Basic Photography

5 เคล็ดลับการโฟกัสภาพให้คมสุด

การโฟกัสภาพถ่ายให้คมชัด เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยที่สุดของช่างภาพมือใหม่ เคล็ดลับห้าวิธีการโฟกัสภาพให้คมชัดนี้ ผู้เขียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์การเป็นช่างภาพมานาน สามารถนำไปใช้ได้กับกล้องดีเอสแอลอาร์ มิลเลอร์เลส หรือกล้องชนิดถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ทุกแบรนด์

1. เลือกใช้จำนวนจุดโฟกัสสูงสุดของกล้อง

กล้องดิจิตอลทุกรุ่น จะมาพร้อมคุณสมบัติจุดโฟกัสจำนวนมากที่แตกต่างกันไปตามรุ่น ระดับ และประเภทของกล้อง หลักการทำงานคือการล็อคโฟกัสเพื่อถ่ายภาพ โดยการกดปุ่มชัตเตอร์ การเลือกจุดโฟกัสที่เป็นค่าเริ่มต้นจากโรงงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่การเลือกใช้จุดโฟกัสทั้งหมด และสามารถปรับเลือกเองได้ เช่น เลือกใช้ 11 จุด, 9 จุด หรือ 1 จุด

ควรเลือกใช้จุดโฟกัสจำนวนสูงสุดที่มีของกล้องเสมอ เพื่อประโยชน์ในการช่วยโฟกัสและจัดองค์ประกอบใหม่ได้สะดวก นอกจากนั้นแล้วการใช้จุดโฟกัสทั้งหมดนี้มั่นใจได้ว่าการโฟกัสภาพจะทำได้ครอบคลุมเต็มพื้นที่เซ็นเซอร์อีกด้วย

เพิ่มเติม ปัจจุบันกล้องรุ่นใหม่ๆพัฒนาระบบออโต้โฟกัสไปไกลมาก จำนวนจุดโฟกัสในกล้องหลายรุ่นมีสูงมาก และยังแบ่งเป็นโหมดย่อยต่างๆกันให้เลือกใช้ตามความต้องการ หรือตามลักษณะการใช้งานถ่ายภาพแต่ละประเภท ควรศึกษาคู่มือการใช้งานให้ละเอียดเพื่อจะได้ใช้งานได้เต็มที่และถูกต้องก่อนการใช้งานกล้อง

การถ่ายภาพทั่วๆไป  การเลือกจำนวนจุดโฟกัสมากสุดของกล้องช่วยให้การโฟกัสทำได้สะดวก  ครอบคลุมเต็มพื้นที่ มั่นใจได้ว่าจะได้ภาพที่คมชัด
  • ถ่ายภาพ : hardik4mail
  • ที่มา  :  Pixabay

 

2. เลือกใช้โฟกัสจุดเดียว

กล้องรุ่นใหม่ๆนอกจากจะเลือกใช้จุดโฟกัสได้หลากหลาย ยังสามารถปรับขนาดจุดโฟกัสได้หลายขนาด  หรือบางรุ่นมีระบบ Eye-AF  โฟกัสติดตามดวงตา ช่วยให้ช่างภาพทำงานได้ง่ายขึ้นแต่ยังหวังผลความคมชัดได้สูงสุด

  • ถ่ายภาพ : Ultra_Nancy
  • ที่มา  :  Pixabay

ในบางสถานการณ์การเลือกใช้จุดโฟกัสจุดเดียว (single-point AF)​ จะให้ประสิทธิภาพการโฟกัสภาพที่ดีกว่า และให้ภาพที่มีคมชัดสูงสุด ได้ดีกว่าการใช้จุดโฟกัสทั้งหมด เช่น การถ่ายภาพพอร์ตเทรท ที่ต้องการความคมชัดของดวงตา หากใช้จุดโฟกัสจำนวนมาก กล้องอาจไปโฟกัสที่จมูกหรือริมฝีปากของนางแบบ หรือไปโฟกัสในตำแหน่งอื่นที่ไม่ต้องการ แต่การใช้จุดโฟกัสจุดเดียว เราสามารถเล็งจุดโฟกัสไปที่ดวงตาและจัดองค์ประกอบใหม่หลังจากการโฟกัสแล้วได้ หรืออีกตัวอย่าง เช่น การถ่ายภาพมาโคร หรือภาพที่ต้องการเน้นความคมชัดในจุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ หากใช้จุดโฟกัสจำนวนมาก กล้องจะไม่รู้ถึงความต้องการของเราและจะเลือกโฟกัสในตำแหน่งที่ใกล้ที่สุดไว้ก่อนเสมอ

การใช้จุดโฟกัสจุดเดียวช่วยให้ช่างภาพเลือกตำแหน่งของการโฟกัสและจัดองค์ประกอบภาพได้สะดวกมากขึ้น

  • ถ่ายภาพ : Sponchia
  • ที่มา  :  Pixabay

เพิ่มเติม กล้องรุ่นใหม่ๆนอกจากจะเลือกจุดโฟกัสจุดเดียวได้ ยังย้ายจุดโฟกัสไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้ง่ายๆด้วยจอยสติ๊กหรือแป้นปรับสี่ทิศทางได้อีกด้วย ช่วยเพิ่มความสะดวกหลังจากโฟกัสแล้วไม่ต้องมาจัดองค์ประกอบภาพใหม่

 

3. การโฟกัสด้วย Back Button focus

ในการถ่ายภาพบางสถานการณ์ การโฟกัสด้วยการกดปุ่มชัตเตอร์อาจใช้เวลานานเกินไปกว่าจะกดปุ่มชัตเตอร์ลงได้สุดเพื่อถ่ายภาพ หรือถ่ายภาพได้ไม่คมชัด อาจจะทำให้พลาดโอกาสถ่ายภาพดีๆไป โดยเฉพาะกับการถ่ายภาพต่อเนื่อง ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการตั้งค่าให้ปุ่มใดปุ่มหนึ่งด้านหลังกล้อง หรือใช้ปุ่มที่ออกแบบมาเฉพาะ เช่น AF-ON ทำหน้าที่เป็นปุ่มโฟกัสแทนการกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งทาง

  • ถ่ายภาพ : emkanicepic
  • ที่มา  :  Pixabay

กล้องหลายรุ่นออกแบบให้สามารถตั้งค่าคัสตอมฟังก์ชั่น ให้ปุ่มต่างๆบนตัวกล้องทำหน้าที่ได้หลายอย่าง สามารถตั้งค่าตามความถนัด และการใช้งานบ่อยของช่างภาพแต่ละคนได้ ส่วนใหญ่จะเป็นปุ่มที่มีสัญลักษณ์รูป *  หากเป็นการถ่ายภาพต่อเนื่องกดปุ่มค้างไว้กล้องจะโฟกัสตลอดเวลา ช่างภาพสามารถกดปุ่มชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพได้ทุกวินาทีที่ต้องการ  ส่วนการถ่ายภาพนิ่ง กดจะเป็นการโฟกัสภาพ เมื่อปล่อยกล้องจะล็อคโฟกัส สามารถจัดองค์ประกอบภาพใหม่ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าระยะโฟกัสจะเปลี่ยนหรือกลับมาโฟกัสใหม่

 

4. เลือกโหมด Shutter Priority

  • ถ่ายภาพ : pen_ash
  • ที่มา  :  Pixabay

สำหรับช่างถ่ายภาพสัตว์ป่า, ถ่ายภาพนก, ถ่ายภาพแอคชั่น หรือ ถ่ายภาพกีฬา ที่วัตถุจะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง หรือช่างภาพทั่วๆไปที่ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยไม่เอื้อต่อการถ่ายภาพ (low-lighting)​ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลโดยตรงต่อความคมชัดของภาพ

  • ถ่ายภาพ : MNANNAPANENI
  • ที่มา  :  Pixabay
ทางเลือกในการรับมือกับปัญหานี้ คือ การเลือกใช้โหมดถ่ายภาพแบบ Shutter Priority (โหมด S หรือ TV)​ เพื่อเลือกปรับความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการได้ตามที่ต้องการ

หลักการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่มั่นใจได้ว่าภาพจะคมชัดคือเลือกให้สัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสเลนส์ จำง่ายๆคือ “ความเร็วชัตเตอร์ 1/(2x) ทางยาวโฟกัส” เช่น ใช้เลนส์ 50 มม. เท่ากับ 1/100 วินาที หรือหากเลนส์ที่ใช้มีระบบกันสั่น หรือทีกันสั่นในบอดี้กล้องก็สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่านี้ได้ 1-2 สตอป โดยที่ถือถ่ายด้วยมือเปล่าแล้วยังมั่นใจว่าได้ภาพที่คมชัดแน่นอน

 

5. ถ่ายภาพสำรองไว้

  • ถ่ายภาพ : 15704019
  • ที่มา  :  Pixabay

เคล็ดลับข้อสุดท้ายคือ การถ่ายภาพเดิมซ้ำเก็บไว้อีกสองสามช็อต หากภาพใดภาพหนึ่งโฟกัสพลาด ยังมีภาพอื่นที่โฟกัสได้ชัดให้เลือกใช้งานได้ โดยเฉพาะกับช่างภาพที่รับงานถ่ายภาพ สำคัญๆ หรือใช้ภาพเพื่อการค้า การมีถ่ายภาพสำรองไว้เป็นสิ่งจำเป็นมาก แม้แต่ช่างภาพมืออาชีพจำนวนมากก็ยังต้องถ่ายภาพช็อตสำรองเก็บไว้เช่นกัน

 

แปลจาก  :  5 Secret Tips to Take Sharp Photos Using Any Camera
ผู้เขียน : Kunal Malhotra

ที่มา  :  digital-photography-school.com

(ภาพปก) ถ่ายภาพ : justapolak / ที่มา  :  Pixabay

20 พฤษภาคม 63