Basic Photography

6 ขั้นตอนในการพัฒนาการถ่ายภาพ ให้มองเห็นในมุมมองแบบช่างภาพ

ปัจจุบันในโลกยุคดิจิตอล ช่างภาพมีทางเลือกที่จะกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพกี่ครั้งก็ได้ ภาพไม่สวยหรือไม่พอใจก็ลบ ถ่ายใหม่ได้ไม่จำกัด แต่ทุกสิ่งล้วนมีสองมุมมอง​เสมอ

ในมุมของข้อดีคือ ถ่ายภาพได้บ่อยและมากตามใจต้องการ เรียนรู้ได้จากภาพถ่ายได้เร็ว ง่าย และไม่ต้องลงทุนมาก แต่ในอีกมุมตรงข้าม เพราะเราสามารถกดชัตเตอร์ได้ไม่จำกัด ช่างภาพหลายคนจึงไม่ใส่ใจเรื่องความคิด เรื่องการจัดองค์ประกอบ เพียงแค่กดชัตเตอร์ถ่ายภาพให้มากที่สุด แล้วมาเลือกภาพที่ถูกใจทีหลัง

ผู้เขียนบทความนี้อยากเรียกร้องให้ช่างภาพหลายๆคนหยุดพฤติกรรมนี้ และหันมาจริงจังกับการถ่ายภาพให้มากขึ้น ใช้ความคิด การสื่อความหมาย การจัดองค์ประกอบ ก่อนกดชัตเตอร์ เพื่อให้ภาพถ่ายนั้นถูกถ่ายทอดออกมาจากมุมมองของความเป็นช่างภาพ

1. หัดมองแสง สิ่งสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพ
     หัดสังเกตุ แสงและเงา แสงที่ส่องสว่างอยู่รอบๆตัว แสงแข็งหรือแสงนุ่ม ส่งผลต่อวัตถุต่างกันอย่างไร ยิ่งเรียน​รู้และทำความเข้าใจเรื่องแสงมากเท่าใดจะช่วยให้ช่างภาพใช้ประโยชน์จากแสงลักษณะต่างๆได้ดีมากขึ้นตามไปด้วย

หัดสังเกตุแสงที่ตกกระทบต่อสิ่งต่างๆรอบตัว (ถ่ายภาพ  : Valérie Jardin)

ยิ่งสังเกตุและทำความเข้าใจกับแสง ภาพธรรมดาก็กลายเป็นภาพที่น่าสนใจได้ (ถ่ายภาพ  : aiamkay)​

2. มองด้วยหลักการจัดองค์ประกอบภาพ
พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพมีอยู่หลายวิธี ให้ฝึกมองโดยอิงหลักการจัดองค์ประกอบภาพที่นิยมใช้ เช่น

(ถ่ายภาพ  : melkhagelslag)​

  • เลือกจุดโฟกัส และระยะชัดลึก
     การใช้วิธีโฟกัสภาพวัตถุให้ชัดและปล่อยให้ส่วนอื่นเบลอ หรือควบคุมระยะความชัดไว้ที่จุดเด่นของภาพจะดึงดูดสายตาคนดูได้มากกว่
  • ใช้เส้นนำสายตา
     เป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้นำสายตาคนดูไปสู่สิ่งสนใจหรือวัตถุหลักในภาพได้ง่ายๆแต่ให้ผลลัพธ์สูง

(ถ่ายภาพ  : Valérie Jardin)

  • ใช้กฎสามส่วน
     หรืออาจจะได้ยินในชื่อจุดตัดเก้าช่อง เป็นหลักการที่นิยมนำมาใช้มากที่สุดอีกวิธีหนึ่ง และให้ลองแหวกกฎบ้างในบางครั้งเพื่อภาพที่มีมุมมองต่างจากเดิมๆ

การจัดวางภาพแบบกฎสามส่วน (ถ่ายภาพ  : Suriyo Tataisong)​

การวางจุดสนใจไว้กลางภาพ ฉีกกฎสามส่วน แต่ก็ให้ภาพที่ดีได้เช่นกัน  (ถ่ายภาพ  : adrianlang)​

  • ใช้สี
     หลักการเดียวกับการเลือกโฟกัสในข้อแรก เป็นวิธีที่ดีอีกหนึ่งวิธีเพราะการใช้สีที่ดีสามารถช่วยนำสายตาคนดูได้ หรือแม้แต่การเปลี่ยนภาพสีเป็นภาพขาวดำช่วยเปลี่ยนสีที่รบกวนสายตา ทำให้ได้ภาพถ่ายที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

(ถ่ายภาพ  : dariqpry)​

  • การเว้นพื้นที่ว่าง
     การใช้พื้นที่ว่างในภาพให้เป็นประโยชน์ในหลายๆสถานการณ์ช่วยให้ภาพถ่ายมีความน่าสนใจขึ้นได้

(ถ่ายภาพ  : Valérie Jardin)

  • การใช้รูปแบบซ้ำๆกัน
     การใช้รูปแบบที่ซ้ำๆกัน ช่วยขับความเด่นหรือเน้นจุดเด่นของภาพให้เกิดขึ้นได้ และหัดลองแหวกกฎนี้เพื่อมุมมองภาพที่แตกต่าง

(ถ่ายภาพ  : Valérie Jardin)

3. มองส่วนประกอบน้อยแต่ให้ผลมาก
     หรือการตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไปจากเฟรมภาพ หรืออาจจะรวมถึงใช้ความเรียบง่ายในภาพถ่าย หัดครอปภาพจากกล้องเพื่อตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป จะทำให้การสื่อความหมายของภาพทำได้ชัดเจนขึ้นและภาพมีความน่าสนใจมากขึ้นด้วย

ครอปภาพ ตัดสิ่งไม่จำเป็นออกจากเฟรมภาพ  (ถ่ายภาพ : Valérie Jardin)

4. มองแบบขยับเข้าใกล้มากขึ้น
     ภาพธรรมดาๆ หากขยับเข้าใกล้มากขึ้นอาจจะดูเป็นภาพที่น่าสนใจขึ้นมาได้ ลองขยับเข้าใกล้วัตถุมากขึ้นกว่าเดิม ให้ระยะของเลนส์กับวัตถุขยับใกล้กันมากกว่าที่คุ้นเคย หากใกล้แล้ว ลองขยับใกล้อีกและขยับเพื่อเปลี่ยนมุมอื่นบ้าง

ขยับเข้าใกล้ให้ฉากหลังเบลอมากขึ้น ลดการรบกวนสายตาของฉากหลังที่รกลงได้  (ถ่ายภาพ  :  somsak  tassanaset)

5. มองมุมอื่นที่แตกต่างกัน
     ลองถ่ายภาพจากมุมมองที่แตกต่างกันในภาพเดียวกัน เช่น มุมสูงมุมต่ำ หรือเอียงกล้อง อาจจะได้มุมอื่นๆที่น่าสนใจมากกว่าการมองในระดับสายตาปรกติ

(ถ่ายภาพ  :  somsak  tassanaset)

6. มองฉากหลังของภาพ
     ให้เวลากับการสังเกตุฉากหลังของภาพให้มากขึ้น หลายๆครั้งการขยับไปทางซ้ายหรือขวาของภาพ ช่วยให้ฉากหลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรืออาจจะขยับเข้าใกล้หรือเดินถอยห่างจากวัตถุ เพื่อเลี่ยงฉากหลังที่รบกวนสายตา

(ถ่ายภาพ  : Suriyo Tataisong)​

     หวังว่าในครั้งต่อไปที่คุณหยิบกล้องออกไปถ่ายภาพ คุณจะให้ความสำคัญกับความคิด สิ่งที่ต้องการจะสื่อหรือเรื่องราวของภาพ ผ่านการจัดองค์ประกอบและวิธีมองแบบช่างภาพ และทำแบบเดียวกันนี้ให้ชิน สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายภาพในทุกๆครั้ง ช่วยให้คุณมีมุมมองแบบช่างภาพติดตัว และจะช่วยพัฒนาฝีมือการถ่ายภาพของคุณให้ดีขึ้นได้

แปลจาก  :  Start To See Photographically In Six Easy Steps

ผู้เขียน  :  Valerie Jardin

ที่มา  :  dps