Smartphone Conner

7 ฟีเจอร์สุดเจ๋ง ของกล้องมือถือ

7 ฟีเจอร์สุดเจ๋ง ของกล้องมือถือ

ในยุคที่กล้องสมาร์ทโฟนพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพให้สูงขึ้นมาก รวมทั้งมีการพัฒนาการประมวลผลภาพจาก AI จึงทำให้ประสิทธิภาพการทำงานโดดเด่นมากขึ้น จนเบียดเอากล้องคอมแพคแทบจะหายไปจากตลาดกล้อง จะคงอยู่ก็เฉพาะกล้องคอมแพ็คระดับไฮเอนด์ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานในระดับสูง เทียบเท่ากล้อง Mirrorless หรือกล้อง DSLR รุ่นเล็กด้วยเช่นกัน

ซึ่งคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงแม้จะมีกล้องและเลนส์ระดับโปรอยู่ในมือ และบางครั้ง บางชอตก็อดที่จะยกสมาร์ทโฟนมาถ่ายภาพควบคู่กันไปด้วย โหมดถ่ายภาพในกล้องมือถือมีอยู่มากมาย แต่จากประสบการณ์ที่ได้ใช้งานหลายๆ รุ่น สิ่งที่ผมชื่นชอบมีอยู่ 6 อย่าง ที่ช่วยให้การถ่ายภาพด้วยกล้องมือถือง่ายมากขึ้น แต่ให้ภาพที่ดีเกินคาด และแตกต่างจากกล้องถ่ายภาพจริงๆ ที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานด้วย มาดูว่า สมาร์ทโฟนที่ใช้งานกันอยู่นั้น มีฟีเจอร์เจ๋งๆ อะไรกันบ้าง

1.ฟีเจอร์ AI

ถือเป็นฟีเจอร์ที่นำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายในหลายๆ วงการ รวมทั้งวงการกล้องถ่ายภาพด้วย ซึ่ง AI ก็ถูกพัฒนามาใช้งานกับกล้องถ่ายภาพ และกล้องมือถือด้วยเช่นกัน

ซึ่ง AI จะช่วยประเมินรูปแบบภาพที่ผู้ใช้งานต้องการ และปรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ ที่เหมาะสมให้ทั้งหมด โดยผู้ใช้เพียงแค่เล็งกล้องมือถือไปยังซับเจคต์ที่ต้องการ AI จะประเมินว่า ภาพนั้นๆ เป็นภาพอะไร จากข้อมูลที่ถูกป้อนเอาไว้ในสมองของ AI นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น เมื่อเล็งกล้องไปที่คน AI จะประเมินลักษณะของซับเจคต์ว่า มีรูปใบหน้าคน มีตา มีจมูก มีปาก ดังนั้น AI จะปรับโหมดถ่ายภาพให้เป็นโหมดถ่ายภาพบุคคล และตั้งค่าการทำงานต่างๆ ให้เหมาะสมกับการถ่ายภาพคนโดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องปรับตั้งค่าอะไรให้ยุ่งยาก ซึ่งปกติ โหมด Photo หรือโหมดถ่ายภาพนิ่งที่เป็นค่า Default จะเป็นการคำนวณผ่าน AI ทั้งหมด

2. ฟีเจอร์ Eye AF

ถือเป็นฟีเจอร์ที่โดดเด่นของกล้องโซนี่อัลฟ่า และนำมาใช้กับสมาร์ทโฟนของโซนี่ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะมีฟังก์ชั่นการทำงานที่คล้ายๆ กับของตัวกล้อง คือ ผสมผสานการตรวจจับใบหน้าและดวงตาของซับเจคต์ เมื่อซับเจคต์หันหน้ามาตรงๆ กล้องก็จะจับโฟกัสไปที่ดวงตา แต่เมื่อซับเจคต์หันหน้าไปด้านข้าง กล้องจะเปลี่ยนมาจับโฟกัสที่ใบหน้าแทน และกลับไปจับที่ดวงตาอีกครั้ง เมื่อซับเจคต์หันกลับมา โดยประโยชน์ของ Eye AF คือ ผู้ใช้ไม่ต้องพะวงกับการจัดองค์ประกอบแต่อย่างใด สามารถวางเฟรมกล้องตามที่ต้องการ และกดชัตเตอร์ถ่ายภาพได้เลย ส่วนการโฟกัส ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Eye AF ที่จะปรับโฟกัสให้เอง

 

3. ฟีเจอร์ HD หรือ Ultra HD

เป็นการเพิ่มความละเอียดของภาพให้มากขึ้นจากปกติ สำหรับสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่น การเลือกใช้งานฟีเจอร์นี้ ส่วนใหญ่จะต้องเลือกโหมดถ่ายภาพ Pro หรือ Expert โดยกล้องจะทำการบันทึกภาพหลายๆ ภาพ เช่น 4 ภาพ หรือ 10 ภาพ จากการกดชัตเตอร์ครั้งเดียว จากนั้นกล้องจะนำภาพทั้งหมด มาประมวลผลอีกครั้ง โดยเลือกเอาส่วนที่ดีที่สุด คมชัดที่สุด และสีสันอิ่มตัวมากที่สุดจากภาพทั้งหมด มารวมเป็นภาพเดียวที่ความละเอียดสูงขึ้น เช่น 50 ล้านพิกเซล ของ OPPO หรือ 64 ล้านพิกเซล ของ Realme เป็นต้น สำหรับการใช้งานบางอย่างที่ต้องการไฟล์ขนาดใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กล้องถ่ายภาพ หรืออาจจะไม่ได้ติดกล้องถ่ายภาพไปด้วยนั่นเอง

4. ฟีเจอร์ Star Trail

เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่โดดเด่นมากทีเดียว ซึ่งถ้าหากว่าเป็นการถ่ายภาพดวงดาวให้เป็นเส้นยาวๆ สำหรับผู้ที่ใช้กล้องถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็น D-SLR หรือ Mirrorless ก็จะต้องมีการปรับตั้งค่าที่ยุ่งยาก และต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจอยู่พอสมควร แต่สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน ฟีเจอร์นี้จะช่วยให้ถ่ายภาพดวงดาวเป็นเส้นยาวๆ ได้ง่ายขึ้น โดยในการถ่ายภาพนั้น จำเป็นที่จะต้องติดสมาร์ทโฟนไว้กับขาตั้งกล้อง หรือให้อยู่ในตำแหน่งที่นิ่งที่สุด

จากนั้นก็เปิดใช้งาน Star Trail ซึ่งบางแบรนด์ก็จะจับรวมไว้ในกลุ่มของโหมด Long Exposure จัดองค์ประกอบภาพที่ต้องการ และกดชัตเตอร์ กล้องจะแสดงเอฟเฟคต์ให้เห็นบนจอว่ารูปแบบภาพเป็นแบบไหนแล้ว ซึ่งสามารถแตะหยุดถ่ายภาพ ได้เลย เมื่อได้รูปแบบภาพที่ต้องการ บางแบรนด์ก็สามารถปรับตั้งค่าการโฟกัส ความเร็วชัตเตอร์ หรือไวท์บาลานซ์ได้เช่นเดียวกับโหมด Pro อีกด้วย

5. ฟีเจอร์ Timelape

 

เป็นโหมดที่มีอยู่ในกล้องมือถือค่อนข้างนานแล้ว โดยการใช้งานนั้นควรจะต้องตั้งกล้องให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องไปเลย จากนั้นก็เปิดใช้ฟีเจอร์นี้ ซึ่งความง่ายของกล้องมือถือคือ ไม่ต้องตั้งค่าอะไรให้ยุ่งยาก แค่จัดองค์ประกอบตามที่ต้องการแล้วกดชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพเท่านั้น เมื่อบันทึกเสร็จ กล้องก็จะประมวณผลและบันทึกเป็นวิดีโอ Timelapse ให้อัตโนมัติ โดยการกดบันทึก 1 นาที จะได้วิดีโอ Timelapse ประมาณ 4 วินาที ง่ายและสะดวกดีจริงๆ ครับ

6. ฟีเจอร์ Metering

เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์เด่นที่หลายๆ คนอาจจะมองข้ามไป โดยส่วนมากก็มักจะแตะโฟกัส แล้วปรับชดเชยแสง เมื่อได้แล้วก็กดชัตเตอร์เลย ซึ่งกล้องมือถือหลายๆ รุ่น จะแยกพื้นที่โฟกัส กับพื้นที่วัดแสงออกจากกันได้ เพื่อผลของภาพบางอย่างที่ต้องการอิงสภาพแสงในพื้นที่อื่น ที่ไม่ใช่ค่าแสงที่ตัวซับเจคต์นั่นเอง

การแยกจุดโฟกัสกับจุดวัดแสงออกจากกันได้ ช่วยให้สามารถคอนโทรลแสงในเฟรมภาพได้สะดวกขึ้น โดยสำหรับภาพประกอบนั้น เลือกฏฟกัสที่ดอกไม้ แล่ดึงมิเตอร์วัดแสงมาที่พื้นที่สีเขียวด้านล่าง

7. ฟีเจอร์ RAW file

สำหรับช่างภาพมืออาชีพแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะต้องถ่ายภาพเป็น RAW ทั้งแบบควบคู่ไปกับไฟล์ JPEG หรือถ่ายเป็น RAW อย่างเดียว เพื่อที่ให้ได้ไฟลดิบ แล้วนำมาโปรเซสด้วยตนเองในภายหลัง โดยที่คุณภาพไม่สูญเสียไป ซึ่งไฟล์ JPEG นั้น จะถูกโปรเซสผ่านหน่วยประมวลผลของกล้องมาแล้ว ถ้าหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น การปรับแก้ไข จะทำได้ยาก และทำให้คุณภาพภายหลังการปรับแก้ไขใหม่ลดลงเป็นอย่างมาก

ส่วน RAW นั้น เป็นไฟล์ดิบๆ ที่ถูกบันทึกโดยไม่มีการโปรเซส ถึงแม้จะมีข้อผิดพลาดจากการตั้งค่าถ่ายภาพ ก็ยังสามารถปรับแก้ไข โดยที่ยังคงได้ไฟล์ที่มีคุณภาพสูงเช่นเดิม ซึ่งกล้องมือถือหลายๆ รุ่น ก็สามารถบันทึกเป็น RAW file ช่วยให้นำมาโปรเซสในภายหลังได้สะดวกขึ้นเช่นเดียวกับกล้องถ่ายภาพ

เรื่อง : พีร วงษ์ปัญญา