Photo Techniques

“Background Barista” เสกฉากหลังให้อลังการยิ่งกว่าเดิม !

หากคุณเคยดูการแสดงตามเวทีทั้งหลายละก็ แน่นอนครับว่า “ตัวเอก” คือสิ่งสำคัญที่สุดของเวทีนั้นๆ แต่รู้ไหมล่ะว่าอะไรที่จะยิ่งทำให้ตัวเอกหรือการดำเนินเรื่องราวทั้งหลายสมบูรณ์และอลังการมากยิ่งไปกว่าที่มันควรจะเป็น? จะอะไรเสียอีกล่ะครับถ้าไม่ใช่ “ฉาก” หรือฉากหลังนั่นเอง เมื่อเรากดถ่ายภาพทุกครั้ง มันจะไม่ได้มีเพียงแค่ตัวแบบหลักหรอกครับที่จะปรากฏเข้ามาในภาพ (เว้นเสียแต่ว่าตัวแบบของคุณจะล้นขอบภาพทั้งสี่ด้านออกไป) สภาพแวดล้อมหรือฉากหลังที่อยู่เลยจากตัวแบบไปนั้นย่อมจะต้องปรากฏขึ้นด้วยอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่ามันจะเป็นส่วนสีขาว สีดำ หรือสีอื่นๆ ก็ตาม มันจะถูกขนานนามว่าเป็น “ฉากหลัง” ทั้งนั้น

ทุกสไตล์ภาพล้วนต้องมีฉากหลังไม่เว้นแม้แต่กับงานมาโคร ฉากหลังทำหน้าที่หลากหลายแบบเพื่อช่วยเสริมให้ตัวแบบยิ่งดูดีดูน่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ควรจะแย่งซีนจากตัวแบบมากจนเกินไปนัก ถึงแม้ว่ามันจะฉูดฉาดน่าสนใจขนาดไหนก็ตาม หรือถ้าจะให้พูดว่าถ้าฉากหลังไม่ดีก็สามารถฉุดภาพถ่ายทั้งภาพให้วิ่งลงเหวได้เหมือนกัน

ฉากหลังช่วยเล่าเรื่องได้ครับ  หรืออาจจะไม่ต้องมาช่วยเล่าเรื่องแต่ทำหน้าที่เสริมความโดดเด่นให้ตัวแบบ เช่น ภาพแมลงที่มีฉากหลังเป็นสีเขียวหรือเป็นส่วนเบลอๆ ของต้นไม้ใบไม้ หรือฉากหลังสีดำสนิทในภาพที่มีแมลงสว่างสดใสเห็นถนัดตา อยู่ที่ว่าคนถ่ายภาพจะต้องการให้มันออกมาเป็นเช่นไร ต้องการสื่ออะไรให้ปรากฏในฉากหลัง

ในงานถ่ายภาพทั่วไปโดยเฉพาะภาพบุคคลนั้นฉากหลังมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ถึงกับที่บางครั้งช่างภาพต้องจัดแสงจัดองค์ประกอบให้กับฉากหลังโดยเฉพาะเลยทีเดียว ถึงแม้ว่ามันจะอยู่นอกโฟกัสก็ตาม เพราะว่าฉากหลังนี่แหละคือ “เวที” ของภาพถ่าย จะยิ่งใหญ่อลังการแค่ไหนก็อยู่ที่ตรงนี้

งานมาโครก็เช่นกันครับ ส่วนมากแล้วถ้าจะเอาปลอดภัยเข้าว่าก็ต้องเล่นฉากหลังสีดำสนิทเข้าไว้ ปล่อยให้ตัวแบบโดดเด่นด้วยอิทธิพลของแสงแฟลชที่จะฉาบลงไปบนตัวมัน ยิ่งถ้าเป็นประเภทที่มีสีสันสดใสแล้วละก็แทบจะดึงสายตาทุกคู่ให้จ้องมองมาเลยทีเดียว

แต่ก็ใช้ว่าฉากหลังสีดำจะปลอดภัยเสมอไป ในกรณีที่ตัวแบบของคุณมีลักษณะสีมืดๆ โดยธรรมชาติอยู่แล้ว การอยู่บนฉากหลังสีดำสนิทก็อาจจะทำให้มันกลายเป็นภาพที่ต้องค้นหา คือต้องค้นหาว่ามันมีตัวอะไรอยู่ในภาพกันแน่? หรือว่ามันเป็นภาพที่ลืมเปิดฝาเลนส์? หรือต้องใช้คาถาอาคมเพ่งเสกเป่าเพื่อให้เกิดภาพ ฯลฯ มันจะออกแนวตลกร้ายไปสักหน่อยถ้าเราไม่เลือกใช้มันให้ดี

ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าเรามีแต่ภาพที่เป็นฉากหลังสีดำ (หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “ภาพหลังดำ”) บางทีมันก็อาจจะค่อยๆ ดูน่าเบื่อเหมือนกับการกินนํ้าพริกถ้วยเก่าซํ้าๆ (คำเปรียบเทียบอาจจะดูรุนแรงไปนิด) เพราะในบางขณะคนดูภาพของเราก็คงจะอยากรู้บ้างล่ะว่าแถวนั้นมันมีอะไรนอกจากความมืด? มันเคยเจอแสงสว่างบ้างไหม? เราเคยออกจากถํ้าบ้างไหม? ฯลฯ อะไรอย่างนี้เป็นต้น

ที่ยกมานี้ไม่ใช่จะสื่อว่าภาพหลังดำมันไม่เข้าท่านะครับ ผมเองก็ถ่ายภาพแบบนี้บ่อยมากเหมือนกัน เพียงแต่อยากกระตุ้นคุณๆ ทั้งหลายที่อยู่สายมาโครให้ลองถ่ายภาพที่ฉากหลังเป็นสีสันดูมีชีวิตชีวามาสลับสับเปลี่ยนบรรยากาศมาคุผีหลอกวิญญาณหลอนดูบ้าง และดูท่าทางว่าฉากหลังเป็นสีๆ กำลังเป็นเทรนด์ที่น่าจะมาแรงในอีกไม่ช้า ฝึกๆ เอาไว้ก็ไม่เห็นจะน่าเสียหายตรงไหนเลยนี่นะ


ถ่ายภาพแบบหลังดำ

ภาพแบบนี้ก็ยิ่งเป็นบรรยากาศที่ชัดเจนว่าเราควรใช้ฉากหลังสีดำ ไม่อย่างนั้นละอองของนํ้าที่อุตส่าห์สร้างขึ้นมาอาจจะถูกกลืนไปกับฉากหลังได้ง่าย: Canon EOS 6D, Lens Tamron SP 90mm f/2.8 Macro Di VC USD, 1/180 sec., f/19, ISO-200, Metering Mode : Pattern, WB : Auto

เค้าเล่นมุกกันทั่วไปละครับว่าให้ถอดเสื้อเดินถ่ายภาพกลางแดด แป๊บเดียวหลังก็ดำสมใจนึก แต่ไม่ว่าคุณจะถอดหรือใส่เสื้อก็สามารถถ่ายภาพที่มีฉากหลังเป็นสีดำได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้ :

แบบแรกคือ ใช้แสงตามธรรมชาติ วิธีนี้คุณต้องรู้จักดูเหลี่ยมมุมของแสงและฉากหลังสักหน่อย บริเวณตัวแบบของคุณต้องโดนแสงแดดให้แรงพอสมควร ในขณะที่ด้านหลังซึ่งเลยไกลออกไปนั้นควรจะต้องอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นเงาโดยมุมกล้อง ยกตัวอย่างเช่นแมลงเกาะอยู่บนดอกไม้ที่โดนแสงแดด แต่ฉากหลังเป็นส่วนเงาครึ้มของร่มไม้ใบบัง อันนี้ก็จะได้ภาพแบบฉากหลังดำโดยอาศัยมุมกล้องและความเปรียบต่างทางปริมาณแสงระหว่างด้านหน้าและด้านหลัง แต่ภาพอาจจะได้ฉากหลังที่ไม่ดำสนิทมากนักถ้าความเปรียบต่างของแสงไม่แรงเข้าขั้นจริงๆ อย่างเช่นในวันที่ฟ้าขมุกขมัวปริมาณแสงเท่ากันไปซะหมด อันนี้ก็ดูจะเป็นความพยายามที่ไร้ผลไปสักนิด

แบบที่สองก็คือ การร่วมมือกันระหว่าง “แฟลช” และ “สปีดชัตเตอร์” ซึ่งอันนี้จะเป็นเทคนิคที่ใช้กันทั่วไปในหมู่ช่างภาพที่เป็นมวย (หมายถึงคนถ่ายภาพที่ชำนาญ ไม่ได้หมายถึงช่างภาพที่สามารถหักงวงไอยรา หรือนักมวยที่พกเลนส์อยู่ในกระเป๋ากีฬา) จริงๆ แล้วหลักการในเรื่องนี้ไม่ใช่อะไรที่สลับซับซ้อนเลยครับ แค่เราปรับสปีดชัตเตอร์ให้เกิดภาวะ “อันเดอร์” สำหรับสภาพแสงแวดล้อมปกติ คือถ่ายภาพออกมาแล้วมืดไปทั้งภาพ จากนั้นก็เติมแสงแฟลชสว่างๆ เข้าไปที่ตัวแบบ ส่งผลให้ในภาพถ่ายของเราจะปรากฏเฉพาะตัวแบบที่โดนแสงแฟลชขึ้นมานั่นเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณต้องคำนึงถึงเรื่องทิศทางของแสงแฟลชด้วยนะครับ อย่างเช่น ถ้าใช้แฟลชป๊อบ-อัพของกล้องเพื่อสาดแสงไปยังตัวแบบ ทิศทางของแสงมันก็จะวิ่งตรงไปถึงด้านหลัง ซึ่งก็จะทำให้อะไรก็ตามที่อยู่ด้านหลังนั้นสว่างโพลงขึ้นมาด้วยเช่นกัน ภาพหลังดำก็เลยต้องแห้วไปตามระเบียบ แต่ถ้าใช้แฟลชแยกที่แยกออกมาจากตัวกล้องได้แล้วส่องมาจากด้านข้าง ด้านล่าง ด้านบน หรือด้านไหนก็ตามแต่อารมณ์อันพิสดารของคุณ ขอให้มันไม่วิ่งไปโดนด้านหลังด้วยก็เป็นอันว่าได้ภาพฉากหลังดำแน่นอน

อ้อ…อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ระยะห่างของสิ่งที่อยู่ด้านหลังครับ ยิ่งมันอยู่ไกลออกไปมากก็จะยิ่งโดนแสงน้อยลง หรือพูดอีกอย่างก็คือจะมืดลง ดังนั้นยิ่งมันไกลได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีสำหรับภาพหลังดำ ซึ่งจะทำให้เราทำงานง่ายขึ้นนั่นเอง

เทคนิคภาพแบบฉากหลังดำก็จะช่วยให้ตัวแบบประเภทที่มีสีสันสะดุดตาดูโดดเด่นชวนมองมากยิ่งขึ้นด้วย: Canon EOS 6D, Lens EF 40mm f/2.8 STM, 1/180 sec., f/16, ISO-200, Macro Extension Tube 52mm, Metering Mode : Pattern, WB : Auto

บางท่านก็เล่นวิธีหลังดำแบบหักดิบโดยการใช้ผ้าดำ กระดาษดำ หรือกระเป๋ากล้องสีดำนี่แหละวางบังทางด้านหลังตัวแบบซะเพื่อความชัวร์ ซึ่งก็ได้เหมือนกันครับ เพียงแค่ควบคุมไม่ให้มีแสงไปโดนมันเข้าก็พอ

ขอให้คุณสังเกตเข้าไว้ครับ ยิ่งเราใช้สปีดชัตเตอร์เร็วมากเท่าไหร่แสงธรรมชาติจากสภาพแวดล้อมก็จะยิ่งเข้าได้น้อยลงเท่านั้น จากนั้นก็เติมแสงแฟลชเข้าไปที่ตัวแบบหลักในภาพ ซึ่งสปีดชัตเตอร์ที่จะมีผลต่อปริมาณแสงแฟลชนั้นต้องเป็นระดับ 1/1000 sec. ขึ้นไป ดังนั้นถ้าความเร็วต่ำกว่า 1/1000 sec. ก็จะไม่มีผลต่อปริมาณความสว่างของแสงแฟลชแต่ฉากหลังก็จะค่อยๆ มืดลงตามลำดับความเร็ว เพียงแต่ถ้าคุณใช้ที่ความเร็วสูงกว่า X-Sync ของกล้อง (ความเร็วสูงสุดที่สัมพันธ์กับระบบแฟลช) คุณก็จะต้องเปิดใช้ระบบ High Speed Sync ของแฟลชด้วย ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในคำภีร์โบราณเก่าแก่ฝุ่นจับ (แถมเอาไปเก็บไว้ที่ไหนก็ไม่รู้) ซึ่งเรียกว่า “คู่มือ” ที่เราได้มาจากตอนซื้อนั่นแหละ

ค่า ISO มีผลต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจนครับ ยิ่ง ISO สูงขึ้นก็จะยิ่งปรากฏความสว่างของแสงทั้งสองส่วนขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ คุณต้องลองปรับใช้ในแต่ละสถานการณ์ดู

เราสามารถประยุกต์ทั้งสองวิธีสำหรับการสร้างฉากหลังดำนี้มาใช้ร่วมกันได้ด้วย เพื่อความชัวร์ในภาพหลังดำว่ามันจะดำปี๋สมใจอยากแน่ๆ แต่ลำพังแค่การควบคุมทิศทางแสงแฟลชและปรับใช้สปีดชัตเตอร์ที่เหมาะสมก็จะบันดาลภาพหลังดำให้คุณได้แล้วล่ะ

สภาพแวดล้อมแบบเบลอหลุดโฟกัสก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยเล่าเรื่องและแสดงบรรยากาศรอบข้างได้ ซึ่งนี่จัดเป็นคุณสมบัติของเลนส์มาโครอยู่แล้ว เพียงแค่ระวังเรื่องระยะห่างให้ดี ซึ่งบางทีมันอาจจะให้ผลที่ต่างกันด้วยการกดหน้ากล้องเพียงนิดเดียวก็เป็นได้: Canon EOS 100D, Lens Tamron SP90mm f/2.8 Di VC USD Macro, 1/100 sec., f/9, ISO-100, Metering Mode : spot, WB : Auto

………………………….
ปัจจัยที่มีผลต่อภาพหลังดำก็คือ :
– สปีดชัตเตอร์ ที่จะช่วยตัดปริมาณแสงแวดล้อม (ที่อยู่บนฉากหลัง) ออกไป
– ปริมาณแสงที่ฉากหลัง ควรต้องมืดกว่าที่ตัวแบบ ถ้ามันสว่างพอๆ กันหรือสว่างกว่าตัวแบบคุณก็ควรต้องเปลี่ยนมุมหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้แสงสว่างนั้นพุ่งเข้ามาหากล้องได้
– ระยะห่างของฉากหลัง ยิ่งห่างออกไปมันก็จะยิ่งมืดได้มาก ยิ่งใกล้เข้ามามันก็มีโอกาสที่จะปรากฏขึ้นในภาพได้มาก ดังนั้นอย่าคิดถ่ายภาพหลังดำของแมลงที่เกาะอยู่บนผนังสีขาวล่ะ


ภาพฉากหลังไม่ดำ

ภาพกํ้ากึ่งระหว่างฉากหลังสีและฉากหลังดำ ขึ้นอยู่กับลักษณะตัวแบบของคุณเป็นสำคัญ: Pentac K-3, Lens SMC Pentax-D FA 100mm f/2.8 Macro WR, 1/80 sec., f/9, ISO-100, Metering Mode : Pattern, WB : Auto

ก็ย่อมจะต้องเป็นภาพที่ตรงข้ามกับภาพหลังดำอยู่แล้ว (มุกประมาณถอดเสื้อเดินถ่ายภาพกลางแดดแต่ทาซันบล็อค SPF300 เอาไว้) มันจะช่วยเรียกร้องความสนใจจากผู้ดูภาพ ช่วยเล่าเรื่อง ทำให้บรรยากาศของภาพดูเป็นธรรมชาติ แต่ก็ต้องเลือกใช้ให้ดี ควรระวังไม่ให้ตัวแบบและฉากหลังทะเลาะตบตีแย่งชิงความเด่นซึ่งกันและกัน

โดยมากแล้วฉากหลังสำหรับภาพมาโครก็มักจะเป็นส่วนสีที่เบลอๆ (ปรากฏในคำเรียกโดยทั่วไปว่า “ละลาย”) ด้วยลักษณะชัดตื้นของเลนส์ประเภทนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นส่วนดีที่มันจะไม่มีรายละเอียดอะไรปรากฏขึ้นมากมายนักเพราะนั่นจะเป็นการแย่งซีนกันเห็นๆ และเราก็สามารถหยิบฉวยหาประโยชน์ได้จากคุณลักษณะนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกันด้วย

วิธีการถ่ายภาพหลังไม่ดำนี้ก็จะมีวิธีที่ตรงกันข้ามกับภาพหลังดำครับ ในเมื่อสปีดชัตเตอร์เร็วจะยิ่งตัดแสงแวดล้อมออก เราก็ใช้สปีดชัตเตอร์ที่ช้าลงเพื่อปล่อยให้แสงแวดล้อมนั้นเข้ามาปรากฏในภาพ จัดแสงหรือเพิ่มแสงเข้าไปให้ฉากหลังโดยตรง หรือถ้าคุณยิงแฟลชก็อาจจะใช้ทิศทางเฉียงๆ เผื่อแผ่แสงไปให้ฉากหลังบ้าง และก็ไม่ต้องให้มันมีระยะห่างที่มากจนเกินไปนัก

1/160 sec., f/32, ISO-100

2 sec, f/32, ISO-100

เราสามารถควบคุมปริมาณแสงของฉากหลังได้ว่าจะให้มืดหรือสว่างโดยการใช้ความเร็วชัตเตอร์เป็นสำคัญ ชัตเตอร์ยิ่งช้าลงก็จะยิ่งทำให้แสงที่ฉากหลังเข้ามาได้มากขึ้นด้วย บางกรณีนั้นคุณอาจจะต้องใช้ขาตั้งกล้องเข้ามาร่วมเพราะมันอาจจะต้องใช้สปีดชัตเตอร์ที่ตํ่ามากจนไม่สามารถถือกล้องด้วยมือเปล่าได้..

อย่างที่บอกครับว่าเราสามารถหาประโยชน์จากคุณสมบัติความชัดตื้นของเลนส์มาโคร คุณอยากได้ฉากหลังสีไหนก็หยิบเอาไว้วางไว้ด้านหลังให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย จะเป็นใบไม้สีสดหรือสีแห้งแถวนั้น ก้อนหิน ดอกไม้ หรือแม้กระทั่งซองขนมขบเคี้ยวสีฉูดฉาด เมื่ออยู่ในระยะที่เหมาะสมมันก็จะเบลอละลายสีเข้าหากันจนมองไม่ออกว่าแท้ที่จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่? แต่ก็จะให้อารมณ์แห่งสีสันได้อย่างเหนือธรรมชาติแต่ดูเป็นธรรมชาติ…ฟังดูงงพิลึกแต่ได้ผลดี

อันนี้เป็นข้อได้เปรียบครับ เราสามารถจัดสีสันของฉากหลังได้เอง จะจับจะถือ จะเหน็บจะเสียบอะไรเอาไว้ก็แล้วแต่ ขอให้มันอยู่ในระยะที่เหมาะสมแก่ความสว่างและความเบลอของมัน อย่าให้ดูจงใจจนเกินไปนัก บางกรณีนั้นมันจะกลายเป็นพื้นสีเรียบๆ แล้วปล่อยให้ตัวแบบหลักของคุณแสดงสดได้เต็มที่ไปเลย ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วข้างหลังมันคือป่ารกชัดๆ แต่เราก็สามารถเสกสรรค์ภาพที่มีฉากหลังอันสุดยอดขึ้นมาได้เหมือนกัน

ลองเก็บใบไม้แก่สีส้มแดงที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นมาวางเป็นฉากหลังดู บางทีมันอาจจะทำให้คุณลืมภาพหลังดำไปอีกนานเลยก็เป็นได้ : Canon EOS 5D MK II, Lens EF 100mm f/2.8L Macro IS USM, 1/100 sec., f/13, ISO-100, Metering Mode : Spot, WB : Auto

ในท้ายที่สุด…จริงๆ แล้วฉากหลังแบบไหนเราก็สามารถบันดาลได้ทั้งนั้นถ้าใช้โปรแกรมแต่งภาพจนเป็นมวย (อันนี้ก็หมายถึงนักแต่งภาพที่ชำนาญอีกนั่นแหละ ไม่ได้หมายถึงนักมวยที่แต่งภาพหรือนักแต่งภาพที่เป็นนักมวย) แต่มันจะสนุกกว่ามากครับถ้าเราทำมันได้ซะตั้งแต่ในขั้นตอนการถ่ายภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ยุ่งยากจนกลายเป็นเรื่องราวดราม่าสู้ชีวิตหลังกล้องแต่อย่างใด อาศัยการฝึกฝนทำความเข้าใจและหัวคิดสร้างสรรค์ประยุกต์เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง และมันยังช่วยประหยัดเวลาในขั้นตอนการแต่งภาพให้กับเราอีกมากมายและได้ภาพที่ดูเป็นธรรมชาติที่สุด ผมเองแม้จะพอตกแต่งภาพได้อยู่บ้างแต่ก็ยังนิยมทำให้มันสำเร็จมาตั้งแต่ตอนกดชัตเตอร์ จากนั้นก็ค่อยมาตกแต่งเก็บรายละเอียดอีกนิดหน่อยก็สำเร็จสมบูรณ์…ง่ายกว่าเยอะ แถมยังสนุกกว่าด้วย

สีเขียวของใบไม้นั้นเป็นสิ่งที่ลงตัวที่สุดกับแมลงในธรรมชาติ เพราะนอกจากจะช่วยเล่าเรื่องราวแล้วมันยังทำให้ผู้ดูภาพเกิดความประทับใจได้ง่าย แมลงหลายชนิดไม่ได้มีสีสันสะดุดตามากนัก ดังนั้นการใช้สีของฉากหลังเข้ามาช่วยจะทำให้ภาพดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น : Pentax K-3, Lens smc D FA 100mm f/2.8 WR Macro, 1/100 sec., f/5.6, ISO-100, Metering Mode : Pattern, WB : Auto

ฉากหลังที่ให้สีแพรวพราวก็จะทำให้อารมณ์ของภาพเปลี่ยนไปทันที ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับไอเดียสร้างสรรค์ของเราเองด้วย : Canon EOS 100D, Lens Tamron 60mm f/2 Di II Macro, 1/125 sec., f/8, ISO-200, Metering Mode : Spot, WB : M

สีเขียวของผืนหญ้าถูกละลายเข้าหากันเป็นฉากหลังที่คุมโทนของภาพนี้ได้อย่างแนบเนียนราวกับเป็นภาพที่เซตถ่ายในสตูดิโอ : Pentax K-3, Lens SMC Pentax-D FA 100mm f/2.8 Macro WR, 1/125 sec., f/10, ISO-200, Metering Mode : Pattern, WB : Auto

อีกหนึ่งในวิธีการเล่นกับกรอบสี่เหลี่ยมที่เรียกว่าภาพถ่ายครับ มันช่วยให้เราเข้าใกล้ความคุ้มค่ากับราคาที่ควักสตางค์จ่ายไปตอนซื้อกล้องเข้าไปอีกด้วยนะ…นี่พูดเลย..

 

เรื่อง/ภาพ : ปิยะฉัตร แกหลง