตลุย ๆ อย่าง Weather Seal ก็ยังลงไปลุยนํ้าได้เหมือนเดิมไม่มีปัญหา จุดที่ชอบมาก คือ EVF ที่ไม่หลอกตา จอหลังถ่ายมาแล้วสีตรง อย่างที่บอกเวลาถ่ายผมจะให้ลูกค้าดูหลังกล้องตลอด ฉะนั้นการที่สีตรงหรือไฟล์ตรงกับภาพที่เราได้ในคอมพิวเตอร์ มันมีผลมากนะครับในการชักจูงให้ลูกค้าเชื่อใจเราเพื่อให้เขาทำอะไรสักอย่าง”

เลนส์ตัวที่คุณเลือกนำมาใช้งานเป็นประจำ
“เลนส์ที่ผมเลือกมาใช้ในการทำงานบ่อย ๆ คือ AF-S NIKKOR 28mm f/1.4E ED, AF-S NIKKOR 58MM F/1.4G และ AF-S NIKKOR 105mm f/1.4E ED แต่หากออกภาคสนามก็อาจจะติดเลนส์ซูม AF-S NIKKOR 14-24MM F/2.8G ED ไปด้วยอีกตัว คาแลคเตอร์พิเศษของเลนส์ฟิกซ์ที่ผมชอบคือค่า F ที่กว้างมาก ให้มิติของภาพที่ดีกว่าเลนส์ซูม อีกเรื่องที่สำคัญคือมันทำให้เราขยันในการหามุม การติดเลนส์ซูม บางครั้งผมรู้สึกว่ามันทำให้เราขี้เกียจ แต่เวลาใช้เลนส์ฟิกซ์บางครั้งเราอาจจะอยากลองโยกไปทางนั้น เดินเข้าไปหน่อย หรือถอยออกมานิด ด้วยความที่เป็นเลนส์ฟิกซ์ มันจะบังคับให้เราเดินตลอด เวลาที่ได้มุมภาพมันอาจจะไม่เหมือนกับที่เราคิดไว้ตอนแรก มุมที่ Special หรือมุมที่ได้ขึ้นมาใหม่ๆ มักมาจากการที่ผมเดินหามุมจากเลนส์ฟิกซ์แล้วเกิดความคลิกกันเบาๆ ว่าเอ๊ะมุมนี้มันน่าจะได้ ไหนลองซิ.. แล้วสุดท้ายก็ออกมาเป็นภาพที่ดีเสมอ”

อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่คุณเลือกนำมาใช้ในการทำงาน
“อุปกรณ์เสริมที่ผมใช้คือแฟลช Nikon รุ่น SB-5000 กับตัวสั่งแฟลช WR-R10 ซีรี่ส์ใหม่ที่เป็นระบบ Radio ไม่ต้องใช้ Trigger นํ้าหนักเบามาก ที่ตัวแฟลชก็ไม่จำเป็นต้องมี Trigger เพราะมันรับสัญญาณได้ด้วยตัวเอง ทำให้ผู้ช่วยของผมแบกนํ้าหนักน้อยลง อุปกรณ์ก็พกพาได้ง่ายขึ้น ผมมีแฟลชสำหรับการทำงานอยู่สี่ตัว แต่ส่วนใหญ่มักใช้งานจริงแค่สองตัว อาจมีบางงานที่ต้องใช้ถึงสี่ตัวคือยิงซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง ซึ่งแล้วแต่ Creation”

เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายภาพในสไตล์ของเมษ์ – ศุภวัชร์ ช่างภาพหนุ่มตอบทันควัน..
“Final Image คือสิ่งที่ช่างภาพควรมีอยู่ในหัว ถ้าคุณต้องการภาพแบบนั้น คุณต้องทำอย่างไร แล้วทีนี้มันก็จะไล่มาเลยครับ ต้องใช้กล้องอะไร ใช้เลนส์อะไร ใช้อุปกรณ์เสริมอะไรบ้าง แต่ถ้าเกิดไม่มีภาพสุดท้ายในหัว มันก็จะเหมือนเราทำงานแล้วไม่มีไอเดีย จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนที่ว่าจะทำอย่างไรให้ภาพนั้นมันออกมาสมบูรณ์ที่สุด”

คุณจัดการ Process ไฟล์ภาพที่ถ่ายมาด้วยตัวเองทั้งหมดเลยหรือเปล่า
“ผมมีผู้ช่วยในการ Process สำหรับงานที่ไม่ยากอย่างงานแต่งงานที่ปรับแค่แสง สี ให้ตรงหรือสวยงาม แต่สำหรับภาพที่เฉพาะเจาะจงอย่างงาน Pre-wedding หรือ Commercial ที่ค่อนข้างซีเรียส อันนี้ผมจัดการเอง โดยผมจะทำงานใน RAW Converter ประมาณ 80% จากนั้นก็โยนเข้าไปใน Photoshop เพื่อจัดการ Retouch ซึ่งการ Retouch ของผมในที่นี้คือแค่ปรับสเกลร่างกายและทำผิวแบบเท่านั้น สิ่งที่จะไม่ได้ทำในไฟล์งานของผมเลยคือการ Die-cut ประเภทเปลี่ยนท้องฟ้าหรือเอาภูเขามาซ้อน เวลา On Location ผมพยายามจะเล่าภาพของผมให้อยู่ใน Location นั้นจริงๆ บรรยากาศจริงภายในวันนั้น ไม่ว่าฝนตก แดดออก หรืออะไรก็ตามแต่ ผมจะใช้บรรยากาศจริงในการเล่าเรื่อง มันจะเป็นความทรงจำของลูกค้า อันนี้พูดถึง Pre-wedding นะครับ ส่วนงาน Commercial ที่มีการวางแผนมาแล้วว่าสุดท้าย Print Ads. จะเป็นแบบไหน อาจมีการถ่ายเก็บ Backgroud แยก ตัวแบบแยก หรือ Setting แสงแยก อันนั้นคือกระบวนการทำงาน”

คุณอยู่ในสายงานถ่ายภาพประเภทนี้มากี่ปีแล้ว
“น่าจะเกือบสิบปีตั้งแต่เริ่มต้นถ่ายงานแรกที่ได้เงินนะครับ ถามว่าเบื่อบ้างไหม.. ผมเชื่อว่าทุกคนเคยเบื่อ ช่างภาพอาชีพทุกคนจะเจออาการหมดไฟ ผมเองก็เจอและเป็นทุกปีด้วยเชื่อไหม.. หลายคนอาจไม่รู้ว่าแทบทุกปีผมจะมีช่วงที่ท้อ ช่วงที่งานหนักมาก ๆ ไม่มีไอเดียแล้วต้องออกไปถ่ายภาพ เมื่อกลับมานั่งดูภาพแล้วต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าเฮ้ยนี่เราถ่ายอะไรมา.. คนอื่นอาจจะดูไม่ออก แต่ผมรู้ตัวเองดีว่างานนี้มันควรดีกว่านั้น ผมจะรู้สึก Fail จนบางครั้งถึงขั้นร้องไห้กับตัวเองก็มี เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ผมถึงเลือกที่จะรับงานไม่เยอะมาก เพื่อที่จะมีเวลาว่างบ้างในการไปเที่ยว ผมชอบถ่ายภาพ Landscape อยู่แล้ว ก็จะเอาเวลาที่เที่ยว ไป Refresh ตัวเอง บางครั้งไปต่างจังหวัดแบบง่าย ๆ แต่เวลาเที่ยวของผมคือการเที่ยวจริงๆ นะ ไม่ได้เงิน (หัวเราะ) ไปพักผ่อน ไปเจอผู้คน ไปเก็บภาพสวยๆ ออกทริปกับเพื่อนฝูงบ้าง บางครั้งการอยู่กับตัวเองมากเกินไปมันยิ่งทำให้เราหมดหนทาง คิดไม่ออก

ล่าสุดผมไปทริปญี่ปุ่นกับทาง Nikon ผมยืนถ่ายภาพทางช้างเผือกอยู่เกือบห้าชั่วโมง แต่ผมมีความสุขนะครับ แค่ได้มองด้วยตาเปล่าก็รู้สึกพอใจแล้ว ทุกครั้งพอกลับมาก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีไฟในการทำงาน อยากจะถ่ายภาพ อยากจะสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามให้กับลูกค้าของเรา”

ช่วงเวลาที่ได้นั่งสนทนากับช่างภาพหนุ่มไฟแรงผู้นี้ แม้ผ่านเพียงชั่วโมงสั้น ๆ แต่ก็น่าจะครอบคลุมเรื่องราวเหตุการณ์กว่าขวบทศวรรษที่ผ่านมาของเขา และเรารู้ดีว่า “คำถามสุดท้าย” อาจรวดเร็วเกินไปที่จะส่งให้เมษ์ – ศุภวัชร์ ขมวดสรุปจังหวะชีวิตของตัวเองในสาย Professional ที่ยังเหลืออยู่อีกยาวไกล แต่ก็เชื่อว่าใครหลายคนอาจอยากได้ยินคำตอบ และเราก็ใคร่อยากบันทึกฝันเล็กๆ ที่เขาไ้ด้เหวี่ยงมันออกไปแล้วในโลกใบกว้าง
“ถามว่าตอนนี้ผมอยู่ตรงจุดไหน (นิ่งคิด) จริงๆ ทุกวันนี้ก็มาไกลมากแล้วนะครับ จากช่างภาพเด็กโนเนมคนหนึ่ง ตอนนี้ผมมีโอกาสทำงานร่วมกับ Nikon Thailand มีผลงาน Public อยู่ในระดับเอเชียบ้าง หากเป็นไปได้.. ผมก็อยากที่จะไปให้ไกลกว่านี้ อยากเก่งกว่านี้ อยากสร้างผลงานดีๆ อยากข้ามไปฝั่งยุโรปบ้าง เวิลด์ไวด์บ้าง ในงานสไตล์ของผมนี่แหละ ถ้างานของผมมันจะไปได้ไกลก็อยากให้งานมันดูแล้วรู้ว่าภาพนี้เป็นสไตล์ของเมษ์ – ศุภวัชร์ ผมถ่ายงานสไตล์นี้มานานและยังยืนยันว่าจะสร้างงานบนความเป็นตัวตนของผมต่อไป

ที่อยากจะฝากทุกคนไว้คือคำง่ายๆ.. เพราะเราแตกต่าง เราถึงโดดเด่น ในการถ่ายภาพถ้าเกิดทุกคนถ่ายภาพเหมือนกันหมดโดยที่ไม่มีใครแยกออก แล้วชื่อของคุณจะอยู่ตรงไหน

 

โดย ชวลิต แสงอินทร์


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ จากช่างภาพมืออาชีพได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/protalk/