Photo Techniques Photography

5 เทคนิคง่ายๆ ถ่ายนกบิน Action Bird Photography

การถ่ายภาพนกบิน จะมีความยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่งจากการถ่ายนกที่เกาะนิ่งๆ อยู่ตามกิ่งไม้ ซึ่งจะต้องอาศัยทักษะพื้นฐานของการถ่ายภาพ จะต้องรู้เรื่องผลของความเร็วชัตเตอร์ต่างๆ ทั้งช้าและเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ถ่ายภาพนกบิน หรือซับเจคต์ที่มีการเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น มาดูกันว่า นอกจากทักษะต่างๆ นั้นแล้ว จะมีวิธีปรับตั้งกล้องยังไง ที่จะทำให้ได้รูปสวยๆ แบบไม่ยากนักครับ

5 เทคนิคง่ายๆ ถ่ายนกบิน มีวิธีปรับตั้งกล้องยังไง ที่จะทำให้ได้รูปสวยๆ แบบไม่ยากนัก ไปติดตามกันครับ

ระบบโฟกัสต่อเนื่อง

ระบบโฟกัสต่อเนื่อง คือ AF-C ของกล้องทั่วๆ ไปหรือ AI Servo ของแคนนอน ที่ต้องใช้ระบบโฟกัสต่อเนื่อง ก็เพราะนก หรือซับเจกต์ที่เรากำลังถ่ายรูปอยู่ มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา การโฟกัสต่อเนื่อง จะช่วยให้ซับเจกต์คมชัด แม้จะเคลื่อนที่ไปจากจุดเดิมก็ตาม ตราบที่เรายังแตะปุ่มชัตเตอร์ไว้ครึ่งนึง และแพนกล้องตามซับเจกต์ไปตลอด กล้องรุ่นใหม่ๆ จะมีฟังก์ชั่นเสริม เช่น ระบบโฟกัส Tracking และ Eye AF ช่วยให้สะดวกกับการใช้งานมากขึ้นครับ

 

ระบบโซนโฟกัส

Zone Focus หรือระบบโฟกัสแบบกลุ่ม จะช่วยให้สะดวกกับการแพนกล้องติดตามซับเจกต์ได้ดีขึ้น ซึ่งกล้องจะช่วยจับโฟกัสให้แม้จะมีซับเจกต์เข้ามาในพื้นที่โฟกัสแค่เพียงส่วนหนึ่งก็ตาม ช่วยให้การติดตามซับเจกต์ได้ง่ายมากกว่าแบบจุดเดียว

 

ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง

ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เช่น 1/1000 วินาที หรือมากกว่า จะช่วยหยุดจังหวะบินของนกได้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะแพนกล้องไม่สัมพันธ์กับความเร็วของการบินแบบเป๊ะๆ แต่ก็ยังคงได้ภาพที่คมชัด หรือจังหวะหยุดนิ่งของบรรยากาศอื่นๆ เช่น น้ำที่กระจายจากการยกตัวเพื่อบิน เป็นต้น

บางคนอาจจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่านั้น ร่วมกับการแพนกล้องให้สัมพันธ์กับความเร็วในการบิน ซึ่งจะทำให้ได้ตัวนกที่คมชัด แต่บรรยากาศของฉากหลังจะพลิ้วๆ ไหวๆ สื่อถึงความมีชีวิตชีวา และการเคลื่อนไหวนั่นเอง

 

แพนกล้องตามนกให้ทัน

อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ของมือใหม่ๆ แต่ก็ลองถ่ายไปซักพัก ผมเชื่อว่าจะจับจังหวะการแพนของตัวเองได้ และได้ภาพตามที่ต้องการง่ายๆ การเคลื่อนที่ของนกก็มีผลกับการแพนกล้องที่แตกต่างกัน นกใหญ่ๆ เช่น นกกระสา นกปากห่าง หรือนกยาง ซึ่งพบเจอได้ง่ายๆ จะมีการบินที่ช้าๆ เนิบๆ ไม่ฉวัดเฉวียนรวดเร็ว ใช้เป็นแบบฝึกได้เป็นรอย่างดี

ส่วนนกเล็กๆ เช่น นกกระจอก นกกินปลี นกกระเต็น นกแอ่น จะมีการบินที่รวดเร็ว ซึ่งเมื่อต้องถ่ายภาพ ก็จะต้องแพนกล้องให้เร็วตามไปด้วย ต้องฝึกฝนบ่อยๆ จะทำให้ชำนาญขึ้นครับ

 

ประสิทธิภาพกล้องและเลนส์สูง

ต้องยอมรับว่า กล้องที่มีความเร็วในการโฟกัสที่เร็วมากๆ แบบแตะชัตเตอร์ปุ๊บ เข้าโฟกัสปั๊บ จะช่วยให้ได้ภาพแบบนี้ได้ไม่ยาก แน่นอนว่าก็จะช่วยให้ได้ภาพที่ต้องการได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการถ่ายภาพต่อเนื่องเร็วๆ ก็จะช่วยให้เก็บแอ๊คชั่นได้ตามจังหวะที่ต้องการแบบไม่ยากนัก ฉะนั้น หากชื่นชอบภาพแนวนี้ ก็จะต้องลงทุนกับอุปกรณ์ที่ตอบสนองการใช้งานได้ ส่วนที่เหลือ ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนเพิ่มเติมครับ

..ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพนะครับ….

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย พีร วงษ์ปัญญา

ช่องทางติดตาม : https://www.facebook.com/PeeraW17

 

ติดตามเรื่องราวการถ่ายภาพที่มีเนื้อหาคล้ายกันได้ที่ :

ถ่ายแพนกล้องยังไง ให้ได้ภาพคมชัด

GEARS FOR BIRD PHOTOGRAPHER อุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพ​นกเบื้องต้น

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ ความเร็วชัตเตอร์ (SHUTTER SPEED)