Basic

8 เทคนิคพื้นฐานการถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ดี

8 Tips for Any Photographer Using Any Camera
8 เทคนิคพื้นฐานการถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ดี เป็นเทคนิคพื้นฐานที่ช่างภาพทุกคน ทุกระดับนำไปใช้งานได้ และยังใช้ได้กับการถ่ายภาพจากกล้องทุกประเภทอีกด้วย
Tip 1: เรียนรู้เรื่องของแสง

คำว่า Photography มีความหมายจากคำสองคำรวมกันหมายถึงการเขียนด้วยแสง means (‘writing (graph) with light (photo)’) แสงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากต่อการถ่ายภาพ การทำงานของกล้องถ่ายภาพก็คือการเปิดให้แสงผ่านเข้าไปในเซ็นเซอร์รับภาพ/ฟิล์ม ภาพถ่ายที่ดีเกิดจากการเปิดให้แสงในปริมาณที่เหมาะสมผ่านเข้าไปในกล้อง การเรียนรู้เรื่องแสง ทิศทางของแสง สามารถทำได้แม้จะไม่มีกล้องอยู่ในมือ รวมทั้งการสังเกตุช่วงเวลาที่แสงมีสีสันสวยงามเหมาะกับการถ่ายภาพ การสังเกตุลักษณะของแสงที่ส่องผ่านหรือทะลุวัตถุ แสงตกกระทบเกิดเป็นเงา การเรียนรู้เรื่องของแสง รู้จักนำมาใช้ในการถ่ายภาพ เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่ดีได้
มากกว่าครึ่งทางแล้วครับ


Tip 2 : จัดองค์ประกอบภาพ


การจัดองค์ประกอบภาพ มีหลากหลายวิธีที่สามารถนำมาใช้กับการถ่ายภาพได้ แต่หลักการจัดองค์ประกอบพื้นฐานที่ได้รับความนิยม ถูกนำมาใช้มากที่สุด และช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่มีองค์ประกอบสวยงามได้ง่ายๆคือ กฎสามส่วน ‘rule of thirds’ หรือ จุดตัดเก้าช่อง หลักการจัดองค์ประกอบภาพแบบนี้ใช้การลากเส้นสมมุติขึ้นในเฟรมภาพแนวตั้งและแนวนอนอย่างละ 2 เส้นเท่าๆกัน จะแบ่งเฟรมภาพออกเป็น 9 ช่อง ให้เลือกวางวัตถุหลักของภาพที่จุดตัดของเส้นทั้ง 4 จุด ซึ่งเป็นจุดที่มีความลงตัวทั้งระยะห่าง ความสมดุลย์ ช่วยดึงดูดสายตาผู้ชม และสร้างความน่าสนใจให้ภาพได้อย่างง่ายดาย

การใช้กฎการจัดองค์ประกอบภาพชนิดนี้ สามารถทำตามกฎแบบตายตัว หรือจะแหกกฎวางวัตถุในตำแหน่งอื่นๆบ้าง ก็ยังทำให้ได้ภาพถ่ายที่ดีเช่นกัน

Tip 3 : ภาพถ่ายที่ดีต้องมีเรื่องราว

ภาพถ่ายที่ดีต้องมีเรื่องราวในภาพ เป็นคำที่ได้ยินติดหู และมีความสำคัญไม่แพ้การจัดองค์ประกอบของภาพถ่าย ก่อนถ่ายภาพ ช่างภาพต้องคิดเสมอว่าจะสื่อเรื่องราวอะไรในภาพ หรือต้องการถ่ายภาพอะไร วัตถุหลักในภาพคืออะไร มีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด เรื่องราวของภาพถ่ายที่ดีเกิดขึ้นจากกระบวนการคิดของช่างภาพ ไม่ใช่เกิดจากกล้องและอุปกรณ์ จำไว้เสมอว่ากล้องและอุปกรณ์ที่ดีกว่า ราคาแพงกว่า หรือมีคุณสมบัติสูงกว่า เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้การถ่ายภาพทำได้สะดวกมากขึ้น มีรายละเอียดหรือความละเอียดของไฟล์มากขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถช่วยสร้างภาพที่มีเรื่องราวที่ดีขึ้นมาได้ บ่อยครั้งที่ภาพถ่ายจากกล้องราคาถูก หรือกล้องสมาร์ทโฟนทั่วๆไป ได้รับรางวัลในการประกวดรายการต่างๆ นั่นเป็นเพราะเรื่องราวในภาพนั่นเอง


Tip 4 : ให้ความสำคัญกับฉากหลัง


การถ่ายภาพประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายสิ่งของ ทิวทัศน์หรือถ่ายภาพบุคคล เมื่อจัดวางวัตถุหลักไว้ในตำแหน่งที่ดีแล้ว การคำนึงถึงส่วนที่เหลือในเฟรมภาพ หรือฉากหลังก็ยังนับเป็นส่วนสำคัญ ก่อนถ่ายภาพควรเดินหรือสำรวจรอบวัตถุหลักเพื่อสังเกตุหาฉากหลังที่ช่วยส่งให้วัตถุหลักดูโดดเด่นขึ้นมาได้ ไม่มีกฎตายตัวว่าฉากหลังที่ดีจะต้องเป็นฉากที่มืดหรือสว่าง ต้องเป็นฉากที่มีสีสันหรือสีพื้น ฉากหลังที่ดีจะต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ภาพมีความน่าสนใจมากขึ้น หรือไม่ก็อาจจะทำให้ภาพนั้นกลายเป็นภาพที่ขาดความน่าสนใจไปได้เช่นเดียวกัน


Tip 5 : ลองถ่ายภาพในมุมมองใหม่ๆที่แตกต่างจากมุมเดิมๆบ้าง


ช่างภาพส่วนใหญ่มักจะถ่ายภาพในมุมมองที่คุ้นเคย และมักจะเป็นมุมเดิมๆที่ซ้ำๆกันกับช่างภาพคนอื่นๆ การมองหามุมมองใหม่ๆจะช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มความน่าสนใจให้ภาพถ่ายได้ เช่น การถอยให้ห่างจากระยะเดิมๆ หรือขยับเข้าใกล้มากขึ้น ถ่ายภาพจากในมุมต่ำหรือสูง หรือพยายามสังเกตุ และมองหามุมอื่นๆมาใช้กับภาพถ่ายของตัวเองบ้าง


Tip 6 : เก็บรายละเอียด


ในการถ่ายภาพบุคคลหรือสถานที่ต่างๆ ให้พยายามมองหารายละเอียดอื่นๆเล็กๆน้อยที่ผ่านสายตาเป็นประจำใส่ลงไปในภาพถ่ายเพื่อเพิ่มเรื่องราวและความน่าสนใจให้ภาพ เช่น พื้นผิวของผนังคอนกรีต, รูปร่างของใบไม้, แมลง และอื่นๆ หรือแม้แต่รายละเอียดความเปลี่ยนแปลงของฉากหลังโดยหลักการถ่ายแบบหน้าชัดหลังเบลอ โดยการขยับเข้าใกล้วัตถุให้มากที่สุดแต่ยังคงจุดโฟกัสไว้ที่วัตถุหลักเพื่อให้ฉากหลังเบลอมากที่สุดเท่าที่จะทำได้


Tip 7 : การใช้เส้นในภาพ


การใช้เส้นในภาพเป็นการเพิ่มเรื่องราวที่หาได้จากสิ่งที่อยู่รอบๆตัว เช่น เสาไฟฟ้า ต้นไม้ เมฆบนท้องฟ้า ถนน เป็นต้น การใช้เส้นเหล่านี้เพื่อนำสายตาไปสู่จุดสนใจหรือวัตถุหลักในภาพ หรือใช้เป็นวัตถุหลักที่มีลักษณะของรูปร่างเป็นเส้นเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับภาพ หรืออาจใช้เส้นเหล่านี้สร้างกรอบภาพเพื่อบีบให้สายตาผู้ชมมุ่งตรงไปยังวัตถุหลักได้


Tip 8 : จังหวะในภาพ


จังหวะในที่นี้หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพ การรอจังหวะในการจับอารมณ์ในภาพ เช่น การถ่ายภาพเด็กเล่นของเล่น ภาพที่ยกกล้องขึ้นเล็งแล้วถ่าย กับภาพที่ยกกล้องขึ้น เล็ง และรอจังหวะว่าจะมีเหตุการณ์อื่นๆเกิดขึ้นในระหว่างการเล่นนี้หรือไม่ เช่น จังหวะการยิ้ม หัวเราะ หรือจังหวะของแสงที่ส่องเข้ามาที่ตัวเด็ก หรืออื่นๆ จังหวะต่างๆเหล่านี้ที่ถูกบันทึกไว้ในภาพ สร้างความน่าสนใจให้ภาพถ่ายมากกว่าการยกกล้องขึ้นถ่ายภาพทั่วๆไป

ผู้เขียน : Sean Tucker ช่างภาพ/ภาพยนตร์มืออาชีพ ชาวลอนดอน

ที่มา : https://petapixel.com/2016/01/20/8-tips-for-any-photographer-using-any-camera/

——————————
#fotoinfo​ #Fotoinfomag​ #FotoinfoPlus​ #FotoinfoLearningCenter​ ​ #FLC​ #โฟโต้อินโฟ #FotoinfoLive​
——————————
📢 ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่ 💻
📌 Line ID : @fotoinfo
📌 YouTube : Fotoinfo Channel
📌 Website : fotoinfomag.com
📌 e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine