Travels

Bird Photography location guide : แนะนำสถานที่ถ่ายภาพนก”อ่างเก็บน้ำบางพระ” จ.ชลบุรี

เชื่อว่าการดูนกรวมไปถึงการถ่ายภาพนก คือกิจกรรมที่หลายๆ คนชื่อชอบ และหากจะพูดถึงนกแล้วนั้น ต่างก็มีจำนวนมากและหลายหลายชนิด สวยงามแตกต่างกันไป นกที่คนเมืองมักจะพบเห็นได้บ่อยก็อาจจะชินตากันมาก และยังมีนกอีกหลายชนิดที่ไม่สามารถพบเจอได้ในพื้นที่ที่เป็นตัวเมืองครั้งนี้ ผมเลยจะพาคนที่ชอบดูนกที่พบเจอได้น้อย หรือแทบไม่เจอในเมืองเลย ที่ที่ผมจะพาไปนั้น คือ ป่าใกล้เมือง บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำบางพระนั่นเองครับ

หากพูดถึงอ่างเก็บน้ำบางพระ หลายๆ ท่านที่เคยไปแล้วก็จะนึกถึงสันเขื่อน ที่มีต้นตะแบกอออกดอกเรียงรายสวยงาม เหมาะกับการถ่ายภาพ Portrait เอามากๆ แต่สำหรับครั้งนี้  ผมจะพาไปบริเวณรอบๆ อ่างกันครับ และจะพาไปดูว่า เราสามารถพบเจอนกอะไร ณ จุดไหนได้บ้าง

การเดินทาง :

สำหรับใครหลายท่านที่เดินทางจากกรุงเทพฯ หรือฝั่งตะวันตกของชลบุรี สามารถเดินทางได้สองเส้นทางหลักๆ ครับ โดยสามารถใช้ทางด่วนบูรพาวิถี หรือเส้นบางนาตราด เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองชลบุรี และผ่านเส้นสุขุมวิท ไปจนถึง ตัวตำบลบางพระ จะมีป้ายบอกทางเพื่อไปยังอ่างเก็บน้ำครับ เส้นทางนี้รถจะติดมาก ผมจึงไม่แนะนำครับ

แต่สำหรับท่านใดที่เลือกใช้เส้นทางบูรพาวิถี หรือบางนา-ตราด แล้ว ก็สามารถใช้เส้นเลี่ยงเมืองชลบุรี (ทางหลวงหมายเลข 361) เพื่อไปยังตัวตำบลบางพระ ก็ทำให้รวดเร็วขึ้นอีกครับ

หรือถ้าจะให้เร็วกว่านั้นก็ให้ใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง (ทางหลวงหมายเลข 361) แล้ววิ่งเส้นที่จะไปมอเตอร์เวย์ชลบุรี-พัทยา (ด่านเก็บเงินบางพระ(คีรี)) จะมีป้ายบอกทางเพื่อไปยัง อำเภอศรีราชา ขับตามเส้นทางเรียบมอเตอร์เวย์ (ทางหลวงหมายเลข 3701) ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงสะพานข้ามมอเตอร์เวย์สะพานที่ 2 (สะพานสวนเสือ) ก็ให้ข้ามสะพาน แล้วท่านก็จะถึงถนนเส้นรอบอ่าง หากท่านต้องการจะไปศูนย์อนุรักษ์นก ก็เลี้ยวซ้าย หากท่านต้องการที่จะไปเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระก็ให้เลี้ยวขวาครับ

ส่วนอีกเส้นทางคือสามารถเดินทางโดยทางด่วนมอเตอร์เวย์ได้เลยครับ แล้วให้ออกด่านที่ด่านเก็บเงินบางพระ(คีรี) แล้ววิ่งตามเส้นเรียบมอเตอร์เวย์ไปเรื่อยๆ จนถึงสะพานข้ามมอเตอร์เวย์สะพานที่ 2 สวนเสือ แล้วข้ามสะพานไปได้เช่นกันครับ เส้นทางนี้จะเร็ว และสะดวกดีมากครับ

เมือเดินทางมาถึงแล้ว จุดที่ผมแนะนำจะมีอยู่ 2 จุดใหญ่ๆ ครับ ทั้งสองจุดสามารถเดินเชื่อมถึงกันได้(แต่จะไกลมากครับ) มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติได้ เส้นทางถือว่าดีใช้ได้ครับ แต่จะมีบางชุดที่ชำรุดบ้างตามสภาพธรรมชาติ แต่ก็สะดวกดี หากมีจักรยานก็เหมาะดีทีเดียวครับ ไปเริ่มที่สถานที่แรกกันเลยครับ

ศูนย์อนุรักษ์นก

หากท่านใดที่เคยไปมาแล้วก็จะคุ้นเคยกับตู้คอนเทรนเนอร์เปล่าสีขาวด้านหน้าทางเข้าครับ จุดนี้เมื่อก่อนมีเส้นทางสามารถเอารถยนต์เข้าไปได้ ปัจจุบันถูกปิด สามารถเข้าได้เฉพาะรถจักรยานยนต์ จักรยาน และเดินเข้าครับ แต่ในจุดนี้จะมีลานพอจอดรถยนต์ได้ ซึ่งน่าจะจอดได้หลายคันพอสมควรครับ

 

นกที่มีจำนวนเยอะ และพบเจอได้บ่อยครั้งของพื้นที่อนุรักษ์นกครับ ไม่ว่าจะเป็น นกแอ่นบ้าน นกจาบคาเล็ก นกกระจิบ และนกเอี้ยงด่าง ครับ

ในจุดนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง จุดนี้จะเป็นจุดที่คนในพื้นที่ใช้ในการพักผ่อน หาปลาตามฤดูกาลหละครับ มีคนเข้าออกค่อนข้างบ่อย เลยไม่น่ากลัวเท่าไหร่ มีบ่อน้ำแห้งบ้าง มีน้ำขังอยู่บ้างเป็นจุดๆ ในหน้าแล้ง  ซึ่งเหมาะมากที่จะซุ่มดูนก ซึ่งจากการที่ผมได้เข้าประจำ และนานถึงสองเดือน นกที่สามารถพบได้บ่อยทั้งนกประจำถิ่น นกน้ำ และนกอพยพ และที่พบแน่ๆ ก็จะมีทั้งนกกระเต็นอกขาว นกกระเต็นน้อยธรรมดา นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกกระรางหัวขวาน นกเอี้ยงด่าง(เจอได้เยอะมาก) นกนางแอ่นบ้าน นกแอ่นทุ่งใหญ่ ตีนเทียน กระแตแต้แว้ด และนกน้ำทั่วไป อย่างเจ้าปากห่าง ยางกรอก และในฤดูวางไข่ก็สามารถพบเห็นนกนางนวลแกลบเล็กวางไข่ตามทุ่งหญ้าหลังน้ำลดด้วยครับ นกอีกชนิดที่มักจะเห็นนักดูนกมาเฝ้าดูอยู่บ่อยๆ อย่างนกคัดคูหงอน ที่อพยพมาในฤดูวางไข่นั่นเองครับ

 

จุดแรกที่ผมเคยเข้ามาและพบเจอประจำคือ นกกระรางหัวขวาน ที่บินวนๆ แถวๆ ถนนทางเข้าครับ ส่วนเจ้ากระรางหัวหงอกจะเห็นบางครั้งเท่านั้น แต่ก็ถือว่าพบเห็นบ่อยๆ ครับ เอกลักษณ์คือจะส่งเสียงดัง และมาเป็นฝูง 3-5 ตัว ครับ ส่วนนกโพระดกก็พบเห็นได้บ้างในจุดนี้ครับ ถัดไปอีกนิด นกกระเต็นอกขาว จะพบเจอบริเวณริมบ่อน้ำที่ค่อนข้างตื้นครับ จะชอบเกาะอยู่ตามต้นไม้แห้งริมบ่อครับ 

เมื่อเดินเข้ามาด้านในประมาณ 100 เมตร ก็จะเป็นบริเวณทุ่งหญ้าริมอ่างที่โผล่มาหลังจากน้ำลดลงครับ จุดนี้จะได้เจอกับนกจาบคาคอสีฟ้า และนกน้ำทั่วไปครับ อย่างนกกาน้ำที่มีจำนวนเยอะมาก บ้างก็ลอยคอหาปลา บ้างก็กำลังตากปีกอยู่ ที่มีจำนวนมากหน่อยก็เห็นจะเป็นนกปากห่างหละครับ แต่ถึงจะมากเพียงใด ผมก็ยังไม่เคยเห็นพวกมันบินชนกันสักทีนะครับ ^^

หากอยู่ในช่วงฤดูวางไข่ของนกนางนวลแกลบเล็ก พื้นที่นี้ก็เป็นอีกพื้นที่ที่มีการวางไข่จำนวนมาก เพราะฉะนั้น การเข้าไปถ่ายแม่นกที่กำลังวางไข่จึงควรใช้ความระมัดระวังให้มากที่สุดครับ การเดินในพื้นที่ควรจะดูทุกย่างก้าวครับ และหากเป็นไปได้ผมแนะนำให้ตั้งซุ้มบังไพรเพื่อลดความตกใจของแม่นก หรือลูกนกได้ครับ และจุดนี้ก็เคยมีช่างภาพระดับโปรฯ มาเฝ้าถ่ายคัดคูหงอนในฤดูวางไข่ด้วยเช่นกันครับ

ในส่วนของจุดที่สองนั้นก็คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระครับ ในจุดนี้มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชมครับ โดยแบ่งเป็นค่ารถยนต์ 60 บาท ต่อคัน ค่าคนเข้า 20 บาท ต่อคน หากจะกางเต้นท์ค้างคืนก็สามารถทำได้ครับ โดยเสียค่ากางเต้นท์หลังละ 100 บาท ต่อคืน ครับ

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ

เป็นพื้นที่มีป่าไม้สูงใหญ่ มีเทลทางเดินที่สามารถปั่นจักรยาน หรือเดินชมธรรมชาติได้ ซึ่งเส้นทางเดินสะดวกมากในหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝนก็จะรกบ้าง แต่ยังสามารถเดินได้ครับ แต่ในฤดูฝนกถนนก็อาจถูกน้ำท่วมไปบางส่วนครับ หากเดินตามเส้นทางในเขตห้ามล่าฯ ท่านก็จะได้เจอกับป่าไม้สูงทึบ ซึ่งเหมาะมากที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของนกกลางคืนอย่างเช่น นกเค้าโมง ครับ ซึ่ง ผมรับรองได้เลยว่า หากท่านเข้ามาที่นี่แล้วท่านจะเจอแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มต้นไทรบริเวณที่จอดรถเจ้าหน้าที่ และตามป่าต้นจามจุรีครับ ส่วนนกที่ท่านจะสามารถพบได้แน่ๆ ก็อย่างเช่น นกกะรางหัวขวาน นกกระรางหัวหงอก นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกแซงแซวหางปลา และสัตว์ที่แพร่พันธุ์ได้มากสุดก็เห็นจะเป็นกระรอกหละครับ หากโชคดีหน่อยก็จะได้เห็นกระรอกดำชลบุรีได้บ้างครับ

 

ในบริเวณเขตห้ามล่าฯ นกที่จะพบเจอได้แน่ๆ ก็คงจะเป็นนกกระรางหัวหงอกหละครับ มีอยู่ฝูงใหญ่เลยที่เดียว และค่อนข้างคุ้นคนครับ เพราะที่นี่มีคนเข้าออกตลอด อีกตัวที่การันตีได้เลยว่าเจอแน่ๆ คือ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ครับ แต่นกชนิดนี้ถ่ายยากพอสมควร เพราะต้องถ่ายให้เห็นรายละเอียดอย่างตา หรือริ้วขน ครับ ส่วนเจ้าบั้งรอกใหญ่ก็พอเห็นได้บ้างตามป่าที่ไม่สูงมากนัก และนกกระเต็นน้อยธรรมดาก็สามารถตั้งซุ้มดักถ่ายได้ตามแหล่งน้ำใกล้ๆ ลานกางเต้นท์นั่นแหละครับ

ส่วนนกในภาพชุดนี้ สามารถเจอได้บริเวณที่เราจอดรถนี่เองหละครับ เรียกได้ว่าจอดรถปุ๊บ สังเกตซ้ายทีขวาทีก็อาจจะเจอได้กับเจ้ากางเขน และนกกระรางหัวขวานที่คุ้นคนมากเป็นพิเศษ ส่วนนกหัวขวานก็เจอได้ตามป่าจามจุรีครับ เพราะเขาจะเจาะกินแมลงในเนื้อไม้ที่เป็นไม้เนื้ออ่อนครับ ส่วนตัวไฮไลท์สำหรับผมเลยคือนกเค้าโมงครับ เขาจะขี้อายอยู่บ้างแต่ก็ออกมาให้เห็นตัวอยู่ประจำครับ เรียกได้ว่า ไปเมื่อไหร่ก็เจอครับ แต่มีทริกเล็กน้อยครับถึงจะได้เจอ ทริกก็คือ เราลองเดินวนๆ บริเวณต้นไทรครับ เดี๋ยวเค้าก็จะบินออกจากต้นหนึงไปอีกต้นนึง คราวนี้ก็ง่ายหละครับ เพราะเห็นตัวแล้ว หากมีเลนส์เทเลฯ ก็จะดีหน่อยครับ ไม่ต้องเดินตามไกล แต่ถ้ามีเลนส์ซูมที่พอส่องได้บ้างอย่าง 70-300 ก็ต้องเดินตามหน่อยครับ

หากเดินตามทางเดินไปเรื่อยๆ ก็จะถึงโซนทุ่งหญ้าริมอ่าง โซนนี้ก็จะมีนกน้ำ และนกที่อาศัยอยู่ตามทุ่งมากมายครับ นกที่พบเจอบ่อยที่นี่ก็อย่างเช่น ไก่ป่า นกกระแตแต้แว้ด นกตีนเทียน นกกาบบัว นกปากห่าง นกจาบคาเล็ก นกจาบคาคอสีฟ้า กระตี๊ด นกกระจิบ นกกระจาบ นกกระเต็นเล็กธรรมดา และหากโชคดีก็อาจจะพบนกตระกูลเหยี่ยวอย่าง เหยี่ยวแดง เหยี่ยวกิ้งก่าสีดํา เหยี่ยวขาว นกออก(นกตระกูลอินทรี) และนกตะกรุม ซึ่งนกตะกรุมจริงๆ แล้วไม่ใช่นกพื้นถิ่น แต่เป็นนกที่เจ้าหน้าที่นำมาเลี้ยงเพื่อรอปล่อยคืนสู่ธรรมชาติครับ

อีกชนิดที่ผมชอบมากเป็นพิเศษครับ ไม่ได้เจอบ่อยนัก แต่ก็พอมีเปอร์เซนต์ได้เจออยู่บ้างอย่าง เหยี่ยวแดง กับนกออก ครับ ในส่วนของเทคนิกการถ่ายภาพนกที่กำลังบินอยู่นั้น พอมีทริกเล็กๆ น้อยๆ มาแนะนำสำหรับมือใหม่ครับ (ใหม่มากๆ ^^) คือ ปรับโหมดโฟกัสเป็น Af-c มันจะทำให้กล้องโฟกัสติดตามวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ครับ แล้วเลือกโหมดพื้นที่โฟกัสเป็นแบบ Zone ครับ ในส่วนนี้ก็จะช่วยให้โฟกัสจับวัตถุได้เร็วขึ้นครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเลือกใช้เทคนิคตามที่แต่ละท่านถนัดหละครับ

เมื่อเตรียมอุปกรณ์เสร็จ ผมก็แนะนำให้เดินตามเทลทางเดินดูก่อนครับ เราอาจจะได้ภาพนกที่ทำกิจกรรมประจำวันของเขาครับ ไม่ว่าจะเป็นกินปลีอกเหลือง อีเสือสีน้ำตาล นกปรอดหน้านวล และแซงแซวหางปลา เป็นต้น

เดินตามทางเดินออกไปอีกสักประมาณ 200-300 เมตร ก็จะเจอกับทุ่งหญ้าริมอ่างครับ ในส่วนนี้ก็จะได้เจอกับนกน้ำหรือนกที่หากินตามทุ่งทั่วไปครับ อย่าง นกกระแตแต้แว้ด (ตัวนี้ระวังอย่าให้ตกใจทีเดียวเชียวครับ เพราะเสียงของเค้าจะทำให้นกตัวอื่นตกใจไปด้วยครับ) นกกระติ๊ด นกตะกรุม ซึ่งนกตะกรุมเป็นนกที่ทางเจ้าหน้าที่เพาะเลี้ยงไว้เพื่อรอปล่อยสู่ธรรมชาติอีกทีครับ เดินเลยไปหน่อยก็จะเป็นชายน้ำ เราก็จะสามารถพบนกกาบบัวได้ครับ

นอกจากนกแล้ว สัตว์อื่นที่น่าถ่ายก็มีอีกเยอะแยะมากมายเลยครับ แต่โดยส่วนมากก็จะเป็นสัตว์เล็กอย่างกระรอก กระแต ตะคอง เหี้ย กิ้งก่า และจำพวกแมลงก็มีให้ถ่ายเยอะมากครับ สายมาโครนี่ผมรับรองได้ว่าถูกใจเลยหละครับ ส่วนสัตว์ใหญ่ที่พอจะเห็นร่องรอยได้บ้างก็จะเป็น กวาง หมูป่า และลิง ครับ ซึ่งผมเองก็ได้เห็นแต่รอยหละครับ เพราะตามตัวยากมากๆ แต่ถ้าอยากได้ภาพจริงๆ ก็คงต้องตั้งบังไพรซุ่มกันเป็นจริงเป็นจังเลยหละครับ เพราะในพื้นที่จะมีโป่งเทียมที่เจ้าหน้าที่ทำไว้ให้โดยเฉพาะครับ

สัตว์อื่นๆ ที่พบเห็นได้ในเขตห้ามล่าฯ ก็พอมีให้เห็นบ้าง แต่ส่วนมากจะเป็นสัตว์เล็กครับ อย่าง เหี้ย กระรอก งู (ต้องสังเกตด้วยนะครับว่างูพิษ หรือมีอันตรายหรือป่าว) ตะคอง ตะคองเราจะพบเจอได้ใกล้ๆ กับลำคลองที่ค่อนข้างมีป่ารกทึบครับ การเข้าพื้นที่จึงต้องระวังมากๆ นอกจากนี้ก็ยังมีแมลงต่างๆ อีกมากมายครับ

การเตรียมตัวก่อนเข้าพื้นที่

การเตรียมตัวก็ไม่มีอะไรมากครับ เนื่องจากพื้นที่เป็นป่าค่อนข้างรก และค่อนข้างเดินไกล ชุดที่สวมใส่ควรเป็นชุดที่รัดกุม รองเท้ากันแมลงสัตว์กัดต่อยได้ระดับนึง หมวกกันแดด และเนื่องจากระยะทางต้องเดินเข้าไปไกล หากใครสะดวกพกอาหารไปด้วยก็ควรจะพกไปครับ แต่ต้องรับผิดชอบขยะด้วยนะครับ เอาเข้าไปก็ต้องเอากลับมาด้วยครับ เพื่อความสะอาดและเพื่อเป็นการไม่ทำลายระบบนิเวศครับ หากใครไม่สะดวกนำอาหารเข้าไปด้วยก็สามารถขับรถหาร้านอาหารบนถนนเส้นรอบอ่างได้เลยครับ มีหลายร้านให้เลือกพอสมควรครับ

นอกจากเรื่องอาหารแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือยาสามัญประจำบ้านครับ อย่างยาบรรเทาอาการจากแมลงสัตว์กัดต่อย สเปรย์กันยุง  ยาที่เกี่ยวกับโรคประจำตัว เป็นต้น

การเตรียมอุปกรณ์

นอกจากน้ำดื่ม กระเป๋าเป้เดินป่าแล้ว อุปกรณ์ที่ควรนำไปดูนกนั้น หลายๆ ท่านอาจจะรู้อยู่แล้ว แต่สำหรับมือใหม่ ผมขอแนะเป็นแนวทางเบื้องต้นไว้ดังนี้ครับ

อุปกรณ์ที่แนะนำสำหรับมือใหม่ครับ 

สำหรับมือใหม่ ที่อาจจะยังไม่มีเลนส์ทางยาวโฟกัสยาวๆ หรือเลนส์เทเลโฟโต้อย่าง 100-400mm, 300mm, 200-500mm, 500mm, 600mm คิดง่ายๆ คือเลนส์ทางยาวไม่เกิน 300mm หละครับ อุปกรณ์ที่ควรจะมีเพิ่มเติมคือ Ghillie Suit, เสื้อลายพราง, เต้นท์บังไพร, หรือผ้าลายพรางที่สามารถพรางตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ เพื่อให้นกไม่ตกใจบินหนีไปซะก่อน เราจึงจำเป็นต้องมีชุดพรางเพื่อให้สามารถเข้าใกล้ตัวนกได้มากขึ้น หรือซื้อระยะได้มากขึ้นนั่นเองครับ เพราะเลนส์ของเราเองไม่สามารถถ่ายนกให้ตัวใหญ่เหมือนเลนส์เทเลฯ ได้นั่นเองครับ แต่สำหรับมือโปรที่มีเลนส์เทเลฯ ใช้งานอยู่แล้ว ถ้าสามารถใส่ชุดพรางเข้าพื้นที่ได้ก็จะดีมากครับ ถึงแม้ว่าเลนส์เทเลฯ จะทำให้เราได้ภาพโดยที่ไม่ต้องเข้าใกล้ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการลดความตกใจของนกหรือสัตว์ในพื้นที่ได้ครับ

นอกจากนี้ก็ควรมีเก้าอี้สนามพับเก็บได้ น้ำหนักเบา ติดไปด้วยก็ดีครับ เผื่อเวลาซุ่มจะได้นั่งได้สบายครับ

เลนส์ที่แนะนำสำหรับมือใหม่

เลนส์ที่เหมาะกับการนำเข้าไปถ่ายนกที่อ่างเก็บน้ำบางพระนั้น จะขอยกตัวอย่างเป็นแนวทางสำหรับมือใหม่คร่าวๆ เช่น 55-300mm, 70-210mm, 70-300mm, 75-300mm, เนื่อจากเลนส์เหล่านี้มีราคาที่มือใหม่สามารถจับต้องได้นั่นเองครับ หรือหากใครมีทุนทรัพย์มากพอก็สามารถหาเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากกว่านี้มาใช้ได้เช่นกันครับ

ช่วงเลนส์ที่แนะนำสำหรับมือใหม่ก็พอคร่าวๆ ประมาณนี้นะครับ เพราะราคาพอจับต้องได้ และคุณภาพเมื่อเทียบกับราคาก็ถือว่าใช้ได้ทีเดียวครับ ในส่วนของเลนส์ 150-600mm นำ้หนักอาจจะมาหน่อย ก็ควรมีขาตั้งกล้องมารองรับด้วยนะครับ เพราะเวลาเดินถ่ายจะทำให้เมื่อยได้ครับ **นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างระยะเลนส์เท่านั้นนะครับ ส่วนใครชอบค่ายไหนก็ตามสะดวกหละครับ

ทริกเล็กๆ น้อยๆ ในการถ่ายภาพนก

จากการเข้าพื้นที่บ่อยๆ ของผมเอง ทำให้ผมฉุกคิดอะไรบางอย่างได้ครับ เนื่องจากในพื้นที่มีนกอยู่มากมายหลายชนิด และถึงแม้นกจะเจอคนบ่อย แต่ด้วยความที่เป็นนกที่อยู่ในป่า การตกใจจึงเกิดขึ้นได้ง่ายมากครับ ผมเลยมีทริกมาบอกนิดหน่อยคือ เราต้องเลือกว่าจะเดินหานก หรือซุ่มเป็นจุดๆ นั่นเองครับ

การเดินตามเทลทางเดิน หากเราใส่ชุดพรางมันก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่งครับ แต่โดยส่วนมากนกจะตกใจเมื่อเราขยับตัวเร็วครับ การเดินหานกโอกาสที่จะเจอนกหลากหลายชนิดมีมากขึ้น แต่โอกาสได้ภาพดีๆ น้อยลงครับ เนื่องจากถ่ายไม่ทัน 5555

ภาพนกชุดนี้ได้จากการซุ่มถ่ายด้วยผ้าบังไพรครับ ซึ่งช่วยให้เข้าใกล้ตัวนกโดยที่นกไม่ตกใจได้มากทีเดียวครับ 

ส่วนวิธีที่สองคือซุ่มอยู่กับที่ วิธีการนี้มีโอกาสได้ภาพที่ดีมากกว่าครับ ส่วนชนิดของนกจะมากหรือน้อยก็อยู่ที่ความสามารถในการจัดการ และความพึงพอใจของช่างภาพเองครับ โดยส่วนตัวแล้วผมจะซุ่มเป็นจุดครับ โดยขั้นแรกผมจะเดินดูสถานที่ก่อนหนึ่งรอบ และหมั่นสังเกตุว่านกอะไรทำกิจกรรมอะไรอยู่บ้าง เช่น นกกระเต็นเล็กธรรมดากำลังบินโฉบลงไปที่ผิวน้ำ ถ้าผมอยากจะได้ภาพนกชนิดนี้ผมก็จะตั้งบังไพรเป็นหลัก แล้วเข้าไปอยู่ในนั้นเลย ห้ามออกจนกว่ากิจกรรมซ้ำเดิมของนกจะกลับมา เมื่อนกรู้สึกปลอดภัยนกก็จะกลับมาทำกิจกรรมเดิม แล้วเราก็จะมีโอกาสได้ภาพดีๆ มากขึ้นครับ หากเราพอใจกับภาพของนกชนิดนี้แล้ว เราก็เคลื่อนที่ไปหาเป้าหมายใหม่ครับ แต่การเคลื่อนที่เปลี่ยนจุดต้องไม่ทำอย่างโฉ่งฉ่างนะครับ เคลื่อนที่ช้าๆ เนียนๆ ครับ วิธีนี้ก็จะทำให้เราได้ภาพดีๆ และได้หลากหลายชนิดมากขึ้นครับ

..ก่อนจากกันผมขอฝากช่างภาพมือใหม่หลายๆ ท่านที่ชื่นชอบการถ่ายภาพสัตว์นะครับ ว่า “การไม่ได้ภาพ ยังไม่เลวร้ายเท่ากับการรบกวนสัตว์” และการจะได้ภาพ เราเองควรเข้าไปหาโอกาสในการได้ภาพบ่อยๆ ครับ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเฝ้ามอง และบันทึกภาพธรรมชาตินะครับ..

เรื่อง / ภาพ : สุริโย ตาไธสง