Basic

Basic Lighting for Fashion Photography

แสงเป็นปัจจัยสำคัญในการถ่ายภาพแฟชั่นไม่แตกต่างกับการถ่ายภาพอื่นๆ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่เพียงทำให้เกิดภาพเท่านั้น แต่ยังสร้างความน่าสนใจในภาพด้วย ซึ่งในการใช้แฟลชที่มักเรียกกันว่าไฟสำหรับการถ่ายภาพแฟชั่นรวมไปถึงภาพพอร์เทรตมีหลายหลักการในการจัดแสงที่นักถ่ายภาพควรรู้เพื่อใช้ในการควบคุมแสงในขณะกำลังถ่ายภาพ โดยนักถ่ายภาพควรเข้าใจว่าการใช้แสงลักษณะใดจะสามารถให้อารมณ์หรือถ่ายทอดอารมณ์ของภาพได้ถูกต้องตามที่ต้อง กับลักษณะของภาพ หรือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการนำเสนอผู้เป็นแบบในภาพ นอกจากนี้อีกสิ่งที่ควรจะรู้คือกฏที่ควรทำตามและรู้ว่าควรจะออกนอกกรอบเมื่อใดหรืออย่างไรเพื่อทำให้เกิดภาพที่ดี ต่อไปนี้เป็นเทคนิคทั่วไปในเรื่องแสงที่นักถ่ายภาพควรรู้

ทำความเข้าใจเรื่องแสง

คุณสมบัติแรกของแสงที่นักถ่ายภาพจะต้องพบหรือเลือกใช้เมื่อถ่ายภาพคนคือลักษณะที่แข็งหรือนุ่มของแสง แสงที่มีความแข็งหรือ Hard Light จะทำให้เกิดเงาที่ดำและเด่นชัด ขณะที่แสงที่มีความนุ่มหรือ Soft Light จะทำให้เงามีความนุ่มหรืออ่อนลงและมีการไล่โทนระหว่างส่วนมืดและสว่างในภาพมากขึ้น

สิ่งที่ทำให้แสงแข็งหรือนุ่มไม่ใช่ชนิดของแหล่งแสง แต่เป็นอัตราส่วนระหว่างขนาดของแหล่งแสงที่เห็นเมื่อเทียบกับขนาดวัตถุ เช่น เฉพาะแฟลชอย่างเดียวจะทำให้เกิดแสงที่แข็งกว่าเมื่อถ่ายภาพคนหากเทียบกับถ่ายภาพแมลง อุปกรณ์ปรับแต่งแสงอย่างร่มและซอฟต์บ็อก รวมทั้งการเบ๊าช์แฟลชกับผนังสีขาวจะช่วยให้แสงแฟลชนุ่มขึ้นเนื่องจากสิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนแหล่งแสง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าต้นกำเนิดแสงจริงๆ อย่างแฟลชหลายเท่า

สิ่งสุดท้ายที่นักถ่ายภาพควรรู้เกี่ยวกับแสงก็คือกำลังหรือความแรงของแสงแฟลชจะลดลงตามกฏ Inverse Square Law ซึ่งสิ่งนี้หมายความว่าทุกระยะที่ห่างมากขึ้น 2 เท่าระหว่างแฟลชกับวัตถุ ความเข้มหรือความแรงของแสงแฟลชบนวัตถุจะลดลง 1/4 ซึ่งคุณสมบัติด้านนี้ของแสงแฟลชทำให้เกิดผลที่เรียกว่า Light Fall-off ซึ่งใช้ในการถ่ายภาพคนเพื่อการควบคุมลักษณะของแสงบนตัวแบบได้ดีขึ้น


แสงธรรมชาติ กับ แสงในสตูดิโอ

โดยทั่วไปแล้วสำหรับผู้เริ่มถ่ายภาพมักจะรู้สึกว่าการจัดไฟเพื่อถ่ายภาพมักเป็นเรื่องยาก และการถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติง่ายกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่เป็นอย่างนั้น เพราะแสงจากแหล่งแสงประดิษฐ์ต่างๆ มีจุดเด่นที่สำคัญคือ ช่วยให้นักถ่ายภาพมีความยืดหยุ่นในการให้แสงแก่ตัวแบบมากกว่าและนักถ่ายภาพสามารถควบคุมค่าบันทึกภาพได้มากกว่าสถานการณ์ที่ใช้แสงธรรมชาติที่มีอยู่ในขณะนั้นถ่ายภาพ นอกจากนี้ในการแก้ไขค่าบันทึกภาพเมื่อใช้แสงธรรมชาติถ่ายภาพ รวมทั้งเมื่อใช้แสงผสมระหว่างแสงธรรมชาติกับแฟลช นักถ่ายภาพจะต้องปรับตั้งค่าบันทึกภาพที่กล้องให้เหมาะสมกับแสงในธรรมชาติขณะนั้นด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้นักถ่ายภาพต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าลง หากไม่ได้ใช้เลนส์ที่มีความไวแสงอย่าง F1.4-F2.8

