Basic Photo Techniques Photography

5 เมนูไวท์บาลานซ์ ..รู้ไว้ ใช้ให้เป็น

ไวท์บาลานซ์ White Balance หรือสมดุลแสงขาว เป็นค่าที่บอกให้กล้องถ่ายรูปรู้ว่า เรากำลังถ่ายภาพอยู่ในสภาพแสงแบบไหน เพื่อที่กล้องจะได้ปรับสีสันของภาพให้ออกมาตรงตามความเป็นจริง ให้สีสันของภาพถ่ายถูกต้อง โดยกล้องจะอ้างอิงค่ากลางจากสีขาวเป็นหลัก การปรับตั้งไวท์บาลานซ์ที่ผิดพลาด จะไม่ทำให้ภาพมืดลงหรือสว่างขึ้น แต่จะทำให้ภาพนั้นๆ มีสีสันที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง ถ้าถ่ายภาพมาแล้วมีสีแปลกๆ ก็ให้ไปดูที่การตั้งค่าไวท์บาลานซ์เป็นอันดับแรกครับ

1. WB Auto (ไวท์บาลานซ์ ออโต้)

ไวท์บาลานซ์แบบออโต้นั้น กล้องจะคำนวณให้โดยอัตโนมัติระหว่าง 3000 – 7000 องศาเคลวิน ซึ่งในการถ่ายภาพทั่วๆ ไปนั้น ก็ให้สีสันที่แม่นยำดีทีเดียว แต่ในสภาพแสงที่อุณหภูมิสีสูงหรือต่ำกว่าค่าที่กล้องจะประเมินได้ ก็จะทำให้สีสันของภาพเพี้ยนไปได้ แต่ก็สามารถปรับแก้ไขได้จากเมนูจากไวท์บาลานซ์ชิฟท์ หรือเปลี่ยนไปใช้ค่าที่เหมาะสมกว่าก็ได้


2. WB Preset (ไวท์บาลานซ์ พรีเซ็ท)

เป็นค่ามาตรฐานที่ปรับตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิต สามารถเลือกใช้งานได้ง่ายๆ ตามสภาพแสงปัจจุบันที่กำลังถ่ายภาพอยู่ โดยดูจากรูปภาพสัญลักษณ์แสงที่ต้องการ ซึ่งปกติแล้ว จะมีค่าหลักๆ อยู่ 6 ค่าด้วยกัน อาทิ Daylight หรือแสงอาทิตย์ แสดงสัญลักษณ์เป็นภาพดวงอาทิตย์ กล้องบางยี่ห้ออาจจะใช้คำว่า Fine , Tungsten หรือ Incandescent เป็นแสงจากหลอดไฟแบบมีใส้ โทนสีจะออกเหลืองๆ แสดงสัญลักษณ์แบบหลอดไฟกลมแต่มีขั้วไฟ Fluorescent หรือหลอดนีออนที่เราเรียกขานกันนั่นเอง บางยี่ห้อจะแยกย่อยออกมาเป็น 3 แบบ เช่น Day White โทนสีออกขาวๆ, Warm ให้โทนสีอุ่น หรือติดเหลืองเล็กน้อย และ Cool ให้โทนสีเย็น หรืออมฟ้าเล็กน้อย, Clouldy สำหรับถ่ายภาพกลางแจ้งในวันที่มีเมฆเยอะ, Shade สำหรับถ่ายภาพในร่ม ในวันที่แดดจัด และ Flash สำหรับใช้เมื่อถ่ายภาพด้วยแฟลช ซึ่งจะปรับสีสันให้ใกล้เคียงกับไวท์บาลานซ์แบบ Daylight นั่นเองครับ กล้องรุ่นใหม่ๆ บางรุ่น หรือกล้องที่ออกแบบให้สามารถถ่ายภาพใต้น้ำได้ จะมีไวท์บาลนาซ์แบบ Under Water มาให้ใช้งานด้วย เพื่อให้สีสันถูกต้องเวลาอยู่ใต้น้ำนั่นเองครับ


3. WB Kelvin (ไวท์บาลานซ์ เคลวิน)

ค่าอุณหภูมิสีตามปกติ จะมีค่ามาตรฐาน เช่น Daylight จะมีอุณหภูมิสีประมาณ 5200K หรือ Tungsten มีอุณหภูมิสีประมาณ 2800K เป็นต้น การตั้งค่าตามไวท์บาลานซ์ Preset จะช่วยให้สะดวกกับการถ่ายภาพในสภาพแสงแบบธรรมชาติ แต่สำหรับช่างภาพมืออาชีพมักจะตั้งค่าไวท์บาลานซ์เป็นตัวเลข Kenvin ต รงๆ เมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ่ายภาพด้วยไฟแฟลชในสตูดิโอ ที่แสงแฟลชก็จะให้ค่าอุณหภูมิสีที่สม่ำเสมอ หรือถ่ายภาพด้วยไฟ LED ก็สามารถตั้งค่าไวท์บาลานซ์เป็นองศาเคลวินตามสีสันของหลอดไฟได้เลย ในยุคดิจิตอลที่มีความสะดวกสบายในการถ่ายภาพ ช่างภาพสามารถถ่ายภาพมาเช็กดูก่อนว่าหลอดไฟนั้นมีค่าอุณหภูมิสีประมาณเท่าไหร่ แล้วก็ปรับตั้งตัวเลของศาเคลวิน ให้ได้สีสันที่เที่ยงตรงมากที่สุด (ในยุคฟิล์ม จะต้องใช้มิเตอร์วัดค่าอุณหภูมิสีโดยเฉพาะ) แล้วก็ถ่ายภาพไปได้ตลอด โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนค่าไวท์บาลานซ์บ่อยๆ เหมือนกับการถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติกลางแจ้ง ที่อุณหภูมิสีจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาในแต่ละวัน

การใช้งานระบบนี้ แนะนำให้เปิด Live view (กล้อง DSLR) เพื่อให้สามารถดูสีของภาพก่อนบันทึกได้ จะทำให้การเลือกค่า เคลวิน ทำได้ง่ายสำหรับมือใหม่ ส่วนกล้อง Mirrorless หากปรับจาก Q Menu กล้องมักจะไม่แสดงภาพ จึงไม่เห็นสีของภาพจากค่าเคลวินที่ปรับเลือก จึงควรปรับจากปุ่ม WB โดยตรง


4. WB Shift (ไวท์บาลานซ์ ชิฟท์)

เป็นการปรับไวท์บาลานซ์แบบละเอียด โดยสามารถปรับเพิ่มโทนสีของภาพทั้งโทนสีเขียว โทนสีแดง โทนสีฟ้า และโทนสีมาเจนต้า นอกจากนี้ยังสามารถเลือกปรับได้ตามอิสระตามตารางชาร์ทสีของกล้องแต่ละยี่ห้อ กล้องรุ่นเก่า อาจจะเป็นตัวเลขบวก (+) หรือลบ (-) ประโยชน์ของ WB Shift คือ ช่วยปรับแก้สีสันจากไวท์บาลานซ์ที่ตั้งใช้ตามปกติ แล้วยังได้สีสันที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งปรับให้สีสันของภาพออกมาในโทนสีที่ช่างภาพต้องการได้เช่นกัน อย่างเช่น ถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก ตั้งใช้ไวท์บาลานซ์แบบ Daylight แต่สีสันที่ได้ยังไม่จัดจ้าน หรือสีสันซีดไป อาจจะเกิดจากสภาพอากาศหรือหมอกควันในขณะนั้น การปรับชิฟท์ไวท์บาลานซ์ไปทางโทนสีส้มแดง ก็จะช่วยให้ภาพมีสีสันที่จัดจ้านขึ้น ดูน่าสนใจมากขึ้นด้วย เป็นต้น


5. Custom WB (คัสตอม ไวท์บาลานซ์)

ถือเป็นค่าไวท์บาลานซ์ที่แม่นยำ แต่มีการใช้งานที่ค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะเมื่อต้องถ่ายภาพในสภาพแสงที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าอุณหภูมิสีก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากว่าถ่ายภาพในสภาพแสงไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ถ่ายภาพในสตูดิโอด้วยแฟลชชุดเดียวกัน หรือใช้ไฟ LED ชุดเดียวตลอดทั้งงาน รวมทั้งผู้ที่ต้องการสีสันที่ถูกต้องในการขายของออนไลน์ และถ่ายภาพในสถานที่ที่สภาพแสงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็สามารถตั้ง Custom WB ได้เลย

การปรับตั้งจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของกล้องแต่ละยี่ห้อ แต่หลักการจะเหมือนกัน โดยเป็นการถ่ายภาพกระดาษสีขาว ในสภาพแสงที่ต้องการถ่ายภาพ ถ้าหากเป็นการใช้แฟลช ก็ต้องให้แสงแฟลชแว๊บออกมาในขณะที่ตั้งค่า กล้องจะคำนวณค่าอุณหภูมิสีตามแสงที่ตกกระทบกับกระดาษขาว หรือถ้าเป็นการถ่ายภาพแสง Ambience ก็เล็งไปที่กระดาษขาวและกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ ซึ่งกล้องจะนำค่าการถ่ายภาพนั้นไปคำนวณค่าอุณหภูมิสีให้อัตโนมัติ

  • สำหรับกล้อง Canon จะเป็นการถ่ายภาพกระดาษสีขาวในสภาพแสงที่ต้องการเอาไว้ จากนั้นเข้าไปที่เมนู Custom WB แล้วเลือกภาพกระดาษสีขาวนั้นมาเป็นค่าอ้างอิง
  • กล้อง Sony เลือกไปที่ Custom WB Setup กล้องจะโชว์วงกลมเล็กๆ ที่ตรงกลางจอมอนิเตอร์ เล็งวงกลมนั้นไปยังกระดาษสีขาว แล้วกดปุ่ม OK ด้านหลังเพื่อให้กล้องคำนวณค่าให้ ซึ่งกล้องจะแสดงค่าที่คำนวณได้บนจอมอนิเตอร์ จากนั้น OK เพื่อบันทึกค่านั้นๆ ได้ ซึ่งเลือกบันทึกในตำแหน่งที่1, 2 หรือ 3 ตามการใช้งาน และตอนถ่ายภาพ ก็ให้ตั้งค่าไวท์บาลานซ์เป็น Custom
  • กล้อง Nikon ต้องเลือกตั้งไวท์บาลานซ์เป็น Custom ก่อน จากนั้นก็ให้ถ่ายภาพกระดาษขาว แล้วเลือกบันทึกในตำแหน่งที่ต้องการ เช่น d1 หรือ d2 เป็นต้น
  • กล้อง Panasonic ให้เลือกไปที่ตำแหน่ง White Set ที่ต้องการ กดแป้น Control Dial ด้านหลังขึ้นด้านบน กล้องจะแสดงกรอบสี่เหลี่ยม ให้เล็งกรอบนั้นไปยังกระดาษขาว แล้วกดปุ่ม OK จากนั้นก็สามารถถ่ายภาพต่อได้เลยครับ

ความยุ่งยากของ Custom WB คือ จะต้องตั้งค่าใหม่ทุกครั้ง ที่สภาพแสงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่สะดวกในการตั้งค่าบ่อยๆ นั่นเองครับ


อย่าลืมกด Like และติดตาม Facebook Fanpage : fotoinfo กล้อง ถ่ายภาพ ท่องเที่ยว เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^