Basic Photography

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed)

 

ชัตเตอร์เป็นส่วนประกอบชิ้นหนึ่งของกล้อง วางอยู่ด้านหน้าเซ็นเซอร์ภาพ ทำหน้าที่หลักคือ ควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านจากเลนส์ไปยังเซ็นเซอร์ภาพให้อยู่ในระดับที่พอดีเพื่อให้ภาพได้รับแสงถูกต้อง ภาพที่ได้จะไม่สว่างเกินไป(Over Exposure) และไม่มืดเกินไป(Under Exposure)  เป็นหนึ่งในสามสื่งที่ใช้ควบคุมปริมาณแสง (อีกสองอย่างคือ รูรับแสง และความไวแสง(ISO)

ความเร็วชัตเตอร์ คือเวลาตั้งแต่ชัตเตอร์เปิดจนถึงปิด ช่วงเวลานี้เซ็นเซอร์ของกล้องจะได้รับแสงเพื่อใช้ในการสร้างภาพ หากชัตเตอร์เปิดค้างนาน เช่น ความเร็วชัตเตอร์ 1 วินาที แสงก็จะผ่านเข้าไปมากกว่า 1/60 วินาที หลายเท่าตัว  ความเร็วชัตเตอร์ที่ปรับตั้งได้ในกล้องดิจิตอลมักจะอยู่ที่ 30 วินาที ถึง 1/4000 วินาที (กล้องระดับโปรมักจะทำได้ถึง 1/8000 วินาที) โดยกล้องจะแสดงความเร็วชัตเตอร์เป็นตัวเลขเต็มจำนวน เช่น 30, 60, 125, 250 วินาที แต่ตัวเลขนี้เป็นเศษส่วนนะครับ คือ 1/30, 1/60, 1/125, 1/250 วินาที  ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง  ส่วนความเร็วชัตเตอร์เต็ม เช่น 2, 4, 8 วินาที จะแสดงในช่องมองเป็น 2”, 4” และ 8” เป็นต้น  และการปรับตั้งในกล้องมักจะแสดงความเร็วชัตเตอร์ที่ละเอียดเป็นขั้นละ 1/3 Stop เช่น  1/60, 1/80, 1/100, 1/125 วินาที เพื่อให้เราสามารถเพิ่ม-ลดแสงได้ละเอียด

ความเร็วชัตเตอร์นอกจากจะมีผลต่อค่าแสงบนภาพแล้วยังมีผลต่อการหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุในภาพ ความเร็วชัตเตอร์สูงจะหยุดการเคลื่อนไหวได้ดีกว่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุด้วย ในการถ่ายภาพเราจึงต้องเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมกับลักษณะภาพที่ถ่าย เช่น ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของนกบิน ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อให้สายน้ำตกพลิ้วไหวเป็นสาย เป็นต้น

หลักการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์คร่าวๆ มีดังนี้ครับ

8-30  วินาที  :  ถ่ายภาพทางช้างเผือก ถ่ายภาพไฟกลางคืนที่เห็นเส้นสายของไฟรถลากเป็นทางยาว ถ่ายภาพ City Scape  ถ่ายภาพพลุ

 

1-4  วินาที  :  ถ่ายภาพแสงสีของเมือง ถ่ายภาพน้ำตก

 

1/2-1/8 วินาที  :  ถ่ายภาพแสงช่วงโพล้เพล้  ถ่ายภาพทิวทัศน์ที่เห็นสายน้ำ  ภาพที่แสดงเอฟเฟคการเคลื่อนที่

 

1/15-1/30 วินาที  :  ถ่ายภาพแพนกล้องตามคนวิ่ง จักรยาน มอเตอร์ไซค์  ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยโดยไม่ใช้แฟลช(ซับเจกต์ไม่เคลื่อนไหว)

 

1/60-1/125 วินาที  :  ถ่ายภาพทั่วไปที่ซับเจกต์อยู่นิ่งๆ หรือเคลื่อนไหวเล็กน้อย  ถ่ายภาพแพนกล้องตามรถแข่ง  นักวิ่งแข่ง ภาพแพนนกบิน

 

1/250-1/500 วินาที  :  ถ่ายภาพทั่วไป  ถ่ายภาพโดยใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ถ่ายภาพมาโคร  ถ่ายภาพจากบนรถยนต์ที่กำลังแล่น หรือถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหวไม่เร็วนัก เช่น คนเดิน คนวิ่งเหยาะๆ

 

1/1000-1/2000 วินาที  :  ถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว ถ่ายภาพกีฬา ภาพนกบิน ถ่ายภาพจากบนยานพาหนะที่กำลังวิ่ง(สั่นสะเทือน)  ถ่ายภาพจากเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้โดยถือกล้องด้วยมือ

 

1/4000-1/8000 วินาที  :  ถ่ายภาพเพื่อหยุดวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วๆให้นิ่งสนิท

 

Bulb :  หรือที่เรียกกันว่าชัตเตอร์ B เป็นการเปิดชัตเตอร์ค้างโดยเราสามารถควบคุมเวลาการเปิดได้ตามต้องการด้วยการใช้สายลั่นชัตเตอร์ รีโมตคอนโทรล หรือใช้นิ้วกดปุ่มลั่นชัตเตอร์แช่ค้างไว้ (มักจะมีปัญหาเรื่องกล้องสั่นไหว) ใช้กับการบันทึกภาพที่ใช้เวลานาน เช่น การถ่ายภาพดาว (Star Trail) ถ่ายภาพด้วยแสงจากดวงจันทร์  การแสดงแสง สี เสียง

ชัตเตอร์ B จะวัดแสงไม่ได้ ต้องคาดคะเนค่าการเปิดรับแสงเองจึงต้องใช้ทักษะและประสบการณ์ของช่างภาพสักหน่อย

ชนิดของชัตเตอร์

ปัจจุบันกล้องดิจิตอลมักจะมีชัตเตอร์ให้ใช้ 2 รูปแบบคือ ชัตเตอร์แบบแมคคานิค (ทำงานด้วยกลไกของชุดม่านชัตเตอร์) และชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ (ทำงานด้วยไฟฟ้า) ทั้งสองชนิดใช้ในการถ่ายภาพได้เหมือนกันแต่ทั้งสองแบบมีข้อจำกัดบางอย่างที่ควรรู้

ชัตเตอร์แมคคานิค

  • ทำงานด้วยระบบกลไกของใบม่านเปิด-ปิด แต่ควบคุมด้วยไฟฟ้า ใช้พลังงานมากกว่าชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ เปลืองแบตเตอรี่มากกว่า
  • มีการเสื่อมของชุดชัตเตอร์ กล้องระดับสมัครเล่นจะใช้งานได้ประมาณไม่เกิน 150,000 ครั้ง กล้องระดับกลางๆ ใช้งานได้ประมาณ 200,000 ครั้ง ส่วนกล้องโปรใช้งานได้ประมาณ 300,000-500,000 ครั้ง เมื่อหมดสภาาพต้องเปลี่ยนชุดชัตเตอร์ใหม่ทั้งชุด
  • เสียงดัง รบกวนผู้อื่นในบางสถานที่เช่น การประชุม การแสดง
  • มีความสั่นสะเทือนทำให้ภาพอาจเบลอได้เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ หรือเมื่อใช้กับเลนส์เทเลโฟโต้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ(แม้ใช้ขาตั้งกล้อง)
  • ความเร็วชัตเตอรสูงสุดอยู่ที่ 1/4000-1/8000 วินาที (ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ทำได้สูงสุดถึง 1/32000-1/40000วินาที)

ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์

  • ข้อดีคือ ไม่มีเสียง ไร้ความสั่นสะเทือน แต่ไม่สามารถใช้ร่วมกับแฟลชได้
  • เกิด Flicker (ภาพวิดีโอกระพริบ ภาพนิ่งเป็นแถบๆ บนภาพ) ได้ง่าย
  • มีปัญหาเรื่อง Rolling Shutter ที่ทำให้วัตถุเคลื่อนไหวมีการบิดเบี้ยวของรูปทรง และเกิดภาพล้มกับการเคลื่อนที่รวดเร็ว

 

 

 

 

เรื่อง : อิสระ เสมือนโพธิ์