Basic

5 Secrets About Street Photography

ภาพ Street Photography จริงๆ คือภาพที่พยายามจะบอกเล่าเรื่องราวภายในภาพเดียว ซึ่งการบันทึกเรื่องราวหรือภาพคนแปลกหน้าขณะที่พวกเขากำลังทำในชีวิตประจำวันของพวกเขา เพื่อที่จะบันทึกความเป็นมนุษย์ในลักษณะที่มีรูปแบบของการเตรียมตัวเพื่อปกปิดตัวตนน้อยที่สุด และมักไม่ได้ทำโดยได้รับอนุญาติจากบุคคลนั้น หากนี่คือสิ่งที่ท้าทายและน่าสนุกต่อไปนี้คือความลับบางอย่างในการถ่ายภาพ Street Photography ที่ผ่านการพิสูจน์จากนักถ่ายภาพระดับโปรมาแล้วว่าจะช่วยยกระดับของภาพได้

เทคนิคจาก Magnum Photos

หนึ่งในนักถ่ายภาพ Street ที่มีชื่อเสียง Eric Kim เคยไป Workshop ถ่ายภาพ Street ที่จัดโดย Magnum Photos เอเจนซีภาพที่ Henri Cartier Bresson เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งสิ่งที่นักถ่ายภาพระดับโปรเคยสอนเขาเกี่ยวกับการถ่ายภาพก็คือ หากสามารถถ่ายภาพเดียวกันที่แตกต่างกันสามภาพได้ก็จะมีโอกาสมากขึ้นในการได้ภาพที่ดี สิ่งนี้หมายความว่าควรถ่ายภาพให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ในแต่ละสถานการณ์ทั้งสไตล์ที่แตกต่างกัน จากมุมที่แตกต่างกัน และหลายองค์ประกอบภาพ ซึ่งเมื่อกลับมาดูภาพบนหน้าจอที่บ้านก็จะรู้ว่าภาพใดคือภาพที่ดี โดยธรรมชาติแล้วตามปกตินักถ่ายภาพมักจะถ่ายภาพสองภาพแล้วเดินจากไป เพราะมีความคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ถูกถ่ายภาพรู้ตัว? ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงควรเรียนรู้ที่จะทำตัวให้กลมกลืนไม่เป็นที่สนใจ หรือไม่ก็ทำเหมือนเป็นการทำงานตามปกติไม่มีอะไรเกิดขึ้น วิธีที่ดีหากผู้ถูกถ่ายภาพหันมามองสิ่งที่ทำได้คือการยิ้มเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย อย่าทำตัวให้ดูน่าสงสัยและซ่อนกล้อง โดยควรทำอย่างมืออาชีพแม้จะไม่ใช่ก็ตาม

เกี่ยวกับจิตวิญญาณ

อุปกรณ์ถ่ายภาพราคาแพงไม่ใช่สิ่งที่สามารถช่วยนักถ่ายภาพได้แม้แต่น้อยหากนักถ่ายภาพไม่ได้ให้ความสำคัญไปที่จิตวิญญาณในภาพตั้งแต่แรก ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องขององค์ประกอบภาพและแสง แต่เป็นเรื่องราวซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ที่เกิดขึ้นทันทีทันใดในภาพนั้นซึ่งเป็นเหมือนจิตวิญญาณของภาพ Steve McCurry นักถ่ายภาพซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีกับภาพในลักษณะ Photojournalism และภาพเชิงท่องเที่ยวในหนังสือ National Geographic ได้นิยามตัวเองว่าเป็นนักถ่าย Street Photography ในส่วนลึก ซึ่งแม้จะมีการใช้ Photoshop กันอย่างมากในปัจจุบันจนอาจทำให้หลายคนสับสนได้กับภาพแต่ก็ยากจะปฏิเสธได้ว่า McCurry เป็นหนึ่งในนักถ่ายภาพผู้คนที่ดูมีชีวิตมากที่สุดในโลก

หนึ่งในส่วนสำคัญด้านพฤติกรรมการถ่ายภาพ Street Photography ของเขาคือการมีความคิดที่เรียกว่า การอยู่ในช่วงจังหวะนั้น เพราะแม้จะมีกล้องอยู่ในมือแต่ประสบการณ์แรกๆ ที่นักถ่ายภาพจะพบคือถ่ายภาพไม่ได้มากนักเพราะความกลัวและกังวลกับสิ่งต่างๆ รอบตัวซึ่งแน่นอนว่าการเป็นจุดสนใจคือปัจจัยสำคัญ รวมไปถึงไม่รู้ว่าจะถ่ายภาพอะไร ซึ่งวิธีที่จะแก้ปัญหานี้จากนักถ่ายภาพบางคนที่ใช้ตอนเริ่มถ่ายภาพ Street Photography คือถ่ายภาพทุกสิ่งที่สังเกตเห็น ถ่ายภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจากนั้นนักถ่ายภาพก็จะสามารถเรียนรู้ที่จะนำตัวเองเข้าไปอยู่ในช่วงจังหวะที่สำคัญได้ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องถ่ายภาพจำนวนมากอย่างช่วงแรก McCurry ได้บอกว่า “มันไม่ใช่การที่คุณออกไปแล้วถ่ายภาพบางสิ่ง แต่มันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ เป็นการเห็นคุณค่าโลกที่เราอยู่อย่างแท้จริง เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเริ่มเห็นสิ่งต่างๆ แตกต่างออกไป”

ปรับรูรับแสงไปที่ F8 ทิ้งไว้

ภาพดีๆ มักจะเกิดขึ้นรวมเร็วและหายไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อโอกาสนั้น หนึ่งในวิธีที่นักถ่ายภาพ Street ที่มีประสบการณ์รู้กันดีสำหรับการเตรียมพร้อมและผู้เริ่มถ่ายภาพ Street อาจเคยได้รับคำแนะนำคือให้ปรับรูรับแสงที่ F8 ทิ้งไว้ หากสงสัยว่าทำไมต้องปรับรูรับแสงที่ F8 เหตุผลง่ายๆ ก็คือเป็นวิธีที่ทำให้ภาพมีความชัดและชัดเจน การปรับรูรับแสงที่ F8 แล้วเดินเพื่อถ่ายภาพจะเป็นการพิ่มโอกาสบันทึกภาพที่ปรากฏขึ้นได้ดีที่สุดไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใด โอกาสเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจะทำให้นักถ่ายภาพไม่มีเวลาที่จะปรับตั้ง จึงทำให้ต้องปรับตั้งล่วงหน้าเพื่อถ่ายภาพ รูรับแสง F8 ให้ระยะชัดกลางๆ ที่ให้รายละเอียดทั้งในส่วนฉากหน้าและฉากหลัง ให้ระยะชัดเพียงพอที่จะครอบคลุมความผิดพลาดในการโฟกัสเนื่องจากทุกสิ่งที่อยู่ในระยะจะปรากฏชัดในภาพ รวมทั้งยังมีความกว้างเพียงพอที่จะเลี่ยงความเร็วชัตเตอร์ตํ่า อย่างไรก็ตามอย่าใช้เฉพาะรูรับแสง F8 ถ่ายภาพหากในช่วงเวลานั้นมีเวลาให้เพียงพอที่จะปรับตั้งค่าบันทึกภาพเพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการได้ โดยใช้สามปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าบันทึกภาพ ร่วมกันเพื่อทำให้ได้ค่าบันทึกภาพที่ถูกต้อง หากมองไปที่เรื่องรูรับแสงที่ครอบคลุมระยะชัดเพื่อให้สิ่งที่ถ่ายภาพมีความชัดโดยเลี่ยงความผิดพลาดจากการโฟกัส อาจทำให้นักถ่ายภาพบางคนคิดไปถึงการปรับตั้งรูรับแสง F16 ทิ้งไว้ ซึ่งหากใช้รูรับแสงนี้ถ่ายภาพโดยใช้มือถือกล้องอาจเสี่ยงต่อการเบลอในภาพ

ถ่ายภาพ Street ในสถานที่ต่างๆ

หนึ่งในสิ่งที่นักถ่ายภาพ Street มักอยากทำคือการถ่ายภาพในต่างประเทศที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างจากที่คุ้นเคย และแน่นอนว่าเมื่อเดินทางเที่ยวไปยังต่างประเทสย่อมไม่อยากพลาดโอกาสถ่ายภาพ อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ควรรู้ก็คือโอกาสการถ่ายภาพ Street ในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน อย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่นที่มีกฏหมายเด้านความเป็นส่วนตัวที่สูงที่สุดประเทสหนึ่งในโลก หรือในบางสถานที่การถ่ายภาพผู้หญิงโดยไม่ได้รับอนุญาติอาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ ขณะที่หากเป็นนักถ่ายภาพผู้หญิงอาจมีโอกาสถ่ายภาพในลักษณะที่ผู้ชายไม่สามารถทำได้นักถ่ายภาพจึงควรเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เมื่อจะไปถ่ายภาพในต่างประเทศ รวมทั้งให้ความเคารพทั้งผู้คน วัฒนธรรม ประเพณี และกฏหมาย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อถ่ายภาพไม่ว่าจะที่ใดก็คือการอยู่ในช่วงจังหวะที่เหมาะสม สิ่งที่นักถ่ายภาพควรทำคือสะพายกล้องไว้กับตัว เดิน แล้วเรียนรู้ ภาพที่ดีก็จะเข้ามา

ฝึกใช้อุปกรณ์ให้น้อย

คำว่าอุปกรณ์น้อยในที่นี้หมายถึงกล้องหนึ่งตัว เลนส์หนึ่งตัว และเน้นไปที่เรื่องราวหรือจิตวิญญาณของภาพ การลงทุนอย่างแท้จริงสำหรับการถ่ายภาพ Street Photography ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นการฝึกที่จะมองหาโอกาสในการถ่ายภาพและการตอบสนองต่อสิ่งนั้นในเสี้ยววินาที อย่างไรก็ตามเลนส์ที่เหมาะสมสำหรับถ่ายภาพเป็นสิ่งสำคัญ นักถ่ายภาพบางคนอาจคิดว่าเลนส์เทเลโฟโตจะช่วยให้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและสามารถถ่ายภาพผู้คนได้จากระยะห่างออกมา แต่อย่างไรก็ตามความคิดนี้อาจเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามแนวคิดการอยู่ในช่วงจังหวะที่เหมาะสม นักถ่ายภาพไม่ใช่สไนเปอร์ รวมทั้งไม่ได้อยู่ในอุทยานแห่งชาติที่ต้องถ่ายภาพในระยะไกล ดังนั้นจึงควรเดินเข้าไปเพื่อเข้าใกล้สิ่งที่
เกิดขึ้นให้มากขึ้น ดังนั้นเลนส์มุมกว้างจึงเป็นเลนส์ที่เหมาะสม

เลนส์ 35 มม. สำหรับกล้องฟูลเฟรมเป็นเลนส์ยอดนิยมตลอดกาลของการถ่ายภาพแนวนี้ เพราะมีมุมรับภาพที่กว้างเพียงพอในการรวมเอาสิ่งต่างๆ รอบบุคคลในภาพไว้ด้วยจึงทำให้เหมาะสำหรับการบอกเล่าเรื่องราว นอกจากนี้เลนส์ 50 มม. สำหรับกล้องฟูลเฟรมก็เป็นอีกหนึ่งทางยาวโฟกัสที่นิยมใช้ถ่ายภาพ Street Photography ซึ่งมาจากการที่นักถ่ายภาพแนว Photojournalism ในอดีตจำนวนมากใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสนี้ถ่ายภาพ หากไม่แน่ใจเรื่องมุมรับภาพและมีเลนส์ซูมอยู่อาจลองถ่ายภาพโดยจำกัดที่ทางยาวโฟกัส 35 มม. และ 50 มม. สำหรับกล้องฟูลเฟรม แต่หากเป็นกล้อง APS-C ก็ควรเปลี่ยนมาใช้ทางทางยาวโฟกัส 24 มม. และ 35 มม. เพื่อดูว่ากับเลนส์ทางยาวโฟกัสใดจะให้ความรู้สึกที่สบายในการถ่ายภาพมากกว่ากัน ซึ่งสำหรับนักถ่ายภาพบางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีประสบการณ์ถ่ายภาพ Street แล้วจะพบว่าเลนส์ 50 มม. ให้ภาพที่แน่นมากเกินไป

นอกจากนี้หากคิดจะซื้อเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวไวแสงสักตัวไว้สำหรับการถ่ายภาพ Street อาจใช้วิธีการดูทางยาวโฟกัสที่ใช้ถ่ายภาพบ่อยที่สุดเมื่ออกไปถ่ายภาพ Street ในซอฟต์แวร์อย่าง Lightroom ก็ได้ โดยหากหากทางยาวโฟกัสเลนส์ที่ใช้บ่อยไม่มีเป็นทางเลือกของเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวก็มองหาเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสใกล้เคียงที่สุด

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic