Photo Techniques

BirdScape

…มันเป็นประเภทของการถ่ายภาพที่ดูเหมือนว่าจะถูกผูกขาดอยู่กับคนถ่ายภาพกระเป๋าหนักและรักการท่องไปในราวป่า …แต่ดูเหมือนว่า วันเวลาแห่งเรื่องราวเฉพาะกลุ่มนั้นจะค่อยๆ จางลงไป และกำลังจะขยายวงกว้างไปกว่าเดิมเสียแล้ว…

หากจะถามถึงการถ่ายภาพประเภทหนึ่งที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงขั้นเศรษฐีก็คงจะไม่พ้นภาพประเภท “นก” ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า “เลนส์” สำหรับถ่ายภาพชนิดนี้จะอยู่ในระดับราคาที่แพงมาก หลายคนก็ไม่เข้าใจว่าจะถ่ายไปทำไมในเมื่อต้องลงทุนสูงขนาดนั้น เลนส์พวกนั้นต้องว่ากันที่ระดับหลัก “แสน” ไปจนถึงหลายแสนถึงจะได้ทางยาวโฟกัสสูงๆ พอที่จะล้วงเข้าไปเก็บแสงในระยะที่ห่างไกลตามสุมทุมพุ่มพฤกษ์ที่เจ้าของปีกสวยเหล่านี้อิงแอบอาศัยอยู่ แต่นั่นก็ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องราวในอดีตไปเสียแล้วครับ เมื่อปรากฏว่ามีผู้ผลิตเลนส์ซูมระดับ Super Telephoto ขึ้นมาวางจำหน่ายกันไปเมื่อไม่นานมานี้อย่างน้อยก็สองเจ้า ซึ่งก็ว่ากันที่ระดับ 600mm ในราคาที่พอเอื้อมถึงได้โดยไม่ต้องคิดมากเหมือนแต่เก่าก่อน เอาล่ะ ถึงแม้ว่ามันจะยังคงมีประสิทธิภาพที่ห่างชั้นกับเลนส์ระดับเรือนแสนเดิมๆ ที่ครองยุทธจักรอยู่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะขี้เหร่ ตรงกันข้ามแล้วด้วยเทคโนโลยีในยุคนี้ทำให้มันมีคุณภาพในระดับที่ดีและน่าคบหาเลยเชียวแหละ

 

ผมเชื่อว่าหลายท่านมีไว้ครอบครองแล้วด้วยซํ้าไป แต่ถึงแม้ว่าเลนส์เหล่านี้สามารถซูมภาพที่ระยะทางไกลได้ก็จริง แต่ในที่สุดแล้วการถ่ายภาพก็ย่อมจะต้องการความรู้และวิธีการสำหรับใช้งานมันให้เกิดผล ดังนั้นคุณจะรู้เพียงแค่วิธีการหมุนซูมไประยะทางไกลๆ เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่พอ เราคงต้องมาพูดถึงเทคนิควิธีในการจัดการกับมันให้เข้าที่เข้าทางและหวังผลได้สมกับที่ควักสตางค์ซื้อกันมาเสียหน่อย

การถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตลักษณะนี้ดูจะกํ้ากึ่งกันอยู่ครับ ระหว่างการบันทึกภาพในเชิงวิชาการและในเชิงศิลปะ ซึ่งบางครั้งมันก็ค้านกันอยู่ เพราะในแง่ของเชิงวิชาการแล้วเราย่อมต้องการความชัดเจนเพื่อการจำแนกแยกแยะและเห็นรายละเอียดอันเป็นจุดสังเกตได้ ในขณะที่เชิงศิลปะก็จะมีเรื่องของแสง/เงาที่บางครั้งก็อาจจะไม่ชัดเจนในรายละเอียดมากนัก คุณอาจจะแยกประเภทของลักษณะภาพเพื่อกำหนดเป้าในวิธีการถ่ายภาพออกไปเลยก็ได้ หรือจะผนวกมันเข้าด้วยกันก็ได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยวิธีคิดกันอยู่สักหน่อย แต่ขอบอกเอาไว้ก่อนว่าในบทความนี้จะอิงไปทางเชิงศิลปะเสียเป็นส่วนใหญ่

จะว่าไปแล้วการถ่ายภาพนกก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขวิธีการเช่นเดียวกับการถ่ายภาพในแบบอื่นๆ นั่นแหละครับ การควบคุมปริมาณแสงโดยการใช้สปีดชัตเตอร์, รูรับแสง และค่า ISO เพื่อกำหนดลักษณะของภาพ หรือลักษณะชัดลึก, ชัดตื้น อะไรเหล่านั้นซึ่งอันที่จริงแล้วมันแทบไม่ต่างกันเลย คุณสามารถใช้ความรู้พื้นฐานในการถ่ายภาพเข้ามาจัดการในส่วนนี้ได้ เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องของทางยาวโฟกัสในเลนส์เทเลโฟโต้ (หรือซูเปอร์เทเลโฟโต้) ของคุณอีกสักหน่อยว่ามันจะมีลักษณะอย่างไร ให้ผลแบบไหน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและสังเกตสังกาในเรื่องความแตกต่างของคุณเองเป็นหลัก

หลายท่านได้เลนส์มาแล้วก็พุ่งเข้าป่าไปเดินท่อมๆ หานกกันอย่างเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว เจอตัวก็ยิงส่งเข้าไปโดยไม่ต้องสนใจอะไรทั้งนั้น ขอแค่ให้ภาพไม่มืดก็พอ ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่ค่อยจะส่งผลดีสักเท่าไหร่ครับ ทางที่ดีแล้วคุณควรจะทำความคุ้นเคยและเรียนรู้นิสัยใจคอของทั้งกล้องและเลนส์อีกสักนิดเพื่อที่จะได้ใช้มันให้เข้ากับสถานการณ์มากที่สุด ดังนั้น ผมจะแนะนำวิธีการทำความคุ้นเคยพื้นฐานเสียก่อน


ฝึกง่ายใกล้ตัว

นกตัวนี้มาจากสวนสัตว์ที่เราสามารถใช้เพื่อฝึกการถ่ายภาพได้ทั้งเรื่องความนิ่งของมือและแสงสี วิธีถ่ายภาพโดยให้มันดูไม่เป็นนกในกรงเลี้ยงก็เป็นอีกวิธีในการฝึกที่น่าสนใจ : Canon EOS 70D, Lens Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/45 sec., f/5.6, ISO-100

ยังไม่ต้องคำนึงถึงนกในระดับสุดยอดหรือประเภทหายาก (คนละประเภทกับถ่ายมาแล้วหายากกว่าจะเจอในภาพ) อาศัยนกที่บินไปบินมาแถวบ้านนั่นแหละครับ จะเป็นนกกระจอก นกเขา นกพิราบ นกเอี้ยง ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไป เราจะตัดขั้นตอนการดั้นด้นค้นหาออกไปก่อน แล้วมาฝึกในขั้นตอนง่ายๆ เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน

อันดับแรกครับ ศึกษาระบบการจับโฟกัสของทั้งกล้องและเลนส์ที่จะทำงานประสานกัน คุณควรจะรู้ว่าลักษณะแบบไหนที่ระบบโฟกัสอัตโนมัติจะสามารถทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม และแบบไหนที่มันจะง่อยเปลี้ยไป ถึงแม้ว่าจะเป็นกล้องระดับสุดยอดเลนส์ระดับสุดเยี่ยมแต่มันก็ย่อมจะมีจุดอ่อนให้คุณเจอเสมอ จะมากหรือน้อยก็ว่ากันไปตามระดับขีดความสามารถ เพื่อที่คุณจะได้กำหนดวิธีรับมือเอาไว้ก่อนล่วงหน้า

ศึกษาความแตกต่างของระบบโฟกัสแบบจับแล้วอยู่หรือแบบติดตามวัตถุของกล้องเอาไว้ด้วยครับ ได้ใช้กันอยู่แทบตลอดเวลา

ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ เมื่อเราจับโฟกัสที่นกซึ่งมีฉากหน้าฉากหลังอันแตกต่างกัน เช่น เมื่ออยู่ในมุมเงยซึ่งมีฉากหลังเป็นท้องฟ้าในพื้นที่โล่ง ระบบโฟกัสอัตโนมัติจะทำงานได้ดีมากเพราะมันไม่มีสิ่งอื่นใดมาคอยรบกวนให้สับสน แต่เมื่อฉากหลังเป็นอะไรที่รกๆ มันก็จะทำให้การจับโฟกัสช้าลงหรือเกิดความสับสนขึ้น เพราะมันอาจจะวิ่งไปจับโฟกัสที่ด้านหลังบ้าง ด้านหน้าบ้าง อันนี้พูดถึงการใช้ระบบโฟกัสแบบใช้พื้นที่กว้างๆ นะครับ

เช่นเดียวกับการถ่ายภาพในแบบอื่นๆ เรื่องราว, แสงเงา, องค์ประกอบ จะช่วยทำให้ภาพดูสวยงามและน่าสนใจขึ้นได้ ต่อให้มันจะเป็นนกที่ดูธรรมดาก็ตาม : Canon EOS 7D Mark II, Lens EF 600mm f/4L IS II USM., 1/800 sec, f/4, ISO-400

ดังนั้น เมื่อเจอกับสถานการณ์เช่นนี้มันก็จะเป็นสิ่งที่ฝึกให้คุณต้องเลือกใช้ระบบโฟกัสอัตโนมัติที่เหมาะสมหรือการเบี่ยงมุมเข้ามาช่วย หรือแม้กระทั่งการหมุนโฟกัสแบบ Manual ด้วยมือเข้ามาร่วมด้วย คุณต้องรู้ครับว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนระบบโฟกัสอัตโนมัติอย่างไร เลือกจุดเซนเซอร์โฟกัสอย่างไร บางกรณีคุณก็อยากจะใช้เซนเซอร์ที่จุดกลางภาพเพียงอย่างเดียวเพราะนกของคุณอยู่ที่กลางภาพเพื่อที่กล้องจะได้ไม่ต้องไปสนใจกับส่วนอื่น แต่บางครั้งก็ต้องใช้หลายๆ จุดร่วมกันช่วยจับโฟกัสให้ เป็นต้น

ซึ่งก็แน่นอนครับว่าคุณจะสามารถพบเรื่องราวเหล่านี้ได้จาก “คู่มือ” ของกล้องนั่นเอง ผมยกตัวอย่างครับ หากคุณเล็งภาพไปที่นกซึ่งเกาะอยู่บนหลักไม้เหนือผิวนํ้า หากใช้เซนเซอร์ออโตโฟกัสทั้งหมดที่กล้องมีคุณก็อาจจะหัวเสียได้เพราะมันก็จะวิ่งไปจับที่ผิวนํ้าซึ่งกำลังพลิ้วไหวเป็นระลอกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นต้องเปลี่ยนมาใช้แค่จุดกลางเพียงจุดเดียว อะไรทำนองนี้

จับคู่มือกล้องยัดลงกระเป๋าเอาไว้เลยครับ คุณได้ใช้แน่ๆ

การเข้าใกล้ตัวนกก็เป็นอีกเรื่องที่ท้าทายเช่นกัน ปกติแล้วนกจะเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างตื่นตกใจและผละหนีได้ง่าย แต่ยิ่งคุณเข้าได้ใกล้มากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งดูอลังการมากเท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกทักษะที่คุณควรจะต้องฝึกด้วย : Canon EOS 7D Mark II, Lens EF 200-400mm f/4L IS USM EXT 1.4X Built-in, 1/2000 sec., f/5.6, ISO-200

โอเคครับ คุณอาจจะเบื่อพวกนกแบบบ้านๆ ที่บินอยู่ตามบ้าน ผมก็จะแนะนำแหล่งฝึกแบบง่ายๆ แต่ตื่นเต้นขึ้นมาอีกหน่อยและก็จะมีนกสีสันสวยงามแปลกตาให้น่าตื่นใจขึ้นมาอีกนิด ลองมองหา “สวนสัตว์” ที่อยู่ใกล้บ้านดูครับ ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีนกเป็นส่วนประกอบในการจัดแสดงเฉพาะพื้นที่จำกัด สถานที่ซึ่งผมแนะนำให้คุณไปลองดูก็คือที่ “สวนสัตว์เปิด เขาเขียว” ที่นี่จะมี “กรงนกใหญ่” เป็นโดมครอบเอาไว้ มีนกสีสันแปลกตาให้ถ่ายภาพได้ไม่ยาก ได้ฝึกกันเต็มที่ไปเลย

สังเกตดูครับว่าเลนส์ของคุณจะให้ภาพคมชัดที่สุดที่ F เท่าไหร่ และสามารถใช้สปีดชัตเตอร์ที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพแสงแบบใดได้บ้าง

ถ้าคุณคิดจะขยับชั้นขึ้นไปมากกว่าแค่นกเกาะก็ลองหาสถานที่ซึ่งจะมีนกบินขึ้นบินลงแล้วก็ใช้ความสังเกตเข้าไว้ อาจจะต้องใช้สปีดชัตเตอร์ที่สูงขึ้นมาอีกสักหน่อยเพื่อหยุดมันให้นิ่งสนิทถึงแม้ว่าจะต้องใช้ ISO สูงก็ตาม : Nikon D7100, Lens AF-S 200-400mm f/4G IF-ED VR, 1/2000 sec., f/7.1, ISO-400


นกเกาะและนกบิน

ถ้าหากว่าระยะของเลนส์ยังเป็นข้อจำกัดที่ทำให้นกของคุณมีขนาดเล็ก ก็จงใส่ใจและพิถีพิถันกับเรื่องราวและองค์ประกอบภาพให้มากเข้าไว้ อาจจะทำให้คุณเหนื่อยมากขึ้นสักหน่อย แต่เชื่อเถอะครับว่ามันจะทำให้คุณเก่งขึ้นอีกเยอะเลย : Nikon D7000, Lens Tamron SP AF70-300mm f/4-5.6 Di VC USD, 1/1250 sec., f/5.6, ISO-100

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม “แสง” จะยังคงมีความสำคัญกับภาพถ่ายทุกชนิดอยู่เสมอ ลองมองหาทิศทางที่แสงจะโดดเด่นน่าประทับใจเอาไว้ล่วงหน้าดูสิครับ มันช่วยให้ภาพนกของคุณดูดีขึ้นอีกเยอะเลยเชียวล่ะ : Canon EOS 7D Mk II, Lens EF 600mm f/4L IS II USM, 1/1000 sec., f/4, ISO-400

หลายท่านคงหมายมั่นปั้นมือในการถ่ายภาพนกเจ๋งๆ อย่างที่เห็นพวกมือโปรทั้งหลายเขาถ่ายกันอยู่ใช่ไหมล่ะครับ ? ไม่แปลกเลยที่คุณจะคิดอย่างนั้นบ้างเมื่อลงทุนซื้ออุปกรณ์เต็มเหนี่ยวไปแล้ว แต่อย่าลืมว่าก่อนจะเป็นโปรได้นั้นก็ต้องฝึกหัดแบบมือใหม่ไปก่อน

ผมแนะนำว่าคุณควรลองถ่ายภาพ “นกเกาะ” เสียก่อน ไม่ใช่ว่าจะต้องนั่งเรือออกไปกลางทะเล แต่หมายถึงนกที่เกาะนิ่งๆ อยู่กับที่ มันจะเกาะสายไฟเกาะกิ่งไม้อะไรก็ตามแต่ ลองหัดถ่ายภาพในอิริยาบทนั้นดูก่อน ฝึกความรวดเร็วว่องไวและปฏิกิริยาตอบสนองของตัวเองให้แม่นยำกับนกเกาะเสียก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อนด่วนได้ใจเร็วฝึกกับ “นกบิน” ในทันทีทันควัน เพราะมันจะเป็นอะไรที่ยากขึ้นไปอีกหลายช่วงตัวเลยทีเดียว อย่าลืมว่าเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากๆ แบบนี้จะเกิดอาการสั่นไหวได้ง่ายกว่าเลนส์แบบอื่นๆ ถ้าลำพังแค่นกเกาะคุณยังถ่ายให้ชัดไม่ได้ก็คงไม่ต้องถามถึงนกบินกันล่ะ

สกัดดาวรุ่งรึ ? ไม่ใช่ครับ ผมไม่อยากจะให้คุณท้อแท้ไปเสียก่อนสำหรับการถ่ายภาพนก เราค่อยๆ ไต่บันไดไปทีละขั้นดีกว่า

ปีกนกและขนนกอันละเอียดเบาบางเป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อแสงเช้าและเย็นได้อย่างน่าสนใจ แต่โดยปกติแล้วมันมักจะหุบเอาไว้ ต้องใช้ความรวดเร็วต่อจังหวะที่มันกางออก ที่สำคัญก็คือคุณควรอยู่ในทิศทางที่เกือบๆ จะย้อนแสงมันจึงจะได้ผล : Canon EOS 7D Mark II, Lens EF 500mm f/4L IS II USM, 1/1500 sec., f/4, ISO-400

จากนั้นก็ค่อยเลื่อนขั้นไปถ่าย “นกออกตัว” และ “นกลงจอด” ซึ่งจะเป็นอะไรที่ต้องอาศัยความสามารถที่สูงมากยิ่งขึ้น อาศัยความช่างสังเกตสูงขึ้นไปเป็นลำดับ พูดง่ายๆ ก็คือต้องใช้ขีดความสามารถที่สูงมากขึ้นทั้งกล้อง, อุปกรณ์ และตัวคุณเอง หากไม่ท้อถอยเสียก่อนมันก็จะเป็นอะไรที่สนุกสนานและท้าทายขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

คุณจะต้องสังเกตแล้วล่ะครับว่าควรจะต้องใช้สปีดชัตเตอร์ระดับใดจึงจะเหมาะกับความเร็วของนกแต่ละแบบ ลองฝึกกับนกที่มีความเร็วไม่สูงมากนักก่อนครับ ประเภทนกตัวใหญ่ๆ ก็จะง่ายหน่อยเพราะเป็นเป้าใหญ่ เห็นง่ายและไม่ค่อยเร็วมากนัก ยกตัวอย่างเช่นพวกนกยางสายพันธุ์ต่างๆ ที่ชอบอยู่ตามทุ่งนาหรือหนองนํ้านั่นก็ได้

เทคนิควิธีการถ่ายภาพแบบต่างๆ ก็สามารถนำมาใช้กับภาพนกได้เช่นกัน คุณอาจจะเลือกใช้วิธีถ่ายภาพแบบ “ซิลูเอท” เข้ามาร่วมก็ได้เมื่อสภาพแสงตํ่ามากในช่วงเช้าหรือเย็น เพียงแต่ต้องเลือกฉากหลังโล่งๆ สักหน่อยเพื่อทำให้โครงร่างเงาดำของนกดูเด่นขึ้น : Canon EOS 70D, Lens Tamron SP 150-600mm f/5-6.3 Di VC USD, 1/1000 sec., f/8, ISO-500

การฝึกอะไรเหล่านี้จะทำให้คุณได้เรียนรู้ระบบต่างๆ ของกล้องได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์จริงโดยที่เราไม่ต้องเดินทางไปคว้านํ้าเหลวจากที่ไกลๆ อย่าได้คิดว่าคุณมีเลนส์ซูมกำลังสูงแล้วมันจะง่ายไปเสียหมด อุตส่าห์จะเดินทางไปไกลแล้วก็ควรจะต้องไปด้วยความพร้อมเพื่อเพิ่มโอกาสการได้ภาพเอาไว้ล่วงหน้าเสียก่อนเลย

เรื่องของการถ่ายภาพนกยังมีรายละเอียดปลีกย่อยออกไปอีกมากมายก่ายกอง ซึ่งผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป เชื่อเถอะครับว่าการที่คุณถ่ายภาพนกจะไม่ได้ให้เพียงแค่ภาพนกแก่คุณ แต่มันจะให้ทักษะและประสบการณ์ในการถ่ายภาพที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกรูปแบบการถ่ายภาพเลยทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องของความรวดเร็วแม่นยำและช่างสังเกต ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญที่ตากล้องผู้หวังภาพงามๆ ควรต้องมี ไม่ว่าคุณจะเป็นมืออาชีพหรือสมัครเล่นก็ตาม

อย่าได้ยึดติดกับการที่ว่าภาพนกก็ต้องได้นกตัวใหญ่ๆ เต็มภาพเสมอไปครับ คุณอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของเลนส์แต่ก็ใช่ว่าจะถ่ายภาพนกไม่ได้ ใช้การจัดองค์ประกอบภาพเข้าช่วยก็ทำให้ภาพดูน่าสนใจได้เหมือนกัน : Nikon D810, Lens Tamron SP 28-300mm f/3.5-6.3 DI VC PZD, 1/1000 sec., f/7.1, ISO-200

ไม่จำเป็นต้องรอให้มีเลนส์ยาวหรอกครับ คุณสามารถฝึกพื้นฐานกันได้แม้ว่าจะมีแค่เลนส์คิท 18-55mm  อย่าให้ข้อจำกัดของอุปกรณ์มาจำกัดประสบการณ์ของคุณเอาไว้ ต่อให้ไม่ได้นั่งรถแล้วค่อยๆ เดินไป อย่างน้อยเราก็เข้าใกล้จุดหมายไปเรื่อยๆ อยู่ดี ถึงจะยังช้าในวันนี้แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ครับ..

เรื่อง/ภาพ : ปิยะฉัตร แกหลง


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หรือสนใจเทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques