Photo Techniques

5 เหตุผลที่ต้องชดเชยแสง

สำหรับกล้องถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นกล้องแบบไหน ราคาเท่าไหร่ ล้วนย่อมต้องใช้พื้นฐานการทำงานเหมือนๆ กันทั้งหมด คือก่อนจะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ จะต้องทำการคำนวณค่าแสงก่อนทุกครั้ง เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การแตะชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งนั่นแหละครับ คือการเริ่มต้นทำงานของกล้องถ่ายภาพ ทั้งการปรับโฟกัส และการวัดแสง ซึ่งก็คือการคำนวณค่าแสงตามการปรับตั้งกล้องของเรานั่นเอง ถ้าใช้โหมดอัตโนมัติ กล้องก็จะตั้งค่าให้ทั้งหมด

การคำนวณค่าแสงของกล้อง จะอ่านค่าแสงจากการที่แสงตกกระทบกับซับเจคต์ แล้วสะท้อนเข้ามาในกล้อง การคำนวณจะขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่ผู้ผลิตป้อนข้อมูลเอาไว้ โดยปกติแล้ว มักจะประเมินค่าแสง โดยอ้างอิงจากโทนสีเทา หรือช่างภาพจะพูดกันติดปากว่าวัดแสงจากค่าเทากลางนั่นเอง เพราะกล้องไม่รู้หรอกว่า ในขณะนั้น เรากำลังถ่ายภาพอะไรอยู่ ซึ่งถ้าหากว่าซับเจคต์ใดที่มีค่าการสะท้อน เท่าๆ หรือใกล้เคียงกับค่าเทากลาง เราก็จะได้ภาพนั้นที่แสงพอดีๆ แต่ถ้าหากว่าการสะท้อนแตกต่างไปจากค่าเทากลางมากๆ เราก็จะได้ภาพที่สว่างไปบ้าง มืดไปบ้างนั่นเอง และนี่คือที่มาว่าทำไมจะต้องปรับชดเชยแสงนั่นเองครับ

การปรับชดเชยแสง จะใช้กับโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติ หรือโหมดถ่ายภาพที่กล้องจะปรับตั้งค่าใดค่าหนึ่งให้เรา เช่นโหมด P ที่กล้องจะปรับตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ และรูรับแสงให้อัตโนมัติ หรือโหมด A ที่เราตั้งค่ารูรับแสงเอง ส่วนกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้อัตโนมัติ เป็นต้น แต่สำหรับโหมด M ช่างภาพปรับตั้งค่าต่างๆ เองทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องใช้การชดเชยแสง เพราะสามารถปรับตั้งค่ากล้องให้มืดหรือสว่างได้ตามที่ต้องการอยู่แล้วนั่นเอง


บางกรณีที่กล้องอาจจะวัดค่าได้พอดีๆ แต่เราต้องการภาพที่สว่างขึ้น เช่น ถ่ายภาพสาวๆ แต่วัดแสงพอดีแล้ว ผิวของแบบดูไม่มีออร่า หรืออาจจะดูคล้ำไปหน่อย กรณีนี้ก็สามารถชดเชยแสงเพิ่ม เล็กน้อย เช่น +1/3 หรือ +2/3 เพื่อให้ผิวของนางแบบดูขาวใสขึ้นได้ครับ หรือภาพบางรูปแบบที่สว่างพอดีๆ แล้ว แต่อารมณ์ของภาพไม่ได้ การปรับชดเชยแสงให้ภาพมืดลงเล็กน้อย เช่น -2/3 หรือ 1 สตอป ก็จะช่วยสร้างอารมณ์ของภาพให้สมบูรณ์ขึ้น เป็นต้น กรณีแบบนี้ เป็นประโยชน์ที่ได้จากการปรับชดเชยแสงเช่นกันครับ


อย่างที่ได้เกริ่นไปว่า กล้องเป็นเครื่องมือบันทึกภาพให้เราเท่านั้น กล้องไม่สามารถรู้ว่าเรากำลังถ่ายภาพอะไรอยู่ ดังนั้น กล้องจะคำนวณค่าแสงตามโปรแกรมที่ตั้งไว้เท่านั้น บางครั้งเราถ่ายภาพซับเจคต์ที่มีโทนสว่าง เช่น เจ้าสาวใส่ชุดขาวอยู่กลางแจ้ง ชุดสีขาวจะมีการสะท้อนที่มากกว่าโทนเทากลาง ดังนั้นกล้องจะประเมินว่ามีสภาพแสงจ้ามาก กล้องจะลดค่าการวัดแสงให้น้อยลง เมื่อเรากดชัตเตอร์ตามค่านั้น เราจะได้ภาพที่อันเดอร์ หรือมืดกว่าปกติ ชุดสีขาว จะดูหม่นๆ หมองๆ กรณีนี้ จะต้องปรับชดเชยค่าการวัดแสงของกล้องให้สว่างขึ้น เช่น +1 สตอป เป็นต้น จึงจะได้ภาพที่สว่างพอดี ชุดสีขาวก็เป็นสีขาวตามจริง


ในทางกลับกันกับกรณีที่ผ่านมา เราถ่ายภาพน้องหมาสีดำ แต่สีดำมีการสะท้อนแสงที่น้อยกว่าค่าเทากลาง กล้องก็คิดว่าเรากำลังถ่ายภาพในที่แสงน้อย จึงเพิ่มค่าการวัดแสงให้มากขึ้น ผลคือขนสีดำๆ ของน้องหมา กลายเป็นสีเทาๆ แทน ดังนั้น เราจึงต้องปรับชดเชยแสงให้กล้องลดค่าการวัดแสงลง เช่น -1 สตอป เป็นต้น เพื่อให้ขนสีดำของน้องหมา เป็นสีดำตามจริง


เป็นอีกหนึ่งที่กล้องมักจะวัดแสงผิดพลาด การถ่ายภาพย้อนแสงนั้น แสงจากแหล่งกำเนิดแสงต่างๆ จะส่องเข้ามาในกล้อง ทั้งการส่องเข้ามาตรงๆ หรือการส่องเฉียงๆ เข้ามา ตามมุมมอง หรือทิศทางของการจัดองค์ประกอบของช่างภาพ หลายๆ ครั้ง ก็มักจะมีอาการแฟลร์ หรือเกิดภาพหลอนตามมาด้วย ตามอุปกรณ์ที่ใช้ ช่างภาพในยุคฟิล์ม มักจะบอกรุ่นน้องว่าให้หลีกเลี่ยงการถ่ายภาพย้อนแสง ก็เพราะสาเหตุที่กล้องวัดแสงผิดพลาดจนได้ภาพมืดๆ มาแทนนั่นแหละครับ เพราะอาจจะไม่มีเวลามาคอยบอกอยู่ตลอดว่าภาพนั้นต้องชดเชยแสงกี่ สตอป ภาพนี้ต้องชดเชยแสงกี่สตอปนั่นเอง นอกจากนี้ การถ่ายภาพที่ซับเจคต์อยู่ในร่มเงา และสภาพบรรยากาศด้านหลังสว่างกว่า ก็ถือรวมเป็นการถ่ายภาพย้อนแสงด้วยเช่นกัน เพราะกล้องอาจจะเอาแสงบรรยากาศด้านหลังมาคำนวณด้วย ซึ่งก็ทำให้การวัดแสงผิดพลาดด้วย สำหรับการชดเชยแสงนั้น ปกติแล้วก็มักจะให้ความสำคัญที่ซับเจคต์เป็นหลัก ส่วนฉากหลังนั้น ก็ต้องปล่อยให้สว่างเวอร์ไปเลยครับ เช่น ปรับชดเชยแสง +1 หรือ +2 สตอปตามสภาพแสงด้านหลังครับ แต่ถ้าหากว่าภาพนั้นๆ ต้องการรายละเอียดของฉากหลังด้วย ให้ซับเจคต์สว่างพอดีด้วย ก็ต้องเลือกวิธีการอื่น เช่น ใช้แฟลชเปิดเงา เป็นต้นครับ



บางครั้ง ซับเจคต์อาจจะมีโทนภาพที่มีค่าการสะท้อนใกล้เคียงกับค่าเทากลาง แต่อาจจะอยู่ในสภาพแสงที่มีความเปรียบต่างสูง เช่น บางส่วนโดนแดด แต่บางส่วนอยู่ในเงา หรือซับเจคต์สว่าง แต่ฉากหลังมืด เป็นต้น ซึ่งค่าการวัดแสงอาจจะเน้นไปที่ส่วนสว่างมากกว่า ทำให้ส่วนมืด ดำเข้มจนขาดรายละเอียดไปได้ หรือถ้าหากว่าเน้นส่วนมืดมากกว่า ส่วนสว่างก็อาจจะโอเวอร์เกินไป เป็นต้น กรณีนี้ ก็สามารถปรับชดเชยแสงเล็กน้อย เช่น +2/3 หรือ -2/3 เพื่อเฉลี่ยค่าการวัดแสงให้รักษารายละเอียดของทั้งสองส่วนไว้ทั้งคู่ครับ

การปรับชดเชยแสง อาจจะระบุตายตัวไม่ได้ว่า ภาพแบบนี้ จะต้องชดเชยแสงเท่าไหร่ เพราะแต่ละบรรยากาศ แต่ละซับเจคต์นั้น มีสภาพแสงที่แตกต่างกันไป ตามฤดู ตามภูมิประเทศ ตามสภาพอากาศ ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้อ่านค่าได้ง่ายขึ้น คือ ฝึกฝนบ่อยๆ แล้วจำค่าไว้ว่า สภาพแบบนี้ ต้องชดเชยแสงไปบวก หรือลบเท่าไหร่ ในครั้งต่อไป จะช่วยให้เราประเมินค่าแสงได้เร็วขึ้น ลดความผิดพลาดลงไปได้มากขึ้น ยิ่งในปัจจุบัน กล้องดิจิตอล โดยเฉพาะกล้อง Mirrorless ที่แสดงผลการวัดแสงได้ตามจริง ฉะนั้น เราสามารถแก้ไขความผิดพลาดได้ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่กดชัตเตอร์ถ่ายภาพด้วยซ้ำไปครับ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)


หรือสนใจเทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques