Basic

เลนส์คุณภาพสูง ดูกันที่เรื่องใด

ปัจจุบันกล้องดิจิตอลมีความละเอียดสูงขึ้นเรื่อยๆ กล้องมีเดียมฟอร์แมตมีความละเอียดไปถึง 150 ล้านพิกเซล กล้องฟูลเฟรมความละเอียดทำได้ถึง 61 ล้านพิกเซล กล้อง APS-C ความละเอียดก็ทำได้ถึง 32 ล้านพิกเซลแล้ว แต่การจะได้คุณภาพจากกล้องความละเอียดสูงเหล่านี้แบบเต็มที่ เลนส์จะมีผลอย่างมากต่อการรีดคุณภาพของเซ็นเซอร์รับภาพ ซึ่งแน่นอนว่าความละเอียดสูงมากๆ จะมีเลนส์หลายรุ่นที่ให้คุณภาพไม่สูงพอ ดังนั้นถ้าคุณจะใช้กล้องความละเอียดสูง และต้องการคุณภาพเต็มที่จากกล้องที่ใช้ จึงควรเลือกเลนส์ที่ให้คุณภาพสูงด้วย และถ้าถามว่าเลนส์คุณภาพสูง ดูกันที่เรื่องอะไรบ้าง ผมจะเรียบเรียงให้เลยครับ แต่ต้องบอกกันไว้ก่อนว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัว จากประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ

Resolution คือกำลังแยกขยายของเลนส์ แต่หลายคนจะเหมารวมว่าคือ ความคมชัดของภาพ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร นี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุดในการเลือกใช้เลนส์ของผม เลนส์ต้องคมไว้ก่อนครับ ซอฟท์แวร์ไม่ว่าจะเทพเพียงใดก็ไม่สามารถสร้างรายละเอียดจากภาพที่เบลอได้ มันทำได้เพียงปรับความคมของเส้นขอบภาพ ปรับคอนทราสต์ของรายละเอียดเล็กๆ เลนส์จึงควรให้ความคมชัดสูงมากๆ ไว้ก่อน เพราะการทำให้ซอฟท์ ให้เบลอ เป็นเรื่องง่าย แต่ทำให้ชัดยากมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้

ก่อนซื้อเลนส์จึงควรเข้าไปดูค่า MTF ของเลนส์ที่หมายตาไว้ว่า กำลังแยกขยายของเลนส์ได้อย่างที่คุณต้องการหรือไม่ โดยดูค่าทั้งที่รูรับแสงกว้างสุด และที่ f/8 ดูทั้งกลางภาพและขอบภาพ จากนั้นลองเข้าไปหาดูรีวิวการใช้งานจากเว็บไซต์ต่างๆ ลองโหลดภาพตัวอย่างดูว่า มันคมอย่างที่คุณต้องการหรือไม่

จากประสบการณ์ส่วนตัวบอกได้ครับว่า เลนส์ที่ผลิตออกมาในช่วง 10-30 ปีก่อน มีน้อยรุ่นมากที่คุณภาพสูงพอที่จะรองรับกล้องความละเอียดสูงรุ่นใหม่ๆ ทำได้แค่พอใช้กับค่อนข้างแย่ จากเลนส์ 100 รุ่น ผมเชื่อว่าไม่เกิน 10-15 รุ่น ที่จะดีพอสำหรับกล้องความละเอียดสูง เลนส์รุ่นใหม่ๆ ทั้งเลนส์ Mirrorless และเลนส์ DSLR โดยเฉพาะเลนส์เกรดโปรหรือเซมิโปร จะให้คุณภาพสูงกว่าเสมอ เพราะออกแบบระบบออฟติกด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ให้รายละเอียดสูงพอที่จะใช้งานได้อย่างมีคุณภาพ บางรุ่นอาจจะรองรับกล้องความละเอียดสูงในอนาคตได้เลยด้วยซํ้า เช่น เลนส์ Sony FE 135mm f/1.8 GM ผลทดสอบออกมาว่า ให้ความคมชัดสูงพอสำหรับกล้องฟูลเฟรมความละเอียด 100 ล้านพิกเซล การเลือกใช้เลนส์ระดับนี้จึงรีดคุณภาพของเซ็นเซอร์ภาพระดับ 42-61 ล้านพิกเซลได้เต็มที่ และรองรับกล้องในอนาคตได้

เลือกใช้เลนส์ที่คมไว้ก่อนดีที่สุดครับ ไม่ต้องพะวงว่ามันจะคมขุดคุ้ยเกินไปเมื่อถ่ายพอร์เทรต เพราะใช้ซอฟท์แวร์ได้ง่ายๆ และอย่าดูความคมชัดแค่กลางภาพ ความคมชัดในส่วนใกล้ขอบภาพหรือขอบภาพก็สำคัญมาก เพราะการวางตำแหน่งซับเจกต์ บ่อยครั้งไม่ได้อยู่กลางภาพ อาจค่อนไปทางขอบภาพ

Ghost & Flare ผมจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับที่ 2 ไม่ใช่เรื่องการถ่ายทอดสีอย่างที่หลายคนซีเรียสกัน เพราะผมเชื่อว่า การได้ภาพที่ใสเคลียร์ สีสันอิ่มแน่น ปัจจัยหลักคือ เลนส์ตัวนั้น Coating ดี ควบคุมการเกิดแสงฟุ้งและภาพหลอนได้ดี หากเลนส์มันคมชัดสูงมาก แสดงความว่าใสของชิ้นเลนส์ดีพออยู่แล้ว จึงไม่ต้องพะวงเรื่องสี แต่การที่สีดรอป ภาพไม่ใส มาจากการโค้ทผิวที่ไม่ดีพอ เมื่อถ่ายย้อนแสงหรือมีแสงสว่างส่องเข้าเลนส์ จะเกิดแสงฟุ้งมากน้อยตามความแรงของแสง ทำให้ภาพเสียคอนทราสต์ สีสันจึงลดความอิ่มตัวลงอย่างชัดเจน เลนส์คุณภาพสูงกับคุณภาพตํ่านั้น ไม่ต้องย้อนแสงแรงๆ หรอกครับ แค่ถ่ายภาพตัวแบบจากในอาคารออกไปนอกอาคาร ก็จะเห็นความแตกต่างเรื่องความใสและสีสันแล้วเลนส์อิสระราคาถูกมักจะมีปัญหาในเรื่อง Coating มากกว่าเลนส์ค่ายหรือเลนส์อิสระชั้นนำ เพราะการโค้ทที่ให้คุณภาพสูง อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตมีราคาสูงมาก และมีเทคนิคในการโค้ทที่ซับซ้อนมาก และอย่าคาดหวังว่า การโค้ทจะทำได้มาตรฐานเดียวกันกับเลนส์ทุกรุ่นของแบรนด์นั้นๆ ต้องดูเป็นรุ่นๆ ไป บางยี่ห้อดังๆ เลนส์เกรดโปรเหมือนกัน บางรุ่นก็ดีมาก บางรุ่นก็ค่อนข้างแย่

Vignetted อาการขอบภาพมืด เป็นปัญหาแบบหนึ่งในการออกแบบเลนส์ และจะเกิดกับเลนส์แทบทุกรุ่น ทุกระดับราคา เพียงแต่จะมากจะน้อย อาการขอบมืดจะเห็นได้ชัดเมื่อเปิดรูรับแสงกว้าง และจะพบได้มากในช่วงเลนส์มุมกว้าง มากๆ เลนส์มุมกว้างบางรุ่น เมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุด ขอบภาพอาจมืดกว่ากลางภาพได้ถึง 3-4 สตอป ทำให้ภาพดูไม่ใสเคลียร์ โดยสว่างเฉพาะกลางภาพ เลยออกจากกลางภาพเพียง 1/3 ของภาพ ก็มืดกว่ากลางภาพเกิน 1สตอปแล้ว รูรับแสงกว้างๆ ที่เคลมไว้ จึงได้เฉพาะพื้นที่แคบๆ กลางภาพ ออกนอกกลางภาพแสงหายไป 1-3 สตอปเลยทีเดียว

ในการเลือกเลนส์ แนะนำว่า ขอบภาพไม่ควรอันเดอร์เกิน 2.5 สตอป (ดูผลนี้จากรีวิว หรือจากข้อมูลจำเพาะของเลนส์) แม้จะปรับแก้ในซอฟท์แวร์หรือในตัวกล้องได้ก็ตาม เพราะว่ามันบ่งบอกว่า เลนส์ยังออกแบบไม่ดีพอ เลือกเลนส์ที่เคลียร์ๆ ไว้ก่อนดีกว่าครับ

CA & LoCA ความคลาดสี เป็นอีกเรื่องที่ควรให้ความสนใจ CA จะทำให้เกิดสีเหลื่อมบนรอยต่อของสิ่งต่างๆ ในภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ขอบภาพ โดยจะเกิดสีม่วง สีเขียว หรือสีแดง เหลื่อมออก ทำให้รายละเอียดลดลง ภาพดูไม่สะอาดตา แต่ CA ส่วนใหญ่จะสามารถลดให้น้อยลงได้จากระบบลดความคลาดในตัวกล้อง (เฉพาะไฟล์ Jpeg) หรือปรับลดได้จากซอฟท์แวร์ตกแต่งภาพ เช่น Photoshop (ไฟล์ Raw) ทำให้ไม่ได้เป็นผลเสียที่ร้ายแรง ในช่วงหลังๆ 5-6 ปีมานี้ ผมจึงให้ความสำคัญกับ LoCA มากกว่า CA ทั่วๆ ไป

LoCA (Longitudinal Chromatic Aberration) เป็นความคลาดสีที่มักเกิดเมื่อเปิดรูรับแสงกว้าง และจะลดลงมากเมื่อหรี่รูรับแสงลง LoCA จะไม่เกิดที่จุดโฟกัส ดังนั้น จึงไม่ส่งผลต่อความคมชัด รายละเอียดและสีที่ซับเจกต์ แต่จะเกิดสีเหลื่อมของวัตถุที่อยู่นอกระยะชัด ทั้งฉากหน้าและฉากหลัง โดยจะเกิดสีเหลื่อมม่วงบนฉากหน้า และสีเหลื่อมเขียวบนฉากหลัง สิ่งที่เป็นผลเสียคือ มันทำให้ฉากหลังไม่สะอาดตา เช่น การถ่ายภาพบุคคล เมื่อเปิดรูรับแสงกว้าง เส้นผมบนศีรษะตัวแบบที่เบลออยู่ด้านหลังใบหน้าจะมีสีเขียวเหลื่อม โบเก้ของจุดสว่างจะมีขอบเขียว กิ่งก้านต้นไม้ ใบไม้ จะมีสีเขียว และส่วนของฉากหน้าจะเกิดเช่น เดียวกัน แต่เป็นสีม่วง ปัญหาของ LoCA คือ มันไม่สามารถแก้ได้จากระบบปรับแก้ความคลาดอัตโนมัติในตัวกล้อง และไม่สามารถแก้ได้จากซอฟท์แวร์ตกแต่งภาพ เพราะส่วนที่สีเหลื่อมเป็นส่วนเอาท์โฟกัส จึงไม่สามารถปรับแก้ได้ จะลบในโปรแกรมก็พอทำได้ แต่ยุ่งยากมาก และทำให้เนียนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย LoCA จะทำให้ฉากหลังไม่สะอาดตา โบเก้ไม่สวย ภาพดูไม่คลีน เป็นจุดที่ผมค่อนข้างซีเรียสในการเลือกเลนส์ไว้ใช้งาน ถ้าคุณเคยใช้เลนส์ที่ไม่มี LoCA จะทราบดีว่า ความสะอาดตาของฉากหน้า ฉากหลัง มันดีต่อภาพอย่างไร

Distortion ความบิดเบี้ยวของเส้นที่จะเห็นได้จากเส้นตรงใกล้ขอบภาพ มีทั้งแบบโค้งเข้า และโค้งออก ดิสทอร์ชันทำให้เส้นและรูปทรงของวัตถุผิดเพี้ยงจากความจริง แต่สามารถปรับลดและปรับแก้ไขได้จากซอฟท์แวร์ตกแต่งภาพ และจากระบบลดความคลาดของกล้อง แต่ถ้าเลือกได้ ควรมองหาเลนส์ที่ดิสทอร์ชันน้อยไว้ก่อน เพราะข้อเสียของดิสทอร์ชันคือ ทำให้การต่อภาพเมื่อถ่ายพาโนรามาไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก การปรับดึงเส้นให้ตรงในซอฟท์แวร์จะทำให้เสียพื้นที่บางส่วนไป และส่วนที่ถูกยืดออกรายละเอียดจะลดลง

COMA อาการนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับการใช้งานทั่วไป แต่ถ้าคุณชอบถ่ายภาพ Night Light ชอบถ่ายภาพดาว ภาพทางช้างเผือก COMA จะทำให้จุดของดาว จุดของหลอดไฟ ไม่เป็นจุดกลม แต่จะเกิดแฉกหางแลบออกมาเหมือนปีกนก ดูผิดความจริง และไม่สวยงาม เพราะจะมาพร้อมสีเหลื่อม ดังนั้น ถ้าคุณไม่อยากให้เกิดปัญหานี้บนภาพ ต้องเลือกเลนส์ด้วยการดู MTF Chart ให้เส้นประและเส้นทึบของชาร์ตอยู่ชิดๆ กัน ไม่ถ่างออกจากกัน

Autofocus สำหรับเลนส์ระบบออโตโฟกัส ความเร็ว ความเงียบ และความแม่นยำในการโฟกัสเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อต้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว ความเร็วในการโฟกัสของเลนส์จะสำคัญพอๆ กับประสิทธิภาพในการโฟกัสของกล้อง มันจะเป็นสิ่งชี้วัดระหว่างการได้ภาพกับไม่ได้ภาพเลยทีเดียว เลนส์ที่ดีจะต้องมีความเร็วสูง หยุดได้ทันทีที่กล้องสั่ง และหยุดอย่างเที่ยงตรงแม่นยำ

Mechanic ระบบกลไกลของเลนส์เป็นอีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ หากคุณเป็นช่างภาพที่ถ่ายภาพจริงจังหรือถ่ายภาพเป็นอาชีพ ต้องใช้เลนส์บ่อย งานหนักก็ควรมองเลนส์เกรดโปรทีมีโครงสร้างแข็งแรง รองรับการใช้งานหนักในระยะยาวได้ ทนทานต่อการกระทบกระแทกได้ดีพอ และควรมีการซีลป้องกันฝุ่นและละอองนํ้า เพื่อให้สามารถใช้งานในสภาพอากาศไม่ดี ฝนตก ฝุ่นเยอะได้อย่างมั่นใจ


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^


ติดตาม FOTOINFO ได้ทั้งรูปแบบนิตยสาร Free Copy, e-magazine ฟรีดาวน์โหลด และช่องทางอื่นๆออนไลน์ได้ที่
Line@ : @fotoinfo
YouTube : Fotoinfo Channel
Website : fotoinfomag.com
e-magazine : issuu.com/fotoinfomagazine


ติดตามเทคนิค ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ กิจกรรมถ่ายภาพ และสิทธิประโยชน์มากมาย ส่งตรงถึงคุณ ได้ที่นี่ FotoinfoPlus

หรือสนใจสาระความรู้ด้านการถ่ายภาพที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่

https://test2.fotoinfo.online/all-about-photo/basic