Photo Techniques

เรื่องของระบบ High Speed Sync ที่คุณอาจยังไม่รู้

ระบบแฟลช High Speed Sync หนึ่งในโหมดการทำงานที่ดูเหมือนยาก ช่างภาพมือใหม่หลายๆคนซื้อแฟลชมาแต่ก็ยังไม่เคยใช้งาน หลายคนยังไม่เข้าใจว่าควรใช้งานระบบนี้ในการถ่ายภาพแบบไหน และกล้องทุกตัวใช้งานระบบแฟลชนี้ได้หรือไม่

ช่างภาพหลายคนที่ยังสงสัย หรือคาใจกับการใช้งานโหมดแฟลช High Speed Sync​ นี้ มาคลายข้อสงสัยกันครับ

คงเคยได้ยินคำว่า X SYNC กันมาบ้างใช่มั๊ยครับ แต่บางท่านอาจยังไม่ทราบว่า X SYNC คืออะไร ในกล้อง DSLR หรือกล้อง Mirrorless เมื่อจะใช้แฟลช เราต้องใช้ชัตเตอร์แบบแมคคานิกที่ทำงานด้วยระบบกลไก (ควบคุมการทำงานด้วยไฟฟ้า) โดยชัตเตอร์จะมี 2 ชุด ม่านชุดแรกจะวิ่งลงด้านล่าง เมื่อคุณกดชัตเตอร์แฟลชจะยังไม่ฉายแสงจนกว่าม่านชุดแรกเคลื่อนลงมาจนสุดที่ด้านล่าง ณ เวลานี้ม่านจะเปิดค้างให้แสงผ่านไปยังเซ็นเซอร์รับภาพ แฟลชจะถูกสั่งให้ฉายแสงทันที เซ็นเซอร์จะได้รับแสงแฟลชเต็มทั้งเฟรม จากนั้นม่านชุดที่ 2 จะเคลื่อนตามลงมาปิด

X SYNC ก็คือ ความเร็วชัตเตอร์สูงที่สุดที่สามารถใช้กับแฟลชได้ โดยแสงแฟลชยังตกได้ทั้งเฟรม แต่ถ้าความเร็วชัตเตอร์สูงกว่า X SYNC จะเกิดปัญหาแถบดำบนภาพ เพราะม่านชุดแรกยังเคลื่อนไม่ถึงส่วนล่าง ม่านชัตเตอร์ชุดที่สองก็เคลื่อนตามลงมาแล้ว เมื่อแฟลชฉายแสงในจังหวะที่ม่านชุดแรกเคลื่อนถึงด้านล่าง แสงแฟลชจะกระทบกับเซ็นเซอร์ไม่ทั่วทั้งภาพ เพราะส่วนบนของเซ็นเซอร์ภาพถูกบังด้วยม่านชุดที่สอง ยิ่งใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น แถบดำก็จะกว้างมากขึ้น ดังนั้นเราจึงไม่สามารถใช้แฟลชเกินความเร็วชัตเตอร์ที่สัมพันธ์กับแฟลช (X SYNC) ได้ และกล้องก็จะไม่ยอมให้เราปรับความเร็วชัตเตอร์สูงกว่าค่า X SYNC ด้วย


หากคุณใช้แฟลชเฉพาะกิจที่ออกแบบมาสำหรับกล้องยี่ห้อนั้นๆ ก็จะไม่เกิดปัญหาใดๆ แต่ถ้าใช้ร่วมกับแฟลชสตูดิโอหรือแฟลชที่ไม่ใช่แฟลชเฉพาะกิจ กล้องจะยอมให้คุณใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงกว่า X SYNC ได้ ผลก็คือจะเกิดแถบดำบนภาพ (ส่วนบนของเซ็นเซอร์รับภาพ แต่จะเห็นเป็นส่วนล่างของภาพเพราะภาพที่ตกกระทบกับเซ็นเซอรรับภาพจะเป็นภาพจริงกลับหัว) หากคุณไม่ได้ตรวจสอบภาพหลังบันทึกอาจทำให้ภาพที่มีแถบดำหลงตาไปได้ขณะถ่าย

ปัญหาเรื่องที่สองคือ เมื่อใช้แฟลชในสภาพแสงแรง แดดจัด คุณจะไม่สามารถใช้แฟลชลบเงาโดยเปิดรูรับแสงกว้าง (เพื่อเบลอฉากหลัง) ได้ เพราะความเร็วชัตเตอร์จะถูกล็อกไว้ที่ X SYNC เช่น 1/250 วินาที หากแดดแรง แม้ลดความไวแสงเหลือ ISO 100 ก็ยังได้รูรับแสงประมาณ f/8-f/11 (กับ 1/250 วินาที) ทำให้ฉากหลังไม่เบลอเมื่อใช้แฟลช อาจต้องแก้ปัญหาโดยสวมฟิลเตอร์ ND หรือ CPL เพื่อลดค่าแสงแอมเบียนซ์ลง แต่มันยุ่งยาก


ระบบ HSS (หรือ FP) จะทำงานโดยลดช่วงเวลาการฉายแสง (Duration) ของแฟลชลง เช่น จาก 1/2000–1/40000 วินาที เหลือเพียง 1/30-1/125 วินาที เป็นต้น (ไม่ได้ใช้วิธีการยิงแฟลชต่อเนื่องความเร็วสูงอย่างที่เว็บไซต์หลายๆ แห่งบอกไว้) และเปลี่ยนจังหวะการฉายแสงแฟลชใหม่ คือ เปลี่ยนมาเป็นฉายแสงแฟลชออกไปทันทีที่ม่านชุดแรกเริ่มเคลื่อนที่ ดังนั้นเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง แสงแฟลชจะยังตกกระทบกับเซ็นเซอร์รับภาพได้ทั่วทั้งภาพ แม้ม่านชุดสองจะเคลื่อนตามม่านชุดแรกชิดเข้าไปเรื่อยๆ ก็ตาม เพราะแสงแฟลชที่มีช่วงเวลาการฉายแสงนานจะยังฉายแสงผ่านช่องของใบม่านชัตเตอร์ทั้ง 2 ชุดไปยังเซ็นเซอร์ได้ต่อเนื่องจนทั่วทั้งภาพ ดังนั้นจะไม่เกิดปัญหาแถบด้านบนภาพเมื่อใช้ระบบ HSS ทำให้ระบบนี้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเกินค่า X SYNC ได้ และมักจะใช้ได้สูงสุดเท่าที่กล้องมี ด้วยระบบ HSS คุณจึงสามารถใช้รูรับแสงกว้าง เช่น f/1.4 กับความเร็วชัตเตอร์ 1/8000 วินาที โดยใช้แฟลชลบเงาได้ ผลก็คือภาพตัวแบบที่ใสเคลียร์จากแสงแฟลช โดยเบลอฉากหลังได้เต็มที่


เพราะเมื่อความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น ม่านชุดที่ 2 จะเคลื่อนตามม่านชุดแรกเร็วขึ้น ช่องว่างที่แสงสามารถผ่านไปยังเซ็นเซอร์รับภาพจะแคบลงเรื่อยๆ ปริมาณแสงแฟลชจึงลดลงตามลำดับเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น โดยกำลังแฟลชจะลดลง 1 สตอป เมื่อปรับความเร็วชัตเตอร์สูงเกิน X SYNC ไป 1 สตอป หากปรับสูงกว่า X SYNC ไป 5 สตอป กำลังแฟลชก็จะลดลงไป 5 สตอป เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ที่ f/2.8 แฟลชมีระยะทำงานได้เต็มที่ 16 เมตร แต่ถ้าคุณปรับความเร็วชัตเตอร์สูงกว่า X SYNC ไป 2 สตอป ระยะทำงานจะเหลือ 8 เมตร หากปรับเกินไป 5 สตอป ระยะทำงานของแฟลชจะเหลือเพียง 3 เมตร โดยคุณไม่สามารถถ่ายเกินระยะนี้ได้เลย และไม่มีตัวช่วยใดๆ การปรับ ISO สูงขึ้น แฟลชก็ยังทำงานได้ 3 เมตร ปรับรูรับแสงกว้างขึ้นแฟลชก็ยังทำงานได้ 3 เมตรอยู่ดี หากต้องการระยะไกลขึ้นทำได้ 2 อย่าง คือ เปลี่ยนใช้แฟลชที่มีกำลังสูงขึ้น หรือปรับซูมหัวแฟลชออกไปที่ช่วงเทเลมากกว่าเดิม


กล้องระดับโปรหรือเซมิโปรมักจะสัมพันธ์กับแฟลชที่ 1/250 วินาที ในขณะที่กล้องระดับสมัครเล่นมักจะมี X SYNC ที่ 1/160–1/200 วินาที ทำให้เมื่อใช้ระบบ HSS กล้องระดับสมัครเล่นจะเสียเปรียบกล้องโปรประมาณ 1/3 – 2/3 สตรอป ระยะทำงานของแฟลชจะใกล้กว่ากันอย่างชัดเจน ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องระยะทำงานมากกว่ากล้องโปรเมื่อใช้แฟลช HSS ดังนั้นนักถ่ายภาพที่ชอบการใช้แฟลช ควรเลือกกล้องที่มี X SYNC ที่ 1/250 วินาที เพราะจะได้ระยะทำงานได้ไกลกว่า



ผมใช้กล้องคอมแพครุ่นหนึ่ง สามารถใช้แฟลชลบเงา ในการถ่ายภาพเด็กระยะห่าง 2 เมตร ในสภาพแสงแรงได้ (1/2000 วินาที f/2.8 โดยใช้แค่แฟลชป๊อปอัพตัวเล็กๆ บนตัวกล้อง ส่วนกล้องคอมแพคไฮเอ็นด์อีกตัวของผม สามารถใช้แฟลชกับแสงแรงๆ ได้ระยะทางถึง 6 เมตร เมื่อใช้แฟลชขนาดกลาง ไกด์นัมเบอร์ 25 ติดบนฮอทชู โดยบันทึกที่ 1/2000 วินาที f/4 สาเหตุที่กล้องคอมแพคทำเช่นนี้ได้เพราะ มันใช้ Leaf Shutter ไม่ใช่ Focal Plane Shutter ชุดชัตเตอร์จะอยู่ที่ในเลนส์ ระยะเคลื่อนที่น้อยมาก จึงสัมพันธ์กับแฟลชได้ ถึง1/2000 วินาที โดยไม่ต้องพึ่งระบบ HSS แต่อย่างใด กำลังแฟลชจึงไม่ลดเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง


เพราะเมื่อใช้ระบบ HSS การหยุดสิ่งเคลื่อนไหวจะทำได้เท่ากับความเร็วชัตเตอร์นั้นๆ เช่น หากคุณใช้แฟลชด้วยระบบ HSS ที่ความเร็วชัตเตอร์ 1/500 วินาที ถ่ายภาพเคลื่อนไหวรวดเร็ว เช่น ปล่อยพริกยักษ์ลงในตู้ให้น้ำกระจาย จะได้ภาพที่เห็นน้ำพุ่งเป็นเส้นไม่ใช่ภาพที่หยุดหยดน้ำได้เป็นเม็ดๆเหมือนการใช้แฟลชปกติ มันจะมีผลเท่ากับความเร็วชัตเตอร์ 1/500 วินาที ไม่เหมือนการใช้แฟลชปกติที่หยุดการเคลื่อนไหวของหยดน้ำได้สบายๆ การใช้ระบบ HSS ถ่ายภาพเคลื่อนไหว จะใช้สำหรับฟิลไปยังซับเจกต์เพื่อเปิดเงา โดยใช้ร่วมกับแสงแอมเบียนซ์ ด้วยรูรับแสงกว้างในสภาพแสงแรง แต่ถ้าไม่ได้เปิดรูรับแสงกว้างแนะนำให้ใช้แฟลชระบบ TTL หรือ M โดยไม่ต้องเปิด HSS

 


อย่าลืมกด Like เพจ FOTOINFO เพื่อติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ ^^

(SCAN QR CODE ด้านล่างเพื่อเพิ่มเพื่อนใน Line อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามและอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีกันนะคร๊าบ)


หรือสนใจเทคนิคที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
https://test2.fotoinfo.online/tip-trick/photo-techniques