Knowledge

Canon EOS R Settings EP.3 : ปรับตั้งระบบออโตโฟกัสให้ EOS R

EOS R แยกเมนู AF มาเป็นสัดส่วนเฉพาะ โดยใช้ไอคอน AF สีชมพู มี 5 แท็บ การทำงาน หากต้องการใช้ EOS R ให้เต็มประสิทธิภาพ ควรปรับตั้งเมนูต่างๆ ของ AF ให้ตรงกับการใช้งาน

AF operation เมนูเลือกระบบโฟกัสแบบทีละภาพ (ONE SHOT) และแบบต่อเนื่อง (SERVO) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้ใช้แคนนอนรู้จักกันดีอยู่แล้ว นี่คือฟังก์ชั่นที่ต้องใช้งานบ่อยมาก EOS R ไม่มีสวิทช์เลือกระบบนี้ จะต้องกดปุ่ม Q แล้วเข้าไปปรับจากหน้าจอด้วยทัชสกรีน หรือถ้าใช้ช่องมอง EVF อยู่ ก็ต้องเข้าไปปรับด้วยปุ่ม M-Fn ด้านหน้าแล้วใช้แป้นควบคุมเลือก แนะนำว่าให้เลือกแป้น 4 ทิศทาง บน/ล่าง/ซ้าย/ขวา อันใดอันหนึ่งให้ทำหน้าที่สวิทช์ระหว่าง ONE SHOT กับ SERVO โดยสำหรับผมแล้ว ผมใช้แป้นสี่ทิศทางด้านขวาในการเซ็ทระบบนี้ (เข้าไปที่เมนู Custom Function รูปกล้องสีส้ม ไปที่แท็บ 4 เมนู Customize buttons เลือกไปที่แป้นสี่ทิศทาง แล้วปรับไปที่ ONE SHOT / SERVO)

ในการถ่ายภาพ ผมเปลี่ยนโหมดโฟกัสได้เร็วมาก เพียงกดแป้น 4 ทิศทางด้านขวา กล้องก็จะสวิทช์ให้ทันที ทำให้ไม่พลาดจังหวะที่ต้องถ่ายภาพแอคชั่นด้วย EOS R

AF method เป็นเมนูเลือกพื้นที่โฟกัส ซึ่งสำคัญมากในการใช้ EOS R เพราะด้วยพื้นที่การหาโฟกัสที่กว้างมาก การเลือกพื้นที่โฟกัสให้เหมาะกับรูปแบบภาพที่บันทึกจะช่วยให้การโฟกัสทำได้แม่นยำ

Face+Tracking เมื่อใช้ที่โหมดนี้ กล้องจะเปิดการทำงานของระบบตรวจจับใบหน้า โดยจะแสดงกรอบสี่เหลี่ยมสีขาวที่ใบหน้า และหากเปิดโหมด SERVO ไว้ กล้องก็จะโฟกัสติดตามใบหน้าอัตโนมัติ แต่ถ้าระบบไม่พบใบหน้าคนในภาพ ก็จะเลือกจุดโฟกัสให้อัตโนมัติ เมื่อเปิดใช้งานโหมดนี้จะสามารถเปิดใช้ระบบ EYE AF ได้ โดยเมื่อบุคคลเข้าใกล้กับกล้องในระยะครึ่งตัว ระบบจะตรวจจับดวงตาร่วมด้วยเพื่อความแม่นยำในการโฟกัส (กล้องต้องเปิดระบบโฟกัสที่ ONE SHOT)

1-point AF กล้องจะใช้จุดโฟกัสเพียงจุดเดียวในการทำงาน การย้ายจุดโฟกัสทำได้ด้วยการแตะหน้าจอ LCD แต่ถ้าใช้ช่องมอง EVF อยู่ การย้ายจุดโฟกัสจะต้องกดปุ่มเลือกพื้นที่โฟกัส แล้วใช้แป้นสี่ทิศทางในการการเลื่อนจุดโฟกัส หรือใช้ฟังก์ชั่น Touch & Drag AF ในการย้ายจุดโฟกัส

ข้อดีของ 1-point AF คือ พื้นที่การโฟกัสเล็ก จึงปรับโฟกัสแม่นยำ แต่จะมีปัญหาเมื่อถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนไหวด้วยระบบโฟกัส SERVO เพราะจะเคลื่อนกล้องให้จุดโฟกัสอยู่ที่ซับเจกต์ตลอดนั้นเป็นไปได้ยาก จึงเป็นภาพ
ที่เหมาะกับการโฟกัสแบบ ONESHOT มากกว่า

Expand AF area กล้องจะขยายจุดโฟกัสออกมาด้านบน ด้านล่าง ด้านข้างซ้าย-ขวา จากจุดโฟกัสหลัก เหมาะสำหรับการถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำให้กล้องหาโฟกัสได้ดีขึ้น เมื่อจุดโฟกัสหลักไม่สามารถโฟกัสได้ กล้องก็จะใช้จุดอื่นๆ ในการโฟกัสแทน หากใช้จนชำนาญระบบนี้จะมีความแม่นยำสูงกว่าแบบ ZONE AF เมื่อถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนไหวด้วยการโฟกัสแบบ SERVO

Expand AF area : Around การโฟกัสจะทำโดยจุดหลักตรงกลางที่คุณเลือก และใช้จุดโฟกัสอื่นๆ ที่อยู่รอบจุดหลักทั้งหมดช่วยโฟกัส พื้นที่การทำงานจึงกว้างกว่า 1-point AF และ Expand AF area เป็นระบบพื้นที่โฟกัสที่แนะนำสำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวด้วยการโฟกัสแบบ SERVO เพราะพื้นที่การโฟกัสถูกเจาะจงที่ตำแหน่งกลาง โดยมีจุดโฟกัสรอบๆ ช่วยทำงาน การโฟกัสจึงแม่นยำและการเคลื่อนกล้องตามซับเจกต์ไม่ยากนัก เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่มีวัตถุเคลื่อนไหวมากกว่า 1 จุดในภาพ กล้องจะแทรคตามจุดโฟกัสที่เราเลือกเท่านั้น ไม่โฟกัสวัตถุอื่นๆ แม้จะอยู่ใกล้กว่า

Zone AF เป็นการเลือกพื้นที่โฟกัสแบบกว้างเป็นโซน ไม่เหมาะสำหรับถ่ายภาพทั่วๆ ไปที่ซับเจกต์อยู่นิ่งๆ และใช้การโฟกัสแบบ ONE SHOT AF แต่ระบบนี้เหมาะสำหรับการใช้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวด้วย SERVO AF พื้นที่การโฟกัสที่กว้างทำให้การเคลื่อนกล้องตามซับเจกต์ทำได้ง่าย ซับเจกต์จะไม่หลุดออกนอกพื้นที่โฟกัส แต่ควรทราบว่ากล้องจะเน้นการโฟกัสวัตถุที่อยู่ใกล้กว่าเสมอ (ในพื้นที่ Zone) ดังนั้นจึงอาจมีความผิดพลาดในการโฟกัสได้ถ้ามีวัตถุอื่นบดบังซับเจกต์ หรืออยู่ใกล้กว่าซับเจกต์ เช่น ถ่ายการแข่งรถมอเตอร์ไซด์ กล้องอาจโฟกัสที่ส่วนหน้าของรถ ไม่ใช่ที่คนขับ การใช้ Zone AF จึงเหมาะกับภาพเคลื่อนไหวที่มีซับเจกต์หลักอย่างเดียว โดยไม่มีส่วนของวัตถุอื่นในภาพที่อยู่ใกล้กว่าซับเจกต์หลัก

Large Zone AF : Vertical EOS R เพิ่มฟังก์ชั่นขยาย Zone AF ให้ใหญ่ขึ้นในแนวตั้ง เพื่อรองรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวสำหรับวัตถุที่เคลื่อนอยู่ในพื้นที่แนวตั้ง โดยกล้องจะโฟกัสวัตถุที่อยู่ใกล้เป็นหลัก เหมาะกับภาพที่ซับเจกต์หลักอยู่ห่างจากฉากหลัง และไม่มี Forground

Large Zone AF : Horizontal พื้นที่การโฟกัสจะขยายกว้างมากแต่เป็นแนวนอน จึงเหมาะกับการถ่ายภาพซับเจกต์ที่เคลื่อนไหวในแนวนอน และซับเจกต์หลักควรอยู่ใกล้กับกล้องมากกว่าวัตถุอื่น ๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาพ

กล้อง EOS R เลนส์ Canon EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM + Extender 2X ; 1/1000sec f/11, Mode : Av, ISO800

Touch & Drag AF เป็นฟังก์ชั่นที่แคนนอนพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ช่างภาพสามารถย้ายจุดโฟกัสได้สะดวก(ภาพ15) เมื่อมองภาพด้วยจอ EVF การย้ายจุดโฟกัสด้วยฟังก์ชั่นนี้รวดเร็วกว่าการใช้จอยสติ๊กมาก โดยเมื่อเปิดใช้งาน(ภาพ16)จะมีการทำงานให้เลือก 2 โหมดคือ Absolute และ Relative (ภาพ17) แบบ Absolute จะย้ายจุดโฟกัสจากบนหน้าจอ LCD ได้ทั้งการแตะหน้าจอ (Touch) และการลากนิ้ว (Drag) โดยเมื่อมองภาพที่จอ EVF อยู่ คุณสามารถแตะหน้าจอตรงจุดที่ต้องการให้กล้องโฟกัสได้เลย หรือจะลากนิ้วไปยังจุดนั้นก็ได้ กล้องจะย้ายจุดโฟกัสตามนิ้วไป แต่อุปสรรคในการใช้แบบ Absolute คือ หากจมูกโดนหน้าจอ กล้องอาจย้ายจุดโฟกัสไปตำแหน่งที่จมูกแตะได้ จึงอาจต้องจำกัดพื้นที่การทำงานด้วยเมนู Active Touch Area ว่าจะให้ทำงานได้เฉพาะซีกขวา (ที่จมูกไม่โดน) ซีกซ้าย ด้านบน ด้านล่าง หรือทั่วจอ(ภาพ18)

ส่วนแบบ Relative นั้นจะย้ายจุดโฟกัสได้ด้วยการลากนิ้วบนหน้าจอ LCD เท่านั้น การแตะหน้าจอจะย้ายจุดโฟกัสไม่ได้ ดังนั้นหากจมูกแตะโดนหน้าจอ จุดโฟกัสจะไม่ย้ายแน่นอน ในการใช้งานแนะนำให้เลือกที่ Relative ครับ และพื้นที่การทำงานควรตั้งที่ตำแหน่ง Whole panel (ทั่วจอ)

ในการใช้งาน ไม่จำเป็นต้องลากนิ้วไปทั่วทั้งจอตามตำแหน่งซับเจกต์บนภาพ เพราะหากวางซับเจกต์ไว้ด้านซ้ายจะติดจมูก สามารถใช้วิธีการลากนิ้วสั้นๆ ซํ้าหลายๆ ครั้งบนหน้าจอ จุดโฟกัสก็สามารถย้ายไปได้ทั่วจอตามต้องการ หากใช้จนคล่องจะพบว่าเร็วกว่าการใช้จอยสติ๊กย้ายจุดโฟกัส 2-3 เท่าตัว

คุณสามารถเปิดการใช้งาน Touch & Drag AF ไว้ตลอดเวลาก็ได้ โดยระบบจะทำงานเฉพาะเวลาที่คุณแนบตากับช่องมอง EVF เท่านั้น แต่ถ้าไม่ต้องการเปิดใช้ตลอดเวลา แนะนำให้ Customize buttons (ในเมนูคัสตอมฟังก์ชั่น รูปกล้องสีส้ม) เอาปุ่มใดปุ่มหนึ่งบนตัวกล้องมาเปิด-ปิดระบบนี้ สำหรับผมๆ ใช้ปุ่มล็อกความจำแสง (ซึ่งแทบไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้วกับกล้องมิลเลอร์เลส) มาทำหน้าที่เปิดปิดระบบนี้แทนการล็อกความจำแสง พบว่าใช้งานสะดวกมากครับ

กล้อง EOS R เลนส์ Canon EF 600mm f/4L IS III USM + Extender EF1.4X III ; 1/1250sec f/5.6, Mode : Av, ISO800

Focus Guide นี่คือฟังก์ชั่นใหม่ที่ยอดเยี่ยมของ EOS R เมื่อปรับโฟกัสแบบแมนนวล เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมจะไม่ชอบใช้ฟังก์ชั่น MF Peaking เท่าใดนัก เนื่องจากสีที่แสดงพื้นที่โฟกัสจะรบกวนการมองภาพค่อนข้างมาก ทำให้ความงดงามของภาพที่เห็นถูกรบกวน และยังบดบังการถ่ายทอดโทน คอนทราสต์ รายละเอียดของสิ่งต่างๆ ในภาพ และความแม่นยำของ Peaking ก็ยังไม่ดีมากนัก

Focus Guide คือฟังก์ชั่นที่แนะนำสำหรับการปรับโฟกัสแมนนวล เพราะมีความแม่นยำสูงมาก และที่ดีมากคือมันแสดงมาร์คการปรับว่าโฟกัสเข้าจุดชัดหรือยัง ที่ด้านบนของกรอบโฟกัสที่คุณเลือก โดยคุณไม่ต้องขยายจุดโฟกัส สามารถมองภาพ จัดองค์ประกอบภาพได้ตามปกติ เพียงแต่สังเกตมาร์คของ Focus Guide ด้านบนว่าอยู่ตำแหน่งใด โดยมาร์คจะแสดงเป็น 3 เส้น บนกรอบโฟกัส ต้องปรับให้เส้นที่ถ่างออกค่อยๆ บีบเข้ามาหากันจนเส้นทั้ง 3 ซ้อนกันสนิท เส้นสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ถ้าเส้นซ้าย-ขวาอยู่ด้านหลังเส้นกลาง แสดงว่าคุณโฟกัสไกลเลยซับเจกต์ แต่ถ้าเส้นซ้ายขวาอยู่ด้านหน้าเส้นกลาง แสดงว่าคุณปรับโฟกัสใกล้เกินระยะซับเจกต์ ออกแบบมาดีเยี่ยมจริงๆ ใช้งานสะดวก ชัดเจน เร็ว และแม่นยำอย่างยิ่ง

แท็บ AF3 มีฟังก์ชั่นเกี่ยวกับระบบออโตโฟกัสที่สำคัญ และควรปรับตั้งเมื่อคุณต้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว

Tracking sensitivity คุณสามารถตั้งความเร็วการตอบสนองต่อการโฟกัสเข้าสู่วัตถุใหม่ได้ 5 ระดับ ฟังก์ชั่นนี้ค่อนข้างสำคัญเมื่อคุณใช้ระบบโฟกัสแบบ SERVO ถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนที่ ค่า Default จะปรับไว้ที่ตำแหน่ง 0 คือความเร็วการตอบสนองปานกลาง สำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป หากปรับมาทางซ้าย (Lock on) กล้องจะแทรคเข้าหาซับเจกต์ใหม่ช้าลง จึงเหมาะกับการถ่ายภาพที่คุณต้องการให้กล้องล็อกโฟกัสที่ซับเจกต์หลักแม้มีวัตถุอื่นๆ เคลื่อนมาบังชั่วขณะ กล้องจะยังไม่เปลี่ยนไปโฟกัสวัตถุใหม่ทันที ต้องใช้เวลาเล็กน้อยจึงจะปรับ ดังนั้นกล้องจะยังล็อกที่ซับเจกต์เดิม เช่น การถ่ายภาพฟุตบอลที่มักจะมีผู้เล่นอื่นเคลื่อนมาบังซับเจกต์ของคุณชั่วขณะ หรือภาพสัตว์ป่าขณะวิ่งแล้วมีต้นไม้บังในเสี้ยววินาที เป็นต้น

แต่ถ้าปรับไปทางขวา Responsive กล้องจะปรับโฟกัสเข้าสู่วัตถุใหม่ทันที โดยไม่มีการล็อกที่ซับเจกต์เดิม คุณสามารถเลือกการตอบสนองให้เหมาะกับสถานการณ์ได้ด้านละ 2 ระดับ คือ +1 และ +2 (Responsive) และ -1 ,-2 (Lock on)

Acceleration/deceleration tracking เป็นการปรับตั้งระบบ SERVO AF ให้ทำงานเร็วขึ้นหรือช้าลงเมื่อวัตถุเปลี่ยนความเร็วแบบฉับพลัน หรือหยุดแบบรวดเร็ว การปรับที่ตำแหน่ง 0 เหมาะกับสถานการณ์ที่ซับเจกต์มีความเร็วค่อนข้างคงที่ (เปลี่ยนความเร็วบ้างแต่ไม่มากนัก) ตำแหน่ง -2/-1 เหมาะกับซับเจกต์ที่มีความเร็วคงที่ (เปลี่ยนแปลงน้อยมาก) ถ้าเซ็ทที่ตำแหน่ง 0 แล้ว โฟกัสยังไม่เข้าทุกภาพ ควรลองปรับมาที่ -1 หรือ -2 หากเห็นว่าซับเจกต์ไม่ได้เปลี่ยนความเร็ว ตำแหน่ง +2/+1 เหมาะกับสถานการณ์ที่ซับเจกต์เปลี่ยนความเร็วอยู่บ่อยๆ หากเปลี่ยนตลอดเวลาควรใช้ที่ +2 หากคุณพบปัญหาว่ากล้องโฟกัสไปด้านหลังซับเจกต์เมื่อหยุดแบบกะทันหัน ให้ตั้งที่ +1 หรือ +2 แต่การปรับที่ +1 หรือ +2 กล้องจะไวต่อการขยับของซับเจกต์แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นปัญหาการโฟกัสหลุดได้บ้าง เมื่อซับเจกต์มีการขยับเพียงเล็กน้อย

ฟังก์ชั่นนี้ผู้ใช้จะต้องทำความเข้าใจการทำงานของระบบโฟกัสต่อเนื่อง เพื่อตั้งให้เหมาะกับลักษณะภาพที่บันทึก

AF point auto switching เป็นฟังก์ชั่น ปรับตั้งการตอบสนองต่อการเลือกใช้ตำแหน่งจุดโฟกัส โดยจะทำงานกับพื้นที่โฟกัสทุกแบบ ยกเว้นแบบ 1-point AF (จุดเดียว) โดยฟังก์ชั่นนี้จะตั้งการตอบสนองต่อการย้ายจุดโฟกัสไปยังจุดข้างเคียง เมื่อซับเจกต์เคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งเดิม หรือเมื่อคอนทราสต์เปลี่ยน ที่ตำแหน่ง +2 จะไวต่อการเปลี่ยนจุดโฟกัสมากกว่า +1 ใช้เพื่อให้กล้องย้ายจุดโฟกัสทันทีเมื่อจุดหลักปรับโฟกัสยากขึ้นจากรายละเอียดและคอนทราสต์ในบริเวณจุดโฟกัสหลักลดลง แนะนำว่าถ้าคุณถ่ายภาพแอคชันบ่อยๆ และต้องใช้ระบบ SERVO AF ในการทำงานเสมอ ควรตั้งระบบนี้ประมาณ +1 เพื่อให้กล้องพร้อมที่จะเปลี่ยนจุดโฟกัสในทันทีที่จุดหลักหาโฟกัสไม่ได้

กล้อง EOS R เลนส์ Canon EF 400mm f/2.8L IS III USM ; 1/2000sec f/5.6, Mode : M, ISO400


Movie Servo AF track sensitivity เป็นฟังก์ชั่นปรับตั้งความเร็วในการเปลี่ยน ตำแหน่งโฟกัส เมื่อมีวัตถุอื่นเคลื่อนมาบังซับเจกต์หลัก คล้ายๆ กับที่ปรับตั้งในการถ่ายภาพนิ่ง แต่สำหรับการบันทึกวิดีโอ การปรับจะละเอียดมากขึ้น คือ Lock on ได้ 3 ระดับ -3/-2/-1 และ Responsive ได้ 3 ระดับที่ +1/+2/+3 หากต้องการให้กล้องล็อกโฟกัสที่ซับเจกต์เป็นหลัก เช่น ดอลลี่กล้องตามซับเจกต์ผ่านต้นไม้หรือเสาที่อยู่ด้านหน้า แล้วไม่ต้องการให้กล้องโฟกัสที่ต้นไม้หรือเสา ก็ต้องปรับ Lock on ที่ -1/-2 หรือ -3 ตามสถานการณ์ที่บันทึก เพื่อให้ซับเจกต์อยู่ในโฟกัสตลอด แต่ถ้าต้องการให้กล้องเปลี่ยนการโฟกัสไปที่วัตถุอื่นที่มีระยะต่างกันหรือวัตถุที่เคลื่อนเข้ามาบัง ก็ต้องปรับที่ Responsive


Movie Servo AF speed เป็นฟังก์ชั่นปรับความเร็วในการโฟกัส เมื่อถ่ายวิดีโอ และปรับการทำงานว่าจะให้เริ่มทำงานตามที่ปรับไว้ตลอดเวลา หรือเฉพาะระหว่างบันทึกในช่อง When active ถ้าตั้งที่ Alway on กล้องจะตั้งความเร็วการโฟกัสตามที่คุณเซ็ทไว้ ตลอดเวลา แต่ถ้าตั้งที่ During Shooting กล้องจะปรับความเร็วตามที่คุณตั้งเฉพาะระหว่างการบันทึกเท่านั้น


AF speed เป็นการปรับความเร็วในการเคลื่อนโฟกัสของกล้อง จากตำแหน่งความเร็วมาตรฐานโดยปรับช้าลงได้ 7 ระดับ เพื่อให้โฟกัสเคลื่อนอย่างนุ่มนวลก่อนเข้าจุดชัด และปรับให้เร็วขึ้นได้ 2 ระดับ สำหรับภาพที่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งโฟกัสบ่อยๆ จะได้ไม่ต้องเสียเวลากับการเคลื่อนโฟกัส ซึ่งผู้ใช้จะต้องเลือกระดับความเร็วให้เหมาะสมกับงานด้วยตัวเอง