Photography Planner

CAPPADOCIA “BALLOON FLIGHT” Plan C

แล้วไม่ใช่เป็นแท่งดินโด่ๆ ดื้อๆ อีกต่างหากครับ หลายแห่งถูกคนยุคโบราณเซาะเจาะเป็นบ้านช่องห้องหับ กระทั่งเป็นโบสถ์วิหารก็ยังมี แม้ในปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้าง แต่ก็มีบ้างที่ยังมีคนอยู่อาศัย และโรงแรมหลายแห่งก็นำมาดัดแปลงให้เป็นที่พักอันกิ๊บเก๋ สนองนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ฉะนั้นและฉะนี้คัปปาโดเกียจึงเป็นหมุดหมายในระดับ “พลาดไม่ได้” โดยเฉพาะกับนักถ่ายภาพที่ชื่นชอบการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์เป็นพิเศษ แท่งดินหรือที่บางคนตั้งชื่อเป็นไทยให้ว่า “ปล่องไฟนางฟ้า” เหล่านี้มีมุมถ่ายภาพสวยงามมากมายได้แทบทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นไปยังพระจันทร์ตกกันเลยทีเดียวเชียวครับ (เพราะช่วงนี้รู้สึกว่านักถ่ายภาพบ้านเราจะนิยมถ่ายภาพดาว ทางช้างเผือกกันเป็นพิเศษ)

และที่พิเศษกว่าสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งคือ มีบริการ “บอลลูน” เพื่อการชมคัปปาโดเกียในมุมสูงจากบนฟากฟ้าด้วย! แม้จะคิดค่าบริการไม่ใช่ถูกๆ นักก็ตาม นักท่องเที่ยวที่พอมีกำลังทรัพย์หน่อย ล้วนไม่อยากพลาดการขึ้นบอลลูนกันทั้งนั้น ประมาณว่าหากมาคัปปาโดเกียแล้วไม่ได้ขึ้นบอลลูนก็เหมือนกับมาไม่ถึงอะไรอย่างนั้น

ผมเองตอนมาที่นี่ครั้งแรก ก็ได้แต่มองบอลลูนลอยไปลอยมาตาละห้อย นํ้าลายไหลย้อยหยดแหมะๆ เพราะงบประมาณในการเดินทางไม่เอื้ออำนวย แถมยังโดนแขกหลอกทำเงินหายไปดื้อๆ ตั้งหมื่นกว่าบาทตั้งแต่วันแรกๆ ของการเดินทางซะยังงั้น (โดนอะไรยังไงไปหาอ่านจาก Fi. ฉบับเก่าๆ ดูนะครับ หรือจะไปอ่านจากพ๊อกเก็ตบุ๊คที่รวมเล่มไว้ โดยสำนักพิมพ์แกะดำก็ได้ – แอบโฆษณานิดนึง) จนกระทั่งการเดินทางครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการจัดทริปถ่ายภาพโดยเฉพาะ ที่สมาชิกในทริปทุกคนยกมือซื้อตั๋วขึ้นบอลลูนกันไม่มีตกหล่นแม้แต่คนเดียว ผมจึงได้โอกาสแบบตกกระไดพลอยโจนขึ้นบอลลูนไปกับเขาด้วยคน นับเป็นการขึ้นบอลลูนถ่ายภาพอย่างเป็นการเป็นงานครั้งแรกในชีวิต จึงไม่รู้จะเตรียมตัวเตรียมกล้องให้พร้อมแบบไหนดี ได้แค่คาดเดาเอาว่ามันน่าจะประมาณไหน จริงๆ ผมเคยขึ้นบอลลูนครั้งหนึ่งเพื่อถ่ายภาพด้านหน้านครวัด แต่อันนั้นมันรู้สึกเหมือนลิฟท์มากกว่า เพราะบอลลูนถูกสลิงขึงให้ขึ้น-ลงในแนวดิ่งเท่านั้น แถมลอยอยู่เพียงสิบ นาทีก็โดนดึงลง ประสบการณ์ในครั้งนั้นจึงช่วยอะไรไม่ได้เลย!

สิ่งที่ผมคาดหวังเอาไว้ล่วงหน้าของการขึ้นบอลลูนครั้งนี้ และเชื่อว่านักถ่ายภาพหลายคนก็น่าจะหวังแบบเดียวกัน นั่นก็คือการถ่ายภาพสวยๆ ของแท่งดินขนาดใหญ่กับภูมิประเทศที่แปลกตาจากมุมสูง อยากได้ภาพที่มันดูโอ่อ่าอลังการ กับแสงสีทองในยามเช้า อะไรประมาณนั้น(เท่าที่เห็นบอลลูนจะขึ้นช่วงเช้าเท่านั้นนะครับ)

การเตรียมตัวเพื่อถ่ายภาพก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษครับ กล้องหนึ่งกับแบตฯที่ชาร์จไว้เต็ม เลนส์สาม คือ 5D MKII + EF 8-15 MM. F/4L Fisheye + TS-E 24 MM. F/3.5L II + EF 70-200 MM. F/4L IS เลนส์หนึ่งตัวติดกล้องไว้ อีกสองใส่เพาซ์คาดเอวไว้คอยเปลี่ยนใช้ตามความต้องการเท่านั้น มีเมมโมรีการ์ดที่ใส่ขนาด 32 GB. เอาไว้และเพิ่งถ่ายได้ไม่เท่าไร ยังเหลือจำนวนภาพเฉียดพัน ดูแล้วยังไงก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานในหนึ่งชั่วโมง จึงไม่ได้เปลี่ยนใบใหม่เข้าไปแทน ทั้งหมดนั้นเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ก่อนนอนแล้วครับ เพราะตอนขึ้นบอลลูนต้องตื่นแต่เช้ามืด รอรถจากบริษัทบอลลูนมารับที่โรงแรมเพื่อไปขึ้นบอลลูนจากจุดที่เขาเตรียมการไว้อีกที

เราถูกพาไปยังออฟฟิศรวมกับนักท่องเที่ยวอื่นๆ อีกจำนวนมาก เพื่อฟังรายละเอียดคร่าวๆ ของการขึ้นบอลลูนให้เข้าใจตรงกันก่อน แล้วค่อยพากระจายย้ายแยกกันไปตามจุดต่างๆ อีกที ซึ่งได้ใจความว่า บอลลูนจะขึ้นไปลอยเท้งเต้งเหนือแผ่นดินแห่งคัปปาโดเกียให้ราวหนึ่งชั่วโมงนิดหน่อย มีพี่กัปปิตันคนพ่นไฟเป็นหัวเรือใหญ่ในการเดินทาง ส่วนทิศทางของการชมก็แล้วแต่ลมฟ้าอากาศ และพี่กัปปิตันจะพาไปในทิศทางใด

บอลลูนหนึ่งลูกใหญ่จะมีตะกร้าหวายสานขนาดยักษ์เป็นที่ยืนสำหรับผู้โดยสารจำนวน 24 คน + 1 กัปปิตัน จองที่ล่วงหน้าไม่ได้ ไปถึงแล้วก็แบ่งๆ กันไป เกลี่ยๆ นํ้าหนักกันไปอะไรประมาณนั้น ส่วนตอนลงจะเป็นที่ไหนไม่รู้ แต่ก็จะมีรถจากบริษัทตามไปรับ กลับไปส่งยังโรงแรมแน่นอน !

ผมฟังแล้วก็ยังไม่ทันได้คิดอะไรกับคำว่า “แล้วแต่ลมฟ้าและพี่กัปปิตันจะพาไป” เพราะยังตื่นเต้นตื่นใจกับการจะได้ขึ้นบอลลูนถ่ายภาพมุมสูงเป็นครั้งแรกในชีวิต กว่าจะเริ่มรู้ตัวว่าความคาดหวังของการถ่ายภาพ มันอาจจะเป็นไปไม่ได้ตามแผน ก็ได้เวลาบอลลูนกำลังจะขึ้นนั่นล่ะครับ

เราไปถึงจุดขึ้นบอลลูนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างดี ได้ยินเสียงพ่นไฟฟู่ๆ ดังอยู่รอบทิศทาง ความสว่างก็วูบวาบตามจังหวะที่ไฟถูกพ่นออกมาสร้างอากาศร้อนให้ลอยเข้าไปในลูกบอลลูนนั่นเอง บอลลูนจึงค่อยๆ อ้วนกลมขึ้นทีละนิดๆ ระหว่างนี้ก็สนุกสนานกับการถ่ายภาพการเตรียมบอลลูนได้สบายครับ

“ Before the flight” ขณะเตรียมบอลลูนก่อนขึ้นบิน เป็นช่วงเวลาที่น่าบันทึกภาพเก็บไว้ ควรเลือกถ่ายภาพในขณะเครื่องพ่นไฟทำงานเต็มที่ อาศัยความสว่างจากเปลวไฟเป็นแสงหลัก เพราะลำพังแสงธรรมชาติมีน้อยมาก ตัวบอลลูนจะจมหายไปกับสภาพแวดล้อม ผิดกับบอลลูนที่มีความสว่างเรืองรองจากเปลวไฟเป็นคนละเรื่อง แต่ถึงจะมีไฟจากเครื่องพ่นเป็นตัวเพิ่มความสว่างแล้ว ทว่าปริมาณความเข้มของแสงก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก จำเป็นต้องใช้ ISO สูงมากๆ เพื่อให้ได้ความไวชัตเตอร์ที่สูงเพียงพอสำหรับการถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือและยังได้ภาพที่คมชัด เลนส์มุมกว้างพิเศษเป็นสิ่งจำเป็นมากในสถานการณ์นี้ เพราะลูกบอลลูนมีขนาดค่อนข้างใหญ่มากๆ ถ้าเลนส์ไม่กว้างจริงเก็บไม่หมดแน่ๆ ครับ EOS 5D MK II, LENS EF 8-15  MM. F/4L FISHEYE USM, 1/25 Sec. F/4, ISO 3200

ดัน ISO สูงให้เต็มที่ เพราะมีเพียงความสว่างจากไฟของเครื่องพ่นไฟนั่นล่ะครับที่ใช้ได้ หามุมได้แล้วก็รอกดชัตเตอร์ตามจังหวะการพ่นไฟเพื่อให้บอลลูนดูมีสีสันสวยงาม ไม่ยังงั้นมันก็จะเป็นเพียงเงามืดลางๆ ช่วงนี้มุมกว้างล้วนๆ ครับ เพราะบอลลูนมันลูกใหญ่มากๆ อยู่ใกล้ๆ แล้วจะเก็บให้หมดเลนส์ต้องกว้างจริงๆ จนผมแทบจะใช้ฟิชอายอยู่เพียงตัวเดียวเลยด้วยซํ้า

พอบอลลูนอ้วนกลมพองลมได้ที่ ทุกคนก็ถูกเรียกให้ไปยืนข้างตะกร้า มีพนักงานมายืนดูกะนํ้าหนักตัวคร่าวๆแล้วก็จัดให้ “ปีน” ขึ้นบอลลูนมุมโน้นมุมนี้ตามการประเมินหน้างานเดี๋ยวนั้นเวลานั้น

ตรงนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญมากจุดหนึ่งนะครับสำหรับนักถ่ายภาพ เพราะตะกร้าบอลลูนไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมจัตตุรัสที่จะได้อยู่มุมไหนก็เหมือนกัน แต่มันเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีช่องกั้นแบ่งให้ผู้โดยสารยืนกระจายกันไปทั้งหมดสิบสองช่อง เพื่อการกระจายนํ้าหนักให้สมดุลย์ ก็คือช่องละสองคน นั่นเท่ากับว่าจะมีช่องตรงหัวมุมสี่ช่อง และช่องที่อยู่ตรงกลางด้านข้างติดกับพี่กัปปิตันอีกแปดช่อง สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปได้อยู่ช่องไหนก็คงไม่แตกต่าง แต่สำหรับนักถ่ายภาพแล้ว ควรหาวิธีการให้ตัวเองได้อยู่ในช่องตรงหัวมุมเท่านั้นครับ !

เพราะมันหมายถึงโอกาสที่ได้ถ่ายภาพมากขึ้นจากมุมสองมุมในเวลาเดียวกัน ถ้าไปอยู่ช่องตรงกลางข้างกัปปิตันนั่นเราก็จะได้ถ่ายภาพอยู่เพียงด้านเดียวตลอดเวลา ในราคาเท่ากัน !

ดังนั้นถ้ามีโอกาสก็จำให้แม่นนะครับว่าช่องมุมหัวมุมเท่านั้น !!!

จากนั้นค่อยไปลุ้นอีกทีว่าเพื่อนร่วมช่องจะเป็นใคร(ซึ่งอาจไม่ใช่เพื่อนเราที่ไปด้วยกัน) ลุ้นในที่นี้ให้ลุ้นในเรื่องขนาดตัวครับ เพราะช่องยืนค่อนข้างจะคับแคบพอสมควรแม้จะแค่เพียงสองคนก็ตาม หากเพื่อนร่วมช่องเป็นคนตัวผอมก็ค่อยยังชั่ว แต่หากเป็นฝรั่งร่างอวบใหญ่ก็มีหวังได้ยืนอึดอัดกันไปตลอดไฟลท์บิน และยังทำให้การเปลี่ยนเลนส์เป็นไปด้วยความลำบากยากยิ่ง แนะนำไว้ตรงนี้เลยก็แล้วกันครับว่าถ้าใครมีเลนส์ครอบจักรวาลจำพวก 28-300 MM. หรือสัก 24-105 MM. และไม่ถึงกับต้องการคุณภาพเลิศเลอเพอร์เฟกต์จากเลนส์ตัวแพง ก็ใช้ตัวครอบจักรวาลล้านประโยชน์นั่นล่ะครับสะดวกที่สุด ใช้ตัวเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์

หรือจะใช้กล้องสองตัวสำหรับเลนส์สองช่วงก็ได้ แต่อย่างที่ว่าล่ะครับ ที่ยืนมันคับแคบมากๆ กล้องที่สะพายอีกตัวจะไปเบียดกับตะกร้าหรือเพื่อนร่วมช่องให้เกิดความเสียหายได้ง่ายๆ หรือแค่จะยกขึ้นยกลงสลับกล้องมันก็ทำได้ค่อนข้างยากอีกเหมือนกัน ก็ชั่งใจให้ดีๆ แล้วกันครับ แล้วค่อยไปลุ้นกับขนาดตัวของเพื่อนร่วมช่องในวินาทีสุดท้ายอีกที

“Balloon” นอกเหนือไปจากภาพวิวทิวทัศน์ของคัปปาโดเกียแล้ว บรรดาบอลลูนที่ลอยเกลื่อนฟ้าเป็นอีกอย่างหนึ่งที่สามารถเก็บภาพไว้ได้ เพราะเราคงไม่ได้เห็นกันง่ายๆ บ่อยๆ และได้เห็นมันจากมุมสูงอย่างนี้! เลนส์ที่สามรถใช้ถ่ายภาพได้ไม่จำกัดว่าเป็นช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้น เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าบอลลูนที่เราขึ้น กับบอลลูนลูกอื่นๆ มันจะอยู่ห่างกันแค่ไหน บางทีลอยข้ามหัวกันไปเลยก็ยังมีครับ สิ่งที่พึงระวังคือความไวชัตเตอร์ที่ใช้ควรจะต้องสูงพอสมควร แม้ว่าตัวบอลลูนจะลอยค่อนข้างนิ่ง แต่มันก็เคลื่อนที่ตลอดเวลา และบอลลูนลูกอื่นๆ ก็เคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้ามันลอยสวนทางกันในระยะใกล้ๆ อาจต้องใช้ความไวชัตเตอร์สูงกว่าปกติ 3-4 สต๊อป เลยทีเดียว  EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/800 Sec. F/5.6, ISO1000

พอถูกเรียกไปขึ้นบอลลูนผมจึงเพิ่งรู้สึกตัวได้ว่าอะไรๆ มันไม่น่าจะเป็นไปตามแผนอย่างที่หวังที่อยากถ่ายภาพเสียแล้ว เพราะขณะบอลลูนกำลังลอยขึ้นเหนือผืนพสุธา ท้องฟ้าเบื้องบนมันยังไม่ทันจะสว่างดีเลย! แม่เจ้าาาา…พี่จะรีบขึ้นไปไหนกันคร๊าบบบบ… แล้วมันจะถ่ายภาพได้ดีได้ยังไงกันละเว้ยเฮ้ย!

คือความสว่างมันก็เพียงพอต่อการมองเห็นอะไรได้เกือบชัดเจน แต่มันไม่ใช่เลยสักนิดสำหรับการถ่ายภาพครับ มันควรจะรอให้พระอาทิตย์ใกล้ขึ้นเต็มแก่แล้วค่อยปล่อยลูกบอลลูนให้ลอยขึ้นเหนือฟากฟ้า แต่เที่ยวนี้กว่าพระอาทิตย์จะโผล่ขึ้นมาทักทายเวลาก็ผ่านไปแล้วเกือบครึ่งชั่วโมง เท่ากับว่าเหลือเวลาที่มีแสงสวยๆ ให้ถ่ายภาพได้อีกเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ไม่ใช่หนึ่งชั่วโมงเต็มๆ ดังที่หวังไว้เลย แต่นั่นยังไม่เท่ากับสถานการณ์ในการถ่ายภาพที่ควบคุมอะไรไม่ได้เลยสักนิด แบบว่าเห็นแท่งดินสวยๆ อยู่ตรงนั้นแล้วจะขอให้พี่กัปปิตันพาลอยไปหย่อนใกล้ๆ เป็นฉากหน้าให้ถ่ายภาพได้สวยๆ สักภาพอะไรอย่างนั้น มันแทบไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยครับ! เพราะทุกสิ่งอย่างมันจะเกิดขึ้นได้ล้วนขึ้นอยู่กับ “ลมฟ้าอากาศและพี่กัปปิตันจะพาไป” เท่านั้นจริงๆ ครับ ยกเว้นว่าคุณจะเช่าเหมาบอลลูนไปคนเดียวหรือกลุ่มเดียวล้วนๆ ก็อาจพอจะร้องขอให้เขาพาไปในจุดที่ต้องการได้บ้างถ้าหากว่า “ลมฟ้าอากาศ” จะเป็นใจด้วยช่วยอีกแรง

หรือต่อให้ทั้งพี่กัปปิตันและท่านเทวดาบันดาลให้ลมเป็นใจ ลอยไปใกล้ๆ สิ่งที่ต้องการ แต่เราดันอยู่ผิดทิศผิดทาง หันหน้าออกไปอีกฝั่งในขณะนั้นมันก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้นะครับคุณ !!!

แล้วค่าเช่าเหมาบอลลูนที่นั่นเที่ยวนึงเป็นแสนนะครับ ท่านใดมีกำลังทรัพย์พอจะจ่ายเงินชั่วโมงละแสนได้ ผมก็อนุโมทนาสาธุด้วยคน จะใจดีพาผมไปเป็นคนแบกกล้องให้ด้วยก็รีบบอกได้เลยครับ หนุ่มหน้ามนคนนี้ยินดีช่วยเสมอ อะแฮ่มๆ แพล่บๆ !

“Cappadocia with Balloon” นี่เป็นภาพที่ “ใกล้เคียง” กับภาพที่อยากได้ คืออยากให้เห็นแท่งหินแห่งคัปปาโดยเกียโดยมีบอลลูนลอยอยู่ในเบื้องหลัง เสียแต่ว่าบอลลูนลูกที่ผมขึ้นไปนั้นพี่กัปปิตันไม่เคยพาลอยไปเฉียดกรายใกล้ๆ แท่งหินแห่งคัปปาโดเกียเลยสักครั้ง ภาพในหัวของผมต้องถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง ให้เห็นแท่งหินมีขนาดใหญ่ มีบอลลูนอีกลูกลอยอยู่ในฉากหลัง ภาพมันจะดูตื่นตาตื่นใจ กว่าการเก็บด้วยเลนส์เทลเจากระยะไกลแบบนี้แน่นอนครับ แต่ในเมื่อระยะมันไม่เอื้ออำนวยสิ่งๆ ต่างๆ ไม่เป็นไปอย่างหวัง จึงทำได้เพียงแค่นี้ ดีที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวยครับ  EOS 5D MK II, LENS EF 70-200  MM. F/4L IS, 1/800 Sec. F/5.6, ISO1000

ส่วนเที่ยวบินบอลลูนที่ผมขึ้นไปนั้น ไม่มีสักแว่บที่พี่กัปปิตันและท่านเทวดาจะพาไปเฉียดใกล้แท่งดินใหญ่ๆ สวยๆ ต่อให้เปลี่ยนเอาเลนส์เทเลฯออกมาใช้ก็ยังได้ขนาดใหญ่ไม่พอกับความต้องการซะด้วยซํ้า เฮ้อ !

มีภาพเดียวที่ผมถ่ายได้ตามความต้องการแต่แรก ก็คือภาพผืนดินกว้างใหญ่ของคัปปาโดเกียโค้งมนเป็นครึ่งวงกลมด้วยอิทธิฤทธิ์จากเลนส์ฟิชอาย นอกนั้นก็ได้ภาพดีๆ มาบ้างนะครับ แต่เป็นภาพอื่นๆ ตามสถานการณ์ตรงหน้าจะพาไป ไม่ใช่ภาพตามที่คาดหวังไว้เลย

“Cappadocia by Fisheye” นี่เป็นเพียงภาพเดียวที่ผมถ่ายได้ตามแผน ตามความต้องการแต่แรกเริ่ม ส่วนภาพอื่นๆ ที่ได้มานั้นเป็นการถ่ายภาพจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะทั้งสิ้น เพราะมันเป็นการถ่ายภาพที่เรา “ไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย” ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับ “ลมฟ้าอากาศและพี่กัปปิตันจะพาไป” เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ แต่อย่างน้อยในครั้งนี้ก็ยังมีแสงสีทองสวยๆ เป็นวัตถุดิบ ภาพนี้เนื่องจากใช้เลนส์ฟิชอายจึงไม่สามารถใช้ฟิลเตอร์กราดูเอทได้  หรือถึงจะใช้เลนส์มุมกว้างตามปกติที่สามารถใส่ได้ แต่ในสถานการณ์จริง มันก็ไม่สะดวกที่จะใช้อยู่ดีนั่นเองครับ ดังนั้นผมจึงต้องใช้ฟิลเตอร์กราดูเอทจากซอฟท์แวร์ช่วยในภายหลังอีกนิดหน่อย เพื่อปรับความสว่างให้ท้องฟ้าในส่วนบนของภาพไม่ขาวจ้าจนเกินไป EOS 5D MK II, LENS EF 8-15  MM. F/4L FISHEYE USM, 1/500 Sec. F/5.6, ISO 500

ภาพที่ว่าส่วนใหญ่คือภาพบอลลูนลูกอื่นๆ ที่ลอยเข้าไปเฉียดกรายใกล้แท่งดิน(ให้เจ็บใจเล่น) ภาพบอลลูนกลุ่มใหญ่ๆ หลายสิบลูก ภาพแนวกราฟิคของถนนและเรือกสวนไร่น่าในละแวกนั้น และก็ภาพของ “ปล่องไฟนางฟ้า” เป็นกลุ่มๆ จากมุมไกลๆ ไว้เป็นความทรงจำสีจางๆ ว่าไปนั่น

ดังนั้นแผนการถ่ายภาพมุมสูงจากบอลลูนลอยฟ้าในคราครั้งนี้ มันจึงหลุดไปถึง Plan C โน่นเลยครับ คือในความเป็นจริงก็ได้ภาพดีๆ บ้าง แต่ไม่ใช่ภาพทิวทัศน์สวยๆ เน้นๆ อย่างที่ตั้งใจหรือคาดหวังไว้ตั้งแต่แรก หากเป็นภาพที่ได้จากการเก็บสิ่งที่เห็นตรงหน้าแบบนาทีต่อนาทีไปเรื่อยๆ มากกว่า เอวังจึงมีด้วยประการละฉะนี้แล…..

“Shadow” มีจังหวะที่พี่กัปปิตันพาลูกบอลลูนลอยตํ่า ในบริเวณนั้นมันก็ดันไม่มีแท่งหินสวยๆ ให้ใช้เป็นฉากหน้าได้ซะอีก!!! ดังนั้นมีอะไรให้ใช้ก็ต้องใช้เท่าที่มี ผมจึงเลือกการเก็บเงาตะกร้าบอลลูนที่ตัวเองขึ้นอยู่มาใช้เป็นฉากหน้าแทน ยังไงก็ดีกว่าถ่ายเพียงเนินดินโล่งๆ แน่นอนครับ เมื่อสถานการณ์ส่วนใหญ่มันเป็นแบบนี้ ผมจึงถือว่าบอลลูนไฟลท์นี้ทำได้เพียง Plan C เท่านั้นครับ EOS 5D MK II, LENS TS-E 24  MM. F/3.5L II, 1/500 Sec. F/8, ISO 400

ปล. ตะกร้าบอลลูนอาจมีขนาดเล็กกว่านี้ จำนวนคนต่อเที่ยวน้อยกว่านี้ และอาจได้ยืนหัวมุมกันทุกคนก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ให้บริการและดวงใครดวงมันนะครับ เพราะอาจจะเลือกได้ยากหรือเลือกไม่ได้ว่าจะได้ขึ้นตะกร้าขนาดใดและบางทีการแบ่งช่องอาจจะไม่ได้เหมือนดังที่เขียนไว้ก็ได้นะครับ แต่เชื่อแน่ว่ายังไงแต่ละช่องก็น่าจะมีพื้นที่คับแคบไม่ต่างกันนัก

“In the balloon-basket” ดูเอาเองแล้วกันนะครับว่าภายในตะกร้าบอลลูนนั้นมันมีพื้นที่คับแคบขนาดไหน เปลี่ยนที่ก็ไม่ได้ ยืนตรงไหนก็ต้องอยู่ตรงนั้นไปตลอด การหาที่ยืนให้อยู่ในตำแหน่ง “มุมตะกร้า” จึงช่วยทำให้มี “มุมถ่ายภาพ” ที่กว้างขึ้น มีโอกาสในการถ่ายภาพมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้เลือกใช้กล้องตัวเดียวกับเลนส์ซูมอเนกประสงค์ช่วงสัก 28-200 มม. จะสะดวกกับการถ่ายภาพมากที่สุด แต่ถ้าอยากได้คุณภาพดีๆ อาจต้องใช้เลนส์สองช่วงกับกล้องสองตัว และถ้ามีกล้องตัวเดียวแล้วต้องใช้เปลี่ยนเลนส์ ต้องเลนส์ไว้กับกระเป๋าคาดเอวเล็กๆ เท่านั้นครับ เพราะกระเป๋าขนาดใหญ่ไม่อนุญาตให้นำขึ้นไปด้วย เพราะพื้นที่มันมีจำกัดจริงๆ ยกเว้นว่าคุณจะเหมาช่อง จ่ายราคาสองเท่าเพื่อยืนคนเดียวโล่งๆ เท่านั้น!EOS 5D MK II, LENS Pentax SMC 16  MM. F/2.8  FISHEYE, 1/100 Sec. F/8, ISO 800

ค่าขึ้นบอลลูนที่คัปปาโดเกียในช่วงไฮซีซั่น(เดือนสิงหาคม-ตุลาคม)ราคาอยู่ระหว่าง 100-130 ยูโร มีทัวร์ขายตั้งแต่ที่อิสตันบูล หรือจะไปหาซื้อเอาที่คัปปาโดเกียเลยก็ได้ ถ้าเป็นไปได้ก็ลองขอระบุที่ยืนตรงหัวมุมไว้เลยก็ดีครับ (แต่สุดท้ายผมว่ายังไงก็ต้องไปลุ้นเอาวินาทีขึ้นอยู่ดี เพราะคนที่รับปากกับคนที่จะจัดให้ขึ้นมันคนละคนกันแน่นอน)  ช่วงเวลาที่บอลลูนจะขึ้นคือช่วงเช้ามืดของทุกวัน ดังนั้นอุปกรณ์ต่างๆ เตรียมให้พร้อมตั้งแต่ก่อนนอนเป็นดีที่สุด ส่วนเวลาที่บอลลูนจะขึ้นจริงๆ บอกไม่ได้เลยครับ ไปลุ้นเอาดาบหน้าอีกที ว่าจะมีเวลาอยู่บนบอลลูนพอดีกับช่วงแสงสวยๆ ได้นานแค่ไหน

อีกเรื่องที่ควรเตรียมให้ดีคืออุปกรณ์กันหนาว เพราะอากาศเช้ามืดที่นั่นค่อนข้างหนาวมาก เสื้อกันหนาวตัวหนา หมวกไหมพรมเตรียมให้พร้อม ส่วนถุงมือ แนะนำเป็นแบบที่เปิดปลายนิ้วได้ หรือแบบที่เจาะทะลุปลายนิ้วไปเลย จะสะดวกกับการถ่ายภาพมากกว่า ถ้าไม่หนาวมากก็ไม่ต้องใช้ครับ ทนเอาหน่อยยังไงก็แค่ชั่วโมงเดียวเอง และจริงๆ แล้วเวลาตื่นเต้นเราก็มักจะไม่ค่อยรู้สึกเรื่องร้อนหนาวเท่าไรหรอกครับ


อุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพบนบอลลูน ถ้าเอาง่ายเอาสะดวกเป็นหลักก็แนะนำให้ใช้เลนส์ซูมอเนกประสงค์ที่มีทางยาวโฟกัสในช่วง 28-200 MM.หรือ 28-300 MM. หรือจะใช้กล้องสองตัวสำหรับเลนส์สองช่วงก็ได้ครับ มุมกว้างตัวหนึ่ง เทเลโฟโต้อีกตัวหนึ่ง แต่ตอนใช้ก็อาจจะไม่ถึงกับสะดวกมากนักเพราะที่ยืนค่อนข้างคับแคบ ขึ้นอยู่กับขนาดตัวของเพื่อนร่วมช่องด้วยนั่นล่ะครับไปลุ้นเอา หรือถ้ามีกล้องตัวเดียวแล้วจะเปลี่ยนเลนส์หลายตัวต้องเอาใส่ไว้ในกระเป๋าคาดเอวเท่านั้นครับ พวกเป้หลังหรือกระเป๋าสะพายข้าง ไม่มีทางใช้ได้ และเขาจะให้เราเก็บไว้ในรถโน่นเลยครับ

เพราะพื้นที่ในแต่ละช่องมันแคบมากอย่างที่บอก (ดูจากภาพประกอบ) อารมณ์จะเหมือนยืนถ่ายภาพอยู่ในถังน้ำมัน 200 ลิตร ประมาณนั้นเลยครับ ความสูงของตะกร้าราวๆ 120-130 เซ็นติเมตรเห็นจะได้ คนสูงน้อยหน่อยก็ถึงอกเลยทีเดียวแบตเตอรีชาร์จไฟไว้ให้เต็ม เมมโมรีการ์ดเลือกที่มีความจุมากเพียงพอที่จะไม่ต้องเปลี่ยนใหม่กลางคัน เพราะเมื่อขึ้นไปอยู่บนนั้น จะทำอะไรก็ไม่ค่อยสะดวกเลย แม้มันจะค่อนข้างนิ่งก็ตาม แต่ด้วยความคับแคบก็อาจทำให้การ์ดร่วงหล่นได้เหมือนกัน

ในด้านเทคนิกวิธีการถ่ายภาพก็ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน เพราะก็ถ่ายไปตามที่เห็นตามสถานการณ์จะพาไป ทั้งเลนส์มุมกว้าง และเทเลโฟโต้มีโอกาสถูกใช้งานได้พอๆ กัน แล้วแต่สถานการณ์จะพาไป !

สิ่งสำคัญที่พึงระวังคือเรื่องความไวชัตเตอร์ที่ควรจะให้สูงเพียงพอเพื่อภาพที่คมชัด ใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเท่าไร ความไวชัตเตอร์ควรคูณสามขึ้นไปเป็นอย่างน้อยครับ ที่ต้องระวังมากๆ จริงๆ คือตอนเปลี่ยนเลนส์ เปลี่ยนแบตฯ เปลี่ยนการ์ด พวกนี้หากต้องทำระหว่างนั้นจริงๆ ต้องให้มั่นใจในการจับถือมากๆ ใจเย็นๆ ไว้ไม่ต้องรีบครับ เพราะถ้ามันหล่นลงไปแม้แค่บนพื้นตะกร้า มันก็ยากที่จะก้มลงไปเก็บ(ยกเว้นเป็นคนตัวเล็ก) ส่วนถ้ามันตกลงไปตํ่ากว่านั้นก็ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ ภาวนาอย่าให้มันหล่นไปตกใส่ใครเข้าเป็นพอ


เรื่อง / ภาพ : จิรชนม์ ฉ่ำแสง


  • บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง สำหรับการวางแผนถ่ายภาพเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา โดยเอาประสบการณ์การถ่ายภาพของผู้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันสู่กันฟัง โดยเอาความชอบของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง หากแนวทางการถ่ายภาพจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัยไว้ด้วยครับ และจริงๆ ก็ไม่ได้เน้นเรื่องสถานที่สักเท่าไร แต่อยากเน้นเรื่องวิธีการคิดและวางแผนสำหรับการถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานที่อื่นๆ ได้
    Plan A หมายถึง การถ่ายภาพที่สามารถทำได้ตามแผนทุกอย่างที่วางไว้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
    Plan B หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคบางประการ ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันบ้าง อย่างเช่น เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ หาที่พักในจุดใกล้เคียงไม่ได้ ฯลฯ
    Plan C หมายถึง การถ่ายภาพที่พบเจออุปสรรคค่อนข้างมาก สิ่งที่คาดหวังไว้ ไม่เป็นอย่างที่คิด จนถึงขั้นต้องทำให้เปลี่ยนแผนไปเลย อย่างเช่น เจอกับการปิดซ่อมแซมสถานที่ เจอการเดินขบวนประท้วง เจอน้ำท่วมฉับพลัน หรือสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตราย หรืออาจหมายถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพเสียหายหรือสูญหาย ฯลฯ

อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจบทความท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/travels/photography-planner