การใช้แหล่งแสงเดียว

การถ่ายภาพโดยใช้แหล่งแสงเดียวเป็นวิธีที่ดีในการเรียนรู้รูปแบบการจัดแสงพื้นฐานที่ใช้ในการถ่ายภาพคน และยังทำให้นักถ่ายภาพสามารถเน้นความสำคัญไปกับมุมมองในการถ่ายภาพคนมากกว่าเรื่องเทคนิค อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นการใช้แฟลชเพียงตัวเดียวจะสามารถสร้างลักษณะต่างๆ ของแสงบนตัวแบบได้มากมายตั้งแต่ภาพที่มองเห็นลายละเอียดชัดเจนเมื่อวางตำแหน่งแฟลชไว้ที่ด้านหน้าตัวแบบ ทำมุมเฉียง 45 องศากับตัวแบบซึ่งทำให้เห็นรายละเอียด 3/4 ของใบหน้า วางตำแหน่งแฟลชไว้ที่ด้านข้างของตัวแบบซึ่งทำให้เห็นรายละเอียดบนใบหน้าเพียงครึ่งเดียว และปรากฏเเฉพาะแสงตามขอบของร่างกายเมื่อวางแฟลชไว้ที่ด้านหลังตัวแบบโดยหันแฟลชเข้าหากล้อง หรือตัวแบบปรากฏเป็นเงาดำโดยมีฉากหลังเป็นสีขาวเมื่อหันแฟลชที่อยู่ด้านหลังตัวแบบเข้าหาฉากหลังที่เป็นสีขาว แต่นอกจากตำแหน่งของแฟลชแล้ว ตำแหน่งของกล้องก็มีผลต่ออัตราส่วนของแสงและเงาบนใบหน้าด้วย

ทิศทางของแสง

แสงด้านหน้า คือการวางตำแหน่งวัตถุหรือผู้เป็นแบบในภาพเพื่อให้แสงเข้าสู่ที่ใบหน้า โดยที่นักถ่ายภาพยืนหันหลังให้แหล่งแสง โดยแสงควรให้ความสว่างแก่แบบและมีความสว่างที่เหมาะสม แสงในลักษณะนี้ส่งผลให้ภาพดูมีความสว่างสดใสและมีรายละเอียดที่ชัดเจน

แสงจากด้านข้าง กับการจัดแสงในลักษณะนี้ผู้เป็นแบบควรจะยืนโดยที่แสงตกที่ไหล่ข้างหนึ่ง และสามส่วนสี่ของศรีษะควรได้รับแสง ด้วยตำแหน่งของแฟลชจะช่วยให้มีความต่อเนื่องในการเปลี่ยนระหว่างพื้นที่เงาและไฮไลต์ รวมทั้งยังช่วยให้เกิดมิติความลึกแก่คนในภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญเทคนิคการใช้แสงถ่ายภาพ

ใช้หลายแหล่งแสงร่วมกัน

เมื่อนักถ่ายภาพฝึกและควบคุมการใช้แหล่งแสงเดียวเพื่อถ่ายภาพได้แล้ว สิ่งต่อไปที่ควรเรียนรู้คือการใช้แฟลชร่วมกันหลายตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งนักถ่ายภาพแฟชั่นและภาพพอร์เทรตทำกันในสตูดิโอหรือเมื่อถ่ายภาพกลางแจ้ง ซึ่งด้วยการใช้แฟลชร่วมกันหลายตัวจะทำให้สามารถใช้รูปแบบแสงต่างๆ กับวัตถุหรือบุคคลในภาพได้มากขึ้น มีความซับซ้อนขึ้น รวมทั้งยังสามารถใช้เพื่อแยกตัวแบบให้มีความโดดเด่นจากฉากหลังได้ โดยต่อไปนี้คือแสงต่างๆ ที่มักใช้ทั่วไปในการปรับตั้งเมื่อใช้ไฟร่วมกันหลายตัว ซึ่งจะถูกเรียกตามหน้าที่ของแหล่งแสงนั้นซึ่งมักจะประกอบด้วย

Key Light/Main Light : ทำหน้าที่เป็นแสงหลักในภาพ โดยเป็นสิ่งกำหนดรูปแบบของแสง และเมื่อมีการแสดงเป็นอัตราส่วนแสง ตัวเลขแรกที่แสดงคือแสงหลัก เช่น อัตราส่วนแสง 4:1 เลข 4 ใช้เพื่อแสดงถึง Key Light

Fill Light : เป็นแสงที่ใช้เพื่อเสริมเข้าไปเบาๆ ในส่วนที่เป็นเงา โดยทั่วไป Fill Light จะอ่อนกว่า Key Light โดยมักจะปรากฏเป็นตัวเลขที่ 2 ในอัตราส่วนของแสง เช่น 4:1 เลข 1 หมายถึง Fill Light

Hair/Separate/Rim Light : แสงจากแหล่งแสงนี้จะใช้เพื่อไม่ให้ตัวแบบในภาพกลืนไปกับฉากหลังมากเกินไป โดยทั่วไปแสงที่ทำหน้าที่เป็น Hair/Separate/Rim Light มักจะถูกวางที่ด้านข้างหรือด้านหลังของตัวแบบเพื่อทำให้เกิดไฮไลต์ที่ตัวแบบหรือเส้นของแสงที่ขอบของตัวแบบ

Background Light : เป็นการให้แสงไปที่ฉากหลัง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะใช้ในภาพลักษณะ High Key แต่นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นแสงเพื่อแยกตัวแบบจากฉากหลังได้ หรือใช้เพื่อเพิ่มสีสันให้แก่ฉากหลังด้วยการใช้เจลสีหน้าแฟลช

การใช้เแฟลชร่วมกันหลายตัวทำให้ง่ายในการควบคุมคอนทราสต์ของภาพโดยการเปลี่ยนอัตราส่วนของแสงระหว่างไฟหลักกับ Fill Light โดยทั่วไปหากต้องการภาพที่มีคอนทราสต์สูงมักจะใช้อัตราส่วนระหว่างไฟหลักกับ Fill Light 8:1 กับนายแบบ ขณะที่กับนางแบบจะมีลดอัตราส่วนลงมาให้มีแสงที่มีความสมดุลย์ขึ้นโดยใช้อัตราส่วนแสง 4:1 หรือ 3:1

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรจำไว้ในการจัดแสงสำหรับถ่ายภาพก็คือสิ่งข้างต้นนี้เป็นเพียงพื้นฐานในการใช้แฟลชและเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น


Basic Light Setting

ต่อไปนี้คือรูปแบบการจัดแสงเบื้องต้นจากการใช้ไฟเพียงตัวเดียวหรือร่วมกันหลายตัวซึ่งนักถ่ายภาพสามารถนำไปใช้เพื่อลองจัดแสงและสร้างสรรค์การจัดแสงเพิ่มเติมสำหรับการถ่ายภาพต่อไปได้

Butterfly & Clamshell Lighting

เทคนิคการจัดแสง Butterfly Lighting เคยได้รับความนิยมอย่างมากโดยนักถ่ายภาพในฮอลลีวูดช่วงทศวรรษที่ 30 โดยชื่อของการจัดแสงนี้มาจากเงาที่มีรูปทรงเหมือนผีเสื้อใต้จมูกจากการจัดไฟไว้ในมุมสูงหน้าตัวแบบแล้วปรับให้หัวแฟลชกดลงทำมุม 25-70 องศา อย่างไรก็ตามนอกจากเงารูปผีเสื้อใต้จมูกแล้วยังทำให้เกิดเงาที่ใต้คางและโหนกแก้มของตัวแบบด้วย เมื่อใช้การจัดแสงลักษณะนี้ถ่ายภาพนางแบบจึงมักจะใช้ร่มหรือซอฟต์บ็อกร่วมด้วยเพื่อให้แสงมีความนุ่มขึ้น

หากต้องการให้เงาใต้จมูก คาง และโหนกแก้มของแบบจางลง ก็ทำได้ด้วยการเพิ่มแสง Fill Light เข้าไปในตำแหน่งใต้ไฟหลักเพื่อให้แสงตัวแบบจากใต้ไฟหลัก ซึ่งการจัดแสงในลักษณะนี้เรียกว่า Clamshell โดยทั่วไปแสงที่เสริมเข้าไปจะมีความแรงน้อยกว่าไฟหลักเพื่อให้ยังคงเกิดเงาจางๆ สำหรับแสงที่เพิ่มเข้าไปด้านล่างไฟหลักจะใช้ Reflector หรือแฟลชที่ปรับกำลังไฟให้น้อยกว่าแสงหลักก็ได้

Loop Lighting

หรือเรียกอีกแบบว่า Rembrandt Lighting เป็นอีกหนึ่งพื้นฐานของการจัดไฟเพียงตัวเดียวซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้งนายแบบและนางแบบ และโดยทั่วไปแล้วมักใช้อุปกรณ์ปรับแสงแฟลชอย่างซอฟต์บ็อกหรือร่มเพื่อทำให้แสงมีความนุ่มขึ้น โดยการวางตำแหน่งไฟไว้เฉียงทำมุม 45 องศาและอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าตัวแบบ โดยปรับให้หัวไฟกดลงทำมุม 45 องศา

หากไม่ต้องการให้ตัวแบบกลืนกับฉากหลังก็ทำได้ด้วยการใช้ไฟอีกตัววางไว้ที่หลังตัวแบบเพื่อให้แสงที่ฉากหลัง หรือสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของภาพให้ดูลึกลับขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนจากใช้ร่มหรือซอฟต์บ็อกมาเป็น Grid ซึ่งมีการกระจายแสงน้อยกว่า

Split Lighting

เป็นรูปแบบการจัดแสงที่ทำให้เกิดคอนทราสต์สูงบนตัวแบบ มักใช้เมื่อต้องการถ่ายภาพในลักษณะ Low Key โดยแสงในลักษณะ Spit Light เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้แฟลชตัวเดียวถ่ายภาพโดยวางตำแหน่งของแฟลชไว้ที่ด้านข้าง และเป็นหนึ่งในวิธีง่ายที่สุดในการใช้แฟลชถ่ายภาพโดยที่ทำให้เกิดความน่าสนใจในภาพได้มากด้วยการใช้แฟลชตัวเดียวโดยไม่ใช้อุปกรณ์ปรับแต่งแสงวางไว้ที่ด้านข้างตรงกับตำแหน่งไหล่ของตัวแบบ โดยกล้องอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าตัวแบบ

จากรุปแบบของแสง นักถ่ายภาพยังสามารถสร้างสรรค์ภาพเพิ่มขึ้นได้ด้วยการเพิ่มไฟเข้าไปในทิศทางตรงกันข้ามกับวิธีแรก ซึ่งจะทำให้เกิดรูปแบบของแสงที่เรียกว่า Hero Lighting ซึ่งมีชื่อเรียกตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นในภาพจากการจัดไฟซึ่งทำให้บุคคลในภาพดูมีพลังจากส่วนเงาบนพื้นที่กลางใบหน้าโดยมีไฮไลต์ที่ขอบทั้ง 2 ด้านของตัวแบบ โดยนักถ่ายภาพสามารถควบคุมพื้นที่ของเงาบนใบหน้าได้โดยให้ตัวแบบขยับมาด้านหน้าเพื่อทำให้เกิดเงาที่มากขึ้นหรือถอยหลังเพื่อให้เกิดเงาน้อยลง

Broad Lighting & Short Lighting

Broad Lighting รูปแบบการจัดแสงสำหรับถ่ายภาพคนโดยที่ตัวแบบหันหน้าเฉียงออกจากกล้องเล็กน้อย แล้วจัดไฟเพื่อให้แสงหลักอยู่ในตำแหน่งให้แสงเข้าไปที่ใบหน้าด้านที่มองเห็นมากที่สุดในภาพหรือด้านที่กว้างของใบหน้า

Short Lighting
รูปแบบการจัดแสงโดยที่ตัวแบบหันหน้าออกจากกล้องเล็กน้อย แล้ววางตำแหน่งไฟหลักเพื่อให้เข้าที่ใบหน้าด้านที่หันออกจากกล้อง หรือใบหน้าด้านที่เห็นในภาพน้อยกว่า


Natural Light

ถึงแม้ว่าการใช้ไฟถ่ายภาพแฟชั่นจะมีประโยชน์ในเรื่องการควบคุมทั้งความเข้มของแสงและเงาในแสงได้มากกว่าการใช้แสงธรรมชาติ แต่การใช้แสงธรรมชาติก็ยังคงเป็นหนี่งในทางเลือกที่น่าสนใจรวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า และสามารถสร้างภาพที่น่าสนใจได้ การใช้แสงธรรมชาติไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปยืนถ่ายภาพอยู่กลางแดด เพราะนักถ่ายภาพสามารถถ่ายภาพในอาคารหรือในร่มโดยที่ใช้แสงธรรมชาติได้ โดยสิ่งที่นักถ่ายภาพต้องการคือหน้าต่างขนาดใหญ่หรือประตูสำหรับให้แสงเข้า และอาจต้องใช้วัสดุสำหรับบังแสงเพื่อควบคุมแสง

อย่างไรก็ตามการใช้แสงธรรมชาติจากหน้าต่างเพื่อถ่ายภาพควรจะมีหน้าต่างขนาดใหญ่และอยู่ในระดับเดียวกับเสื้อผ้าหรือตัวแบบ เพราะหากหน้าต่างอยู่ในตำแหน่งที่สูงหรือต่ำเกินไปอาจทำให้เกิดเงาและให้แสงที่เสื้อผ้าได้ไม่ดีนัก หากหน้าต่างมีขนาดเล็กเกินไปก็อาจจะทำให้มีแสงน้อย หรือแสงมีลักษณะแคบไม่กระจาย ทำให้เกิดแสงไฮไลต์บนเสื้อผ้า อย่างไรก็ตามหน้าต่างที่มากเกินไปก็อาจทำให้มีแสงมากเกินไปในภาพซึ่งทำให้มีการควบคุมแสงในส่วนอื่นของภาพมากขึ้นตามมาด้วย เมื่อถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติในอาคาร ฉากหลังที่เหมาะสมควรเป็นสีขาวหรือโทนสีที่อ่อนเพื่อที่จะไม่มีความเด่นจนดึงความสนใจไปจากชุดที่ตัวแบบสวม โดยหากหน้าต่างอยู่ที่มุมห้องใกล้กับผนังจะสามารถใช้เป็นฉากหลังในภาพได้

นอกจากการใช้แสงธรรมชาติผ่านหน้าต่างเพื่อถ่ายภาพแล้ว อีกวิธีที่นักถ่ายภาพมักใช้แสงธรรมชาติเพื่อถ่ายภาพแฟชั่นคือการถ่ายภาพโดยที่ตัวแบบยืนหันหลังให้ดวงอาทิตย์โดยเฉพาะในช่วงเย็นใกล้ดวงอาทิตย์ตกเหมือนการถ่ายภาพย้อนแสง ซึ่งแสงจากดวงอาทิตย์จะทำให้เกิดแสงที่วอร์มรอบผมและตัวแบบ โดยที่สามารถถ่ายภาพโดยใช้แสงจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หรือเพิ่มแสงเข้าไปที่ตัวแบบโดยใช้ Reflector หรือแฟลชพร้อมอุปกรณ์แยกแฟลชจากกล้องเพื่อช่วยเพิ่มแสงพร้อมกับที่สามารถวางตำแหน่งแฟลชเพื่อให้เกิดความลึกและมิติที่ตัวแบบได้ โดยหากต้องการให้แสงที่เพิ่มเข้าไปในภาพมีความกลมกลืนกับแสงธรรมชาติที่วอร์มก็ควรเลือกใช้ Reflector สีทองหรือใช้เจลที่มีสีโทนวอร์มหน้าแฟลช

เมื่อถ่ายภาพโดยหันเลนส์เข้าหาดวงอาทิตย์ ปัญหาหนึ่งที่อาจตามมาคืออาการแฟลร์ ซึ่งจะส่งผลต่อคอนทราสต์และคุณภาพของภาพ นักถ่ายภาพอาจต้องให้ตัวแบบขยับตำแหน่งหรือขยับตำแหน่งของกล้องเพื่อให้ตัวแบบบังแสงจากดวงอาทิตย์ทั้งหมดหากไม่ได้ต้องเอฟเฟกต์จากแสงแฟลร์ในภาพ

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic