Knowledge

11 Tips for Photographing Your Dog or Cat Like a Pro โดย Alicia Rius ช่างภาพที่มีความชำนาญด้านการถ่ายภาพสัตว์

ผู้เขียนมักจะถูกเจ้าของสัตว์เลี้ยงถามอยู่เสมอว่า จะถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงของเขาอย่างไรให้ออกมาดูดีด้วยกล้องถ่ายภาพธรรมดาๆที่พวกเขาใช้กัน ในความเป็นจริงนอกจากการใช้องค์ประกอบภาพและเทคนิคต่างๆแล้ว สิ่งสำคัญคือหากคุณเป็นเจ้าของที่ให้ความรัก ความใกล้ชิดและมีความเข้าใจสัตว์เลี้ยงของคุณ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการที่จะได้ภาพดีๆได้เช่นกัน

ผู้เขียนมีเคล็ดลับสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงหรือช่างภาพ ในการจับจังหวะการโพสต์ ของสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น เพื่อให้ถ่ายภาพได้ดีที่สุด

1. จังหวะ/เวลา คือสิ่งสำคัญ การเรียนรู้นิสัยของสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งจำเป็นในการถ่ายภาพ สัตว์เลี้ยงแต่ละตัวล้วนมีบุคลิกและนิสัยที่ต่างกัน เรียนรู้หรือสังเกตุบุคลิกเพื่อจับภาพในช่วงเวลาที่พวกมันแสดงออกถึงความเป็นธรรมชาติในตัวเองออกมา

2. สภาพแวดล้อมที่ดี ช่วยให้ได้ภาพที่ดีเช่นกัน หากสัตว์เลี้ยงได้อยู่ในสถานที่ที่พวกมันรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด สัตว์เลี้ยงก็จะมีอารมณ์ดี วิ่ง เล่นหรือแสดงออกในท่าทางที่ดีๆให้จับภาพสวยๆได้

3. ความสำคัญของแสง แสงที่ดีช่วยสร้างภาพถ่ายที่สุดยอด กับการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงแบบ out door แนะนำให้ถ่ายในวันที่มีเมฆ หลีกเลี่ยงการถ่ายในแสงแดดจ้าซึ่งจะทำให้เกิดแสงและเงาที่ดูแข็ง หรืออาจจะเลือกถ่ายในช่วงเวลาเช้าหรือเย็นที่แสงแดดไม่แรงมากและให้แสงสีในโทนอุ่น หลีกเลี่ยงการใช้แฟลชที่อาจทำให้เกิดอาการตาแดงได้

Pro Tip : หากต้องใช้แฟลชให้แยกแฟลชออกจากตัวกล้อง (off-camera flash) หรืออย่าให้แสงแฟลชฉายเข้าในทิศทางตรงเข้าใบหน้า หรืออาจใช้กระดาษไขมาปิดด้านหน้าของแฟลชเพื่อช่วยกระจายแสงทำให้แสงแฟลชมีความนุ่มนวลมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องทดลองหลายๆครั้งให้เกิดความชำนาญก่อนการไปใช้งานจริง 

4. ให้สัตว์เลี้ยงทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ถ่ายภาพ เช่น เสียงการทำงานของกล้อง เสียงชาร์จไฟแฟลชหรือแสงแฟลชที่สว่างจ้า  หรืออาจให้ขนมเป็นรางวัลเมื่อถ่ายภาพในแต่ละครั้ง สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนทำให้สัตว์เลี้ยงมีความคุ้นเคย ไม่ตื่นกลัวซึ่งจะทำให้การแสดงออกในท่าทางที่เป็นธรรมชาติได้เต็มที่

5. จัดการกับสิ่งต่างๆรอบบริเวณที่จะถ่ายภาพ ในที่นี้หมายความถึงฉากหลังของภาพ ควรเลือกฉากหลังที่เรียบง่าย ไม่โดดเด่นหรือมีสิ่งที่ดึงดูดสายตามากเกินไป เพื่อให้สัตว์เลี้ยงเป็นจุดสนใจของภาพ เช่นการใช้สีเขียวของสนามหญ้าเป็นฉากหลัง  หรือหากถ่ายภายในบ้าน ในห้อง ควรเลือกผนังหรือพรมที่มีสีพื้นๆเรียบๆมาใช้เป็นฉากหลัง หากไม่สามารถหาฉากหลังที่ดีได้ให้เปิดรูรับแสงกว้างเพื่อเบลอฉากหลังออกไป

Pro Tip :  การถ่ายภาพแบบเบลอฉากหลัง ทำให้ภาพดูโดดเด่น เหมือนมืออาชีพ สามารถทำได้โดยเลือกใช้โหมด   aperture priority  (A, AV) และเลือกรูรับแสงที่กว้างที่สุดของเลนส์ที่ใช้อยู่ เช่น F/2.8 หรือ F/1.4 ในเลนส์เกรดโปร หรือ F/3.5 กับเลนส์คิท (kit : เลนส์ที่จับคู่ขายมากับกล้อง ส่วนมากจะเป็นเลนส์ซูม 28-70, 18-55  F/3.5-5.6) ถ่ายสัตว์เลี้ยงในระยะใกล้ หรือหากโฟกัสที่หน้าให้ปรับรูรับแสงแคบลงประมาณ 2 สตอป  เช่น หากใช้รูรับแสง F/2.8 ให้ปรับไปอีก 2 สตอปคือ F/5.6 เพื่อให้เห็นใบหน้าชัดทั้งหมดและมีระยะชัดลึกไล่ลดหลั่นไป

6. ถ่ายภาพระดับสายตา การถ่ายภาพระดับสายตาหรือผู้ถ่ายกับสัตว์เลี้ยงอยู่ในระดับเดียวกัน (ในที่นี้หมายความถึงการย่อตัว นั่ง หรือคุกเข่าลงไปให้ระดับตัวของเราใกล้เคียงกับสัตว์เลี้ยงมากที่สุด)จะทำให้มุมมองของภาพเป็นแบบเดียวกันหรือมีความใกล้เคียงกันกับสายตาที่มองเห็น ทำให้ภาพมีความน่าสนใจมากกว่าการก้มลงถ่ายภาพ หรือยืนถ่ายภาพโดยกดกล้องลงไปหาสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจจะให้สัดส่วนภาพที่ผิดเพี้ยนได้

Pro Tip : แนะนำให้ใช้แผ่นรองหัวเข่า เพื่อช่วยป้องกันการเจ็บปวดจากการคุกเข่าเป็นเวลานาน

7. เข้าใกล้สัตว์เลี้ยงมากขึ้น สัตว์เลี้ยงและเจ้าของจะมีช่วงเวลาที่เรียนรู้กันผ่านการเล่น หยอกล้อก้นซึ่งจะสร้างความใกล้ชิดและความเข้าใจระหว่างกันให้มากขึ้น การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงก็เช่นกัน ช่างภาพ/ผู้ถ่ายภาพ จำเป็นที่จะต้องสร้างความสัมพ้นธ์ที่ดีกับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้สามารถถ่ายภาพในมุมมองต่างๆที่ถ่ายทอดความเป็นตัวตนของสัตว์เลี้ยงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ และการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้องก็มีส่วนที่ทำให้ได้ภาพที่ดีเช่นกัน หากสัตว์เลี้ยงวิ่งวนเวียนอยู่ใกล้ๆรอบตัวผู้ถ่าย แนะนำให้ใช้เลนส์ซูมเพื่อความสะดวกในการเลือกระยะถ่ายภาพได้หลากหลาย หรือหากต้องการถ่ายภาพที่ให้สัตว์เลี้ยงโดดเด่นหลุดออกจากฉากหลังแนะนำให้ใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงเพื่อแยกสัตว์เลี้ยงออกจากฉากหลังได้อย่างชัดเจน

8. เรียกร้องความสนใจจากสัตว์เลี้ยง โดยการเล่น ส่งเสียงแปลกๆ การหอนหรือการใช้ของเล่นหลอกล่อให้สัตว์เลี้ยงสนใจ เพื่อให้พวกมันเข้ามาใกล้และแสดงท่าทางต่างๆหรือใช้สายตามองมาที่ผู้ถ่ายภาพ  เล่นหรือหลอกล่อไปด้วยแล้วอาศัยจังหวะนั้นถ่ายภาพเพื่อจับจังหวะดีๆไปพร้อมๆกันจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้ภาพที่ดีมากขึ้น

Pro Tip : อย่าหลอกล่อด้วยการป้อนหรือให้อาหารมากเกินไป 
     

9. ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อหยุดความเคลื่อนไหว โดยอาจเลือกใช้โหมดแมนนวล หรือ โหมด S (shutter priority mode) ที่ผู้ถ่ายภาพสามารถเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการได้โดยกล้องจะตั้งค่าอื่นๆให้อัตโนมัติ หรืออาจเลือกใช้โปรแกรมถ่ายภาพสำเร็จรูป เช่น โปรแกรมถ่ายภาพกีฬา ที่กล้องจะเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อหยุดความเคลื่อนไหวของวัตถุ อย่าลืมตั้งค่าถ่ายภาพเป็นแบบถ่ายต่อเนื่อง และเตรียมตัวให้พร้อมกับการถ่ายภาพตลอดเวลา

10. ถ่ายภาพให้มาก อย่ากังวลกับจำนวนภาพถ่ายที่มากขึ้น เพราะการถ่ายภาพประเภทนี้ยิ่งถ่ายมากยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการได้จังหวะภาพที่ดีมากขึ้นไปด้วย อาจกระตุ้นสัตว์เลี้ยงด้วยการให้รางวัลเล็กๆน้อยๆเพียงเท่านี้พวกมันก็พร้อมที่จะเล่นและพร้อมให้คุณถ่ายภาพแล้ว

11. ใช้ความอดทนและการเชื่อใจกัน ระหว่างการถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงอาจจะต้องอาศัยความอดทนในการรอจังหวะดีๆจากการวิ่ง การแสดงออกหรือการเล่นของพวกมัน เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด บางช่วงอาจจะต้องหยุดถ่ายภาพเพื่อรอ หรือในบางช่วงอาจจะต้องถ่ายต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด
       สิ่งสำคัญที่สุดในการถ่ายภาพคือการฝึกหัดถ่ายภาพให้มาก คุณจะรู้จักและจดจำการถ่ายภาพในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างมั่นใจ การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงก็เช่นกัน การจับจังหวะภาพที่ดี การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย ความสนุกสนาน การแสดงออกในท่าทางที่เป็นตัวเองของสัตว์เลี้ยง ภาพถ่ายเหล่านี้ล้วนเป็นการเก็บความทรงจำที่ดีที่สุดระหว่างตัวคุณกับสัตว์เลี้ยงนั่นเอง

ที่มา : https://petapixel.com

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

? ขอบคุณครับ


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจทริคดีๆสำหรับการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/trick-story