Basic

10 Camera Settings for Bird Photography Beginner

โอกาสในการได้ภาพนกที่ดีมาจากการเตรียมตัวให้พร้อมของนักถ่ายภาพไม่แตกต่างกับนักถ่ายภาพแอ็คชั่น เพราะการถ่ายภาพนกในหลายๆ ครั้งอาจเป็นโอกาสที่ผ่านเข้ามาเพียงครั้งเดียวมีโอากาสไม่มาก ดังนั้นการปรับตั้งการทำงานต่างๆ ของกล้องให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการช่วยรับประกันถึงคุณภาพของภาพที่ดี โดยต่อไปนี้เป็นคำแนะนำในการปรับตั้งกล้องจากนักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์ในการถ่ายภาพนกมานานรวมทั้งเป็นคำแนะนำเมื่อออกเวิร์กช็อปถ่ายภาพนกด้วย

1 ถ่ายภาพ RAW

นักถ่ายภาพควรเลือกถ่ายภาพแบบ RAW และหากไม่เคยใช้ก็ควรที่จะลองหันมาถ่ายภาพแบบ RAW แต่หากไม่แน่ใจว่าจะมีเวลาในการปรับภาพ RAW ได้อีก ทางเลือกที่ดีก็คือถ่ายภาพ RAW + Fine JPEG เหตุผลที่ควรถ่ายภาพแบบ RAW เพราะเป็นไฟล์ที่เก็บข้อมูลทั้งหมดที่เซ็นเซอร์ภาพบันทึกไว้ ซึ่งหมายความว่านักถ่ายภาพจะสามารถใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์ภาพได้อย่างเต็มศักยภาพ ในขณะที่ภาพ JPEG เป็นไฟล์ภาพที่ถูกบีบอัดมาแล้ว ซึ่งหมายถึงการบีบข้อมูลเพื่อลดขนาดของไฟล์โดยการทิ้งข้อมูลบางส่วนไป ดังนั้นด้วยการถ่ายภาพแบบ RAW จึงทำให้นักถ่ายภาพไม่สูญเสียข้อมูลจากเซ็นเซอร์ไป นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกจากการถ่ายภาพแบบ RAW เช่น

  • สามารถปรับไวต์บาลานช์ใหม่ในขั้นตอนปรับภาพภายหลังได้
  • ช่วงไดนามิกเรนจ์สูงสุดจากเซ็นเซอร์ภาพจะถูกบรรจุไว้ในไฟล์ RAW โดยยิ่งมีข้อมูลมากก็หมายถึงยิ่งมีรายละเอียดทั้งในส่วนเงามืดและไฮไลต์ของภาพมากขึ้น
  • สามารถนำรายละเอียดในส่วนเงามืดกลับมาได้
  • สามารปรับเพื่อให้มีคอนทราสต์และสีที่ดีที่สุดสำหรับภาพภายหลังได้

2 ใช้การทำงานปรับไวต์บาลานช์อัตโนมัติ

การทำงานปรับไวต์บาลานช์อัตโนมัติหรือ AWB เป็นสิ่งที่ให้ความสะดวกในการถ่ายภาพโดยเฉพาะเมื่อถ่ายภาพนก เพราะจะมีการปรับไวต์บาลานช์ใหม่ทุกครั้งที่สภาพแสงเปลี่ยน เนื่องจากนกมักมีการเคลื่อนที่ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นไปไม่ได้ที่นักถ่ายภาพจะปรับไวต์บาลานช์ในขณะที่กำลังถ่ายภาพโดยเฉพาะเมื่อนกกำลังบิน ดังนั้นการปรับตั้งไวต์บาลานช์สำหรับแสงลักษณะหนึ่งโดยเฉพาะจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเพราะเมื่อถ่ายภาพลักษณะของแสงจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด โดยกับกล้องรุ่นใหม่การทำงานปรับไวต์บาลานช์อัตโนมัติมักจะให้ผลลัพธ์ที่ดีในสถานการณ์ส่วนใหญ่ เพราะแม้ว่าเมื่อถ่ายภาพแบบ RAW นักถ่ายภาพจะสามารถปรับแก้ไขไวต์บาลานช์ภายหลังได้ แต่ การทำงานปรับไวต์บาลานช์อัตโนมัติจะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อถ่ายภาพแบบ RAW+JPEG หรือ JPEG เพียงอย่างเดียว

3 ใช้โหมดบันทึกภาพกึ่งอัตโนมัติ

แม้โหมดถ่ายภาพอัตโนมัติจะให้ความสะดวกเมื่อถ่ายภาพซึ่งดูเหมือนจะเหมาะสำหรับการถ่ายภาพนกที่ต้องการความรวดเร็ว แต่ผู้ที่มีประสบการณ์ในการถ่ายภาพนกจะรู้ว่าโหมดบันทึกภาพกึ่งอัตโนมัติเป็นทางเลือกที่ดีเพราะนักถ่ายภาพจะสามารถควบคุมค่าบันทึกภาพได้ ด้วยการใช้โหมดถ่ายภาพกึ่งอัตโนมัติที่ให้ความสะดวกไม่แพ้โหมดถ่ายภาพอัตโนมัติจึงสามารถให้ผลลัพธ์ที่ต้องการได้ โดยโหมดบันทึกภาพที่นักถ่ายภาพนกนิยมใช้กันคือปรับรูรับแสงล่วงหน้าหรือ Av/A เนื่องจากเป็นโหมดที่นักถ่ายภาพเลือกรูรับแสงซึ่งเป็นสิ่งกำหนดระยะชัดของฉากหลังเอง โดยที่กล้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ แต่หากความเร็วชัตเตอร์เป็นสิ่งสำคัญเช่นเมื่อถ่ายภาพนกที่กำลังบินโดยต้องการแพนกล้องตามหรือหยุดแอ็คชั่นของนกที่มีการขยับเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วโหมดบันทึกภาพปรับความเร็วชัตเตอร์ล่วงหน้าหรือ Tv/S จะช่วยให้นักถ่ายภาพเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมได้โดยที่กล้องปรับรูรับแสงให้

4 ใช้การทำงานปรับความไวแสงอัตโนมัติ

หากใช้การทำงานปรับความไวแสงอัตโนมัติอย่างเหมาะสม จะสามารถช่วยลดปัญหาต่างๆ เมื่อถ่ายภาพนกได้มาก เพราะโดยทั่วไปแล้วนักถ่ายภาพมักต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงพอที่จะหยุดแอ็คชั่นของนกได้ ซึ่งหมายความว่าอาจต้องใช้ความไวแสงสูงช่วยในขณะที่การใช้ความไวแสงสูงมากจะทำให้เกิดสัญญาณรบกวนในภาพหรือ Noise ที่มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งโดยทั่วไปความไวแสงสูงสำหรับกล้องที่ใช้เซนเซอร์ภาพ APS-C ไม่ควรสูงกว่า ISO 800 หรือ 1600 ขึ้นอยู่กับว่านักถ่ายภาพยอมรับในสัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นได้แค่ไหน โดยเมื่อถ่ายภาพแทนที่นักถ่ายภาพจะปรับความไวแสงทิ้งไว้ที่ ISO 800 หรือ 1600 แต่จะดีกว่าหากปรับเลือกใช้การทำงานปรับความไวแสงอัตโนมัติแล้วเลือกกำหนดความไวแสงสูงสุดที่ต้องการ โดยเมื่อใช้กล้องฟูลเฟรมนักถ่ายภาพจะสามารถกำหนดความไวแสงสูงสุดที่กล้องปรับให้ในการทำงานปรับความไวแสงอัตโนมัติเพิ่มขึ้นได้

ด้วยการทำงานปรับความไวแสงอัตโนมัติแทนการปรับค่าความไวแสงคงที่ กล้องจะปรับตั้งความไวแสงตามค่าแสงที่เปลี่ยนแปลง โดยที่กล้องจะพยายามรักษาความไวแสงไว้ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เสมอ เช่น เมื่อถ่ายภาพในช่วงเช้าที่สภาพแสงน้อยกล้องอาจจะปรับความไวแสงให้ที่ ISO 800 แต่เมื่อถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนแสงเริ่มมากขึ้น ความไวแสงที่กล้องปรับตั้งให้ก็จะเริ่มลดลงตามสภาพแสงที่มากขึ้นซึ่งจะทำให้ภาพมีสัญญาณรบกวนน้อยลงด้วย

5 ใช้ระบบวัดแสงเฉลี่ยหลายพื้นที่

ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น Evaluative, Matrix, Multi Pattern ซึ่งเรียกแตกต่างกันในกล้องจากแต่ละผู้ผลิต โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการทำงานที่ถูกปรับตั้งเป็นมาตรฐานในกล้อง แต่อาจมีบางคนที่เชื่อว่าระบบวัดแสงเฉพาะจุดเหมาะสำหรับถ่ายภาพนกที่สุด ซึ่งแม้จะเป็นความจริงแต่ก็เป็นความจริงที่มีข้อจำกัด เพราะในขณะที่ระบบวัดแสงเฉพาะจุดครอบคลุมการวัดแสงในพื้นที่ 1-5 เปอร์เซ็นต์ของภาพ การทำงานของระบบวัดแสงเฉลี่ยหลายพื้นที่จะมีการนำหลายๆ ส่วนของภาพทั้งวัตถุหลักที่ถูกโฟกัส วัตถุอื่นในภาพ ฉากหลัง แล้วจึงมีการวิเคราะห์เพื่อหาค่าบันทึกภาพที่ถูกต้อง จึงหมายความว่าเป็นระบบวัดแสงที่มีความฉลาดกว่าระบบวัดแสงเฉพาะจุดหรือเฉลี่ยหนักกลางภาพ และเมื่อใช้ร่วมกับระบบชดเชยแสงของกล้องก็จะช่วยให้ได้ค่าบันทึกภาพที่ต้องการได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกล้องรุ่นใหม่ๆ ระบบวัดแสงเฉลี่ยหลายพื้นที่ของกล้องมักทำงานได้ดีกับสถานการณ์ถ่ายภาพส่วนใหญ่

6 ใช้ Histogram ให้เป็นประโยชน์

Histogram เป็นหนึ่งในเพื่อนแท้ของนักถ่ายภาพ ซึ่งหากไม่ใช้ก็จะพลาดการทำงานที่มีประโยชน์สำหรับภาพไป โดยทุกครั้งที่ถ่ายภาพนักถ่ายภาพควรตรวจสอบ Histogram แทนการวางใจเฉพาะการดูภาพด้านหลังกล้อง เพราะความสว่างของจอ LCD และสภาพแสงในขณะดูภาพอาจหลอกให้นักถ่ายภาพเข้าใจว่าภาพโอเวอร์หรืออันเดอร์ได้ แต่กับ Histogram จะบอกกับนักถ่ายภาพอย่างชัดเจนเกี่ยวกับภาพที่บันทึก เพียงแค่เลือกให้กล้องแสดง Histogram แล้วดูกราฟที่เกิดขึ้นก็จะรู้ได้ว่าภาพได้รับแสงถูกต้อง โอเวอร์ หรืออันเดอร์ โดยทั่วไปหากกราฟส่วนใหญ่อยู่ทางขวาของ Histogram ภาพจะโอเวอร์หรือมีส่วนที่สว่าง/ขาวจนขาดรายละเอียดมาก แต่หากส่วนใหญ่ของกราฟอยู่ทางซ้ายมือจะหมายความว่าภาพอันเดอร์หรือมีส่วนใหญ่ของภาพที่ดำหรือมืดจนขาดรายละเอียด ซึ่งไม่ควรถ่ายภาพให้กราฟอยู่ที่ด้านซ้ายหรือขวาของ Histogram มาก เพราะโดยทั่วไปแล้วหากพื้นที่ส่วนใหญ่ของกราฟอยู่บริเวณกลาง Histogram มักจะแสดงว่ามีค่าบันทึกภาพที่ดี

อย่างไรก็ตามอาจมีบางสถานการณ์ที่ Histogram ไม่ได้มีลักษณะข้างต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ค่าบันทึกภาพที่ไม่ถูกต้อง เช่นเมื่อถ่ายภาพนกสีขาวโดยมีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีเข้ม สิ่งที่เห็นใน Histogram จะมีลักษณะเหมือนเสาสูงทั้งสองด้าน โดยเสาที่อยู่ด้านซ้ายอาจมาจากการบันทึกภาพในส่วนท้องฟ้า ขณะที่เสาด้านขวามาจากนกสีขาว โดยที่ภาพโดยรวมมีการบันทึกภาพที่ดี

7 ปรับความไวแสงอัตโนมัติ + กำหนดความเร็วชัตเตอร์ตํ่าสุด

กล้องถ่ายภาพใหม่ๆ หลายๆ รุ่นจะสามารถให้ผู้ใช้กำหนดความเร็วชัตเตอร์ตํ่าสุดในโหมดปรับความไวแสงอัตโนมัติได้ ซึ่งจะเป็นการรับประกันว่ากล้องจะเลือกความไวแสงตํ่าสุดเพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ตํ่าสุดที่กำหนดไว้ และด้วยการทำงานนี้จะให้ประโยชน์แก่นักถ่ายภาพสองทาง เช่นเมื่อนักถ่ายภาพกำหนดความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 1/1000 วินาที กล้องจะพยายามปรับความไวแสงตํ่าที่สุดเพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการ

อย่างไรก็ตามในการทำงานนี้หากแสงน้อยจนทำให้แม้ปรับความไวแสงสูงสุดเพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการแล้วก็ยังไม่สามารถทำได้ กล้องจะปรับลดความเร็วชัตเตอร์ลง ดังนั้นเมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยนักถ่ายภาพควรสังเกตความเร็วชัตเตอร์ที่กล้องปรับตั้งให้ด้วยว่าอยู่ในระดับที่ต้องการหรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการ นักถ่ายภาพก็แค่ปรับเพิ่มความไวแสงเองเพื่อให้ได้ค่าที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักถ่ายภาพไม่ควรลืมเมื่อจะปรับความไวแสงเพิ่มขึ้นคือสัญญาณรบกวนที่เพิ่มขึ้นตามความไวแสง

8 เรียนรู้ที่จะใช้ปุ่ม AF-On

ปัญหาหนึ่งเมื่อถ่ายภาพนกคือการเปลี่ยนโหมดโฟกัสจากการโฟกัสทีละภาพหรือ AF-S/One Shot เป็นโหมดโฟกัสต่อเนื่องหรือ AF-C/AI Servo เพราะโดยปกติแล้วนักถ่ายภาพจะใช้โหมดโฟกัสทีละภาพกับนกที่กำลังเกาะอยู่กับที่ไม่ขยับและโหมดโฟกัสต่อเนื่องในขณะที่นกเคลื่อนที่หรือบิน ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้หากมีปุ่ม AF-On ด้านหลังกล้อง ซึ่งใช้เพื่อโฟกัสภาพแทนปุ่มชัตเตอร์ โดยแทนที่จะกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อโฟกัสตามปกติ นักถ่ายภาพสามารถใช้ปุ่ม AF-On เพื่อสั่งให้กล้องเริ่มการโฟกัสได้ โดยเมื่อเลือกใช้ปุ่มโฟกัสด้านหลังกล้องแล้วปรับตั้งเพื่อให้ปุ่มชัตเตอร์ใช้เพื่อบันทึกภาพและวัดแสงเท่านั้น ด้วยการใช้เฉพาะปุ่ม AF-On โฟกัสก็จะทำให้สามารถปรับตั้งที่โหมดโฟกัสต่อเนื่องซึ่งพร้อมสำหรับแอ็กชั่นที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อปล่อยนิ้วจากปุ่ม AF-On กล้องจะล็อกโฟกัสอัตโนมัติซึ่งหมายถึงการทำงานที่ไม่ต่างกับโหมดโฟกัสทีละภาพ โดยหากกล้องที่ใช้ไม่มีปุ่ม AF-On ก็อาจมีการทำงานเพื่อปรับปุ่มอื่นของกล้องให้ทำหน้าที่นี้อย่างปุ่ม AE-L/AF-L

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรระวังเมื่อใช้ปุ่ม AF-On โฟกัสคือ เนื่องจากทุกครั้งที่กดปุ่มชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพจะไม่มีการโฟกัสใหม่ ดังนั้นหากนักถ่ายภาพขยับหรือนกมีการขยับแม้เพียงเล็กน้อยก็ควรโฟกัสด้วยปุ่ม AF-On ใหม่

9 แสดงพื้นที่ไฮไลต์

อีกการทำงานหนึ่งที่มีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพนกคือการแสดงส่วนไฮไลต์ของภาพหรือ Highlight Indicator ซึ่งมักแสดงเป็นลักษณะกระพริบในส่วนนั้น ซึ่งด้วยการทำงานนี้พร้อมด้วย Histogram และการชดเชยแสงจะช่วยให้ความมั่นใจถึงค่าบันทึกภาพที่ถูกต้อง

การแสดงพื้นที่ไฮไลต์จะแสดงส่วนของภาพที่โอเวอร์ ซึ่งโดยปกติแล้วยากที่จะดูว่าภาพนั้นโอเวอร์หรือไม่จากการดูที่จอ LCD ของกล้อง และจริงๆ แล้วควรใช้จอ LCD เฉพาะเพื่อตรวจสอบองค์ประกอบภาพมากกว่าใช้เพื่อตรวจสอบค่าบันทึกภาพ ในขณะที่การใช้ Histogram เพื่อตรวจสอบค่าบันทึกภาพบางครั้งก็ยากที่จะหาว่ามีพื้นที่โอเวอร์หรือไม่ใน Histogram โดยเฉพาะกับส่วนที่โอเวอร์เพียงเล็กน้อย ในขณะที่พื้นที่มีการกระพริบเพื่อแสดงส่วนที่โอเวอร์จะดูได้ง่ายกว่า เพราะนักถ่ายภาพจะเห็นการกระพริบได้ทันทีในพื้นที่ของภาพที่โอเวอร์เมื่อเปิดการทำงานให้แสดงส่วนไฮไลต์ของภาพ

หากนักถ่ายภาพคุ้นเคยกับการตรวจสอบ Histogram และการกระพริบในส่วนไฮไลต์หลังถ่ายภาพ ก็จะช่วยเพิ่มคุณภาพในการถ่ายภาพนกได้ในด้านค่าบันทึกภาพ

10 ใช้การชดเชยแสงเพื่อปรับค่าบันทึกภาพ

นี่คือการทำงานที่สำคัญของกล้องเมื่อถ่ายภาพนกหากต้องการให้ภาพมีค่าบันทึกภาพที่ถูกต้อง ตามปกติระบบวัดแสงของกล้องจะให้ค่าบันทึกภาพโดยยึดตามการวิเคราะห์พื้นฐานที่ถูกกำหนดโดยผู้ผลิต ซึ่งไม่รู้ว่าวัตถุคืออะไรและควรวัดแสงให้ออกมาอย่างไร เช่น อาจวัดแสงให้นกกระยางออกมาเป็นสีเทาแทนที่จะเป็นสีขาวซึ่งจะทำให้ภาพมืดมาก เพราะระบบวัดแสงจะทำงานบนหลักการค่าเทากลาง 18 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นนักถ่ายภาพจึงมักต้องปรับค่าบันทึกภาพเพื่อบันทึกรายละเอียดต่างๆ ในภาพได้อย่างถูกต้อง หรือมีค่าบันทึกภาพที่ถูกต้อง ซึ่งด้วยการชดเชยแสงจะทำให้นักถ่ายภาพบอกกล้องให้ปรับค่าบันทึกภาพน้อยลงหรือมากขึ้นกว่าค่าบันทึกภาพปกติของกล้อง เช่นหากปรับชดเชยแสง -1 สตอปก็จะเป็นการบอกให้กล้องลดค่าบันทึกภาพหรือปรับภาพให้อันเดอร์ลงหนึ่งสตอป แต่หากปรับชดเชยแสง +1 จะเป็นการเพิ่มค่าบันทึกภาพขึ้นหนึ่งสตอป และโดยทั่วไปแล้วนักถ่ายภาพจะสามารถปรับค่าบันทึกภาพด้วยการชดเชยแสงได้ละเอียดเพราะกล้องถ่ายภาพมักจะสามารถปรับชดเชยแสงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ทีละ 1/3 สตอป

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


หากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกดไลค์และแชร์ด้วยนะครับ
FOTOINFO มี LINE@ OFFICIAL แล้ว !!! อย่าลืมแอดไลน์ @FOTOINFO (หรือสแกน QR Code ในภาพนี้)

ขอบคุณครับ

ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic