Photo Techniques

Challenge The Rule : ท้าทายเรื่อง “ย้อนแสง”

‘กฎมีไว้แหก’ หลายคนพูดเอาไว้อย่างนั้น แต่บางกฎเราก็กลัวไปเองจนไม่กล้าที่จะแหกหรือไม่กล้าที่จะแตะต้อง ในขณะที่บางคนเปลี่ยนกฎข้อห้ามเหล่านั้นให้กลายเป็นอาวุธลับของตัวเองไปเลย ต้องขอบอกเอาไว้ก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้มาชี้ช่องให้คุณผู้อ่านทั้งหลายกลายเป็นคนขวางโลกหรือทำตัวใหญ่นิสัยแมว (ใครไม่รู้ว่านิสัยแมวเป็นยังไงก็ลองดึงมันไปข้างหน้าหรือข้างหลังดู) ดังนั้น การแหกกฎที่เรากำลังจะพูดถึงนี้อันที่จริงแล้วไม่ใช่การฉีกทำลายกฎข้อห้ามให้ย่อยยับหรอก แต่เป็นการใช้ช่องโหว่ของกฎนั้นอย่างสร้างสรรค์ให้กลายมาเป็นผลงานอันน่าสนใจของเราต่างหาก

pt117_06

ภาพถ่ายในช่วงสาย พระอาทิตย์อยู่ในมุมตรงข้ามกับกล้องแต่สูงขึ้นไป แสงที่ลงมานั้นจะสร้างริมไลท์ขึ้นตามขอบของตัวแบบ ฉากหลังที่อยู่ห่างออกไปนั้นถูกบีบให้แคบลงด้วยระยะเทเลโฟโต้ ทั้งภาพนี้ใช้แสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น : Canon EOS 6D, Lens Tamron SP 70-300mm f/4-5.6 Di VC USD, 1/180 sec., f/5.6, ISO-100

คุณเคยได้ยินคำแนะนำหรือข้อห้ามว่า “อย่าถ่ายภาพย้อนแสง” ไหมล่ะครับ? นั่นแหละคือสิ่งที่เราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์กันล่ะ

มาพูดถึงที่มาของข้อห้ามนี้เสียก่อน การที่เค้าแนะนำบอกต่อๆ กันมาแบบนี้ก็เพราะเมื่อเราถ่ายภาพย้อนแสง ระบบวัดแสงของกล้องจะเกิดอาการกระอักกระอ่วนใจเป็นอย่างยิ่ง (โดยเฉพาะพวกระบบอัตโนมัติ ซึ่งเรามีหน้าที่กดปุ่มชัตเตอร์เพียงอย่างเดียว) เพราะแสงด้านหลังที่มีปริมาณมากนั้นจะบีบบังคับให้กล้องต้องเปิดรับแสงน้อยลง แน่ละว่าอะไรก็ตามที่อยู่ด้านหน้าแหล่งแสงนั้นก็จะเกิดอาการหน้ามืดหน้าดำกันเป็นแถวๆ (เพราะแสงน้อย)

ในทางตรงกันข้าม หากเราบังคับขู่เข็ญให้กล้องแคร์ความสำคัญกับตัวแบบด้านหน้า ด้านหลังอันมีแสงสว่างจ้าอยู่นั้นก็จะสว่างขาวโพลนราวกับฉากในความฝัน แต่มันดูเป็นฝันที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่เพราะโดยมากแล้วจะให้อารมณ์ประมาณอากาศร้อนเหลือแสน หาความสวยงามได้ยากยิ่ง

ถึงแม้ว่าระบบอัตโนมัติอัจฉริยะของยุคนี้จะก้าวหน้าไปมากมายขนาดไหน แต่คำกล่าวที่ว่า “อย่าถ่ายภาพย้อนแสง” ก็จะยังคงเป็นอมตะไปตลอดกาล ลูกหลานก็จะพากันร้องว่า เฮ้ย! ย้อนแสงๆ ไปอีกนานเลยเชียว

แต่อันที่จริงแล้ว นี่คือเทคนิคที่ช่างภาพมืออาชีพเค้าใช้กันมาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่การแนะนำวิธีใช้มันจะเป็นเรื่องที่ต้องนั่งคุยกันยาวอยู่สักหน่อย ก็เลยไม่ค่อยจะมีใครได้บอกกัน

pt117_02

หรือถ้าคุณคิดจะย้อนแสงตรงๆ แบบให้มีดวงอาทิตย์อยู่ในภาพด้วย คุณก็ต้องให้ส่วนฉากหลังไม่โอเวอร์ ส่วนที่ตัวแบบหลักก็ใช้แฟลชเพิ่มแสงเข้าไป ซึ่งคุณต้องปรับสมดุลย์แสงทั้งสองส่วนและทิศทางของมันให้ดี : Canon EOS 70D, Lens EF 16-35mm f/4L IS USM, 1/160 sec., f/6.3, ISO-100

pt117_01

ทำยังไงจะถ่ายภาพบุคคลในขณะท่องเที่ยวของคุณให้ดูคล้ายกับการเซตถ่ายภาพแบบเอาจริงเอาจัง? ก็ต้องใช้ความสามารถในการมองทางแสงและใช้มันให้เป็นประโยชน์ครับ : Canon EOS 70D, Lens 180mm f/3.5L Macro USM, 1/160 sec., f/6.3, ISO-100

pt117_03

สังเกตเรื่องตำแหน่งการยืนและฉากหลังให้ดีครับ นี่เป็นภาพที่ถ่ายโดยใช้แฟลชแยกเพียงตัวเดียวโดยไม่มีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เข้ามาช่วยอีกเลย แสงอาทิตย์ทำหน้าที่ใส่ริมไลท์เข้ามาที่ตัวแบบ (โดยเฉพาะที่เรือนผม) แสงแฟลชทำหน้าที่เสริมแสงเข้าไปที่ด้านหน้าในทิศทางเฉียงข้าง หากภาพนี้ฉากหลังเป็นส่วนสว่างขาวก็จะทำให้ภาพถูกลดความน่าสนใจลงไป เพียงแค่นี้ภาพบุคคลในระหว่างการท่องเที่ยวของคุณก็ทำคะแนนสูงลิ่วแล้ว : Canon EOS 70D, Lens EF 180mm f/3.5L Macro USM, 1/160 sec., f/4, ISO-100

ใช้ประโยชน์จากการย้อนแสง

อันที่จริงแล้วการย้อนแสงใช้ประโยชน์ได้เยอะแยะมากมาย แสงทุกชนิดเราสามารถจะย้อนได้หมด ยกตัวอย่างเช่นภาพแบบ “ซิลูเอท” นั่นก็เป็นการใช้ประโยชน์ในเรื่องย้อนแสงแบบเต็มๆ

ในช่วงฤดูท่องเที่ยวแบบนี้ บรรยากาศทั้งบรรยายกาศและสภาพแสงอาทิตย์ช่วงเช้าและเย็นช่างสวยงามอย่าบอกใคร แต่ในช่วงกลางวันมันก็แข็งโป้กอย่าบอกใครด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะตามที่เที่ยวบนดอยสูงทั้งหลายนั้น คุณจะสังเกตได้เลยว่าแสงช่วงบ่ายถ่ายภาพยากมาก ตากล้องทิวทัศน์ทั้งหลายล้วนแล้วแต่เก็บกล้องลงกระเป๋ากันเป็นแถวเพราะแสงไม่สวย

แต่ช้าก่อน.. เราสามารถใช้ประโยชน์จากแสงในสภาพแบบนี้ได้อยู่เหมือนกัน

แหล่งแสงใหญ่ที่สุดของเราก็คือ “ดวงอาทิตย์” นั่นเองครับ ซึ่งสิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยงสำหรับการย้อนแสงในขณะที่พระอาทิตย์ยังร้อนแรงอยู่ (ช่วงสายหรือบ่ายแก่ๆ) ก็คือการที่จะมีพระอาทิตย์ปรากฏเข้ามาในภาพด้วย เพราะมันจะทำให้ภาพนั้นเป็นภาพที่ดูย้อนแสงเต็มๆ โดยที่ฉากหลังสว่างขาวไปหมด

ดังนั้น เราต้องใช้ “มุมกล้อง” เป็นสำคัญครับ โดยเฉพาะระยะเทเลโฟโต้จะยิ่งช่วยได้มากสำหรับการจำกัดพื้นที่ฉากหลังให้แคบลงสักหน่อย

ผมแนะนำให้ลองสังเกตด้วยสายตาดูก่อน หันหน้าไปมองในทิศทางเดียวกับพระอาทิตย์ ถ้ามีอะไรสักอย่างอยู่บนพื้นในขณะนั้น (อาจจะเป็นสาวงามหรือหนุ่มหล่อสักคน) คุณจะได้เห็นครับว่าพระอาทิตย์ที่อยู่สูงขึ้นไปนั้นกำลังฉาบแสงลงมาทำให้เกิดลักษณะแสง “ริมไลท์” บนอะไรสักอย่างที่คุณกำลังมองอยู่

จำเอาไว้ครับว่า แสงสว่างจะโดดเด่นขึ้นมาได้เมื่ออยู่บนเงามืด ดังนั้นลองเคลื่อนตำแหน่งมุมมองของตัวคุณเองไปในทิศทางที่ฉากหลังจะมืดลง ไม่เป็นแสงสว่างขาวเต็มผืนอย่างชัดเจน ในขณะที่แสงซึ่งตกกระทบกับส่วนอื่นๆ ก็จะสะท้อนขึ้นมาให้แสงกับสิ่งที่คุณกำลังมองอยู่ด้วย อย่าลืมว่าคุณยังอยู่ฝั่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และกำลังหันหน้าให้มันอยู่

ถ้าอยู่ในทิศทางเดียวกันนี้ แต่ฉากหลังเป็นพื้นที่โล่งสว่างขาว คุณก็จะไม่เห็นลักษณะอันน่าสนใจนี้เลย

ซึ่งอันนี้นี่แหละเป็นสิ่งที่ผมให้คุณสังเกตแล้วลองยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพดูครับ ลองถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติโคตรอัจฉริยะทั้งหลายดูก็ยังได้

เพราะฉากหลังที่ไม่ได้สว่างมากนักจะทำให้ค่าเฉลี่ยของการวัดแสงทั้งที่ตัวแบบและฉากหลังแตกต่างกันไม่มาก จึงไม่มีส่วนใดที่โอเวอร์หรืออันเดอร์ให้ต้องเจ็บชํ้านํ้าใจยากเย็นแสนเข็ญสำหรับการเปิดรับแสงที่พอดี ยกเว้นส่วนที่กำลังสว่างเป็นริมไลท์รอบตัวแบบอยู่ ซึ่งคุณก็จะได้สัมผัสกับภาพถ่ายอันดูน่าประทับใจนั้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อนเลยทีเดียว

ลองค้นหาจุดวางตัวแบบอันเป็นเคล็ดลับนี้ดูก็ได้ครับ ผมแนะนำให้คุณมองหาร่มไม้ใบบังสักจุดหนึ่งที่มีแสงแดดลอดลงมาในขณะที่ฉากหลังซึ่งห่างออกไปไม่ใช่พื้นที่โล่งสว่างขาว คุณยืนถือกล้องอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระอาทิตย์ จับตัวแบบของคุณไปยืนตรงที่แดดส่องลงมานั้น ดูให้ตำแหน่งศีรษะโดนแสงแดดแบบเต็มๆ แค่มองด้วยตาเปล่ามันก็น่าประทับใจแล้ว ยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพด้วยระยะเทเลโฟโต้จะครึ่งตัวเต็มตัวก็ลองดู แล้วอวดภาพนั้นให้ใครดูก็ได้

..อย่าลืมนะครับว่า คุณ..คุณที่ถือกล้องอยู่นั่นแหละ ต้องยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระอาทิตย์และหันหน้าให้มัน และตรงกลางระหว่างนั้นคือตัวแบบของคุณที่ยืนให้แสงแดดส่องอยู่

pt117_04

ฉากหลังที่มืดกว่าแสงสว่างด้านหน้าคือเคล็ดลับสำคัญของเทคนิคมุมมองแสงลักษณะนี้ของเรา พยายามหามันให้เจอครับ อย่าดูแค่แสงเพียงอย่างเดียว : Canon EOS 70D, Lens EF 180mm f/3.5L Macro USM, 1/160 sec., f/6.3, ISO-160

pt117_05

ตัวแบบที่มีลักษณะโปร่งแสงจะยิ่งดีกับทิศทางแสงในลักษณะนี้เป็นอย่างมาก หากคุณถ่ายภาพมาโครด้วยแฟลชก็ลองแสงในทิศทางแบบเดียวกับเทคนิคนี้ของเราดู : Pentax K-3, Lens Pentax smc D FA Macro 100mm f/2.8 WR, 1/160 sec., f/11, ISO-100

pt117_07

คุณสามารถใช้เทคนิคแสงแบบนี้ได้กับตัวแบบแทบทุกชนิด ซึ่งบางสิ่งที่คุณไม่สามารถกำหนดตำแหน่งได้ก็ต้องอาศัยการเคลื่อนตำแหน่งของตัวคุณเองให้เหมาะสม รวมทั้งเรื่องของช่วงเวลาด้วย และอย่าลืมว่าฉากหลังที่ไม่สว่างคือเคล็ดลับของเราเสมอ : Nikon D7000, Lens Tamron SP 70-300mm f/4-5.6 Di VC USD, 1/640 sec., f/5.6, ISO-100

ย้อนแสงอย่างอื่น

แสงอะไรก็ย้อนได้โดยใช้หลักการเดียวกันนี้แหละครับ คุณอาจจะใช้แฟลชก็ได้โดยสมมุติให้มันอยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์อย่างที่เราได้คุยกันไปแล้ว หรือจะเป็นแสงสปอตไลท์แรงๆ ก็ได้ หากถ่ายภาพออกมาแล้วปรากฏว่าบริเวณแสงริมไลท์ก็ดูดีแต่ส่วนหน้าดูมืดไปหน่อย คุณก็เปิดแฟลชจากกล้องช่วยส่องแสงสวนเข้าไปเปิดเงา (ซึ่งอาจจะไม่ต้องแรงนัก) หรือถ้าคุณมีแฟลชแยกแล้ววางตำแหน่งเฉียงซ้าย-ขวาก็จะยิ่งดูดีเข้าไปใหญ่เลยล่ะ

อย่าลืมนะครับว่าสำหรับเทคนิคนี้ “ฉากหลัง” ที่ไม่สว่างขาวคือเคล็ดลับที่สำคัญมากครับ

ผมคิดว่านี่ควรจะเป็นอีกหนึ่งอาวุธลับอย่างหนึ่งของคุณสำหรับการออกไปท่องโลกในช่วงหนาวนี้ ผมสังเกตมานานแล้วครับว่าโดยมากแล้วเรามักจะถ่ายภาพโดยดูเรื่องทิศทางแสงกันน้อยมาก ด้วยความที่ไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาได้มากมายนักเพราะว่ามันมีจำกัดสำหรับการท่องเที่ยว (โดยเฉพาะบรรดา “ชะโงกทัวร์” ทั้งหลาย) ดังนั้น ถ้าคุณมีทางออกให้ตัวเองสำหรับเรื่องนี้ด้วยลูกเล่น “ทิศทางแสง” เข้าไปอีกสักหน่อยก็จะทำให้ภาพถ่ายของคุณออกมาดูดีมากขึ้นกว่าแค่ยกกล้องขึ้นถ่ายเอาสว่างสดใสเพียงอย่างเดียว ซึ่งเชื่อเถอะว่ามันก็ไม่ได้ต่างจากภาพอื่นๆ อีกหลายล้านภาพสักเท่าไหร่หรอก

โดยเฉพาะเมื่อเป็นภาพถ่ายคนพิเศษของคุณ หรือถ้าคุณกำลังอยู่ในช่วงทำคะแนน แหม่..ไม่อยากจะนึกเลยว่าคะแนนจะพุ่งปรี๊ดไปขนาดไหนเมื่อได้เห็นภาพถ่ายซึ่งมีลักษณะแสงอันน่าประทับใจของเขาหรือเธอจากฝีมือคุณ ซึ่งมนุษย์ปกติทั่วไปไม่ค่อยจะมีภาพถ่ายแบบนี้สักเท่าไหร่หรอก แต่มันเป็นที่ต้องการมากเลยเชียว เชื่อไหมล่ะ
………………………….
..รีบฝึกอาวุธลับนี้ด่วนเลย!..

เรื่อง/ภาพ : ปิยะฉัตร แกหลง